Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2530
อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล ไทยประกันชีวิตยุค "ไฮเทค"             
 


   
www resources

โฮมเพจ ไทยประกันชีวิต

   
search resources

ไทยประกันชีวิต, บจก.
อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล
Insurance




ไทยประกันชีวิตเพิ่งจะผ่านยุคของการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาและกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ ภายใต้การนำของอภิรักษ์ ไทพัฒนกุลทิศทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จะเน้นที่ความเติบใหญ่หรือจะเน้นสร้างความแข็งแกร่งภายใน

องค์กรธุรกิจที่มีอายุยืนยาวผ่านการสืบทอดการบริหารจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ในแต่ละยุคของผู้บริหารที่เป็นผู้นำองค์กรแต่ละคนนั้นมักจะมีลักษณะพิเศษที่โดดเด่นเป็นยุคต่าง ๆ กัน

อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล เพิ่งจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำไทยประกันชีวิต บริษัทของคนไทยที่มีขนาดใหญ่โตที่สุดในสายธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทย

ยุคของอภิรักษ์ ไทพัฒนกุล หรือที่ใครต่อใครมักเรียกเขาว่า "อาจารย์อภิรักษ์" จริง ๆ แล้วเป็นยุคที่สืบต่อจากยุคของอนิวรรตน์ กฤตยากีรณ อดีตกรรมการผู้จัดการที่เป็นผู้ฉุดกระชากลากดึงไทยประกันชีวิตจากบริษัทอันดับโหล่สุดทะยานขึ้นสู่อันดับยอดสุดได้ย่างน่าอัศจรรย ์และเป็นที่ยอมรับกันว่ายุคของอินวรรตน์ เป็นยุคที่ไทยประกันชีวิตเติบโตอย่างก้าวกระโดดซึ่งเด่นมาก ๆ ก็คือด้านการตลาดที่บุกทะลวงถึงไหนถึงกันไปทั่วทิศ

สำหรับอภิรักษ์ เขาจะสร้างสรรค์เอกลักษณ์โดดเด่นเช่นไร่ในยุคของเขา

ทุก ๆ วันกว่าครึ่งปีมานี้ ถ้าไม่มีภารกิจรัดตัว อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล จะใช้เวลาที่พอปลีกตัวได้คลุกอยู่กับฝ่ายคอมพิวเตอร์ของบริษัทฯ แม้จะเป็นเวลาหลังงาน การพักผ่อนบนโต๊ะอาหารเย็นแกล้มเครื่องดื่มช่วยเพิ่มความอบอุ่นก่อนกลับบ้าน คนที่ดูเหมือนจะต้องนั่งร่วมโต๊ะอยู่ด้วยสม่ำเสมอก็เห็นจะได้แก่มานิต โฆวินทะ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในฝ่ายคอมพิวเตอร์ของไทยประกันชีวิต

เขายอมรับว่าในแต่ละวัน เวลาส่วนใหญ่ที่ถูกใช้ไปมักจะเป็นเรื่องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่างเขาในฐานะผู้เข้าใจระบบงานของบริษัททุกระบบอย่างลึกซึ้ง กับคนของศูนย์คอมพิวเตอร์ และระบบที่เข้าใจการทำงานของคอมพิวเตอร์อย่างผู้รู้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความ "ลงตัว" ในการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยงาน

เขาไม่ปฏิเสธถ้าใครจะให้คำจำกัดความไทยประกันชีวิตในยุคที่เขาขึ้นรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการว่าเป็นยุคแห่งการพัฒนาตัวเอง "คอมพิวเตอร์ไรซ์" อย่างสมบูรณ์แบบ

แต่ถ้าจะให้ถูกต้องยิ่งขึ้น ควรเรียกว่ายุค "ไฮเทค"

อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล ปีนี้อายุ 45 เขายังมีอายุงานอีกมาพอสมควร และถ้าทุกอย่างดำเนินไปตามแผนที่วางไว้เป็นขั้น ๆ แต่ละขั้นใช้ระยะเวลา 5 ปี

เขาจะต้องมีโอกาสได้ชื่นชมกับผลงานที่ลงทุนลงแรงไปนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

