Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2530
ชวน ตั้งมติธรรม พี่ใหญ่ ค่ายมั่นคงเคหะการ             
 

   
related stories

ผู้จัดการรุ่นใหม่ในสายตา "ผู้จัดการ"

   
www resources

โฮมเพจ มั่นคงเคหะการ

   
search resources

มั่นคงเคหะการ, บมจ.
ชวน ตั้งมติธรรม
Real Estate




ชวนได้รับโอกาสเข้าเรียนทั้งที่จุฬาฯ ธรรมศาสตร์และท้ายที่สุดที่รามคำแหง แต่โอกาสที่เปิดให้เขาอย่างกว้างขวาง กลับเป็นมหาวิทยาลัยชีวิตที่ต้องดิ้นรนต่อสู้บนลำแข้งตัวเอง ปัจจุบันเขามีปริญญาบัตรจากรามคำแหงสมใจแล้วส่วนมหาวิทยาลัยชีวิตจริง ๆ แล้วน่าจะต้องให้ปริญญาเอก

ชวน ตั้งมติธรรม หัวเรือใหญ่แห่งเครือมั่นคงเคหะการ อาณาจักรธุรกิจพัฒนาที่ดินและหมู่บ้านจัดสรรชั้นแนวหน้า "ชวน" มีอีกชื่อหนึ่งเรียกกันในหมู่ญาติคนจีนใกล้ชิดว่า "อิ่มช้วน แซ่ตั้ง" เขาเกิดย่านป้อมปราบใจกลางกรุงเทพมหานครนี่เอง

สามถึงสี่ปีให้หลังที่ "สู้เจียว แซ่ตั้ง" ได้เข้ามาทำมาหากินบนแผ่นดินไทย ด้วยการเป็นเสมียนรับจ้างในโรงไม้แถวเชิงสะพานนพวงษ์ พร้อม "กี แซ่คู" ภรรยาคู่ชีวิตที่หอบหิ้วกันมาผ่าน "มาเลเซีย" ทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ที่นั่นระยะหนึ่งก่อนจะตัดสินใจเดินทางมาปักหลักในเมืองไทย

คนทั้งสองนี้คือที่มาของ "ชวน" หรือ "อิ่มช้วน" ลูกชายคนแรกที่เป็นทั้งหัวเรี่ยวหัวแรงและเสาหลักของตระกูล "ตั้งมติธรรม" ในปัจจุบัน

"ชวน" เริ่มเรียนประถม 1 ขณะที่ "สู้เจียว" เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้จัดการฝ่ายขายของโรงค้าไม้และเพียงปีเดียวให้หลังนั้นสงครามมหาเอเชียบูรพา ก็เกิดขึ้นพร้อมกับเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ฝ่ายสัมพันธ์มิตรนำมาบอมบ์ลงใจกลางกรุงเทพมหานคร "ชวน" ต้องหลบภัยระเบิดพร้อมแม่ ออกไปอยู่ชานเมืองแถบท้องทุ่งบางกระปิที่สุดต้องหนีให้ห่างจากภัยสงครามครั้งนั้นออกไปตั้งหลักที่จังหวัดชลบุรี

จากภัยสงครามนับเป็นการดิ้นรนครั้งแรกในชีวิตของคนที่ชื่อ "ชวน" ระหว่างนั้น "สู้เจียว" ตัดสินใจลาออกจากการเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย หันมาระดมทุนจากญาติ ๆ ตั้งโรงค้าไม้แห่งใหม่ของตัวเองอยู่ที่กรุงเกษมเขาจะมีเวลาไปเยี่ยมลูกและภรรยาเฉพาะช่วงเย็นของวันเสาร์ถึงตัวเองชลบุรี

"ชวน" มีโอกาสได้เรียนใหม่อีกครั้งในโรงเรียนจีนเล็ก ๆ ใกล้โรงค้าไม้ของ "สู้เจียว" ซึ่งไม่ได้มาตรฐานนักขาดทั้งหลักสูตรคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ เขาเสียเวลาอยู่ 3 ปี กับสถานที่เรียนแห่งนี้ถึงได้ย้ายเข้าไปอยู่ในขอบรั้วโรงเรียนสหคุณ ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนจีนที่ได้มาตรฐานในขณะนั้น

"ผมต้องหยุดเรียนอีก หลังเข้าเรียนในสหคุณยังไม่ทันถึงปีดี" เขาบอกความหลังที่การเรียนต้องสะดุดลงเป็นหนที่สองเหตุเพราะรัฐบาลสมัยนั้นเน้นนโยบายชาตินิยม โดยออกประกาศยกเลิกการเรียนการสอนภาษาจีนหลักสูตรเกินกว่าชั้นประถมปีที่ 4 ซึ่งมีอยู่ในประเทศขณะนั้นทั้งหมด

