Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2530
พนักงานหญิงไทยฟ้องสายการบินซาอุดิฯ             
โดย ไพโรจน์ จันทรนิมิ
 


   
search resources

สุวมิตร วิเชียร
Aviation
Law
สายการบินซาอุดิอาระเบีย




นี่เป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งที่เครดิตทางสังคมของเธอถูกย่ำยีเสียจนยับเยินพร้อมการคาดโทษให้ต้องรับความไม่บริสุทธิ์อย่างน่าอดสูใจ เมื่อเป็นเช่นนี้เธอจึงต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องความชอบธรรมและคาดหวังว่า ความโหดร้ายคงไม่ทารุณกรรมมากจนเกินไปนัก !!!

เรื่องโดย ไพโรจน์ จันทรนิมิ

สุวมิตร วิเชียร เป็นผู้หญิงเล็ก ๆ คนหนึ่งอายุใกล้ 40 ปี เป็นปุถุชนที่รู้จักเจ็บ รู้จักหัวเราะ ร้องไห้ ปิติยินดี เศร้าสลดหดหู่กับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามา แต่เหนืออื่นใดเธอปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี

14 กุมภาพันธ์ 2530 "วันแห่งความรัก" ขณะที่หลายคนอบอุ่นกับความปิติสุข แต่ผู้หญิงคนหนึ่งเช่นเธอกลับต้องจมอยู่กับความปวดร้าว เฝ้าถามตัวเองตลอดเวลาที่อ่านจดหมายแจ้งให้ออกจากงานว่า ทำไมบำเหน็จแห่งความรักความภักดีที่เธอมีต่อองค์กรนานถึง 7 ปีเต็มจึงต้องจบลงด้วยความอัปยศอดสูอะไรเช่นนั้น !?

สุวมิตร วิเชียร อดีตนักเรียนทุนเอเอฟเอส.บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยความเก่งด้านภาษาทำให้ต้องพลัดเข้าสู่วงการแอร์ไลน์โดยเจตนา เธอเริ่มงานนี้ครั้งแรกกับสายการบินอินเดียในปี 2519 ด้วยอัตราค่าจ้าง 3,300 บาทก่อนที่จะหยุดลงที่หลัก 5,500 บาทในปี 2523

เพราะช่วงเวลานั้น สายการบินซาอุดิอาระเบียได้เปิดเส้นทางบินเข้ามาประเทศไทย เธอจึงตัดสินใจลาออกมาร่วมหัวจมท้ายด้วยตั้งแต่ 7 พฤษภาคม 2523 ในแผนกสำรองตั๋วและที่นั่ง (TEICKET AND RESERVATION) โดยได้รับเงินเดือนขั้นแรก 12,500 บาท ซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างที่สูงกว่าสายการบินทุกสาย

หน้าที่การงานของเธอเติบโตตามลำดับ เดือนพฤศจิกายน 2526 ได้เลื่อนขึ้นเป็น SUPERVISOR CUSTOMER SERVICE และเดือนสิงหาคม 2527 ก็ได้รับแต่งตั้งเป็น SENIOR SUPERVISOR SALES ในเดือนพฤศจิกายน 2527 เมื่อหัวหน้าแผนกบุคคลลาออกไปจึงได้รับมอบหมายความรับผิดชอบจากนายคาลิด อดีตกรรมการผู้จัดการสาขาประเทศไทย (COUNTRY MANAGER) ให้ลงไปช่วยงานด้านนี้อีกหน้าที่หนึ่ง

ดูไปแล้ว ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ อย่างเธอควรที่จะก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีสามารถถีบอัตราเงินเดือนขึ้นมาได้ถึง 22,293 บาท ไม่นับรวมค่าพาหนะที่แยกออกไปอีกทางหนึ่ง แต่อย่างว่านั่นแหละชะตาชีวิตคนเราเคราะห์หามยามร้ายในยามรุ่งเรืองบางคราวก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

พระเจ้าเล่นตลกเอากับเธออย่างจริงเมื่อนายคาลิด นายเก่าได้รับคำสั่งให้ย้ายกลับไปประจำเมืองไฮย์ ซาอุดิอาระเบีย และทางสำนักงานใหญ่ย้ายเอานายตาลาล เอส.อารรีรี่ จากเมืองไนรูบี ประเทศคีนยา เข้ามารักษาการแทนในเดือนกันยายน 2529