อภิรักษ์นั้นร่วมงานกับไทยประกันชีวิตตั้งแต่ปี 2518 เขาเป็นศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์สาขาคณิตศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงปี 2508 ถึงปี 2511 ก่อนจะได้รับทุน กพ.ไปเรียนต่อปริญญาโทที่สหรัฐฯในปี 2512 โดยเลือกเรียน STATISTICS IN ACTUARIAL SCIENCE ที่มหาวิทยาลัยไอโอวา

"เป็นหลักสูตรปริญญาโททางด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย และอาจารย์อภิรักษ์เป็นคนไทยคนแรก ๆ ที่เป็น A.S.A. (SOCIETY OF ACTURIES) USA. ในแง่ความเป็นนักวิชาการแล้วคนที่เป็น A.S.A. ทั่วโลกเขายอมรับกันมาก" แหล่งข่าวคนหนึ่งเล่า

กลับจากสหรัฐฯ เปลี่ยนงานตามเงื่อนไขของทุนที่ได้รับจากอาชีพ "เรือจ้าง" กลายเป็นหัวหน้าฝ่ายประกันชีวิต สำนักงานประกันภัยกระทรวงพาณิชย์ อภิรักษ์ใช้เวลาอยู่ที่นี่ 5 ปี ก่อนตัดสินใจตอบรับคำทาบทามจากอนิวรรตน์ กฤตยากีรณ เข้าร่วมงานกับไทยประกันชีวิต โดยเริ่มต้นจากตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการ "อาจจะเรียกว่าเป็นเรื่องของความร้อนวิชาและอยากทำงานที่มันท้าทายมากขึ้น เพราะเป็นข้าราชการสำนักงานประกันภัยอย่างมากก็คอยควบคุมดูแลให้บริษัทประกันชีวิตทุกแห่งทำธุรกิจไปตามกรอบที่ทางการกำหนด ก็อยากจะลองลงมือทำดูเองบ้าง ก็เลยลาออกโดยก่อนหน้าจะลาออกก็ใช้เวลาหลายปีคลุกคลีกับผู้คนในธุรกิจนี้จนคิดว่าพอจะได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์ได้มาพอสมควร " อภิรักษ์บอกถึงเหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจให้ฟัง

ปี 2518 ที่อภิรักษ์เข้าร่วมงานกับไทยประกันชีวิตนั้น ก็น่าจะกล่าวได้ว่าไทยประกันชีวิตเพิ่งจะอยู่ในระยะตั้งไข่ภายหลังวานิช ไชยวรรณ ซื้อกิจการแห่งนี้เมื่อปี 2513 และดึงอนิวรรตน์ "มือเก่า" ผู้ผ่านงานประกันชีวิตมาแล้วอย่างโชกโชนเป็นผู้รับผิดชอบซึ่ง 3-4 ปีแรกต้องล้มลุกคลุกคลานพอสมควรและพอจะเริ่มลุกยันขึ้นมาได้เมื่อขึ้นปีที่ 5 หรือปีที่อภิรักษ์เข้าไทยประกันชีวิต

ทุกวันนี้ถ้ามีเวลาว่างเขาจะขลุกตัวเองอยู่กับคนของศูนย์คอมพิวเตอร์ เขาไม่ปฏิเสธถ้าใครจะพูดกันว่า ยุคเขาเป็นยุคที่คอมพิวเตอร์เริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างจริงจังในไทยประกันแต่ถ้าจะให้ถูกต้องยิ่งขึ้นเขาอยากจะเรียกมันว่ายุค "ไฮเทค"

ระยะเวลาอย่างน้อยกว่า 10 ปีที่ไทยประกันชีวิตเติบโตอย่างต่อเนื่องในยุคกรรมการผู้จัดการคือนิวรรตน์ สำหรับอภิรักษ์แล้วเขาเป็นคนหนึ่งที่มีส่วนได้ร่วมดื่มด่ำกับความสำเร็จนี้อย่างใกล้ชิดและเป็นความจริงที่จะต้องยอมรับกันว่า เบื้องหลังความสำเร็จส่วนหนึ่งเป็นฝีมือของอภิรักษ์เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ คนที่เป็น "ขุนศึก" หรือ "กำลังรบ" ของผู้นำอย่างอนิวรรตน์ กฤตยากีรณ

เพราะฉะนั้นกับคำถามของบางคนที่มองว่าวไทยประกันฯเติบโตจนยิ่งใหญ่มาก ๆ ในยุคอนิวรรตน์จะสร้างความหนักใจให้กับอภิรักษ์หรือไม่

