ทุกข้อต่อการเติบโตของไพบูลย์ ดำรงชัยธรรมทั้งในชีวิตคนโฆษณา นักการตลาด
คนทำหนังสือ จนถึงวันที่ก้าวขึ้นเป็นผู้ประกอบการเต็มตัวมีคนมากมายหยิบยื่นโอกาสให้
และเขาไม่พลาดที่จะคว้าโอกาสนั้นอย่างถูกจังหวะ เขาเป็นคนโชคดี แต่ในธุรกิจบันเทิงที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับคนเป็นหลัก
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเก่งที่สามารถจัดการให้คนเหล่านั้นผลิตงานบันเทิงออกมาได้อย่างที่เห็นภายใต้นาม
"แกรมมี่เอ็นเตอร์เทนเม้นท์" เช่นทุกวันนี้
ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัท แกรมมี่เอ็นเตอร์เทนเม้นท์
หรืออีกนัย "เถ้าแก่" แห่งแกรมมี่ฯ ชื่อเสียงหน้าตาของเขาเป็นที่รู้จักน้อยกว่าศิลปินในสังกัดหลายสิบเท่า
ไม่ว่าจะเทียบกับธงไชย แมคอินไตย ชรัส เฟื่องอารมณ์ ฐิติมา สุตสุนทร หรือ
นันทิดา แก้ว บัวสาย ฯลฯ
แต่เมื่อมองย้อนกลับไป ถ้าไพบูลย์ไม่ตั้งแกรมมี่ฯ ศิลปินมีชื่อเหล่านี้อาจจะไม่มีชื่อหรือมีชื่อไม่เท่าทุกวันนี้
หรือถึงมีชื่อก็อาจไม่เป็นที่รู้จักเท่าไพบูลย์ก็เป็นได้
คงไม่ผิดถ้าจะกล่าวว่าไพบูลย์มีความสำคัญ เพราะเขาให้กำเนิดแกรมมี่ฯ ทำให้แกรมมี่ฯ
ผลิตเทปเพลงและรายการโทรทัศน์พร้อม ๆ กับสร้างศิลปินชื่อดังมากมายหลายคนออกมาสร้างสรรค์ความบันเทิงเริงใจให้ประชาชนไม่ขาดสาย
ไพบูลย์เป็นเถ้าแก่ในธุรกิจบันเทิงประเภทผู้ผลิตเทปและรายการโทรทัศน์ที่แตกต่างไปจากเถ้าแก่ค่ายอื่น
ๆ เขามีความรู้พื้นฐานทางด้านสื่อสารมวลชนที่ดี เขาเรียนรู้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบันเทิงและนำมาปรับใช้ได้อย่างวิเศษ
ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาการตลาด หรือความเป็นศิลปินจากการทำหนังสือ รวมทั้งในงานบริหารและจัดการ
ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ไพบูลย์เข้าใจธุรกิจบันเทิงระบบตั้งแต่ต้น ประกอบกับมีพื้นฐานงานด้าน
CREATIVE ยิ่งทำให้เขาเข้าใจงานและคนใน FIELD นี้มากขึ้น เขาต่างจากเถ้าแก่คนอื่นๆ
ที่หลายคนบางครั้งพูดภาษาไทยไม่ชัดและระดับของวัฒนธรรมไม่ถึง
ศักยภาพในตัวไพบูลย์ไม่เพียงพอแต่ทำให้เขาต่างจากเถ้าแก่ค่ายอื่น ๆ ทั้งยังมีส่วนทำให้งานของแกรมมี่ต่างไปจากงานค่ายอื่น
ๆ ด้วย เทปเพลงและรายการโทรทัศน์ภายใต้ชื่อแกรมมี่ฯ เป็นเหมือนเครื่องหมายรับประกันว่าเทปขายได้
ศิลปินดัง รายการโทรทัศน์ดีมีคนดู (สปอนเซอร์ชอบ)
เทปเพลงผลงานศิลปินสังกัดแกรมมี่ฯ ไม่ว่าจะเป็นนกแล ธงไชย แมคอินไตย นันทิดา