ทันทีที่นายตาลาล เอส.อารีรี่ เข้ามารับตำแหน่งก็สั่งย้ายเธอกลับไปยังแผนกสำรองตั๋ว และที่นั่งตามเดิม โดยยังคงตำแหน่งหัวหน้าแผนกฯ เอาไว้ให้ การย้ายกลับมาครั้งนี้กลายเป็น "จุดบอด" ที่ทำให้เธอต้องถูกกระแทกกดดันในเวลาต่อมา เนื่องจากช่วงที่ไปทำงานด้านบุคคลทำให้เหินห่างงานด้านขายตั๋วไปมาก จึงต้องกลับมาเรียนรู้ใหม่ และดูยุ่งยากขึ้นเมื่อการทำงานของพวกซาอุฯ นั้นพึงพอใจที่จะเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เกือบทุกวัน

"การทำงานของแขกซาอุฯ ไม่เหมือนแขกชาติอื่น พวกนี้ยึดถือความพอใจเป็นหนึ่งเย่อหยิ่งในความมั่งคั่ง เป็นพวกที่บ้ากระดาษเอามาก ๆ งานทุกอย่างต้องทำรายงานเสนอขึ้นไปเป็นปึก ๆ" เธอบอกกับ "ผู้จัดการ" ในวันที่ความคล้ำหมองยังคงปรากฎให้เห็น

นอกจากนี้ การย้ายกลับยังเป็นบรรทัดฐานของการบั่นทอนจิตใจอย่างที่มิอาจปฏิเสธ ทั้งนี้เพราะแบบแผนการทำงานของนายตาลาล เอส.อารีรี่ กับนายเก่าอย่างนายคาลิดนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จึงทำให้เกิดช่องว่างของการปฏิบัติงานอยู่เนือง ๆ

ประเด็นขัดแย้งรุนแรงที่สุด ได้แก่ เรื่องการออกตั๋วพิเศษให้กับเอเย่นต์ต่าง ๆ ตั๋วนี้อยู่ในอำนาจของผู้จัดการสาขาที่จะเสนอได้ โดยผ่านความเห็นชอบขั้นสุดท้ายจากสำนักงานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ก่อนหน้าที่นายคาลิดจะถูกย้ายไปได้ทำเรื่องนี้ค้างคาเอาไว้ เมื่อนายตาลาล เอส.อารีรี่ ย้ายเข้ามาแทนเธอพยายามที่จะเสนอให้พิจารณา แต่คำตอบที่ได้รับกลับเป็นว่า "ฉันไม่รับรู้ !"

ลำพังของการไม่ใส่ใจคงไม่เท่าไร แต่เรื่องกลับเลวร้ายมากขึ้นเมื่อจู่ ๆ วันหนึ่งนายอาลาซัค ซึ่งเป็น วีพี.เซ็นเตอร์ ประจำอยู่กรุงเจดดาห์ ซาอุดิอาระเบีย และเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบสาขาต่าง ๆ ได้เดินทางมาและเรียกเธอขึ้นไปพบต่อหน้า นายตาลาล เอส.อารีรี่. พร้อมข้อซักถามว่า "เรื่องตั๋วพิเศษจะเอากันอย่างไร ?" และตบท้ายด้วยคำขู่เบา ๆ ว่า "เรื่องนี้ถ้าเคลียร์ไม่ได้เธอมีสิทธิเด้ง"

"จะทำให้อย่างไรล่ะ นายเก่าก็ย้ายกลับไป พอเอาไปให้นายใหม่พิจารณา เขาก็แสดงท่าทีไม่รับรู้ ไม่สนใจรับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้ง ๆ ที่ก็มีอำนาจจัดการ ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองกำลังกลายเป็นตัวตลกที่ถูกเขาจับเชิดไปเชิดมาแล้วแต่ความพอใจ" เธอกล่าวสั้น ๆ อย่างอิดหนาระอาใจ

สำหรับนายอาลาซัค ผู้นี้เดิมทีเป็นผู้จัดการทั่วไป ประจำที่สิงคโปร์ เป็นผู้หนึ่งที่ไม่ค่อยกินเส้นเท่าไรนักกับ นายคาลิด อดีตผู้จัดการสาขา ประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นกับสุวมิตร แหล่งข่าวในวงการแอร์ไลน์บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า "อาจเป็นความบังเอิญที่ซู (ชื่อเล่นของสุวมิตร) ต้องกลายเป็นแพะรับบาป เพราะทำงานเข้ากันได้ดีกับนายคาลิด"

