|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเฮดังๆ ธปท.เผยแบงก์พาณิชย์ยอมลดค่าธรรมเนียมรีไฟแนนซ์จากเดิม 2-3% เหลือ 0.5% เริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย.ถึงสิ้นปี เผยแบงก์เฉพาะกิจนำร่องไปก่อนแล้ว เผยความคืบหน้าศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาการปล่อยสินเชื่อเดือนเดียวมียอดผู้ร้องเรียน 500 ราย แก้ไขปัญหา-ประสานงานส่งต่อให้แบงก์พาณิชย์แล้ว 300 ราย เล็งฟื้นสำนักปรับปรุงโครงสร้างหนี้สกัดปัญหาเอ็นพีแอล
นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐได้มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (รีไฟแนนซ์) ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์บางแห่งมีการพิจารณาลดค่าธรรมเนียมบ้าง แต่ล่าสุดธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบได้พร้อมใจกันลดค่าธรรมเนียมปรับปรุงโครงสร้างหนี้เหลือ 0.5% นับตั้งแต่เดือน มิ.ย.ถึงสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ จากเดิมที่ธนาคารพาณิชย์ในระบบคิดในสัดส่วน 2-3% ถือเป็นการผ่อนคลายเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากขึ้น
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากประชาชนทั่วไปมีการร้องเรียนประเด็นนี้เข้ามามากที่ศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ธปท.ได้มีการประสานงานและพูดคุยกับธนาคารพาณิชย์ในระบบเรื่องนี้และมีผลใหัลดค่าธรรมเนียมรีไฟแนนซ์ดังกล่าว โดยในปัจจุบันหลังจากที่ ธปท.เปิดศูนย์ฯ นี้มา 1 เดือน มียอดผู้ร้องเรียนเข้ามาทั้งสิ้น 500 รายพอดี ซึ่ง ธปท.ได้แก้ไขปัญหาไปแล้วประมาณ 300 ราย หรือคิดเป็น 60-70% ส่วนที่เหลือกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
โดยผู้ร้องเรียนถึง 160 รายแจ้งว่าธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยกู้ โดยอ้างหลักเกณฑ์ ธปท. ซึ่งประเด็นนี้เกิดความเข้าใจผิดของธนาคารพาณิชย์บางแห่ง โดยเฉพาะลูกหนี้ที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แล้วไม่สามารถปล่อยสินเชื่อ ซึ่ง ธปท.ได้มีการผ่อนปรนเรื่องนี้ให้แล้ว โดยให้พิจารณาโครงการที่ดีและมีศักยภาพมากกว่า นอกจากนี้ผู้ขอสินเชื่อมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน ซึ่ง ธปท.ได้ส่งเรื่องให้ธนาคารพาณิชย์ทบทวนและพิจารณาด้านศักยภาพของลูกค้าที่ขอสินเชื่อมากกว่า
ส่วนประเด็นอื่นๆ มีทั้งลูกค้าบัตรเครดิตต้องการขอวงเงินเพิ่ม แต่ไม่ได้รับอนุมัติ ซึ่งเกิดจากสาเหตุรายได้ไม่เพียงพอ โดย ธปท.เสนอให้ลูกค้านำหลักฐานที่แสดงว่ามีรายได้อื่นๆ เพิ่มเติมมาพิสูจน์ต่อธนาคารพาณิชย์ หรือกรณีที่ลูกค้าไม่สามารถผ่อนชำระขั้นต่ำ 10%ของหนี้ที่เหลือ ธปท.ก็แนะนำให้ลูกหนี้รายนั้นมาเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารพาณิชย์แทน รวมทั้งกรณีที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วแต่ธนาคารพาณิชย์ไม่พิจารณา ลูกค้าติดปัญหาเครดิตบูโร ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดมากเกินไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ธปท.ได้ประสานงานมาตลอดและภาพรวมเป็นที่น่าพอใจ
