|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
กิจการธุรกิจไม่ว่าขนาดใหญ่หรือขนาดกลางและขนาดย่อมที่เรียกว่า SME ก็ล้วนสามารถแสดงบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคม หรือการมี CSR (Corporate Social Responsibility) ได้ทั้งสิ้น หากมีจิตสำนึกใฝ่ดีและทำดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรขนาดใหญ่ ทุนหนายิ่งจำเป็นต้องมี CSR เพราะมีโอกาสเป็นพลังในทางสร้างสรรค์หรือพลังในทางทำลาย กระทบต่อผู้เกี่ยวข้องและสังคมมากกว่ากิจการขนาดเล็ก
ธนาคารกรุงไทย จำกัด ( มหาชน) เป็นธนาคารของรัฐขนาดใหญ่ที่สุด มีฐานะทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงเป็นเรื่องสมควรที่ได้ประกาศจุดยืนการดำเนินการด้วยนโยบาย 'เก่ง+ดี' คือให้มีทั้งคุณภาพ ประสิทธิภาพ และคุณธรรม ในการประกอบธุรกิจ เพื่อเกื้อหนุนเศรษฐกิจและสังคม
แนวทางที่ว่านี้ ธนาคารกรุงไทย เรียกว่า CSER หมายถึง ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (Corporate Social and Environment Responsibility)
หนังสือ 'รายงานการดำเนินการ เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมประจำปี 2551' ซึ่งเผยแพร่ พร้อมการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ให้ข้อมูลยืนยันการเป็นพลเมืองดีของสังคม
ธนาคารดำเนินธุรกิจตามหลักบรรษัทภิบาลมีการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ การบริหารความเสี่ยงที่ดีและดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรมพร้อมด้วยการตระหนักถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยบุคลากรมีความรู้ความสามารถและซื่อสัตย์สุจริตต่ออาชีพพร้อมด้วยความมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อความสำเร็จขององค์กร
ในปี 2551การดำเนินการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้รับการสนับสนุนเข้มแข็งขึ้น เห็นได้จากการมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์เข้ามาช่วยดูแลโครงการต่างๆ ทั้งในระดับกรรมการธนาคาร อาทิดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการบริหาร สันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานกรรมการบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ดุสิต นนทะนาคร กรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการรวมทั้งผู้บริหารระดับสูงในระดับผู้บริหารสายงานได้เข้ามากำกับดูแลงานในแต่ละมิติให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งฝ่ายเสริมสร้างทุนทางปัญญาและกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนโครงการ หรือ กิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
1.มิติการศึกษา มีโครงการ 'กรุงไทยสานฝันโรงเรียนดีใกล้บ้าน' ซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยธนาคารได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการพัฒนาระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนในโครงการฯ เพื่อให้นักเรียน ครูมีโอกาสที่เท่าเทียมกับโรงเรียนที่มีชื่อเสียงอื่นๆ
ทั้งนี้ ธนาคารได้ให้การสนับสนุนในการจัดซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยการจัดอบรมความรู้ในการจัดทำสื่อการเรียนการสอนด้วย ICT โดยโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ซึ่งมีชื่อเสียงในด้าน ICT รวมทั้งนำผู้อำนวยการโรงเรียนไปดูงานการบริหารจัดการด้านการศึกษาในต่างประเทศเพื่อเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น
ในปี 2551 มีโรงเรียนในพื้นที่ต่างๆ ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด จำนวน 93โรงเรียน และธนาคารได้สนับสนุนจนสามารถยกระดับเป็นโรงเรียนในฝันได้ 85 โรงเรียน และส่วนที่เหลืออยู่ในเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เป็นโรงเรียนในฝันที่มีมาตรฐานโดยเร็วต่อไป ขณะนี้ยังได้ขยายขอบเขตไปยังนักเรียนที่ด้อยโอกาสด้วยโดยได้สนับสนุนโรงเรียนตามโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียนชาวเขาที่ด้อยโอกาสให้มีโอกาสได้เรียนในระดับที่สูงขึ้นพร้อมกับการพัฒนาครูอาสาสมัครของโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารหลายแห่งที่ จ.ตากและที่จะดำเนินการต่อไปในพื้นที่อื่นๆ