"ไม่ได้หนักใจอะไรเลย ผมคิดว่าผมเองเป็นคนหนึ่งที่มีส่วนทำให้มันโตอยู่ด้วย" อภิรักษืตอบตรงไปตรงมา

ไทยประกันชีวิตในยุคก่อร่างสร้างตัวนั้น มีงานที่จะต้องทำหลายด้าน

จะต้องสร้างทีมขายให้แข็งแกร่ง เพื่อนำสินค้า (กรมธรรม์) ออกสู่ตลาดอย่างกว้างขวาง

จะต้องสร้างระบบควบคุมที่รัดกุมเพียงพอไปพร้อม ๆ กับการเติบโตของกิจการ

และยังมีงานทางด้านการลงทุนที่วานิช ไชยวรรณ รับผิดชอบมาตั้งแต่ต้นจนขณะนี้

"จริง ๆ แล้วก็คือการดึงคนมีฝีมือเข้ามานั่นเอง คุณวานิชตัดสินใจถูกแล้วที่มอบความรับผิดชอบให้กับคุณอนิวรรตน์ เพราะคน ๆ นี้กว้างขวางมากและยังตาถึงในเรื่องการดูคน ความเก่งของคุณอนิวรรตน์ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเลือกคนเก่ง ๆ เข้ามาร่วมงาน ไทยประกันชีวิตก็เลยโตวันโตคืน" ผู้ที่ทราบประวัติความเป็นมาของบริษัทไทยประกันชีวิตเป็นอย่างดีสรุปให้ฟัง

การสร้างแบบกรมธรรม์ให้มีความโดดเด่นสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ก็ต้องนับเป็นงานสำคัญอีกงานหนึ่งในระยะตั้งตัวและเติบโตของไทยประกันชีวิต

งานส่วนนี้ค่อนข้างเป็นงาน "เทคนิค" ที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เปรียบเทียบได้กับฝ่ายสร้างสรรค์และผลิต ที่คิดค้นสินค้าคุณภาพเพื่อให้ฝ่ายขายน้ำเข้าตลาด ซึ่งถ้าเป็นสินค้าที่ดีเหมาะสมกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายแล้ว งานด้านการตลาดก็จะทรงประสิทธิภาพขึ้น

และอภิรักษ์ในช่วงดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการคือคนที่ต้องดูแลงานด้านนี้โดยตรง

ซึ่งถ้าการขยายตลาดพร้อมกับเน้นแบบกรมธรรม์หลากหลายมากกว่าใคร ๆ คือที่มาแห่งความสำเร็จของไทยประกันชีวิต ก็คงจะถูกต้องแล้วที่อภิรักษ์บอกว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่มีส่วนอยู่ในความสำเร็จนั้น

ความเชี่ยวชาญในฐานะนักคณิตศาสตร์ประกันภัยผสมผสานกับประสบการณ์ด้านการตลาดที่สั่งสมจากการเข้าร่วมงานกับไทยประกันชีวิต แบบกรมธรรมม์จำนวนหลายสิบแบบถกคิดค้นขึ้น แม้เมื่อเร็ว ๆ นี้การตัดสินใจรับประกันชีวิตให้กับทหารในกองทัพบกซึ่งฮือฮากันมากกว่ากล้าทำได้อย่างไร ก็เป็นผลงานชิ้นโบแดงอีกชิ้นหนึ่งในช่วงที่อภิรักษ์ก้าวขึ้นรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแล้ว

"เราจับสถิติมาโดยตลอด และเราคิดว่าเราทำได้ เราอาจจะต้องเสียบ้าง แต่คิดแล้วจำนวนเงินที่จะต้องเสียไปเปรียบเทียบกับผลดีทางด้านภาพพจน์ ดูแล้วคุ้มมาก " อภิรักษ์ เปิดเผย

ค่อนข้างจะเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ชัดเจนว่า พร้อม ๆ กับการก้าวขึ้นรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการภายหลังทำหน้าที่รักษาการมาระยะหนึ่งของอภิรักษ์ ไทพัฒนกุลนั้น การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้คืบคลานเข้ามาในไทยประกันชีวิตอย่างเงียบเชียบ

