Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2530
ศิวะพร ทรรทรานนท์ ลึกซึ้งและหนักหน่วง             
 

   
related stories

ผู้จัดการรุ่นใหม่ในสายตา "ผู้จัดการ"

   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารทิสโก้

   
search resources

ทิสโก้, บง. - TISCO
ศิวะพร ทรรทรานนท์
Financing




การเปลี่ยนโฉมหน้าสังคมธุรกิจ มักเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ "สิ่งใหม่" ซึ่งเติบโตในสิ่งแวดล้อมเก่าค่อย ๆ ขยายออกไปกว้างขวางขึ้น สำหรับวงการไฟเน้นซ์แล้ว ศิวะพรกับทิสโก้ อาจอรรถาธิบายได้ทำนองนั้น

ศิวะพร ทรรทรานนท์ ปีนี้อายุ 40 ปี ยังเขียนและอ่านภาษาไทยไม่ได้เหมือนเมื่อ 17 ปีก่อน เขาเดินทางกลับมาเมืองไทยภายหลังจากไปนานตั้งแต่อายุเพียง 2 ขวบ การกลับบ้านเกิดครั้งนั้นเป็นเจตนารมณ์แน่วแน่ของเขา

หลายคนมักจะมองเขามีความเป็นคนไทยน้อย แต่คนใกล้ชิดกลับบอกว่าศิวะพร ทรรทรานนท์ มีความเป็นคนไทยมากกว่าอีกหลาย ๆ คน

ในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ ตั้งแต่ปี 2523 จนถึงปัจจุบัน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แห่งนี้เติบโตอย่างคงเส้นคงวา แม้สินทรัพย์จะคงระดับ 5 พันล้านมาประมาณ 3-4 ปีแล้ว แต่กำไรได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถือเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ทำกำไรมากที่สุด ครองแชมป์ติดกันเป็นเวลานาน

ทิสโก้ดำเนินธุรกิจไม่เหมือนบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อื่น ๆ ตรงที่ทิสโก้เป็นอินเวสต์เม้นท์แบงกิ้งรายแรกของเมืองไทยธุรกิจแตกต่างแทบจะสิ้นเชิงกับกิจการได้ชื่อว่าประเภทเดียวกัน ทุกวันนี้ไม่เป็นเช่นั้นแล้วอินเวสต์เมนท์แบงกิงหลายเป็นเป้าหมายของธนาคารพาณิชย์ใหญ่ในประเทศกำลังรุกคืบหน้าไปถึง

ศิวะพร ทรรทรานนท์ เป็นมืออาชีพลงหลักลงรากที่ทิสโก้อย่างเหนียวแน่น ตั้งแต่วันแรกมาถึงเมืองไทยจนถึงบัดนี้ และคาดว่าคงอยู่ต่อไปอีกนาน

เชื้อสายศิวะพร ทรรทรานนท์ หากย้อนหลังไปประมาณ 400 ปี สมมติฐานว่าเกี่ยวข้องกับโปรตุเกส ปู่ของเขามีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา เดิมชื่อกลอง คำว่า "ทรรทรานนท์" แปลความหมายได้ว่าเสียงกลอง พ่อของเขาชื่อประสิทธิ์ซึ่งเป็นคาธอลิคกันทั้งครอบครัว เริ่มแรกประสิทธิ์ทำงานเป็นข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ จากนั้นไม่นานองค์การอาหารและเกษตร (FAO) ขององค์การสหประชาชาติได้ตั้งขึ้น พ่อของเขาได้รับคัดเลือกเข้าทำงานกับหน่วยงานนี้ อันเป็นเหตุให้ครอบครัวของเขาชีพจรลงเท้าจรไปทั่วโลกศิวะพรอายุเพียง 2 ขวบ ก็ไปปักหลักทำงานอยู่ในอิตาลี อิตาลีมีอารยธรรมยาวนานแห่งโบราณคดี ศิลปและวัฒนธรรม การศึกษาระดับเบื้องต้นถึงระดับไฮสคูลเขาเริ่มที่นั่นอันเป็นเวลาเพียงพอสะสมความคิดชมชอบศิลปะขึ้น ผู้เข้าใจภูมิหลังนี้ของศิวะพร ทรรทรานนท์ จะไม่รู้สึกแปลกใจเลยเมื่อขึ้นสำนักงานชั้น 9 อาคารบุญมิตร สำนักงานของทิสโก้ ซึ่งดูเหมือนเป็นแกลลอรี่กลาย ๆ อันประดับด้วยศิลปะทั้งภาพเขียนและงานปฏิมากรรมจำนวนมากพอ ๆ กับหอศิลปบางแห่ง

