ในที่สุดฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าสัญชาติเนเธอร์แลนด์
ก็ตัดสินใจหวนคืนสู่ธุรกิจคอมพิวเตอร์หลังจากที่ห่างหายจากสังเวียนนี้มาเป็นเวลาถึง
5 ปีเต็ม
ที่จริงแล้วฟิลิปส์ไม่ได้เป็นแค่ผู้ผลิตหลอดไฟฟ้า หรือ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเท่านั้น
แต่ยังเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ของโลกที่มีผลิตภัณฑ์ในมือหลายชนิดตั้งแต่เมนเฟรม
มินิ พีซี ตลอดจนเครื่องเบิก-ถอนเงินสดหรือเอทีเอ็ม
แต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ฟิลิปส์ได้ตัดสินใจขายทิ้งธุรกิจอินฟอร์เมชั่นซิสเต็มส์
(เอสไอ) ทั่วโลกไปให้กับบริษัทดิจิตอล อีควิปเม้นท์ จำกัด (เดค) ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์อีกรายของโลกเนื่องจากฟิลิปส์ประสบปัญหาการลดต่ำของรายได้ในธุรกิจนี้
ที่สวนทางกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นปัญหาต่อองค์กรโดยรวมในระยะยาว
ตามข้อตกลงในการขายทิ้งกิจการในครั้งนั้นฟิลิปส์จะต้องไม่ทำธุรกิจอินฟอร์เมชั่นซิสเต็มส์ระยะหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ "ฟิลิปส์" จึงเงียบหายไปจากตลาดคอมพิวเตอร์ คงเหลือไว้แต่จอมอนิเตอร์ที่ยังคงผลิตและจำหน่ายอยู่ในตลาดรวมถึงการผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนต่างๆ
อาทิ ชิป ซีดีรอม ป้อนให้กับบริษัทคอมพิวเตอร์รายอื่นๆ
จนกระทั่งเมื่อสองปีที่แล้วหลังปลดพันธนาการจากบริษัทดิจิตอล ฟิลิปส์ก็ประกาศหวนคืนกลับสู่สังเวียนคอมพิวเตอร์อีกครั้ง
หลังจากพบว่าคอมพิวเตอร์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป
เช่นเดียวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ได้มีไว้ใช้เฉพาะแค่องค์กรขนาดใหญ่เช่นในอดีตอีกต่อไป
และกลุ่มลูกค้าประเภทคอนซูเมอร์นั้นมีขนาดใหญ่มหาศาล
ยิ่งไปกว่านั้น ฟิลิปส์ไม่ต้องการให้ตกขบวนรถไฟในยุคอินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี
(ไอที) ที่กำลังก้าวสู่โลกของ "มัลติมีเดีย" ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างคอมพิวเตอร์
บรอดคาสติ้ง และโทรคมนาคม อันเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นจุดกำเนิดของ "พีซีทีวี"
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ชนิดใหม่ที่จะเป็นได้ทั้งทีวี ป้อนข้อมูล ท่องโลกอินเตอร์เน็ต
ตลอดจนช้อปปิ้งผ่านจอสี่เหลี่ยมชนิดนี้ทุกที่ทุกเวลา
สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นปัจจัยเร่งเร้าให้ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าต้องข้ามแดนมาสู่ธุรกิจคอมพิวเตอร์
ดังเช่น โซนี่ ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังจากแดนอาทิตย์อุทัยที่หันมาทำธุรกิจผลิตพีซี
รวมทั้งแผนอนาคตของเอเซอร์หนึ่งในผู้ผลิตพีซีจากไต้หวันที่ต้องการก้าวไปสู่การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า
ฟิลิปส์ก็เช่นกันที่ไม่ยอมตกขบวนรถไฟสายด่วนนี้
การกลับมาของฟิลิปส์ในครั้งนี้จึงไม่ได้มีกองทัพผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ตั้งแต่เครื่องขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็กเช่นในอดีต
มีเพียงแค่ "พีซี" เป็นตัวชูโรง ตามมาด้วยจอมอนิเตอร์ และอุปกรณ์ต่อพ่วง
อาทิ ซีดีรอม, ซาวด์การ์ด สปีคเกอร์ แฟกซ์โมเด็ม
"ตลาดเริ่มเปลี่ยนไป สมัยก่อนจะมีแต่บริษัทหรือองค์กรใหญ่ๆ ที่ใช้คอมพิวเตอร์
แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว คอมพิวเตอร์กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ต
เกมส์ หรือ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จนกลายเป็นคอนซูเมอร์โปรดักส์ไปแล้ว ซึ่งตลาดของคอนซูเมอร์นั้นมหาศาลในเมื่อเรามีเทคโนโลยีอยู่แล้วไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง"