ช่องว่างของการทำงานที่แทบจะกลายเป็นวัตรปฏิบัติโดยที่เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ต้นสายปลายเหตุเป็นมาอย่างไร แม้แต่ในเรื่องความสนิทสนมกับนายคาลิด ได้มาระอุจนยากจะยับยั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลังจากที่เธอได้รับแจ้งจากตัวแทนจีเอสเอ. (GENERAL SERVICE AGENCY) รายหนึ่งที่นายตาลาล เอส.อารีรี่ เป็นผู้ติดต่อเข้ามาเพื่อรับงานแทนจีเอสเอ. รายเดิมที่เกิดการขัดแย้งกันขึ้นว่า ทางสายการบินซาอุดิอาระเบียมีนโยบายที่จะโอนงานและบุคลากรในแผนกสำรองตั๋วและที่นั่งให้ไปขึ้นตรงกับจีเอสเอ.

จีเอสเอ. - เป็นผู้แทนขายตั๋วที่สายการบินฯ แต่งตั้งขึ้น ได้รับค่าคอมมิชชั่นจากตั๋วที่ผ่านการสแตมป์แต่ละใบในอัตราร้อยละ 3 การตลาดของแอร์ไลน์ต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับจีเอสเอ.เป็นสำคัญ โดยเฉาพะสายการบินซาอุดิฯ กว่า 90% ของตั๋วที่ขายได้เป็นความสามารถของจีเอสเอ. ซึ่งเดิมจีเอสเอ.ที่ได้รับแต่งตั้งได้แก่ บริษัทอัลฮูดา จำกัด ของศิริเจริญ โหตระภวานนท์

อันที่จริงการโอนบุคลากรไปขึ้นตรงกับจีเอสเอ. เป็นเรื่องที่ดำริจะทำตั้งแต่สมัยนายคาลิดแล้ว เพราะเป็นนโยบายโดยตรงจากสำนักงานใหญ่ซึ่งใช้กับสาขาอื่น ๆ ทั่วโลก แต่ที่ยังไม่คืบหน้าเป็นเพราะนายคาลิดต้องการที่จะศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ เนื่องจากเรื่องนี้ค่อนข้างจะเซนซิทีฟกับจิตใจพนักงานไม่น้อย เพราะทุกคนกลัวว่าเมื่อโอนไปเป็นพนักงานของจีเอสเอ. แล้วจะไม่ได้รับผลตอบแทนเช่นเดียวกับที่ได้จากสายการบินโดยตร

ภายหลังที่ได้รับแจ้งจากตัวแทนจีเอสเอ.รายนั้น สุวมิตรได้นำความไปปรึกษากับนายตาลาล เอส.อารีรี่ ว่าในฐานะที่เป็นพนักงานของสายการบินซาอุดิอาระเบียและเป็นหัวหน้าแผนกอยู่ด้วยจะให้ทำอย่าไงรก็ได้รับคำตอบที่ออกจะฉุนเฉียวว่า "ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น ฉันจะเป็นคนจัดการเอง"

ช่วงนั้นได้มีการทดลองโอนพนักงานคนหนึ่งให้ไปอยู่กับจีเอสเอ. (อัลฮูดา) และจะทำการโอนพนักงานรับโทรศัพท์อีกคนหนึ่ง ทว่าพนักงานผู้นั้นไม่ยินยอมขอลาออก ทางสายการบินฯ จำต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ 3 เดือน

ข่าวคราวการปรับปรุงสร้างภาวะอกสั่นขวัญกระเจิงให้เกิดขึ้นกับพนักงานถ้วนหน้าทุกตัวคน !!!

"ต่อมามีพนักงานคนหนึ่งชื่อสุนทรีลาออก บอกว่าได้งานที่ใหม่แล้ว ในฐานะที่ดิฉันเป็นหัวหน้าก็บอกว่าคิดดีแล้วหรือ เขาก็ว่าดีแล้วเมื่อเป็นเช่นนั้นจึงต้องยินยอมเซ็นใบลาออกให้ ปรากฏว่า เรื่องนี้กลับกลายเป็นเหตุถูกนำมากล่าวโทษว่า ไร้ความสามารถในการยับยั้งพนักงาน คิดดูมันก็ตลกดีนะ" เธอกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ด้วยน้ำเสียงที่เหลือจะทน

เพียงเริ่มต้นศักราชใหม่ไม่ทันเท่าไร ความขัดแย้งความอึดอัดนับวันยิ่งขยายตัวจนที่สุดก็ถึงวันอย่าได้มีความรักตอ่กันอีกเลย !!?

