ในตำราของสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทยญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตำราที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทยญี่ปุ่นใช้สอนเรื่องคิวซีให้กับบริษัทและองค์กรต่าง
ๆ มีบันทึกตอนหนึ่งในบทของคิวซีเมืองไทยว่าในปี 2518 บริษัทไทยบริดจสโตน
จำกัด เป็นบริษัทแรกในเมืองไทยที่เริ่มนำระบบคิวซีเซอร์เคิลมาใช้อย่างจริงจัง
ถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 12 ปีแล้วที่ไทยบริดจสโตนยังเชื่อมั่นอยู่กับระบบนี้
ผู้บริหารหลายคนต่างตระหนักว่า ด้วยระบบคิวซีเซอร์เคิลที่ตัวเองนำมาปรับปรุงใช้นี่เอง
เป็นส่วนผลักดันที่สำคัยในความสำเร็จของไทยบริดจสโตนในทุกวันนี้
"โรงงานของเราได้มีการเคลื่อนไหวด้านกิจกรรม คิวซีเป็นพื้นฐาน ทุกคนต่างทำหน้าที่ของตนเองในระบบ
4 M อันได้แก่ MAN, MACHINE, METHOD, MATERIAL ซึ่งเราได้ทำการปรับปรุงและควบคุมเป็นอย่างดีอยู่ตลอดเวลา
นี่ถือเป็นจุดสำคัญ
ปองชัย ดำเนินพิริยะกุลผู้จัดการโรงงานไทยบริดจสโตนซึ่งถือเป็นผู้ควบคุมหน่วยงานที่ใหญ่ที่สุดของไทยบริดจสโตนขณะนี้
กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
บริษัทไทยบริดจสโตน จำกัด เป็นบริษัทหนึ่งที่มีระบบการบริหารเป็นตัวของตัวเอง
มีลักษณะที่โดดเด่น ในเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้คน
"อาจเป็นไปได้ว่า บริดจสโตนนั้น มีเถ้าแก่ (ENTRE PRENEUR) หลายคน
ทั้งญี่ปุ่นทั้งคนไทยซึ่งก็มีกันอยู่หลายกลุ่ม จึงทำให้บริดสโตนจำเป็นต้องใช้มืออาชีพเข้ามาทำงานเพราะถ้าเถ้าแก่
(ENTRE PRENEUR) แต่ละคนต่างลงมาเล่นเองคงดีกันวุ่น" ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารให้ทัศนะต่อ
"ผู้จัดการ"
บริษัทไทยบริดจสโตน จำกัด เริ่มจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 8 มีนาคม
2510 โดยในตอนนั้นใช้ชื่อว่าบริษัทยางไทย-ญี่ปุ่น จำกัด มีผู้ถือหุ้นฝ่ายญี่ปุ่นคือบริษัทยางบริดจสโตนและบริษัทมิตซูบิชิถือหุ้นรวมกัน
49 เปอร์เซ้นต์ และกลุ่มฝ่ายคนไทยซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่สองกลุ่มคือ จุติ บุญสูง
และวรรณ ชันซื่อกับอีกกลุ่มรายย่อยหลายกลุ่มถือหุ้นรวมกัน 51 เปอร์เซ็นต์
จำได้ว่า วรรณ ชันซื่อประธานบริษัทไทยบริดสโตนได้เคยเล่าให้ "ผู้จัดการ"
ฟัง เมื่อสองปีก่อนว่า มีทนายความชื่อดังคนหนึ่งชื่ไล่อัน ได้แนะนำให้วรรณะ
ชันซื่อ รู้จักกับมหาเศรษฐีปักษ์ใต้ที่ชื่อ จุติ บุญสูงมาตั้งแต่เมื่อปี
