มูดี้ส์เผยผลทบทวนอันดับเครดิตแบงก์ไทย 10 แห่ง "เอ็กซิมแบงก์-ทหารไทย"เจอลดอันดับเครดิต และขณะที่"นครหลวงไทย"ได้ปรับเพิ่ม ระบุความสามารถในการชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นมีสูง ส่วนแบงก์อื่นๆยังคงอันดับเครดิต ด้านธปท.ยืนยันความแข่งแกร่งฐานะ
สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดี้ส์ อินเวสเตอร์เซอร์วิส (มูดี้ส์) แจ้งว่า วานนี้ (24 มิ.ย.) มูดี้ส์ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือผู้ออกตราสารสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIMT) จากระดับ A3 เป็น Baa 1 มุมมอง เชิงลบ และลดอันดับความน่าเชื่อถือเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและระยะสั้นของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB) จากระดับ Baa 2 เป็น Baa3 และจาก P-2 เป็น P-3 ตามลำดับ มุมมอง มีเสถียรภาพ
นอกจากนี้ สถาบันจัดอันดับเครดิตมูดี้ส์ยังได้ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) (SCIB) จากระดับ P-3 เป็น P-2 มุมมอง มีเสถียรภาพ โดยการเปลี่ยนแปลงอันดับความน่าเชื่อถือต่อธนาคารทั้งสามแห่งดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการพิจารณาทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2552 ซึ่งเป็นไปตามการปรับระบบการพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังเกิดวิกฤตการเงินโลก โดยแยกระหว่างธนาคารที่เป็นยุทธศาสตร์เชิงนโยบายของรัฐบาล และธนาคารที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์เชิงนโยบายของรัฐบาลและธนาคารกลาง
"การเปลี่ยนแปลงระบบการพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวได้นำไปสู่การลดอันดับความน่าเชื่อถือของ EXIMT และ TMB ส่วนอันดับความน่าเชื่อถือของ SCIB ที่ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นสะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่มีอยู่สูง"
อย่างไรก็ตาม ธนาคารไทยอื่นที่ถูกทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือจากมูดี้ส์เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมาเช่นกันได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)(BBL),ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (BAY), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (GHB), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ( KBANK), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB),ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB), และ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ประเทศไทย)(SCBT)นั้น ยังคงได้รับการจัดอันดับเครดิตอยู่ในระดับเดิม และม่มีการเปลี่ยนแปลงมุมมองแต่อย่างใด ขณะที่อันดับความน่าเชื่อถือและมุมมองอันดับความน่าเชื่อถือในด้านอื่นๆของทั้ง EXIMT, TMB, และSCIB ได้รับการคงไว้ทั้งหมด
ก่อนหน้านี้ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ที่ "BBB+(tha)" แก่หุ้นกู้ไม่มีประกัน ประเภทด้อยสิทธิของ SCIB โดยหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวมีมูลค่ารวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท และมีอายุ 10 ปี ขณะที่ SCIB มีอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ที่ "A-(tha)" และอันดับเครดิตในประเทศระยะสั้นอยู่ที่ "F1(tha)" โดยแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารมีเสถียรภาพ
โดยฟิทช์ระบุว่า อันดับเครดิตของ SCIB สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจของธนาคารที่ค่อนข้างอ่อนแอ รวมถึงสถานะทางการเงินที่ยังคงไม่แข็งแกร่งนัก ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะได้มีการปรับตัวดีขึ้นแล้วก็ตาม หลังจากที่ธนาคารประกาศผลขาดทุนสุทธิจำนวน 2,000 ล้านบาทในปี 2550 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 4,100 ล้านบาท ในปี 2551 ซึ่งเป็นผลจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของธนาคารในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ได้อ่อนตัวลง โดยกำไรสุทธิลดลงเหลือ 0.7 พันล้านบาท จาก 1.3 พันล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ปี 2551 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากดอกเบี้ยรับสุทธิที่ลดลงและจากการที่บริษัทลูกของธนาคารมีผลขาดทุนของเงินลงทุนจากการเปลี่ยนแปลงของราคาตลาด (mark-to-market) ระดับสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2552 อยู่ในระดับคงที่เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2551
ธปท.โต้ฐานะTMBยังแกร่ง
ด้านนายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีการปรับลดอันดับเครดิตธนาคารทหารไทยว่า ในขณะนี้ธนาคารทหารไทยยังไม่มีปัญหาเรื่องฐานะ เนื่องจากธนาคารทหารไทยมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(บีไอเอส เรโช) ล่าสุดในเดือนพ.ค.ที่ระดับ 14.59% เทียบกับทั้งระบบที่อยู่ที่ 15% ถือว่ายังอยู่ในระดับที่สูง ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ลดลงเหลือ 14% จาก 15% ประกอบกับมีการตั้งสำรองหนี้สูญสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 1.1 เท่า ซึ่งในแง่การตั้งสำรองต่อเอ็นพีแอลอยู่ที่ 61%ของเอ็นพีแอลทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน ถือว่าอยู่ระดับเดียวกันเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดเท่ากัน
นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารไม่ได้มีปัญหาอะไร แม้กระทรวงการคลังจะมีการลดสัดส่วนการถือหุ้น แต่เป็นการลดสัดส่วนเพื่อเปิดทางให้ทางไอเอ็นจี กรุ๊ปเข้ามาถือหุ้น.
|