"เราไม่ใช่ดีไซเนอร์ 100% เราเป็นพ่อค้า 100% การที่เราได้รับความสำเร็จ
เพราะเราไม่ได้ถือว่าเราเป็นดีไซเนอร์ ดีไซเนอร์จะไม่รู้จักธุรกิจ เราเอาเสื้อผ้ามาทำเป็นธุรกิจ
ไม่ได้ทำออกมาโชว์อย่างเดียว ทำแล้วต้องขายได้"
ที่ร้านซาซูยะ ถนนตะนาว บางลำพู ในมุมอับที่ไอแอร์เข้าไม่ถึง มีเคาน์เตอร์ตั้งไว้ด้วยเครื่องคิดเลขรุ่นเก่าใหญ่เทอะทะ
หนังสือแฟชั่นหลากภาษาจากทุกมุมโลกกองระเกะระกะ ผนังสองด้านประดับด้วยบิลค่าน้ำ
ค่าไฟ ใบสมัครงานและกระดาษบันทึกอื่น ๆ
ระหว่างผนังห้องและเคาน์เตอร์นั้นชายวัย 46 ใบหน้าเรียบเฉย ผมสั้นเกรียนตัดแต่งอย่างดี
หุ่นมะขามข้อเดียวของเขาตกแต่งไว้ด้วยเสื้อยืดคอกลมสีมอ กางเกงแม้พอจะดูออกว่าเป็นบูติกแต่สีซีดจาง
เขานั่งเหงื่อตกซิก ๆ ตาจ้องดูวิดีโอแฟชั่นล่าสุดจากปารีสญี่ปุ่น ฯลฯ หูเงี่ยฟังเสียงลูกค้าที่เดินเข้ามาในร้าน
นาน ๆ จะหยิบกระบอกน้ำอะลูมิเนียมขนาดใหญ่ขึ้นซดคลายร้อน รับโทรศัพท์พลางตะโกนสั่งงานลูกน้องพลาง
น้ำเสียงคำสั่งแม้ฟังดูแปร่งเปร่าไม่ชัดนัก แต่คนที่ทำงานกับเขาต้องเข้าใจด้วยสัญชาตญาณและความคุ้นเคยทั้งไม่รอช้าที่จะปฏิบัติตามคำสั่งทันทีเมื่อสิ้นเสียง
ผู้ที่มีกิจวัตรและออกคำสั่งดังกล่าวที่ร้านซาซูยะได้มีเพียงคนเดียวเท่านั้น
"บุญศักดิ์ วัฒนหฤทัย" เจ้าของกิจการบูติกเครือโดมอน คนที่คนในวงการบูติกเรียก
"เฮียหมา" กันถ้วนทั่ว
"เฮียหมาเป็นคนใจร้อนสั่งอะไรแล้วอยากได้ทันที ต้องทำทันที"
คนใกล้ชิดบุญศักดิ์ พูดถึงสไตล์หนึ่งของการทำงานให้ฟัง
แม้สัมผัสบุคลิกภายนอกคนทั่วไปอาจจะรู้สึกว่าบุญศักดิ์น่าจะเป็นคนเฉื่อยชาแต่โดยเนื้อแท้เขากลับรวดเร็วทั้งความคิดและการกระทำ
จากการกระทำอะไรต่อมิอะไรไดเร็วเท่าความคิดนี้ คงเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้บุญศักดิ์ไม่พลาดโอกาสงาม
ๆ ในธุรกิจบูติกที่เปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวเร็วปานสายฟ้าแลบ ทั้งสามารถขยายอาณาจักรโดมอน
ให้เติบโตอย่างเช่นทุกวันนี้
บุญศักดิ์ก้าวเข้ามาในธุรกิจนี้ไม่ถึงทศวรรษ เริ่มจากร้านเสื้อห้องแถวเพียงร้านเดียวไม่มีสินค้า
BRAND NAME ของตัวเองจนถึงวันนี้กิจการบูติกในเครือโดมอนมีสินค้า BRAND NAME
ต่าง ๆ เกือบ 20 BRAND ทั้งบูติกผู้ชายและผู้หญิง เช่น DOMON, GRASS MEN,
BIGI, YES FOR MEN, YAMAMOTO, IS, PASHY, KANSAI,- NICOLE, MIGI, MOGA, WORK
SHOP, G 3 CO., COMME DES GARCONS เป็นต้น