สืบเนื่องมาทุกปีเป็นเวลากว่า 10 ปีสำนักงานทิสโก้จะกลายเป็นสถานที่แสดงนิทรรศการภาพเขียนและปฏิมากรรม ผลงานศิลปินทั้งไม่ค่อยปรากฏชื่อและมีชื่อพอประมาณ "ถือเป็นการส่งเสริมงานประเภทศิลปะ" ศิวะพรกล่าวว่าศิลปินบางคนเริ่มมีชื่อเสียงขจรขจายจากทิสโก้แกลลอรี่นี่เอง "มีข้อแม้เพียงประการเดียว เราขอสงวนสิทธิเป็นผู้เลือกซื้องานศิลปะเหล่านี้ก่อนคนอื่น" เขาพูดถึงสิ่งตอบแทนได้จากเปิดสนามศิลปะแก่ศิลปินเป็นประจำ

บ้านของเขาริมถนนสมเด็จเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ภาพเขียนหรืองานศิลปะเหล่านี้ยังปรากฎอยู่ในมุมต่าง ๆ อย่างสงว่าผ่าเผยและเป็นศิลปะ "ยังมีอีกหลายภาพไม่รู้จะติดตรงไหน" เขาปรารภกับ "ผู้จัดการ"

จากอิตาลีในวัยเด็กสู่วัยหนุ่มในสหรัฐอเมริกา ประเทศซึ่งพยายามสร้างอารยธรรมใหม่ด้วยการแสวงหาเทคโนโลยี ศิวะพรเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาด้านวิศวกรรมเครื่องจักรกล RENSSELAER POLYTECHNIC INSTITUTE, TROY, NEW YORK (RPI.) สถาบันแห่งนี้ถือเป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตและการงานในปัจจุบันของเขาเลยทีเดียว พูดถึงความภูมิใจในอดีต ศิวะพร ทรรทรานนท์ มักแสดงความไม่ค่อยพึงพอใจและภาคภูมิใจกับสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตและผลของการงานง่ายนัก แต่การเรียนที่ อาร์พีไอ. คงความภูมิใจเห็นเด่นชัดทุกครั้งที่กล่าวถึง

ในช่วงเยาว์วัย ศิวะพรเติบโตที่อิตาลี ดินแดนแห่งศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ เป็นไได้ที่เขาเริ่มซึมซับงานศิลปะตั้งแต่นั้น นอกจากภาพเขียนและปฏิมากรรม ตอนนี้ก็กำลังสะสมผ้าขาวม้าอยู่อย่างเพลิดเพลิน

"KNOWLEDGE AND THROUGH เป็น MOTTO ของโรงเรียน ผมภูมิใจมากเพราะมี DISCIPLINE จึงเป็นพื้นฐานการทำงานของผม" ศิวะกล่าวหนักแน่น

และหากถามว่า RPI. กับ WHARTON ดูเหมือนเขาจะให้ความสำคัญจากผลการศึกษาแห่งแรกมากกว่า รถวอลโว 244 จีแอลสมบัติส่วนตัวชิ้นสำคัญ ซึ่งเขาซื้อครั้งแรก ๆ เมื่อมาถึงเมืองไทยใหม่ ๆ และยังทะนุถนอมอย่างมากแม้ว่าไม่ค่อยมีเวลาใช้มัน นอกจากวันหยุด (วันทำงานใช้เบนซ์ของบริษัท) กระจกด้านหน้าของรถคันนี้ปรากฏป้ายวงกลมอักษร อาร์พีไอ. ชัดเจน เช่นเดียวกับแหวนวงโต เขาพร้อมโชว์ตลอดเวลาก็คือแหวนรุ่นจากสถาบันนี้เช่นกัน

"ที่ WHARTON เปิดหูเปิดตาให้กว้างขึ้นในการรับรู้โลกของธุรกิจ เพราะวาผู้เรียนส่วนหนึ่งผ่านการทำงานมาแล้ว เรียนรู้ BUSINESS LAW, FINANCE, MARKETING และกรณีศึกษาด้าน MONEY & BANKING ผมคิดว่าเป็นการต่อเนื่องจาก ENGINEERING" ศิวะพรกล่าวถึงการเรียน MBA ที่ WHARTON GRADUATE SCHOOL, UNIVERSITY OF PENNSYLVANIA