แก้วบัวสาย ฐิติมา สุตสุนทร ชรัส เฟื่องอารมณ์ เรวัติ พุทธินันท์ ฯลฯ เป็นที่ยอมรับของบริษัทจัดจำหน่าย
แผงขายเทปรวมทั้งผู้ซื้อ
ศิลปินสังกัดแกรมมี่ฯ เปิดคอนเสิร์ตบัตรเข้าชมจำหน่ายหมดล่วงหน้าการแสดง
มิวสิควิดีโอของแกรมมี่ฯ สร้างความแปลกใหม่ให้วงการ กระตุ้นให้ค่ายอื่น
ๆ พัฒนางานของตนเอง ล่าสุดมีหลายเพลงที่ได้รางวัล BAD AWARD
รายการโทรทัศน์ของแกรมมี่มี RATING สูง เป็นที่ยอมรับของสปอนเซอร์ ไม่ว่าจะเป็นรายการตามไปดู
แชมป์ชิงแชมป์ถนนสายดนตรี คอนเสิร์ตลืมโลก
ทุกวันนี้ไพบูลย์ ยังคงเดินหน้าพาพนักงานสนุกไปด้วยกันบนถนนธุรกิจบันเทิงสายทำเทปเพลงและรายการโทรทัศน์
ตลอดเวลา 16-18 ชั่วโมงในแต่ละวันที่ประสาทหูและตายังตื่น ไพบูลย์จะสนใจฟังเพลงทุกชนิดที่ประสาทหูรับเสียงได้
จะดูรายการโทรทัศน์ทุกรายการที่สายตาแวบผ่านไปเห็น และถ้าสมองยังตื่นอยู่ด้วยเขาจะคิด
คิด คิด เกี่ยวกับเพลงและรายการนั้น ๆ เพลงที่ได้ฟังใครร้อง ทำนองจังหวะจำง่าย
เป็นของคู่แข่งรายไหน แกรมมี่ฯ จะทำได้หรือไม่ รายการโทรทัศน์นั้นของใคร
ทำไมสนุก มีเสน่ห์ตรงไหนใครเป็นสปอนเซอร์
ยิ่งเมื่อได้พบเพื่อนร่วมงานหรือคนในวงการเทปหรือรายการโทรทัศน์ การพูดคุยถกเถียงวิเคราะห์อย่างลุ่มลึกแตกฉานเป็นการสร้างสรรค์จนเกิดไอเดียแปลกใหม่ตามมา
"เดี๋ยวนี้วัน ๆ ผมไม่ต่อยได้ทำอะไร คิด คิด คิด แล้วก็คุย คุย คุย
เป็นส่วนใหญ่" ไพบูลย์บอก "ผู้จัดการ" ถึงกิจวัตประจำวันของการเป็นเถ้าแก่เต็มตัวที่แกรมมี่เอ็นเตอร์เทนเม้นท์
ไพบูลย์เป็นลูกชายคนเดียวของนายซิมเพียว และนางตั้งสี แซ่อึ้ง เจ้าของร้านประภัสสรสโตร์
ย่านประตูน้ำ เขาก็เหมือนลูกชายชาวโจีนโพ้นทะเลทั่วไปที่เมื่อแรกการศึกษาต้องเรียนโรงเรียนจีน
ไพบูลย์เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนเผยอิง มัธยมปลายที่สวนกุหลาบ จบปริญญาตรีที่นิเทศศาสตร์
จุฬาฯ
สมัยเรียนที่จุฬาฯ ไพบูลย์เป็นนักทำกิจกรรมตัวยง รู้จักเพื่อนต่างคณะมาก
ยังผลให้ในชีวิตการทำงาน เขาได้เพื่อนช่วยเหลือมากพอ ๆ กับได้ช่วยเหลือเพื่อน
ๆ
เมื่อเรียบจบเขาเข้าทำงานทันทีที่ฟาร์อีส แอ๊ดเวอร์ไทซิ่ง ซึ่งขณะนั้นเพิ่งเริ่มก่อตั้งเป็น
IN HOUSE AGENCY ในเครือสหพัฒนพิบูล
"ผมรู้สึกจะเป็น COPY WRITER คนที่ 2 อยู่ได้ 6 เดือนก็ได้เป็นหัวหน้าไปรวบรวมเพื่อน
ๆ น้อง ๆ ที่คณะมาเป็นลูกน้อง ผมโชคดีที่นายห้างเทียมเมตตาเลยได้เป็นหัวหน้าง่ายๆ"
ไพบูลย์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงการเริ่มงานครั้งแรกเมื่อปี
2513
