Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2530
เติมศักดิ์ กฤษณามระวัย 60 ที่ยังต้องการทำงานอีก 5 ปี             
โดย ทรงเกียรติ ชาติวัฒนานนท์
 


   
search resources

เติมศักดิ์ กฤษณามระ
Auditor and Taxation
สำนักงานไชยยศ




เติมศักดิ์ กฤษณามระ ไม่ใช่นักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ แต่นักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ ในบ้านเราต่างให้ความเคารพและเกรงใจ โดยเฉพาะเจ้าของธนาคารและสถาบันการเงินต่าง ๆ หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า สาเหตุเนื่องจาก เติมศักดิ์ กฤษณามระ เป็นเจ้าของสำนักงานตรวจสอบบัญชี ไชยยศ ซึ่งเป็นสำนักงานตรวจสอบบัญชีที่เก่าแก่ มีลูกค้าใหญ่ ๆ มากมายมานาน ไม่ว่าคำวิพากษ์วิจารณ์นั้นจะเป็นจริงหรือไม่อย่างไร แต่ข้อสรุปอย่างหนึ่งที่เป็นจริงก็คือว่า เงินสนับสนุนจีบ้าที่ เติมศักดิ์ กฤษณามระ เป็นผู้อำนวยการอยู่นั้น เกือบทั้งหมดที่นักธุรกิจในประเทศไทยบริจาคให้มีสาเหตุมาจากความเกรงใจต่อศาสตราจารย์กิตติคุณ เติมศักดิ์ กฤษณามระผู้นี้

ทุก ๆ วันชีวิตของเติมศักดิ์ กฤษณามระ จะเริ่มต้นตั้งแต่เช้าตรู่ นำพาเรือนร่างวัย 60 ปีของเขาถึงสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จีบ้า) ในเวลาไม่เกิน 8.00 น. นั่งทำงานอยู่ที่นี่จนกระทั่งถึงเที่ยง แล้วก็ตรงไปยังสำนักงานตรวจสอบบัญชีไชยยศในตอนบ่าย วุ่นวายอยู่กับธุรกิจส่วนตัวอยู่ที่นั่นจนกระทั่งดึก จึงกลับบ้าน ล้มตัวลงนอน

"ผมจะกลับถึงบ้านตอนตีสาม" เขาย้ำกับ "ผู้จัดการ" มันเป็นกิจวัตรที่เขากล่าวว่า เขาต้องทำอยู่ทุก ๆ วัน ดุจหนึ่งโปรแกรมที่วางเอาไว้ และหากไม่มีเหตุการณ์กะทันหันอย่างเช่น ต้องเข้าประชุมกับสมาคมที่เขาได้รับเชิญให้เป็นกรามการอยู่อีกกว่า 10 สมาคมโปรแกรมชีวิตของศาสตราจารย์กิตติคุณเติมศักดิ์ กฤษณามระ ก็จะเดินไปอย่างนี้ทุกวัน

"ผมก็ยังรู้สึกประหลาดใจอยู่ว่า มีอย่างหรือว่ากลับบ้านตอนตีสาม แล้วก็ตอนเช้ามานั่งทำงานตอนแปดโมงเช้าได้โดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ก็ทำได้ มันคงจะมีความพอใจหรือมีบุญอะไรสักอย่าง"

"บุญอะไรสักอย่าง" ที่เติมศักดิ์ กฤษณามระ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" นั้นก็หมายถึงบุญกุศลที่เขาได้รับจากการที่ได้มีโอกาสไปนั่งฝึกสมาธิเมื่อสมัยที่เขายังเป็นหนุ่มแน่นอายุได้ประมาณ 30 ปี ณ สำนักฝึกสมาธิแห่งหนึ่งแถววงเวียนใหญ่

ถึงแม้ทุกวันนี้ เติมศักดิ์ กฤษณามระ จะเลิกฝึกสมาธิแล้ว แต่เขาก็คิวด่าสิ่งต่าง ๆ ที่เขาทำอยู่ได้อย่างที่หลายคนทำไม่ได้ในปัจจุบันนั้น คงจะมีผลมาจากการฝึกสมาธิของเขาเมื่อครั้งนั้นนั่นเอง