ศิวะพร ทรรทรานนท์ เป็นคนไทยกลุ่มแรก ๆ มีพื้นฐานทางวิศวฯ บวก เอ็มบีเอ. ต่อมาได้กลายเป็นสูตรแห่งความสำเร็จในทางธุรกิจ อาทิ ชุมพล ณ ลำเลียง ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย บันเทิง ตันติวิท เป็นต้น

สำหรับศิวะพร มีเหตุผลพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่นในการเดินตามสูตรนั้น

"วิศวกรรมเครื่องจักรกลที่ผมเรียนไม่ค่อยจะมีประโยชน์สำหรับประเทศไทย" เขากล่าวโดยโยงถึงแรงบันดาลใจอันตามมาด้วยเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ จะเดินทางมาประกอบอาชีพห้วงเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตที่เหลืออยู่ที่บ้านเกิดเมืองนอน

"ผมเรียนการดีไซน์และสร้างจรวดรถยนต์อะไรทำนองนี้ ขณะนั้นอุตสาหกรรมบ้านเราเพิ่งเริ่ม และมีคนแนะนำว่าหากเรียนทางบริหารธุรกิจมาเมืองไทย่จะมีงานให้ทำมากกว่า" ศิวะพร เล่าว่าผลงานการศึกษาออกแบบปืนยิงทั้งใต้น้ำและอวกาศของเขาในสมัยเรียนที่ อาร์พีไอ. นั้น ปัจจุบันกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียนประเทศหนึ่งกำลังน้ำไปสร้างตามพิมพ์เขียวนั้นแล้ว

จะว่าไปแล้วการเรียนที่ WHARTON ทำให้เขารู้จักคนไทยหลายคน อาทิ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล สงบ พรรณรักษา ซึ่งเรียนสถาบันเดียวกัน และพักอพาร์ทเม้นท์แถว ๆ ฟิลาเดลเฟียเดียวกันด้วย รวมทั้ง รถจนา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ก็พักใกล้กันแต่เรียนที่ TEMPLE UNIVERSITY รัตนา ในที่สุดได้เปลี่ยนนามสกุลเป็นทรรทรานนท์

และการได้งานทำก่อนจบ 1 ปีด้วยชุมพล ณ ลำเลียง เป็นผู้ส่งจดหมายมาติดต่อเพื่อสัมภาษณ์ ขณะนั้นชุมพลทำงานที่ธนาคารโลกซึ่งกำลังจะย้ายมาทำงานก่อร่างสร้างกิจการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ที่กรุงเทพฯ "ผมพบคุณชุมพลครั้งแรกที่วอชิงตัน เพื่อสัมภาษณ์และก็ตกใจรับงานทันที" ศิวะพรเล่า ตามเงื่อนไขการทำงานเมื่อจบแล้วเขาต้องฝึกงานที่แบงเกอร์สทรัสต์ผู้ก่อตั้งทิสโก้ ก่อนเดินทางมาประเทศไทยเป็นเวลา 3 เดือน

ความจริงการศึกษาก่อตั้งทิสโก้ที่กรุงเทพฯ นี้มีมาตั้งแต่ปี 2511 สมัยศิวะพร ทรรทรานนท์ ยังศึกษาอยู่ที่ อาร์พีไอ. ถือเป็นความต่อเนื่องของแผนการสร้างเครือข่ายธนาคารแบงเกอร์สหทรัสต์ในขอบเขตทั่วโลก โดยเฉพาะเอเชีย-แปซิฟิค เมื่อปี 2507 ตามแนวคิดอินเวสต์เม้นท์แบงก์มีการเจรจาร่วมทุนกับนักธุรกิจไทยโดยเฉพาะธนาคารกสิกรไทย พอปี 2512 ก็ได้ก่อตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียนครั้งแรก 20 ล้านบาทหน่วยงานลงทุนของแบงเกอร์สทรัสต์, (BANKERS INTERNATIONAL CORPORATION) แบนคอม ดีเวลล็อปเม้นท์ คอร์เปอเรชั่น แห่งมนิลา (ก่อตั้งโดยแบงเกอร์สทรัสต์) กับธนาคารกสิกรไทย