13 กุมภาพันธ์ 2530 พนักงานหลายคน ดีใจกับการปรับอัตราเงินเดือนที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป ระหว่างที่สุวมิตรกำลังสะสางภาระหน้าที่การงานอย่างขมีขมัน ไม่รู้ตัวมาก่อนเลยว่า จะมีเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตบังเกิดขึ้น เธอยังคงสนุกกับงาน พูดคุยปรึกษาหารือกับลูกน้องอย่างปกติ

ขณะเดียวกันนั้นเองก็ได้รับจดหมายตรงจากนายตาลาล เอส.อารีรี่ แจ้งให้ทราบว่า ทางบริษัทสายการบินซาอุดิอาระเบีย จำกัด พิจารณาด้วยเหตุผลทั้งปวงแล้วว่า "ท่านไม่อาจที่จะทำงานให้ได้ดีที่สุดได้ ดังนั้นจึงขอเลิกจ้างนับตั้งแต่ 14 กุมภาพันธ์ 2530 เป็นต้นไป"

นับเป็นคำตัดสินที่เฉียบขาดและรุนแรงที่สุดซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่า "ความผิดของพนักงานหญิงไทยคนนี้อยู่ในขั้นอุกฉกรรจ์ที่ยากแก่การอุทธรณ์และไม่ต้องการความหวังดีที่จะต้องเคลียร์งานใดๆ อีกต่อไป" การให้ออกนี้ทางสายการบินฯ จ่ายเงินชดเชยให้เป็นเวลา 6 เดือน 150,000 บาท

สำหรับเหตุผลของการถูกให้ออกจากงานที่เธอได้รับแจ้งมีด้วยกัน 5 ข้อ

1. ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายค่อนข้างล่าช้า ก่อให้เกิดอุปสรรคในการทำงานมากมายจนยากแก้ไข

2. ขาดความคิดริเริ่มที่จะนำเสนอต่อผู้บังคับบัญชาในเรื่องการขอเพิ่มเที่ยวบินพิเศษช่วงที่มีผู้โดยสารต้องการใช้บริการมาก ทำให้สายการบินฯ ต้องสูญเสียรายได้ไปเป็นจำนวนไม่น้อย

3. ขาดความมีมนุษยสัมพันธ์กับเอเย่นต์บางราย การให้ความสำคัญต่อเอเย่นต์รายหนึ่งรายใดกระทำไปแบบเลือกที่รักมักที่ชัง

4. ทำให้ผู้โดยสารชาวซาอุดิอาระเบียคนหนึ่งได้รับความเสียเป็นอย่างมากเมื่อซื้อตั๋วขึ้นเครื่องแล้วปรากฏว่าไม่มีรายชื่ออยู่ในแฮนดิเคท

5. ไร้ความสามารถในการปกครองบังคับบัญชาลูกน้อง ไม่สามารถยับยั้งพนักงานคนหนึ่งให้ทำงานกับสายการบินฯ ได้ต่อไป ทำให้สายการบินฯ ต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลไปอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น

เป็นเหตุที่เธอรับรู้ทั้งเจ็บ !! ทั้งขัน !! จนไม่มีน้ำตาเม็ดที่จะร้องไห้ออกมาให้เห็น !!!

7 ปีที่ยอมเหน็ดเหนื่อยอย่างหามรุ่งหามค่ำจนปล่อยให้ความรักส่วนตัวหล่นหาย ทั้งนี้เพื่อทำหน้าที่เป็นเฟืองตัวหนึ่งที่ต้องการให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด จนสามารถร่วมปลุกปั้นให้สายการบินซาอุดิอาระเบีย ที่มีอายุอานามบินเข้ามาประเทศไทยเพียง 7 ปีกว่า ๆ ทำยอดขายได้ปีละไม่น้อยกว่า 600 - 700 ล้านบาท

กระทั่งบัดนี้บางเวลาที่ได้หวนคิดก็ยังไม่อยากจะเชื่อว่า สุดท้ายสิ่งที่ได้รับตอบแทนจะต้องมากลายเป็นคนที่ถูกตีตราค่าชื่อว่า "ไร้ความสามารถ" เครดิตทางสังคมป่นปี้ยับเยินไม่มีชิ้นดี จริงอยู่ที่ว่าเธอสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมานั้นตัวเธอไม่มี "คาว" อย่างที่ถูกกล่าวหา

แต่เรื่องอย่างนี้จำต้องใช้เวลานานพอควร เอาเป็นว่าสิ่งที่เธอได้พบในปัจจุบันก็คือ ไม่ว่าจะไปยื่นใบสมัครงานที่ไหน ไม่ว่าจะในวงการแอร์ไลน์หรือวงการอื่น ทันทีที่เห็นอัตราเงินเดือนและเหตุผลของการออกจากงานก็แทบจะไม่ต้องมีอะไรพูดคุยกันอีกต่อไป !??

