Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2530
ผู้บริหารปูนใหญ่มาถึงยุควิศวะ จุฬาฯบวกเอ็มบีเอ สหรัฐฯ             
 

   
related stories

ปูนใหญ่…หยุดไม่ได้ !?!
ปูนใหญ่ "ผ่าตัด"สยามคราฟท์ สงครามการบริหารที่ยิ่งใหญ่
ในที่สุดก็เหลือเพียงตำนาน

   
www resources

โฮมเพจ เครือซิเมนต์ไทย

   
search resources

เครือซิเมนต์ไทย
พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา
Cement




พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทยคนปัจจุบัน นับเป็นคนไทยคนที่ 4 ดำรงตำแหน่งนี้ (สืบต่อจาก บุญมา วงศ์สวรรค์ สมหมาย ฮุนตระกูล และจรัส ชูโต) ในช่วงประวัติศาสตร์กว่า 70 ปีของปูนใหญ่ และเป็นคนที่สองที่จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คนแรก - จรัส ชูโต)

ความจริงคณะวิศวะ จุฬาฯ กำเนิดระยะไล่เลี่ยกับปูนใหญ่ วิศวกรหรือนายช่างจากรั้วชมพูเหล่านี้ (ที่อื่นไม่มี) ได้กลายเป็นกำลังพื้นฐานของโรงปูนต่อเนื่องมา อันเนื่องจากความจำเป็นด้านบุคลากรของอุตสาหกรรมนี้ จนก่อรูปเป็นสังคมที่มีปึกแผ่นในองค์กรไป

ครั้นเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม บุคคลพื้นฐานเหล่านั้นก็ค่อย ๆ ไต่เต้าจากนายช่างเป็นผู้บริหารและจนถึงผู้จัดการใหญ่เป็นเรื่องที่มีประวัติศาสตร์ มีเหตุผลรองรับแม้ว่า จรัส ชูโต หรือพารณ อิศรเสนาฯ ไม่ใช่ลูกหม้อซึ่งแกะกล่องที่ปูนใหญ่เสียทีเดียวก็ตาม หากมองกว้างแล้ว พวกเขาก็คือ "ตัวแทน" พนักงานรากฐานของปูนใหญ่ก็คงไม่ผิดนัก

ประวัติศาสตร์บอกอีกว่า กิจการผลิตปูนซิเมนต์ในประเทศไทยพัฒนาจากอุตสาหกรรมลักษณะผูกขาดเป็นกึ่งผูกขาดการประกอบการเน้นการผลิต (MANUFACTURING ORIENTED) จึงออกมาในรูปของการพัฒนาเทคโนโลยี ลดต้นทุนการผลิตในขณะที่โครงข่ายทางการตลาดก่อรูปอย่างเป็นธรรมชาติที่หมุนตามการผลิตอย่างช้า ๆ

ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวเชิงประวัติศาสตร์ของปูนใหญ่ มองว่า ยุคบุญมา วงศ์สวรรค์ ผู้จบเศรษฐศาสตร์จากอังกฤษ (LONDON SCHOOL OF ECONOMICS) สำนักเดียวกับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นช่วงการรับช่วงจากการบริหารของชาวเดนมาร์ก ยุคสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นการขยายตัวสู่ธุรกิจต่อเนื่องหรือแนวใหม่ เริ่มเรียนรู้การแก้ปัญหาธุรกิจที่สลับซับซ้อน การร่วมทุนกับต่างชาติ รวมไปถึงการแสวงหาเทคโนโลยีหลายทางจากยุโรปไปสู่ญี่ปุ่นและไต้หวัน เป็นต้น ที่สำคัญที่สุดเป็นยุคเครือซิเมนต์ไทยได้เข้าสู่วงจรธุรกิจแข่งขันอย่างเสรี

