ถ้าพูดถึงพัฒนาการของธุรกิจข่าวนั้น แต่แรกข่าวจะออกมาในลักษณะข่าวราชการ
ทางราชการมีอะไรก็แจ้งให้ชาวบ้านทราบ เช่น ราชกิจจานุเบกษา ต่อมารัฐยอมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเองหรือคนอื่น
ๆ ทำข่าวในลักษณะที่แตกต่างไปจากข่าวราชการโดยปกติ ข่าวจึงเริ่มมีลักษณะ
CONTROVERSIAL มีข้อโต้แย้งซึ่งทำให้น่าติดตาม เช่น ข่าวเรื่องข้อกล่าวหารัฐมนตรีบางคนที่เกี่ยวข้องกับบัญชีเงินฝากธนาคารในต่างประเทศ
เป็นข่าวที่ต้องพิสูจน์ต้องติดตาม การติดตามข่าวเริ่มเป็นนิสัยของคนในสังคมที่ต้องหาซื้อมาเพื่อให้เกิดความคิดที่ก้าวหน้าทันสมัย
ธุรกิจข่าวก็เริ่มเกิดขึ้น
เมื่อพิจารณาถึงลักษณะประชากรประกอบ เมืองเติบโตขึ้น ลักษณะของสังคมชนบทที่เป็นสังคมค่อนข้างนิ่งอยู่กับที่
เมื่อจำนวนประชากรมากขึ้นสภาพการไหลเวียนพบปะที่เรียก INTERACTION เกิดขึ้น
ก็ทำให้เกิดกิจกรรมในสังคมต่าง ๆ ซึ่งเป็นข่าวได้ เช่น ข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ
ข่าวสังคม ข่าวสตรี ข่าวเด็ก ข่าวบันเทิง ฯลฯ และตัวข่าวเองก็พัฒนาขึ้นด้วยจากเพียงข่าวที่บอกข้อเท็จจริงว่าอะไรเกิดขึ้น
ก็มีการเชื่อมโยงข่าวต่าง ๆ เข้าด้วยกันว่ามันมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ อย่างไร
เช่น เรื่องที่เกิดขึ้นที่ชายแดนสัมพันธ์กับเรื่องในรัฐสภาอย่างไร ขอบเขตของข่าว
ความใฝ่รู้ใฝ่เห็นขยายตัวออกไป ข่าวต่างประเทศเข้ามามากขึ้น การเติบโตของข่าวจึงพัฒนาจากลักษณะนี้
พอมาถึงจุดนี้สื่อต่าง ๆ ที่รวมข่าวหลาย ๆ อย่างเข้าไว้ด้วยกันก็จะแยกเป็นส่วน
ๆ ไปเช่น หนังสือพิมพ์ก็มีข่าวเศรษฐกิจ ข่าวการเมือง ข่าวสตรี ฯลฯ วิทยุ
โทรทัศน์ก็เติบโตในลักษณะเดียวกัน เราจะพบว่าขณะนี้วิทยุ โทรทัศน์ มีการแยกข่าวเป็นส่วน
ๆ มีข่าวการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม บันเทิง ตามกันมา
ยิ่งเมื่อขบวนการสื่อสารทันสมัยยิ่งขึ้น ทำให้ข่าวสดขึ้น น่าเสพขึ้น ความน่าสนใจของข่าวมีมากขึ้น
ทั้งในตัวเนื้อข่าว ที่มีความสด ความลึก และครอบคลุมเนื้อหาข้อเท็จจริง ความคิดเห็น
การเชื่อมโยงข้อมูลอื่น ๆ เกิดการแข่งขันในการทำข่าวให้น่าสนใจ การทำข่าวจึงเป็นธุรกิจจริงจังขึ้น
เพราะฉะนั้นเมื่อเราอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ หรือดูโทรทัศน์ นอกจากข่าวแล้วโฆษณาก็ตามมา
ผมสนับสนุนอย่างยิ่งในการทำรายการข่าว ผมพูดเรื่องนี้ใน กบว. อย่างการทำข่าวโทรทัศน์เดี๋ยวนี้เขาใช้เงินแพงมาก
แพงกว่าทำละครเยอะ เพราะฉะนั้นถ้ารัฐสนับสนุนเขาไม่ได้ ต้องอนุญาตให้เขาทำโฆษณาได้เต็มที่