3-4 เดือนมาแล้วที่เธอต้องกลายเป็นคนว่างงาน จนที่สุดต้องพึ่งความเป็นธรรมจากศาลแรงงานเพื่อสะสางข้อกล่าวหาเหล่านี้ให้กระจ่างแจ้งโดยเร็วที่สุด โดยได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลางว่า ถูกบริษัทสายการบินซาอุดิอาระเบีย จำกัด จำเลยที่ 1 กับ นายตาลาล เอส.อารีรี่ กรรมการผู้จัดการบริษัทสาขา จำกัด จำเลยที่ 2 ร่วมกับเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ทั้ง ๆ ที่ยังสามารถทำงานได้อีกถึง 21 ปี

การยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเธอได้เรียกค่าเสียหายรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,138,174.20 บาท โดยแบ่งออกเป็นค่าเสียหายรายการต่าง ๆ ดังนี้ คือ

1. เงินค่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรมโดยคิดคำนวณจากอัตราค่าจ้างเดือนสุดท้ายรวมกับเงินอีกในอัตราร้อยละ 4 ของอัตราค่าจ้าง โดยคิดคำนวณระยะเวลา 10 ปีเป็นเงิน 2,894,486.40 บาท

2. เงินค่าจ้างประจำเดือนกุมภาพันธ์จำนวน 10,050.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ทุกระยะเวลา 7 วัน

3. เงินค่าจ้างเนื่องจากไม่บอกกล่าวล่วงหน้า 15 วัน เป็นเงิน 34,789.50 บาท

4. เงินค่าจ้างเนื่องจากไม่ใช่วันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 70 วันเป็นเงิน 54,117 บาท เงินโบนัสประจำปี 2530 ตามส่วนที่พึงจะได้รับ 55,573 บาท และเงินค่าชดเชยอีก 139,158 บาท

ค่าเสียหายเหล่านี้แท้จริงเธอบอกว่า มันไม่คุ้มกันนักหรอกกับชื่อเสียงที่ต้องมาด่างพร้อย แต่ที่จำเป็นต้องฟ้องเพื่อปกป้องและพิสูจน์ความขาวสะอาดของตนเองมากกว่า กับที่สำคัญที่สุดคือว่า ต้องการให้นายจ้างต่างชาติได้พึงรับรู้ไว้บ้างว่า คนไทยผู้หญิงไทยไม่ใช่เครื่องเล่นชั้นต่ำที่หมายจะย่ำยีได้ตามอำเภอใจ !!!

"ดิฉันรู้ดีว่า ถ้าชนะเขาจ่ายจริง คงไม่ถึงสามล้าน ไม่ได้หวังเงินแต่ต้องการความยุติธรรมบ้างเท่านั้น ตอนนี้เจอหน้าเพื่อนฝูง บางคนก็ทำท่ากึกกักว่าจะเข้ามาทักดีหรือไม่ดี มันเป็นเรื่องน่าเจ็บปวดไม่น้อย อีกอย่างคือว่า ในวงการนี้คนที่พ้นไปส่วนมากมักเป็นเรื่องคอร์รัปชั่น ดิฉันเกี่ยวข้องในด้านนี้ด้วยถูกหรือผิด ไม่ว่าใครก็ต้องมองแง่ไม่ดีไว้ก่อน นี่แหละจึงทำให้อยากเคลียร์ตัวเอง กรณีอย่างนี้สายการบินซาอุฯ เคยถูกฟ้องมาแล้วที่อังกฤษและเป็นฝ่ายแพ้เสียด้วย" เธอกล่าวอย่างมั่นใจในความบริสุทธิ์

