ในยุคธุรกิจดั้งเดิมมีปัญหาการ "สืบต่อ" และปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่
กรพจน์ อัศวินวิจิตร เป็นคนหนุ่มอายุน้อยคนหนึ่ง เป็นแบบอย่างที่ดีของการ
"สืบต่อ" และการแสวงหาธุรกิจใหม่มีอนาคต จากธุรกิจค้าส่งออกสินค้าพืชไร่
เข้าสู่ธุรกิจธนาคาร-ประกันชีวิต
คน ๆ นี้อายุเพียง 32 ปี ไม่ชอบแสดงตัวเป็นข่าว แต่พยายามสร้างสัมพันธ์อันดีกับนักหนังสือพิมพ์อย่างลึก
ๆ มีประสบการณ์ทำงานตั้งแต่เด็ก ๆ เพียงอายุสัก 18 ปี ผ่านบทเรียนโชกโชนในด้านการค้าส่งออกข้าว
ได้ชื่อว่าเป็นนักกลยุทธ์ที่มองยาว-มองสั้นอย่างถูกจังหวะโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างโอกาส
สร้างรายได้มาก ๆ ภายในเวลาอันสั้น
จากผลงานในอดีต เขาจึงเป็นทายาทพ่อค้าข้าวเชื้อสายจีนเพียงไม่กี่คนที่
ผู้พ่อ-ผู้ก่อตั้งกิจการไว้วางใจ ปล่อยมือให้บริหารกิจการของครอบครัว ตลอดจนปล่อยให้ออกสู่โลกภายนอก
สร้างอาณาจักรธุรกิจใหม่ ๆ
กรพจน์ อัศวินวิจิตร คือเขาคนนั้นคนที่คนทั่วไปยังไม่รู้จักกันมากนัก
พ่อของเขาชื่อ เบ๊ เตีย อุ้ย ชายจีนโพ้นทะเลคนหนึ่ง หอบเสื่อผืนหมอนใบล่องทะเลจีนใต้
สู่แผ่นดินสยาม แต่แตกต่างกับคนจีนทั่วไปตรงที่เขาเริ่มงานครั้งแรกที่จังหวัดเชียงรายเหนือสุดของประเทศไทย
ด้วยความอดทนและความพยายามเป็นเลิศ จึงค่อย ๆ สะสมทุนและผันตัวเองเป็นเจ้าของกิจการโรงสีขนาดเล็กแห่งหนึ่งและค่อย
ๆ ขยายใหญ่ตามการเจริญเติบโตทางการค้าของเขา
ในที่สุดแซ่เบ๊ซึ่งแปลความหมายได้ว่า "ม้า" กลายเป็นนามสกุล
"อัศวินวิจิตร" ตัวเขามีชื่อไทยอันเป็นศิริมงคลว่า "อวยชัย"
ซึ่งก็ดูเหมือนจะสมชื่อเช่นนั้น
จากโรงสีบุกเข้าสู่ใจกลางของวงการค้าข้าว ทำหน้าที่เป็น "หยง"
ที่วรจักร ซึ่งไม่ห่างทรงวาด เป็นตัวแทนโรงสีหลายโรงรับซื้อขายแก่พ่อค้าส่งออกอีกทอดหนึ่ง
ลูกสามคนแรกของเขาเกิดที่นี่ คนแรกเป็นหญิงคนที่สองเป็นชายซึ่งถูกส่งไปเรียนที่สิงคโปร์ตั้งแต่เด็ก
และกรพจน์ อัศวินวิจิตร
ปี 2508 หรือตอนกรพจน์อายุ 9 ขวบจากห้องแถวห้องเดียวเล็ก ๆ แถววรจักรอวยชัยก็ย้ายสู่ย่านสวนมะลิเป็นห้องแถว
2 ห้องหลายชั้น ขณะนั้นยังเป็นที่ว่างเปล่าอยู่มาก ธนาคารศรีนครสำนักงานใหญ่ก็ยังไม่ได้สร้างขึ้น
ตรงสวนมะลิ เป็นประวัติศาสตร์ขั้นใหม่ของธุรกิจครอบครัว "อัศวินวิจิตร"