มีร้านบูติกในเครือแต่ละร้านพื้นที่เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 50 ตารางเมตรกระจายอยู่ตามศูนย์การค้าต่าง
ๆ ที่ราชดำริอาเขต 3 ร้านสยามเซ็นเตอร์ 6 ร้าน ชาญอิสระทาวเวอร์ 2 ร้าน มาบุญครอง
เดอะมอลล์รามคำแหงและเซ็นทรัลลาดพร้าวแห่งละ 1 ร้าน ล่าสุดเปิดร้านสาขาต่างจังหวัดแห่งแรกที่สีสวนพลาซ่า
เชียงใหม่ และกำลังตกแต่งที่สีลมพลาซ่า อีก 2 ร้าน
นอกจากนี้ยังผลิตเครื่องประดับให้ครบสูตรความหล่อความสวย ตั้งแต่ศีรษะ
จรดปลายเท้า เนคไท เข็มขัด กระเป๋า ถุงเท้า รองเท้า ขยาย LINE ออกไปยันสมุด
ดินสอ ปากกา แม้กระทั่งชุดชั้นใน ชุดว่ายน้ำ
เขาเริ่มต้นจากคนขายข้าวสารแยกครอบครัวออกมาขายเสื้อผ้าแล้วก็โด่งดังขึ้นมากับแฟชั่นชุดเปรี้ยวภายใต้เครื่องหมายการค้า
โดมอน
ความสำคัญของเครือโดมอนไม่อาจมองเพียงว่าเป็นบูติก MIDDLE HIGH (บูติกที่มีฝีมือทัดเทียมกับบูติกจากดีไซเนอร์
TOP TEN แต่ราคาถูกกว่า) เท่านั้น เครือโดมอนวันนี้มีผลกระทบต่อคนจำนวนมากต่อธุรกิจบูติกและธุรกิจข้างเคียงด้วย
ทรัพย์สินทั้งหมดเมื่อรวมร้านค้าในเครือและร้านในศูนย์การค้าต่าง ๆ กว่า
10 แห่ง รวมโรงงานตัดเย็บที่มีอุปกรณ์ทันสมัยสำหรับคนงาน 100 คน ประมาณการว่าไม่ต่ำกว่า
50 ล้านบาท
ในศูนย์การค้าเปิดใหม่ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ชื่อดังหรือไม่ก็ตาม ถ้าจะขายพื้นที่สำหรับบูติกแล้วชื่อแรก
ๆ ที่ศูนย์จะต้องนึกถึงคือ "โดมอน"
ในธุรกิจนิตยสารแฟชั่น งบโฆษณาในเครือโดมอนสามารถกำหนดความเป็นความตายของนิตยสารแฟชั่นบางฉบับได้
และงบโปรโมชั่นทั้งหมดมีผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจบูติกที่จะทำให้คึกคักหรือซบเซาได้เช่นกัน
ในตลาดผ้าหลายครั้งโดมอนเป็นผู้กำหนดแบบ สี ลวดลาย ให้ตลาดส่วนใหญ่คล้อยตามและหลายครั้งทำให้โรงงานทอและร้านผ้าร่ำรวยจากการเก็งกำไรตามแบบผ้าของโดมอนกันมาแล้ว
ในโลกของนายแบบนางแบบเริ่มเข้าไปมีบทบาทกำหนดการเกิดของพวกเขาเหล่านั้น
ให้ตายเถอะ บทบาทเด่นล้ำของเครือโดมอนนี้ เกิดจากน้ำมือของเถ้าแก่ที่ชื่อบุญศักดิ์เพียงคนเดียวจริง
ๆ
จะว่าไปบุคลิกของบุญศักดิ์นั้นต่างจากบุคคลของสินค้าโดยสิ้นเชิง เขาไม่จัดอยู่ในผู้ชายประเภทหุ่นหรือหน้าตาดี
แต่กลับต้องพัวพันกับผู้คนเหล่านี้ เขาไม่แต่งตัวนำสมัยเนี๊ยบ แต่กลับทำเสื้อผ้าเนี๊ยบ
ๆ ให้คนนำสมัยใส่ ดูออกจะขัด ๆ กันอย่างสุดขั้วแต่บุญศักดิ์ก็อยู่ในธุรกิจนี้อย่างคนผู้ประสบความสำเร็จ