การหยุดเรียนทำให้ "ชวน" รู้จักกับงานรับจ้างหารายได้จิปาถะนับแต่งานเบ็ดเตล็ดในร้านค้ากระทั่งขนส่งของและทำความสะอาดนอกสถานที่ "ตอนผมรับจ้างอายุ 15 ปีมีรายได้เริ่มต้นเดือนละ 200 บาทต้องหาเวลาเรียนกลางคืนตามหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่ของทางการ" "ชวน" เล่าพร้อมบอกถึงความมุ่งมั่นการรักความก้าวหน้าด้วยการเสาะหาหนังสือเกี่ยวกับชีวประวัติบุคคลสำคัญมาอ่านเป็นการประดับความรู้ การชอบอ่านของ "ชวน" นี่แหละที่เป็นแรงผลักให้เขาอยากประสบความสำเร็จในงานธุรกิจ

"ผมเรียนกลางคืนอยู่ 2 ปีหันไปกวดวิชาอีก 3 ปี จึงสอบได้ถึงมัธยม 8 และสอบผ่านเข้าเรียนสถาปัตย์ที่จุฬาฯ พร้อม ๆ กับคุณปรี บูรณศิริ" เขาบอกถึงเพื่อนที่เข้าเรียนสถาปัตย์ และมีชื่อเสียงมีตำแหน่งรองผู้ว่าการเคหะในปัจจุบัน

แต่ "ชวน" ต้องชวดจากการเป็นบัณฑิตรั้นสีชมพู เขาออกจะโชคร้าย และค่อนข้างจะอาภัพกับการเอาดิบเอาดีด้านการศึกษาเล่าเรียน เพียงเพราะฐานะที่เป็น "ตั้วเฮีย" ของตระกูล "ตั้งมติธรรม" ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อร่างสร้างตัวธุรกิจของครอบครัวในยุคเริ่มต้น เขาต้องทิ้งการเรียนสถาปัตย์จากจุฬากลับไปช่วยพ่อทำธุรกิจโรงไม้อีกครั้ง ด้วยเวลาที่เพิ่งเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยยังไม่ครอบขวบปี

"ผมเองก็เสียใจที่ต้องเลิกเรียนสถาปัตย์ คุณพ่อขอร้องให้ออกมาช่วย เนื่องด้วยธุรกิจเราเงินทุนน้อย ภาระดอกเบี้ยก็สูงและมีหนี้สูญ หุ้นส่วนอื่นก็บีบให้หาเงินมาซื้อหุ้น หรือต้องเลิกกิจการที่คุณพ่อเป็นหัวแรงก่อตั้ง เราต้องกู้เงินเขามาซื้อหุ้นคืน" เขาบอกถึงสภาพร้านค้าไม้ที่ "สู้เจียว" ผู้พ่อได้ลงมือบุกเบิกมาระยะหนึ่งแต่ไม่มีผลกำไร นับเป็นอุปสรรคของธุรกิจครอบครัวที่ต้องการลูกชายยอมเข้าร่วมทุ่มเททุกอย่างเพื่อช่วยกันทำจึงจะไปรอด ซึ่งการแบกภาระช่วยพ่อฟื้นฟูธุรกิจครั้งนี้ยังหมายถึงการศึกษาของน้อง ๆ อีก 3 คน และอย่างน้อยที่สุดก็เป็นการประหยัดเงินเดือนพนักงานที่เขาต้องเข้าไปรับหน้าที่แทน

นับเป็นก้าวแรกของการเริ่มศึกษางานธุรกิจก่อสร้างอย่างจริงจัง ภาวะที่ธุรกิจครอบครัวต้องทำให้ทั้งสองพ่อลูกเร่งฟื้นฟูจากจุดนี้ถ้าจะบอกว่า "ชวน" ได้เริ่มงานเพื่อวันหนึ่งข้างหน้าจะต้องขึ้นเป็นเสาหลักให้กับ "มั่นคงเคหะการ" ก็คงไม่ผิดมากนัก แม้นว่าจะเป็นการถูกวางหมากจาก "สู้เจียว" ผู้เป็นพ่อ

แรกของงานฟื้นฟูธุรกิจให้กับครอบครัวพร้อมเป็นแนวรากฐานและงานบุกเบิกสำหรับตัวเขาเอง "ชวน" ต้องวิ่งเข้า ๆ ออก ๆ กับหน่วยราชการ โดยเฉพาะกรมโยธาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกที่เขาติดต่อเพื่อขายวัสดุและประมูลงานก่อสร้าง

มั่นคงเคหะการตอนนี้มี 3 แรงแข็งขัน ชวนพี่ใหญ่มีประสบการณ์ยาวแน่นที่เขาซึมซับเอาไว้ไม่น้อยส่วนน้องอีก 2 คนผ่านการศึกษาสูงจากต่างประเทศ