ถึง จรัส ชูโต ถือกันว่า เป็นยุคพัฒนาคน โดยมุ่งเน้นวิชาการบริหารสมัยใหม่

ผู้เชี่ยวชาญบริหารธุรกิจสมัยใหม่ อรรถาธิบายถึงเงื่อนไขบางประการอันเป็นรากฐานของยุคจรัส ชูโตไว้ 2 ประการ

หนึ่ง - การพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจไปตามสถานการณ์ อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ปูนใหญ่ขยายตัวออกไปสู่ธุรกิจแขนงต่าง ๆ

สอง - ประสบการณ์ของเครือซิเมนต์ไทยเอง จรัส ชูโต เคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของบริษัทเอสโซ่ สแตนดาร์ด ประเทศไทย อันเป็นช่วงสะสมประสบการณ์ในการบริหารองค์กรสมัยใหม่ งานแรกที่เขามาอยู่เครือซิเมนต์ไทย จรัสก็ต้องปรับประสบการณ์สำคัญครั้งอยู่เอสโซ่เข้ากับปูนใหญ่ด้วย ต่อจากนั้นเขาก็ได้มายืนอยู่ตรงกลางระยะหัวเลี้ยวหัวต่อธุรกิจเน้นการผลิต ไปสู่การเรียนรู้การบริหารด้านการตลาด

"เดือนมีนาคม 2519 ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทผลิตภัณฑ์และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งฐานะของบริษัทในขณะนั้นไม่ค่อยดีนัก เพราะขาดทุนติดต่อกันมาหลายปี จากสาเหตุหลายประการ เป็นต้นว่า ภาวะการตลาดมีการแข่งขันอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านปริมาณและราคาในขณะที่ต้นทุนการผลิตของบริษัทอยู่ในเกณฑ์สูงมาก ประกอบกับการจำหน่ายสินค้าบางชนิดประสบการขาดทุนตลอดมาเป็นเวลานาน รวมทั้งปัญหากำลังคนมีมากกว่างาน…" จรัส ชูโต เล่าเรื่องนี้ในหนังสือครบรอบ 70 ปีของปูนซิเมนต์ไทย (ปี 2526)

แท้ที่จริง บริษัทผลิตภัณฑ์และวัสดุก่อสร้างเป็นกิจการผลิตสินค้าต่อเนื่องจากปูนซิเมนต์ไทยที่เน้นสำหรับการก่อสร้าง และเป็นบริษัทที่สองจากจุดเริ่มต้นที่ปูนซิเมนต์ไทย และนับหนึ่งที่บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย

จรัส ชูโต แสดงฝีมือพลิกฟื้นฐานะของบริษัทในปีถัดมา

ในปีเดียวกันนั้น ทีมงานสำคัญของปูนได้โดดเข้าอุ้มบริษัทสยามคราฟท์ ซึ่งมีปัญหาการบริหารอย่างหนัก มีหนี้สินล้นพ้นตัวด้วยหวั่นเกรงว่า จะกระทบถึงการผลิตปูนซิเมนต์เนื่องมาจากสยามคราฟท์ ผลิตกระดาษคราฟท์สำหรับทำถุงบรรจุซิเมนต์เพียงรายเดียวของประเทศขณะนั้น

ชุมพล ณ ลำเลียง เอ็มบีเอ (ฮาร์วาร์ด) คนแรก ๆ ของปูนได้เข้าไปดูอาการวิเคราะห์ฐานะของกิจการ ก่อนที่ พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา จะเข้าบริหารค้ำกิจการอยู่พักหนึ่ง และตามมาด้วยการเข้าบริหารอย่างเป็นทางการ โดย อมเรศ ศิลาอ่อน นำทีมจนต่อเนื่องมาถึง ทวี บุตรสุนทร ซึ่งทั้ง 4 อยู่ในกลุ่มผู้บริหารของปูนใหญ่ ซึ่งนำนาวาในช่วง 10 ปีจากนี้ไปอย่างแน่นอน

