กรุงไทยรับผิดกรณีใช้บัตรประชาชนปลอมเปิดบัญชีถอนเงินบัญชี"มนต์ชัย อัศวพรชัย"กว่า 4 แสนบาท อ้างผิดพลาดที่ระบบคอมพ์ พร้อมชดใช้เงินที่ถูกเบิกไป ส่วนกรณีการเบิกโดยใช้บัตรเอทีเอ็มอีก 2.3 ล้านนั้นอยู่ระหว่างตรวจสอบ ยันไม่ได้เกิดจากแฮกเกอร์ข้อมูลจากระบบ KTB online
นางวัลลยา แก้วรุ่งเรือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารกลุ่ม สายงานบริหารความเสี่ยงและกำกับ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ชี้แจงถึงกรณีที่เกิดขึ้นกับลูกค้ารายนายมนต์ชัย อัศวพรชัยนักธุรกิจนำเข้าผลไม้และพืชผลทางเกษตรในตลาดสี่มุมเมือง ได้เข้าร้องทุกข์ว่าถูกธนาคารกรุงไทย สาขาตลาดสี่มุมเมืองและธนาคารกรุงไทย สำนักงานใหญ่ ปฏิเสธการคืนเงินที่ถูกคนร้ายแฮกเกอร์ข้อมูลทางระบบ KTB Online นำบัตรประชาชนปลอมเปิดบัญชี พร้อมทำบัตร ATM ไปเบิกเงินและกดเงินสูญไปร่วม 3 ล้านบาทว่า สามารถแยกเป็น 2 กรณีคือ กรณีมีการปลอมแปลงบัตรประจำตัวประชาชนของนายมนต์ชัย อัศวพรชัยไปเปิดบัญชีออมทรัพย์ที่สาขาศูนย์การค้าอยุธยาพาร์ค และมีการโอนเงินผ่านระบบ KTB Online จากบัญชีของนายมนต์ชัย อัศวพรชัยที่สาขาตลาดสี่มุมเมือง จำนวน 410,900 บาทไปเข้าบัญชีที่สาขาศูนย์การค้าอยุธยาพาร์ค
และกรณีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของนายมนต์ชัย อัศวพรชัย ที่สาขาตลาดสี่มุมเมือง มีการถอนเงินออกจากบัญชีด้วยบัตร ATM คู่กับรหัสบัตร จำนวน 17 ครั้ง เป็นเงิน 2,329,000 บาท โดยที่เจ้าตัวแจ้งว่าไม่ได้เป็นคนทำรายการนั้น
สำหรับในกรณีแรก มีการนำบัตรประจำตัวประชาชนปลอม มาเปิดบัญชีที่สาขาศูนย์การค้าอยุธยาพาร์ค เมื่อต้นเดือนเมษายน 2552 นั้น กรณีนี้ธนาคารตกลงชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นให้กับลูกค้าทั้งจำนวน เป็นเงิน 410,900 บาท เนื่องจากเป็นความบกพร่องของธนาคารในการตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งตามปกติในการเปิดบัญชีใหม่นั้น ธนาคารใช้ระบบ KTB Smart Open Account ซึ่งเป็นการเปิดบัญชีอัตโนมัติ ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลไปยังกรมการปกครอง สามารถป้องกันการใช้บัตรประชาชนปลอมมาเปิดบัญชี และธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่สามารถเชื่อมข้อมูลดังกล่าว แต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เนื่องจากในวันที่มีการทุจริตเปิดบัญชีดังกล่าว มีการเปลี่ยนแปลงระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ ซึ่งธนาคารได้แจ้งการชดใช้ค่าเสียหายข้างต้นให้นายมนต์ชัย อัศวพรชัย ทราบไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ลูกค้ายังมิได้รับเงินไปจากธนาคาร
ส่วนกรณีที่มีการใช้บัตร ATM ของลูกค้า เบิกถอนเงินจากเครื่อง ATM นั้น โดยหลักการแล้ว หากเป็นการใช้บัตรควบคู่กับรหัสบัตร ซึ่งถือเป็นข้อมูลลับ จะอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าของบัตร เว้นแต่จะได้มีการแจ้งอายัดบัตรมายังธนาคารแล้ว อย่างไรก็ตาม ธนาคารไม่ได้นิ่งนอนใจ และอยู่ระหว่างติดตามการทำรายการต่างๆ ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง เนื่องจากมีทำรายการรวม 17 ครั้ง ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2551 ถึงเดือนมีนาคม 2552 และมีการทำรายการที่เครื่อง ATM ของธนาคารต่างๆ
