ค่ำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2008 เมืองมุมไบต้องเผชิญกับการก่อการร้ายที่อุกอาจและเลือดเย็น ปฏิบัติการอันเหี้ยมเกรียมดำเนินต่อเนื่องจนถึงเช้าวันที่ 29 ทิ้งให้อินเดียทั้งประเทศต้องอยู่กับคราบน้ำตาและความ หวาดผวาด้วยจำนวนผู้เสียชีวิต 183 คน บาดแผลนี้สดและลึก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยา กลุ่มนักกิจกรรมด้านศิลปะเมืองกัลกัตตาและรัฐเบงกอลตะวันตก ได้เชิญศิลปินจากทั่วประเทศเข้าร่วมในนิทรรศการครั้งประวัติศาสตร์ชื่อ Art Against Terrorism
การก่อการร้ายและความรุนแรงไม่ใช่บาดแผลใหม่ของชาวอินเดีย ด้วยอินเดียมีรัฐที่ชื่อแทบจะพ้องกับ คำว่าการก่อการร้าย อาทิ อัสสัม ติปุระ จัมมูแคชเมียร์ มานีปูร์ อย่างกรณีของอัสสัมนั้น ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา มีเหตุระเบิดถึง 788 ครั้งและเจ้าหน้าที่ตรวจเก็บระเบิด ได้ถึง 5,600 ลูก ขณะที่หัวเมืองใหญ่ซึ่งแม้จะไม่ได้อยู่ในรัฐดังกล่าว เช่น เดลี มุมไบ พาราณสี ก็ตกเป็นเป้าการวางระเบิดอยู่ไม่เว้นแต่ละปี กระนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับมุมไบ ระหว่างวันที่ 26-29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นบาดแผลฉกรรจ์ที่ทำให้คนอินเดียอยู่กับความรู้สึกว่า ทุกคนอาจเป็นเป้านิ่งได้ทุกที่ทุกเวลา
เหตุสะเทือนขวัญครั้งนั้นเปิดฉากขึ้นที่สถานีรถไฟ Chhatrapati Shivaji ในเวลาประมาณ 21.30 น. เมื่อมือปืนสองคนบุกเข้ากราดยิงฝูงชนในโถงรอผู้โดยสารอย่างไม่เลือกหน้า ในเวลาเดียวกันชายติดอาวุธราว 10 คน บุกเข้าไปยังโรงแรม Taj Mahal Palace และเปิดฉากยิงจากโถงรับรองไปตามห้องพักต่างๆ ขณะที่อีกกลุ่มบุกเข้ายึดโรงแรม Oberoi Trident
ไม่กี่นาทีต่อมา มีเหตุระเบิดที่ Vile Parle ทำให้ มีผู้เสียชีวิตทันที 3 คน ตามด้วยการกราดยิงใส่ฝูงชนตามจุดต่างๆ ของเมือง การบุกยึด Nariman House และจับครอบครัวชาวยิวเป็นตัวประกัน
การปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ก่อการร้ายดำเนินต่อเนื่องไปตลอดค่ำคืนอันยาวนาน ที่โอบีรอยฯ เจ้าหน้าที่สามารถเข้าเคลียร์พื้นที่ได้เมื่อบ่ายสามโมงของ วันที่ 28 ตามด้วยนารีมัน เฮาส์ในค่ำวันเดียวกัน ส่วน ที่โรงแรมทัจฯ ยืดเยื้อไปจนถึงเช้าวันที่ 29 จากการโจมตี ทั้งสิ้น 11 จุด ในย่านกลางเมืองยังผลให้มีผู้เสียชีวิต 183 คน เป็นชาวต่างชาติ 22 คน เจ้าหน้าที่ 20 คน ผู้ก่อการร้ายเอง 9 คน และผู้บาดเจ็บ 239 คน โดยคาดว่ามีผู้ก่อการร้ายร่วมในปฏิบัติการราว 25 คน