พ.ศ. 2500 ซึ่งทั้งสองต่างรู้จักสนิทสนมกันเรื่อยมาคบกันเป็นมิตรสหายธรรมดาจนกระทั่งเมื่อเริ่มก่อตั้งกันเป็นบริษัทยางไทย-ญี่ปุ่น
นี่แหละทั้งสองจึงได้เริ่มทำธุรกิจที่ใหญ่โตกันมาเรื่อย ๆ ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นบริษัทไทยเทรดดิ้งแอนด์อินเวสท์เมนท์
บริษัทในเครืออิซูซุและบริษัทในเครือนิปปอนเดนโซ่ เหล่านี้เป็นต้น
ซึ่งถ้าต้องเขียนถึงประวัติศาสตร์ธุรกิจไทยแล้ว บริษัทยางไทย-ญี่ปุ่นหรือบริษัทไทยบริดจสโตนในปัจจุบัน
คงต้องถูกบันทึกไว้แน่นอนว่า เป็นบริษัทแรกที่สองนักธุรกิจที่มีอาณาจักรของตัวเองนับหมื่นล้านบาทนี้ได้ร่วมกันลงทุนและทำงานร่วมกันเป็นบริษัทแรก
ในวงการธุรกิจเล่ากันว่าเมื่อก่อนนี้ จุติ บุญสูง วรรณ ชันซื่อ และพงส์
สารสิน เป็นกลุ่มที่เกาะตัวกันอย่างเหนียวแน่นมาก ซึ่งนิตยสาร "ผู้จัดการ"
ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2528 ได้กล่าวเอาไว้ว่า
"ทั้งสามสนิทกันมากมากจนน่าจะพูดได้ว่าคนหนึ่งไปที่ไหนอีกสองคนก็มักจะตามไปด้วยเสมอ
อย่างเช่นในอุตสาหกรรมผลิตและประกอบรถยนต์ เป็นต้น
ดังนั้น จึงไม่น่าแลกใจว่าทำไม ออฟฟิศของบริษัทไทยบริดจสโตน จึงยังคงอยู่ที่ตึกสารสินจนปัจจุบัน
จุติ บุญสูง เป็นประธานกรรมการบริษัทมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1
ตุลาคม 2525 จุติ บุญสูง เสียชีวิตลงด้วยโรคหัวใจที่โรงพยาบาลพร้อมมิตร ในขณะที่มีอายุได้
72 ปี ตำแหน่งประธานในบริษัทไทยบริดจสโตนจึงตกอยู่กับวรรณชันซื่อ ตั้งแต่นั้นมา
หากย้อนกลับไปเมื่อสมัยเริ่มการก่อตั้งบริษัทยางไทยญี่ปุ่นอีกครั้ง เพื่อดูการพัฒนาตลอดมา
จะเห็นได้ว่า ในยุคเริ่มแรกของการทำงานของบริษัทนี้ ทั้งด้านการบริหารและการทำงาน
ใช้คนญี่ปุ่นเกือบทั้งหมดโดยเฉพาะภายในโรงงานซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีที่สุด
แต่ทุกวันนี้ ถ้าเข้าไปดูพนักงานในองค์กรแห่งนี้แล้วแทบจะไม่พบญี่ปุ่นแม้สักคนเดียว
ในปี 2510 ถึงปี พ.ศ. 2512 ไทยบริดจสโตนแมัจะก่อตั้งบริษัทขึ้นมาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการผลิตเนื่องจาก
ยัดขาดบุคลากรและตัวโรงงานยังไม่พร้อม
การฝึกอบรมคนงานในระดับต่าง ๆ กระทำกันอย่างจริงจังและเต็มที่ในช่วง 2
ปีนี้เอง
"ผมเริ่มเข้ามาทำงานที่นี่เมื่อปี 2510 ตอนนั้นโรงงานยังไม่เปิดทำการผลิต
แล้วก็ถูกส่งไปฝึกงานญี่ปุ่นเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม ๆ พร้อมกันคนไทยอีกประมาณ
20 กว่าคน กลับมาก็ตอ้งช่วยกันติดตั้งเครื่องจักร ช่วยกันสอนคนงานใหม่ แล้วในที่สุดก็กระจัดกระจายแยกย้ายกันเป็นหัวหน้าแต่ละหน่วยงาน"