"ผมต้องหันจับงานราชการซึ่งเมื่อก่อนคุณพ่อไม่ค่อยจะทำ ตอนนั้นยังห่วงเรียนผมเข้าธรรมศาสตร์อีก คณะเศรษฐศาสตร์ที่นี่ผมได้รู้จักกับคุณประชา จารุตระกูลชัย" เขาบอกถึงการงานและการเรียน อันเป็นที่มาของความรู้จักมักคุ้นกับคนระดับรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศคนปัจจุบัน ซึ่งทุกวันนี้ยังมีเวลาพอกันบ้างในงานสัมมนาวิชาการ รวมถึง "ปรี บูรณศิริ" รองผู้ว่าเคหะในยามว่าง

การเป็นเพื่อนมิตรต่อคนทั้งสองนี้คงจะไม่ใช่เรื่องที่ตั้งใจและคาดหวังว่าสักวันหนึ่ง "ชวน" ต้องมีอาณาจักรธุรกิจบ้านจัดสรรชั้นระดับแนวหน้า พร้อมอุตสาหกรรมส่งออกวัสดุปูพื้นพรม พี.วี.ซี. ภายใต้ยี่ห้อ "ดูราฟลอร์" ขณะที่ "ปรี บูรณศิริ" เป็นรองผู้ว่าการเคหะและมี "ประชา จารุตระกูลชัย" เป็น รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

"มันคงไม่ใช่เรื่องที่ยากอะไรมากเท่าไหร่นัก หากจะใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวที่มีนี้ส่งเสริมธุรกิจของเขาโดยอาศัยเพียงช่องว่างทางสังคมที่นักธุรกิจอีกหลายคนมีไม่เหมือนเขา" คนในวงการให้ทัศนะ

แต่ "ชวน" กลับย้ำอย่างหนักแน่นว่า "เราทำธุรกิจที่ไม่เคยอาศัยช่องว่างทางสังคมมาเอาเปรียบใคร และไม่มีวิธีการดำเนินธุรกิจที่ไม่ใช่การสร้างสรรค์สังคม" ดูเหมือนสิ่งที่เขาย้ำเช่นนี้คงสมเหตุสมผลกับตำแหน่ง "นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร" ที่บรรดานักธุรกิจที่เป็นสมาชิกอยู่ได้ยอมรับให้เป็นตราประกันถึงศักดิ์ศรีของเขาอยู่พอสมควร

หวนกลับถึงคณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์อันเป็นสถาบันที่ทำให้เขาได้รู้จักกับคนระดับรองอธิบดีกรมฯต่อ "ชวน" เรียนธรรมศาสตร์ได้เพียง 2 ปีต้องหยุดอีกเพราะงานรับเหมาที่ต้องออกบุกเบิกไปถึงต่างจังหวัดขณะที่งานฟื้นฟูธุรกิจครอบครัวในกรุงฯเริ่มอยู่ตัวทั้งเขาและ "สู้เจียว" นอกจากต้องกอบกู้ยังต่างมุ่งหวังให้ธุรกิจกระเตื้องยิ่งขึ้นไปอีก ความตั้งใจที่สอดคล้องกันเช่นนี้เป็นจุดที่ "ชวน" เริ่มงานในต่างจังหวัดเป็นของตัวเองอย่างเอกเทศโดยมี "สู้เจียว" คอยให้การสนับสนุน

ด้วยเงินเพียง 5,000 บาท "ชวนตัดสินใจปักหลักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในตัวจังหวัดอุบล มี "ห้างหุ้นส่วนจำกัดมั่นคงสถาปัตย์" เป็นฐานที่ตั้ง ด้วยวัย 25 ปีค่อนข้างเอาการเอางานรับประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากร้านค้าไม้ของพ่อ ทำให้เขารู้ถึงวิธีแก้ปัญหาและหมุนการเงินอย่างระมัดระวังประกอบด้วยช่างที่มีฝีมือที่เขานำไปจากกรุงเทพทำให้เป็นต่อพ่อค้าท้องถิ่น

"ชวน" ตัดสินใจเลือกยุทธภูมิทางธุรกิจได้ไม่ผิดนัก ปี 2504 ตลาดรวมถึงตึกรามบ้านช่องกลางเมืองอุบลถูกไฟเผาเรียบเกือบทั้งเมือง เขาเริ่มเข้าบุกเบิกขณะความต้องการด้านตลาดก่อสร้างกำลังมีสูง บวกกับเขาเองมีโอกาสดีสามารถจัดหาวัสดุในการก่อสร้างได้ด้วยวิธีการเครดิตจากกรุงเทพทั้งหมด

การถอยร่นหลีกหนีคู่แข่งขันผู้รับเหมาในกรุงเทพที่มีจำนวนมาก ออกไปเผชิญกับพ่อค้าท้องถิ่นไม่กี่ราย แม้จะมีกลุ่มผู้รับเหมาที่เป็นคน "ญวน" เข้ามาทำกินอยู่ในเมืองอุบลก่อน แต่เขาก็ใช้ระยะเวลาปรับตัวเข้าหาและพบจุดอ่อนของคนกลุ่มนั้นจนได้

