|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
*ทิศทางการกู้บัลลังก์ครั้งใหม่ 'พิซซ่าฮัท'
*เริ่มต้นนับหนึ่งเมื่อคู่คิด 'ซีอาร์จี' ตีจาก
*ผู้ท้าชิงจะพลิกโฉมการแข่งขันที่กำลังเพลี่ยงพล้ำอย่างไร
ดูเหมือนไม่มีใครคาดคิดว่า หลังจากที่ 'พิซซ่าฮัท' หันหลังให้กับไมเนอร์ฟู้ด และพลิกบทมาเป็นคู่แข่งกันในตลาดแล้ว จะต้องเจอกับความท้าทายในการทำตลาด และกลับมาอยู่ในกระแสข่าวร้อนแรงที่มีการพูดถึงอีกครั้ง
เพราะทันทีที่เซ็นทรัล เรสตอรองตส์ กรุ๊ป หรือซีอาร์จี ผู้ดำเนินธุรกิจอาหารในเครือเซ็นทรัล ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 30% ได้งดต่อสัญญาการบริหารร้านแฟรนไชส์พิซซ่าฮัท นั่นหมายถึง การมีจุดอ่อนที่ทำให้ เดอะ พิซซ่า มีส่วนแบ่งตลาดอาจทิ้งห่างไปอีก เพราะความเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่มีจุดเริ่มต้นจากปี 2544 ที่ซีอาร์จี เปิดร้านพิซซ่าฮัทสาขาแรกที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว ได้สิ้นสุดลงเช่นกัน
นับว่าเหตุการณ์นี้สะเทือนต่อศักยภาพในการแข่งขันของแบรนด์อินเตอร์ 'พิซซ่าฮัท' ในแง่ของการเข้าถึงลูกค้า โดยล่าสุดนั้นซีอาร์จีปิดร้านพิซซ่าฮัทไปแล้ว 10 แห่ง และโอนคืนสาขาจำนวน 15 แห่งไปให้กับเจ้าของแบรนด์พิซซ่าฮัทคือ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ไปเมื่อปลายเดือนเมษายน 2552 ที่ผ่านมา
เหตุผลที่ซีอาร์จี คืนแบรนด์พิซซ่าฮัท 25 สาขา ให้กับยัมฯ ตามรายงานข่าวนั้น เพื่อเป็นทางออกธุรกิจที่ต้องเผชิญกับพิษเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องการเพิ่มกระแสเงินสดในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ปให้ดีขึ้น แม้ว่าจะต้องลดเป้าเติบโตรายได้ปีนี้เหลือ 8% จากเดิม 10% ทั้งนี้ ผลที่จะตามมาหลังจากคืนพิซซ่าฮัทให้ยัมฯ แล้วจะทำให้สูญรายได้ปีละ 300 ล้าน แต่กระแสเงินสดจะดีขึ้น และทำให้บริษัทลดภาระรับรู้ผลการขาดทุนจากร้านพิซซ่าฮัทไปได้ราว 40 ล้านบาท/ปี
ทั้งนี้ การสูญเสียรายได้และขาดทุนของซีอาร์จี ถือว่าอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ ซึ่งทำให้การทำตลาดของบรรดาผู้ที่อยู่ในธุรกิจ QSR: Quick Service Restaurant พยายามลบคำครหา ในความเป็นร้านอาหารจานด่วนที่เป็นจังก์ฟูด ด้วยการเพิ่มเมนูวาไรตี้ เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายทุกวัยในครอบครัว อาทิ การออกเมนู ปลา กุ้ง สลัดผัก ของยักษ์ใหญ่ในธุรกิจอย่าง แมคโดนัลด์เจ้าตลาดในกลุ่มเบอร์เกอร์ เคเอฟซี หรือล่าสุดการออกเมนู'ข้าวอบชีส'ของพิซซ่าฮัทครั้งแรกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อหาจุดลงตัวของคุณค่าอาหารที่ดีมีประโยชน์เข้ามาตอบสนองผู้บริโภคที่ห่วงใยสุขภาพ ซึ่งการปรับตัวรับกับกระแสผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และการสร้างสีสันทำให้ตลาดเคลื่อนไหวต่อเนื่อง ก็ทำให้ยอดขายของอาหารกลุ่มพิซซ่าฮัท ยังมีการเติบโตเฉลี่ยปีละประมาณ 15%
ชี้ชะตา 'พิซซ่าฮัท' แบรนด์แข็งแกร่งขึ้น
สำหรับแนวทางที่อยู่ภายใต้การบริหารของหัวเรือใหญ่ 'ศรัณย์ สมุทรโคจร' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ฯ หนังสือพิมพ์'ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์' ได้รับการติดต่อไปที่ยัมฯ แล้วได้รับคำตอบว่า ขณะนี้ผู้บริหารกำลังวางนโยบายในเรื่องการแก้ไขสถานการณ์ที่อาจจะมีปัญหาตามมาหลังซีอาร์จีไม่ต่อสัญญา และปิดสาขาที่ปิดตัวไป โดยเร็วๆ นี้จะมีการแถลงข่าวครั้งใหญ่ถึงทิศทางการทำตลาดของ 'ร้านพิซซ่าฮัท' ที่มีเหลืออยู่ 85 สาขา และอีก 15 สาขาที่โอนมาบริหารงานเองจากซีอาร์จี ส่วนการทำตลาดแบรนด์ดัง 'ร้านเคเอฟซี' จำนวน 130 สาขา ที่ซีอาร์จีมีการทำสัญญากับยัมฯ นั้นยังคงดำเนินต่อไปได้ดี
ทั้งนี้ การหมดสัญญาการบริหารร้านแฟรนไชส์พิซซ่าฮัท กับซีอาร์จี ไม่ได้เกิดจากปัญหาขัดแย้งกัน แต่การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้บริษัทกลับมามีบทบาทเป็นผู้บริหารงานร้านพิซซ่าฮัทเองทั้งหมด จะช่วยให้การบริหารงานและสร้างแบรนด์มีความแข็งแกร่งมากขึ้น รวมทั้งมีช่องทางขยายสาขาใหม่ด้วยตัวเองได้ดีขึ้นเช่นกัน ขณะเดียวกัน การขยายสาขาของพิซซ่าฮัท ในต่างจังหวัดที่ผ่านมา จะพยายามยึดพื้นที่ใหม่ๆ โดยเกาะติดไปกับห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น โดยมีตั้งแต่ ร้านพิซซ่าฮัท สาขาศูนย์การค้าจังซีลอน ป่าตอง ภูเก็ต และสาขาที่ 'ศูนย์การค้า เดอะ พลาซ่า เชียงใหม่' ในย่านไนท์บาซาร์ ที่เป็นธุรกิจของกลุ่มบริษัท ทีซีซี กรุ๊ป ของ เจริญ สิริวัฒนภักดี
ขณะที่ทางด้านการเคลื่อนไหวของคู่แข่งที่ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นร้อนนี้ อนิรุทธ์ มหธร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บมจ.ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ผู้ดำเนินธุรกิจร้าน เดอะ พิซซ่า คอมปะนี มองว่าการเปลี่ยนแปลงด้านจำนวน 10 สาขาที่ปิดตัวลงไป ถือว่าไม่ได้พลิกโฉมการแข่งขันของตลาดพิซซ่าให้มีความแตกต่างไปจากเดิม แต่อาจทำให้พิซซ่าฮัทเสียโอกาสการขายในสาขาดังกล่าว ซึ่งคาดว่าลูกค้าจะมาใช้บริการของ เดอะ พิซซ่า ที่มีอยู่ในโลเกชั่นเดียวกันแทน ซึ่งจะส่งผลให้มียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 10-15%
