|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
Jeff Bezos เคยเขย่าวงการธุรกิจหนังสือด้วยเว็บของเขาและกำลังจะทำเช่นนั้นอีกครั้ง
Jeffrey Bezos ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Amazon.com เว็บขายหนังสือชื่อดัง เปิดตัวเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ล่าสุดที่ Amazon ผลิตเอง ซึ่งมีชื่อว่า Kindle DX เมื่อเดือนพฤษภาคมที่นิวยอร์ก ในยุคที่สินค้าไฮเทคหน้าตาดีเพิ่งเปิดตัวไปไม่ทันไร ก็ถูกเขี่ยตกเทรนด์ไปด้วยของใหม่ที่ไฮเทคกว่าเก่า แต่ Kindle DX เครื่อง e-reader หรือเครื่องอ่าน e-book รุ่นใหม่ ล่าสุดที่ตั้งราคาแพงถึง 489 ดอลลาร์ กลับมีหน้าตาที่ดูธรรมดาบ้านๆ แทบไม่มีอะไรใกล้เคียงกับสินค้าไฮเทคอื่นๆ
ด้วยหน้าจอขนาดใหญ่ถึง 9.7 นิ้ว ใหญ่กว่ารุ่นก่อนหน้านี้ Kindle2 ซึ่งมีหน้าจอขนาดประมาณหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กเท่านั้น ซึ่งก็เพิ่งเปิดตัวไปหมาดๆ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ Kindle DX ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมสำหรับการอ่านหนังสือพิมพ์หรือตำราเรียนโดยเฉพาะ แม้จะมีความสามารถอันน่าประทับใจด้วยสามารถดาวน์โหลดหนังสือ e-book เล่มใดก็ได้ ภายในเวลาเพียงไม่ถึง 1 นาที จากจำนวน e-book ทั้งหมด 285,000 เล่มที่เสนอ ขายอยู่บน Amazon.com แต่คุณสมบัติทั้งหมดเท่าที่ Kindle DX มี ก็มีเพียงหน้าจอขาวดำกับความสามารถในการท่องเว็บแบบจำกัดจำเขี่ย ไร้ซึ่งภาพ ไม่มีแม้กระทั่งไฟหลังจอ และใช้งานได้เพียงอย่างเดียว คือเป็นเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
แต่ดูเหมือนว่าการ "รู้กระจ่างเพียงอย่างเดียว" จะเพียงพอแล้วสำหรับ Amazon ในขณะที่ภาคธุรกิจค้าปลีกกำลังอยู่ในสภาพร่อแร่เจียนตาย แต่ Amazon กลับมีรายได้ทะลุเป้า ผลกำไรเพิ่มขึ้นถึง 24% ในไตรมาสแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และสินค้าที่ทำรายได้หลักก็คือ Kindle2 เครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์รุ่นก่อนหน้า Kindle DX ที่เพิ่งเปิดตัวไปเพียง เมื่อ 3 เดือนก่อนหน้า ด้วยราคา 359 ดอลลาร์ เมื่อผู้บริโภคต่างก็ต้องรัดเข็มขัดกันถ้วนหน้า Kindle2 จึงกลายเป็นคำตอบสุดท้าย ของนักอ่าน Bezos บอกว่า ยอดขายของ Kindle2 ทะลุเลยเป้าสูงสุดที่ตั้งไว้
ตีเหล็กต้องตีเมื่อยังร้อน Kindle DX จึงเปิดตัวตามมาติดๆ ด้วยเป้ายอดขายที่สูงยิ่งกว่าเดิม แม้ว่าหนังสือพิมพ์จะเป็นจุดขายของ Kindle มาตั้งแต่การเปิดตัวครั้งแรก แต่ Kindle2 มีหน้าจอเล็กขนาดพ็อกเก็ตบุ๊กเท่านั้น ไม่เหมาะกับการอ่านหนังสือพิมพ์ แต่หน้าจอขนาดใหญ่ของ DX ถูกออกแบบมาเพื่อการนำเสนองานเขียนที่มีภาพกราฟิกประกอบมากๆ อย่างตำราเรียนมหาวิทยาลัย และด้วยเทคโนโลยี accelerometer ทำให้หน้าจอ DX สามารถอ่านในแนวนอนแบบหน้ากว้างเหมือนกับหน้าหนังสือ พิมพ์ได้ด้วย กรอบหน้าจอที่มีขนาด 10.4 x 7.2 x 0.38 นิ้วของ