"ผมเลิกเพราะผมคิดว่า บุญผมคงไม่พึงและผมก็เป็นคนขี้สงสัย คือ การที่เราจะไปนั่งสมาธิเขาก็จะสอนเราก่อนว่า ให้ตั้งจิตใจเป็นกุศลให้ตั้งจิตใจเผื่อแผ่ ผมเองไม่ได้เป็นคนเผื่อแผ่นะครับ ผมเองไม่สามารถเผื่อแผ่ได้ ผมมานั่งหลับตาและคิดถึงว่าหากเราสามารถที่จะทำสำเร็จได้ แล้วเราก็สามารถที่จะมีตาทิพย์ที่จะมองเห็นหมดได้ในตัวคน ปัญหาอะไรต่าง ๆ เราแก้ปัญหาให้ได้กับทุกคนแก้ให้คนที่หนึ่ง คนที่หนึ่งก็ไปบอกกับคนที่สอง คนที่สองก็ไปบอกกับคนที่สาม ทุก ๆ คนต่างก็มานั่งถามและปรึกษาผม เดี๋ยวคนนั้นก็ป่วยด้วยโรคนั้นมา เดี๋ยวคนก็ป่วยด้วยโรคนี้มา ชีวิตผมก็มิต้องทำอะไรกันซิครับ ผมเองก็มองตัวเองว่าผมไม่ใช่คนอย่างนั้นก็เลยเกิดสงสัย"

การเกิดสงสัยนั้น เขาอธิบายให้ "ผู้จัดการ" ฟังต่อมาว่า

"ผมสงสัยว่า เราทำไปทำอะไร ทำไปเอาไว้หลอกตัวเอง คือ กลางวันผมมาทำงานใครทำผิดผมไล่ออก ตัดเงินเดือนสะบั้นหั่นแหลกเลย แต่พอกลางคืนก็แหมมานั่งแผ่เมตตา ไปช่วยคนที่เจ็บป่วยแล้วมาหาเราไปเป็นกุลีคนหนึ่งที่สำนักจนถึงตีสอง แหมมัน INCONSISTENT ในชีวิตผมน่ะครับ ก็เลยมานั่งสรุปว่าผมคงบุญน้อย"

เติมศักดิ์ กฤษณามระ อาจจะโชคดีกว่าหลาย ๆ คนตั้งแต่เกิด เขาถือกำเนิดขึ้นมาในตระกูลขุนนางเก่า เป็นบุตรคนโตของพระยาไชยยศสมบัติ (เสริม กฤษณามระ) และคุณหญิงศรีไชยยศสมบัติ

พระยาไชยยศสมบัติเป็นขุนนางเก่าที่มีความคิดที่ค่อนข้างจะทันสมัย และกว้างขวางในหมู่คนรวยยุคนั้น เป็นคนหนึ่งในการเข้าร่วมก่อตั้งแบงก์สยามกัมมาจลซึ่งเป็นธนาคารแห่งแรกในประเทศไทย โดยเมื่อพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ได้รวบรวมบรรดาพวกเจ้านาย ขุนนาง พ่อค้า และตัวแทนของธนาคารในต่างประเทศ เพื่อทำการจัดตั้งแบงก์สยามกัมมาจลขึ้นมา เมื่อปี พ.ศ. 2450 พระยาไชยยศสมบัติเป็นผู้หนึ่งที่มีความคิดเห็นด้วยกับการจัดตั้งครั้งนี้ จึงเข้าร่วมก่อตั้งเป็นผู้ถือหุ้นด้วยเป็นจำนวน 77 หุ้นมูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท

นอกจากจะเป็นผู้เข้าร่วมในการก่อตั้งธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของเมืองไทยแล้ว ในปี พ.ศ. 2478 ซึ่งขณะนั้นเติมศักดิ์ กฤษณามระ มีอายุได้เพียง 8 ขวบ พระยาไชยยศสมบัติผู้บิดาก็ยังได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในปีนั้นอีกด้วย เรียกว่า บารมีนั้นไม่ต้องพูดถึง

มิหนำซ้ำ พระยาไชยยศสมบัติผู้นี้ ยังเป็นผู้ก่อตั้งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นในปี พ.ศ. 2482 และดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคนแรกของคณะนี้อีกด้วย

และในปีที่ได้ก่อตั้ง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีนี้เอง พระยาไชยยศสมบัติได้เริ่มมองถึงธุรกิจของตัวเอง และได้ทำการก่อตั้งสำนักงานตรวจสอบบัญชีไชยยศขึ้นมา

ด้วยบารมีที่พระยาไชยยศได้สร้างขึ้นมา ดังที่กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้น สำนักงานตรวจสอบบัญชีไชยยศ จึงเต็มไปด้วยลูกค้าที่เก่าแก่มากมาย ในจำนวนธนาคารของเอกชนที่มีอยู่ในปัจจุบันจำนวน 12 ธนาคารเป็นธนาคารที่ให้สำนักงานไชยยศเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีอยู่ถึง 5 ธนาคาร ซึ่งประกอบด้วยธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารสหธนาคาร และธนาคารแหลมทอง จำกัด