คือการก้าวกระโดดสู่การค้าส่งออกครั้งแรก อวยชัยเล็งเห็นว่าเขาเป็น "เถ้าแก่บ้านจนอก"
ยุคแรก ๆ บุกมาค้าส่งออกข้าว เข้าสู่ยุทธภูมิทรงวาด (เถ้าแก่บ้านนอกยุคต่อมาคือกิตติ
ดำเนินชาญวริชย์ แห่งสุ่นหัวเซ้ง) เป็นการยากมากจะเข้าแทรกตลาดที่พ่อค้าข้าวกลุ่มเดิมยึดครองอย่งเหนียวแน่น
ซ้ำยังสร้างอาณาจักรระบบส่งออกชนิดคนใหม่เกิดลำบาก มันเปิดโอกาสน้อยมากสำหรับคนใหม่จริง
ๆ
ผู้คร่ำหวอดวงการส่งออกข้าวกล่าวว่าก่อนหน้านั้นการส่งออกข้าวเป็นยุคพ่อค้านั่งอยู่เฉย
ๆ ผู้ซื้อเดินมาหา และค่อยสถาปนาระบบการค้าข้าวขึ้นมา ตลาดส่วนใหญ่เป็นตลาดแบบ
"พี่น้องชาวจีนโพ้นทะเล" ด้วยกัน ย่านอินโดจีนเท่านั้น สิงคโปร์
มาเลเซีย ฮ่องกง โดยอาศัยสายสัมพันธ์เครือญาติเป็นหัวใจ
อวยชัย มีความคิดจะบุกเบิกตลาดข้าวไทยให้กว้างขวางขึ้น
จากแนวความคิดนี้เองได้ก่อรูปเป็นยุคถัดมาของการค้าข้าว ผู้ส่งออกข้าวไทยเดิมทางออกหาผู้ซื้อเอง
ปี 2511 บริษัทแสงทองค้าข้าว (1968) ตั้งขึ้น เป็นนิติบุคคลอย่างเป็นทางการสำหรับส่งข้าวออก
ตอนนั้นกรพจน์ อายุเพียง 12 ปี เพิ่งเข้าเรียนโรงเรียนเซ็นต์คาเบรียล ภายหลังจบจากโรงเรียนจีนระดับประถมต้นแล้ว
"ผมโชคดีได้อยู่กับพ่อตลอด" กรพจน์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ซึ่งหมายความว่าลูกคนอื่นโดยเฉพาะพี่ชายธีรพงษ์ เรียนต่างประเทศ "เรานอนกันชั้นบนชั้นล่างเป็นสำนักงาน
ถึงไม่ได้ทำงาน ผมก็ได้เรียนรู้ทางอ้อม" เขาเสริม
อวยชัย อัศวินวิจิตร ใช้เวลาถึง 7 ปีแนวความคิดเจาะตลาดใหม่จึงบรรลุ ในปี
2515 แสงทองค้าข้าวสามารถขายข้าวไทยครั้งแรกให้รัฐบาลอินเดีย เขาเองได้มีโอกาสเดินทางเข้าพบประธานาธิบดีดีเนรูห์
แห่งอินเดียด้วย
ยุทธวิธีของแสงทองค้าข้าวในการบุกเบิกตลาดใหม่คืออาศัยโบรกเกอร์จากญี่ปุนซี
อิโต้ ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อกันมานานจนตราบเท่าทุกวันนี้โดยมีบริษัทซูมิโตโมเพิ่มขึ้นอีกราย
ระยะหลัง ๆ มานี้แสงทองค้าข้าวกลับมีความสัมพันธ์กับซูมิโตโมมากกว่าซีอิโต้ด้วยซ้ำ
เทรดดิ้งเฟิร์มญี่ปุ่นซึ่งทำหน้าที่เป็นโบรกเกอร์ไปด้วยในตัวนี้ช่วยแสงทองเข้าสู่ตลาดใหม่
ๆ ในย่านตะวันออกกลาง ส่วนอาฟริกานั้น แสงทองค้าข้าวดำเนินกลยุทธ์เดียวกัน
คืออาศัยโบรกเกอร์ยุโรป ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเหล่านี้มาในประวัติศาสตร์ยาวนาน
