|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แม้ว่าระบบ e-learning จะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับแวดวงการศึกษาไทย แต่สำหรับมหาวิทยาลัยรังสิต เทคโนโลยีสารสนเทศดังกล่าวกำลังเป็นประหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาสถานศึกษาแห่งนี้ให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น ภายใต้แนวความคิดที่จะพัฒนาไปสู่การเป็น Cyber University ซึ่งมหาวิทยาลัยรังสิตพยายามที่จะกำหนดนัยความหมายให้แตกต่างไปจากระบบ e-learning ของมหาวิทยาลัยอื่นๆ โดยทั่วไป ม.รังสิต ลงทุนเงินกว่า 185 ล้านบาท เพื่อปรับระบบไอทีภายในมหาวิทยาลัย
นอกเหนือจากการซื้อ Software U-Plus จากสามารถเทลคอม ซึ่งเป็น solutions ที่สถานศึกษาหลายแห่งใช้เหมือนกันแล้ว จุดเด่นของ ม.รังสิต ในการดำเนินการ Cyber University น่าจะอยู่ที่การบริหารจัดการการศึกษาที่นอกจากจะมุ่งเน้นมาตรฐานคุณภาพแล้ว
วิสัยทัศน์ในการปรับแต่งให้ Cyber University เป็นส่วนหนึ่งของงานที่อยู่ภายใต้การกำกับของคณบดีและผู้อำนวยการ โครงการในแต่ละคณะจะต้องรับผิดชอบดูแลและออกแบบหลักสูตร ถือเป็นแรงกระตุ้นให้ Cyber University ของ ม.รังสิต เติบโตและประสบผลสำเร็จอย่างรวดเร็ว
"การบริหารจัดการภายในถือเป็นหัวใจของความสำเร็จของ ม.รังสิต ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงสุดด้วย" บุญมาก ศิริเนาวกุล ผู้ช่วยอธิการบดี ม.รังสิต ในฐานะประธานโครงการระบบการศึกษาทางไกลทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นผู้ดูแล Cyber University ระบุ โดยไม่ลืมที่จะกล่าวถึง อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งนี้
แต่ความสำเร็จของ Cyber University ย่อมไม่ได้เป็นคำตอบที่จะผลักดันให้ ม.รังสิต นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้เป็นต้นแบบในการผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาตรี เพราะนักศึกษาสองกลุ่มนี้มีความต้องการที่แตกต่างกัน
"ม.รังสิต เชื่อว่าชีวิตของนักศึกษาปริญญาตรีต้องการมากกว่าห้องเรียนในอินเทอร์เน็ต ม.รังสิตจึงมองฐานข้อมูลความรู้ภายใต้ระบบ e-learning เป็นเพียงส่วนเสริมที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของนักศึกษามากกว่าที่จะใช้เป็นกลไกหลักในการศึกษาเพื่อให้ได้ปริญญา" บุญมากระบุ
หลักสูตรปริญญาโทภายใต้ระบบการศึกษาทางไกลทางอินเทอร์เน็ตของ ม.รังสิต ในปัจจุบันประกอบด้วยหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตสำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทุกสาขา หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ และหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมืองของวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม
แม้ว่าปรัชญาหลักของ Cyber University ที่เผยแพร่ต่อสาธารณชน จะอยู่ที่การเป็นคำตอบสำหรับผู้สนใจจะศึกษาเพิ่มเติม แต่ติดขัดในมิติของเวลาและการเดินทาง แต่ปฏิเสธได้ยากว่า Cyber University สามารถช่วยให้การบริหารต้นทุนด้านบุคลากรของ ม.รังสิต ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
ขณะเดียวกันการให้คณะต่างๆ ที่เปิดหลักสูตรปริญญาโทออนไลน์เหล่านี้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโดยตรง แทนที่จะต้องไปผูกพันหรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบัณฑิตวิทยาลัย ยังทำให้การพัฒนาฐานข้อมูลของหลักสูตรและลักษณะวิชาสามารถต่อยอดและเอื้อประโยชน์ต่อกันได้ยิ่งขึ้นอีก
กระนั้นก็ดี เป้าประสงค์ที่จะเป็น Cyber University ของ ม.รังสิต ย่อมไม่สามารถยึดโยงอยู่เฉพาะหลักสูตร 3 สาขาในฐานะปฐมบทของการพัฒนาครั้งใหม่ที่เปิดสอนอยู่นี้ได้เท่านั้น หากยังต้องขยายสาขาวิชาออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้นในอนาคต
แต่เป็นเมื่อใดนั้นคงต้องประเมินความพร้อมกันอีกครั้ง
|
|
|
|
|