"ธุรกิจการตรวจสอบบัญชี ย่อมเป็นธุรกิจที่ใคร ๆ ต่างให้ความเกรงใจอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นคนที่สองที่รู้เรื่องตัวเลขที่แท้จริงของลูกค้านอกเหนือจากตัวลูกค้าเอง และลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่าง ๆ ก็เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินและธนาคาร คุณจะไม่ให้ธนาคารเขาซูฮกเจ้าของสำนักงานเหล่านี้ได้อย่างไร" แหล่งข่าวรายหนึ่งให้ทัศนะต่อ "ผู้จัดการ"

เติมศักดิ์ กฤษณามระเริ่มลืมตาดูโลก เป็นวันแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 12 กันยายน 2470 เขายัมีน้องอีก 5 คน คนแรกเป็นผู้หญิง คือ รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงเสริมศรี สินธวานนท์ ปัจจุบันอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ คนที่สองชื่อ ทวีเกียรติ กฤษณามระ ปัจจุบันเป็นรองอธิบดีกรมธนารักษ์ คนที่สามชื่อ เฉลิมขวัญ นิวาตวงศ์ ทำงานอยู่ที่สำนักงานไชยยศ คนที่สี่ คือ ชฎา วัฒนศิริธรรม ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายการธนาคารต่างประเทศและวิชาการของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด คนที่ห้าซึ่งเป็นคนสุดท้องและจบมาจาก INSTITUTE OF BANKER ในประเทศอังกฤษ ชื่อ สมฤกษ์ กฤษณามระ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่สำนักงานไชยยศ

"น้องชายของผมทั้งสองคนรวมทั้งตัวผมเอง ล้วนแต่จบบัญชีมาทั้งนั้น ดังนั้นที่สำนักงานของผมจึงมีคนช่วยกันเยอะและเนื่องจากผมเป็นพี่ใหญ่จึงต้องคอยดูแลและคอยเซ็นชื่อ" ประธานกรรมการสำนักงานไชยยศที่ชื่อ เติมศักดิ์ กฤษณามระ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

อายุได้ 6 ขวบ เติมศักดิ์ กฤษณามระ ก็เริ่มเข้าโรงเรียนที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเป็นแห่งแรก เรียนอยู่ที่นี่ได้ไม่นานก็เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นบุกทิ้งระเบิดทุกวัน เจ้าขุนมูลนายในยุคนั้นหลายคนต่างกลัวว่า ลูกไปโรงเรียนแล้วจะมีอันตราย จึงมีการย้ายโรงเรียนวชิราวุธไปยังบางปะอิน นักเรียนส่วนใหญ่ก็ถูกส่งไปประจำยังที่นั่น พระยาไชยยศสมบัติไม่อยากที่จะให้ลูกของตัวเองไปถึงบางปะอินจึงให้เด็กชายเติมศักดิ์ กฤษณามระ ย้ายโรงเรียน โดยช่วงที่ย้ายโรงเรียนนั้น เติมศักดิ์ กฤษณามระ จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนวชิราวุธ พอดี เติมศักดิ์ กฤษณามระ ย้ายไปเรียนยังโรงเรียนอำนวยศิลป์พระนครในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 ที่โรงเรียนแห่งใหม่นี้ เมื่อ พ.ศ. 2486

หลังจากนั้น จึงเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7-8 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และสอบได้ประโยคเตรียมอุดมศึกษาที่นี่

ในปี 2489 เขาเริ่มเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย โดยเริ่มต้นที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บิดาของตัวเองเป็นคณบดีอยู่ เรียนอยู่ได้แค่ชั้นปีที่ 2 ก็มีอันต้องย้ายสถาบันการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ย้ายไปไกล โดยไปเรียนยัง THE VICTORIA UNIVERSITY OF MANCHESTER ประเทศอังกฤษในสาขาวิชาการบัญชี และจบปริญญาตรีที่นี่ แล้วไปทำการฝึกงานและศึกษาอยู่ที่ THE INSTITUTE OF CHARTERED จนได้เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของสถาบันผู้สอบบัญชีแห่งอังกฤษและเวลส์ เมื่อ พ.ศ. 2498

กลับประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2499 เริ่มหน้าที่การงานรับราชการอย่างเป็นจริงเป็นจัง เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2499 โดยเริ่มในตำแหน่งอาจารย์ตรี ของคณะพาณิชยศาสตรและการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะที่ตัวเขาเองเคยลาออกเมื่อปี 2491