ปองชัยดำเนินพิริยะกุล ผู้จัดการโรงงานไทยบริดจสโตนคนปัจจุบัน (เริ่มรับตำแหน่งเมื่อวันที่
1 มกราคม 2530 ที่ผ่านมานี้) กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงในช่วงแรกของการเข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างในบริษัทนี้
ซึ่งเต็มไปด้วยการฝึกอบรมในช่วงแรก
แม้ว่าโรงงานไทยบริดจสโตนจะเปิดทำการแล้วในปี 2512 แต่บุคลากรระดับหัวหน้าหน่วยจนไปถึงระดับวิศวกรที่ควบคุมไฮเทคโนดลยีในการผลิตก็ยังเป็นคนญี่ปุ่นเสียส่วนใหญ่
อย่างไรก็ดีเมื่อบริษัทแห่งนี้ดำเนินไปได้ประมาณ 5 ปี คือในช่วงปี 2517
ทางด้าน บีโอไอ. ได้กำหนดให้ลดผู้เชี่ยวชาญทางด้านญี่ปุ่นลง เงื่อนไขอันนี้เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่ง
ที่เป็นแรงกระตุ้นให้ทางกรรมการบริษัทไทยบริดจสโตนเร่งเร้าตัวเองในการให้คนรุ่นเก่าถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่คนรุ่นใหม่
การส่งพนักงานไปฝึกงานที่บริดจสโตนในญี่ปุ่น เพื่อรับเทคโนโลยีทั้งทางด้านการบริหารและการผลิตกับมา
การนำระบบคิวซีเซอร์เคิลมาใช้จึงจำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในบริษัทแห่งนี้
คือกิจกรรมคิวซีที่ใช้มานั้น เป้าหมายใหญ่ของมันก็คือการยกระดับความรู้ความสามารถของพนักงานนั่นเอง
มันช่วยได้ใหญ่ ๆ 2 ประการก็คือ ช่วยให้คนเรานั้นมองปัญหาได้กว้างขึ้นและก็ไกลขึ้น
ไม่ใช่มองเป็นจุด อีกอันหนึ่งก็คือสอนให้คนเรารู้จักแยกแยะปัญหา ทำให้สามารถมองภาพวิธีที่จะแก้ไขได้
สมมติถ้าเราบอกว่า ยางวันนี้ทำได้ไม่ครบแผนการผลิต พูดแค่นี้เราแก้ไขอะไรไม่ได้
เราต้องมองให้ลึกถึงขนาดที่ว่า ยางของเราซึ่งผลิตแต่ละวันมีถึง 20-30 ขนาด
ขนาดไหนที่มนมีปัญหาล่ะ คิวซีมันจะเสนอเราว่าดูทีละขนาด ขนาดไหนที่มันติดลบ
หรือผลิตได้ไม่ตรงตามออร์เดอร์ เมื่อเรารู้ว่าเป็นจุดไหน เราก็แก้ได้ตรงเป้า"
ผู้จัดการฝ่ายโรงงานคนเดิมของบริดจสโตนกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
และจากการนำคิวซีมาใช้นี่เองทำให้ในปัจจุบันไทยบริดจสโตนแทบไม่มีผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นเหลืออยู่เลย
สิ่งที่ญี่ปุ่นทำได้คนไทยที่ได้เรียนรู้ก็เริ่มทำได้จนในที่สุดเมื่อปี 2522
บริษัทไทยบริดจสโตนได้มอบหมายภาระรับผิดชอบให้กับพนักงานคนไทยโดยสมบูรณ์
ทั้งทางด้านการบริหารและการผลิต ตั้งแต่ระดับผู้จัดการโรงงานลงมาจนถึงผู้บังคับบัญชาระดับต้นสุด
บริษัทไทยบริดจสโตน มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นยักษ์ใหญ่ที่สุดทั้งทางด้านการผลิตและการจำหน่ายในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ตลอดมา