แสงทองค้าข้าวเป็นผู้ขายข้าว โดยที่กิจการตนเองไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวก
(FACILITIES) ในการค้าระหว่างประเทศที่จำเป็นต้องอาศัยแหล่งการเงินสนับสนุนการรับรองเอกสารการค้า
ฯลฯ สิ่งเหล่านี้โบรกเกอร์มีพร้อมอยู่แล้ว
ลักษณะการจัดซื้อข้าวของประเทศในตะวันออกกลางก็ดี อาฟริกาก็ดี มักจะผ่านหน่วยงานของรัฐบาลและจะจัดซื้อคราวละมาก
ๆ เพื่อบริโภคทั้งปี การได้มา ซึ่งออเดอร์ใหญ่เป็นหมื่นเป็นแสนตัน จึงเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
ขณะเดียวกันราคาอยู่ในระดับสูง กำไรดีมาก เนื่องจากขณะนั้นความคิดในการบุกเบิกตลาดใหม่ยังไม่ยึดถือทั่วไปของบรรดาผู้ส่งออกข้าวไทย
อีกประการหนี่งการสื่อสารโทรคมนาคมไม่สะดวกผู้บุกเบิก่อนย่อมได้เปรียบ นอกจากนี้มีเดียก็ไม่ทันสมัย
ผู้ส่งออกรายใดมีออเดอร์อยู่ในมือจำนวนมากก็ไม่มีรายงานในรอยเตอร์ หรือหนังสือพิมพ์ในประเทศ
ด้วยเหตุนี้ผู้ส่งออกจึงสามารถสร้างราคาเพื่อเก็งกำไรได้
กรพจน์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการค้าข้าวโดยตรงในปี 2520 เมื่อเรียนธรรมศาสตร์อยู่
ปี 1
ด้วยเหตุมีใจฝักใฝ่การค้า เขาจึงสมัครเข้าเรียนในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดยตั้งใจเรียนภาคค่ำ เพื่อใช้เวลากลางวันช่วยการค้าของครอบครัว อายุประมาณ
18 ปีเขาจึงเรียนรู้และจับงานค้าส่งออกโดยตรง ทั้งจากผู้จัดการทั่วไป และจากพ่ออวยชัย
รวมทั้งการติดตามเดินทางไปต่างประเทศด้วย
ผลงานยิ่งใหญ่ของเขาคือการเปิดตลาดอิหร่านสำเร็จ ขายข้าวจำนวนหลายหมื่นตันแสดงทองค้าข้าวกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวรายแรกและถือเป็นผลงานของกรพจน์ด้วย
"ผมต้องลงทุนเอาข้าวไทยให้ภรรยาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรับบาลอิหร่านรับประทาน
ซึ่งถูกใจและตัดสินใจซื้อในเวลาต่อมา" กรพจน์เล่า เหตุการณ์เกิดในสมัยพระเจ้าชาห์ยังเรืองอำนาจ
ยุคของกรพจน์ทายาทแสงทองค้าข้าวเป็นยุคของการขยายอาณาจักรเข้าไปจับธุรกิจใหม่
ๆ แต่เงื่อนไขของบางธุรกิจไม่เปิดให้คงมีแต่ประกันชีวิตกับแบงก์เท่านั้นที่พอจะมีช่องว่าง
แสงทองค้าข้าวได้ชื่อว่าเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดไปในจีเนียรายแรก มีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศโอมานจนอวยชัย
อัศวินวิจิตรได้รับกับประเทศโอมานจนอวยชัย อัศวินวิจิตรได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์นอกจากนี้มีความสัมพันธ์อันดีกับฟิลิปปินส์
อวยชัยมีตำแหน่งเป็นรองประธานหอการค้าไทย-ฟิลิปปินส์ด้วย
ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญคือกรพจน์ลูกชายคนที่สาม แต่ความดีอันนี้เขาให้เครดิตพ่อเขาอย่างสูง
เพราะการคลุกคลีทำการค้ากับผู้พ่อประกอบกับอวยชัย เป็นคนค่อนข้างหัวใหม่
ซึ่งมีความคิดแนวรุกในการทำการค้า ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา กรพจน์จึงได้รับความไว้วางใจ
บางครั้งเขาโลดแล่นออกเผชิญโลกการค้าในต่างประเทศตามลำพัง
และจากลักษณะการค้าแบบโลดโผนรอคอยโอกาสนาน ๆ ก็คว้าออเดอร์ใหญ่มาจึงดูเป็นเอกลักษณ์และสไตล์การค้าของกลุ่มนี้สืบเนื่องมา
กรพจน์เองก็มีสไตล์เช่นนั้นด้วย
"รอคอยโอกาส บุกหนักและกล้าเสี่ยง" อาจจะนิยามได้เช่นนี้
เนื่องจากแสงทองค้าข้าวบุกเบิกตลาดใหม่ ๆ ก่อนใคร ๆ กลุ่มนี้จึงผงาดขึ้นในยุทธจักรเป็นผู้ส่งออกท็อปไฟว์มาหลายปีและได้ชื่อว่าเป็น
"เจ้าพ่อข้าวนึ่ง" เนื่องมาจากเป็นผู้บุกเบิกตลาดข้าวคุณภาพต่ำ
และดำเนินกลยุทธ์เกาะติดตลาดนั้น ๆ อย่างเหนียวแน่น
"คุณเชื่อไหมคุณกรพจน์นี่ละ คุยกับนายพลบังกลาเทศรู้เรื่อง หรือผู้มีอำนาจในอาฟริกา"
พ่อค้าข้าวคนหนึ่งกล่าว และว่าสไตล์การค้าของแสงทองค้าข้าวนั้นเดินเรื่องด้วยเรื่องราวลึกลับ
พลิกผันกลยุทธ์อยู่ตลอดเวลา ยากที่จะอธิบาย หากจะเขียนเป็นหนังสือเล่มก็คงได้เล่มขนาดพ็อคเก็ตบุ๊คสนุกไม่แพ้
AMS MERCHANT ของ ANTONY SAMSON ทีเดียว
ขณะนั้นตลาดข้าวไทยนอกเหนือจากฮ่องกง-สิงคโปร์ กว้างขวางมากเหลือเกินใครเข้าก่อนยึดครองได้
กำไรมากมายหลับมา "การขายข้าวให้ประเทศด้อยพัฒนา ราคาขายตกลงกันง่ายปกติจะราคาสูงกว่าตลาดแข่งขันสูงย่านเอเชียอาคเนย์
นอกจากนี้ยังบวกค่าคอมมิชชั่นเข้าไปอีก ราคาซื้อขายตามสัญญาสูงลิ่ว"
พ่อค้ารายหนึ่งพูดถึงการทำงานจองเจ้าหน้าที่ในประเทศเหล่านั้น
กรพจน์ อัศวินวิจิตร เคยกล่าวว่าตนเองเสียดายที่ไม่ได้ผ่านชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างเต็มรูปร่วมทำกิจกรรมมีเพื่อนฝูงเพราะต้องเรียนภาคค่ำ