เติมศักดิ์ กฤษณามระ ได้สมรสกับสายจิตร ณ สงขลา ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ มีบุตรด้วยกัน 2 คน คนแรกชื่อ ศุภศักดิ์ กฤษณามระ ปัจจุบันกำลังศึกษา MBA อยู่ที่ KELLOGG มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น โดยก่อนหน้านั้นเขาจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์เช่นเดียวกับคุณพ่อ คนที่สอง คือ ณัฐวัฒน์ กฤษณามระ ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ทางด้านสาขาวิชานิติศาสตร์

หลายคนที่ใกล้ชิดเติมศักดิ์ กฤษณามระ ได้เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า เขาเป็นคนที่ค่อนข้างจะมีความคิดที่ทันสมัยคล้าย ๆ พระยาไชยยศสมบัติผู้เป็นบิดา ในขณะที่เป็นอาจารย์รับราชการอยู่ในจุฬาฯ เขามีความคิดอยู่เสมอในการที่จะปรับปรุงหลักสูตรของคณพาณิชยศาสตร์และการบัญชีของจุฬาฯ ให้ทันสมัย ตลอดจนพยายามที่จะเร่งเร้าให้เหล่าอาจารย์ทำการค้นคว้าแต่งตำราขึ้นเอง เพื่อให้นิสิตได้มีหนังสืออ่านประกอบ แทนที่จะใช้ตำราฝรั่งอย่างเดียว ซึ่งนิสิตอ่านไม่ค่อยเข้าใจ

ในปี 2502 เติมศักดิ์ กฤษณามระ ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงอาจารย์โทอยู่ในคระพาณิชยศาสตร์และการบัญชีแห่งนี้ ก็เป็นผู้วิ่งเต้นเริ่มจัดทำหลักสูตรปริญญาโททางพาณิชยศาสตร์และการบัญชีขึ้น ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ปี 2530 ซึ่งเป็นปีแรกที่ทางคณะฯ มีการรับสมัครนั้น ตามข้อมูลที่ได้รับปรากฏว่า มีมหาบัณฑิตทางด้านพาณิชยศาสตร์เป็นจำนวน 77 คน และมหาบัณฑิตทางด้านบัญชีอีก 108 คน ซึ่งนับเป็นความสำเร็จที่ไม่เลวเลย สำหรับการเริ่มต้นในปีแรก

ในปี 2507 เติมศักดิ์ กฤษณามระ ก็ได้เลื่อนขึ้นนั่งในตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาการบัญชี ซึ่งในปีนี้นี่เองที่เขาได้พัฒนาหลักสูตรโดยเปิดสาขาการธนาคารและการเงินขึ้นเป็นหมวดวิชาเอกหมวดหนึ่งในภาควิชาการบัญชี และต่อมาหมวดวิชาเอกหมวดนี้ก็ได้พัฒนาขึ้นไปจนกลายเป้นแผนกเรียกว่า แผนกวิชาการธนาคารและการเงิน เมื่อปี 2511

จากการที่พยายามที่จะคิดค้นและพัฒนาหลักสูตรของเขานี่เอง ในช่วงที่เขานั่งในตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาการบัญชี ประกอบกับการสนใจต่อปัญหาธุรกิจและเศรษฐกิจในบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา เติมศักดิ์ กฤษณามระ ยังเป็นผู้ริเริ่มในการเปิดสาขาการต้นทุนในภาควิชาการบัญชีขึ้น ในปี 2509 ซึ่งนับเป็นหมวดวิชาเอกอีกหมวดหนึ่งในภาควิชาการบัญชีจนถึงปัจจุบัน

ปี 2514 นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเติมศักดิ์ กฤษณามระ อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเขาได้รับแต่งตั้งจากสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ดำรงตำแน่งคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีของจุฬาฯ ต่อจากศาสตราจารย์อุปการคุณอาภรณ์ กฤษณามระ ผู้เป็นอาของเขาเอง

เมื่อได้ขึ้นนั่งในตำแหน่งคณบดีแล้ว เติมศักดิ์ กฤษณามระ ก็เริ่มทำการเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการวัดผลการศึกษาระบบรายปีมาตั้งแต่ดั้งเดิมเขาก็เปลี่ยนใหม่เป็นระบบหน่วยกิต ซึ่งมีการวัดผลการศึกษาเป็นรายภาค โดยวิธีนี้เขาคาดว่าจะทำให้นิสิตมีความตั้งใจเรียนโดยสม่ำเสมอยิ่งขึ้น ทั้งยังเปิดโอกาสให้นิสิตที่มีสติปัญญาและความสามารถในระดับที่ต่าง ๆ กัน มีโอกาสได้วางแผนการเรียนของตัวเองได้ตามความสามารถและความเหมาะสมของตัวเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีผลทำให้นิสิตในคณะที่เรียนไม่จบมีจำนวนน้อยลง

