Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2530
ชุมพล ณ ลำเลียง อัจฉริยะนักบริหารรุ่นใหม่             
 

   
related stories

ผู้จัดการรุ่นใหม่ในสายตา "ผู้จัดการ"

   
www resources

โฮมเพจ เครือซิเมนต์ไทย

   
search resources

เครือซิเมนต์ไทย
ชุมพล ณ ลำเลียง
Knowledge and Theory




หากนับคนเก่งในแวดวงธุรกิจไทย ชุมพล ณ ลำเลียงสมควรจะอยู่ 1 ใน 10 ปัจจุบันชีวิตและงานของเขาอาจจะยังไม่กลมกลืนกับวัฒนธรรมองค์กรธุรกิจใหญ่บางองค์กร แต่สำหรับอนาคตแล้วย่อมเป็นการกลมกลืนอย่างยิ่ง

เวลาที่ชุมพล ณ ลำเลียง เอาจริงเอาจังมากที่สุด กล่าวกันว่า คือเวลาในสนามกอล์ฟ หรือขณะหวดสควอชอย่างรุนแรง เพราะเป็นช่วงเวลาที่เขาต้องใช้ทั้งกำลังสมองและกำลังกายอย่างมาก

หลายคนบอกว่าเวลาที่เหลือของเขาเหมือนช่วงของงานอดิเรก แม้กระทั่งในฐานะผู้บริหารระดับสูงขององค์กรธุรกิจใหญ่มาก ๆ ของประเทศ

แต่ชุมพลคิดอย่างนั้นจริง ๆ หรือไม่ "ผู้จัดการ" ไม่ทราบ

สิ่งที่ได้รับรู้มาชีวิตของเขา ค่อนข้างลึกลับ โดยเฉพาะความเป็นมาหรือภูมิหลังทางครอบครัว ทราบกันเพียงว่าพ่อของเขาชื่อไทยว่า "กระจ่าง" อาศัยอยู่ซอยสวนพลูซอยเดียวกับบ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชและมีหลักฐานค่อนข้างแน่ชัดว่าพ่อ - แม่ของชุมพล ณ ลำเลียงเชื้อสายจีน นามสกุล "ณ ลำเลียง" ก็เป็นปรึกษาของคนทั่วไปบางคนคาดว่า น่าจะหมายถึงพื้นฐานดั้งเดิมของครอบครัว เกี่ยวกับกิจการเรือลำเลียงซึ่งโยงไปถึงกิจการค้าข้าวด้วย

ชุมพล ณ ลำเลียงปฏิเสธให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการ" ด้วยเหตุผลว่าขอยึดถือสิ่งที่ปฏิบัติมาอย่างคงเส้นคงวาหลายปีแล้ว ต่อไปว่ากันแม้แต่ฟาร์อีสเทิร์นอิโคโนมิครีวิวก็เคยถูกปฏิเสธแบบเดียวกับ "ผู้จัดการ" มาแล้ว

ชุมพล ณ ลำเลียงเกิดปี 2488 เพื่อนของเขาหลายคนยืนยันว่าเขาเดินทางจากเมืองไทยไปอยู่ต่างประเทศตั้งแต่เด็ก รู้กันอย่างชัดเจนก็คือผ่านการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมเครื่องกล ที่ University of Washington ในปี 2508 จากนั้นเข้าศึกษาต่อเอ็มบีเอ. ที่ฮาร์วาร์ด บิวสิเนสสคูล สถาบันสอนวิชาบริหารธุรกิจดีที่สุดในสหรัฐฯ ชุมพล ณ ลำเลียงเป็นคนไทยคนแรก ๆ ที่เรียนเอ็มบีเอ โรงเรียนนี้ บางคนกล่าวว่าคนไทยรุ่นราวคราวเดียวกันในฮาร์วาร์ดได้แก่ สมเกียรติ ลิมรง กรรมการผู้จัดการใหญ่ปูนซีเมนต์นครหลวง

จบแล้วเข้าทำงานในไอเอ็มเอฟ หน่วยงานของธนาคารโลก (WORLD BANK) ประมาณปี 2512 อันเป็นช่วงเดียวกับปูนซิเมนต์ไทยกู้เงินจากธนาคารโลกก้อนใหญ่ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่ง ธนาคารโลกเสนอให้ปรับโครงสร้างกิจการของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยและบริษัทที่เกี่ยวข้อง