ซึ่งวิถีชีวิตของนักศึกษาภาคค่ำแตกต่างจากภาคปกติอย่างมาก แต่อย่างไรเมื่อชั่งน้ำหนักกับบทเรียนการค้าส่งออกข้าว-ข้าวโพดในช่วงนั้นประมาณ
3 ปี ก็ต้องถือว่าคุ้มค่าไปอีกแบบ
หลังจากเรียนจบเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แล้วกรพจน์กระโดดเข้าทำงานให้ครอบครัวเต็มตัว
อีก 2 ปี จึงตัดสินใจไปเรียนต่อต่างประเทศ รวมแล้วในช่วงแรกของชีวิตประสบการณืการค้าข้าวในยุคการค้าข้าวของประเทศหัวเลี้ยวหัวต่อ
5 ปี
ที่สหรัฐอเมริกา เขาตั้งใจเรียนเอ็มบีเอ. ที่ University of Southern California
อย่างเดียวโดยไม่ต้องพะวักพะวนเรื่องการค้าของครอบครัว เขาบอกว่า "เป็นการเปิดหูเปิดตารับรู้โลกกว้างอีกแบบหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาทุกด้าน
ซึ่งแตกต่างจากประสบการณ์การค้าข้าวพบเห็นแต่ประเทศด้อยพัฒนา"
ปี 2524 เขาเดินทางกลับประเทศไทย
กรพจน์พบว่าการค้าส่งออกสินค้าพืชไร่ได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
อันเนื่องมาจากการพัฒนาด้านการสื่อสารการคมนาคม สังคมไทยได้เข้าสู่สังคมสื่อสารบรรดาพ่อค้าข้าวไม่ว่ารายเล็กรายใหญ่สามารถซื้อหาข้อมูลข่าวสารได้พอ
ๆ กัน "เมื่อก่อนใครมีเทเล็กซ์ก็นับว่าสะดวกมากแล้ว แต่ช่วงนี้ใคร ๆ
ก็มี" เขายกตัวอย่างดังนั้นการแข่งขันมุ่งหนักในเรื่องราคาปรากฏการณ์การแข่งตัดราคาเอาเป็นเอาตายเกิดขึ้นจนเป็นที่วิตกทั่วไป
โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าเล็ก ๆ ที่เคยหากินกับระบบโควต้าหรือใช้ห้องประชุมแบ่งอาหารจานเดียวกัน
ประกอบกับนโยบายค้าข้าวเสรีของรัฐบาลติดตามมาด้วย
ด้านข่าวสารทั้งภายในและต่างประเทศก็เหมือนกัน ข่าวการประมูลเป็นข่าวที่ถูกกระพือกันอย่างบ้าคลั่ง
ทั้งขาวรอยเตอร์หนังสือพิมพ์ธุรกิจในบ้านเรา การเก็บออเดอร์เพื่อรอจังหวะหรือสร้างตลาดเพื่อรับซื้อข้าวในประเทศไทยราคาถูก
เพื่อส่งออกตามกำหนดเวลาไม่สามารถทำได้อีกต่อไปแล้ว
อย่างไรก็ตามแสงทองค้าข้าวก็ยังผงาดในยุทธจักรต่อไป ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดไม่ยากเย็นนัก
พร้อม ๆ กับชื่ออวยชัย และบทบาทของเขาลดถอยลงตามลำดับ ลูกชายเข้ามามีบทบาทมากขึ้นจากอยู่อย่างเงียบ
ๆ เมื่อ 2 ปีก่อน ได้ออกหน้าสู่สาธารณชนแล้ว
กรพจน์เป็นทายาทของพ่อค้าข้าวระดับหัวแถว นอกจากสะสมบทเรียนการค้าข้าวในอดีต