"ศาสตราจารย์เติมศักดิ์ กฤษณามระ ได้เริ่มตั้งสถาบันวิจัยธุรกิจขึ้นในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เมื่อ พ.ศ. 2515 … นอกจากนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่า จะมีการปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป ศาสตราจารย์เติมศักดิ์ กฤษณามระ ยังเป็นผู้ริเริ่มตั้งคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรของคณะฯ ขึ้น เพื่อจะได้คอยติดตามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตรให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ของประเทศอยู่เสมอ ตลอดจนยังได้จัดตั้งฝ่ายวางแผนและพัฒนาคณะฯ เพื่อให้มีการวางแผนขยายงานให้รับกับการปรับตัวที่จำเป็น…"

บทความตอนหนึ่ง ในคำชี้แจงแสดงประวัติ หน้าที่ ปริมาณ และคุณภาพของงานของศาสตราจารย์เติมศักดิ์ กฤษณามระ เพื่อประกอบการพิจารณาของพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) กรณีพิเศษ ว่าเอาไว้

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2515 เขาได้เลื่อนตำแหน่งอีกครั้ง ครั้งนี้ขึ้นไปนั่งในตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา ซึ่งนับเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคนแรกของจุฬา

วันที่ 6 สิงหาคม 2516 เติมศักดิ์ กฤษณามระ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สิน ซึ่งก็นับเป็นรองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สินคนแรกเช่นกัน ถึงแม้ว่าตำแหน่งนี้ดูเหมือนจะมีผลประโยชน์มากที่สุดในจุฬาฯ ก็ตาม แต่สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้น ซึ่งก็เป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไม่ได้มีผลดีต่อ เติมศักดิ์ กฤษณามระ เท่าใดนักเลย เมื่อเขาตัดสินใจขึ้นค่าเช่าในพื้นที่ของจุฬาฯ ในปีนั้น เขาก็พบกับประสบการณ์ครั้งแรกเมื่อผู้เช่าที่ดินของจุฬาฯ เดินขบวนประท้วงการขึ้นค่าเช่า

อย่างไรก็ดี ชีวิตของเติมศักดิ์ กฤษณามระ ก็หาได้ตกอับตามสถานการณ์ไม่ชีวิตของเขาช่างโชคดีกว่าหลาย ๆ คนดั่งที่กล่าวแล้วในตอนต้น ในปี 2518 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ถัดมารจากการเดินขบวนประมาณ 2 ปี เขาก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แต่เขาก็ดำรงตำแหน่งสูงสุดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้ ได้เพียงหนึ่งสมัยหรือ 2 ปีเท่านั้นก็ลาออกในปี 2520 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลหอยครองเมืองอยู่ เขาให้เหตุผลสั้น ๆ ว่า "เนื่องจากประสงค์จะพัฒนาจุฬาลงกรณ์ให้เข้าสู่ระบบสมัยใหม่" ซึ่งก็ไม่ทราบว่า เป็นคำประชดประชันรัฐบาลในช่วงนั้นหรือไม่ อย่างไร "ผู้จัดการ" ไม่ขอออกความเห็น

แต่ชีวิตการรับราชการของเขายังคงอยู่

"ผมลาออกแล้ว แต่ถูกยับยั้ง โดยทางมหาวิทยาลัยเขาไม่ต้องการให้ผมลาออก แล้วเขาก็ขอให้ผมไปทำสถาบันภาษาของจุฬาฯ ซึ่งสถาบันนี้เป็นโครงการที่ผมเองริเริ่มทำขึ้นมาตั้งแต่เป็นรองอธิการบดีอยู่" เติมศักดิ์ กฤษณามระ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เขาเป็นผู้อำนวยการสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ได้เพียง 2 เดือน จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2521 ชีวิตการรับราชการมากว่า 30 ปีก็จบสิ้นลง ณ สถาบันแห่งนี้

เหตุผลของการลาออกในครั้งนั้น เนื่องจากบิดาคือ ศาสตราจารย์อุปการคุณพระยาไชยยศสมบัติ ได้ถึงแก่อนิจกรรม เติมศักดิ์ กฤษณามระ ต้องเข้าไปรับผิดชอบสำนักงานตรวจสอบบัญชีไชยยศ อย่างเต็มตัว