"เท่าที่รู้จักกันมาซูเป็นคนทำงานจริงจัง เขาไม่มีครอบครัวเวลาทั้งหมดจึงมีให้กับงาน เสาร์อาทิตย์ก็ไปขลุกอยู่ที่ดอนเมือง เรื่องที่เกิดขึ้นกับเขาเห็นได้ข่าวว่าเป็นเรื่องของนายจ้างอาหรับทะเลาไม่กินเส้นกันแล้วหาทางระบายกับคนสนิท เพื่อจะได้ดูว่า คุณจะเจ็บปวดไหมเมื่อคนที่คุณสร้างถูกทำลาย" เพื่อนในวงการแอร์ไลน์คนหนึ่งพูดถึงสุวมิตรหรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า "ซู"

เอเยนต์รายหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงกรณีนี้ว่า "ดูจากเหตุผลที่ให้ออกไม่มีน้ำหนักเลย อย่างเรื่องการเพิ่มเที่ยวบินพิเศษนั้น เรื่องนี้ควรอยู่ในดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชาชั้นสูง หรืออย่างเรื่องที่ว่า เขาทำงานล่าช้าน่าจะมองบ้างว่า เขาเพิ่งโอนมารับงานด้านนี้ใหม่หลังจากที่ทิ้งไปถึง 3 ปีแล้วงานของแขกซาอุฯ นั้นว่าก็ว่ากันเถอะไม่มีกฎระเบียบเอาเสียเลย"

เบื้องหลังการเลิกจ้างจนกลายมาเป็นศึกฟ้องร้องปกป้องศักดิ์ศรีความเป็น "คน" ครั้งนี้ "ผู้จัดการ" ได้รับทราบเพิ่มเติมอีกว่า มีส่วนโยงใยเกี่ยวข้องกับจีเอสเอ.รายเดิมอยู่ด้วย ซึ่งจีเอสเอ.รายเดิม คือ บริษัทอัลฮูดา จำกัด ค่อนข้างมีความสนิทสนมกับสุวมิตรเป็นพิเศษ เนื่องจากร่วมงานกันมาเป็นเวลากว่า 3 ปี

ปฐมเหตุเกิดขึ้นเมื่อภายหลังที่นายตาลาล เอส.อารีรี่ ย้ายมาแทนนายคาลิด ก็มีข่าวกระเซ็นกระสายออกมาบ่อยครั้งว่า สายการบินซาอุดิฯ จะบอกยกเลิกสัญญาการเป็นจีเอสเอ.ของอัลฮูดา ซึ่งสัญญานี้ทำกันเป็นปี/ปี หากไม่แจ้งล่วงหน้าเป็นเวลา 60 วันถือว่าได้มีการต่อสัญญานั้นโดยอัตโนมัติ

ปรากฏว่าวันดีวันหนึ่งรายต้นเดือนมกราคม 2530 ทางสายการบินซาอุดิอาระเบียได้มีหนังสือบอกเบิกการเป็นจีเอสเอ.ของอัลฮูดา อย่างหน้าตาเฉย ซึ่งการกระทำดังกล่าวนำความไม่พอใจมาให้กับอัลฮูดาเป็นอย่างมาก จึงอาศัยข้อบังคับของสัญญาที่บอกว่า การเลิกจ้างต้องบอกล่วงหน้า 60 วันบังคับให้หนังสือนั้นเป็นโมฆะ และพร้อมที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดสัญญา

เมื่อได้รับการตอบโต้อย่างนี้เข้าเล่นเอาแขกซาอุฯ ที่หยิ่งในความมั่งคั่งของตนถึงกับถอยกรูด กระนั้นก็ยังมีข่าวไม่สู้ดีนักว่า ได้มีการลักลอบขายตั๋วราคาพิเศษ นำตั๋วไปให้เอเยนต์รายอื่นขายบ้าง ซึ่งเป็นการผิดสัญญาที่ทำไว้กับจีเอสเอ. ดังนั้นจึงถูกยื่นโนติ๊สอีกเป็นครั้งที่สองว่า หากยังบิดพลิ้วสัญญาอีกเป็นต้องได้เจอดีกับทางกฎหมาย

เหตุที่จะยกเลิกสัญญากับอัลฮูดา สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งส่วนตัวระหว่าง นายอาลาซัค ซึ่งเป็นวีพี.เซ็นเตอร์ รับผิดชอบงานสาขากับนายคาลิด อดีตผู้จัดการสาขาคนเก่า โดยอาหรับคู่นี้กินแหนงแคลงใจกันมาตั้งแต่สมัยที่นายอาลาซัคยังเป็นผู้จัดการที่สิงคโปร์ ซึ่งโดยตำแหน่งแล้วเป็นผู้บังคับบัญชาของนายคาลิดอีกขั้นหนึ่ง