"พ่อค้ารับเหมาญวนมีความขยันขันแข็งมากทีเดียว แต่เขามีจุดอ่อนตรงที่ทำมักจะไม่ตรงคำพูดและเข้ากับคนในท้องถิ่นยากกว่าเรา เราสร้างความสนิทสนมได้ดีกว่า" เขาเล่าถึงจุดอ่อนของพ่อค้ารับเหมาคนญวนที่ภายหลังเขาได้เปรียบอยู่หลายขุม การเริ่มต้นทางธุรกิจที่ "ชวน" ยึดเอาภาคอีสานใจกลางเมืองอุบลทำให้สามารถขยายออกไปยังจังหวัดใกล้เคียงอีก

อาณาจักร "มั่นคงสถาปัตย์" เริ่มขยายตัว เขาใช้ชีวิตอยู่ในบ้านพักชั่วคราวของหน่วยงานก่อสร้างติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี งานกลางวันติดต่อกับผู้ว่าจ้าง กลางคืนนั่งแยกวัสดุ ประเมินราคาและคิดบัญชีด้วยตัวเอง เขาควบคุมงานอย่างใกล้ชิดขั้นตอน

"บางทีผมต้องจำนำของใช้ส่วนตัวนาฬิกาบ้างสร้อยคอบ้างหรือไม่ก็ต้องหายืมเงินมาจ่ายค่าแรงให้ทันตามกำหนดเวลา หรือยามลูกน้องมีความเดือดร้อน" เขาเล่าถึงวิธีการหมุนเงินเป็นครั้งคราวและประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายไม่ยอมใช้เงินไปในทางที่ไม่เกิดผลส่งเสริมต่อธุรกิจหลัก

ลักษณะธุรกิจรับเหมาเล็ก ๆ ที่มีทั้งงานเอกชนและราชการที่นับวันแตกหน่อขยับขยายมากขึ้นจาก งานสร้างสะพานกำแพงวัดก็เป็นงานสร้างตลาด โรงภาพยนต์เลยถึงการสร้างโรงแรมหรูหราจากประสบการณ์ในการค้นหาช่องจังหวะอย่างดีมีขั้นตอนและสม่ำเสมอ ภายในปี 2511 "ชวน" รีบจัดตั้ง "ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.มั่นคงเทรดดิ้ง" ขึ้นอีกทำการนำเข้าและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง ขายส่งทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

"หจก. ช.มั่นคงเทรดดิ้ง " คือธุรกิจที่สัมพันธ์อยู่ในวงจรเส้นเลือดเดียวกับธุรกิจหลักอยู่แล้ว นับเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ "มั่นคงสถาปัตย์" เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ งานเริ่มขยายไปยังจังหวัดใกล้เคียง "ผมไปสร้างศูนย์การค้า อาคารพาณิชย์ และตลาดที่จังหวัดบุรีรัมย์แล้วก็สร้างโรงแรมที่เมืองอุบล เราให้เซ้งทั้งหมดการขยายงาน เรามองว่าเมื่อดำเนินกิจการในธุรกิจหนึ่งถึงระดับหนึ่งแล้ว อาจจะไม่เกิดความก้าวหน้า ดังนั้นจึงต้องหาทางปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินการเพื่อให้ขยายตัวต่อไปได้" เขาบอกถึงงานรับเหมาระดับใหญ่ที่ตามมารุกไปยังจังหวัดข้างเคียงนับแต่บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ, นครพนม, ขอนแก่น งานซึ่งเกิดผลจากการต้องมีช.มั่นคงเทรดดิ้งขึ้นมาอีก

"มั่นคงสถาปัตย์" ที่มีงานตกแต่งนำเข้าจำหน่ายวัสดุทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัดภายใต้ร่ม หจก.มั่นคงเทรดดิ้งที่พ่วงท้ายอยู่งานบุกเบิกธุรกิจที่กำลังดตวันโตคืนภายใต้การนำของ "ชวน" เริ่มเบนเข็มมุ่งสู่ภาคเหนืออย่างไม่หยุดยั้งกับความเหน็ดเหนื่อยทั้ง 5 ปีให้หลังที่มี "มั่นคงเทรดดิ้ง" แล้วในปี 2516 "ชวน" ก็ก่อตั้งจดทะเบียนบริษัท "ไดมอนด์เซรามิค" ขึ้นด้วย