ศิวะพรเข้ามาทำงานในปีถัดมาพร้อม ๆ กับ บันเทิง ตันติวิท (2 คนนี้กลับมาเมืองไทยพร้อมกัน แรก ๆ พักอยู่อพาร์ทเม้นท์หลังธนาคารกรุงเทพด้วยกันอีกด้วย) โดยมีหัวหน้างานคนเดียวกัน-ชุมพล ณ ลำเลียง

ขณะนั้นทิสโก้เป็นแหล่งรวมนักเรียนนอกไฟแรงผู้ผ่านการศึกษาด้านไฟแน้นซ์อย่างเพียบพร้อม พวกเขาเหล่านี้ต่อมาได้กลายเป็นมืออาชีพกระจายไปเป็นผู้มีบทบาทสูงในแวดวงธุรกิจการเงิน-ธนาคารรวมไปถึงวงการอุตสาหกรรม

เนื่องจากอยู่เมืองนอกนานกว่า 20 ปีและสังคมของเขาเป็นคนต่างชาติ แม้ครอบครัวพ่อ-แม่จะเป็นคนไทย มีเพียงการสนทนาเท่านั้นใช้ภาษาไทย ศิวะพรเคยต่อสู้กับความคิดพอสมควรครั้งเมื่อทำงานเมืองไทยใหม่ ๆ เกี่ยวกับการเรียนอ่าน-เขียนภาษาไทย แต่ทิสโก้ผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ไม่มีข้อบังคับต้องใช้ภาษาไทย ทั้งการงานรัดตัวแทบจะหาช่องว่างไม่ได้ ร่ำ ๆ จะลงแรงเรียนอย่างจริงจังหลายครั้ง จนแล้วจนรอดบัดนี้เรียนแบบธรรมชาติช้ามาก เขียนได้เฉพาะลายเซ็น และอ่านได้บ้างสำหรับคำง่าย ๆ ที่เป็นคำไทยแท้ ไม่ใช่คำสมาสสนธิอะไรเทือกนั้น

งานของทิสโก้คือการบุกเบิก INVESTMENT BANKING หรือการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน "ตอนแรกเริ่มพัฒนาตลาดเงินขณะนั้นธนาคารมีแต่ให้วงเงินโอ/ดี ไม่ให้เงินกู้ระยะสั้น เงินฝากระยะสั้นก็ระหว่าง 3-6 เดือน เรามาบุกเบิกออกตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นประเภทต่าง ๆ สนองธุรกิจมีเงินเหลือระยะสั้น" ศิวะพรกล่าวถึงงานของทิสโก้ในช่วงแรก ๆ

ปี 2515 แบนคอม ดีเวลล็อปเม้นท์แห่งมะนิถูกเทคโอเวอร์โดยพรรคพวกของมาร์กอส เพื่อจำกัดวงการเป็นเจ้าของกิจการให้อยู่แค่นั้น เมื่อแบงเกอร์สทรัสต์ถอนตัวจกาแบนคอมฯ ในฟิลิปปินส์พร้อม ๆ กับการซื้อหุ้นแบนคอมฯ ในทิสโก้คืนด้วย เวลาเดียวกันธนาคารไดอิชิ กังโย สนใจขยายกิจการด้านนี้เข้าเมืองไทย จึงซื้อหุ้นส่วนเดิมของแบนคอมฯไป

อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับ โนมูระซิเคียวริตี้ เข้ามาร่วมทุนกับธนาคารกรุงเทพในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บางกอกโนมูระ (ต่อมาถอนตัวไป และเปลี่ยนชื่อเป็นพัฒนสินในที่สุด)

เพราะว่ามีผู้ถือหุ้นใหญ่มั่นคง ทำให้ทิสโก้เติบโตในอัตราน่าพอใจและต่อเนื่องเป็นคำถามซึ่งศิวะพร ทรรทรานนท์ ตอบได้ดีที่สุด ในฐานะผู้รู้เห็นการเจริญเติบโตของทิสโก้ตลอด 18 ปี

"เหมือนกับก่อไฟให้ติดแล้วไฟก็ลุกต่อเนื่องเอง" เขาตอบ "ผู้จัดการ" โดยเน้นว่า การสนับสนุนของธนาคาร 3 แห่งใหญ่อยู่ในขอบเขตจำกัด เป็นเพียงเงื่อนไขภายนอก ส่วนการบริหารองค์กรจริง ๆ แล้วด้วยฝีมืออาชีพคนไทยอย่างแท้จริง