ชุมพล จับงานแรกคือการศึกษาโครงสร้างบริษัทปูนซิเมนต์ไทยนี่เอง ทำให้เขาเกิดแรงศรัทธากิจการอุตสาหกรรมเก่าแก่ของประเทศไทยแห่งนี้ขึ้นมา

ก่อนจะกลับเมืองไทยแบงเกอร์สทรัสต์ธนาคารใหญ่ระดับท็อปไฟว์ของสหรัฐฯ ก็รับเขาทำงานในฐานะทีมงานก่อตั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ในประเทศไทยหน้าที่แรกก็คือระดมคนไทย ผู้ผ่านการศึกษาด้านการเงิน-ธนาคารในสหรัฐฯเข้าร่วมทีมเขารับผิดชอบสายงาน CORPERATED FINANCE ของทิสโก้ ผู้รู้จักชุมพลดีเล่าวิธีเสาะมือดีเข้าร่วมงานนั้น เริ่มต้นด้วยการศึกษาประวัติการศึกษานักเรียนไทยระดับปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจในสถาบันที่มีชื่อเสียงอย่างละเอียดในที่สุดเขาพบคน 2 คนซึ่งมีอะไรหลายสิ่งหลายอย่างเหมือน ๆ เขาคือหนึ่ง-พื้นฐานปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ สอง-กำลังศึกษาเอ็มบีเอด้านการเงินในสถาบันชั้นนำของสหรัฐฯ

ชุมพล ใช้จดหมายแนะนำตัว ชักชวน เข้าทำงานขั้นแรกมีการพบปะสนทนาเชิงสัมภาษณ์กัน

คนแรกคือ บันเทิง ตันติวิท นักเรียนยอดเยี่ยมของโรงเรียนวชิราวุธ ผู้ไม่ยอมสอบเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศไทย มีความตั้งใจแน่วแน่จะเข้าเรียนวิศวกรรมศาสตร์ที่เอ็มไอที. สถาบันเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงมากแห่งนึ่งของสหรัฐฯซึ่งก็ไม่ผิดหวังและต่อด้วยปริญญาโทด้านการเงินจาก Slogan School of Management, M.I.T.

สอง - ศิวะพร ทรรทรานนท์ (โปรดอ่านเรื่องศิวะพร ทรรทรานนท์ ประกอบด้วย)

นั่นถือเป็นงานชิ้นแรกของชุมพล ณ ลำเลียง ซึ่งดำเนินตามแนวความคิดบริการธุรกิจสมัยใหม่อันบรรลุผลสำเร็จอย่างดียังความภูมิใจจนทุกวันนี้ เขาเลือกคนไม่ผิดทั้งสองล้วนเป็นมืออาชีพเยี่ยมยุทธในแวดวงธุรกิจการเงินของไทยในเวลาต่อมา

ชุมพล ในขณะนั้นมีชีวิตแบบอเมริกันสไตล์ ชอบนั่งรถสปอร์ตคันเล็ก ๆ แต่งตัวธรรมดาแบบวัยรุ่น และร้องเพลงเดอะบีทเทิ่ลซึ่งกำลังฮิตในช่วงนั้น

เขาเหมือนศิวะพร ทรรทรานนท์ ก็ตรงที่ไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ แต่เขาแตกต่างจากศิวะพร คือได้พยายามศึกษาตั้งแต่อยู่สหรัฐฯ มาจนถึงทิสโก้ แม้กระทั่งตอนเข้าทำงานที่ปูนซิเมนต์ไทยใหม่ ชุมพล ณ ลำเลียงยังต้องจ้างครูสอนภาษาไทยอยู่จนแตกฉากในเวลาต่อมา

ชุมพล ในช่วงกลับเมืองไทยใหม่ ๆ ไม่ค่อยรู้ภาษาไทย เขาดำเนินชีวิตแบบอเมริกันสไตล์ชอบนั่งรถสปอร์ตคันเล็ก ๆ แต่งตัวธรรมดาแบบวัยรุ่น และฮัมเพลง เดอะบีทเทิ่ลซึ่งกำลังฮิตในช่างนั้น

ชุมพล ณ ลำเลียงเป็นคนไทยผ่านการสึกษาวิชาบริหารธุรกิจจากสหรัฐฯรุ่นแรก ๆ อันเป็นช่วงต้น ๆ ยุคเอ็มบีเอ. กำลังถึงจุดเฟื่องฟูในประเทศนั้น ก่อนหน้านี้นักเรียนไทยมักเรียนด้านเศรษฐศาสตร์ หรือบริหารธุรกิจจากอังกฤษและสหรัฐฯและมักหันเหชีวิตเข้าสู่การทำงานกับหน่วยงานราชการ