"ไดมอนด์เซรามิค" เกิดจากการอิ่มตัวของผู้ประกอบการที่ชื่อ "ชวน" ซึ่งสามารถยกระดับธุรกิจของตัวเองขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง จากการรับเหมาที่เป็นงานเล็กสู่การนำเข้าวัสดุและตกแต่งจนถึงงานสร้างอาคารที่ให้เซ้ง กระทั่งที่ต้องคิดมีโรงงานผลิตและรับจ้างผลิตกระเบื้องโมเสค ภายใต้ชื่อ "ไดมอนด์เซรามิค" ออกจะเป็นก้าวย่างที่เติบโตในสายธุรกิจที่จงใจร้อยรัดให้สัมพันธ์กันขึ้นมาด้วยสายตาที่ยาวไกล แต่ "ชวน" ต้องหยุดโครงการไว้ก่อนเพราะช่วงนั้นโรงงานกระเบื้องมีคู่แข่งขันมาก

"เกี่ยวกับงานก่อสร้างแล้วตอนนั้นแทบพูดได้ว่า เขามีเกือบจะทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือตกแต่ง วัสดุ แล้วก้มาทำโรงงานกระเบื้องขึ้นอีก" คนในวงการก่อสร้างที่ร่วมสมัยกับ "ชวน" เล่าให้ฟัง

วงจรธุรกิจหมุนไปชนิดที่เรียกว่าเกือบจะครบเครื่อง ก่อนหน้าที่จะเกิด "ไดมอนด์ซีรามิค" เพียง 1 ปี "ชวน ไม่หยุดยั้งในการพัฒนาตนเองพร้อมกับการพัฒนาองค์กรธุรกิจ ที่นับวันเดินหน้าเขายังต้องการไขว่คว้าหาปริญญษบัตรด้วยการสมัครเข้า

ปทุมวันเพลสคอนโดมิเนียมแห่งแรกของมั่นคงเคหะเป็นโครงการที่ได้รับคำชมเชยมาก พื้นที่ถูกขายไปได้หมดก่อนอาคารจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ ทั้ง ๆ ที่ตลาดคอนโดมิเนียมโดยรวมกำลังตกต่ำ

เป็นนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ มาหวิทยาลัยรามคำแหง ในปี 2515 ขณะที่ "ประทีปตั้งมติธรรม" ผู้เป็นน้องชายหอบหิ้วเอาปริญญาโทสถาปัตยกรรม (เกียรตินิยม) สาขาเคหะการจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์สหรัฐฯกลับมา ในปี 2516 อันเป็นปีเดียวกับการก่อตั้งโรงงานกระเบื้อง "ไดมอนด์ซีรามิค"

สองแรงแข็งขันที่ผสมผสานเอาความบึกบึนสั่งสมประสบการณ์อันเป็นลักษณะของเถ้าแก่เจ้าของกิจการมาเนิ่นนานอย่าง "ชวน" กับแรงผลักของคนหนุ่มไฟแรง ที่เพิ่งจบการศึกษาด้านวิชาการด้านสถาปัตย์สาขาเคหะการโดยเฉพาะ ทำให้การไขลานของธุรกิจครอบครัว "ตั้งมติธรรม" ยิ่งเขม็งเกลียวเพิ่มขึ้นอีกหลายรอบตัว

คนอย่าง "ชวน" เขาไม่ยอมปล่อยโอกาสให้ผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์เอาเสียเลย เขามักพูดเสมอว่า "เมื่อได้รับความสำเร็จมีรากฐานที่มั่นคงแล้ว ธุรกิจสามารถที่จะขยายตัวในลักษณะแบบเรขาคณิต การลงทุนขยายธุรกิจให้เกิดการสร้างงานเป็นลูกโซ่จะต้อมีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ ผู้ทำธุรกิจควรมีความรู้ทางวิชาการใช้ผสมกับประสบการณ์ที่สะสม จึงจะบริการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและก้าวหน้าต่อไปได้อย่างไม่หยุดยั้ง"

มันช่างสมใจเถ้าแก่ "ชวน" เสียนี่กระไร หลังจากที่ "ประทีป" กลับจากต่างประเทศเพียงปีเดียว ปี 2517 "ประศาสน์ตั้งมติธรรม" น้องชายสุดท้องก็สำเร็จ วิศวกรรมสำรวจ จากรั้วจุฬาเป็นพลังเสริมธุรกิจครอบครัวเพิ่มขึ้นอีก ออกจะสมใจเขาไปเสียทุกอย่าง ธุรกิจที่เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงก็ออกจะมั่นคง น้อง ๆ ที่หมายมั่นปั้นมือมาด้วยน้ำพักน้ำแรง ก็จบการศึกษาออกมาอย่างเหมาะเจาะ

จากประสบการณ์ทางก่อสร้างมากกว่า 10 ปี สามารถจะทราบถึงความต้องการของลูกค้าได้ในระดับหนึ่ง พร้อมลักษณะการควบคุมให้การก่อสร้างมีคุณภาพ ในขณะที่ปี 2519 กรุงเทพฯ กำลังขยายตัวความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชนมีสูง เขาเริ่มออกสำรวจที่ดินที่จะซื้อเพื่อลงโครงการหมู่บ้านจัดสรร

