Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา มิถุนายน 2552
Getting to Know GMS Getting to Know Your Opportunity             
โดย รับขวัญ ชลดำรงกุล
 


   
search resources

International
Greater Mekong Subregion




บทความที่ผ่านมาหลายฉบับ ดิฉันได้เขียนถึงประเด็นกฎหมายในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ใกล้ตัว ที่เป็นเกร็ดกฎหมายที่พบเจอในระหว่างการทำงาน ซึ่งเห็นว่าเป็นเกร็ดความรู้ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศกลุ่ม GMS

สำหรับฉบับนี้ดิฉันอยากนำเสนอภาพกว้างของโครงการความร่วมมือ GMS โดยจะพาท่านผู้อ่านย้อนกลับมามองในมุมมองที่กว้างขึ้น นอกเหนือจากการโฟกัสไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ โดยพิจารณาให้เห็นถึงความเป็นมาในการก่อตั้งโครงการความร่วมมือนี้ขึ้นและแผนการดำเนินการความร่วมมือต่างๆ ที่ได้เกิดขึ้นภายใต้โครงการความร่วมมือนี้

เมื่อกล่าวถึงกรอบความร่วมมือที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีแล้ว หลายๆ ท่านคงคุ้นเคยและนึกถึงกรอบความร่วมมือ ASEAN ขึ้นเป็นกรอบแรกๆ เพราะมีความใกล้ตัว เป็นการรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน แต่ในความเป็นจริง หากพิจารณาในด้านของภูมิศาสตร์แล้ว การรวมตัวของกลุ่มประเทศที่อยู่ใกล้เคียงกับที่ตั้งประเทศไทย และมีความสำคัญต่อประเทศไทยค่อนข้างมากอีกกลุ่มความสัมพันธ์หนึ่ง คือโครงการความร่วมมือ Greater Mekong Subregion (GMS) หรือโครงการความร่วมมืออนุภูมิภาคแม่น้ำโขง

โครงการความร่วมมือ GMS นี้ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการความร่วมมือที่มีผลงานความสำเร็จจากการดำเนินการเป็นรูปธรรมมากพอสมควร โดยเป็นการรวมกลุ่มของประเทศที่เพิ่งเปิดตลาดใหม่ และเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและโอกาสในการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ จำนวนมาก ซึ่งมีภูมิประเทศชายแดนติดกัน เชื่อมโยงกันด้วยแม่น้ำโขง หากนักลงทุนใช้ช่องทางโครงการความร่วมมือนี้ โดยอาศัยความได้เปรียบจากการเป็นประเทศสมาชิกในโครงการและความเชื่อมโยงสัมพันธ์ที่มีต่อกันมาเป็นระยะเวลานานในการเข้าสู่ตลาดใหม่ของประเทศสมาชิกเหล่านี้ย่อมถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนเหล่านั้น

ความเป็นมาและหลักการในการจัดตั้งโครงการความร่วมมืออนุภูมิภาคแม่น้ำโขง

โครงการความร่วมมืออนุภูมิภาคแม่น้ำโขงนี้เป็นโครงการหนึ่งที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) จัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยในการส่งเสริมศักยภาพและประสิทธิภาพและบรรลุถึงเป้าหมายในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ และสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของภูมิภาคเอเชีย อันเป็นภารกิจหลักของธนาคารโดยธนาคารมีบทบาทสำคัญในการเป็นคนกลางเชื่อมโยงเริ่มต้นให้ประเทศสมาชิกต่างๆ มาร่วมกันในโครงการ GMS นี้ นอกจากนี้ธนาคารยังมีบทบาทในด้านการเป็นผู้สนับสนุนในการดำเนินการนโยบายหรือโครงการใดๆ ก็ตาม ภายใต้โครงการความร่วมมือดังกล่าวนี้ทางด้านการเงิน ลักษณะของการให้กู้ที่มีภาระดอกเบี้ยต่ำและทางด้านวิชาการในการพัฒนาโครงการต่างๆ