อาจเป็นเพราะเขาไม่ใช่ดีไซเนอร์หรือศิลปินโดยแท้ เขาเป็นเพียงพ่อค้า เขาทำธุรกิจ
100%
อดีตของบุญศักดิ์เริ่มที่บางลำพู ในครอบครัวคนแซ่เอ็ง เขาเป็นลูกชายคนที่
3 จากลุกทั้งหมด 10 คน (ลูกบุญธรรม 2 คน) ของนายเม่งฮั้ว และนางหมุยเตียว
เมื่อยังเล็กคนในครอบครัวและเพื่อน ๆ เรียกเขา "หมา" และชื่อนี้ก็ยังใช้เรียกมาจนถึงปัจจุบัน
พ่อแม่ของบุญศักดิ์เปิดร้านขายของชำสินค้าหลักคือข้าวสาร บุญศักดิ์ก็เหมือนพี่น้องทุกคนที่ต้องช่วยงานที่บ้าน
ในวัยเยาว์เขาแบกข้าวสารส่งมาทั่วย่านบางลำพู
ด้วยมีพี่น้องมากบุญศักดิ์จึงได้เรียนจบเพียงชั้น ม.6 โรงเรียนเทเวศร์ศึกษา
การที่ต้องช่วยงานที่บ้านและให้โอกาสน้องเรียนเหล่านี้ไม่ได้เป็นข้อจำกัดให้บุญศักดิ์หยุดขวนขวายหาความรู้
เขาค้าข้าวสารเวลากลางวัน กลางคืนเขาเรียนภาษาอังกฤษ และเมื่อแรกเปิดร้านขายเสื้อผ้า
แม้งานจะยุ่งเพราะทำกันเพียง 2 คนกับภรรยา แต่เมื่อมีเวลาว่างเขาซื้อเทปภาษาญี่ปุ่นมาฟังและฝึกฝนการพูดเขียนด้วยตนเองด้วยหวังว่าสักวันหนึ่งเขาจะไปท่องญี่ปุ่น
เขาคลั่งไคล้ญี่ปุ่นเหลือเกิน
เมื่อมีครอบครัวบุญศักดิ์ไม่สามารถดำเนินกิจการค้าข้าวกับครอบครัวต่อไปได้อีกเขาตัดสินใจเริ่มชีวิตเถ้าแก่ด้วยการค้าขายเสื้อผ้า
ซึ่งเป็นเสื้อผ้าผู้หญิงส่วนใหญ่
"เรื่องเสื้อผ้าเราไม่ถนัดหรอก แต่เห็นว่าเหมาะกับนิสัยชอบแต่งตัว
พอเย็บเป็นบ้าง เพราะเคยทำกับพี่สาวมาก่อน" บุญศักดิ์ ย้อนอดีตให้ "ผู้จัดการ"
ฟังถึงการเริ่มธุรกิจเสื้อผ้าโดยไม่ประสีประสา
แรกที่บุญศักดิ์เปิดร้านที่บางลำพู "ซาซูยะ" เป็นเพียงห้องแถวห้องเดียว
สองคนกับภรรยาช่วยกันค้าขาย โดยสั่งเสื้อผ้าจากฮ่องกงเข้ามาเป็นส่วนใหญ่
กิจการเป็นไปด้วยดีบุญศักดิ์เริ่มสะสมทุนที่นี่
เวลานั้นข่าวสารแฟชั่นจากญี่ปุ่นหลั่งไหลเข้าเมืองไทยพอ ๆ กับสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น
ๆ ชื่อของ REPE และ JUN บูติกดังของญี่ปุ่นยั่วยวนบุญศักดิ์ยิ่งนัก เมื่อมีโอกาสเขาจึงไปญี่ปุ่นทันที
ขณะนั้นโดมอนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในเครือ ROPE กำลังติดตลาดที่ญี่ปุ่น บุญศักดิ์นอกจากท่องเที่ยวดูกิจการเสื้อผ้า
เขายังเหมาเสื้อโดมอนเข้ามา LOT ใหญ่ ขายได้กำไรเป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว
การไปญี่ปุ่นไม่เพียงทำให้บุญศักดิ์มีเงินก้อนเท่านั้น การได้เปิดตัวเองสู่โลกธุรกิจแฟชั่นอย่างแท้จริงได้เปลี่ยนแปลงความคิดการทำธุรกิจของเขา
