หลังการร่วมพัฒนาเส้นทาง R3a จากเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ถึงเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว ติดชายแดนจีนที่โม่หาน หรือเมิ่งหาน เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ระยะทาง 247 กม. (รายละเอียดอ่านเรื่อง "ประตู (อินโด) จีน เปิดแล้ว!!! นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2550 หรือ www. gotomanager.com)
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางคุน-มั่ง กงลู่ ที่อยู่ภายใต้การช่วยเหลือด้านงบประมาณจาก สป.จีน และไทย โดย สปป. ลาว ที่ใช้เงินกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เข้ามาลงทุนด้วยส่วนหนึ่ง
จนการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา (2552)
ทำให้ สปป.ลาวจากประเทศที่เป็น Land Lock ไม่มีทางออกสู่ทะเล ได้กลายเป็น Land Link พื้นที่เชื่อมโยงการค้าการลงทุน การท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศที่มีมิติทางด้านภาษา-วัฒนธรรมเดียวกัน อันมีลักษณะทางสังคมเครือญาติ ระหว่างไทย-สปป.ลาว-เชียงรุ่ง หรือสิบสองปันนา ของ สป.จีน-รัฐฉาน ประเทศพม่า และไทยอาหมในอินเดียได้นั้น
วันนี้เส้นทางที่เป็นเหมือนจุดเชื่อม ต่อ (Junction) ทางบกระหว่างมณฑลทางตอนใต้ของ สป.จีน เข้ากับโครงข่ายทางหลวงของไทย เพื่อเปิดทางให้ สป.จีน ออกสู่ทะเลตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic corridor) ได้นั้น ล้วนคลาคล่ำไปด้วยกลุ่มทุนจาก สป.จีน ที่ได้ลงหลักปักฐานทางธุรกิจไว้อย่างแน่นหนา
ล่าสุดกลุ่มทุนขนส่งจาก สป.จีนได้ยื่นขอสัมปทานเดินรถจากเมืองเชียงรุ่ง เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มาจนถึงเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว แล้ว
โดยระหว่างที่ตัวแทนสมาคมท่องเที่ยว เขตปกครองตนเองสิบสองปันนานำโดย Song Rong รองนายกสมาคมฯ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเทียนเฉินทราเวลกรุ๊ป, Lin Kai รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เทียนเฉินทราเวลกรุ๊ป, Zhou Zen กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหยุน หนันทราเวลบัส จำกัด สาขาสิบสองปันนา พร้อมคณะ ได้เข้าหารือกับสมาคมท่องเที่ยวเชียงราย เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
คณะตัวแทนนักธุรกิจจีนกลุ่มนี้ได้ยืนยันว่า บริษัทเอกชนจีนได้เดินเรื่องขอสัมปทานเดินรถผ่านถนน R3a จากเมืองบ่อเต็นมาถึงเมืองห้วยทราย สปป.ลาว แล้ว
ผกายมาศ เวียร์รา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทแม่โขงเดลต้า ทราเวล เอเจนซี่ จำกัด บอกกับ ผู้จัดการ 360 ํ ว่า ได้รับการยืนยันจากทางการลาวเช่นกันว่าบริษัทเอกชนจีนได้ร่วมลงทุนกับบริษัทสีสุพันการค้า จำกัด ของ สปป.ลาว ยื่นขอสัมปทานเดินรถระหว่างเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ขึ้นไปถึงเมืองเชียงรุ่ง หรือจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนาของ สป.จีน และแน่นอนว่าจากเส้นทางดังกล่าว ยังสามารถเชื่อมต่อไปถึงนครคุนหมิง เมืองหลวงของมณฑลหยุนหนัน สป.จีน ที่อยู่ห่างจากเชียงรุ่ง 620 กม. ตามทางด่วนคุน-มั่ง กงลู่ ที่เกือบเสร็จสมบูรณ์ตลอดสายแล้ว