การเริ่มต้นกับธุรกิจส่วนตัวที่เป็นจริงเป็นจังของเขา ก็ได้เริ่มต้น ณ จุดนี้

ต้องยอมรับกันจุดหนึ่งว่า เติมศักดิ์ กฤษณามระ นั้นเป็นนักการศึกษาที่เก่งเอามาก ๆ ทีเดียว แต่นักการศึกษาก็หาใช่ว่าจะทำธุรกิจเก่งทุกคน เท่าที่ผ่านมาแม้ว่าสำนักงานไชยยศ จะมีชื่อเสียงมานานแล้วก็ตาม และในช่วงหลัง เติมศักดิ์ กฤษณามระ ได้เข้าไปบริหารเต็มตัวแล้ว แต่สำนักงานไชยยศก็ไม่ได้เติมโตขึ้นกว่าเดิมเท่าใดนักเลย และในภายหลังที่เริ่มมีสำนักงานตรวจสอบบัญชีจากต่างประเทศเข้ามาตั้งสาขาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ทั้งคนไทยก็เริ่มมีสำนักงานตรวจสอบบัญชีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับทุก ๆ วัน การแข่งขันในตลาดนี้ก็นับวันจะสูงขึ้นเป็นลำดับ จนภายหลังถ้าดูกันจริง ๆ แล้วสำนักงานไชยยศ มีมาร์เก็ตแชร์หรือส่วนแบ่งในตลาดนี้อยู่ในระดับกลาง ๆ เท่านั้นเอง

ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น บารมีของพระยาไชยยศสมบัติ ยังคงมีอยู่กับนักธุรกิจรุ่นเก่า ๆ ทำให้ส่งผลมาจนถึงรุ่นหลัง คือ เติมศักดิ์ กฤษณามระ ที่เรากำลังกล่าวถึง

เมื่อเติมศักดิ์ กฤษณามระ เริ่มเข้าจับงานที่สำนักงานไชยยศเต็มตัว เขาก็เริ่มที่จะผลักดันให้สำนักงานแห่งนี้เป็นสำนักงานตรวจสอบบัญชีระดับ INTERNATIONAL ให้ได้ และไม่นานต่อมา เขาก็ได้ทำสัญญาข้อตกลงร่วมกันกับสำนักงานสอบบัญชี TOUCHE ROSS INTERNATIONAL แห่งประเทศอเมริกาขึ้นมาในการที่จะทำงานตรวจสอบบัญชีร่วมกัย

อย่างไรก็ดี ชีวิตของเขาก็ดูเหมือนจะถูกฟ้าลิขิตและขีดเส้นเอาไว้แล้ว ว่าให้เดินบนหนทางเส้นนี้ บนหนทางการศึกษา !!

ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยของจุฬาฯ เมื่อปี 2524 กรรมการสภามหาวิทยาลัยท่านหนึ่งที่ชื่อ บัญชา ล่ำซำ ได้เสนอต่อที่ประชุมสภาในวันหนึ่งว่า ขณะนี้ความต้องการนักบริหารระดับ MBA มีสูงมาก เนื่องจากองค์กรธุรกิจเพิ่มมากขึ้นทุกที เราพอจะมีทางเปิดหลักสูตรหรือว่าตั้งอะไรขึ้นมาได้ไหม เพื่อตอบสนองความต้องการอันนี้

"นักธุรกิจไทยนั้น ด้วยความเป็นห่วงในการหาตัวนักบริหาร เพื่อจะรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งในตอนนั้นก็มีโครงการที่สำคัญออกมาอันหนึ่ง คือ โครงการอีสเทอร์นซี บอร์ด ซึ่งถ้าหากเราไม่มีการเตรียมตัวในการผลิตนักธุรกิจขึ้นมาแล้ว นักธุรกิจที่มีอยู่ก็จะไม่เพียงพอกับความต้องการ เราจึงเห็นว่า จำเป็นต้องตั้งองค์กรที่จะผลิตนักบริหารรุ่นใหม่ขึ้นมา ขณะเดียวกันก็มองเห็นว่าแนวโน้มของธุรกิจมันเป็นลักษณะธุรกิจข้ามชาติมากขึ้นเป็นลำดับ และมันก็ไม่ได้ข้ามมาอย่างเดียว เราก็ข้ามออกไปด้วย แต่การที่จะตั้งองค์กรผลิตนักบริหารมันก็มีอุปสรรคหลายอย่าง ประการแรก มหาวิทยาลัยของรัฐที่มีอยู่นั้นสอนภาษาต่างประเทศให้พูดได้ปฏิบัติได้แค่ไหน เนื่องจากการสื่อสารระหว่างทำธุรกิจมันเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง และการหาตัวเอาโปรเฟสเซอร์จากต่างประเทศ จะให้มหาวิทยาลัยของรัฐติดต่อก็คงไม่มีความคล่องตัวพอ" เติมศักดิ์ กฤษณามระ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงความคิดของนักธุรกิจและนักการศึกษาหลายคนที่จะก่อตั้งองค์กรการศึกษาขึ้นมาใหม่อีกองค์กรหนึ่ง