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของสายการบินซาอุดิอาระเบียในประเทศไทย แหล่งข่าวในวงการบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า ทำให้นายอาลาซัคจับตามองนายคาลิดอย่างมากว่าจะก้าวข้ามหัวตนได้ในอนาคต เมื่อได้โอกาสที่นายคาลิดย้ายไปที่เมืองไฮย์และตนเองเข้ามาคุมงานสาขาโดยตรง จึงจำต้องตัดมือตัดแขนของคู่แข่งในองค์กรเดียวกันเสียก่อน

อัลฮูดาตกเป็นเป้าของการชำระบัญชีด้วยเหตุผลที่ว่า ตัวนายคาลิดมีความสัมพันธ์ค่อนข้างจะลึกซึ้งกับศิริเจริญ โหตระภวานนท์ กรรมการผู้จัดการของอัลฮูดา ขนาดมีเสียงเล่าขานกันว่า "ตัวศิริเจริญถึงกับยอมเปลี่ยนศาสนามาเป็นมุสลิมนิกตามนายคาลิด"

และนั่นทำให้ถูกมองว่า การที่อัลฮูดาได้รับเลือกให้เป็นจีเอสเอ. เป็นเพราะอาศัยสัมพันธ์ส่วนตัวดังกล่าวนั่นเอง และความสัมพันธ์ของคาลิด-ศิริเจริญก็ยังคงยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าถึงแม้ตัวนายคาลิดจะจากไป ทว่ายังสามารถพิสูจน์ผลงานให้เห็นได้โดยผ่านบทบาทของอัลฮูดา

แต่เรื่องนี้ ศิริเจริญกล่าวตรงไปตรงมากับ "ผู้จัดการ" ว่า "ดิฉันยอมรับว่าเปลี่ยนศาสนาจริง แต่มันมีเหตุมาจากปัญหาครอบครัวที่ต้องหย่าร้างกับสามี แล้วได้มาอ่านคัมภีร์กุรอ่านที่นายคาลิดเอามาให้ เห็นว่าช่วยแนะทางออกที่ดีให้จึงทำใจยอมรับความเป็นมุสลิม"

"ดิฉันยอมรับนายคาลิดทั้งในเรื่องส่วนตัวและการงานเพราะว่าเขาเป็นอาหรับที่ใจกว้าง กาที่ได้ไปเรียนต่างประเทศของเขาทำให้เขาเข้าใจถึงคนต่างวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี เรื่องที่ว่าอาศัยความสัมพันธ์ทำมาหากินนั้นเรื่องนี้ตัวนายอาลาซัครู้ดีที่สุด แล้วที่ผ่านมาอัลฮูดาเคยทำให้ผิดหวังหรือไม่ สายการบินซาอุดิฯ โตขึ้นอย่างน่าพอใจมิใช่หรือ ดิฉันไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องมายกเลิกสัญญา"

นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารสายการบินซาอุดิฯ บางคนกับอัลอูดา ยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น การที่สายการบินซาอุดิฯ ขอร้องให้อัลฮูดาเข้าไปเทคโอเวอร์ห้องวีซ่า ห้องคอมพิวเตอร์ และออฟฟิศที่สนามบินดอนเมือง โดยให้เป็นผู้จ่ายค่าเช่าสถานที่และเงินเดือนพนักงานที่โอนมาจากสายการบินฯ ด้วย

ทั้งนี้ มีข้อตกลงแลกเปลี่ยนว่าจะเลื่อนฐานะอัลอูดาจากจีเอสเอ.ให้ขึ้นเป็นสาขาประเทศไทยอีกสาขาซึ่งจะมีสิทธิรับค่าคอมมิชชั่นทุก 3% ของตั๋วทุกใบที่ขายได้ ไม่ใช่รับ 3% เพียงแค่ตั๋วที่ผ่านการแสตมป์เท่านั้น ขณะที่ทุกอย่างกำลังดำเนินไปด้วยดี ปรากฏว่าทางสายการบินซาอุดิอาระเบียก็แจ้งว่า ขอห้องเหล่านั้นกลับคืน

เรื่องนี้ปรากฏว่าทางอัลฮูดายืนกรานเด็ดขาดว่า "จะไม่ยอมลดราวาศอกให้แน่นอน" ตัวศิริเจริญเองก็เปรย ๆ ให้คนสนิทฟังว่า "แม้ว่าสัญญาการเป็นจีเอสเอ.จะอยู่อีกหลายเดือน และมีแนวโน้มว่าจะไม่ได้ต่อสัญญาอีก ก็จะต้องสู้ให้ถึงที่สุดเพื่อให้สัญญามีความศักดิ์สิทธิ์"