แบงเกอร์สทรัสต์ มีบทบาทเพียงส่งผู้ตรวจสอบเข้ามาตรวจสอบภายใน อันเป็นหัวใจของกิจการบริหารตามระบบทันสมัยสร้างรากฐานการเจริญเติบโต บทเรียนของธนาคารกรุงเทพ และ ซีพี. บอกเช่นนั้นด้วย "การควบคุมและตรวจสอบภายในที่ดี เป็นแรงขับเคลื่อนกิจการที่มีพลัง" นักบริหารธุรกิจคนหนึ่งเคยแสดงทรรศนะเอาไว้

ส่วนไออิชิ กังโย (ดีเคบี) สร้างเงื่อนไข "สะพาน" เชื่อมสู่ธุรกิจแดนอาทิตย์อุทัยเข้ามาลงทุนในประเทศไทย นอกจากกรรมการซึ่งมีบทบาทในการประชุมครั้งใหญ่ทิสโก้มีเพียงพนักงานญี่ปุ่นระดับธรรมดาคนหนึ่ง "คนญี่ปุ่นในประเทศไทย เขามีชีวิตความเป็นอยู่ของเขาเอง การเอาคนไทยไปคุยกับเขา มักจะคุยกันไม่รู้เรื่อง ต้องใช้คนญี่ปุ่นด้วยกัน" เป็นสัจธรรมที่นักธุรกิจซาบซึ้งกันดีอยู่แล้ว

สำหรับโครงสร้างการบริหารงานของทิสโก้ ในยุคแรก ๆ ฝรั่งเป็น PRESIDENT ตำแหน่งพนักงานมีมากเหลือเกินมี VICEPRESIDENT หลายคน มี MANAGING DIRECTOR 4 คน ขณะนั้นนับเป็นการแบ่งงานที่ดีสำหรับมืออาชีพเก่ง ๆ มารวมกันในทางตรงข้ามการมีตำแหน่ง (TITLE) มากมาย ก็ทำเอาปวดเศียรเวียนเกล้าแก่คณะกรรมการในการจัดสรรต่อเนื่องเป็นสายลงมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งในระดับเดียวกันหลายคนเช่นกรรมการผู้จัดการ ได้ก่อปัญหาบุคคลครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ทิสโก้มาแล้ว

ถามศิวะพรถึงเรื่องนี้ เขาไม่ยอมพูดถึงเลย

ปี 2522-2523 ทิสโก้เกิดปัญหาองค์กรพอสมควร ช่วงก่อนหน้ามีกรรมการผู้จัดการถึง 4 คน ในเวลาเดียวกัน ศิวะพร, บันเทิงตันติวิท, สิริฉัตร อรรถเวทวรวุฒ าและจันทรา อาชวานันทกุล อันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ (PRESI-DENT) กำลังจะถึงยุคมืออาชีพไทย ในช่วงนั้นเองบันเทิง ตันติวิท ลาออก เหตุผลจริง ๆ เป็นอย่างไรไม่ค่อยมีใครเอ่ยถึงนัก ศิวะพร ทรรทรานนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง PRESIDENT ไม่นาน สิริฉัตร ก็ลาออกไป บางกระแสข่าวกล่าวว่าเนื่องจากลูกน้องคนหนึ่งทำงานผิดพลาด ในฐานะหัวหน้าเธอต้องรับผิดชอบคงมีเพียงจันทรา ลูกหม้อทิสโก้คงดำรงตำแหน่งเดิมอยู่จนทุกวันนี้

เมื่อ ศิวะพร ขึ้นดำรงตำแหน่งนี้ไม่นานเขาก็ขออนุมัติกรรมการบริษัทยกเลิกตำแหน่งทั้งหลายทั้งปวง เพียงแต่คงตำแหน่งของเขาไว้ เผอิญติดขัดในแง่กฎหมาย จันทรา อาชวานันทกุล จึงต้องอยู่ตำแหน่งเดิมตามกฎหมายบริษัทจำกัดของไทย