เขาจะได้หาเงินมาจุนเจือการทำข่าวให้ดีขึ้น ซึ่งในขณะนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าต้องเป็นเช่นนั้น
เมื่อข่าวเป็นธุรกิจมากขึ้น การแข่งขันก็มีมากขึ้นทั้งในตัวข่าวเอง ซึ่งต้องมีทั้งความกว้าง
ความลึก ความสด และรวดเร็ว การแข่งขันทางด้านการตลาด เช่น การครอบคลุมพื้นที่การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ได้มาก
และที่สำคัญการแข่งขันกันที่ศิลปะการนำเสนอก็ตามมา
ยกตัวอย่างเช่น ข่าวโทรทัศน์ ซึ่งขณะนี้มีการแข่งขันกันมาก ในบางช่องที่เป็นของรัฐมีการร่วมกับเอกชนทำข่าว
เช่น ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. กับบริษัทแปซิฟิคฯ ผมว่าเขามีความคล่องตัวดี ระบบเอกชนทำให้ความคล่องตัวดีมาก
เอื้อที่จะตามล่าข่าวได้รวดเร็วกว่าการทำงานของรัฐวิสาหกิจซึ่งต้องรออนุมัติเป็นขั้น
ๆ และข่าวนี้จะเหมาะไม่เหมาะก็ต้องพิจารณาอีก แทนที่จะไปเอาข่าวมาก่อนแล้วดูว่าเหมาะไม่เหมาะ
มันเลยช้าไปอึดใจ นอกจากนี้ทางเอกชนเขาก็มีมุมมองที่ต่างไปจากแนวปฏิบัติของราชการ
ทำให้ได้ประเด็นข่าวที่แปลกแยกออกไป
เมื่อย้อนมาพูดถึงการแข่งขันกันในตัวข่าว ผมขอใช้คำ 2 คำ คือ ข่าวจิก กับข่าวเจาะ
"ข่าวจิก" มันเหตุการณ์อะไรก็ได้ที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนั้นก็จิกติดเนื้อเป็นข่าวเดี๋ยวนั้นเลย
แต่ "ข่าวเจาะ" เป็นลักษณะภาพมลังเมลืองคลุมเครือไม่ชัดเจนว่ามันเกิดอะไรขึ้น
เช่น ข่าวเครื่องราชฯ มีการเสาะหารายละเอียดที่ลึกลงไป ซึ่งการแข่งขันกันทำข่าวให้มีคุณภาพเช่นนี้ทำให้ข่าวประเภทเชย
ๆ ข่าวที่ขายไม่ออกค่อย ๆ หมดไป เช่น ข้าวที่ใช้ภาษาเยิ่นเย้อ ข่าวคนฟังไม่รู้เรื่องบอกแต่เรื่องอนาคต
สัญญิงสัญญาซึ่งจับรูปธรรมไม่ได้ เช่น ข่าวรัฐบาลจะทำอย่างโน้นจะทำอย่างนี้ซึ่งเดี๋ยวนี้ประชาชนเขาไม่สนใจกันแล้ว
สำหรับความกว้างขวางในการครอบคลุมพื้นที่การเข้าถึงประชาชนนั้น ในสื่อโทรทัศน์ตามแผนพัฒนาฯฉบับที่
6 จะมีการสร้างสถานีโทรทัศน์ย่อยอีกหลายสิบสถานี และเมื่อช่อง 11 เปิดทำการอย่างจริงจัง
สถานีในต่างจังหวัดของกรมประชาสัมพันธ์ที่ อ.ส.ม.ท. เช่าอยู่ จะต้องโอนไปขึ้นกับ
ช่อง 11 เพราะฉะนั้น อ.ส.ม.ท. จะต้องสร้างสถานีข่ายของตัวเองมากขึ้น รวมทั้งระบบดาวเทียมด้วย
เรื่องนี้เป็นการแข่งขันแย่งชิงประชาชน ในประเด็นนี้ถ้ามองเชิงธุรกิจว่าเมื่อมีสถานีมากขึ้น
ตลาดที่เชื่อว่ามีเนื้อยู่ก้อนเดียวคืองบโฆษณาซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 6 พันล้านบาทต่อปี
จะต้องเอามาเฉลี่ยให้แต่ละสถานี ซึ่งแต่ละสถานีก็จะได้ชิ้นส่วนนั้นน้อยลง
นี่ก็เป็นหลักเหตุผลปกติ