ช่วงแรกในวัยหนุ่มเขาเหน็ดเหนื่อย เพื่อแลกด้วยความรู้ใหม่ประสบการณ์และสายสัมพันธ์กับคนในวงการต่าง
ๆ เพื่อจุดมุ่งหมาย "อยากรวย" แต่เขาก็ยังไม่รวมสักที
เมื่อเริ่มชีวิตทำงานไพบูลย์ก็โชคดีแล้วที่สหพัฒนฯ นายห้างเทียม โชควัฒนา
สอนงานทุกอย่างให้ทีมงานโฆษณาทีมแรกของสหพัฒนฯ ให้โอกาสไพบูลย์ได้เข้าร่วมประชุมโรงงาน
ฝ่ายขาย ฝ่ายตลาด เรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการจัดจำหน่ายสินค้าในเครือ
"บางครั้งนายห้างมีเวลาจะมานั่งประชุมถกเถียงเรื่อง CREATIVE กับพวกเรา"
เขาบอก "ผู้จัดการ" ว่าสหพัฒนฯ เป็นเหมือนโรงเรียนอีกแห่งหนึ่งในชีวิตการทำงานที่ให้ประสบการณ์มีค่าแก่เขา
ทีมโฆษณาของไพบูลย์ทีมนี้ฝากผลงานที่ติดปากผู้บริโภคมาถึงทุกวันนี้คือ
"มาม่าอร่อย"
ระหว่างทำงานที่ฟาร์อีสฯ ไพบูลย์กับเพื่อนต่างคณะเมื่อครั้งทำกิจกรรมที่จุฬาฯด้วยกันเปิดบริษัท
FOUR AIDS ให้บริการด้านต่าง ๆ เช่น ด้านโฆษณาไพบูลย์รับผิดชอบ, ด้านอาคิเตค
มล.ชายนิมิตร เนาวรัตน์ กับ มานพ พงศทัต รับผิดชอบ, งานวิจัย ไพฑูรย์ แสงสว่าง
รับผิดชอบ
เขาเริ่มเป็นเถ้าแก่กลาย ๆ ที่นี่ กลางวันทำงานที่ฟาร์อีสฯ กลางคืนมานั่งที่
FOUR AIDS แต่ทำได้เพียง 2 ปี ก็รู้ว่ายังขาดประสบการณ์และเพื่อน ๆ ก็เห็นด้วย
ต่างจึงแยกย้ายกันไปเรียนต่อ
เวลานั้น BR GROUP ของบุรินทร์ วงศ์สงวน สถาปนิกผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในการดำเนินการหมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์
กำลังเป็นที่ฮือฮาในธุรกิจหนังสือนอกจากนิตยสาร BR แล้ว นิตยสารโป๊อย่างมีศิลปะพอมีสาระ
"MAN" ก็กำลังจะเกิด
สำหรับนิเทศศาสตร์บัณฑิตรุ่น 4 คนนี้ความฝันยิ่งใหญ่ที่อยากทำที่สุดขณะนั้นมี
3 อย่าง คือ งานโฆษณา การตลาด และทำหนังสือ
ที่สหพัฒน์ฯ และ FOUR AIDS ตอบสนอง 2 ประการแรกได้ เมื่อบุรินทร์จะทำหนังสือ
MAN เขาคว้าโอกาสนั้นทันที ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นมีคนทักท้วงมากมาย แต่ไพบูลย์ก็ทำ
เขาเพียรพยายามแจกแตงความคิดยืนยันว่าไม่ได้ทำสิ่งเลวร้ายแต่ทำในสิ่งสวยงามโดยสื่อเรื่องที่มีสาระเข้าไปด้วย
กระทั่งสามารถรวบรวมนักเขียน ACTIVIST หลายคนมาร่วมงาน เช่น สุทัศน์ ศกุนรัตนเมธี
(ทำ MAN จนวาระสุดท้าย) ชัย ราชวัตร สิงห์ กิตติวัฒน์ วิสา คัญทัพ เป็นต้น
แม้เขาจะทำหน้าที่ประสานงาน จัดการทั้งหมดทั้งปวงให้ MAN กว่า 10 ฉบับแต่ตำแหน่งบรรณาธิการบริหารในหนังสือที่ควรมีชื่อเขากลับไม่มี
ไพบูลย์เพียงให้เหตุผลสั้น ๆ ว่า "ไม่อยากให้บาดใจฟาร์อีสฯ"