DX นี้ยังอาจจะกลายเป็นอัศวินขี่ม้าขาวที่มาช่วยกอบกู้ธุรกิจหนังสือพิมพ์ที่กำลังย่ำแย่ให้อยู่รอดต่อไปได้ด้วย DX ถูกขนานนามให้เป็น iPod แห่งการอ่าน แม้ว่า Kindle ตัวใหม่นี้อาจไม่ได้เป็นที่ตั้งตารอคอยเหมือนกับเครื่องเล่นเพลงสุดฮิปของ Apple แต่มันกำลังเป็นความหวังของหลายๆ คน ที่หวังจะเห็นความมหัศจรรย์จากเจ้าอุปกรณ์หน้าตาธรรมดาราคาแพงนี้ หลายคนกำลังรอดูว่า Kindle DX จะสามารถสร้างปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่ขนาดพลิกธุรกิจหนังสือกระดาษให้เข้าสู่ยุคหนังสือดิจิตอล และจะสามารถช่วยชีวิตธุรกิจหนังสือพิมพ์ที่กำลังจะไปไม่รอดได้จริงหรือไม่
แม้ว่า Kindle จะถูกมองว่าเป็นเพียงเครื่องอ่านหนังสืออ่านเล่น แต่ความจริงแล้วตั้งแต่ Kindle ตัวแรกก็ถูกออกแบบมาเพื่อการอ่านหนังสือทุกประเภท การสมัครสมาชิกหนังสือพิมพ์เพื่ออ่านบน Kindle เริ่มต้นมาพร้อมๆ กับ Kindle ตัวแรก บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ 4 ฉบับจะถูกส่งตรงไปที่เครื่อง Kindle ของสมาชิกทุกเช้า ด้วยราคาค่าสมาชิก 14.99 ดอลลาร์ต่อเดือน ยอดสมัครสมาชิกหนังสือพิมพ์เพื่ออ่านบน Kindle ยังคงเป็นอันดับหนึ่งจนถึงทุกวันนี้
การที่เจ้าของ Kindle ยอมควักกระเป๋าซื้อข่าวประจำวัน ทำให้ Bezos ประจักษ์ชัดว่า ธุรกิจที่เขากำลังเล่นคือการขายเนื้อหาหรือข่าว ไม่ใช่กระดาษ Bezos กล่าวอย่างมั่นใจว่า ยากที่จะเชื่อว่า ในอีก 10 ปีต่อจากนี้หรือกว่านั้น คนจะยังอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ที่เป็นกระดาษ แล้ว Amazon จะได้ประโยชน์อะไรจากการเร่งรีบปฏิวัติหนังสือกระดาษให้กลายเป็นหนังสือดิจิตอล Bezos บอกว่า นี่คือโอกาสที่แท้จริงในการปฏิวัติโครงสร้าง ต้นทุนของการพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือ
Amazon มักปิดปากสนิทเกี่ยวกับรายละเอียดของทุกๆ อย่างที่เกี่ยวกับตัวเอง วัฒนธรรมการพูดน้อยของ Amazon ไม่ได้มาจากใครที่ไหน แต่มาจากคนที่อยู่บนยอดสูงสุดของ Amazon นั่นเอง Bezos ปิดปากสนิทและไม่เคยเปิดเผยตัวเลขยอดขายหรือส่วนต่างกำไรของ Kindle ทั้ง Bezos และพนักงานของเขาไม่เคยยืนยันว่า Kindle ผลิตที่ไหน การแบ่งรายได้กับสำนักพิมพ์เป็นอย่างไร หรือว่าสำนักพิมพ์รู้หรือไม่ว่าหนังสือที่ขายผ่าน Kindle มียอดขายดีหรือไม่ ทิ้งให้นักวิเคราะห์ต้องเป็นฝ่ายคาดเดา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับ Amazon
iSuppli คาดว่า Kindle2 ซึ่งมีราคาขาย 359 ดอลลาร์ มีต้นทุนวัสดุและการผลิตอยู่ที่ประมาณ 185 ดอลลาร์ โดยมีต้นทุน สูงสุดอยู่ที่หน้าจอที่ใช้เทคโนโลยี E-Ink ซึ่งมีต้นทุน 60 ดอลลาร์ นอกจากค่าโสหุ้ยและต้นทุนพัฒนาซอฟต์แวร์แล้ว Amazon ยังมีค่าใช้จ่ายจากการที่ต้องมีภาระรับผิดชอบในการทำให้ Kindle ทุกเครื่องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สายได้ตลอดชีพ บรรดาผู้ที่จับตามอง Amazon ส่วนใหญ่ต่างเชื่อว่า Bezos จะสามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาลจาก Kindle อย่างเช่น Barclays Capital คาดการณ์ว่า Kindle จะทำกำไร 840 ล้านดอลลาร์จากยอดขาย 3.7 พันล้านดอลลาร์เมื่อถึงปี 2012 หรือประมาณ 20% ของยอดขายและผลกำไรทั้งหมดของ Amazon ในวันนี้ ส่วน Citigroup คาดว่า Kindle จะทำยอดขายได้ทั้งหมดประมาณ 500,000 เครื่อง ซึ่งยังห่างไกลจาก iPod ที่ Apple ขายไปได้แล้วมากกว่า 200 ล้านเครื่อง