(รายละเอียดอ่านเรื่อง "คุน-มั่ง กงลู่" เส้นทางจีนสู่อาเซียน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2551 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ)
โดยล่าสุด แม้ว่าขณะนี้การยื่นขอสัมปทานเดินรถดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล สปป.ลาว แต่เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาแต่อย่างใด
ผกายมาศเป็นผู้ที่มีข้อมูลการลงทุนในพื้นที่แถบนี้มากที่สุดผู้หนึ่ง เพราะนอกจากเธอจะเป็นกรรมการผู้อำนวยการบริษัท แม่โขงเดลต้า ทราเวล เอเจนซี่ จำกัด กลุ่มบริษัทนำเที่ยวในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ไทย-พม่า-ลาว-จีน แล้ว เธอยังเป็นกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทไทยอินโดไชน่า เทรดดิ้ง แอนด์เซอร์วิส (ไทยแลนด์) ซึ่งมีร้านค้าปลอดภาษีในเครือข่าย ทั้งที่เมืองท่าขี้เหล็กของพม่า และเมืองห้วยทราย และบ่อเต็น สปป.ลาวอีกด้วย
"ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตาทีเดียว เพราะจีนเขารุกลงมาลงทุนในพื้นที่แถบนี้อย่างหนัก แต่ภาคธุรกิจไทย นอกจากจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลแล้วยังต้องเจอปัญหาวิกฤติภายในประเทศที่ยังไม่รู้ว่าจะจบอย่างไรอีกด้วย" เธอตั้งข้อสังเกต
ความกังวลของผู้ประกอบการไทยครานี้ดูเหมือนจะไม่ผิดนัก
เนื่องจากสัมปทานเดินรถในถนน R3a ของกลุ่มทุนจากจีนกลุ่มนี้เป็นเพียงจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่จะเติมเต็มเกมรุกเข้าครอบครองพื้นที่การลงทุนใหม่ในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจแห่งนี้
เพราะนอกจากจะเดินเรื่องขอสัมปทานเดินรถผ่านเส้นทางสาย R3a ใน สปป.ลาวแล้ว กลุ่มทุนท่องเที่ยวจากจีนยังได้เข้ามาเช่าอาคารพาณิชย์ของบริษัทเหนือสุดศิวิไลซ์คอมเพล็กซ์ จำกัด บริเวณต้นตะเคียนคู่ ต.สันทราย อ.เมือง จ.เชียงราย ติดถนนพหลโยธินสายเชียงราย-พะเยา เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการประสานงานด้านการตลาด เพื่อรองรับการให้บริการเดินทาง-นำเที่ยวจาก สป.จีนมาไทยและจากไทยไป สป.จีน ทั้งทางบกและทางน้ำ (ผ่านแม่น้ำโขง) ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าเรือที่วิ่งขึ้น-ล่องตามเส้นทางนี้ล้วนแต่เป็นเรือสัญชาติจีนทั้งสิ้นอยู่แล้ว
พร้อมกับการเดินเรื่องผ่านบริษัท เหนือสุดศิวิไลซ์คอมเพล็กซ์ที่จะผลักดันให้ตั้งสถานกงสุลจีนขึ้นที่เชียงรายอีกแห่งหนึ่งเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักเดินทาง
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนพัฒนาที่ดินของบริษัทเหนือสุดศิวิไลซ์คอมเพล็กซ์ ได้ใช้วิธียกที่ดิน 8 ไร่ พร้อมสร้างสถานีขนส่งแห่งที่ 2 ให้กับจังหวัด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับที่ดินโดยรอบ โดยสามารถทำโครงการพัฒนาที่ดินขายได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน
ณัฐพล รัตนโสภณ ผู้บริหารและผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทเหนือสุดศิวิไลซ์คอมเพล็กซ์ ระบุว่าบริษัทท่องเที่ยวจาก สป.จีนที่เข้ามาเช่าพื้นที่ของบริษัท ตั้งเป็นจุดประสานงานให้บริการ ยังมีการวางแผนที่จะขายทัวร์ลุ่มแม่น้ำโขงทั้งระบบ และในอนาคตก็จะมีรถโดยสารวิ่งระหว่างไทย ลาว จีนตอนใต้อีกด้วย
โดยทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่า น่าจะมีการตั้งสถานกงสุลเพิ่มเติมที่เชียงราย ซึ่งบริษัทเหนือสุดศิวิไลซ์คอมเพล็กซ์ก็พร้อมที่จะยกพื้นที่จำนวน 3 ไร่ บริเวณเดียวกับที่ยกให้กับกรมการขนส่งทางบก ให้ใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างสถานกงสุล
ล่าสุดได้ทำเรื่องเสนอผ่านกรรมาธิการกิจการค้าชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ช่วยผลักดันเรื่องนี้แล้ว
แน่นอนว่าตามแผนงานของกลุ่มทุนจีน ล้วนมุ่งเป้าในการเข้าควบคุมกลไกการให้บริการนำเที่ยวในย่านนี้แบบเบ็ดเสร็จทุกขั้นตอน
และไม่เพียงการรุกเข้ายึดกุมภาคขนส่งผ่านถนน R3a เท่านั้น
ที่ผ่านมากลุ่มทุนจาก สป.จีน ได้รุกเข้ายึดกุมหัวหาดตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ตลอดแนวเส้นทางอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น (ชายแดนลาว-จีน) ในนามบริษัทบ่อเต็นแดนคำ จำกัด ที่เช่าพื้นที่จาก สปป.ลาว เนื้อที่ 1,640 เฮกตาร์ ระยะเวลา 30 ปี ต่ออายุได้อีก 2 ครั้งๆ ละ 30 ปี มูลค่าการลงทุนนับหมื่นล้านบาท (จะมีการโยกย้ายชาวจีนเข้ามาในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 30,000 คน)
โครงการลงทุนปลูกยางพารา ข้าวสาลี เลียบตามเส้นทาง R3a รวมเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 6,000-7,000 เฮกตาร์ ตลอดจนการค้า-บริการ, โครงการก่อสร้างโรงแรมระดับ 3 ดาว ในแขวงหลวงน้ำทา ไม่น้อยกว่า 2-3 แห่ง รวมถึงกิจการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่วนใหญ่จะนำเข้าจาก สป.จีน เป็นหลัก
นอกจากนี้ยังมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกหลายสาขาทั้งร้านอาหาร ธุรกิจบริการอื่นๆ เช่น คลังสินค้า จุดพักรถขนส่งสินค้า บริเวณติดเมืองใหม่บ่อเต็น ที่นักลงทุนจีนเข้ามาดำเนินการในนามบริษัท ขนส่ง จำกัด แห่งประเทศลาว รวมทั้งศูนย์กระจายสินค้าด้านเหนือเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น ฯลฯ
มิพักต้องพูดถึง "Entertainment Area" ครบวงจร ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐของกลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำ จำกัด ทุนจีนที่เดินหน้าเนรมิตพื้นที่ 827 เฮกตาร์ หรือ 5,168.75 ไร่ ที่มีกำหนดเปิดให้บริการเฟสแรกกลางปีนี้
ทั้งที่ในเชิงยุทธศาสตร์แล้วแนวถนนสายนี้ยังต้องใช้เป็นช่องทางสำหรับทุนและสินค้าไทยที่จะส่งเข้าสู่ตลาดทางตอนใต้ ของ สป.จีน ซึ่งมีผู้บริโภคจำนวนหลายร้อยล้านคนอาศัยอยู่ด้วย แต่ทุกวันนี้ในทางปฏิบัติกลับไม่ปรากฏการลงทุนของไทยที่มีผลสอดรับยุทธศาสตร์ดังกล่าวเกิดขึ้น
หากผู้ประกอบการไทยไม่เร่งเดินหน้า สุดท้ายอาจทำได้เพียงบทบาทของผู้รับเหมาช่วงงานต่อเท่านั้น
|