จากการเน้นเสื้อผ้าผู้หญิงเขาหันมาจับเสื้อผ้าบูติกผู้ชาย ยิ่งเมื่อบุญศักดิ์ไปญี่ปุ่นบ่อยขึ้นดูเหมือนแนวคิดการทำธุรกิจแบบญี่ปุ่นและบูติกสไตล์ญี่ปุ่นจะมีอิทธิพลต่อเขายิ่งขึ้น
แล้วก็ถึงวันที่บุญศักดิ์ให้กำเนิดโดมอนเขาเปิดร้านโดมอนครั้งแรกที่สยามเซ็นเตอร์ในปี
2523 ขณะนั้นแฟชั่นผู้ชายเมืองไทยไม่มีอะไรหวือหวา โดมอนเป็นร้านบูติกผู้ชายร้านแรก
ๆ สั่งบุติกจากญี่ปุ่นเข้ามาบ้าง ผลิตเองบ้าง
บุญศักดิ์นั้นเป็นคนหัวไวเขาเรียนรู้การออกแบบและทำแพทเทิร์นด้วยตนเองเขาซึมซับทุกสิ่งจากการดูแฟชั่นในต่างรปะเทศ
ดูแบบจากนิตยสารอย่างไม่รู้เบื่อ เสื้อบูติกสุดเก๋ตัวหนึ่งเขามองผ่านเพียงปราดเดียวก็ทำแพทเทิร์นได้แล้ว
แต่ถ้ามันยากนักก็ซื้อมาสักตัวแล้วเราะเป็นชิ้น ๆ สร้างแบบตามเสียเลย
บุญศักดิ์โปรโมทโดมอนจนวัยรุ่นเรียกหาเป็นอันดับแรกเมื่อนึกถึงบูติก อาณาจักรของเขากำลังขยายขณะที่ค่าเงินเปลี่ยนแปลงไป
การสั่งสินค้าจากญี่ปุ่นเข้ามามาก ๆ เริ่มไม่คุ้มทุน งบโปรโมชั่นมากขึ้นโยไม่ได้รับความช่วยเหลือ
บุญศักดิ์เลือกทางให้ตัวเองด้วยการตั้งโรงงานผลิตเอง พร้อมทั้งทยอยจดลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้าทั้งโดมอน
และ BRAND NAME อื่นอีกนับสิบตัวไว้เป็นของตนเอง แล้วผลิตสินค้าออกมาภายใน
BRAND NAME เหล่านั้นตัวไหนเกิดแล้วไปไม่รอดก็ตายไป ตัวใดเกิดแล้วอยู่ได้ก็ให้แข่งกับตัวเก่าที่ยังอยู่
"ส่วนหนึ่งที่ทำให้โดมอนอยู่ได้เพราะสินค้าในเครือเราแข่งขันกันเอง
ทุกตัวเกิดได้และตายได้ แต่โดมอนต้องอยู่" บัลลังก์ วัฒนหฤทัย น้องชายคนเดียวที่ร่วมงานกับบุญศักดิ์เคยบอก
"ผู้จัดการ"
สำหรับบุญศักดิ์แล้วประสบการณ์นับวันยิ่งสั่งสมให้รู้จักปรับลายผ้า เนื้อผ้า
สีแบบ ที่ได้ต้นแบบมาจากต่างประเทศให้เข้ากับตลาดเมืองไทยมากขึ้น เขาเติบโตในแนวคิดด้านการผลิตควบคู่ไปกับการพัฒนกลยุทธ์ทางการตลาด
ปี 2526 ดูจะเป็นปีที่รุ่งโรจน์ที่สุดสำหรับบูติกผู้ชาย บุญศักดิ์มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ผู้ชายรู้จักแต่งตัวความคิดการโปรโมชั่นแปลก
ๆ หลั่งไหลจากสมองเขาไม่มีหยุด เขาออก PACKAGE ใหม่ ๆ แปลกตาเช่นห่อสินค้าด้วยกระดาษฟางอย่างดี
ห่อพลาสติก ถุงที่ใช้ออกแบบ พิมพ์ ด้วยกระดาษอย่างดี ฯลฯ เหล่านี้ส่งเสริมให้บูติกเครือโดมอนดูมีคุณค่าขึ้น
ทั้งเป็นแบบให้ร้านอื่น ๆ ทำตาม
