กสิกรฯเข็นสินเชื่อบ้าน 5 เดือนโตตามเป้า มียอดประมาณ 1 หมื่นล้าน มั่นใจทั้งปีปล่อยกู้ได้ 2.8 หมื่นล้าน พร้อมเตรียมทบทวนเป้าหมายสินเชื่อบุคคลเพิ่มหลังมียอดปล่อยกู้พุ่ง ขณะที่สินเชื่อแบงก์พาณิชย์เดือนพ.ค.ยังหดตัวกว่า 1.6 หมื่นล้าน หรือคิดเป็น 0.28% โดยธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังมีสินเชื่อลดลง
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)(KBANK) เปิดเผยถึงการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 ว่า มียอดสินเชื่อเป็นไปตามเป้าหมายที่ธนาคารวางไว้ โดยมีการเติบโตประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่การเติบโตสินเชื่อก็ยังต่ำกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดเติบโตถึง 12,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งปีนี้ก็ยังตั้งไว้ที่ระดับ 28,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าธนาคารจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
"ยอดสินเชื่อบ้านของธนาคารในช่วงที่ผ่านมานั้น ถือว่าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แม้จะน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งก็เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่ก็เชื่อว่าครึ่งปีแรกของปีนี้ยอดสินเชื่อน่าจะได้ถึง 12,000 ล้านบาท ส่วนเป้าทั้งปีก็มั่นใจว่าได้แน่นอน โดยปีนี้ธนาคารจะปรับลดเป้าการปล่อยสินเชื่อลงจากปีที่แล้วที่เติบโต 24% หรือคิดเป็นเม็ดเงินจะอยู่ที่ 38,000 ล้านบาท เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่มีการชะลอตัว ธนาคารจึงคาดการณ์ว่าตลาดสินเชื่อบ้านปีนี้น่าจะหดตัว ทำให้เป้าหมายของธนาคารเหลือแค่ 28,000 ล้านบาท"
สำหรับในช่วงที่เหลือของปี แนวโน้มการซื้อที่อยู่อาศัยหรือลงทุนในทรัพย์ที่มีมูลค่าของประชาชนก็ยังคงเป็นไปอย่างระมัดระวังและมีการพิจารณามากขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันสินเชื่อบ้านของระบบตลาดจะเป็นเรื่องของอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยมีการทำการตลาดโดยตรงในการร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับสถาบันการเงิน อีกทั้งเปิดให้ลูกค้าตรวจดูโครงการด้วยตัวเองเพื่อสร้างความมั่นใจ
ด้านสินเชื่อบุคคลของธนาคารช่วง 5 เดือนมีการเติบโตในระดับที่น่าพอใจเช่นกัน โดยมีอัตราเติบโตประมาณ 6% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 400-500 ล้านบาท จากเป้าทั้งปีนี้ธนาคารตั้งไว้ที่ 10% จากฐานสินเชื่อบุคคลขณะนี้ที่อยู่ในระดับ 8,000 ล้านบาท และขณะนี้ธนาคารกำลังอยู่ในช่วงการทบทวนว่าจะปรับเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้นหรือไม่
สินเชื่อทั้งระบบยังหดตัว0.28%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานตัวเลขสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2552 มียอดคงค้างสินเชื่อจำนวน 5,651,590 ล้านบาท ลดลงจากเดือนที่แล้ว 16,010 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการลดลงร้อยละ 0.28 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.52 โดยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง สินเชื่อปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 644 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.02 ตามการเพิ่มของสินเชื่อธนาคารกรุงไทย จำนวน 12,378 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารที่เหลืออีก 3 แห่ง มีสินเชื่อลดลง นำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ กรุงเทพ และกสิกรไทย จำนวน 6,828 4,104 และ 802 ล้านบาท ตามลำดับ
ส่วนกลุ่มธนาคารขนาดกลาง 4 แห่ง สินเชื่อยังคงปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 12,824 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการลดลงร้อยละ 0.93 นำโดยธนาคารทหารไทย กรุงศรีอยุธยา และนครหลวงไทย มีสินเชื่อลดลงจำนวน 8,198 4,872 และ 67 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนธนาคารธนชาต มีสินเชื่อเพิ่มขึ้น 313 ล้านบาท
และกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก 6 แห่ง สินเชื่อลดลงจากเดือนที่แล้ว 3,830 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 0.73 ตามการลดลงของสินเชื่อธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทย ยูโอบี และซีไอเอ็มบีไทย จำนวน 3,939 1,922 และ 353 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนธนาคารเกียรตินาคิน สินเอเซีย และทิสโก้ มีสินเชื่อเพิ่มขึ้นจำนวน 1,270 641 และ 472 ล้านบาท ตามลำดับ
ด้านเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเดือนพฤษภาคม 2552 มียอดคงค้างทั้งสิ้น 6,487,853 ล้านบาท ลดลงจากเดือนที่แล้ว 64,578 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการลดลงร้อยละ 0.99 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.45 โดยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง เงินฝากปรับตัวลดลง 12,963 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 0.30 ตามการลดลงของเงินฝากของธนาคารขนาดใหญ่ 3 แห่ง นำโดยธนาคารกรุงเทพ และไทยพาณิชย์ มีเงินฝากลดลงจำนวน 9,457 และ 9,009 ล้านบาท ตามลำดับ ตามมาด้วยธนาคารกรุงไทย เงินฝากลดลง 1,035 ล้านบาท มีเพียงธนาคารกสิกรไทย ที่เงินฝากเพิ่มขึ้น 6,538 ล้านบาท
ขณะที่กลุ่มธนาคารขนาดกลาง 4 แห่ง เงินฝากลดลงจากเดือนก่อนหน้า 35,338 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 2.26 ตามการลดลงของเงินฝากธนาคารทหารไทย นครหลวงไทย และกรุงศรีอยุธยา จำนวน 13,978 13,372 และ 11,521 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ ธนาคารธนชาตมีเงินฝากเพิ่มขึ้นจำนวน 3,533 ล้านบาท
และกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก 6 แห่ง เงินฝากลดลงจากเดือนที่แล้วจำนวน 16,278 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการลดลงร้อยละ 2.73 จากการลดลงของเงินฝากแทบทั้งกลุ่ม นำโดยธนาคารซีไอเอ็มบีไทยที่เงินฝากลดลง 6,182 ล้านบาท ตามมาด้วยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทย เกียรตินาคิน ทิสโก้ และยูโอบี มีเงินฝากลดลงจำนวน 4,342 4,227 3,475 และ 1,036 ล้านบาท ตามลำดับ มีเพียงธนาคารสินเอเซีย ที่เงินฝากเพิ่มขึ้น 2,984 ล้านบาท
|