ยัมฯ ปูพรมลงทุน ล่วงหน้า 4 ปี
เส้นทางการกู้สถานการณ์และทวงบัลลังก์คืนของ พิซซ่าฮัท ในวิกฤตรอบนี้อาจไม่หนักหนาสาหัสเท่าครั้งแรก ที่มีกรณีพิพาทต้องขึ้นศาลฟ้องร้องกับไมเนอร์ฟู้ด เพราะก่อนหน้านี้ยัมฯ เริ่มมีสัญญาณและสิ่งที่บ่งบอกถึงการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ โดยมีการเพิ่มงบการลงทุนที่มากขึ้นและสวนทางกับเศรษฐกิจ และให้ความสำคัญกับการขยายสาขาที่เพิ่มขึ้น และการทำตลาดดิลิเวอรี่ที่มีจุดบริการครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ถึง 92% จากกว่า 70 สาขา ทำให้แนวรุกในปี 2551 นั้นจะมุ่งขยายสาขาไปที่ตลาดต่างจังหวัด ซึ่งทำให้ยอดขายของพิซซ่าฮัทที่มาจากบริการส่งถึงบ้าน หรือดิลิเวอรี่ จากเดิม 55% ปรับมาเป็นสัดส่วน 60% ส่วนสาขานั่งทานในร้าน มีสัดส่วน 40% จากเดิม 45%
หากกางแผนดูการลงทุนย้อนหลังของ ยัมฯ จะพบว่ามีการวางแผนการลงทุนด้านการขยายสาขาไว้ในระยะยาวและมีความชัดเจน นับตั้งแต่ในปี 2550 ที่ยัมฯ วางแผนไว้สำหรับการลงทุนในช่วงเวลา 4 ปีนั้นจะใช้เงินลงทุนไปถึง 2 พันล้าน หรือเฉลี่ยปีละ 600 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนเพื่อปรับปรุงร้านพิซซ่าฮัทและขยายสาขาให้มีรูปแบบหลากหลาย ไม่อยู่เฉพาะในห้างสรรพสินค้า แต่เน้นสแตนด์อะโลนที่อยู่ในอาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นจาก 75 สาขาเป็น 200 สาขา และเคเอฟซีจาก 306 สาขา เป็น 500 สาขาทั่วประเทศ พร้อมตั้งเป้าหมายในปี'53 จะมีอัตราการเติบโต 2 เท่า ทั้งในแง่บุคลากร ผลกำไร หรือมียอดขายเติบโตเฉลี่ยปีละ 20-25%
ยิ่งไปกว่านั้น ตั้งแต่ปลายปี 2551 ออกมาประกาศเพิ่มงบลงทุนสำหรับปี 2552 เพื่อจัดกิจกรรมการตลาดกระตุ้นยอดขายตลอดปี และเปิดสาขาใหม่มากสุดเป็นประวัติศาสตร์รอบ 30 ปี นับตั้งแต่เข้ามาทำธุรกิจในไทยโดยทุ่มงบ 1,800 ล้านบาท แบ่งเป็นร้านพิซซ่าฮัท 300 ล้านบาท เพื่อใช้ในการเปิดสาขาใหม่อีก 20 สาขา จากเดิมมีทั้งหมด 87 สาขา และงบการตลาดอีก 100 ล้านบาท เพื่อสื่อสารกลยุทธ์การตลาดพิซซ่าและแป้งพิซซ่าที่มีความหลากหลายขึ้น ที่เหลือเป็นการลงทุนร้านเคเอฟซีประมาณ 1,500 ล้านบาท