จากยุคที่เติบโตอย่างพรวดพราดตลอดระยะเวลาอย่างน้อย 11-12 ปีที่เป็นยุคของ อนิวรรต์ซึ่งเน้นการตลาดและแบบประกัน ที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าทุกระดับทั้งรายได้น้อยรายได้ปานกลางจนไปถึงกลุ่มระดับ "ครีม" ในสังคม

ยุคของอภิรักษ์ ไทพัฒนกุล เป็นยุคที่ไทยประกันชีวิตจะต้องใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพและทันสมัยในทุกด้าน

หรือถ้าจะบอกว่าเป็นยุคที่ไทยประกันหันมาให้ความสำคัญกับระบบการจัดการภายใน การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโดยเฉพาะด้านการให้บริการที่รวดเร็วกับลูกค้าแล้วก็คงจะทำนองนั้น

อภิรักษ์ได้บอกอย่างชัดเจนว่าในอนาคตไทยประกันชีวิต จะเป็นบริษัทที่ทุกระบบงานจะต้องถูกคอมพิวเตอร์ไรซืทั้งหมดและสำนังกานใหญ่ที่กรุงเทพฯกับสาขาทั่วราชอาณาจักรจำนวนกว่า 200 สาขาจะติดต่อสื่อสารกันด้วยระบบ "ออนไลน์" ซึ่งกว่าจะสำเร็จสมบูรณ์ก็คงต้องใช้เวลาพอสมควร

เพราะฉะนั้นในระยะเฉพาะหน้าก็จะเน้นไปที่ระบบงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการลูกค้าก่อน

"อย่างเช่นการพิจารณาและออกกรมธรรม์การออกใบเสร็จรับเงินเป็นต้น" แหล่งข่าววงในคนหนึ่งบอก

ถ้ามองกันในแง่ที่ปัจจุบันไทยประกันชีวิตเติบโตจนมีจำนวนกรมธรรม์ที่ออกไปแล้วกว่า 7 แสนรายและในแต่ละเดือนจะต้องอกใบเรียกเก็บเงินจากลูกค้าผู้ซื้อกรมธรรม์กว่า 3 แสนชุดแล้ว ความพยายามที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการด้วยการคอมพิวเตอร์ไรซ์งานส่วนนี้ก็ดูเหมือนว่าจะมีความสำคัญและจำเป็นมาก ๆ

"ไทยประกันนั้นเขาโตขึ้นมาจึงจุดหนึ่งแล้ว คนของเขาก็พัฒนาคุณภาพไปมากแล้ว โดยเฉพาะงานด้านการตลาดที่จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะไประดมเงินเข้ามาก็มั่นคงมาก ปัญหาข้างหน้าของเขาก็อยู่ที่ว่าจะต้องเริ่มสร้างความมั่นคงภายใน พัฒนาระบบงานให้มีประสิทธิภาพ มีความรวดเร็วในการให้บริการและมีความรัดกุมไม่ผิดพลาดการปรับตัวของไทยประกันจริง ๆ แล้วก็สอดคล้องกับสถานการณ์มากเพราะยุคต่อไปของธุรกิจประกันชีวิตนั้น เป็นยุคที่แต่ละบริษัทฯ จะต้องเน้นความแข็งแกร่งของระบบการให้บริการลูกค้า" แหล่งข่าวคนหนึ่งให้ความเห็น

การนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยงานของไทยประกันชีวิตจริง ๆ แล้วก็มีความเด่นไม่แพ้แนวความคิดในเรื่องนี้

โปรแกรมระบบงานถูกเขียนขึ้นเอง โดยคนของศูนย์คอมพิวเตอร์ด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ที่ล้ำยุค และแทนที่จะลงทุนกันอย่างมหาศาลด้วยการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่เข้ามาไทยประกันชีวิตกลับเลือก "ไมโครคอมพิวเตอร์" ที่ถูกกว่าอย่างมาก ๆ

และดูเหมือนสิ่งที่ไทยประกันคำนึงอย่างที่สุดก็คือ PRICE/PERFORMANCE

"ซึ่งจากการคอมพิวเตอร์ไรซ์ สาขาสำเร็จเป็นบริษัทแรก เรากล้าพูดได้เต็มปากเลยว่า ระบบของเราทรงประสิทธิภาพที่สุด ทรงประสิทธิภาพมากกว่าแบงก์ เพราะที่เราทราบมาการใช้ไมโครของแบงก์ราคาของเขาแพงกว่าเรามาก แล้วทำงานน้อยกว่า ในขณะที่เราถูกกว่าแต่ทำงานได้มาก" อภิรักษ์พูดอย่างภูมิใจ