เขายังเป็นพ่อค้าที่ก้าวทันสถานการณ์อย่างดีเยี่ยมด้วย "คุณอวยชัย เขาเลี้ยงลูกเก่ง"
เถ้าแก่ค้าข้าวยุคเดียวกับอวยชัยยังออกปาก
บวกกับแนวความคิดที่ได้จากเรียนเอ็มบีเอ เกี่ยวกับธุรกิจที่มั่นคงและมีอนาคตหนึ่ง-การขุดเจาะน้ำมัน
สอง ADVANCED TECHNOLOGY สาม-สายการบิน สี่-อุตสาหกรรมรถยนต์ ห้า-ประกันชีวิต
ประกันภัย และหก-ธนาคาร เป็นแรงผลักดันให้กรพจน์ผลักดันให้ครอบครัวเห็นคล้อยตามว่า
แสงทองค้าข้าว ควรจะต้องเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ
เขาเป็น "หัวหอก" ในการบุกสู่ธุรกิจใหม่ แต่ขณะเดียวกันด้านการค้าข้าวแสงทองก็ไม่ได้ถดถอย
ยึดสไตล์เดิมต่อไป พี่ชายของเขาเข้ามารับภาระแทน
กรพจน์เล็งเห็นว่า ธุรกิจการขุดเจาะน้ำมัน อุตสาหกรรมรถยนต์ สายการบินนั้นไม่มีทางจะเข้าไปได้
นอกจากเป็นธุรกิจประเภท CAPITAL INTENSIVE จะว่าไปแล้วยังไม่ถึงขั้นแสงทองค้าข้าวจะต้องระดมทุนมากขณะนั้น
ยังมีปัญหาการผูกขาดในบางธุรกิจอยู่กับหน่วยงานรัฐบางหน่วยด้วย และสำคัญที่สุดคือเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีสูง
ที่เหลือเป็นเป้าหมายของเขาทั้งสิ้น
เขาบอกว่าการปรับความคิดของคนในครอบครัวนั้นไม่ยากเลย ง่ายกว่าการดำเนินตามแผนหลายเท่า
พี่ชายของเขาก็เป็นนักเรียนนอกเพิ่งกลับมาก็เห็นพร้อมต้องกันแผนการเงียบ
ๆ เริ่มเดินเครื่องและเห็นช่องทางก็ปี 2526 เริ่มต้นด้วยธุรกิจประกันชีวิตระดมซื้อหุ้นบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตด้วยการสนับสนุนจากบุญชนะ
อัตถากร ประธานบริษัทนั้น ในจังหวะที่มีการแยกกิจการประกันชีวิตออกจากบริษัทดังกล่าว
ตรงจุดนี้แสงทองค้าข้าวจึงเข้าไปได้ถือหุ้นใหญ่สำเร็จ
กลุ่มแสงทองค้าข้าวในปี 2528 พุ่งแรงแซงตลอด เข้ายึดธุรกิจใหม่ ๆ อย่างสง่าผ่าเผยใน
2 ประเภท
ในเวลาใกล้เคียงกันก็ทุ่มเงินหลายสิบล้านซื้อที่หลังธนาคารกรุงเทพ ว่ากันว่าเจ้าของเดิมคือสว่าง
เลาหทัย
กรพจน์ เป็นคนแรกที่บุกเบิกธุรกิจนี้ในครอบครัว ประสานกับสายสัมพันธ์ของผู้พ่อซึ่งใกล้ชิดกับนักธุรกิจในฟิลิปปินส์
ชักนำอายาล่ากรุ๊ปซึ่งมีประสบการณ์และโนฮาวกิจการประกันชีวิตเข้าร่วมถือหุ้นและเข้าจัดการบางส่วน
ในเวลาใกล้เคียงเป้าหมายก็มุ่งสู่กิจการธนาคารด้วย เริ่มจากธนาคารเล็กสุด
