กิจการบริษัทสยามคราฟท์ดีขึ้นเป็นลำดับ ทว่าอาการดีขึ้นไม่มีทีท่าจะหักลบกลบหนี้ก้อนมโหฬารลงได้อย่างรวดเร็ว
มิหนำซ้ำหนี้สินที่มีอยู่ก็มิได้ลดลง อยู่ในระดับ 1,500 ล้านบาท (ตามงบการเงินนี้ไม่แสดงกำไรติดต่อกันถึง
5 ปีจากปี 2525-2529) อีกประการหนึ่งการมีผู้ถือหุ้นถึง 3 พันกว่าคนในบริษัทมีหนี้สินพ้นตัวย่อมไม่ง่ายเลยที่
"ผ่าตัด" อย่างสะดวกมือปัญหานี้ผู้บริหารปูนเข้าไปอุ้มสยามฟคราฟท์ตระหนักดีมาแต่แรก
จนมาถึงสมัย ทวี บุตรสุนทร (ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส) ดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่สยามคราฟท์
(2521-2522) จึงคิดแผนการหนึ่งขึ้นมาได้
เขาเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า สมหมาย ฮุนตระกูล ผู้จัดการใหญ่ปูนขณะนั้น
ได้ให้ตั้งบริษัทขึ้นมาบริษัทหนึ่ง เพื่อเตรียมซื้อกิจการสยามคราฟท์ในวันหนึ่งข้างหน้า
!
บริษัทที่ว่าคือ บริษัทเยื่อกระดาษสยาม !
ซึ่งตั้งขึ้นในปี 2522 ภายหลังปูนใหญ่ได้เข้าไปค้ำบริษัทสยามคราฟท์อย่างเป็นทางการมากว่า
3 ปี
เพื่อรอจังหวะนั้น เยื่อกระดาษสยามมิได้หยุดนิ่งเพียงรอเวลา บริษัทนี้ได้ตั้งโรงงานผลิตเยื่อด้วยชานอ้อย
เพื่อป้อนโรงงานกระดาษสยามคราฟท์อันเป็นการแก้ปัญหาต้นทางหรือวัตถุดิบของสยามคราฟท์ในอีกทางหนึ่ง
ประจวบเหมาะกับห้วงเวลานั้น อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลเกรียงศักดิ์ขนานใหญ่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริาทฟินิคส์พัลพ์แอนด์เพเพอร์ โครงการใหญ่เพื่อลผิตเยื่อกระดาษจากปอ
ได้กลายเป็นแรงกดดันปูนใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ด้วย
พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้จัดการใหญ่ปูนปัจจุบัน ผู้ซึ่งเป็นผู้บริหารคนแรกเข้าไปบริหารกิจการสยามคราฟท์ก่อนที่ปูนจะเข้าไปอย่างเป็นทางการ
กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า เพราะจากการอาสาเข้าแก้ปัญหาของสยามคราฟท์นี่เอง
ผลักดันให้ปูนใหญ่กระโจนเข้าสู่อุตสาหกรรมกระดาษอย่างครบวงจรในเวลาต่อมา
ตั้งโรงงานผลิตเยื่อกระดาษด้วยชานอ้อย ในปี 2522
เข้าถือหุ้นบริษัทสยามบรรจุภัณฑ์ ผลิตกล่องกระดาษลูกฟูกในปี 2524
ร่วมทุนกับไต้หวันตั้งบริษัทผลิตกระดาษไทย ผลิตกระดาษพิมพ์เขียนคุณภาพสูงในปี
2526
"เป็นการขยายตัวแบบ FULLY INTEGRATED จาก FORWARD ย้อนกลับมา BACKWARD
จนถึงมีโครงการปลูกป่ายูคาลิปตัส" เขากล่าว
บริษัทสยามคราฟท์ จำกัด เป็นต้นธารของกลุ่มเยื่อระดาษของปูนที่ครอบครองอุตสาหกรรมนี้ทั้งอุตสาหกรรมในประเทศไทยไว้ในกำมือ
แต่แล้วชื่อสยามคราฟท์ อันเป็นบริษัทก่อร่างขึ้นเมื่อปี 2508 ผ่านวิกฤติ
ผลัดแผ่นดินมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ครั้งกำลังจะกลายเป็นตำนาน ?
ตามแผนการเดิม สมควรจะเป็นบริษัทเยื่อกระดาษสยามจะเข้าแบกรับภารกิจทางประวัติศาสตร์ของบริษัทสยามคราฟท์สืบไป
ซึ่งอยู่ในพิมพ์เขียวของสมหมาย ฮุนตระกูล นานแล้ว ในที่สุดกลับกลายเป็นบริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรมจำกัด
ชื่อที่ยังคงอนุสรณ์คำว่า "สยามคราฟท์" อยู่ด้วย
แต่นั่นมิได้หมายว่า เยื่อกระดาษสยามไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย !
ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2527 บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรมจำกัดตั้งขึ้น โดยบริษัทเยื่อกระดาษสยามเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ถึง
99% "เยื่อกระดาษสยามถือเป็นบริษัทแม่ของสยามคราฟท์ทั้งสองบริษัทหรือเรียกเป็นบริษัทโฮลดิ้งคัมปะนี"
พารณอธิบายอย่างผู้รู้ถึงแก่นกับ "ผู้จัดการ"
เริ่มแรกบริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ต่อมาเดือนพฤษภาคม
2528 ได้เพิ่มทุนรวดเดียวเป็น 250 ล้านบาทพร้อม ๆ กับโครงการลงทุนผลิตกระดาษคราฟท์มูลค่า
1,000 ล้านบาท ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ โดยมีกำลังการผลิตถึง 1 แสนตัน/ปี
เหมือนถือฤกษ์งามยามดีจากวันจดทะเบียนบริษัทมา 2 ปีพอดี (วันที่ 14 พฤศจิกายน
2529) การประชุมสามัญประจำปี ผู้ถือหุ้นของบริษัทสยามคราฟท์จำกัด ได้มีมติขายกิจการผลิตกระดาษกราฟท์อันรวมทั้งอุปกรณ์
และเครื่องจักรให้บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรมไป
"เนื่องจากบริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัว แผน RESTRUCTURED FINANCE ทำไว้เดิมมีข้อผูกมัด
ทำให้บริษัทขาด DEBIDITY กู้เงินเพิ่มลำบากเป็นอุปสรรคในการขยายงาน ซื้อเครื่องจักรเพิ่ม
หรือแม้กระทั่งการกู้เงิน" พารณบอกเหตุผลกับ "ผู้จัดการ"
ถึงความจำเป็นต้องปลดภาระหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ของสยามคราฟท์
นอกจากนี้ เป็นการแก้ปัญหามีผู้ถือหุ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อยตั้งแต่ในอดีตที่ควักเงินเพิ่มทุนหลายครั้ง
แต่ก็เหมือนละลายในแม่น้ำตลอดมา
พารณ เล่าว่า การเปลี่ยนแผนเช่นนี้นอกจากจะเป็นผลดีต่อการบริหารงาน การขยายงานอันทำให้บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรมเพิ่มกำลังการผลิตทันทีอีกประมาณ
1 แสนตัน/ปี ผู้ถือหุ้นรายย่อยซึ่งไม่เคยได้รับเงินปันผลเลยจากบริษัทสยามคราฟท์ก็ได้เงินคืนบางส่วน
ผู้ถือหุ้นรายย่อยของสยามคราฟท์จริง ๆ ในปัจจุบันเหลือประมาณ 9% ปูนใหญ่แก้ปัญหาโดยให้แลกหุ้นเป็นหุ้นของบริษัทเยื่อกระดาษสยาม
(ซึ่งเพิ่มพิมพ์รายงานประจำปีแจกต่างหากด้วยกระดาษอาร์ตที่เครือซิเมนต์ไทยผลิตเองเมื่อสิ้นปี
2529) อันบ่งบอกกำไรจำนวนมากถึงประมาณ 30% ของยอดขาย (กำไรสุทธิ 230.5 ล้านบาท)
จากรายได้รวม 692.8 ล้านบาท ซึ่งจ่ายปันผลไปคราวนั้นถึง 82 ล้านบาท
รายการนี้จึงแฮปปี้กันถ้วนหน้า !!
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกลุ่มเยื่อกระดาษเปรยกับ "ผู้จัดการ" ว่า
บริษัทสยามคราฟท์ยังอยู่จนถึงปี 2534 อันเนื่องจากภาระหนี้สินผูกพันอยู่
"เมื่อถึงวันนั้นหมดหนี้สินหมดภาระสยามคราฟท์ก็จะล้มละลายอย่างแท้จริง"
เขาสรุป
การจากไปของสยามคราฟท์ได้รับการประเมินค่ายิ่งใหญ่
"เป็นบทเรียนที่คุ้มค่าที่เราได้เทรนคนของเราขึ้นมา…รวมทั้งตัวผมเอง
แม้ว่าการเข้ากู้สยามคราฟท์จะเป็นเรื่องที่เหนื่อยมาก ใช้กำลังคน กำลังสมอง
และทุกอย่างอย่างหนัก…" ดั่งคำพูดของพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้จัดการใหญ่ปูนใหญ่ปัจจุบัน
!!!
ขณะที่สยามคราฟท์อุตสาหกรรม เพิ่งเปิดโรงงานเดินเครื่องเมื่อเร็ว ๆ นี้
เป็นโรงงานผลิตกระดาษคราฟท์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม
2530 เพิ่งพาสื่อมวลชนชมโรงงาน !!