โครงการความร่วมมือ GMS นี้ได้รับการจัดตั้งและเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1992 โดยเป็นการรวมตัวกันของประเทศ ที่มีที่ตั้งตามภูมิศาสตร์อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแม่น้ำสากลของโลกที่มีความสำคัญค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในระดับภูมิภาค ประเทศที่เป็นสมาชิกในโครงการร่วมมือดังกล่าว ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา ประเทศพม่า ประเทศเวียดนาม และประเทศจีนตอนใต้บริเวณแคว้นยูนนาน

โครงการความร่วมมือ GMS นี้มีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมการพัฒนาขยายความเจริญทางด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและลดระดับความยากจนของประชากรภายในกลุ่มประเทศสมาชิกดังกล่าว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเป้าหมาย Millennium Development Goal ที่ประเทศต่างๆ ตั้งเป้าหมายไว้ โดยการขยายศักยภาพในด้านของความร่วมมือเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกที่มีพรมแดนเชื่อมโยงกัน เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางด้านการค้าการลงทุน อุตสาหกรรม การเกษตร การบริการ สนับสนุนการจ้างงาน ซึ่งจะนำไปสู่ผลสุดท้าย คือการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น

นอกจากเป้าหมายในการพัฒนาอย่างเร่งด่วนทางด้านการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านเศรษฐกิจแล้ว โครงการดังกล่าวยังมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมืออย่างยั่งยืนในระยะยาวอีกด้วย เช่นการส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือทางเทคโนโลยีและการศึกษา ตลอดจนส่งเสริมให้มีการจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน

โครงการความร่วมมือ GMS นี้ไม่ได้มีการจัดตั้งเป็นรูปแบบขององค์กรที่มีรูปแบบของสถาบันชัดเจน ดังเช่นกรอบความร่วมมือ ASEAN แต่จะดำเนินการไปในลักษณะที่พิจารณาเป็นรายโครงการที่ต้องการจะส่งเสริม โดยจะกำหนดแผนการดำเนินการร่วมกันโดยมุ่งเน้นถึงผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ

ความได้เปรียบของโครงการความร่วมมือ GMS

โครงการความร่วมมือ GMS นี้ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2.6 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งเท่ากับพื้นที่โดยประมาณของภูมิภาคยุโรปตะวันตกและครอบคลุมจำนวนประชาชนประมาณ 320 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประชากรทั้งหมดของประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นโครงการความร่วมมือที่ค่อนข้างใหญ่ แต่ด้วยเหตุที่เป็นเพียงโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศเท่านั้น ไม่ได้มีการจัดตั้งองค์กรสถาบันต่างๆ ขึ้น จึงทำให้ไม่มีบทบาทในการต่อรองในเวทีการเมืองการค้าระหว่างประเทศเท่าใดนัก

ด้วยความได้เปรียบในแง่ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศในกลุ่มโครงการ ความร่วมมือนี้ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางการเดินทางหรือประตูด่านแรกสำหรับการขนส่งสินค้าบริการ การเดินทางหลักของประเทศต่างๆ ที่จะเข้าสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียเลยทีเดียว เพราะถือเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงติดต่อระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากนักลงทุนสามารถใช้ความได้เปรียบดังกล่าวในการเพิ่มเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของตนเองได้ ย่อมถือเป็นโอกาสที่ดี

นอกเหนือจากความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์แล้ว โครงการความร่วมมือ GMS ยังมีความได้เปรียบในด้านของความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่แต่ละประเทศสมาชิกมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสินค้าเกษตร แร่ธาตุต่างๆ ป่าไม้ หรือในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติสำหรับประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยว

ซึ่งทรัพยากรดังกล่าวยังมีความสมบูรณ์อยู่ค่อนข้างมากและมีจำนวนมากที่ยังไม่ถูกรบกวน หรือยังไม่ได้มีการบุกเบิก เพราะประเทศส่วนใหญ่ในโครงการความร่วมมือเพิ่งเปิดตลาดต้อนรับนักลงทุนต่างประเทศได้ไม่นาน เช่น ประเทศลาว จีน เป็นต้น