จากเหตุความรุนแรงที่คร่าชีวิต กัดกร่อนขวัญ และสติของผู้คนนับครั้งไม่ถ้วน ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ศิลปินชาวอินเดียหลายคนสะท้อนความคิดต่อความรุนแรงที่ปะทุอยู่ในบ้านเกิดไว้ในงานของตน อาทิ ศิลปินจากรัฐจัมมูแคชเมียร์ Sajad Hamdani ในงานศิลปะจัดวางชื่อ After the Crack-down และ How to Make the Invisible Red Water To Be Visibly Red ฯลฯ Veer Munshi, Inder Salim, Maneswar Brahma ศิลปินจากรัฐอัสสัม ซึ่งรอยประสบการณ์ตรงจากการโดนผู้ก่อการร้ายยิงปรากฏอยู่บ่อยครั้งในงานภาพพิมพ์และ Mrinmoy Debbarma จากรัฐติปุระที่มักตั้งคำถาม เชิงเปรียบเทียบระหว่างความรุนแรงของการก่อการร้ายกับความรุนแรงที่ปรากฏในสื่อบันเทิงกระแสหลัก
สำหรับเหตุการณ์ 26/11 แม้ได้เกิดขึ้นที่เมือง มุมไบ รัฐมหาราชตระ แต่ความที่เป็นเมืองศูนย์กลางธุรกิจและการเงินของอินเดีย ทั้งเป็นเมืองใหญ่ที่เป็นบ้านที่สองของผู้คนจากทุกรัฐทุกภาค ความสะเทือนขวัญจึงแผ่ไปทั่วทั้งอินเดีย ทำให้กลุ่มนักกิจกรรมด้านศิลปะชาวเมืองกัลกัตตาที่แม้จะอยู่อีกฝั่งฟากของประเทศไม่สามารถนิ่งดูดายและระดมความคิดเกิดเป็นความร่วมมือในรูปของนิทรรศการกลุ่มภายใต้ชื่อ "ศิลปะต้านการก่อการร้าย" โดยมีผลงานจากศิลปิน 117 คน เข้าร่วมจัดแสดงในแกลเลอรี่ทั้งหมด 9 แห่ง ต่อเนื่องกันไประหว่างวันที่ 23 มีนาคมถึง 21 เมษายน ที่ผ่านมา โดยแกลเลอรี่ ที่เข้าร่วม ได้แก่ Aakriti, Akar Prakar, Gandhara, Chitrakoot, Gallery K2, Gallery Sanskriti, Seagull Foundation, Enami Chisel Art และ Chisel Crafts
เป้าหมายของนิทรรศการใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์นี้นอกจากจะเชื้อเชิญให้ศิลปินจากต่างรัฐต่างศาสนาและพื้นวัฒนธรรม ได้สะท้อนความคิดและตั้งคำถามผ่านงานศิลปะต่างสื่อ ทั้งภาพเขียน ภาพพิมพ์ ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง และวิดีโอ ยังคาดหวังว่าจินตนาการและความอ่อนไหวในงานศิลปะอาจมีส่วนสะกิดใจผู้ชมให้ต่อยอดคำถามถึง รากเหง้าของความเกลียดชังและความรุนแรงที่แผ่ระบาดอยู่ในรูปของการก่อการร้าย พร้อมทั้งเยียวยา ขวัญและชุบฟื้นความหวังในใจผู้คน
ประเด็นน่าสนใจอันหนึ่งที่กลุ่มผู้จัดหยิบยก ขึ้นมาคือความหมายของคำว่า Terrorism จาก Oxford Concise Dictionary of Politics ที่ว่า "ผู้ก่อการร้ายสำหรับคนคนหนึ่งอาจเป็นนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพสำหรับคนอีกผู้หนึ่ง" ประเด็นนี้เป็นเรื่อง ที่โต้เถียงกันมาโดยตลอด นับจากการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวแอลจีเรียจากฝรั่งเศส จนถึงกรณีปาเลสไตน์และอิสราเอล รวมถึงแคชเมียร์และอินเดีย ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว หากมองในมุมของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย เขาจะสามารถยอมรับได้หรือว่าความตายหรือการสูญเสียของตน อาจถือเป็นเรื่องชอบธรรมได้