"เราได้เปรียบเพราะร้านในเครือเรามีหลายร้านแชร์ค่าใช้จ่ายกันไปได้"
เขาบอก "ผู้จัดการ" ว่าค่าใช้จ่ายด้านนี้แม้จะสูงแต่ก็ต้องลงทุน
บางครั้งนึกสนุกขึ้นมาบุญศักดิ์ก็เปิดร้านให้เด็ก ๆ เข้าไปเต้นรำ เช่นที่
LAFORET สยามเซ็นเตอร์
หรือที่เป็นตำนานผลงานโปรโมชั่นสุดยอดของนักเต้นรำเท้าไฟเข้าของถ้วยรางวัลงานวชิราวุธในอดีตผู้นี้
คงไม่มีอะไรเกิน เมื่อครั้งที่เปิด LAFORET ชั้นสองราชดำริให้เด็กเข้าไปเต้นรำแล้วตำรวจมาจับ
"ถ้าเราให้เด็กมาเต้นรำอย่างเดียวมันไม่คุ้มค่าใช้จ่ายหรอก แต่เมื่อตำรวจจับเป็นข่าว
ชื่อร้านก็ดัง คนจะรู้จักกันมากขึ้น" คนทำงานกับโดมอนมานานแย้มกลยุทธ์เด็ด
ๆ ให้ฟัง
ในทางตรงกันข้ามปี 2526 ก็เป็นปีที่โดมอนต้องผจญกับปัญหาการลอกเลียนแบบที่สุดตั้งแต่ลายผ้าที่ยังเป็นพิมพ์เขียวจนถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จที่วางขายแล้ว
ช่วงนั้นโดมอนทำให้โรงทอผ้า ร้านขายผ้า และพวกลอกเลียนแบบแถวประตูน้ำ บางลำพูรวยกันเป็นแถว
"เรายอมรับว่ามีปัญหา อย่างผ้าของเราออกแบบให้โรงงานทอ 2 พันหลา มันทอสต้อกไว้อีก
2 หมื่นหลา พอเราทำเสื้อวางขายในร้าน มันก็วางขายข้างถนนเหมือนกัน"
บุญศักดิ์เล่าเสียงฮึดฮัด
ช่วงนั้นโดมอนแก้ปัญหาด้วยการพยายามผลิตสินค้าในแต่ละแบบออกมาให้เพียงพอกับความต้องการลูกค้า
และถ้ารู้ว่าแบบใดรั่วไหลออกไปจะหยุดผลิตทันที หรือไม่สินค้าที่ผลิตแล้วถูกเลียบแบบเอามาลงกระบะ
SALES ทันที และสุดท้ายถ้าการลอกเลียนเอาโลโก้โดมอนปะเข้าไปด้วยก็ใช้มือกฎหมายเข้าจัดการ
การขับพวกลอกเลียนแบบพวกนี้บุญศักดิ์ลงทุนพาตำรวจไปจับด้วยตนเองเป็นยุทธการเชือดไก่ให้ลิงดูที่ได้ผลพอสมควร
จากวันแรกที่เริ่มโดมอน จนถึงทุกวันนี้บุญศักดิ์ยังตัดสินใจเองทุกอย่าง
ความคิดทุกอย่างสำหรับอาณาจักรโดมอนเกิดจากหัวของเขา
ถ้าบุญศักดิ์เป็น DECISION MAKER ที่ตัดสินใจผิดน้อยครั้ง บัลลังก์น้องชายของเขาก็เป็น
OPERATOR ที่รับนโยบายมาปฏิบัติงานได้อย่างวิเศษ
บุญศักดิ์เป็นคนใจร้อนคิดแล้วต้องทำทันที เชื่อในความคิดของตัวเองอย่างฝังหัวบัลลังก์ใจเย็น
มีความประนีประนอมสูงความแตกต่างของคนทั้งสองกลับประสานให้เกิดความลงตัวและช่วยผลักดันให้อาณาจักรโดมอนเป็นเช่นทุกวันนี้
ความแตกต่างที่ลงตัวของคนทั้งสองนี้มีให้พูดถึงมากมาย
เช่นครั้งหนึ่งบัลลังก์ไปดูแฟชั่นที่ปารีสแล้วรีบกลับมาบอกพี่ชายว่าที่นั่นเขาฮิตผ้าเครป
(ผ้าเนื้อมันชนิดหนึ่ง) แต่สำหรับบุญศักดิ์แล้วญี่ปุ่นมีอิทธิพลต่อเขาอย่างลึกล้ำ