ความร่วมมือและการแสดงเจตจำนงในการผูกพันที่จะปฏิบัติตามพันธะที่ผูกพันกันภายใต้กรอบโครงการความร่วมมือ GMS ของประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาค ซึ่งรัฐบาลของแต่ละประเทศตกลงผูกพันที่จะดำเนินการสานต่อโครงการและดำเนินการ ให้บรรลุเป้าหมายของความร่วมมือร่วมกันอย่างเข้มแข็งและหนักแน่น ดังที่ได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมกันที่คุนหมิง (Kunming Declaration) และการลงนามในพิธีสารและสนธิสัญญาทั้งพหุภาคีและทวิภาคีที่รัฐบาลต่างๆ ได้ลงนามเพื่อพัฒนามาตลอด

สำหรับนักลงทุนของประเทศไทยนั้นถือเป็นความได้เปรียบอย่างมาก เพราะความสัมพันธ์อันยาวนานที่ประเทศไทยมีกับประเทศสมาชิกในโครงการร่วมมือดังกล่าว ประกอบกับความใกล้เคียงของวัฒนธรรมที่ประเทศไทยมีกับประเทศต่างๆ ลดอุปสรรคในด้านวัฒนธรรมและการติดต่อสื่อสาร วิสัยทัศน์และเป้าหมายการพัฒนาของโครงการความร่วมมือ GMS

โครงการความร่วมมือ GMS มีแผนการในการพัฒนายุทธศาสตร์ระยะยาว 3 ด้านหลัก หรือที่เรียกกันว่า 3Cs เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างความมั่งคั่ง ความร่วมมือ และความปรองดองระดับอนุภูมิภาค ได้แก่

- การสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) ผ่านการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างประเทศให้ครบถ้วน มีประสิทธิภาพและยั่งยืน

- การเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันในระดับอนุภูมิภาค (Competitiveness) ผ่านการส่งเสริมประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวสินค้าและประชากรระหว่างประเทศ การรวมตัวของระบบการตลาดและการผลิต เพื่อพัฒนาไปสู่การรวมกลุ่มที่มีอิทธิพลในเวทีการค้าระหว่างประเทศที่มากขึ้น และ

- การเสริมสร้างความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกันของการเป็นชุมชน (Community) จากการส่งเสริมการพัฒนาเชื่อมโยงระบบสาธารณูปโภค การเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การตระหนักร่วมกันถึงความจำเป็นในการร่วมมือพัฒนาทั้งทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมและด้านอื่นๆ เพื่อนำไปสู่ความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกันในสังคม

โครงการ GMS มุ่งเน้นในการพัฒนาดำเนินการโครงการที่สำคัญในอนุภูมิภาค โดยแบ่งออกเป็น 9 ภาคส่วนหลักที่จะมีการส่งเสริมเป็นพิเศษ ได้แก่ การคมนาคมขนส่ง การพัฒนาทางด้านพลังงาน การพัฒนาด้านโทรคมนาคม การพัฒนาทางด้านทรัพยากรมนุษย์ การท่องเที่ยว การพัฒนาดูแลรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการค้าการลงทุนของเอกชนในประเทศต่างๆ และทางด้านการเกษตร

โครงการร่วมมือ GMS ได้ร่วมกันดำเนินการวางแผน Strategic Framework สำหรับปี 2002 ถึงปี 2012 ขึ้นชัดเจน เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือที่เป็นขั้นตอนและมีลักษณะการดำเนินการที่ชัดเจน และได้มีการขยายความในด้านการปฏิบัติเพิ่มเติม เป็น Action Plan ที่ได้มีการจัดทำและตกลงกันที่การประชุมที่นครหลวงเวียงจันทน์ของประเทศลาว ในระหว่างการจัดประชุม GMS Summit ครั้งที่ 3 โดยเป็น Action Plan สำหรับปี 2008 ถึงปี 2012 ซึ่งได้มีการพัฒนาปรับปรุงเพิ่มเติมรายละเอียดให้สอดคล้องกับการที่ธนาคารพัฒนาเอเชียได้ทำการประเมินผลการดำเนินการโครงการทั้งหมดที่ได้จัดทำมาของโครงการความร่วมมือในช่วงปี 2007