ล่าสุดเมื่อต้นปี 2552 ที่ผ่านมา ศรัณย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าการใช้งบ 1,800 ล้านบาท เพื่อขยายสาขาร้านเคเอฟซีเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 90 สาขา ขณะที่ร้านพิซซ่าฮัท ขยาย 22 สาขา โดยแบ่งเป็นสัดส่วนงบลงทุนของซีอาร์จี 30% และบริษัทลงทุนเอง 70%
ซีอาร์จี วางเป้า ขึ้นเบอร์หนึ่ง QSR
การยุติสัญญาแบบฟ้าผ่าในวันนี้ แม้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากผู้บริหาร ยัมฯ แต่หากติดตามการทำธุรกิจ QSR ของซีอาร์จี ที่ผ่านมา ที่มีร้านอาหารในเครือทั้งหมด 6 แบรนด์ ประกอบด้วย แบรนด์ เคเอฟซี พิซซ่าฮัท บาสกิ้น ร้อบบิ้นส์ มิสเตอร์โดนัท อานตี้แอนส์ และเปปเปอร์ลันช์ โดยส่วนใหญ่มีความเคลื่อนไหวในลักษณะขยายสาขาเพิ่ม และบางส่วนก็ปิดสาขาไปบ้างตามยอดขายและทำเล โดยปลายปี 2551 ซีอาร์จีเริ่มปิดสาขาพิซซ่าฮัทไป 1 แห่งเพราะหมดสัญญาเช่าพื้นที่ นับว่าจุดแข็งของซีอาร์จีนั้น มีข้อได้เปรียบที่ได้จากการเป็นบริษัทในเครือเซ็นทรัล ทำให้สามารถเปิดสาขาไปกับห้างเซ็นทรัลทุกแห่ง ส่วนการขยายสาขาไปเจาะตลาดต่างจังหวัดนั้น จะขยายไปตามศูนย์การค้าและไฮเปอร์มาร์เกต ที่ไปเปิดตามต่างจังหวัดมากขึ้น
ส่วนการขยายธุรกิจซึ่งเป็นแบรนด์ใหม่ล่าสุดนั้น มีเพียงการซื้อลิขสิทธิ์ร้านอาหารญี่ปุ่นจากบริษัท ซันโตรี่ เอฟ แอนด์ บี อินเตอร์เนชั่นแนล แบรนด์เดียวคือ 'เปปเปอร์ลันช์' ที่วางตำแหน่งเป็นอาหารญี่ปุ่นแนวใหม่ จำหน่ายทั้งข้าวและสเต๊กรูปแบบญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม มีแนวทางสำหรับการมองหาตลาดอาหารใหม่ๆ ด้วยการซื้อลิขสิทธิ์แฟรนไชส์เข้ามาทั้งประเภทเฮฟวี่ฟูดหรือไลต์ฟูด เพื่อมาเสริมพอร์ตโฟลิโอของซีอาร์จี
นับว่านโยบายดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของ สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ประธานของกลุ่มโรงแรมและอาหารในเครือเซ็นทรัล ที่เน้นการทำให้เติบโตทั้ง2 ด้าน คือ 1.การเติบโตแบบแนวลึกหรือเวอร์ติคอล (Vertical) ในด้านแบรนด์เก่าที่ต้องขยายต่อไป และ 2.การเติบโตแบบแนวกว้าง หรือฮอริเซนทอล (Horizental) ด้วยการขยายแบรนด์ใหม่เข้าสู่ตลาด ที่สำคัญคือการ ประกาศพร้อมจะขึ้นเป็นที่ 1 ในธุรกิจ QSR ของ ธีรเดช จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ซึ่งเป็นเป้าหมายหลังจากการรีแบรนดิ้งภาพลักษณ์ใหม่ 'CRG' เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา และในระยะหลังเริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างคอร์ปอเรตแบรนด์ของ ซีอาร์จี ให้โดดเด่นเป็นที่รู้จักยิ่งขึ้น รวมถึงมีรายงานข่าวเมื่อปีที่แล้วว่า ซีอาร์จี มีการเจรจาซื้อแบรนด์อาหารดัง 2 แห่ง รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายบริหารและการเงิน บมจ.