เมื่อ จรัส ชูโต ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ปี 2523 การพัฒนาบุคลากรด้านบริหาร จึงได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นจริงเป็นจัง

"โครงการพัฒนาพนักงานบริหารระดับสูง" เป็นรูปธรรมจับต้องได้ โดยนำเข้าวิชาการบริหารสมัยใหม่จากสหรัฐฯ มาอบรมเพื่อประยุกต์กับประสบการณ์ของเครือซิเมนต์ไทยด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบอร์ดเล่ย์ ฮาร์วาร์ด สแตนฟอร์ด และเพนซิลวาเนีย เป็นต้น

อันเป็นจังหวะเดียวที่สหรัฐฯ เองก็มีการพัฒนาวิชาการบริหารธุรกิจสมัยใหม่อย่างขนานใหญ่ ผู้จบเอ็มบีเอกลายเป็นสูตรความสำเร็จอันหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจของทั้งโลกและสหรัฐฯ อยู่ในภาวะผันผวนอย่างมาก ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ (เอ็มบีเอ.) ถูกส่งเข้าประเทศไทยด้วย เมื่อผนวกกับความจำเป็นของพัฒนาอุตสาหกรรมและการเล็งการณ์ไกลของผู้บริหารปูนใหญ่ ประตูปูนใหญ่จึงเปิดอ้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการบริหารนี้

บางคนวิเคราะห์ว่า การไหลบ่าวิชาการบริหารธุรกิจสมัยใหม่เข้ามาปูนใหญ่นั้น ยังเป็นการถ่ายทอดวิญญาณการดำเนินธุรกิจแบบอเมริกันด้วยเอ็มบีเอสหรัฐฯ มีแรงขับดันการปีนป่ายสู่ความสำเร็จในการบริหารอย่างสูง มีวิญญาณ RISK TAKER มากกว่าผู้ผ่านการศึกษาจากอังกฤษซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่อยู่ในคณะกรรมการของปูนใหญ่ต่อเนื่องมา

จากการสำรวจของ "ผู้จัดการ" พบว่า ในบรรดาผู้บริหารระดับกรรมการผู้จัดการขึ้นไปจำนวน 25 คนนี้ มีผู้จบ เอ็มบีเอ. มากขึ้นตามลำดับ และเป็นการสานวิชาวิศวะกับเอ็มบีเอ.โดยส่วนมากด้วย

ผู้สังเกตการณ์บางคนเลยตั้งข้อสังเกต "เด็กอนามัย" ปูนใหญ่ (คนที่ไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งสูงอย่างรวดเร็ว) ไว้อย่างน่าฟังว่า นอกจากความสามารถเป็นที่ยอมรับแล้ว คน ๆ นั้นสมควรจะต้องมีคุณสมบัติ 3 ประการ หนึ่ง - จบปริญญาตรีวิศวะ ถ้าจบจากจุฬาฯ ยิ่งดี สอง - ไม่เคยทำงานที่ไหนมาก่อน หรือเรียกกันว่า แกะกล่องที่ปูนใหญ่เลย สาม - เป็นนักเรียนทุน โดยเฉพาะเรียนปริญญาโทด้านเอ็มบีเอ

ซึ่งพนักงานปูนใหญ่หลายคนค่อนข้างจะเห็นคล้องตามแนวความคิดสำหรับข้อหนึ่ง พารณ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า พนักงานใหม่ของปูนจะมาจากสถาบันไหนไม่สำคัญ หากคนนั้นมีความสามารถและปัจจุบันก็กระจายสู่สถาบันมากขึ้นแล้ว

หากเป็นไปตามสูตรฯ นั้นจริง ๆ ใครจะจัดอันดับ สบสันต์ เกตุสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่คนล่าสุดต่อจาก อมเรศ ศิลาอ่อน ทวี บุตรสุนทร และชุมพล ณ ลำเลียง ก็มิใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ !?!?!?!?

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us