โครงการที่ได้มีการพัฒนาเป็นรูปธรรมแล้ว ภายใต้โครงการความร่วมมือ GMS

ภายหลังจากได้มีการพิจารณาวางกรอบความร่วมมือในลักษณะเป็นบูรณาการแล้ว จากทั้ง 9 ภาคส่วนหลักแล้วได้มีการเริ่มดำเนินการจัดตั้งปฏิบัติแผนการดังกล่าวให้มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของการจัดตั้งคณะทำงาน หรือการลงนามในความตกลงเพิ่มเติม ยกตัวอย่างเช่น

1. ความตกลงเกี่ยวกับการเชื่อมต่อเส้นทางการขนส่งข้ามพรมแดน

โครงการความตกลงเกี่ยวกับการเชื่อมต่อเส้นทางการขนส่งข้ามพรมแดน (GMS Cross-Border Transport Agreement: CBTA) เป็นการทำความตกลงพหุภาคีของประเทศสมาชิกที่รวบรวมแผนการ ดำเนินการและความตกลงหลายฉบับที่ประเทศสมาชิกได้ดำเนินการจัดทำร่วมกัน เพื่อส่งเสริมให้ความสะดวกทางด้านการขนส่งระหว่างประเทศให้เป็นความตกลงเดียวกัน ซึ่งเป้าหมายหลักในการดำเนินการ ได้แก่ การจัดทำให้ระบบศุลกากรเป็นระบบเดียว (Single-window customs) การเคลื่อนย้ายของประชากรในการเข้าออก ข้ามพรมแดนเป็นไปได้อย่างสะดวก ระบบการขนส่งและส่งผ่านสินค้าที่จะลดขั้นตอนและยกเว้นการตรวจสอบ หรือการวางประกันบางส่วน และที่สำคัญที่สุดคือ การดำเนินการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน สะพานต่างๆ ให้ได้มาตรฐาน เพื่อรองรับการขนส่งระหว่างประเทศของประเทศสมาชิก โดยจะได้มีการตกลงในส่วนของเส้นทางหลัก จุดเชื่อมโยงระหว่างประเทศที่จะได้มีการตกลงสำหรับนักลงทุนของประเทศสมาชิกในการใช้ เพื่อเพิ่มความสะดวกและลดต้นทุนในการขนส่งระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยความตกลงดังกล่าวได้มีการลงนามและให้สัตยาบันโดยประเทศสมาชิกทั้งหกประเทศแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2003

สำหรับประโยชน์อย่างชัดเจนที่นักลงทุนประเทศไทย ซึ่งถือเป็นประเทศภาคีในโครงการดังกล่าวจะได้รับอย่างชัดเจน ได้แก่ ประโยชน์จากการช่วยลดต้นทุนและลดความล่าช้าในการขนส่งสินค้าทั้งในระหว่างประเทศภาคีด้วยกัน รวมถึงการขนส่งที่ใช้เส้นทางผ่านจากประเทศภาคีไปสู่ส่วนอื่นของภูมิภาคเอเชีย ด้วยความได้เปรียบจากการเป็นจุดเชื่อมโยง (Hub) ในแง่ภูมิศาสตร์ของโครงการความร่วมมือ GMS

2. โครงการสร้างเสริมจุดเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ GMS

กลุ่มประเทศสมาชิก GMS ได้รับรองการดำเนินการร่วมกันในการพัฒนา โครงการสร้างเสริมจุดเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (GMS Economic Corridor) ในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มประเทศ GMS ครั้งที่ 8 ซึ่งจัดตั้งขึ้นที่กรุงมะนิลา ปี 1998 โดยมุ่งเน้นที่จะพัฒนาและเสริมสร้างการลงทุนในด้านของการขนส่ง พลังงาน และการโทรคมนาคมในอนุภูมิภาค โดยจะเพิ่มศักยภาพให้แก่ระบบการขนส่งสินค้าและบริการให้เป็นไปได้โดยไม่ก่อให้เกิดต้นทุนหรือความล่าช้าเกินสมควร ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาระดับภูมิภาค และจะนำไปสู่การลดระดับความยากจนของประชาชนได้ในที่สุด การสร้าง Economic Corridor นี้มีการดำเนินการขยายออกเป็น 3 เส้นทางหลักด้วยกัน คือ แผนงานพัฒนาแนวพื้นที่ เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) แผนงานพัฒนาแนวพื้นที่ เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) และแผนงานพัฒนา แนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor) ซึ่งแผนการดำเนินการทั้งหมดได้มีการพัฒนาและดำเนินการเป็นรูปธรรมและเป็นผลสำเร็จแล้วในหลายโครงการ โดยการสนับสนุนทางด้านเงินทุน และการช่วยเหลือทางด้านวิชาการจากธนาคารพัฒนาเอเชีย