เวลานั้นที่ญี่ปุ่นผ้าลายลูกน้ำติดตลาด เขามั่นใจว่าต้องเข้าเมืองไทยด้วย
ทั้งที่เพิ่งกลับจากปารีสได้เพียง 2 วัน เขาบอกให้บัลลังก์ไปญี่ปุ่นทันทีควานหาทุกอย่างที่มีลายลูกน้ำมา
ทั้งเสื้อ กางเกง ถุงเท้า รองเท้า ฯลฯ
วากันว่าสินค้าลายลูกน้ำ LOT นั้นทำให้บุญศักดิ์จืดเอาเหมือนกัน แต่ก็หาผ้าต่วนมาแทนผ้าเครปอย่างที่ปารีสเขานิยมออกบูติกกลบเกลื่อนผลงานชุดลายลูกน้ำไปได้
หรือเมื่อครั้งผ้าลินินจะเข้าเมืองไทยบัลลังก์ดูแฟชั่นอยู่ที่ปารีส เขาเทเลกซ์กลับมาทันทีที่ดูแฟชั่นจบว่า
"ลินิน ต้องลินินเท่านั้นไ
"คันตายห๋" เป็นคำพูดที่ออกจากปากบุญศักดิ์ แต่อย่างไรก็ตามโดมอนก็เป็นร้านแรก
ๆ ที่มีบูติกลินินตลอดมาจนถึงทุกวันนี้
เหล่านี้อาจเป็นเกร็ดเล็กน้อยที่อาจลืมไปเพียงชั่วข้าวคืน แต่สิ่งที่บุญศักดิ์ทำให้คนในวงการบูติกต้องจารึกชื่อเขาไว้คือ
"ยุทธการหาไม้แขวนเสื้อ"
โดมอนเป็นบูติกแห่งแรกที่จัดให้มีการประกวดนายแบบ และนายแบบที่ได้ก็เป็นที่ยอมรับ่ของทั้งวงการแฟชั่นโฆษณาและบรรดาเอเยนซี่ต่าง
ๆ
"เมื่อก่อนนายแบบมีน้อย ร้านบูติกยังไม่มากก็พอใช้ถ่ายแบบกันไปได้
พอการแข่งขันมากขึ้นเสื้อผ้ามีมากมายหลาย SEGMENT บางคนแก่จะตายเอามาถ่ายแบบเสื้อวัยรุ่นไม่เหมาะกับสินค้า
เรามีหลาย BRAND หลายกลุ่ม ก็จัดประกวดนายแบบเพื่อถ่ายแบบให้สินค้าของเรา"
บุญศักดิ์บอก "ผู้จัดการ" ว่าเสื้อผ้าที่ดีถ้าได้นายแบบดีก็เหมือนเสื้อได้ไม้แขวนดี
ต่างส่งเสริมคุณค่าให้กัน
บุญศักดิ์ในวันนี้ออกจะเป็นผู้กว้างขวาง ไม่เพียงแต่หนุ่มสาวหน้าตาสดใสที่อยากเป็นนายแบบนางแบบในสังกัด
แม้นายแบบนางแบบเจนเวทีก็ออกจะเกรงอกเกรงใจและไปทุกงานที่ "เฮียหมา"
ออกปาก
แม้บุญศักดิ์ออกจะเป็นคนกว้างขวางแต่ในสำนึกลึก ๆ แล้วเขาก็มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมเหมือนกัน
เพียงแต่เขาต้องเป็นคนเดินอยู่ข้างหน้าเท่านั้น
ในช่วงที่บูติกซบเซาทั้งเพราะตลาดล่างเซาะ การแข่งขันของร้านบูติกด้วยกันเองสูงสภาพคลอ่งทางการเงินของผู้บริโภคฝืดเคือง
ศูนย์การค้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดสยามเซ็นเตอร์ศูนย์รวมวัยรุ่นหนุ่มสาวแต่งตัวสวย
ๆ เดินประกวดประชันกันหนาตาเริ่มเงียบหาย ๆ โดยที่ผู้บริหารศูนย์ไม่มีกิจกรรมใด
ๆ มาปลุกชีวิตสยามเซ็นเตอร์เลย ร้านบูติกที่นั่นหายใจกันระรวยระริน
"ตอนนั้นเฮียหมา จัดแฟชั่นให้ร้านในสยามร่วมกันจัด ค่าใช้จ่ายแกช่วยมากกว่าใคร
