คงไม่เห็นแปลกเท่าไหร่ ถ้าหากคนที่อยู่ในวงการเดียวกันมารวมตัวกันเพื่อทำธุรกิจที่ตนมีความถนัดชัดเจนร่วมกัน
บริษัท ฉัตรเทพ ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้น โดยการร่วมทุนของบุคคลที่อยู่ในวงการก่อสร้าง
8 คน ดูเผิน ๆ ก็อาจจะธรรมดา ๆ แต่ถ้าพินิจพิเคราะห์ความเป็นมาของ 8 คนนี้แล้ว
ก็น่าจะต้องถือว่าเป็นความแปลกระดับข้ามชาติ !?!
ซีม ฉิม เชียง ประธานกรรมการสัญชาติสิงคโปร์ เป็นเจ้าของกิจการรับเหมาก่อสร้างอาคารในบรูไน
วิมาน วิรุฬห์จรรย์ กรรมการผู้จัดการสัญชาติไทย มีธุรกิจรับจัดสวนในบรูไน
ลัม ยัท ซิงค์ กรรมการหุ้นส่วนสัญชาติจีน เป็นเจ้าของกิจการรับเหมาก่อสร้างถนนรายใหญ่ที่สุดในบรูไน
โมฮามัด โบฮารี บิน ดาซีน กรรมการหุ้นส่วนสัญชาติมาเลเซีย เป็นเจ้าของกิจการนำเข้าส่งออก
วัสดุเพื่อการก่อสร้างในบรูไน
ตัน เซ เจน กรรมการหุ้นส่วนสัญชาติสิงคโปร์ เป็นเจ้าของกิจการรับเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้า
โรงงานและอาคารในบรูไน
ลัม จี ฮง กรรมการหุ้นส่วนสัญชาติจีน เป็นกรรมการจัดการโรงงานผลิตเครื่องสำอางในฮ่องกงเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา
วิษณุ ศักดิยากร กรรมการหุ้นส่วนสัญชาติไทย เป็นเจ้าของกิจการรับออกแบบก่อสร้างอาคารในบรูไน
บี.เค.เดวี่ส์ กรรมการหุ้นส่วนสัญชาติอังกฤษ ทำงานกับบริษัทเกี่ยวกับทางด้านสถาปัตยกรรมในบรูไนบุคคลทั้งหมดนี้ต่างก็มีธุรกิจอยู่ในประเทศบรูไน
ซึ่งแต่ละคนก็ต้องเดินทางไปที่โน่นก็เลยมีความคุ้นเคยใกล้ชิด
และดูเหมือนพวกเขาจะไม่มีพรมแดนต่อกันในแง่ของความคิดเรื่องการลงทุน
วิมาน กรรมการผู้จัดการของฉัตรเทพ เล่าถึงมูลเหตุที่ก่อตั้งบริษัทร่วมทุนและการตัดสินใจจัดทำโครงการสวยหรูของพวกเขาว่า
"มีอยู่วันนึง เราไปทานข้าวกันที่ร้านอาหารจีนในบรูไนนั่นแหละ พวกนี้เขาก็ชวนผมให้ไปลงทุนทำธุรกิจในบรูไน
แต่ผมมองแล้วว่า ใน SOUTH EAST ASIS นี้ เมืองไทยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดีกว่าน่าที่จะมาลงทุนในนี้"
หลังจากที่คุยกันวันนั้นก็เงียบกันไปนานทีเดียว วิมานนั้นก็ยังบินไปบินมาระหว่างเมืองไทยกับบรูไน
มีอยู่ช่วงหนึ่ง เป็นช่วงที่วิมานอยู่ที่เมืองไทย ก็มีโทรศัพท์ทางไกลจากซีม
ฉิม เชียง ว่าให้รออยู่ก่อน พกวเขาจะเดินทางมาเมืองไทย ในตอนแรกที่เขามาเห็นเมืองไทยนั้น
เขามองไปถึงการสร้างอาคารที่ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของได้ เพื่อผลทางด้าน
MARKETING เพราะคนกลุ่มนี้สามารถดึงเอาต่างชาติเข้ามาซื้อได้ จึงต้องการที่จะสร้างแฟล็ต
แต่ในความคิดของวิมาน เขากลับมองว่า เป็นการมองตลาดไม่สอดคล้องสำหรับในเมืองไทย
เขาพาคณะออกสำรวจเป็นเวลา 2 วัน เมื่อคุยกันอีกครั้งหนึ่ง จึงได้ตกลงกันที่จะทำหมู่บ้านจัดสรรขึ้น
โดยครั้งแรกไปดูที่ดินที่ปากเกร็ดไว้ แต่ตกลงราคากันไม่ได้ ซึ่งถ้าตกลงกันได้โครงการของบริษัทฉัตรเทพก็จะมีแค่โครงการเดียว
แต่ที่ทำอยู่นี้เป็น 2 โครงการเพราะที่ดินในแต่ละแปลงนั้นเป็นที่แปลงเล็ก
แปลงละประมาณ 3 ไร่เท่านั้น ซึ่ง 2 โครงการที่ว่าก็คือ
โครงการ "หมู่บ้านร่มฉัตร" ที่ ถ.นนทบุรี-สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี
มีทาวน์เฮ้าส์ 31 ยูนิต แะอาคารพาณิชย์ 10 ยูนิต
โครงการ "หมู่บ้านธารเทพ" ที่ซอยพหลโยธิน 47 ถ.พหลโยธิน กรุงเทพฯ
เป็นทาวน์เฮ้าส์ 36 ยูนิต ไม่มีอาคารพาณิชย์
สาเหตุที่สร้างแต่ทาวน์เฮ้าส์กับอาคารพาณิชย์ก็เพื่อ SERVE มีรายได้ระดับกลาง
คือ ครอบครัวที่มีรายได้ตั้งแต่ 8,000 - 10,000 บาทขึ้นไป ซึ่งราคาขายของบ้านแต่ละหลัง
อยู่ในราคาประมาณ 5 - 6 แสนบาท ซึ่งนับว่าเป็นราคากลางของหมู่บ้านทั่วไปในกรุงเทพฯ
จริง ๆ แล้วโครงการที่ทำก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการชิมลางในชั้นแรก
พวกเขานักลงทุนข้ามชาติกลุ่มนี้ตั้งความหวังจะก้าวไปอีกหลายก้าวในอนาคตบนเส้นทางของธุรกิจที่พวกเขาถนัด