|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
"กองปราบดักจับพนักงานธนาคารอาคารสงเคราะห์ ยักยอกเงินแบงก์ 400 ล้าน"
"ลูกค้าโวยธนาคารธนชาติ ไม่ยอมให้ถอนเงินจากบัญชี 4 ล้าน เหตุถูกพนักงานยักยอก"
เป็นเนื้อหาข่าวที่เกิดขึ้นติดๆ กัน ในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา
ข่าวประเภทนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเหตุการณ์ที่ปรากฏเป็นข่าวมาเป็นระยะๆ เพียงแต่ก่อนหน้านี้ มูลค่าความเสียหายยังไม่สูงมาก เหมือนอย่างกรณีของธนาคารอาคารสงเคราะห์ และผลกระทบยังลงไปไม่ถึงลูกค้าโดยตรง เหมือนกรณีของธนาคารธนชาติ
ข่าวที่ปรากฏจึงถูกจัดอยู่ในหมวดอาชญากรรมธรรมดา เมื่อมีการนำเสนอให้ปรากฏออกมาแล้วก็เงียบหายไป
ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และหากปล่อยให้ผ่านเลยไป ไม่พยายามมองให้เห็นเป็นองค์รวม ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะกระทบไปถึงระบบการเงินโดยรวมทั้งระบบ
หากย้อนกลับไปดูเนื้อหาของเรื่องจากปกในนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ในฉบับก่อนหน้านี้ (พฤษภาคม 2552) ซึ่งได้พูดถึงกระบวนการอาชญากรรมทางการเงินโดยการโจรกรรมข้อมูล และปลอมแปลงบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งบัตรเครดิตและบัตร ATM เอาไว้ว่าเรื่องนี้ความจริงแล้วไม่ใช่อาชญากรรมธรรมดา
แต่มันคือการปล้นเงินออกจากระบบธนาคารพาณิชย์
เป็นการปล้นที่ไม่ต้องสวมหมวกไอ้โม่ง ควงปืนไปจี้พนักงานหน้าเคาน์เตอร์ เพื่อให้นำเงินยัดใส่ไว้ในถุง เหมือนที่เคยเห็นในหนัง
แต่เป็นการปล้นที่ใช้วิธีการที่ง่ายกว่า และได้เงินจำนวนมากกว่าวิธีการดั้งเดิมหลายเท่า
เพียงแต่เนื้อหาของเรื่องจากปกในฉบับนั้น เน้นให้น้ำหนักในการกล่าวถึงเรื่องที่ว่าด้วยกระบวนการอาชญากรรมที่ทำกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์
ไม่ได้พูดถึงกระบวนการประกอบอาชญากรรมรูปแบบอื่นๆ มากนัก
ทั้งๆ ที่ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด ไม่ว่าฝ่ายผู้ก่ออาชญากรรมจะเป็นมิจฉาชีพ หรือพนักงานภายในของธนาคารเอง มันก็คือเรื่องเดียวกัน
นั่นคือการประกอบอาชญากรรม ที่พยายามดึงเงินออกจากระบบธนาคารพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม พาดหัวของเรื่องนำในเรื่องจากปกฉบับนั้น ก็ได้เขียนในเชิงตั้งคำถามเอาไว้แล้วว่า What's next?
เพราะการประกอบอาชญากรรม โดยความพยายามดึงเงินออกจากระบบธนาคารพาณิชย์ ได้มีการกระทำกันมาอย่างช้านาน และได้มีการพัฒนาการรูปแบบขึ้นมาเรื่อยๆ
ฝ่ายที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็พยายามพัฒนารูปแบบการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิด ขณะที่ฝ่ายมิจฉาชีพก็พยายามหาช่องทางใหม่ๆอยู่เสมอ
เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับเกมแมวไล่จับหนู
เจ้าหน้าที่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลเพื่อนำมาเขียนเนื้อหาของเรื่องจากปกฉบับดังกล่าว ได้แสดงความห่วงใยเอาไว้แล้วว่า ถึงวันหนึ่งเมื่ออาชญากรไม่สามารถประกอบอาชญากรรม โดยอาศัยเทคโนโลยีได้ก็อาจต้องย้อนรอยมาใช้วิธีการดั้งเดิม คือการปลอมแปลงเอกสาร เพื่อนำมาใช้ประกอบการทำธุรกรรมกับธนาคารพาณิชย์
ซึ่งเป็นเรื่องที่ติดตามจับกุมยากกว่าการประกอบอาชญากรรมโดยอาศัยระบบอิเล็กทรอนิกส์
กรณีของเจ้าหน้าที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารธนชาตที่เกิดขึ้น ถือเป็นอุทาหรณ์ประการหนึ่งว่าในภาวะที่คนไทยทุกคนกำลังเผชิญกับความตกต่ำทางเศรษฐกิจ
โอกาสที่จะเกิดอาชญากรรมย่อมมีมากขึ้น
และอาชญากรรมที่คนร้ายกระทำต่อระบบการเงินนั้น มันเป็นเรื่องที่น่ากลัวกว่ามาก เพราะหากมูลค่าความเสียหาย มันสูงมาก ย่อมเป็นการไปซ้ำเติมปัญหาความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่อยู่แล้ว ให้ยิ่งเลวร้ายขึ้นไปใหญ่
ที่สำคัญ คือวิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้ มีคนพูดกันตลอดว่าประเทศไทยยังโชคดีที่เรามีระบบธนาคารพาณิชย์ที่แข็งแรง
แต่หากไม่พยายามหาทางป้องกันปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับระบบการเงิน อย่างที่ปรากฏเป็นข่าวถี่ขึ้นเรื่อยๆ อย่างในช่วงที่ผ่านมานั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจบั่นทอนความแข็งแรงของระบบการเงินที่ว่า ให้สั่นคลอนได้โดยไม่ยากนัก
คิดดู แค่เจ้าหน้าที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์คนเดียวยังเอาเงินออกไปจากธนาคารได้ถึง 400-500 ล้านบาท
นึกภาพไม่ออกว่าถ้ามีคนแบบนี้ขึ้นมาอีกสัก 10 คนจะมีผลถึงฐานะการเงินของธนาคารอาคารสงเคราะห์ขนาดไหน
อยากย้ำปิดท้ายอีกครั้งว่าอย่ามองเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กๆ
|
|
 |
|
|