พอสร้างความคึกคักกลับขึ้นมาบ้าง" เจ้าของร้านบูติกในสยามเซ็นเตอร์เล่าให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
แต่บางคนก็ว่านั่นหมายถึงความอยู่รอดของโดมอนด้วย คิดดูเอาเองแล้วกันว่าที่สยามเซ็นเตอร์ร้านเครือโดมอนมีกี่ร้านแต่ก็นั่นแหละ
ถ้าโดมอนไปคิดหรือว่าคนอื่นจะอยู่ได้
เมื่อพูดถึงการเติบโตของโดมอน จากบูติกชายขยับขยายออกไปในแนวนอนจาก เสื้อ
กางเกง สู่เนคไท ถุงเท้า รองเท้า กระเป๋า เข็มขัด ครบสูตรการแต่งตัว
"เวลาออกแบบเสื้อแล้วจะถ่ายแบบขี้เกียจไปยืมของคนอื่นเขา" บุญศักดิ์ให้เหตุผลการ
DIVERSIFY สั้น ๆ
นอกจากนี้ยังมีสมุด ดินสอ ซึ่งเมื่อแรกทำเพื่อเป็นของโปรโมชั่น แต่เมื่อขายได้ก็ทำขาย
แล้วยังมีชุดชั้นใน ชุดว่ายน้ำผู้ชาย ซึ่งเป็น LINE ใหม่สุดที่ขยายออกไป
แต่การเข้าไปสู่ LINE ใหม่ ๆ ที่ไม่มีความชำนาญเพียงแต่คิดว่ากลุ่มเป้าหมายคือวัยรุ่นที่ตนเองคุ้นเคยและเป็นธุริจที่กำลังบูม
เช่น เมื่อครั้งร่วมหุ้นกับพรรคพวกเปิดดิสโก้เธอหรือไดมอนด์สเก็ต ที่ต้องปิดลงในที่สุดนั้น
นับเป็นบทเรียนการกระโดดเข้าสู่ธุรกิจข้าม LINE ที่ต้องจดจำ และไตร่ตรองให้ดีในการ
DIVERSIFY ครั้งต่อไป
เขามีร้านที่ราชดำริอาเขต 3 ร้านสยามเซ็นเตอร์ 6 ร้าน ชาญอิสระ 2 ร้าน
มาบุญครอง เดอะมอลล์รามคำแหงและเซ็นทรัลลาดพร้าวแห่งละ 1 ร้านล่าสุดเพิ่งเปิดร้านสาขาอีกแห่งที่เชียงใหม่และกำลังตกแต่งที่สีลมพลาซ่าอีก
2 ร้าน
ปัจจุบันสถานการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยิ่งบูติกยิ่งเปลี่ยนแปลงเร็ว
ถ้าจะอยู่รอดต้องปรับตัว โดมอนก็ต้องปรับตัว
จากบูติกวัยรุ่นชายที่ฮิตสุดขีด ต้องผจญกับสภาพเศรษฐกิจรัดตัวที่เบี่ยงเบนพฤติกรรมการบริโภค
การแข่งขันอันเกิดจากการที่คู่แข่งรายใหม่ ๆ เข้ามาใน SEGMENT ที่เจาะจงยิ่งขึ้น
ทำให้โดมอนต้องปรับตัวขยายแนวมาสู่บูติกผู้หญิงมากขึ้นจนถึงในขณะนี้บูติกเครือโดมอน
เป็นผู้ชาย 100
จากแนวคิดที่จะไม่ขยายตลาดออกสู่ต่างจังหวัดเพราะตลาดเล็กไม่คุ้มกับการลงทุนโดมอนก็ออกไปเปิดสาขาแห่งแรกที่
สีสวนพลาซ่า เชียงใหม่
จากการจำหน่ายที่เน้นการขายตรงขายเฉพาะในร้านค้าของตนเอง ขณะนี้เริ่มวางในห้างสรรพสินค้าบ้างแล้ว
ทั้งที่เมื่อก่อนคิดว่าไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องเสีย 30% ให้ห้างฯ ขณะนี้เข้าไปวางขายแล้วที่ห้างสรรพสินค้าโตคิวกับบูติกผู้หญิง
G3 Co.