"ผมคิดว่า ORGANIZATION ต้องมีการ REVOLUTION บ้าง" เขาให้เหตุผลสั้น ๆ ในหลักการเบื้องแรกก่อนเสริมว่าเขาเป็นคนสนใจศิลปะในการบริหารงานุบคคลมากยิ่งเมื่อถามว่าตัวเขาเองคิดว่าตนเองเป็น SYSTEM MAN หรือ DEAL MAKER ศิวะพร ทรรทรานนท์ ตอบว่า "ผมคิดว่าผมเป็น SYSTEM MAN"

ทุกวันนี้พนักงานทิสโก้แบ่งเป็นแผนกต่าง ๆ โดยมีเพียงชื่อหัวหน้าแผนกรับผิดชอบ ศิวะพรกล่าวว่าแท้จริงเขากำลังแสวงหาโครงสร้างการบริหารอันเหมาะสม ในเฉพาะหน้าเขาเน้น JOB TITLE มากเป็นพิเศษ

มีบางคนตั้งข้อสังเกตุว่าปัจจัยความเจริญเติบโตของทิสโก้อยู่ที่การพัฒนาบริการในฐานะผู้บุกเบิก INVESTMENT BANKING สอดคล้องกับสถานการณ์โดยอาศัยเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาจับในอาณาเขตธุรกิจซึ่งต้องการบริการก้าวหน้าหรือเรียกกันว่า HI-FINANCE นั้น

โครงสร้างทิสโก้จึงดูเป็นองค์กรแบบตะวันตก ทั้งการบริหารคณะกรรมการรวบรวมผู้มีประสบการณ์จากธุรกิจ มิใช่ "พระอันดับ" เหมือนกิจการอื่นในประเทศเราศิวะพรเคยกล่าวกับผู้ใกล้ชิดว่าเขาต้องต่อสู้กับความคิดต้องการผู้มีอำนาจเช่นอดีตนายทหาร อดีตข้าราชการผู้ใหญ่มาเป็นกรรมการอย่างหนัก นอกจากนี้ธุรกิจทิสโก้อาศัยความชำนาญเฉพาะด้าน ซึ่งบางคนกล่าวว่าทิสโก้แทบจะไม่ได้ลงลึก กระทบต่อรากฐานธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยอันจำเป็นต้องอิงอำนาจนิยม

หากใครจะใช้ตำรา เอ็มบีเอ. ที่นี่คงใช้ได้มากกว่าที่อื่น ๆ ของประเทศไทย

เคยมีคนเล่าทีเล่นทีจริงว่า ทิสโก้เคยทำลิสซิ่งที่เชียงใหม่ ด้วยการดำเนินธุรกิจแบบตะวันตก บริษัทลิสซิ่งแห่งนี้ได้กลายเป็นนิติบุคคลเสียภาษีสูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่งในเชียงใหม่ อันเป็นเหตุให้ข้าราชการเขม่นเอา ทำนองเดียวกับสรรพากรบางคนในกรุงเทพฯ เคยวิจารณ์ผู้บริหารทิสโก้ว่า "ทำไมพวกคุณไม่ทำผิดกฎหมายบ้าง ผมไม่เคยปรับทิสโก้ เจ้านายผมคิดว่าผมซูเอี๋ยกับพวกคุณเกินไป"

ธุรกิจของทิสโก้พัฒนาอยู่ตลอดเวลาในช่วงแรกจากออกตั๋วใช้เงินระยะสั้น มาสู่ SYNDICATION เคยทำให้ปูนซิเมนต์ไทย 200 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นรายแรก ครั้นเมื่อตลาดหลักทรัพย์จะถูกสถาปนาขึ้น เขาเป็นคนหนึ่งในอนุกรรมการก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทิสโก้ปรับตัวทำกิจกรรมค้ำประกันขายหุ้น และตามมาด้วยเช่าซื้อ ศิวะพร กล่าวว่ามันเป็นวงจรที่เวียนไปจากสินเชื่อหลักทรัพย์-เช่าซื้อ อะไรทำนองนี้ตลอดมา

ปัจจุบันทิสโก้กำลังเอนจอยอย่างมากกับกิจการด้านหลักทรัพย์ บางคนบอกว่า ณ สิ้นปี 2529 ทิสโก้กำไรถึง 108 ล้านบาทส่วนใหญ่มาจากค่าคอมมิชชั่นในตลาดหุ้น