แต่ถ้าจะมองอีกแง่หนึ่ง เมื่อมีสถานีมากขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ได้มากขึ้นก็จะเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น
พฤติกรรมในการบริโภคมีมากขึ้น และจะไหลกลับมาที่สถานีมากขึ้น และสถานีก็จะส่งกลับไปที่ผู้บริโภคมากขึ้นในด้านรายการที่มีคุณภาพ
ผมว่ามองอย่างนี้จะครบวงจรมากกว่า ซึ่งรายการข่าวก็จะได้ส่วนแบ่งก้อนนี้เพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับศิลปะการนำเสนอผมว่าขณะนี้ดีกว่าเมื่อก่อนมาก มีหนักเบา มีเทคนิคที่แปลกไปกว่าเก่า
แต่เมื่อเทียบโทรทัศน์ทั้ง 4 ช่องขณะนี้เหมือนกันเกินไป รูปแบบการนำเสนอมีคนนั่งหลาย
ๆ คน อ่านหน้าเคาน์เตอร์ แล้วมีรูปอะไรก็แล้วแต่เป็นฉากหลัง ความคิดเหมือนกันหมด
มันไม่หลากหลายเท่าที่ควร จำได้ว่าช่อง 9 ทำเรื่องนี้ก่อนใคร ผมว่าตอนนี้น่าจะถึงเวลาแล้วที่แต่ละช่องต้องหาจุดของตนว่าจะไปทางไหน
ซึ่งก็มีประเด็นในศิลปะการนำเสนออยู่ว่า ในข่าวโทรทัศน์หรือแม้จะเป็นข่าวอะไรก็แล้วแต่
มันมีความจริงที่เกิดขึ้น ความจริงอันนี้ยิ่งได้มาสดเท่าไร ยิ่งรู้ผิวเผิน
ว่าที่มาของเหตุการณ์นี้มาจากอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นเราไม่ควรด่วนสรุปหรือให้ความคิดเห็นสั้น
ๆ หรืออ่านอย่างมีอารมณ์ประกอบจนเกินไป ซึ่งทั้ง 3 ลักษณะนี้อาจแสดงถึงอะไรในใจบางอย่าง
อคติบางอย่างของผู้นำเสนอ ผมว่าอันนี้ต้องระวัง เหตุที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก็ตรงนี้
รายงานข่าวต้องเสนอไปตามข้อเท็จจริงไม่ควรไปมีความเห็นที่ตรงนั้น เพราะยังไม่รู้ว่าเบื้องหลังจริง
ๆ มันคืออะไร ตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในเรื่องของจรรยาบรรณ
ถึงแม้ข่าวจะเป็นธุรกิจ มีการแข่งขันด้านต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว แต่ผมก็คิดว่าการแข่งขันเป็นสิ่งที่ดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันด้านศิลปะการสื่อสาร จะทำให้ประชาชนสนใจข่าวมากขึ้น
พาตัวเองเข้ามีส่วนร่วมในความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมในสังคมมากขึ้น ผมคิดว่าข่าวเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการสื่อสารที่จะทำให้คนไทยพัฒนาประชาธิปไตยและรักบ้านเมืองมากยิ่งขึ้น
ถึงแม้ข่าวจะเป็นธุรกิจ และมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับข่าว ผมก็ไม่อยากให้บรรยากาศสมัยก่อนที่มีการรับจ้างเขียนข่าวกลับมาอีก
ผมอยากให้ผู้ทำธุรกิจข่าวทำข่าวด้วยศิลปะการสื่อสารที่ดี เมื่อถึงจุดนี้แล้วก็จะได้รับการ
SUPPORT ด้วยโฆษณาเอง ไม่ใช่เอาเวลาหรือเนื้อที่ไปขายให้กลุ่มผลประโยชน์และเอาข่าวของกลุ่มประโยชน์มานำเสนอ