"เราสิ่งหาที่ดินพร้อมสำรวจความเหมาะสมอยู่ระยะหนึ่ง ที่สุดก็ลงที่คอลงประปาถนนประชาชื่น เริ่มลงอย่างจริงจังในปี 20 เรียกว่าโครงการหมู่บ้านชวนชื่นประชาชื่น" เขาบอกถึงโครงการแรกซึ่งใช้เวลาดำเนินการจนถึงปี 2522 จึงสามารถเปิดโครงการได้

ในที่สุด "ชวน" ก็เป็นบัณฑิตจนได้เขาได้รับปริญญาสมใจอยากในปี 22 อันเป็นปีเดียวที่โครงการหมู่บ้านจัดสรรชวนชื่นประชาชื่นปิดโครงการพอดี เขาใช้เวลาเรียนในรามคำแหงถึง 7 ปีเต็ม "ผมเรียนนานเพราะแต่ละภาคลงไม่กี่วิชา" เขาบอกถึงลักษณะการที่ต้องเรียนด้วยทำงานด้วย "ชวน" กลายเป็นศิษย์เก่าถึง 3 สถาบันเมื่อนับรวมถึงสถานที่เคยเรียนแต่ไม่จบตั้งแต่รั้วจุฬาฯ มาธรรมศาสตร์จนถึงรามคำแหง

หลังจากปิดโครงการแรกได้ "ชวน" ร่วมกับน้อง ๆ ในครอบครัวซึ่งร่วมแรงกันอย่างแข็งขัน เขาพากันควบกิจการที่มีทั้ง "มั่นคงสถาปัตย์" มั่นคงเทรดดิ้งและไดมอนด์ซีรามิค" เข้าสู่ธุรกิจหมู่บ้านจัดสรรอย่างเต็มตัวภายใน 4 ปีจาก 2523-ปี 2526 สามารถมีโครงการหมู่บ้านจัดสรรเพิ่มอีกถึง 4 โครงการ

โครงการสอง "ชุมชนชวนชื่นหัวหมาก" เปิดโครงการในปี 2522 สามารถปิดโครงการได้ในปี 2526 ตามมาด้วยโครงการที่ 3 "ชวนชื่นเคหะอุทยานทุ่งมหาเมฆ" หลังศูนย์การค้าวรรัตน์ ถนนจันทร์ เปิดโครงการในปี 2523

และในปี 2524 นี่แหละที่บริษัท "ไดมอนด์ซีรามิค" มีการเพิ่มทุนจาก 8 ล้านเป็น 15 ล้านบาท ในเดือนมีนาคมหลังจากนั้นได้เดือนเดียวคือ วันที่ 29 เมษายน 2524 ในบรรดาผู้ถือหุ้นที่ล้วนเป็นพี่ ๆน้อง ๆก็มีมติให้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก "ไดมอนด์ซีรามิค" มาเป็นบริษัท "มั่นคงเคหะธนาการ"

ปี 2525 โครงการที่ 4 เกิดขึ้นภายใต้ชื่อ "ชวนชื่นลาดพร้าว" ย่านซอยภาวนาในปี 2526 "ชวน" หันไปจับคอนโดมิเนียมซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังบูม มันก็น่าแปลกอยู่หน่อยสำหรับคนที่ทำอะไรแล้วต้องล้มลุกคลุกคลานแต่ "ชวน" นับว่าสายตาของเขาแหลมคมที่หาตัวจับยาก

ภายในปีเดียวปทุมวันเพลสคอนโดมิเนียม ก็สามารถขายหมดได้ในปี 2527 ในปีนี้นี่เองได้มีการเพิ่มทุนของบริษัทอีกครั้งจาก 15 ล้านเป็น 45 ล้านบาท ขณะเดียวกันผู้ถือหุ้นได้ประชุมพิจารณาขยายกิจการของบริษัทที่ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจทำบ้านจัดสรรอย่างแน่นอน จึงได้ร่วมกันทำการเปลี่ยนชื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจจากบริษัท "มั่นคงเคหะธนาการ" เป็นบริษัท "มั่นคงเคหะการ"

จาก "ไดมอนด์ซีรามิค" ถึง "มั่นคงเคหะธนาการ" มาจนกระทั่งเป็น "มั่นคงเคหะการ" ในวันนี้ ดูเหมือนการหยั่งรากแก้วลงจนลึกการเปลี่ยนชื่อครั้งแล้วครั้งเล่า นับเป็นสิ่งจูงใจให้มีความหมายเพียงหนึ่งเดียวคือ "มั่นคง"