นอกจากนี้ธนาคารได้ประกาศนโยบายโครงการกรุงไทยสานฝันสู่บัณฑิตเพื่อมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีและประพฤติดีศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของรัฐด้วยโดยจะเริ่มมอบทุนการศึกษาในปี 2552
จากมิติการศึกษา ยังได้แตกแขนงเป็น โครงการหนังสือดีสำหรับเยาวชน คือ จัดมุมหนังสือดีให้แก่โรงเรียนต่างๆ เพื่อกระตุ้นและปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและนำไปสู่การเรียนรู้เพื่อฝึกเป็นนักเขียน ใน 'โครงการ KTB เยาวชนคนรักข่าว' ที่สนับสนุนให้เยาวชนที่มีใจรักในงานเขียนสู่ถนนนักข่าวโดยนักหนังสือพิมพ์มืออาชีพมาถ่ายทอดความรู้ด้านสื่อสารมวลชนและประสบการณ์ด้านการเขียนข่าวอย่างมีจรรยาบรรณ เป็นต้น
โครงการที่สร้างโอกาสให้แก่นักเรียนนักศึกษา รู้จักการทำธุรกิจอย่างมีแบบแผนและดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมได้แก่ 'โครงการกรุงไทยยุววาณิช' ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ให้ความรู้และตัดสินการประกวดการทำธุรกิจจำลองร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายอาชีพ
'โครงการกรุงไทยต้นกล้าสีขาว' ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้ความรู้และจัดประกวดการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับนักศึกษาในระดับปริญญาตรี
สำหรับลูกค้าและประชาชนทั่วไปก็มี 'โครงการ KTB Lecture Series' เพื่อขยายสังคมแห่งการเรียนรู้ให้กว้างขึ้นโดยธนาคารเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงในด้านเศรษฐกิจการเงินการธนาคารธุรกิจ สังคมศิลปวัฒนธรรมมาเป็นวิทยากร เพื่อให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ขณะเดียวกัน ธนาคารได้ใช้ศักยภาพในการเป็นสถาบันการเงินเข้าไปให้ความรู้ด้านการเงินการธนาคารใน 'โครงการธนาคารโรงเรียน' โดยช่วยวางระบบธนาคารโรงเรียนและฝึกให้เด็กเรียนรู้จากระบบจริง นอกจากนั้น ธนาคารยังได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใน 'โครงการสร้างวินัยการออม' ให้แก่ครูนักเรียนและผู้ปกครองด้วย
2.มิติสังคมและสิ่งแวดล้อม มีทั้งโครงการในการร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามนโยบายของธนาคาร และในส่วนที่พนักงานรวมกลุ่มกันจัดตั้งขึ้นเป็นชมรมกรุงไทยอาสา ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมในหลากหลายรูปแบบต่อจากปีก่อน อาทิ การปลูกป่าชายเลน การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ การจัดค่ายภาษาอังกฤษแก่เยาวชน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้นอกจากสังคมจะได้รับประโยชน์โดยตรงแล้วยังช่วยประสานสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรของธนาคารและบริษัทในเครือ ลูกค้าและเครือข่ายพันธมิตรในการร่วมทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วย อาทิ บริจาคทรัพย์ เพื่อจัดมุมหนังสือบริจาคทรัพย์และสิ่งของเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารที่จ.ตากการบริจาคเงินในโครงการกรุงไทยสนับสนุนอาหารกลางวันในโรงเรียนที่ขาดแคลน เป็นต้น
'โครงการกรุงไทยหัวใจสีเขียว' เพื่อปลูกฝังให้บุตรพนักงานในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นร่วมกิจกรรมทัศนศึกษาเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมีเป้าหมายจะขยายผลไปยังโครงการกรุงไทยสานฝันโรงเรียนดีใกล้บ้านด้วย อาทิ จัดกิจกรรมปลูกฝังให้เด็กนักเรียนของโรงเรียนในโครงการฯ มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำโครงการโรงเรียนเชิงนิเวศ (Eco-School) โดยธนาคารร่วมมือกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียนในโครงการฯ ให้มีความร่มรื่นสวยงามอันจะมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการกรุงไทย GrowingGreen นั้น มุ่งสร้างวัฒนธรรมสีเขียวให้เกิดขึ้นในองค์กรที่สำนักงานใหญ่และสาขาทั่วประเทศ เพื่อส่งผ่านจิตสำนึกในการตระหนักถึงภัยที่เกิดจากภาวะโลกร้อนไปสู่พนักงานลูกค้าและประชาชนซึ่งสามารถดำเนินการไปแล้วในสำนักงานใหญ่และอีก 80 สาขา