โรงแรมเซ็นทรัล พลาซา ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อแบรนด์อาหารระดับโลก 2 แห่ง คาดว่าจะสามารถสรุปได้ภายในไตรมาส1ของปีนี้
ทั้งนี้ การกระโจนลงมาเล่นในตลาด QSR แบบจริงจัง นั่นหมายถึงจะต้องเผชิญกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำตลาดมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารกลุ่มยัมฯ, แมคโดนัลด์ของเครือเมเจอร์ กระทั่งกลุ่มไมเนอร์กรุ๊ป ผู้บริหารกิจการฟาสต์ฟูด เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, ซิซซ์เล่อร์, เบอร์เกอร์คิง, ไอศกรีมสเวนเซ่นส์ และแดรี่ควีนส์ ซึ่งก่อนที่ ซีอาร์จี จะซื้อเฟรนไชซี 'ร้านพิซซ่าฮัท'ของกลุ่มยัมฯ ไปบริหารนั้น ถือว่าซีอาร์จีมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไมเนอร์ฟู้ด เพราะเคยซื้อเฟรนไชซี 'เดอะ พิซซ่า คอมปะนี' มาก่อน 'พิซซ่าฮัท'
ส่วนการก้าวขึ้นสู่บัลลังก์เบอร์หนึ่งของ ซีอาร์จี ที่ผ่านมานั้น นับว่ามีบทเรียนและประสบการณ์ที่เหลือเฟือจากการบริหารมาหลากหลายแบรนด์ ทั้งประสบความสำเร็จ และไม่เข้าเป้าอย่าง ไก่ทอดเคเอฟซี เบอร์เกอร์คิง มิสเตอร์โดนัท และ 'สเต็กฮันเตอร์' ที่ยกธงขาวปิดตัวไปเมื่อ 2 ปีก่อน ไม่แน่ว่าประสบการณ์ตรงและบทเรียนเหล่านี้อาจจะทำให้ 'ซีอาร์จี' ขึ้นมาผงาดเป็นคู่แข่งของ 'ยัม เรสเทอรองตส์' ได้ไม่ยาก
PIZZA WAR ระเบิดลูกแรก พิซซ่าฮัท
หากย้อนหลังไปดูการแข่งขันของตลาดพิซซ่าเมื่อปลายปี 2542 การทำตลาดและบริหารร้านพิซซ่าฮัทในประเทศไทย เคยเผชิญกับเหตุการณ์ที่มีในลักษณะคล้ายเคียงกัน ในแง่ของการสูญเสียทางด้านโลโกชั่นสาขาที่ดี หลังสัญญาการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายคือไมเนอร์ฟู้ดได้สิ้นสุดลง
บทสรุปจากความขัดแย้งกันระหว่าง วิลเลียม อี.ไฮเนคกี้ ประธานไมเนอร์ฟู้ด กับไทรคอน โกลบอล เรสเทอรองตส์ ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์พิซซ่าฮัทในเวลานั้น ก็ทำให้ไมเนอร์ฟู้ดเป็นผู้ได้สิทธิ์ไปทำตลาด พร้อมๆ กับในปี 2544 ยอมสูญเสียรายได้ถึง 200 ล้านบาท ในการปิดให้บริการ 6 สัปดาห์ เพื่อปรับเปลี่ยนโฉมร้านใหม่ และปลดป้าย 'พิซซ่าฮัท'ลงจากสาขาเก่า 116 สาขา และเปลี่ยนเป็นแบรนด์ใหม่ 'เดอะ พิซซ่า คอมปะนี'