ไม่เพียงแต่อัลฮูดาเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ กระทั่งเอเย่นต์ที่รับตั๋วไปจำหน่ายอีกทอดนึ่งและมีความสัมพันธ์อันดีกับอัลฮูดาก็พลอยถูกหางเลขไปด้วย จนบางรายกล่าวว่า "เป็นบทเรียนที่ดีในการทำการค้ากับแขกซาอุฯ ว่า พวกนี้ไม่เคารพนับถือสัญญามากนัก"

คนที่ทำการค้ากับพวกซาอุฯ มานานเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า กฎเกณฑ์ทางการค้าของพวกนี้นั้นบางครั้งที่เขาลืมนึกถึงสัญญาเป็นเพราะมีความเข้าใจว่า ระเบียบปฏิบัติจะเหมือนกับประเทศตนที่ใช้ศาสนาเป็นกฎหมายในการตัดสิน ผิดกับประเทศอื่น ๆ ที่อาศัยข้อเท็จริงเป็นเครื่องพิสูจน์

เหตุการณ์ทั้งหมดเหล่านี้ในฐานะที่สุวมิตรเป็นผู้หนึ่งที่รู้แจ้งแทงตลอดมาตั้งแต่ต้น และยังเป็นบุคคลที่นายคาลิดอดีตผู้จัดการไว้เนื้อเชื่อใจเป็นอย่างมาก ในเมื่อความสัมพันธ์เกี่ยวข้องสลับซับไม่ค่อยซ้อนกันอย่างนี้จึงทำให้ผู้หญิงอย่างเธอต้องตกที่นั่งเนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง หนำซ้ำต้องเอากระดูกมาแขวนคออย่างช่วยไม่ได้

อย่าว่าแต่ตัวสุวมิตรเลยที่บอกว่า "คิดว่าคงต้องถามนายตาลาลเหมือนกันว่า โกรธอะไรกันนักหรือถึงต้องทำกันอย่างนี้ ขัดแย้งในการงานนั้นมีจริงแต่ทุกครั้งก็ปรับความเข้าใจกันได้ แล้วทำไมผลลัพธ์มันถึงได้ออกมากลับตาลปัตรกันอย่างนั้น เรื่องที่สนิทกับอัลฮูดาก็ไม่มีอะไรมากนอกจากงานเท่านั้น"

คนในวงการก็กล่าวว่า สายการบินซาอุดิอาระเบียนั้นร่ำรวยและประสบความสำเร็จมากจริงอยู่ แต่ที่นั่นก็เป็นแดนสนธยาที่มีอะไรเร้นลับอีกมากมาย อย่างเรื่องที่เกิดขึ้นกับสุวมิตรกลายเป็นว่าคนไทยต้องเป็นแพะรับบาปไปโดยไม่รู้ตัว

"ยังมีเรื่องสนุกให้ดูกันอีกเยอะ ยิ่งปัจจุบันการแข่งขันกันในวงการแอร์ไลน์ขยายตัวมากขึ้น เล่ห์กลทางการค้าที่ไร้จริยธรรมก็แฝงเร้นเข้ามามากขึ้นเช่นกัน เอาไว้ดูตอนปลายปีที่อัลฮูดาจะหมดสัญญาคงได้ลากไส้เป็นขด ๆ ออกมาถลุงกันให้ยับไปข้างหนึ่ง คนที่น่าเห็นใจอีกคนก็คือ ตัวนายตาลาลที่จำต้องแสดงบทบาทรับศึกหนักทั้งบนและล่าง โดยที่ตนเองไม่รู้อิโหน่อิเหน่มาก่อนเลย" แหล่งข่าวกล่าวตบท้าย

ส่วนการฟ้องร้องของสุวมิตร วิเชียร การต่อสู้ที่เดิมพันกันด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แม้ว่าพระเจ้าของเธอกับอดีตนายจ้างอาหรับจะเป็นคนละองค์ แต่เราเชื่อว่า ถ้าเธอไม่ผิดจริงแล้ว ไซร้ความยุติธรรมคงไม่ปิดเปลือกตาเสียสนิทจนไม่มีโอกาสที่จะได้รับรู้ถึงความทุกข์เข็ญใจของคน ๆ หนึ่ง !!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us