"มั่นคง" ที่มาจากความหมายเดียวกับภาษาจีนที่เรียกเป็นชื่อของเขา "อิ่มฉ้วน" "มั่นคงอยู่เหนือความเสี่ยงภัย โดยบริษัทจะก้าวไปด้วยช่างก้าวเต็มฝีก้าวที่มั่นคงอย่างไม่หยุดยั้ง" เจ้าของชื่อและความหมายนี้พูดอย่างมั่นใจเสียจริง ๆ

ปี 2527 เป็นปีที่ "ประศาสน์ ตั้งมติธรรม" กลับจากอเมริกาพร้อมด้วยปริญญาเอกทางด้านการเงิน "ประศาสน์" จากครอบครัวไปแต่ปี 2522 ซึ่งได้รับทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นทำการวิจัยเกี่ยวกับสถาบันการเงินที่มหาวิทยาลัยโกเบ หลังจากนั้นจึงเรียนต่อระดับปริญญาเอกด้านการเงินที่มหาวิทยาลัยฮาวายสหรัฐอเมริกา

"ประศาสน์" กลับมาขณะที่เวทีธุรกิจครอบครัวพร้อมที่จะให้เขาได้แสดงฝีมือธุรกิจหมู่บ้านจัดสรรเครือ "มั่นคงเคหะการ" กำลังโต เกมธุรกิจที่ "ชวน" ผู้เป็นพี่ชายเล่นอยู่ขณะนั้นแทบเรียกได้ว่าเขาพับสนามเล่นกันทีเดียว การจัดสรรขุมกำลังสติปัญญาเป็นไปโดยอัตโนมัติทั้ง "ประทีป" และ "ประศาสน์" เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกวางในตำแหน่งให้เหมาะสม ขณะที่ "ชวน" ยืนอยู่จุดเซ็นเตอร์พร้อมในการที่จะตัดสินใจยิงลูกเข้าประตูได้ตลอดเวลา

หลังกลับจากอเมริกา "ประศาสน์" เข้าเป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์ได้ปีเดียว ในปี 2528 เขาต้องลาออกมารับตำแหน่งรองประธานเครือ "มั่นคงเคหะการ" พร้อมกับเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท "มั่นคงการโยธา" ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งมีบทบาทในด้านการรับเหมาก่อสร้างหนุนช่วยบริษัทในเครือ

ขณะที่ "ประทีป" รับผิดชอบตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ "มั่นคงเคหะการ" อันเปรียบเหมือนเส้นเลือดใหญ่ในการเป็นบริษัทแม่ที่มี "ชวน" เป็นประธานกรรมการบริหาร "ชวน" ยังพ่วงด้วยตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัท "ดูราฟลอร์ จำกัด" ที่เปรียบดั่งเส้นเลือดใหม่ที่เขาพยายามสร้างขึ้นมาหมาด ๆ ในปลายปี 2526

"ขอบอกถึงคนรุ่นใหม่ว่าให้พยายามพัฒนาตัวเองให้มีคุณสมบัติที่เป็นทั้งมืออาชีพ และเจ้าของกิจการทั้งสองด้านแล้วเป็นผู้สร้างสรรค์อยู่เสมออย่าหยุดตื่นตัวเสมอประมาณตนเองเสมอ"

"การทำธุรกิจก่อสร้างทำให้ผมคิดว่าหากสามารถผนึกกำลังทั้งขายวัสดุก่อสร้างตกแต่งและก่อตั้งโรงงานผลิตวัสดุปูพื้นชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า พรมวิทยาศาสตร์หรือพรมพีวีซีออกจำหน่ายได้ก็จะมีอนาคต" "ชวน" บอกถึงแรงจูงใจตั้งบริษัทผลิตวัสดุปูพื้นพีวีซี ภายใต้ยี่ห้อ "ดูราฟลอร์" ซึ่งมีโรงงานเป็นของตัวเองที่ทันสมัยตั้งอยู่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร คลองหลวง ปทุมธานี

กว่าจะมาถึงวันนี้ วันที่ "เครือมั่นคงเคหะการ" มีสินทรัพย์ประมาณ 400 ล้านบาทด้วยการเริ่มต้นเงินเพียง 5,000 บาทของ "ชวน" เขาบอกว่าเขาฝ่ามรสุมจากวิกฤตนับแต่ปี 2526 ซึ่งสถาบันการเงินหลายแห่งมีปัญหา ธุรกิจหลายแห่งได้รับผลกระทบโดยตรงถึงกับล้มไปหลายแห่ง แต่เครือ "มั่นคงเคหะการ" ยังยืนโต้คลื่นลมผ่านมาได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีธุรกิจในเครือเป็นสถาบันการเงินของตนเองรองรับ

ตรงข้ามปีรุ่งขึ้น พ.ศ. 2527-2528 คอนโดมิเนียม 18 ชั้นของเขาที่เรียกว่า "ปทุมวันคอมเพลส" กลับได้รับรางวัลจากผู้จัดทำโครงการประกวดผลงานตลาดดีเด่น ทั้งนี้เพราะโครงการดังกล่าวได้ดำเนินกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสมสามารถขายห้องชุดได้หมดก่อนตัวอาคารจะสร้างเสร็จทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นเป็นเวลาที่ตลาดคอนโดมิเนียมโดยทั่วไปกำลังซบเซา