หลักการใช้คอมพิวเตอร์ของไทยประกันชีวิตเป็นหลักการที่นำไมโครคอมพิวเตอร์ไปติดตั้งทุกสาขา และยัดระบบไมโครเน็ทเวิร์ค 4-5 สาขาเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเป็น "พวง" ก็จะเชื่อมโยงเข้าหากันอีกชั้นหนึ่ง การกระจายออกไปเช่นนี้ ทำให้จำนวนข้อมูลแทนที่จะทะลักเข้ามาจัดเก็บ และประมวลผลภายใต้เครื่องใดเครื่องหนึ่งที่อาจจะมากจนต้องลงทุนเพิ่มเพื่อขยายขีดความสามารถของเครื่อง ข้อมูลก็จะกระจายกันไปอยู่ตามสาขาต่าง ๆ และพร้อมที่จะถ่ายเทข้ามจากสาขาหนึ่งไปอีกสาขาหนึ่ง หรือจากสาขาเข้าสำนักงานใหญ่หรือสำนักงานใหญ่ไปสาขาผ่านระบบการสื่อสารที่เชื่อมโยงไว้

อภิรักษ์ดูเหมือนจะเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า ระบบไมโครเน็ทเวิร์คของไทยประกันชีวิตเป็นระบบที่ทันสมัยและไม่เคยมีใครทำกันมาก่อน และสำคัญกว่านั้นก็คือลงทุนไม่มาก อีกทั้งไม่ใช่เป็นการลงทุนหนักเพียงครั้งเดียวอย่างเช่นบางองค์กร แต่ค่อย ๆ ลงตามจำนวนสาขาที่พร้อมจะคอมพิวเตอร์ไรซ์

และนี่กระมังที่อภิรักษ์อยากจะให้เรียกยุคของเขาว่าเป็นยุค "ไฮเทค"

อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล ทุกวันนี้ยังคงคร่ำเคร่งอยู่กับงานของเขาอย่างสนุกสนาน เขาใช้เวลาช่วงเช้าและอาจต่อไปถึงบ่ายในการปฏิบัติงานประจำวันที่ต้องอนุมัติและลงนามเอกสารที่จะส่งเข้ามาเป็นแฟ้ม ๆ เขาบอกว่าพื้นฐานความเป็นนักคริตศาสตร์ประกันภัยที่จับงานสายประกันชีวิตมานับสิบ ๆ ปีส่งผลให้การตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องการงานประกันชีวิตเป็นไปอย่างฉับไว ส่วนงานที่ต้องลงแรงค่อนข้างหนักก้คือการเข้าไปแก้ไขระบบเพื่อให้เกิดความคล่องตัวของทุกฝ่ายโดยเฉพาะในฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าโดยตรง

เขาเลิกงานจริง ๆ ราว 2 ทุ่มและกลับถึงบ้างไม่เคยต่ำกว่า 3 ทุ่มทุกคืน

ยามว่างเขาชอบทำสวนแต่งบ้านและเล่นหมากรุกและที่ชอบที่สุดก็คือการอ่านหนังสือโดยเฉพาะหนังสือคอมพิวเตอร์

วันอาทิตย์เป้ฯวันที่ให้กับครอบครัวเป็นวันของเขากับภรรยา ถิระวรรณและลุกชาย 2 หญิง 1 ซึ่งถ้าไม่ช่วยกันจัดสวนแต่งบ้านก็จะออกไปช้อปปิ้งข้างนอกและนาน ๆ ครั้งจะออกไปต่างจังหวัด

นอกจากตำแหน่งกรรการผู้จัดการไทยประกันชีวิต อภิรักษ์ยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทไทยประกันสุขภาพที่เป็นบริษัทในเครือ ส่วนในด้านสังคม เขาเป็นกรรมการร่างหลักสูตรการสอนของคณะสถิติประยุกต์ที่นิด้า เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของนิสิตปริญญาโทที่จุฬาฯ สอนหนังสือหลายมหาวิทยาลัย เป็นนายกสมาคมคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทยและเพิ่งจะได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมประกันชีวิต

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us