อย่างไรก็ตาม Kindle สามารถแทรกตัวเข้าสู่กลุ่มลูกค้านักธุรกิจซึ่งกำลังพกพา Kindle มากขึ้นเรื่อยๆ Bezos บอกว่า ลูกค้ากลุ่มนี้ไม่ใช่พวกที่คลั่งไคล้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ชอบซื้อของเล่นไฮเทคออกใหม่ เพื่อมาเล่นเพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็ทิ้งขว้างไป Bezos เปรียบ Kindle ของเขากับเครื่องไมโครเวฟ "ไม่มีใครบอกว่าไมโครเวฟเป็นแค่ของเล่นไฮเทค เพราะมันมีประโยชน์มากกว่านั้นมากมายนัก"
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เว็บ Amazon ขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สารพัดประเภท แต่การจะก้าวข้ามจากธุรกิจค้าปลีกมาเป็นผู้ผลิตเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อนสูง ดูเหมือนจะเป็นการเสี่ยงที่อันตราย แม้ว่า Apple จะทำสำเร็จให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้วก็ตาม แต่การเป็นผู้ขายกับการเป็นผู้ผลิตเป็น 2 ธุรกิจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และต้องการทักษะความเชี่ยวชาญคนละชุด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่ Bezos จะต้องกระโดดเข้าไปลองอย่างแน่นอน ประวัติที่ผ่านมาของ Amazo คือการขยายธุรกิจรุกเข้าสู่พื้นที่ที่ไม่เคยเป็นของตนมาก่อน ทั้งยังสามารถพลิกโฉมอุตสาหกรรมนั้นได้อย่างสิ้นเชิงอีกด้วย
ประวัติของ Bezos ก็เป็นเช่นนั้น เขาทิ้งงานสบายๆ ในด้านการเงินในนิวยอร์กอย่างไม่ไยดี เพื่อเดินทางไปทั่วประเทศ และเริ่มธุรกิจขายหนังสือออนไลน์ ในช่วงเวลาที่ใครๆ ต่างรู้สึกว่าการทำเช่นนั้นเป็นเรื่องน่าหัวเราะ พอใกล้จะพิชิตธุรกิจนั้นได้ Bezos ก็ไม่ยอมจำกัดตัวเองจากการที่ใครๆ พากันเรียกขาน Amazon ว่าเป็น "ร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลก" เขาเริ่มขายทุกอย่างออนไลน์ตั้งแต่เพลง ภาพยนตร์ ไปจนกระทั่งเครื่องสุขภัณฑ์และลู่วิ่งออกกำลังกาย แต่ทุกครั้งที่ Amazon ใกล้จะครอบครองธุรกิจใดๆ ก็ดูเหมือนจะต้องขยายธุรกิจไปในทิศทางใหม่อยู่ตลอดเวลา Amazon ยังขยายนิยามของการค้าปลีก เมื่อทำตัวเป็นเหมือนตลาดที่ให้คนอื่นๆ มาขายของผ่านเว็บ Amazon ได้ โดย Amazon คอยอำนวยความสะดวกให้ และยังให้บริการระบบ "cloud" computing แก่ลูกค้าที่เป็นธุรกิจอีกด้วย
แต่ก็ใช่ว่า Amazon จะประสบความสำเร็จไปทุกเรื่อง A9 ความพยายามที่จะรุกเข้าสู่ธุรกิจสืบค้นข้อมูลและท้าชน eBay เว็บประมูลชื่อดัง เป็นความล้มเหลว แหล่งข่าวที่เคยใกล้ชิดกับการทำงานของ Amazon ยังแอบกระซิบด้วยว่า Unbox ธุรกิจให้ บริการดาวน์โหลดเพลงและภาพยนตร์ของ Amazon ก็พังไม่เป็นท่าเช่นกัน แต่ Amazon ปฏิเสธ
แต่ความผิดพลาดเหล่านั้นไม่อาจทำลายความรักในการผจญภัยของ Bezos ได้ "สิ่งที่ทำให้ทุกคนในทีมมารวมกันหลังจากความล้มเหลวคือ ความคิดที่ว่าเราเพิ่งล้มเหลวเป็นครั้งแรก และเราน่าจะลองใหม่อีกสักตั้ง" Bezos กล่าว "ทุกครั้งที่ล้มเหลว เราจะถามตัวเองว่า เรายังเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์นั้นอยู่หรือไม่ ถ้าเรายังเชื่อมั่น เราก็จะมีพลังที่จะพยายามใหม่"
แปลและเรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ฟอร์จูน 8 มิถุนายน 2552
|
|
|
|
|