ในปี 2529 ถัดมา ผู้ประกอบการทั้งขนาดกลางและขนาดย่อมอีกหลายแห่ง ต้องล้มระเนระนาด ซึ่งเป็นผลเนื่องจากนโยบายการจำกัดสินเชื่อแต่เขากลับพูดอย่างเต็มปากเต็มคำว่า "ผมได้รับการทาบทามจากผู้บริหารไฟแนนซ์หลายแห่งให้เข้าร่วมถือหุ้น มีการพูดคุยกันเราก็คิดว่าน่าจะมีธุรกิจเกี่ยวกับสถาบันการเงินที่เป็นของตัวเองบ้างซึ่งตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจ" เขาบอกถึงสักวันหนึ่งจะต้องก้าวเข้าสู่ธุรกิจสถาบันการเงิน

"มีบริษัทเงินทุนเขาปรึกษาอยู่ 2-3 บริษัทที่มาทาบทามเรา บางบริษัทเราก็เห็นว่ามีหนี้สินมากเกินไปบางบริษัทเราก็เห็นว่าอยู่ที่การเจรจาเงื่อนไขในการที่จะขาย"

"การไปสู่ความสำเร็จที่อยู่ที่เราพยายามพัฒนาตัวเอง ติดตามโอกาสที่จะเป็นประโยชน์ตลอดเวลา ทีนี้ก็อยู่ที่สายตาว่าสิ่งไหนเหมาะวิเคราะห์ว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์แก่เรามากน้อยแค่ไหน บางสิ่งอาจมีมากน้อยถ้าไปจับสิ่งที่มีประโยชน์น้อยจะทำให้เราเสียกำลังไป เมื่อเราวิเคราะห์ว่าสิ่งไหนเป็นประโยชน์ต่อเราก็ต้องรีบจับมันเลยไม่เช่นนั้นมันเลยไปจับไม่ได้"

"ผมคิดเสมอว่าถ้าผมเกิดในยุคของคุณชินหรือคุณอุเทน ผมก็คิดว่าผมสามารถที่จะเป็นแบงก์เกอร์ใหญ่เพราะสมัยนั้นแบงก์มันขอได้ง่ายเหลือเกิน แล้วโอกาสที่เราจะไปถือหุ้นแล้วขึ้นไปบริหารมันง่าย แบงก์ชาติไม่ค่อยควบคุมเลย"

ปี 2530 นี้เป็นการเติบโตเต็มที่จากการเริ่มต้นจาก "ชวนชื่น" ประชาชื่นเป็นแห่งแรก มาจนบ้านอุทยานในฝัน "ชวนชื่นพาร์ควิลล์" มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาทตั้งอยู่ติดกับถนนวงแหวนสายนอกเชื่อมต่อทางด่วนสายปิ่นเกล้า-นครชัยศรี และอีก 2 โครงการล่าสุดคือชวนชื่น รามอินทรา เนื้อที่กว่า 200 ไร่ ซึ่งเพิ่งเปิดโครงการเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และอีกโครงการที่ต้องเปิดในเร็ว ๆ นี้คือ กรีนวิล์ล โครงการคู่แฝดของ ชวนชื่น พาร์ควิลล์

และในเร็ว ๆ นี้สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของเครือ "มั่นคงเคหะการ" ก็จะเป็นที่รวมของบริษัทในเครือทั้งหมด เป็นอาคาร 10 ชั้น ตั้งตระหง่านอยู่ย่านตลาดกลางไข่เดิมถนนบรรทัดทอง "เราจะสร้างให้เสร็จก่อนสิ้นปี 31 นี้ ทำสัญญาเช่าที่จากทรัพย์สินจุฬา 30 ปี หากครบสัญญาเราก็ยกตึกให้กับทางราชการไปแล้วจะเป็นผู้เช่าตึกนี้ต่ออีกที" ชวนบอกถึงสำนักงานแห่งใหม่อันเป็นที่รวมศูนย์ของเครือ "มั่นคงเคหะการ"

"ผมจะต้องเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในเร็ว ๆ นี้ให้ได้ ก็อยากจะบอกถึงคนรุ่นใหม่ว่าให้พยายามพัฒนาตัวเองให้มีคุณสมบัติที่เป็นทั้งมืออาชีพ และเจ้าของกิจการทั้งสองด้านแล้วพยายามเป็นผู้สร้างสรรค์อยู่เสมออย่าหยุดมีการตื่นตัวอยู่เสมอและประมาณตนเองเสมอ" เถ้าแก่ชวนบอกพร้อมฝากข้อคิดไว้ให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ ๆ ต่อไป

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us