"ผู้ที่ร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นลูกค้าของแบงก์ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นธรรมดาที่ลูกค้าเขาเยอะก็มีปัญหาเยอะ แต่การจัดตั้งศูนย์ประสานงานฯ นี้ขึ้นมาไม่ได้เป็นช่องทางให้ลูกค้าสามารถเข้าหาแบงก์และขอเงินกู้ได้มากขึ้น แต่ต้องการรับทราบปัญหาและหาแนวทางแก้ไขปัญหานั้นๆ รวมถึงประสานงานในเรื่องต่างๆ ทั้งลดค่าธรรมเนียม การเร่งรัดปัญหาบางอย่างที่ติดขัดให้เร็วขึ้น หากจำนวนปัญหาการปล่อยสินเชื่อมีผู้ร้องเรียนกันหนาแน่นก็มีความเป็นไปได้ที่จะเลื่อนเวลาตั้งศูนย์นี้ให้มากกว่า 6 เดือน จากที่เคยคาดว่าจะตั้งศูนย์นี้มาแค่ระยะเวลาสั้นๆ"
ด้านนายเฉลิมชัย วงศ์ตั้งเจริญ หัวหน้าศูนย์ประสานงานฯ กล่าวว่า สถานการณ์การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันมีปัญหามากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมาเฉลี่ยในแต่ละปี ธปท.จะได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อประมาณ 1,000 ราย แต่ในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ แค่เดือนเดียวก็มีคนร้องเรียนมาถึง 500 ราย ถือเป็นปริมาณที่เยอะ ซึ่งเรื่องนี้ ธปท.ต้องติดตามต่อไปว่าปัญหาจะเยอะเฉพาะในช่วงแรกๆ หรือไม่
ทั้งนี้ ผู้ที่ร้องเรียนเข้ามาที่ศูนย์ประสานงานฯ ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องปรับปรุงโครงสร้างหนี้มากที่สุด 53 ราย เครดิตบูโร 44 ราย เอกสารไม่ครบ 28 ราย ธนาคารพาณิชย์ปฏิเสธสินเชื่อโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบ 20 ราย และหลักประกันที่นำมาค้ำประกันสินเชื่อไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ประมาณ 10 ราย เป็นต้น
ฟื้นสำนักปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ขณะนี้ ธปท.กำลังอยู่ระหว่างศึกษาและตัดสินใจถึงความจำเป็นที่ควรจะมีการจัดตั้งสำนักปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือไม่ หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์และประชาชนทั่วไปต้องการให้มีการตั้งสำนักปรับปรุงโครงสร้างหนี้ขึ้นมาช่วยเจรจาระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ โดยมี ธปท.เป็นตัวกลาง โดยยอมรับว่าสถานการณ์เอ็นพีแอลในตอนนี้ต่างกับปี 40 ที่ไม่ได้มีสูงมาก ขณะเดียวกันในช่วงนั้นลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายราย ต่างกับปัญหาปัจจุบันที่ลูกหนี้เป็นแค่รายย่อยและมีปัญหาแค่เจ้าหนี้รายเดียว อย่างไรก็ตามห่วงปัญหาเอ็นพีแอลในระบบเศรษฐกิจที่จะเพิ่มขึ้น จึงควรมีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้แต่เนินๆ ทำให้ ธปท.อยู่ระหว่างชั่งน้ำหนักว่าควรจะมีสำนักปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในอนาคตหรือไม่
ธนาคารรัฐชี้แบงก์พาณิชย์ปรับตัว
นายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารใช้วิธีป้องกันการรีไฟแนนซ์โดยออกแคมเปญดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี ปีที่ 1 ดอกเบี้ย 1.25% ปีที่ 2 MLR -2.0 ปีที่ 3 MLR – 0.50 ซึ่งลูกค้าอาจเห็นว่าหากรีไฟแนนซ์เพื่อมาใช้แคมเปญนี้ของธนาคารออมสินอาจคุ้มกว่าจึงมาใช้บริการ ส่วนการลดค่าธรรมเนียมดังกล่าวของธนาคารพาณิชย์เป็นกลไกที่พยามปรับตัว
นางจามรี เศวตจินดา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) กล่าวว่า ในส่วนของ ธอส.ไม่มีการประกาศลดค่าธรรมเนียมไถ่ถอนสินเชื่อแต่จะพิจารณาเป็นรายๆ ตามความเหมาะสมที่ลูกค้าให้เหตุผลกับธนาคารดูว่าเขามีความจำเป็นเพียงใดในการขอไถ่ถอน เช่น กรณีที่ลูกค้าออกจากงานและได้รับเงินก้อนต้องการปิดบัญชีเพราะไม่สามารถผ่อนค่างวดระยะยาวได้ธนาคารก็จะพิจารณาอนุมัติตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป.
|
|
|
|
|