แต่พวกเขาคือกลุ่มคนมุ่งทำงานกับองค์กรธุรกิจเอกชน

แท้ที่จริงแล้วภารกิจของเขาที่ทิสโก้นั้นเป็นเพียง "ทางผ่าน" เพียงวางรากฐานที่ดีให้กับหน่วยงานนี้ โดยเฉพาะเรื่องคน จึงไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าทิศโก้ในระยะแรกเป็นแหล่งรวมของมือาชีพผู้เก่งกาจจำนวนมาก แน่นอน ชุมพล ณ ลำเลียงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนหนึ่งในการสร้างสิ่งนั้น

สุนทร อรุณานนท์ชัย บันเทิง ตันติวิท (กรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ) สุรศักดิ์ นานากูล (ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ธนาคารกรุงเทพ) ผู้เรียนปริญญาโทรุ่นเดียวกับบันเทิงที่เอ็มไอที. ชัยนรินทร์ ศรีเฟื่องฟู (ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารมหานคร) พิษณุ จงสถิตย์วัฒนาที่เพิ่งลาออกจากเครือซิเมนต์ไทยไป ล้วนเป็นศิษย์เก่าทิสโก้ทั้งสิ้น

ว่าไปแล้วการคัดเลือกคนเข้าทำงานในธุรกิจสร้างขึ้นใหม่ของแบงก์เกอร์สทรัสต์ก็ย่อมยึดถืออเมริกันสไตล์ หาคนเก่งจากท้องถิ่นจำนวนซึ่งในบ้านเราขณะนั้นหาไม่ง่ายเลย แต่ค่อนข้างโชคดีนักเรียนนอกช่วงประวัติศาสตร์สำคัญธุรกิจไทย (คนรุ่นใหม่สนใจเรียนบริหารธุรกิจ) เพิ่งจะกลับมากลุ่มหนึ่ง

ชุมพล ณ ลำเลียงอยู่ที่ทิสโก้เพียง 3 ปีก็ผันตัวเองไปเครือซิเมนต์ไทย ตามความตั้งใจของเขา บางกระแสข่าวอ้างว่าเมื่อครั้งกลับมาเมืองไทยใหม่ ๆ ชุมพลเคยเดินท่อม ๆ ไปสมัครทำงานกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทยเหมือนกัน แต่เขาไม่รับ ข้อมูลอีกบางกระแสข่าวไม่ยืนยัน สาเหตุไม่รับแหล่งข่าวฝ่ายแรกให้เหตุผลสั้น ๆ ว่าบุคลิกของเขาขัดแย้งกับวัฒนธรรมของปูนฯ ชุมพล ณ ลำเลียงเป็นคนง่าย ๆ เรียบ ๆ แต่คนปูนมักเรียบ ๆ แต่บางครั้งไม่ง่าย

ผู้ใกล้ชิดชุมพลเล่าว่าสมัยเขาเรียนที่ฮาร์วาร์ด ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับอัตตชีวประวัติประธานกรรมการบริหารคนแรกของบริษัทเยนเนอรัลมอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลก เขาประทับใจอย่างมาก ๆ ต่อมาได้กลายเป็นจุดตั้งแห่งความใฝ่ฝันต้องการทำงานในกิจการอุตสาหกรรมรถยนต์ ในเวลาเดียวกันเมื่อเขาศึกษาโครงสร้างของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ก้ได่ข้อสรุปว่าสำหรับประเทศไทยแล้วมีเพียงปูนซิเมนต์ไทยเท่านั้นมีศักยภาพจะไปสู่จุดนั้นได้

ในปี 2515 เขาได้เข้าทำงานกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทยตามที่ตั้งความหวังไว้ ชุมพล ณ ลำเลียงจึงบรรลุจุดมุ่งหมายขั้นต้น

เพื่อน ๆ นักบริการธุรกิจมีความเห็นสอดคล้องกันว่าเขามีความเป็นนักบุกเบิกที่เก่งมากที่สุดคนหนึ่ง เขาอยู่ตรงไหนตรงนั้นต้องเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการสร้างสิ่งใหม่ เมื่อเขามาทิสโก้ ทิสโก้กำลังวางรากฐานด้านกำลังคนเพื่อสร้างกิจการให้มั่นคงต่อไปในอนาคต เมื่อมาปูนซิเมนต์ไทยก็เป็นช่วงเวลาที่ปูนฯกำลังปรับโครงสร้างการบริหารครั้งใหญ่ เป็นปีที่ก่อกำเนิด "เครือซิเมนต์ไทย" และที่สำคัญเขามาอยู่ในจุดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย

ปี 2512 ปูนซิเมนต์ไทยกู้เงินธนาคารโลก ธนาคารโลกเห็นว่าจุดอ่อนของปูนฯ คือ โครงสร้างการบริหารมีบริษัทเกี่ยวข้องหลายกิจการ และแนวโน้มจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทั้งจัดกระบบการบริหารไม่รัดกุม โดยเฉพาะความรู้ด้านการตรวจสอบและการเงินในอดีตไม่ได้รับการสนใจเท่าที่ควร อันเนื่องจากประวัติศาสตร์เป็นกิจการเน้นการผลิตตลอดมา

ชุมพล ณ ลำเลียงถือเป็นคนที่เข้ามาวางรากฐานที่ว่าโดยแท้

ตำแหน่งสำคัญในปูนแรก ๆ คือ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน

เมื่อตอนที่ยังทำงานกับทิสโก้ชุมพลมีหน้าที่อย่างหนึ่ง คือการสร้างทีมงานขึ้นมาด้วยการเสาะหามือดีที่จบเอ็มบีเอจากต่างประเทศ มี 2 คนที่ชุมพลให้ความสนใจคนหนึ่งชื่อบันเทิง ตันติวิท อีกคนชื่อศิวะพร ทรรทรานนท์

เรียกได้ว่าเป็นความ "พอดี" ที่เขามีพื้นความรู้ด้านวิศวกรรมอย่างดี เขาจึงสามารถเข้าใจลักษณะกิจการอุตสาหกรรมอย่างดีจากงานสร้างพื้นฐานด้านระบบการเงินในปูนซิเมนตืไทย

ในปี 2518 ชุมพลได้เข้าไปดูอาการของบริษัทสยามคราฟท์ ขณะนั้นกำลังเพียบหนักเพื่อศึกษาฐานะทางการเงิน อันถือเป็นยุทธวิธีพื้นฐานในการเข้าเทคโอเวอร์กิจการ ผลการประเมินสถานการณ์ของเขาเป็นข้อมูลพื้นฐานทำให้ปูนซิเมนต์ไทยได้เข้าบริหารบริษัทดังกล่าวในที่สุด

ในปี 2522 เขาดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปบริษัทเซรามิคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้น เพื่อรับซื้อกิจการของโรยัลเซรามิคมาดำเนินการ ชุมพลเป็นคนแรกเข้า "ผ่าตัด" ด้วยการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีจากหลายประเทศ ต่อมาบริษัทนี้คือแกนของกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ที่บริษัทเซรามิคอุตสหกรรมไทยนี้เขาใช้เวลาอยู่ถึง 2 ปี ในระหว่างนั้นยังต้องมาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทยด้วย บริษัทดำเนินการค้าระหว่างประเทศ (Trading company)

ปี 2524-2525 ชุมพลเข้ามาสู่อุตสาหกรรมเหล็ก เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเหล็กสยาม พอดีกับเหล็กสยามกำลังขยายกำลังการผลิตครั้งใหญ่ด้วยการรับเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น พัฒนาเครื่องจักรทันสมัยกว่าเดิมมาก

เป็นการเข้าใกล้อุตสาหกรรมรถยนต์ครั้งแรก

ปี 2526 ชุมพล ได้รับการโปรโมทเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่รับผิดชอบด้านการตลาด ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นการเดินตามแผนการสับเปลี่ยนสายงานของผู้บริหารเพื่อจะได้เรียนรู้งานอย่างกว้างขวาง สำหรับชุมพลแล้ว ถือได้ว่าได้รับผิดชอบงานเกือบทุกด้านแล้ว ตั้งแต่ฝ่ายการเงิน ผู้บริหารการผลิตและล่าสุดขณะนั้นคือด้านการตลาด

เขาอยู่ในสายการตลาด 2 ปี อันเป็นช่วงธุรกิจเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดค่าเงินบาทในปลายปี 2527 (ซึ่งผลกระทบคงข้ามมาในปี 2528) อย่างไรก็ตามในปีนั้นปูนซิเมนต์ไทยสามารถทำยอดขายสูงสุดเท่าที่มีการบันทึกมาถึงประมาณ 14,000 ล้านบาท (ปี 2529 ยอดขาย 11,437 ล้านบาท) และยังสามารถรักษากำไรไว้ในระดับสูง