โดยสรุป ในที่สุด ทางด้านนักธุรกิจกับภาครัฐบาลก็จับมือกันในการที่จะตั้งองค์กรนี้ขึ้นมา โดยทางภาครัฐบาลจะช่วยเหลือด้านสถานที่ ภาคเอกชนจะช่วยเหลือด้านการเงิน

โครงการผลิตนักบริหารหรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ GIBA (GRADUATE INSTITUTE OF BUSINESS ADMINISTRATION) จึงเกิดขึ้น และได้เปิดรับนักศึกษาอย่างจริงจังก็ในปี 2525

แล้วเติมศักดิ์ กฤษณามระ ก็ถูกเชิญให้มาเป็นผู้อำนวยการโครงการแห่งนี้

ซึ่งก็เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่เขาต้องนำพาชีวิตเขาสู่เส้นทางสายนี้

หลายคนได้วิพากษ์วิจารณ์ สาเหตุที่กลุ่มนักการศึกษาหลายคน ได้เชิญเติมศักดิ์ กฤษณามระ เข้ามาเป็นผู้อำนวยการสถาบันแห่งนี้นั้น เนื่องจากนักธุรกิจหลายคนต่างให้ความเกรงใจเขา เงินที่จะได้รับการสนับสนุนจากนักธุรกิจเหล่านั้นก็คงมีมาก ส่วนความเชี่ยวชาญทางด้านการศึกษารของเขาคงจะเป็นตัวประกอบที่รองลงมา

"เขาไปเอาตัวผมมาเนื่องจากว่า เขาบอกว่า ตัวผมนั้นมีประสบการณ์ทางด้านการบริหารธุรกิจอยู่แล้ว และก็ยังมีประสบการณ์พิเศษทางด้านภาษาอังกฤษอยู่ด้วย" เติมศักดิ์ กฤษณามระ ให้เหตุผลกับ "ผู้จัดการ"

ไม่ว่าจะอย่างไร ชีวิตของเขาก็คว่ำหวอดอยู่กับสถาบันแห่งนี้จนถึงปีที่ 5 ในปีนี้แล้ว ทั้ง ๆ ที่ความจริงเขาน่าจะหมดสมัยตั้งแต่เมื่อปี 2529 แล้วเนื่องจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันแห่งนี้ ถูกกำหนดอายุไว้เพียง 4 ปี แต่เติมศักดิ์ กฤษณามระ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนี้ต่อไปอีกวาระหนึ่ง จนถึงปี 2533

เติมศักดิ์ กฤษณามระ มีผลต่อการหาเงินทุนของจีบ้ามาก เงินที่ได้รับการบริจาคจาก ชาตรี โสภณพนิช ประจิตร ยศสุนทร น.พ.ชัยยุทธ กรรณสูต เฉลิม ประจวบเหมาะ ศุกรีย์ แก้วเจริญ ธรรมนูญ หวั่งหลี จรัส ชูโต ฯลฯ ซึ่งผ่านมาในรูปขององค์กรหรือบริษัทที่คนเหล่านี้ทำงานอยู่องค์กรละ 6 แสนบาทต่อปีนั้น ถึงแม้ว่าส่วนหนึ่งจะเนื่องมาจากนักธุรกิจใหญ่เหล่านี้อยากสนับสนุนการศึกษา แต่อีกส่วนหนึ่งซึ่งแทบจะเรียกได้ว่า เป็นส่วนข้างมาก นั่นก็คือ ความสัมพันธ์สนิทสนมส่วนตัว และความเกรงใจต่อกันระหว่างนักธุรกิจเหล่านี้กับเติมศักดิ์ กฤษณามระ

"เป็นผู้บริหารจีบ้ามันก็เหนื่อยตรงนี้ เหนื่อยตรงที่ต้องวิ่งขอเงินคน" เติมศักดิ์ กฤษณามระ กล่าวสั้น ๆ กับ "ผู้จัดการ" เมื่อถูกถามถึงเรื่องการหาเงินของจีบ้า

"ผมได้เรียนกับท่านอธิการบดีไปแล้วว่า ผมเองคงทำงานตลอดไปไม่ได้ ก็คิดว่า ภายในสองหรือสามปีนี้ เราต้องหาคนแทนให้ได้ เนื่องจากงานส่วนตัวของผมเองก็มีอยู่ ท่านก็บอกว่า หาคนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เนื่องจากงานนี้ไม่ใช่เป็นแค่เพียงการบริหารงานภายในเท่านั้น ยังต้องบริหารความศรัทธาและความเชื่อมั่นจากคนภายนอกที่เขาจะให้เงินแล้วก็มาสนับสนุนกิจการด้วย พวกนี้ซิครับไม่ใช่เรื่องง่าย ลำพังการหาพวกมืออาชีพมาทำไม่ใช่เรื่องง่ายหรอก"