โครงการ Economic Corridor ดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สามารถเอื้อ ประโยชน์ให้แก่นักลงทุนประเทศไทยได้อย่างมาก เพราะเป็นการเพิ่มช่องทางเลือก ในการขนส่งสินค้าและการเคลื่อนย้ายของแรงงานของประเทศไทยไปยังพื้นที่ต่างๆของอนุภูมิภาค รวมไปยังนอกกลุ่มประเทศสมาชิกได้หลายช่องทางและหลายวิธีการมากขึ้น ทำให้เป็นโอกาสในการลดต้นทุนในการขนส่ง เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าไทย และเพิ่มเครือข่ายตลาดให้แก่นักลงทุนได้อย่างมาก

3. โครงการพัฒนายุทธศาสตร์ในด้านพลังงานของอนุภูมิภาค (GMS Energy Strategy)

กลุ่มอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงถือเป็นหนึ่งในกลุ่มอนุภูมิภาคที่มีการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจค่อนข้างรวดเร็ว กลุ่มประเทศภายใต้โครงการดังกล่าวจึงเห็นความจำเป็นร่วมกันในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีความยั่งยืน และการจัดการทางด้านพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ได้จึงมีการวางแผนเพื่อพัฒนาดำเนินโครง การ GMS Energy Strategy ขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงความสามารถในการผลิตพลังงานของประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาคแล้ว จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศ ล้วนแต่เป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ พลังงานจากแร่ธาตุ หรือการผลิตพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ เช่น รูปแบบโรงไฟฟ้าพลังน้ำของประเทศลาวหรือประเทศจีน เป็นต้น เพียงแต่การดำเนินธุรกิจพลังงานดังกล่าวยังขาดการเชื่อมต่อการจัดการให้เป็นระบบมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้าที่ยังขาดการพัฒนาและเชื่อมต่อกันทั้งอนุภูมิภาค เป็นปัญหาด้านการขาดตอนของการส่งกระแสไฟฟ้า นำไปสู่ปัญหาต้นทุนในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยรวม ที่แต่ละประเทศต้องนำเข้าและส่งออกแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มประเทศที่สูงเกินสมควร

สำหรับโครงการพัฒนายุทธศาสตร์ ในด้านพลังงานของอนุภูมิภาคนี้มีการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมพอสมควร ได้มีการลงนามในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการซื้อขายไฟฟ้าและการสร้างเครือข่ายสายส่งระหว่างประเทศ (Inter-Governmental Agreement on Regional Power Trade in the Greater Mekong Subregion) โดยรัฐบาลของทั้งหกประเทศภาคีแล้ว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2002 โดยความตกลงมีจุดประสงค์ให้ประเทศสมาชิกร่วมมือและวางแผนพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าที่ประหยัด และมีความมั่นคง รวมไปถึงสร้างกลไกในการดำเนินการซื้อขายไฟฟ้าในอนุภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โครงการพัฒนายุทธศาสตร์ทางด้านพลังงานของภูมิภาคนี้ย่อมเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนประเทศไทยที่ดำเนินการลงทุนในด้านธุรกิจพลังงานอย่างแน่นอน ในแง่ของการขยายความร่วมมือทางด้านการพัฒนาธุรกิจพลังงานในระดับภูมิภาคให้มั่นคงมากขึ้น นอกเหนือจากข้อตกลงความร่วมมือระดับทวิภาคี ในการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้านที่ประเทศไทยได้ทำอยู่กับบางประเทศ เช่น ประเทศลาว พม่า เป็นต้น โดยการขยายโอกาสช่องทางเพิ่มประเทศคู่สัญญาให้เพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากนี้ ยังมีส่วนในการให้ความมั่นคง อำนวยความสะดวกในด้านของระบบสายส่งที่จะครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ มากยิ่งขึ้น เป็นการพัฒนาทั้งระบบ