เมื่อเปรียบมวยกันในตอนนั้น ถือว่าพิซซ่าฮัท ที่ได้แบรนด์ไปทำตลาดยังคงได้เปรียบในเรื่องความแข็งแกร่งแบรนด์ที่ผู้บริโภคจดจำและรู้จักเป็นอย่างดี ส่วนไมเนอร์ฟู้ด ต้องใช้เวลาในการสั่งสมชื่อเสียงแบรนด์ใหม่ของตัวเอง 'เดอะ พิซซ่า คอมปะนี' ให้เป็นที่รู้จักคุ้นเคย แต่ก็มีความได้เปรียบที่ได้ครอบครองจุดให้บริการเข้าถึงลูกค้าครอบคลุมพื้นที่จากเครือข่ายสาขาของร้านพิซซ่าฮัทที่มีความสำเร็จรูปและปูทางไว้อย่างสวยหรู
ทว่าหลังจาก พิซซ่าฮัท กลับมานับหนึ่งใหม่ และเริ่มจะตั้งตัวได้ในปี 2543 นั้น การแข่งขันรอบใหม่ของสมรภูมิพิซซ่าในไทยก็กลับมาเป็นความเข้มข้นอีกครั้ง โดยเป็นการต่อกรกันชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน ของ 2 ยักษ์ใหญ่ในตลาดระหว่าง 'เดอะ พิซซ่า ของไมเนอร์ฟู้ด' กับ 'พิซซ่าฮัทของยัมเรสเทอรองตส์'
จากการต่อสู้ด้วยสงครามส่งเสริมการขาย ลดกระหน่ำโปรโมชั่นซื้อ 1แถม 1 และความพยายามในการสร้างความถี่กระตุ้นให้ผู้บริโภคมาใช้บริการเพิ่มขึ้น ด้วยเมนูที่มีความหลากหลายและเปิดตัวใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งสปาเกตตี สลัด ปีกไก่ และที่เหมือนจะตั้งใจออกมาชนโครมกันเห็นๆ นั้นเห็นจะเป็นการเปิดตัวพิซซ่าหน้าใหม่ ซึ่งส่งผลทำให้เกิดเหตุการณ์งัดข้อกันทางด้านเมนูอย่างดุเดือด ด้วยข้อพิพาทกันถึงการลอกเลียนแบบของฝั่งตรงข้าม
กระทั่งถึงจุดเปลี่ยนไปเป็นการแข่งขันที่ร้อนระอุมากขึ้น ด้วยความรวดเร็วในการบริการดิลิเวอรี่ ส่งถึงบ้าน ผ่านกลยุทธ์สื่อสารที่พยายามตอกย้ำตัวเลข 4 หลัก พิซซ่า คอมปะนี 1112 และ 1150 พิซซ่าฮัท แม้ว่าการเผชิญเหตุการณ์ครั้งนี้ จะทำให้พิซซ่าฮัท ยังคงเหลือสาขาในปัจจุบันที่เป็นของยัมฯ บริหารและทำตลาดเองอีก 85 สาขา ส่วนร้านพิซซ่าฮัทที่มีการบริหารและทำการตลาดโดยซีอาร์จีจำนวน 25 สาขา จะถูกยกเลิกไปเพียง 10 สาขา เฉพาะที่เป็นโลเกชั่นของซีอาร์จีในศูนย์การค้าเซ็นทรัล
แต่นั่นก็ทำให้พิซซ่าฮัท ที่เป็นเบอร์รองจะต้องสูญเสียทำเลที่ดีไป ขณะที่คู่แข่งทิ้งห่างด้วยส่วนแบ่งตลาด 50% จากตลาดรวมมูลค่า 4,500 ล้านบาท และกำลังเดินไปข้างหน้าด้วยกลยุทธ์การตลาดแบบครบเครื่องเพื่อปั้นโลคัลแบรนด์สู่อินเตอร์แบรนด์ ผ่านกีฬามอเตอร์สปอร์ตสร้างทีมแข่งของตัวเองขึ้นมา ในนาม 'เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ทีม' เพื่อลงในสนามแข่งรถระดับโลก พร้อมๆ กับกลยุทธ์ขยายสาขาด้วยการขายเฟรนไชซีและบริหารเองทั้งต่างประเทศ และในประเทศที่มีสาขา 204 สาขา
|
|
|
|
|