คือแหลมทอง อันประจวบเหมาะธนาคารนี้อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง โดยกลุ่มสมบูรณ์
นันทาภิวัฒน์ ไม่มีมากพอจึงระดมพรรคพวกวาณิช ไชยวรรณ แห่งไทยประกันชีวิต
ถูกชักชวนซื้อหุ้นในส่วนเพิ่มทุน กลุ่มแสงทองค้าข้าวผ่านจากกลุ่มวาณิชสามารถครอบครองหุ้นในชั้นแรกประมาณ
3% พร้อม ๆ กันนั้นกรพจน์ก็มุ่งหน้าสู่ธนาคารสหธนาคารนับได้ว่าเมื่อมีเป้าหมายการเข้าสู่ธุรกิจอื่นแจ่มชัด
ก็พุ่งแรงอย่างเต็มเหนี่ยว และหลายทางเข้าเป็นเพื่อนนักเรียนเซ็นต์คาเบรียลด้วยกันกับเศรณี
เพ็ญชาติ ลูกชายคนโตของชำนาญ เพ็ญชาติ ในสหธนาคาร ความขัดแย้งระหว่างศึกสองตระกูลชลวิจารณ์
เพ็ญชาติ ในธนาคารดังกล่าวกำลังปะทุ กรพจน์เข้าทางเพ็ญชาติ ระดมซื้อหุ้นทั้งทางตลาดหลักทรัพย์และจากเพ็ญชาติเอง
แท้ที่จริงแล้ว กรพจน์นอกจาเป็นนักเสี่ยงโชคตามสไตล์ผู้ค้าข้าวที่ดีแล้ว
เขาเป็นคนหนุ่มมาก ๆ คนหนึ่งเข้าสู่การลงทุนในตาดหลักทรัพย์มาแล้ว บางคนบอกว่าการค้าข้าวกับการค้าหุ้นบ้านเราก็ใช้กันได้
พึงสังเกตว่าเมื่อตลาดหุ้นบูมคราใดพ่อค้าพืชไร่แถวทรงวาดเข้าสู่สนามด้วยไม่น้อย
กรพจน์กับเศรณี ใช้เวทีนี้สามารถครอบครองหุ้นจำนวนมากในสหธนาคาร โดยกลุ่มแสงทองค้าข้าวในต้นปี
2528 มีถึง 11% แล้ว ถือเป็นจำนวนมากพอจะเข้าไปมีส่วนบริหารกิจการธนาคารได้
เมื่อบรรลุเป้าหมายเช่นนี้ แสงทองค้าข้าวจึงตัดสินใจขายหุ้น 3% ในธนาคารแหลมทองทิ้งไปในราคาที่ดี
และได้กำไรพอสมควร เพื่อทุ่มเค้าหน้าตักสู่ธนาคารสหธนาคารซึ่งอยู่ระหว่างการเพิ่มทุนอันเป็นกลยุทธ์พื้นฐานในการชิงครอบครองการบริหารธนาคาร
หรือที่เรียกกันว่า "กลั้นใจแข่งกัน"
ผ่านการประลองกำลังครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง อวยชัย อัศวินวิจิตร ก็ได้เข้ารับตำแหน่งกรรมการสหธนาคารสมใจนึก
กลุ่มแสงทองค้าข้าวในปี 2528 พุ่งแรงแซงตลอดจริง ๆ เข้ายึดธุรกิจใหม่อย่างสง่าผ่าเผยใน
2 ประเภทอย่างรวดเร็ว ในเวลาใกล้เคียงกันก็ทุ่มเงินหลายสิบล้านซื้อที่หลังธนาคารกรุงเทพสำนักงานใหญ่
ว่ากันว่าเป็นของสว่าง เลาหทัยเพื่อ "เกี๊ยเซี้ย" หนี้กับชาตรี
โสภณพนิช บิ๊กบอสธนาคารกรุงเทพไปบางส่วน ติดตามมาด้วยการประกาศสร้างอาคารสูงกว่า
10 ชั้น ด้วยเงินทุนประมาณ 500 ล้านบาท สถาปนิกออกแบบไปเรียบร้อยแต่แผนดังกล่าวต้องมาสะดุดเสียก่อนเพราะกฎหมายควบคุมอาคารของกทม.