3.มิติศิลปวัฒนธรรม สืบเนื่องจากการได้ให้การสนับสนุนการจัดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติซึ่งจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยศิลปากรตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบันและได้ให้การสนับสนุนรางวัลPurchasingPrize แก่ศิลปินที่มีผลงานดีเด่นได้เป็นแรงบันดาลใจให้ธนาคารสร้างสวนประติมากรรมกรุงไทย ขึ้นที่ศูนย์ฝึกอบรมของธนาคารที่เขาใหญ่ อปากช่อง จ.นครราชสีมา และหอศิลป์กรุงไทยที่อาคารสาขาเยาวราช เพื่อเป็นสถานที่จัดแสดงผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าที่ได้รับรางวัลจากการประกวดซึ่งธนาคารมีอยู่ในครอบครองโดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเยี่ยมชมตั้งแต่ปลายปี 2551
ในโอกาสต่อไปธนาคารกรุงไทยจะจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ อาทิ การจัดประกวดวาดภาพศิลปกรรมเยาวชน การจัดกิจกรรมของชมรมกรุงไทยคนรักศิลป์ จัดนิทรรศการแสดงผลงานของศิลปินรับเชิญการจัดนิทรรศการภาพถ่ายสะสมวิถี ชุมชนเยาวราช นอกจากนั้นธนาคารจะร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยจัดโครงการอ่านบทกวี 'ความรักในสวนโลก' โดยศิลปินแห่งชาติและกวีร่วมสมัย ณ หอศิลป์กรุงไทย เป็นต้น
4.มิติกีฬา ด้วยศักยภาพของทีมฟุตบอลสโมสรธนาคารกรุงไทยซึ่งเป็นทีมที่อยู่ในอันดับต้นๆของฟุตบอลไทยแลนด์พรีเมียร์ลีกและเคยครองแชมป์มาแล้ว 2 สมัย จึงจัดทำ 'โครงการ KTB เยาวชนคนรักบอล' โดยการฝากสอนบุตรหลานของพนักงานและลูกค้าและนักเรียนของโรงเรียนในโครงการกรุงไทยสานฝันโรงเรียนดีใกล้บ้านบางโรงเรียนให้เรียนรู้พื้นฐานในการเล่นฟุตบอลอย่างถูกต้องฝึกทักษะ และประสบการณ์ในการเล่นบ่มเพาะความมีระเบียบวินัยรู้แพ้รู้ชนะและรู้จักให้อภัยซึ่งกันและกันอันจะทำให้เยาวชนมีพลานามัยแข็งแรงและสนใจในกีฬาเพิ่มขึ้นโดยจะสานต่อไปยังโรงเรียนในโครงการกรุงไทยสานฝัน โรงเรียนดีใกล้บ้านอื่นๆ ต่อไป
อานิสงส์ที่เกิดขึ้นจึงทำให้ธนาคารกรุงไทยได้รับรางวัลยกย่องมากมาย เฉพาะปี 2551 มีทั้งรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น รางวัลการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รางวัลการดูแลผู้ถือหุ้นดีเลิศ รางวัล Corporate Governance Report of Thai Listed Companies และ CSR Asia Business Barometer 2008 ประเมินให้เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่อันดับที่ 9 ของประเทศที่มีการเปิดเผยข้อมูลด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
ข้อคิด
ธุรกิจยุคใหม่ที่รู้จักปรับตัวให้ทันต่อกระแสโลกจึงไม่เพียงมุ่งดำเนินกิจการเพื่อความเป็นเลิศในการผลิตสินค้าและบริการ แต่การทำธุรกิจยังต้องคำนึงถึงการสร้างคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
แนวทางเช่นนี้แหละจะนำพาองค์กรให้พัฒนาสู่ความยั่งยืน (Sustainable Development) ซึ่งจะเป็นผลลัพธ์ขององค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม
เพราะหลักคิดของธุรกิจชั้นนำระดับโลกล้วนตระหนักแล้วว่าในยุคปัจจุบัน ที่โลกกำลังเผชิญวิกฤตภาวะโลกร้อน ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงผันผวน เนื่องจากการบริโภคและการผลิต รวมทั้งการดำเนินธุรกิจที่ไม่คำนึงถึงหลักความพอเพียงและความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เป้าหมายมุ่งแต่กำไรสูงสุด หรือบรรทัดสุดท้ายของงบการเงิน (Bottom Line) จึงใช้ไม่ได้กับยุคสมัยอีกต่อไป และจากนี้ไปธุรกิจจะสร้างความสมดุลของความเป็นเลิศโดยคำนึงถึง 3 ส่วน หรือ 3 บรรทัด หรือ (Triple Bottom Line) คือ มิติด้านเศรษฐกิจ ที่มุ่งกำไร (Profit) ด้านสังคม คือ สร้างคุณค่ากับคนคือพนักงาน (People) ให้มีคุณภาพและคุณธรรม และด้านสิ่งแวดล้อมของโลกเราใบนี้ (Planet)
|
|
|
|
|