ในฐานะผู้รับผิดชอบด้านการตลาดผลงานนั้นต้องยกเครดิตให้ชุมพล ณ ลำเลียง

ภายหลังบทเรียนการลดค่าเงินบาทและอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศยกระดับสูงเป็นประวัติศาสตร์ ธุรกิจอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และอัตราดอกเบี้ยทั้งในและต่างประเทศ

นักบริหารธุรกิจกล่าวว่าในต้นปี 2528 เป็นต้นมา ธุรกิจไทยได้ก้าวเข้าสู่แวดล้อมทางธุรกิจใหม่ ความสามารถในการประกอบการมิได้อยู่ที่ต้นทุนการผลิต (ล้วน ๆ) กับราคาขายเท่านั้น ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยดังกล่าวแล้วข้างต้นด้วย

ดูจะเป็นการเหมาะสมอย่างยิ่ง คณะกรรมการบริหารปูนซิเมนต์ไทย ให้ชุมพล ณ ลำเลียงกลับมาอยู่ในงานเดิม ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ อาวุโส รับผิดชอบสายการเงินและการบริหาร เพิ่ม "การบริหาร" เข้ามาด้วย ซึ่งเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างการบริหารงานทั้งเครือ "ผู้จัดการ" เคยถามพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ไทย เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทในเครือต่าง ๆ พารณกล่าวว่าเรื่องรายละเอียดเช่นนี้ต้องถามชุมพล

ในปี 2528 นั้นเองชุมพล ยังรั้งตำแหน่งผู้ประสานงานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลด้วย

ซึ่งมีความนัยถึงบทบาทของชุมพลที่เพิ่มมากขึ้นอีกประการหนึ่ง ในฐานะผู้วางรากฐานอุตสาหกรรมเครื่องจักร ซึ่งเป็นรากฐานอีกทอดหนึ่งต่ออุตสหกรรมรถยนต์เครือซิเมนต์ไทยกำลังจะมุ่งไปสู่ พร้อม ๆ แรงบันดาลใจของชุมพล ณ ลำเลียงเองด้วย

ปี 2529-2530 เครือซิเมนต์ไทยกระโจนสู่อุตสาหกรรมรถยนต์อย่างเป็นรูปเป็นร่าง โดยโครงการผลิตเครื่องยนต์สำหรับรถบรรทุกขนาดเล็กเริ่มเดินเครื่อง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นก้าวใหญ่ พิจารณาได้ 2 ประเด็น หนึ่ง ปูนเป็น "หัวหอก" ในการลงสู่รากฐานของชิ้นส่วนรถยนต์คือเครื่องยนต์โดยเข้าร่วม 2 โครงการใหญ่ ร่วมทุนกับโตโยต้าและนิสสัน-มิตซูบิชิ สอง-กล่าวกันวาเป็นขั้นสะสมเทคโนโลยีจากหลายบริษัท เกี่ยวกับการผลิตรถยนต์ อันเป็นรากฐานพัฒนาอาร์แอนด์ดีของตนเองในเรื่องนี้ต่อไป

ทั้งนี้ยังไม่ได้พิจารณาในภาพรวมปูนได้เข้าอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ (ปี 2528) อุตสาหกรรมยางรถยนต์ (ปี 2525) ก่อนหน้านั้นแล้ว

ชุมพล ณ ลำเลียง ได้รับการยอมรับจากวงการธุรกิจว่าเป็นคนเก่งชนิดหาตัวจับยาก เขามีคุณสมบัติพื้นฐาน 3 ประการหนึ่ง-มองการณ์ไกล สอง-เข้าใจธรรมชาติของธุรกิจที่ดำเนินอยู่อย่างดี สาม-กล้าตัดสินใจ

"สมองของเขาเหมือนคอมพิวเตอร์คิดเร็ว เขา CONCEPTUALIZE ได้เร็วมาก" คนใกล้ชิดคนหนึ่งยกย่อง กับลูกน้องเขาไว้วางใจ อดีตลูกน้องกล่าวว่าชุมพล ดำเนินนโยบาย DECENTRALIZATION ไม่เหมือนกับเถ้าแก่หรือมืออาชีพไทยส่วนใหญ่ "เพราะเขาเก่งมาก จนไม่ต้องกลัวว่าใครจะเก่งกว่าเขาหรือไม่อย่างไร ไม่ต้องกลัวใครจะมาเลื่อยเก้าอี้" แหล่งข่าวคนเดิมอธิบายเชิงจิตวิทยา