ตราบเท่าทุกวันนี้การวางศิลาฤกษ์ผ่านไปกว่า 1 ปีแล้วเสาเข็มเสาแรกยังไม่ได้ตอกลงไปเลย
เวลาประมาณ 3-4 ปี เขาบุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ได้ค่อนข้างเร็ว เร็วกว่ายุคที่แสงทองค้าข้าวบุกค้าข้าวนอกตลาดประจำก่อนใคร
ๆ เช่นเดียวกันก็ได้กลายเป็นพ่อค้าข้าวที่ใช้เวลาก่อร่างสร้างกิจการไม่นานนักปรับตัวเปลี่ยนแปลงเร็วเช่นนี้
วันนี้ดูเหมือนว่ากิจการแสงทองค้าข้าวลงทุนใหม่จำนวนมากนั้นยังไม่มีผลกลับมาทันตาเห็น
"มันเป็นการลงทุนต้องใช้เวลา" กรพจน์กล่าวสั้น ๆ กิจการประกันชีวิตได้วางรากฐานไว้อย่างดี
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคนและอุปกรณ์อื่น ๆ ขาดทุนสะสมในส่วนนี้ยังมีอยู่จำนวนหนึ่งตามประสากิจการเพิ่งเริ่มต้น
แต่อย่างไรก็ตามไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต (ทีเอสไลฟ์) เมื่อกรพจน์เข้านั่งเป็นกรรมการผู้จัดการก็เริ่มต้นจากแทบไม่มีเบี้ยประกันเลย
จนถึงประมาณ 20 ล้านในปีนี้ "มันเป็น TECHNICAL LOSS" และจะมีกำไรในปีนี้
ส่วนทางธนาคารก็ถือเป็นการลงทุนระยะยาวต้องใช้เวลา เขาเชื่อไม่ปีนี้ก็ปีหน้าปัญหาความขัดแย้งการบริหารธนาคารแห่งนี้คงได้รับการแก้ไข
กรพจน์ อัศวินวิจิตร เป็นคนเงียบ ๆ ใช้ชีวิตค่อนข้างง่าย ๆ เวลาส่วนใหญ่ใช้ไปในการทำงาน
การพบปะผู้คน หรือนักธุรกิจเพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนข่าวสาร เจรจาธุรกิจกันเงียบ
ๆ ตามห้องอาหารโรงแรมมากกว่าการออกงานเลี้ยงตามโรงแรมซึ่งดูเอกเกริกไม่ดื่มสุรา
ไม่สูบบุหรี่ ชอบทานก๋วยเตี๋ยวมากกว่าข้าว บางคนบอกว่าเขาอยู่ในระยะสะสมบารมี
ประสบการณ์ประกอบกับอายุยังน้อย แม้แต่การบริหารทีเอสไลฟ์เขายังไม่ค่อยแสดงตัวเลย
ภรรยาของกรพจน์ เป็นลูกสาวเครือเบทราโกท อุตสาหกรรมการเกษตรคู่ปรับซีพีซึ่งเป็นพันธมิตรการค้าสินค้าพืชไร่ของแสงทอง้าข้าวมายาวนานด้วย
ในนามธนาพรชัยจึงดูส่งเสริมธุรกิจของเขาให้แน่นขึ้น
วันนี้ของกรพจน์คือการนั่งเฝ้ามอนิเตอร์คอมพิวเตอร์ดูความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น
เขาได้ชื่อว่าเป็นนักเล่นหุ้นแบบลงทุนมือฉกาจ เขาเคยซื้อหุ้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้เมื่อ
3 ปีก่อนจำนวนประมาณ 4 ล้านบาท ปัจจุบันราคาทะยานขึ้นไปเป็น 32 ล้านเขาขายไปแล้วบางส่วนกำไรกว่า
20 ล้านบาทพร้อม ๆ กับหุ้นบางกอกโพสต์กำไรกลับมาไม่น้อยเหมือนกัน
ผู้ใกล้ชิดบอกว่ากรพจน์ อาจดูไม่เหมาะกับการบริหารกิจการประกันชีวิตแบบวันต่อวัน
แต่เขาเหมาะสำหรับการวางแผน และด้วยประสบการณ์อันโชกโชนในการค้าข้าว เขาจึงกลายเป็น
DEAL MAKER ตัวยงคนหนึ่งในวงการธุรกิจ
ที่ทีเอสไลฟ์ เพื่อนธรรมศาสตร์คนหนึ่งกิตติพงษ์ จินตวราลักษณ์ เป็นผู้บริหารงานประจำวัน
เช่นเดียวกับบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสาร ธุรกิจส่วนตัวลงขันร่วมกับเพื่อน
ๆ เขาเป็นกรรมการ ส่วนเพื่อนบริหารเช่นกัน
กรพจน์ เป็นคนหนุ่มที่มีอนาคต และอนาคตของเขาอยู่ที่ธุรกิจธนาคาร