เติมศักดิ์ กฤษณามระ ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" อย่างตรงไปตรงมา เมื่อถูกถามว่า ถ้าหากเขาลาออกแล้ว จะมีผลต่อเงินทุนที่ได้รับอยู่หรือไม่

"ผมก็ไม่ใช่ว่าเป็นคนเดียวที่ทำได้แต่บังเอิญงานเก่าของผมมันมาสายตรงกัน และโดยเหตุที่ว่าผมเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี ผมก็รู้จักคนมากและได้รับความเชื่อถือ มันก็ทำให้เหนื่อยน้อยกว่าคนอื่น แต่คนอื่นเขาก็เหนื่อยได้ ถ้าหากว่ายังมีแรง ก็คงต้องมีคนเข้ามาทำงานแทนเข้าสักวันหนึ่ง" เขากล่าวย้ำกับ "ผู้จัดการ" อีกครั้งหนึ่ง

ถ้านับปี 2530 นี้เข้าไปด้วยแล้ว เป็นเวลา 30 ปีแล้วที่เติมศักดิ์ กฤษณามระ ต้องใช้ชีวิตบนหนหนทางสายนี้ ปัจจุบันเขาอายุได้ 60 ปีเต็ม เพื่อน ๆ และลูกศิษย์ลูกหาของเขาได้ก่อตั้งกองทุนให้กับเขาขึ้นมาแล้ว เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยใช้ชื่อว่า "กองทุนศาสตราจารย์เติมศักดิ์ กฤษณามระ" เพื่อเป็นทุนการศึกษา แล้วแต่ว่าเติมศักดิ์ กฤษณามระ จะให้ใคร และจะมีการจัดงานครบรอบให้กับเขาในวันที่ 15 กันยายน 2530 อีกด้วย

"ผมจะวางมือทุกอย่างเมื่ออายุ 65" เติมศักดิ์ กฤษณามระ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

คำว่าทุกอย่างของเขานั้น เขาอธิบายว่ารวมทั้งธุรกิจส่วนตัวที่เขาเองต้องรับผิดชอบอยู่ด้วย

"ทำไมผมไม่ปลดตัวเองตั้งแต่อายุ 60 ก็เพราะว่าลูกผมยังเรียนไม่จบสักคน ลูก ๆ เขาบอกว่าเขาจะเลิกเรียนแล้ว เขาบอกว่าเขาไม่ต้องเรียนแล้ว ผมก็บอกว่า ไม่เป็นไร พ่อยังทำงานไหว" เติมศักดิ์ กฤษณามระ กล่าวถึงภาระที่ตัวเองยังต้องทำ

ถ้าเป็นหน่วยงานราชการ เขาก็ต้องเกษียณอายุแล้ว แต่ชีวิตของเขาดูเหมือนจะถูกฟ้าลิขิตว่าหยุดนิ่งไม่ได้ แม้ว่าที่สำนักงานไชยยศจะมีน้อง ๆ ช่วยอยู่อีกหลายคน

"ที่นั่น ผมเพียงแค่ไปนั่งเซ็นชื่อ" แม้ว่าเติมศักดิ์ กฤษณามระ จะย้ำอยู่กับ "ผู้จัดการ" หลายครั้งถึงคำนี้ แต่การนั่งเซ็นชื่อจนถึงตีสามอย่างที่เขาว่านั้น ไม่ใช่เรื่องที่ใครต่อใครจะทำได้แน่

เติมศักดิ์ กฤษณามระ ยัคงต้องบุกต่อไป ด้วยไฟอันร้อนแรงที่ยังมีอยู่ ถึงแม้อายุจะปาเข้าไปถึง 60 ปีแล้วก็ตาม อย่างน้อยช่วงเวลาที่เหลืออีก 5 ปีดังที่เขาบอกว่า มันเป็นช่วงสุดท้ายที่เขาจะหยุดพักเสียทีนั้น ก็พอที่จะกระตุ้นให้เขาทำงานด้วยความกระตือรือร้นที่คนหนุ่ม ๆ หลายคนไม่มีความกระตือรือร้นขนาดนี้

เติมศักดิ์ กฤษณามระ ชีวิตที่ง่าย ๆ ไม่โลดโผน ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนถูกบันทึกว่าเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ดั่งเช่นที่เขากำหนด !!!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us