สำหรับนักลงทุนที่ดำเนินธุรกิจประเภทอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจพลังงาน ก็ย่อมได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนานี้เช่นกัน เพราะพลังงานเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญต่อการประกอบธุรกิจทุกประเภท หากระบบไฟฟ้ามีเครือข่ายที่ครอบคลุมมากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น การขยายธุรกิจของนักลงทุนต่างๆ ย่อมสามารถขยายไปครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ได้มากขึ้นตามไปด้วย

4. การพัฒนาคณะทำงานด้านการเกษตร (Working Group on Agriculture)

การเกษตรเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่โครงการ GMS ให้ความสำคัญในการส่งเสริมโดยมีการจัดตั้งคณะทำงานการพัฒนาด้านการเกษตรขึ้น เพื่อการวิเคราะห์การตลาดและการจัดตั้งตลาด การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และเทคโนโลยี การลงทุนของเอกชนในด้านการเกษตร โดยแบ่งการส่งเสริมออกเป็น 4 กลุ่มย่อย คือ การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การประมง และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ โดยคณะทำงานได้มีการจัดทำแผนการดำเนินการที่ชัดเจนในด้านการเกษตร ดังที่ปรากฏเป็น Strategic Framework เฉพาะ

การพัฒนาทางด้านการเกษตรเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการช่วยพัฒนาศักยภาพของนักลงทุนประเทศไทย เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยนั้นมีความอุดมสมบูรณ์และเป็นที่นิยมอยู่แล้วในตลาดโลก การดำเนินการเข้าร่วมโครงการพัฒนานี้ย่อมช่วยเสริมสร้างจุดแข็งของประเทศไทยได้อีกส่วนหนึ่ง

5. ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวได้มีการดำเนินการโครงการจัดทำแผนการตลาดท่องเที่ยวที่เรียกว่า Six Countries One Destination โดยมี Agency for Coordinating Mekong Tourism Activities (AMTA) ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นศูนย์ประสานงานหลักด้านการตลาด เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างประเทศในรูปแบบของ package tour ประกอบการพัฒนาศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ GMS Visa เพื่อความสะดวกของนักท่องเที่ยว

ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาหลายปัญหาที่อาจส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นแหล่งเงินได้หลักของประเทศไทยที่สำคัญแหล่งหนึ่ง รูปแบบความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในระบบเชื่อมโยงอนุภูมิภาคเช่นนี้ย่อมเป็นทางเลือกและทางออกที่จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

นอกจากโครงการที่ดิฉันได้นำเสนอในบทความฉบับนี้แล้ว โครงการความร่วมมือ GMS ยังได้มีการพัฒนาโครงการอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งย่อมมีส่วนช่วยเพิ่มเสริมศักยภาพประสิทธิภาพในการลงทุนของนักลงทุนประเทศไทยได้อีกมาก

การที่นักลงทุนประเทศไทยได้รับทราบถึงความร่วมมือที่มีอยู่ในปัจจุบันของโครงการ GMS ซึ่งถือเป็นโครงการความร่วมมือที่ถือว่าใกล้ตัวที่สุดกับประเทศไทย ย่อมจะนำไปสู่โอกาสทองอีกมากสำหรับนักลงทุน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การค้าและเศรษฐกิจโลกที่มีปัญหาค่อนข้างมาก ความร่วมมือของประเทศใกล้เคียงดังเช่นกลุ่มประเทศ GMS นี้ย่อมเป็นโอกาสและช่องทางที่ดีที่นักลงทุนประเทศไทยควรศึกษาและใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์สูงสุด   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us