นีลเส็นระบุผลสำรวจออนไลน์เรื่องการเลือกรับประทานอาหารนอกบ้าน พบประเภทอาหารเป็นปัจจัยแรกที่คนจะนึกถึงก่อนตัดสินใจ ขณะที่อาหารยอดนิยมของคนไทยยังคงเป็นอาหารไทยเหนือกว่าอาหารชาติอื่นๆ ส่วนความถี่ในการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านนั้น คนไทยกว่า 24 % เลือกทาน2ครั้งต่อสัปดาห์ และมื้อสุดฮิตสำหรับคนทานอาหารนอกบ้านคือมื้อเย็น
แม้ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกจะติดลบ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการรัดเข็ดขัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น อย่างไรก็ตามในส่วนของค่าใช้จ่ายเพื่อการกินอยู่นั้น ยังถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ ล่าสุดบริษัท นีลเส็น จำกัด เผยผลสำรวจออนไลน์เกี่ยวกับการทานอาหารนอกบ้านจากผู้บริโภคจาก 52ประเทศทั่วโลก พบว่าในส่วนของประเทศไทย เหตุผลแรกที่ใช้พิจารณาเลือกร้านอาหารนั้น คือ ประเภทของอาหารถูกเลือกเป็นเหตุผลแรก คิดเป็น 32 % ขณะที่เหตุผลด้านสถานที่ตั้งที่สะดวกต่อการเดินทางหรือใกล้บ้าน,ที่ทำงานหรือที่โรงเรียน คิดเป็น 15% ราคาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้บริโภคเลือกมาเป็นอันดับ 3 คิดเป็น 13 % ส่วนมาตรฐานที่ถูกสุขอนามัยถูกใช้เป็นอีกหนึ่งเหตุผล คิดเป็น 12%
เหตุผลต่อมาที่ผู้บริโภคเลือกร้านอาหารแต่ละร้านนั้น คือเป็นที่โปรดของสมาชิกภายในครอบครัว คิดเป็น 9% ส่วนการตกแต่งสภาพแวดล้อมของร้านมีผล 4% และ 3%ของผู้บริโภคคนไทยเลือกทานอาหารนอกบ้านเพราะไม่มีเวลาที่จะทำเอง เหตุผลอื่นๆที่รองลงมาจากนี้คิดเป็นสัดส่วน 1% คือเรื่องของการบริการ,อาหารเพื่อสุขภาพที่มีแนวโน้มจะเติบโตก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ผู้บริโภคจะใช้ตัดสินใจเพื่อรับประทานร้านอาหารนั้นๆหรือเรื่องของที่จอดรถ,สถานที่สุดโปรดของเพื่อน,โปรโมชั่นพิเศษ,การแนะนำปากต่อปากของเพื่อน,เป็นที่ใหม่ที่ได้รับความนิยม,ภาพลักษณ์ของร้าน และเหตุผลข้อหนึ่งที่ผู้บริโภคคนไทยไม่ได้เลือกเลยคือ บทความทางอินเทอร์เน็ต
ขณะที่ประเภทอาหารที่เลือกนั้น ผู้บริโภคคนไทยส่วนใหญ่ยังคงเลือกอาหารไทยให้เป็นอาหารยอดฮิตในใจ คิดเป็น 57 % ตามมาด้วยอาหารญี่ปุ่น 15 % ,อาหารประจำชาติและอาหารท้องถิ่น 12% ส่วนอาหารจีนได้รับความนิยมรองลงมา 5% และอาหารเวียดนาม,อเมริกันและอาหารอิตาเลียนได้รับความนิยมเท่ากันในสัดส่วน 2%
ปัจจัยที่ทำให้คนไทยหันมารับประทานอาหารญี่ปุ่นรองลงมาจากอาหารนั้น เนื่องมาจากปัจจุบันปริมาณร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีการแข่งขัน จากเดิมที่อาหารมีราคาแพง ก็มีราคาที่ถูกลง ตัวเลือกเพิ่มมากขึ้น สามารถหาทานได้ง่าย และมีแนวโน้มจะเติบโตเพรากระแสรักสุขภาพที่บูมขึ้นมา โดยผู้บริโภคบางส่วนหันมาทานอาหารญี่ปุ่น เพราะเชื่อว่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพนั่นเอง
เมื่อดูความถี่ในการเข้ามาใช้บริการร้านอาหาร พบว่า คนไทยออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน หนึ่งหรือสองครั้งต่อสัปดาห์ คิดเป็น 24 %,สองถึงสามครั้งต่อเดือน 19%,3ถึง6ครั้งต่ออาทิตย์ 15% ส่วนผู้บริโภคที่เลือกรับประทานอาหารนอกบ้านทุกวัน คิดเป็นสัดส่วน 12 % เท่ากับผู้บริโภคที่เลือกรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยกว่าเดือนละครั้ง ขณะเดียวกันก็มีผู้บริโภค 4% ที่รับประทานอาหารนอกบ้านมากกว่าหนึ่งครั้งต่อวัน และ 1% ไม่เคยรับประทานอาหารนอกบ้านเลย
นอกจากนั้นแล้ว ผลการสำรวจยังระบุว่า คนไทยนิยมไปทานอาหารนอกบ้านกับเพื่อนและครอบครัวมากที่สุด คิดเป็น 54% ส่วน18% ออกไปทานอาหารกับเพื่อนร่วมงาน และอีก 13% ไปทานกับคนรัก ส่วนมื้ออาหารที่ถูกฝากท้องที่ร้านอาหารมากที่สุด พบว่าคนไทยทานมื้อเย็นที่ร้านอาหารมากที่สุดคิดเป็น 59% ตามมาด้วยมื้อกลางวัน 39% และมื้อเช้าเพียง 2 % เมื่อเจาะไปที่แต่ละวันจะพบว่าคนไทยทานอาหารนอกบ้านในวันเสาร์ และวันจันทร์ถึงวันพฤหัส ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน 31% และ 30% ตามลำดับ
อุษณา จันทร์กล่ำ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการลูกค้า คอนซูเมอร์ รีเสริชร์ นีลเส็น ประเทศไทย กล่าวว่าท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่พฤติกรรมการรับประทานอาหารนอกบ้านของคนไทยยังคงมีอย่างต่อเนื่อง สาเหตุก็เพราะว่าสะดวกสบาย ราคาสมเหตุสมผล ร้านอาหารก็ควรจะเป็นสถานที่ที่ผู้บริโภคสามารถใช้บริการได้อย่างสะดวกสบายและอยู่ในราคาที่สมเหตุสมผล ทางที่จะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จก็คือ การเตรียมอาหารที่มีคุณภาพ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและราคาที่เหมาะสม และแนวโน้มของอาหารญี่ปุ่นที่เกี่ยวกับสุขภาพกำลังได้รับความนิยมรองจากอาหารไทย
|