ไม่เคยตกอันดับเลย
"ปริมาณการผลิตในปีแรกเราผลิตไม่ถึง 2 แสนเส้น ในปีที่ 10 เราผลิตเพิ่มขึ้นเป็น
7 แสนเส้น และในปีที่ 18 คือปีที่แล้วเราผลิตได้ถึงเกือบ 1 ล้านเส้นและที่เราภาคภูมิใจก็คือ
ยางบริดจสโตนของเราได้รับความนิยมเป็นอย่างดีมาโดยตลอด มียอดการจำหน่ายนำหน้าบริษัทอื่น
ๆ มาโดยตลอด" ปองชัย ดำเนินพิริยะกุล กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ทุกวันนี้ บริษัท ไทยบริดจสโตน ยังคงครอง MARKET SHARE ในตลาดยางรถยนต์สูงที่สุดในประเทศไทย
คือประมาณ 40-42 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตัวเลขมาร์เก็ตแชร์นี้ ทางสุรจิต นันทะศิริผู้จัดการฝ่ายการตลาด
กระซิบบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า น่าจะสูงกว่านี้
ทางด้านการตลาดนั้นบริดจสโตนมีแผนการตลาดของตัวเอง แต่จะให้บริษัท มิตซูบิชิ
เป็นผู้แทนจำหน่ายให้ ฝ่ายการตลาดจะทำงานหนักหน่อย ตรงที่ต้องการทำการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการขายทุกรูปแบบ
ในขณะที่กำลังครองความเป็นจ้าวในอุตสาหกรรมยางราถยนต์ในประเทศไทอยู่นี้
ไทยบริดจสโตนก็เริ่มมองหาตลาดเมืองนอก โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าของเงินเยนกำลังแข็งอยู่นี้
ยิ่งนับเป็นโอกาสที่ดูเหมือนจะหาได้ยาก
แล้วโอกาสทองของบริษัทไทยบริดจสโตน จำกัด ก็มาถึงจริง ๆ เมื่อบริษัท เอ็มเอ็มซีสิทธิพล
จำกัด ได้รับงานชิ้นใหญ่ผลิตรถยนต์นั่งให้กับบริษัทไครสเลอร์แคนาดา จำนวน
1 แสนคันโดยทะยอยส่งเป็นเวลา 6 ปี และทำการเซ็นสัญญากันไปแล้วเมื่อวันที่
7 เมษายนที่ผ่านมานี้เอง
ไทยบริดจสโตนได้รับการทาบทามจากสิทธิผลทันที ในการผลิตยางรถยนต์ป้อนหใกับรถที่จะผลิตกับไครสเลอร์แคนาดาโดยเริ่งส่งมอบตั้งแต่ปี
2531 ที่จะถึงนี้
บริษัทไทยบริดจสโตน จำกัด ต้องปรับตัวเองอีกครั้งเพื่อรับกับงานชิ้นใหญ่ชิ้นนี้องค์กรก็จำเป็นต้องใหญ่ขึ้น
โรงงานก็ต้องขยาย
"การขยายโรงงานใหม่กำลังวางแผนกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียด กรรมการบริหารได้ตัดสินใจลงมาแล้วว่าจะต้องมีการทำการตลาดต่างประเทศขึ้นอย่างจริงจัง
เพราะโรงงานที่จะขยายนี้ไม่เพียงแค่รองรับออร์เดอร์ของสิทธิพลเท่านั้น แต่ต้องมีการขยายไว้สำหรับตลาดต่างประเทศที่ไทยบริดจสโตนจะลุยกันเองด้วย"
แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
แล้วก็คงต้องรอดูกันว่าคิววีเซอร์เคิล ในองค์กรที่ใหญ่โตอย่างไทยบริดจสโตนในวันข้างหน้าจะเป็นเช่นไรกันแน่