ช่วงแรกในวัยหนุ่มเขาเหน็ดเหนื่อยเพื่อแลกด้วยความรู้ใหม่ ประสบการณ์และสายสัมพันธ์กับคนในวงการต่าง
ๆ เพื่อจุดมุ่งหมาย "อยากรวย" แต่เขาก็ยังไม่รวยสักที
ไพบูลย์อยู่ฟาร์อีสฯ ได้ 7 ปี ทำงาน SIDELINE ควบคู่ไปด้วยหลายอย่างสัญชาตญาณเถ้าแก่ในกายเขาซ่อนเร้นต่อไปไม่ได้
ทั้งที่ตัวเขาเองไม่มีปัญหาอะไรที่สหพัฒนฯ ยังไม่มีโครงการที่แน่นอนในอนาคต
ไม่มีเงินทุน แต่เขาต้องการทำกิจการของตนเอง
สำหรับคนหนุ่มวัย 29 มันร้อนรนนักไพบูลย์ลาออกจากฟาร์อีสฯ พร้อมลูกน้อง
4 คน พันเลิศ ใบหยก (เจ้าของใบหยกทาวเวอร์) บุษบา ดาวเรือง (กรรมการบริหารแกรมมี่ฯ)
กิตติศักดิ์ ช่วงอรุณ (กรรมการบริหารแกรมมี่ฯ) มาเปิด AGENCY เล็ก ๆ รับงานโฆษณาทุกอย่าง
ทำได้ประมาณ 3 เดือน ไพบูลย์เริ่มคิดไกลไปข้างหน้าว่าจะไปได้สักกี่น้ำ เพราะตนเองไม่มีฐานทั้งเงินทุนเครดิต
และประสบการณ์ก็ยังมีไม่มากนัก
แล้วไพบูลย์ก็โชคดีอีกเมื่อ มล.ชายนิมิตรเพื่อนเก่า ซึ่งเข้าไปทำโครงการสินค้าแปลก
ๆ เช่น ถังส้วมไม่มีวันเต็ม ให้พรีเมียร์โปรดักส์ ซึ่งอยู่ในเครือของ GENERAL
FINANCE (GF) ของสุวิทย์ โอสถานุเคราะห์ ซึ่งคุ้นเคยกันตั้งแต่เมื่อครั้ง
FOUR AIDS รับงานทำโฆษณาให้หมู่บ้านเสรี
"เขาชวนผมว่าคุณสุวิทย์อยากสนับสนุนคนหนุ่ม ๆ ให้เปิดกิจการใหม่ ๆ
โดยจะช่วยเหลือด้านเงินทุนส่วนกิจการนั้นให้ดูแลเองทุกอย่าง" ไพบูลย์บอก
"ผู้จัดการ" ว่าตอนนั้นเขาก็หวั่น ๆ ในกิจการที่ทำอยู่ทั้งไม่อยากเป็นลูกจ้างใคร
สุวิทย์ยื่นโอกาสทองให้เขาโดยแท้
ไพบูลย์เขียนโครงการทางด้านโฆษณาการตลาด และสำนักพิมพ์เสนอไป
"ผมเสนอไปแล้วทางคุณสุวิทย์โอเคผมก็จัดการเองหมดตั้งเงินเดือน หาคนทำเมหือนเป็นของผเองแต่คุณสุวิทย์จ่ายเงินผมก็พาลูกน้องเก่ามาด้วยกัน
ขนโต๊ะเก้าอี้จากสำนักงานซอย 39 มาที่ตึก GF" ต่อถึงกำเนิดพรีเมียร์
มาร์เก็ตติ้ง เมื่อปี 2520
เมื่อเริ่มพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้ง งานโฆษณาของไพบูลย์เป็นไปด้วยดีเพราะลูกค้าเก่าของเขายังมีอยู่
แต่งานทางด้นการตลาดเขายังมีอยู่ แต่งานทางด้านการตลาดพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งยังไม่รู้เหนือรู้ใต้
ไม่มีสินค้าจัดจำหน่าย และทางพรีเมียร์ฯ ก็ไม่มีนโยบายลงทุนผลิตสินค้าเองด้วย
ไพบูลย์ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร จะหาพนักงานขายก่อน หรือจะหาสินค้าก่อน พรีเมียร์
มาร์เก็ตติ้ง ไม่มีเครดิต ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีสินค้าที่มีชื่อตัวใดอยากให้พรีเมียร์ฯ