กับวัฒนธรรมของเครือซิเมนต์ไทย ชุมพล ณ ลำเลียง มีทั้งความขัดแย้งและกลมกลืนในเวลาเดียวกัน เขาเป็นคนกล้าแสดงความเห็นโดยเฉพาะในการประชุมคณะกรรมการบริหาร หรือผู้บริหารระดับสูงด้วยกัน "เขาคิดอย่างไรก็พูดออกมา ไม่เกรงว่าจะมีคนเห็นด้วยหรือไม่" นักธุรกิจผู้รู้จักชุมพลดีกล่าว ซึ่งเป็นบุคลิกขัดแย้งกับวัฒนธรรมดั่งเดิมของปูนฯ สมหมาย ฮุนตระกูล เคยวิจารณ์คนปูนใหญ่เรื่องนี้มาแล้วเมื่อครั้งเขานั่งตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ (โปรดอ่านในหนังสือปูนซิเมนต์ไทย 70 ปี หรือ "ผู้จัดการ" เรื่องจากปก ฉบับที่แล้ว)

สิ่งที่กลมกลืนกับวัฒนธรรมของปูนคือชุมพล ณ ลำเลียงเป็นคน LOW PROFILE ไม่ชอบออกมาแสดงตัวภายนอก

ส่วนตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย ทุกคนล้วนคาดหวังว่าชุมพล ณ ลำเลียงจะก้าวถึงสักวัน ถึงแม้จะช้า แต่ก็เป็นการก้าวทีเหมาะสมที่สุด เพราะเขาจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสยาวนานที่สุด เชื่อกันว่าประมาณ 10 ปีทีเดียว

ถึงตอนนั้นเครือซิเมนต์ไทยได้ขยายอาณาจักรอุตสาหกรรมก้าวหน้าไปกว่านี้เป็น ดัชนีการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย หากยุคสมหมาย ฮุนตระกูล คือยุคของการเริ่มต้นสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ยุคจรัส ชูโตเป็นยุคพัฒนาบุคคล ยุคพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ปลูกฝังจริยธรรมทางธุรกิจ ต่อจากนั้นอาจเป็นยุคเน้นหนักด้านการตลาด หรืออื่น ๆ อีก ผู้ศึกษาวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมไทยเชื้อว่า ยุคของชุมพล ณ ลำเลียงอาจเป็นยุคการพัฒนากรวิจัยและพัฒนาการ (R&D) ก้าวถึงจุดที่ปูนซิเมนต์ไทยมีสิทธิบัตร (PATENT) ของตนจดไว้ในต่างประเทศแล้วถึงตอนนั้นงบที่ต้องทุ่มเทเพื่อพัฒนาบุคคลจะต้องเทมาสู่ R&D คิดเป็นต้นทุนการผลิตนับ 10% เหมือนกับอุตสาหกรรมในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย

ชุมพล ณ ลำเลียง ยังมีเวลาอีก 18 ปี ในการทำงาน สะสมประสบการณ์ เมื่อถึงตอนนั้นนักเรียนด้านบริหารธุรกิจของไทยในยุคนั้นก็คงโชคดีมีโอกาสสัมผัสอัตตชีวประวัติของนักธุรกิจ ผู้สร้างอุตสาหกรรมพื้นฐานสำคัญของประเทศไทย เป็นตำราประกอบการเรียนที่ทรงคุณค่ายิ่ง

อาจจะชื่อทำนองว่า MADE IN THAILAND ซึ่งเขียนโดย ชุมพล ณ ลำเลียง

ถึงแม้จะช้ากว่าประเทศอื่น ๆ หลายสิบปีโดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งงานเขียนทรงคุณค่าเช่นนี้กำลังขายดีไปทั่วโลก เช่น MORITA ประธานโซนี่ เขียน MADE IN JAPAN อะไรเทือกนี้

กว่าจะถึงวันนั้น "ผู้จัดการ" คงมีโอกาสได้สนทนากับเขาหลาย ๆ ครั้ง เพื่อพูดถึงชีวิตและงานของเขาเป็นแน่แท้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us