ไตรมาส 2 ราคาผลิตภัณฑ์กลุ่มอะโรเมติกส์ และกลุ่มโอลิฟินส์ ฟื้นตัวและสเปรดยังอยู่ในระดับที่ดี ทำหุ้นกลุ่มปิโตรเคมีผลงานดี แต่โบรกยังห่วงครึ่งปีหลังมี 2 ปัจจัยลบกดดัน ทั้งความต้องการใช้จำกัดและกำลังการผลิตกำลังการผลิตใหม่เพิ่ม
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ราคาปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งผลิตภัณฑ์ต้นน้ำ อาทิเอทิลีน และโพรพิลีน รวมถึงผลิตภัณฑ์กลางน้ำอย่าง MEG และ EDC โดยปรับตัวดีขึ้น 2.5-3%จากเดือนก่อนหน้า
สำหรับผลิตภัณฑ์ปลายน้ำอย่าง HDPE ทรงตัวอยู่ที่ราคาสูงได้ ขณะที่ราคาเบนซีนที่ปรับตัวดีขึ้นอีกถึง 7.8%จากเดือนก่อน ทำให้สเปรดโดยรวมฟื้นตัวดีขึ้น จากราคาแนฟทาที่อ่อนตัวลงเล็กน้อยตามราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันในระยะยาวจะปรับตัวสูงขึ้นที่จะส่งผลต่อราคาปิโตรเคมีปรับตัวสูงขึ้นตาม ทำให้แรงดีมานด์เข้ามาต่อเนื่อง
นอกจากนี้ผลของสเปรดที่ตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ทำให้ปริมาณซัพพลายในตลาดลดลง รวมถึงจากปัจจัยบวกจากการเข้าฤดูกาลหยุดซ่อมบำรุงของโรงงาน Ethane cracker ในภูมิภาคเอเชียในช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน ทำให้ราคาปรับตัวดีขึ้น
สำหรับไตรมาส 2/2552 จะได้รับผลบวกจากปัจจัยดังกล่าว และนโยบายเศรษฐกิจของจีน รวมถึงซัพพลายตึงตัวจากปริมาณสต็อกที่ลดลงในช่วงไตรมาส 1/2552 ส่งผลทำให้อาจมีแรงเก็งกำไรหุ้น บมจ.ปตท.เคมิคอล (PTTCH) ที่ผลการดำเนินงานจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยฝ่ายวิจัย ให้คำแนะนำ ซื้อเมื่ออ่อนตัว โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 63.00 บาท
“ผลประกอบการไตรมาส 2/2552 น่าจะดีทั้งกลุ่มอะโรเมติกส์ และกลุ่มโอลิฟินส์ แต่ฝ่ายวิจัยจะให้น้ำหนักกลุ่มอะโรเมติกส์ มากกว่า เพราะปัจุบันราคา และสเปรดยังคงอยู่ในระดับที่ดี จึงแนะนำ ซื้อหุ้น บมจ.ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น (PTTAR) โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 25.50 บาท และหุ้น บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ที่ราคาเป้าหมาย 49.00 บาท”
ด้าน วิริยา ลาภพรหมรัตน ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. เกียรตินาคิน กล่าวว่า ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีน ส่งทำให้ราคาขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ทั้งกลุ่มอะโรเมติกส์ และกลุ่มโอลิฟินส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 30% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 1/2552 ที่ผ่านมา
“ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ยังมีส่วนต่างเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันดิบในช่วงเดือนเมษายน ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ 44.54 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล รวมถึงการประกาศเลื่อนกำหนดเดินเครื่องของโครงการขนาดใหญ่ในจีน และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ทำให้มีสินค้าออกมาน้อย”
ทั้งนี้จะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2/2552 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสแรก โดยเฉพาะ TOP ,PTTAR และ PTTCH ซึ่งคาดว่า PTTCH จะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 1,800-2,300 ล้านบาท จากที่มีผลขาดทุน 393 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี แต่จะลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2551 ที่มีกำไร 5,280 ล้านบาท
ขณะที่ TOP คาดว่าจะมีกำไรในไตรมาส 2/2552 อยู่ที่ 3,700-4,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2,283 ล้านบาทในไตรมาสแรก แต่ลดลง จาก 10,546 ล้านบาท ในไตรามาส 2/2551 และคาดว่า PTTAR จะมีกำไร อยู่ที่ 4,000-4,200 ล้านบาทในไตรมาส 2/2552
อย่างไรก็ตามคาดว่า ราคาผลิตภัณฑ์จะเริ่มอ่อนตัวลดลงในครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบที่ฟื้นตัว และกำลังการผลิตใหม่ในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยจีน ที่คาดว่าจะมีกำลังการผลิต HDPE เพิ่มขึ้นมามากถึง 2.3 ล้านตัน ขณะที่ CMAI คาดหมายว่าจะมีความต้องการใช้ในปี 2552 อยู่ที่ 0.25 ล้านตันเท่านั้น โดยปัจจุบันราคา HDPE อยู่ที่ระดับ 1,100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และสเปด HDPE อยู่ที่ 550 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลง 6%จากเดือนก่อน และลดลง 9%จากปีก่อน
“ฝ่ายวิจัยยังห่วงครึ่งหลังอยู่ เพราะแนวโน้มราคาปิโตรเคมี และราคหุ้น จะถูกกดดันจากปัจจัยลบเยอะ ซึ่งเราจะอยู่ระหว่างทบทวนผลประกอบการของกลุ่มปิโตรอยู่ โดยช่วงนี้ยังคงน้ำหนักในระดับต่ำกว่าตลาดไว้ก่อน”
ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยกำลังอยู่ระหว่างทบทวนประมาณการผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี เพื่อให้สอดคล้องกับผลประกอบการปัจจุบัน เนื่องจากคาดว่าในครึ่งแรกของปี2552 บริษัทในกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมีมีการบันทึกกำไรพิเศษมากอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะ PTTAR ที่มีกำไรจากการป้องกันความเสี่ยง (Hedging Gain) ไตรมาสแรกสูงถึง 2,425 ล้านบาท
กลยุทธ์การลงทุน มองว่าราคาหุ้นปัจจุบันได้สะท้อนการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มแล้ว ขณะที่เชื่อว่าแนวโน้มของอุตสาหกรรมที่มีปัจจัยลบจาก ความต้องการใช้ที่เติบโตในกรอบจำกัดจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และกำลังการผลิตใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในครึ่งปีหลัง ซึ่งทั้ง 2 เป็นปัจจัยลบสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ และราคาหุ้น ทำให้ฝ่ายวิจัยยังคงน้ำหนักต่ำกว่าตลาดสำหรับการลงทุนหุ้นในกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมี
|