จัดจำหน่าย
ในขณะที่งานการตลาดมีปัญหา ไพบูลย์ดึง วัฒนะ นิมมานวรดิษฐ์ นักการตลาดมือดี
ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทสหพลังบริษัทในเครือสหพัฒนฯ เข้ามาช่วย แล้วจ้างพนักงานขายเข้ามา
ในขณะยังหาสินค้าไม่ได้ไพบูลย์เอาขนมปังปี๊บมาใส่กล่องและใส่การ์ตูนเป็นของแถมตั้งชื่อเก๋
ๆ "ดั๊ฟฟี่ โจ๊กเกอร์" แล้วอัดโฆษณาออกขาย พอมีกิจกรรมการตลาดทำบ้าง
ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นนักการตลาดหลายคนเตือนไพบูลย์เสมอว่าการทำสินค้าโปรโมชั่นนั้นเป็นการเสี่ยง
แต่ไพบูลย์ไม่มีทางเลือกเขาพาให้พรีเมียร์ฯ ขาดทุนไปเรื่อย ๆ
อีกด้านหนึ่งสำนักพิมพ์ พรีเมียร์ พับบลิชชิ่ง ไพบูลย์ได้สุจิตต์ วงษ์เทศ
มาช่วยออก "เศรษฐกิจการเมือง รายสัปดาห์" ออกนิตยสาร "เพื่อนเดินทาง"
และพ็อกเก็ต บุ๊ค
"สำนักพิมพ์ทำให้นานทุนเดือดร้อนเสียค่าใช้จ่ายมาก สุดท้ายต้องยอมเล็กลงเหลือเพื่อนเดินทางเพียงฉบับเดียว"
ไพบูลย์ ยอมรับว่าทำหนังสือไม่ได้ดี ขณะเดียวกันทางด้านการตลาดก็เป็นปัญหาหนักอก
ขณะนั้นเป็นกรรมการผู้จัดการพรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง ได้ 4 ปี ไพบูลย์รู้สึกไร้ความสามารถและท้อถอย
จนกระทั่งวันหนึ่งเขาติดต่อจนได้น้ำส้มสายชูของ อสร. มาจัดจำหน่าย ด้วยความมั่นใจในคุณภาพสินค้า
ทำให้เขาต้องเคลื่อนไหว เพราะกำลังการผลิตของ อสร. ไม่มากพอที่จะเป็นสินค้า
MASS PRODUCTION ที่จะลงทุนโฆษณาและการตลาดไพบูลย์ต้องหาทางเพิ่มการผลิต
แม้ทางพรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง จะไม่มีนโยบายลงทุนผลิตสินค้าเอง แต่ไพบูลย์ขอให้ทาง
GF ให้เป็นรูปเงินกู้แก่ทาง อสร. เพื่อซื้อเครื่องจักรมาเพิ่มการผลิตแทน
และทุกอย่างก็ได้ผล ว่ากันว่าเงินกู้ 3 ล้านบาทงวดนั้นทำให้ อสร. ผลิตน้ำส้มออกมามากมายจนไม่มีโกดังเก็บ
ไพบูลย์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าเช่าโกดังเก็บน้ำส้มเพิ่มขึ้นอีก
แต่ด้วยสินค้าที่มีคุณภาพ โฆษณาที่ดีไพบูลย์มีเพื่อนเป็นคอลัมนิสต์มากมายต่างช่วยกันประโคมข่าวพิษร้ายของน้ำส้มที่ใช้กรมน้ำส้ม
อสร.จึงได้ประโยชน์เต็มที่ น้ำส้มขายดีอย่างที่ไพบูลย์เองก็ไม่คาดคิดมาก่อนร้านค้าต้องมาเข้าคิดวรอซื้อน้ำส้มที่บริษัทกันคิวยาวเหยียด
ครั้งนั้น ไพบูลย์พอรู้สึกได้บ้างว่าตนเองมีความสามารถทางการตลาดอยู่เหมือนกัน
เขายืนยันว่าการทำการตลาดน้ำส้มสายชู อสร. สำเร็จ เป็นกำลังใจครั้งสำคัญให้เขาสู้กับอุปสรรคครั้งต่อ