อนาคตของโดมอนจะเป็นอย่างไรการปรับตัวแค่นี้เพียงพอหรือไม่ ผู้บริโภคที่ต้องการแต่งกายด้วยบูติกในประเทศนี้จะมีไม่ขาดสายกระนั้นหรือ
โดมอนคงถึงคราวขยายตัวเองไปที่สินค้าเป็น MASS PRODUCT มากขึ้นโดยอิง BRAND
LOYALTY ที่คนทั่วไปรู้จัก ถึงแม้จะสู้แอร์โรว์ หรือเอส แฟร์ ไม่ได้ แต่โดมอนก็เริ่มคืบเข้าไปแล้วด้วย
DOMON YOUNG OFFICIAL เสื้อใส่ทำงานราคาพอสมควร ทั้งต้องพยายามขยายเข้าสู่ตลาดผู้หญิงมากขึ้น
เพราะสัจธรรมอย่างหนึ่งคือไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นผู้หญิงยังต้องแต่งตัว
อีกประการหนึ่งที่โดมอนหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการให้ความสนใจตลาดต่างประเทศขณะนี้มีบ้างที่ชาวต่างประเทศมาซื้อเสื้อบูติกโดมอนกลับไปทีละ
LOT ใหญ่ ๆ แต่การจะทำให้การส่งออกเป็นเรื่องเป็นราวโดยมีโควต้าการส่งออกเป็นเรื่องเป็นราว
โดยมีโควต้าการส่งออกนั้นโดมอนยังมีปัญหา
"เรื่องการส่งออกก็อยากทำ แต่เราไม่มีโควต้า ถ้าจะได้โควต้าก็ต้องมีเส้นสาย"
บุญศักดิ์บอก "ผู้จัดการ" และเขาก็คงต้องเข้าใจอีกบทเรียนธุรกิจว่า
CONNECTION เป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่ง
อนาคตของโดมอนอยู่ในความสนใจของทั้งคนที่อยู่ในวงการบูติก ศูนย์การค้าพนักงานทั้งเครือกว่า
200 ชีวิต รวมทั้งผู้บริโภคด้วย
แต่สำหรับบุญศักดิ์เอง เขาบอก ผู้จัดการ" ว่า เขาไม่สนใจอนาคตอะไรมากมายนักมาได้ถึงจุดนี้ก็นับว่างดงามแล้วสำหรับการเริ่มต้นจากคนค้าข้าวสาร
แต่ฝันสุดยอดของบุญศักดิ์คือการได้รวมอาณาจักรโดมอนไว้ในที่เดียวกัน สร้างเป็นศูนย์การค้ารวมไว้ซึ่งสินค้าทุกตัวของโดมอน
"เมื่อเรามีศูนย์เป็นของตัวเองทุกอย่าง จะเป็นระบบยิ่งขึ้น ทั้งการควบคุมพนักงานสินค้า
จะเป็นเหมือนห้างสรรพสินค้าที่มีแต่สินค้าของโดมอนอยู่ในนั้น" บุญศักดิ์
พูดถึงฝันของเขาอย่างสุขใจ
กว่าจะถึงวันนั้น วันนี้บุญศักดิ์ยังต้องทำงานหนักไม่มีวันหยุด งานทำให้เขาทุ่มเทไม่มีเวลาแต่งตัวดี
ๆ หรือไปเต้นรำเหมือนยามฉกรรจ์ บุญศักดิ์ไม่มีห้องทำงานส่วนตัวเหมือนสมชาย
แก้วทอง แห่งร้าน "ไข่" ไม่มีเวลาแต่งตัวเนี๊ยบพูดเพราะ ๆ เหมือนกีรติ
ชลสิทธิ์ แห่งร้าน "ดวงใจบิส" ทุกวันนี้ไปไหนมาไหนเขายังคงโบกแท็กซี่
"ซื้อทำไมเบนซ์คันละล้านสองล้านเอาเงินมาเปิดร้านสร้างงานให้คนทำดีกว่า"
เขาบอก รถยนต์ส่วนตัวไม่ใช่สิ่งจำเป็น สัญชาตญาณผู้ประกอบการเพียงบอกให้เขาคิดถึงแต่การลงทุน
จะว่าไปสำหรับบูติกในกลุ่ม MIDDLE HIGH ในตำแหน่งที่โดมอนวางอยู่นี้ เครือโดมอนนับว่ายิ่งใหญ่ในระดับเดียวกันนี้ก็คงหาคนเทียบยากและคง่จะไม่เกินไปนักถ้าในระดับนี้จะยกให้บุญศักดิ์เป็น
"KING OF BOUTIQUE"
แต่ KING OF BOUTIQUE วันนี้ไม่เคยคิดถึงผู้สืบทอดความยิ่งใหญ่ของเขาเลย
เขาไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่าเมื่อสิ้นเขาแล้วอาณาจักรโดมอนจะเป็นอย่างไร แม้แต่ลูกทั้ง
5 คนของเขา เพียงแต่คิดที่จะหวังเขายังไม่กล้า
"อาชีพนี้เป็นอาชีพยาก ขอโทษทีคนทำต้องเก่งมาก ๆ ต้องมีพรสวรรค์ในตัวเองถ้าอยากจะทำก็ทำได้
แต่จะ SUCCESS หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง "บุญศักดิ์กล่าวปิดท้ายตามด้วยยิ้มในหน้า
หรือว่า KING OF BOUTIQUE ภายใต้เครื่องหมายการค้าโดมอนจะมีเพียงคนเดียว