มณฑลจำนงค์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์กล่าว
การบุกตลาดพีซีคอมพิวเตอร์ของฟิลิปส์เริ่มต้นขึ้น ยุโรปเป็นประเทศแรกๆ
ก่อนขยายไปยังไต้หวันซึ่งเป็นแหล่งประกอบพีซีของฟิลิปส์สำหรับขายในย่านเอเชียแปซิฟิกนี้ด้วย
สำหรับในไทย ฟิลิปส์เปิดตัวพีซีมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นแค่การชิมลางเท่านั้น
และหลังจากผ่านช่วง "ฮันนีมูนพีเรียด" ที่ได้ผลออกมาน่าพอใจ ฟิลิปส์จึงเริ่มเดินเครื่องออกสู่ตลาดอย่างเต็มตัว
ฟิลิปส์ลงมือจัดองคาพยพใหม่เพื่อต้อนรับการกลับมาของธุรกิจคอมพิวเตอร์
ด้วยการตั้งแผนกบิสซิเนส อิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับกับสินค้า 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์จะมีพีซีและโน้ตบุ๊ค ที่ใช้เพนเทียมโพรเซสเซอร์
กลุ่มจอมอนิเตอร์ ซึ่งจะมีขนาดตั้งแต่ 14 นิ้ว-21 นิ้ว และกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่อพ่วง
อาทิ ซีดีรอม, ซาวด์การ์ด, สปีคเกอร์, แฟกซ์โมเด็ม
เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายในการวางตำแหน่งสินค้าไปยังกลุ่มลูกค้าในครัวเรือน
และออฟฟิศขนาดเล็กแทนกลุ่มลูกค้าที่เป้นองค์กรขนาดใหญ่เช่นในอดีต ฟิลิปส์จึงได้โยกผลิตภัณฑ์เหล่านี้
ซึ่งเคยอยู่ในส่วนของโปรเฟสชั่นแนลให้มาอยู่ในส่วนของผลิตภัรฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน
เครื่องพีซีที่ฟิลิปส์นำออกวางตลาด ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3-4 รุ่น จึงไม่ได้เน้นตามมาตรฐานของตลาด
คือ มีรุ่นพื้นฐาน และรุ่นมัลติมีเดีย เพื่อรองรับกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคอนซูเมอร์โปรดักส์แต่อย่างที่รู้ว่า
พีซีแต่ละยี่ห้อนั้นไม่ได้มีความแตกต่างกันนักไม่ว่าจะเป็นพีซีโลคัลแบรนด์
หรือ พีซีนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะชิ้นส่วนจะถูกนำมาจากแหล่งเดียวกัน และทุกยี่ห้อก็หันมาหาลูกค้าคอนซูเมอร์โปรดักส์ทั้งสิ้น
ซึ่งฟิลิปส์ตระหนักในเรื่องนี้ดี จังได้สร้างความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ ด้วยการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีสีสันแปลกตา
เพื่อเน้นความเป็นคอนซูเมอร์โปรดักส์ไม่ใช่สินค้าไอที มณฑลเชื่อว่าจะเป็นเครื่องมือทางการตลาดชิ้นหนึ่งที่จะช่วยให้ร้านค้าขายสินค้าได้ง่ายขึ้น
พร้อมกันนี้ราคาซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในเวทีแข่งขันของธุรกิจพีซี
มณฑล ชี้แจงว่าราคาจะแข่งขันในตลาดได้ โดยจะพยายามให้อยู่ในระดับเดียวกับคอมแพคและเอเซอร์
รวมทั้งระบบจัดจำหน่ายที่ฟิลิปส์หันมาใช้วิธีขายผ่านคู่ค้า 3 ราย คือ บริษัทเดอะแวลลูซิสเต็มส์
บริษัทเอ็มแอนด์วี และเอสวีซิตี้ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ค้าส่งพีซีรายใหญ่ในตลาดที่มีช่องทางจำหน่ายหลายประเภท
โดยเฉพาะซูปเปอร์สโตร์ โดยฟิลิปส์จะสนับสนุนในเรื่องสินค้า และนโยบายทางด้านการตลาด
ฟิลิปส์ตั้งเป้าหมายว่าการหวนคืนสู่ธุรกิจคอมพิวเตอร์ในครั้งนี้ ที่มีพีซีและจอมอนิเตอร์เป็นหัวหอกจะสร้างรายได้ประมาณ
5-6% ของรายได้รวม 5-7 พันล้านบาท หรือ คิดเป็น 400 ล้านบาทในปีหน้า
กระนั้นก็ดีธุรกิจค้าพีซีไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้มาใหม่จากคู่แข่งขันที่มีอยู่มากมายในตลาดทั้งแบรนด์เนมจากต่างประเทศเท่าใดนัก
จนทำให้การค้าพีซีเป็นธุรกิจหินอย่างหนึ่งในยุคนี้
อย่างไรก็ตามมณฑลเชื่อว่า การที่ฟิลิปส์เป็นบริษัทที่ครบเครื่องทางด้านมัลติมีเดีย
มีตั้งแต่ทีวี วิดีโอ เครื่องเสียง ระบบคอมมูนิเคชั่น ตลอดจนมอนิเตอร์ ซึ่งบริษัทน้อยรายจะมีเช่นนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ฟิลิปส์เข้ามายืนอยู่ในตลาดพีซีได้ไม่ยากเย็นนัก
ก็ต้องรอดูว่า การหวนคืนสู่ตลาดคอมพิวเตอร์ของฟิลิปส์จะสัมฤทธิผลเพียงใด