วงการธุรกิจการเงินต่างลงความเห็นว่าศิวะพรเป็นคนลึกซึ่ง เงียบ ๆ พูดน้อยเรื่องอะไรที่เขาไม่อยากพูดเขาก็บอกว่าไม่รู้ ขณะเดียวกันลีลาการซื้อขายหุ้นเป็นคนมีจังหวะจะโคนมาก พอจังหวะมาถึงจะทุ่มอย่างหนักหน่วง "เขาเป็นคนเก่งลึก ๆ อ่านยากคนหนึ่ง" เสียงพูดกันอย่างนั้นในช่วงนี้ศิวะพรแฮปปี้ที่สุด เพิ่งจะซื้อห้องพักหรูหราที่ศุภคารคอนโดมิเนียม ในราคาหลายล้านบาท ว่ากันว่าเป็นการสะสมเงินจากกิจกรรมในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อนฝูงของเขาซุบซิบว่าซื้อเอาไว้เป็นที่จอดเรือเร็ว

โลกส่วนตัวของเขาอบอุ่นกับครอบครัวโลกศิลปะ และเทคโนโลยีอันตื่นเต้น

ศิวะพร ทรรทรานนท์ เป็นนักแสวงหางานอดิเรกใหม่ ๆ ตื่นเต้นตามแนวความคิดด้านวิทยาศาสตร์ เคนเล่นเรือใบอย่างเอาจริงเอาจังถึงขั้นลงแข่งขันระดับนานาชาติ และได้กลายเป็นประสบการณ์ลืมไม่ลงเป็นเหตุให้หันหลังจากงานอดิเรกนี้แล้วขณะนี้ เขาประสบอุบัติเหตุจากการแข่งขันจนดั้งจมูกหักเมื่อได้รับการช่วยเหลือ เขาพยายามนำเรือใบเข้าถึงเส้นชัยทั้ง ๆ ที่รู้ว่าในอันดับสุดท้ายแต่ถูกกรรมการตัดสินให้ถือว่าไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้เข้าแข่งขัน เขาชอบท่องป่าแบบโลดโผนตื่นเต้นโดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน เขาชอบยิงปืนและนับเป็นนักแม่นปืนคนหนึ่ง ระหว่างป่วยเคยกระหน่ำยิงขโมยขึ้นบ้านถึง 14 นัด โดยตั้งใจเพียงขู่เท่านั้น

ล่าสุดศิวะพรเพิ่งต่อเรือมาลำหนึ่งขนาดกลาง ๆ แทนที่เขาจะนำล่องทะเล ตกปลาเที่ยวเกาะเหมือนนักธุรกิจคนอื่น ๆ กลับใช้เทรลเลอร์พ่วงท้ายรถยนต์ส่วนตัวเดินทางไปล่องตามแม่น้ำ ทะเลสาบ ตามเขื่อนต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน

กับครอบครัววันหยุด ห้องรับแขกกลายเป็น LIVING ROOM และห้องฟังเพลงพร้อมกัน ศิวะพรชอบดู MUSIC VIDEO และอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์สำหรับช่วงเวลานั้น

เขาสวมสูท BURLINGTON และรองเท้ายี่ห้อ MORESCHI ในขณะเดียวกันใช้นาฬิกาควอทซ์ CASIO และปากกาลูกลื่น PENTAL ยิ่งกว่านั้นชอบรับประทานก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นริมถนนซอยข้างธนาคารไทยทนุสำนักงานใหญ่

ศิวะพร ทรรทรานนท์ ดูเหมือนเขาเป็นนักธุรกิจการเงินที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่ง แต่ในส่วนลึกแล้วหลายคนบอกว่า ศิวะพรมี "ปม" หนึ่งซึ่งพยายามแสดงให้คนทั่วไปเข้าใจ คือความเป็นคนไทยอาจจะด้วยไม่สามารถเขียนและอ่านภาษาไทยได้นั่นเอง

ศิวะพรกำลังสะสมผ้าขาวม้า เขาบอกว่าเป็นผลิตภัณฑ์มีกลิ่นไอความเป็นไทยทั้งอเนกประสงค์วันนี้เขาสะสมผ้าขาวม้าหลากสีกว่า 100 ผืน กลายเป็นภาพศิลปะดุจภาพเขียนที่เขามีอยู่

ศิวะพรกับทิสโก้เป็นสิ่งกลมกลืนกันมาก ในอาณาเขตใหม่ ๆ ส่วนหนึ่งสังคมธุรกิจไทย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us