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของธนาคารพบว่า การทุจริตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ไม่ใช่การแฮกเกอร์ข้อมูลทางระบบ KTB Online ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด และธนาคารขอยืนยันว่าระบบ KTB Online ของธนาคารมีความปลอดภัยและมีระบบการป้องกันที่ดี ปัญหาการแฮกเกอร์โดยทั่วไป มักเกิดจากลูกค้าใช้คอมพิวเตอร์ในการทำธุรกรรมทางการเงินร่วมกับผู้อื่น ซึ่งทำให้ผู้ทุจริตล่วงรู้รหัสและข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า แต่มิใช่เกิดจากความผิดพลาดของระบบ Online ของธนาคาร และที่ผ่านมาเมื่อลูกค้าแจ้งความผิดปกติของรายการ ธนาคารจะช่วยติดตามและตรวจสอบข้อมูลทางการเงินในระบบคอมพิวเตอร์ จนสามารถติดตามผู้ทุจริตได้อย่างรวดเร็ว
โชว์5เดือนปล่อยกู้รายย่อย3หมื่นล.
ด้านนายอนุชิต อนุชิตานุกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้บริหารสายงาน สายงานบริหารผลิตภัณฑ์และการตลาด ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารได้เร่งขยายสินเชื่อไปยังลูกค้าในทุกภาคส่วน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งในส่วนของลูกค้ารายย่อยนั้น ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กับลูกค้ากว่า 40,000 ราย เป็นยอดเงินเกือบ 30,000 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดสินเชื่อบุคคลของธนาคารเพิ่มเป็น 300,000 ล้านบาท หรือเติบโต 7% เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่ผ่านมา และคาดว่าถึงสิ้นปีนี้ จะสามารถปล่อยสินเชื่อบุคคลเพิ่มอีก 60,000-70,000 ล้านบาท
"ถึงแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัว แต่ความต้องการสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคยังคงมีสูง โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งธนาคารมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3 ทั้งนี้ พอร์ตใหญ่ของสินเชื่อรายย่อยของธนาคาร นอกจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแล้ว ยังมีสินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ ซึ่งธนาคารให้กู้ในลักษณะวงเงินหมุนเวียนกับลูกค้าที่ผ่านบัญชีเงินเดือนกับธนาคาร ในอัตราดอกเบี้ยต่ำมากเพียงร้อยละ 9.875 ต่อปีเท่านั้น รวมทั้งสินเชื่อสวัสดิการ ซึ่งปล่อยกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและลูกค้าประจำ"
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการขยายช่องทางการให้บริการ เพื่อให้กับลูกค้ารายย่อยสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างสะดวกสบาย ธนาคารจึงได้เร่งขยายติดตั้งเครื่อง ATM และขณะนี้อยู่ระหว่างจัดเตรียมอีกกว่า 1,000 เครื่อง ซึ่งจะเน้นติดตั้งในจุดที่เป็นแหล่งชุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า หน่วยราชการ โดยเป็นธนาคารแรกที่ติดตั้งเครื่อง ATM ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินครบทั้ง 18 สถานี รวมทั้งเป็นธนาคารแรกที่ติดตั้งเครื่อง ATM ที่สถานีรถไฟฟ้า BTS ในส่วนต่อขยาย คือสถานีวงเวียนใหญ่และสถานีกรุงธนบุรี นอกเหนือจากที่ติดตั้งไปแล้ว 13 สถานี จากปัจจุบันธนาคารมีเครื่อง ATM อยู่กว่า 6,000 เครื่อง โดย 4,000 เครื่อง กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ
|