งานศิลปะที่ร่วมแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ มีโมทีฟและการใช้สัญลักษณ์อันหลากหลาย โมทีฟสำคัญอันหนึ่งคือพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุที่อินเดียถือเป็นถิ่นกำเนิดพระพุทธศาสนาและพระพุทธเจ้าเป็นสัญลักษณ์สากลของเมตตากรุณา ดังเห็นได้ในภาพเขียน 'Please save us' ของ Pryanga Lahari ประติมากรรม 'Crying Buddha' ของ Bimal Kundu ภาพเขียน 'The Green Hand' ของ Shuvaprasanna
ถัดมาเป็นโมทีฟในเรื่องเหยื่อ ที่ว่าการก่อการร้ายไม่ว่าจะทำในนามของสิ่งใด (ยังไม่ต้องพูดถึงว่าผู้ก่อการมีความชอบธรรมเพียงไรที่จะกล่าวอ้างเช่นนั้น) เหยื่อของมันก็คือเพื่อนมนุษย์ ซึ่งทุกวันนี้ปฏิบัติการก่อการร้ายแทบจะไม่เลือกเป้าหมายอีกต่อไป อย่างกรณีของมุมไบเองผู้เคราะห์ร้ายก็มีทั้งต่างเชื้อชาติ ศาสนา และลัทธิการเมือง ตัวอย่าง เช่น ภาพเขียน 'never again' ของ Kartick Chandra Pyne, ภาพเขียนผู้หญิงถือดอกไม้สีฟ้าสไตล์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ชื่อ 'victim' ของ Rabin Mondal, ภาพเขียนร่างเงาไร้ใบหน้าของคน สี่คนที่มีรอยกระสุนปืนเจาะร่างชื่อ 'innocents' ของ Prasenjit Sengupta เป็นต้น
ส่วนคำถามถึงวงจรอุบาทว์ และการแผ่เชื้อความเกลียดชัง ความหวาดระแวงและความรุนแรง มีให้เห็นในงานประติมากรรมสื่อผสม 'vicious circle' ของ Sajad Hamdani, ภาพเขียน 'within our body' ของ Anasuya Chakraborty, ภาพเขียน 'removing the evil within' ของ Lalu Prasad Shaw ฯลฯ
อีกประเด็นที่เป็นหัวใจของการก่อการร้ายคือ การที่มันคุกคามชีวิตชนิดประชิดตัว จนเราไม่สามารถพูดได้อีกต่อไปว่าที่ใดเวลาใดบนโลกใบนี้ปลอดจากภัยการก่อการร้าย ถือเป็นธีมของงานศิลปะจัดวางหุ่นทหารและเตียงนอนสีขาวที่ว่างเปล่า ของ Debanjan Roy และงานชื่อ 'juxtaposing the vulnerable with the secure' ของ Adip Dutta ที่ใช้ภาพห้องนอนซ้อนและตัดต่อด้วยกรอบไม้สำหรับให้คนเดินผ่านเพื่อตรวจหาวัตถุโลหะ และภาพเขียนของ P Bardhan รูปรองเท้าแตะที่เหลือเพียงข้างเดียวถูกตรึงตะปูอยู่กับพื้น ไม่สามารถ เหินขึ้นฟ้าไปกับลูกโป่งที่ดูอ่อนแรง
แม้งานส่วนใหญ่จะสื่อสะท้อนถึงความเศร้า ความโกรธแค้นหวาดระแวง ความน่าสะพรึงกลัว ที่โยงใยอยู่ในการก่อการร้าย งานจำนวนไม่น้อยสื่อจินตนาการถึงสันติภาพและความหวัง อาทิ 'prayer for peace' Jayasri Burman, ภาพเขียนแอบสแตร็คท์หลากสีชื่อ 'colours of friendship' ของ Kishore Shinde เป็นต้น
ศิลปะคงไม่อาจต้านแรงกระสุนหรือเป็นกำบังภัย แต่เชื่อว่ามันจะมีส่วนชุบชูขวัญของผู้คนให้มีความหวังและคลายจากความหวาดกลัว ทั้งปลุกปลูกความอ่อนโยนอ่อนไหวขึ้นในจิตใจ ไม่ให้ความเกลียดชังแบ่งแยกเขาเราได้แผ่เชื้อไปสู่การคุกคามอันเหี้ยมเกรียมและขลาดเขลาได้อีกต่อไป
|