ๆ ไปไม่ท้อถอย และได้บทเรียนว่าการลงทุนผลิตสินค้าเป็นปัจจัยที่จะโยงไปสู่ความสำเร็จทางการตลาด
เมื่อทำน้ำส้มสายชูสำเร็จ เขาติดต่อหาสินค้าอื่นเข้ามาจำหน่ายอีก คราวนี้เขาไปไต้หวันชักชวนให้ผู้ผลิตปลาเส้น
"ทาโร่" เข้ามาร่วมทุนตั้งโรงงานในเมืองไทย งานนี้เขาโชคดี 2 ชั้น
นอกจากติดต่อปลาเส้นทาโร่เข้ามาลงทุนผลิตขายในเมืองไทยได้แล้ว เขายังได้พบกับ
"ลี เม" และแต่งงานกับเธอในที่สุด เพราะเธอสนิทสนมกับครอบครัวเจ้าของปลาเส้นทาโร่ที่เขาไปติดต่อ
แล้วจุดปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตไพบูลย์ก็มาถึง แม้ที่พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งเขาจะไม่ประสบความสำเร็จสูงสุด
ทั้งยังทิ้งรอยขาดทุนไว้ให้ด้วย เขาต้องเป็นผู้ประกอบการเต็มตัว
จากวันแรกที่เข้าไปก่อตั้งพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้ง ไพบูลย์จัดให้มีงานโฆษณา
การตลาดและสำนักพิมพ์ จะว่าไปอาณาจักรนี้ก็ยิ่งใหญ่ไม่น้อย แต่ในวันที่จากมาดูเหมือนจะมีกิจการหลักเพียงการจัดจำหน่ายเท่านั้น
(ขณะนี้เป็นบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าให้เครือโอสถสภาฯ)
ไพบูลย์คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องทำธุรกิจที่ตัวเองชอบได้ใช้ทั้งการโฆษณา
เขาว่า "เพลง" และ "รายการโทรทัศน์" เหมาะสมที่สุด
ขณะนั้นปี 2526 เทปเพลงเป็นธุรกิจหนึ่งซึ่งกำลังบูม ชื่อ แกรนด์ เอ๊กซ์
รอยัล สไปรท ดอกไม้ป่า กำลังดัง ไม่เว้นแม้แต่หนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือก็ติดปากร้องกันได้ทั้งเมือง
ไพบูลย์โชคดีอีกเมื่อได้พบศิลปินอย่างเรวัติ พุทธินันท์ ซึ่งรู้จักกับบุษบา
ดาวเรือง ไพบูลย์และเรวัติต่างเข้าใจแนวคิดการทำธุรกิจบันเทิงเหมือนกัน คือคุณภาพ
ศิลปะและการตลาดต้องไปด้วยกัน แล้วทุกอย่างก็ลงตัว
ไพบูลย์ให้กำเนิดแกรมมี่ด้วยทุนจดทะเบียน 5 แสนบาท ในปี 2526 หอบหิ้วลูกน้องเก่า
ทั้งบุษบา ดาวเรือง (กรรมการบริหารคุมทางด้านรายการโทรทัศน์) และกิตติศักดิ์
ช่วงอรุณ (กรรมการบริหารคุมทางด้านเทปเพลง) และคนอื่น ๆ อีกประมาณ 10 คน
ขนข้าวของขึ้นไปอยู่บนชั้น 9 อาคารอาคารวานิช เมื่อแรกทำรายการโทรทัศน์และรับจ้างโปรโมชั่นเทปเพลงเป็นหลัก
ที่แกรมมี่ฯ ไพบูลย์พิสูจน์ความสามารถของเขาเต็มที่ เขาไม่ใช่เส้นสาย เขาใช้ความสามารถ
เขามีความรู้พื้นฐานทางด้านสื่อสารมวลชนที่ดี เขาเรียนรู้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบันเทิงและนำมาปรับใช้ได้อย่างวิเศษ
ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาการตลาด หรือความเป็นศิลปินจากการทำหนังสือรวมทั้งในงานบริหารและจัดการ
เวลาทางโทรทัศน์แรกมมี่ฯ ได้มาด้วยการทำ PRESENTATION รายการไปเสนอทางสถานีอย่างละเอียดเหมือนกับทำ
PRESENTATION โฆษณาเสนอลูกค้าไม่ว่าจะเป็นรายการยิ้มใส่ไข่ (ช่อง 9) มันกว่าแห้ว
(ช่อง 5) เสียงติดดาว (ช่อง 7)
"ช่วงแรกนอกจากรายการจะเชยแล้วยงขาดทุนย่อยยับอีกด้วย ดีที่ได้โปรโมทเทปเพลงแต่ละค่ายได้เทปนั้นโฆษณาในรายการพอถูกไถไปได้"
ไพบูลย์ บอก "ผู้จัดการ" ว่านอกจากนั้นเขายังโชคดีที่เจ้านายเก่าทั้งที่สหพัฒนฯ
และพรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง สนับสนุนสปอนเซอร์ให้
สำหรับเทปเพลงในช่วงแรก ๆ แกรมมี่ฯ รับทำโปรโมชั่นเป็นส่วนใหญ่ ไม่วาจะเป็นอาร์เอสซาวด์
รถไฟดนตรี ฯลฯ และก็มาถึงวันที่เริ่มทำเองคือชุด "นิยายรักจากก้อนเมฆ"
ของ พญ.พันทิวา รัชตานันท ชุดนี้เล่นเอาแกรมมี่ฯ ซึมเอาเหมือนกัน จากนั้นจึงค่อย
ๆ เกิดจากเต๋อ 1 หนูแหวน บาราคูดัส คาราบาว นกแล ธงไชย แมคอินไตย นันทิดา
คาราวาน อัสนี (ป้อม)
กรณีเทปเพลงของแกรมมี่ฯ เกือบทุกชุดประสบความสำเร็จ นอกเหนือจากความสามารถของโปรดิวเซอร์
ซึ่งตัวหลักคือเรวัติ พุทธินันท แล้วยังเป็นการรวมกันอย่างได้สัดส่วนของการตลาดและโฆษณา
"องค์ประกอบหลักที่ทำให้เทปเพลงประสบความสำเร็จ ตัวเพลงต้องดี เนื้อหากินใจผู้ฟังสามารถเกิดความรู้สึกร่วมได้
จากนั้นจึงเป็นที่ตัวศิลปินและการโปรโมท" ครั้งหนึ่งกิตติศักดิ์ ช่วงอรุณ
คนรับผิดชอบเรื่องเทปแกรมมี่ฯ กล่าวถึงพื้นฐานเทปเพลงที่แกรมมี่ฯ ต้องทำ
ด้านรายการโทรทัศน์แกรมมี่ฯ พยายามปรับรายการให้เข้ากับความนิยมของวัยรุ่น
และรองรับการโปรโมทเทปเพลง เช่น คอนเสิร์ตลืมโลก ถนนสายดนตรี ส่วนรายการบันเทิงแปลกใหม่ได้สาระคือ
ตามไปดูรายการที่ให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมมาก ๆ คือ แชมป์ชิงแชมป์
เหล่านี้ทำให้ RATING สูงขึ้น แต่แกรมมี่ฯ ก็แลกมาด้วยการลงทุนสูงเช่นกัน
แกรมมี่เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ของไพบูลย์อาจจะไม่ใหญ่นัก ไม่มีทรัพย์สินถาวร
หรืออุปกรณ์ที่ต้องลงทุน ไม่มีการสืบทอดทางธุรกิจที่ยาวนานเหมือนกันตนาหรือรัชฟิล์มที่ต้องลงทุนนอกจาก
"คน" แกรมมี่ฯ เช่า ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นห้องอัดเสียง สตูดิโอทำรายการ
หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องเช่นโรงงานผลิตเทป บริษัทจัดจำหน่าย
ไพบูลย์เก่งที่สามารถจัดการให้คนหนุ่มสาวกว่า 50 คนที่มีความคิด มีอารมณ์สร้างสรรค์ที่แปลกแยกกันออกไป
ใช้ความคิดสร้างสรรค์นั้นผลิตงานบันเทิงคุณภาพออกมาอย่างที่เห็น
"80% ของพนักงานเป็นพวกที่เกี่ยวข้องกับงาน CREATIVE ทั้งในระดับบริหารและ
PRODUCTION" คนในแกรมมี่ฯบอก
ทุกวันนี้ ไพบูลย์ทำทั้งหน้าที่บริหารจัดการควบคู่ไปกับการเป็น CREATIVE
เขาจะเข้าร่วมประชุมกับพนักงานบริษัทเพื่อคิดงานใหม่ เขาสร้างบรรยากาศที่แกรมมี่ฯ
ให้เหมือนครอบครัว พนักงานไม่เรียกเขา "เฮีย" หรือ "ผู้จัดการ"
แต่เรียก "พี่บูลย์" เขาให้โอกาสน้อง ๆ ทุกคนในการทำงานไม่ว่าจะผิดพลาดอย่างไรทุกคนมีสิทธิ์ลองใหม่และเรียนรู้ต่อไปได้ไม่จบ
แม้ว่าแกรมมี่ฯ จะไม่มีทรัพย์สินถาวรมาก แต่ไม่เกินสิ้นปีนี้สำนักงานใหม่ที่สุขุมวิท
39 อาคาร 5 ชั้น ในเนื้อที่ 1 ไร่ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 10 ล้าน จะเป็นทรัพย์สินชิ้นแรก
ๆ ของแกรมมี่ฯ
ประสบการณ์ธุรกิจทำให้ไพบูลย์ฉลาดเขาไม่ลงทุนอะไรกับสิ่งถาวรหรือลงทุนโดยไม่ชำนาญ
เขาไม่ขยายธุรกิจออกไปในแนวนอน ไม่เป็นโรงงานผลิต ไม่เป็นผู้จัดจำหน่าย ไม่มีห้องอัดเสียง
ไม่มีสตูดิโอ เขาพัฒนาในแนวตั้งให้เติบโตในคุณภาพทั้งเทปเพลงและรายการโทรทัศน์
"ทำให้มันหลากหลายแต่มีคุณภาพ" เขาเน้น
วันนี้คงกล่าวไม่ผิดหรอกว่าเขารวยแล้วอย่างที่เคยคิดฝัน ด้วยวัย 39 ผมดำมีแซมผมสีดอกเลาเล็กน้อย
ร่างสูงใหญ่ของเขาประกอบไปด้วยเสื้อผ้าดีไซน์อย่างดีรองเท้าหนังราคาแพง นาฬิกา
PIAGET ล้อมเพชร นั่งเบ๊นซ์ 230 อย่างสง่า กินอาหารดี ๆ ได้รับแต่สิ่งบริการดี
ๆ และใช้ชีวิตสุขสบายสมฐานะ
ไพบูลย์บอกว่าเขามีความสุขตลอดเวลาที่แกรมมี่ฯ ตั้งแต่วันแรกเขารู้สึกเป็นอิสระไม่มีใครยืนอยู่เหนืออีกต่อไป
อยากจะทำอะไรกับกิจการของเขาก็ได้ เขารู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นเด็กทำงานอย่างสนุกสนานได้บอกในสิ่งที่เขารู้ให้น้อง
ๆ ได้ทำ ให้โอกาสน้อง ๆ เหมือนที่มีคนอื่น ๆ เคยให้เขา
ครั้งหนึ่ง ลี เม ภรรยาของเขาเคยบอกเขาว่ารายการบันเทิงที่นี่แย่สู้ที่ไต้หวันไม่ได้
เมื่อถึงวันนี้ คนทั่วไปรวมทั้ง ลี เม ยอมรับว่าไม่ด้อยไปกว่าเลย โดยเฉพาะในวงการเพลงและรายการโทรทัศน์
ซึ่งแกรมมี่ฯ มีส่วนอยู่ไม่น้อยในการเป็นตัวเร่งตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดการแข่งขันและการพัฒนาไปสู่ความบันเทิงที่มีคุณภาพมากขึ้น
และนั่นดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ไพบูลย์มีความสุขใจที่สุด