|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
สภาพัฒน์แถลงเศรษฐกิจไตรมาสแรกหดตัว 7.1% ระบุรุนแรงกว่าที่คาดหลังเศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรง คาดจีดีพีทั้งปีติดลบ 3.5 ถึงติดลบ 2.5% ผู้บริหารแบงก์ชาติยอมรับตัวเลขลบ 7.1% เป็นไปตามประมาณการขั้นเลวร้ายสุด เผยยังไม่เห็นแววมีการลงทุนภาคเอกชนภายในปีนี้ ตามคาดโยนภาระให้ภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจดันความเชื่อมั่น
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไตรมาสแรกปี 52 (ม.ค.-มี.ค.) ว่า มีอัตราการหดตัวที่ร้อยละ 7.1 ต่อเนื่องจากการหดตัวร้อยละ4.2 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 51 เหตุที่รุนแรงกว่าที่คาด เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะที่ถดถอยที่รุนแรงมากขึ้น และต่ำสุดในเดือน เม.ย.52 ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ได้ปรับลดการประมาณการเศรษฐกิจโลกลงจากที่คาดไว้ในเดือน ม.ค. ว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.5 มาเป็นการหดตัวที่ร้อยละ 1.3
ในขณะที่ภาคนอกการเกษตร หดตัวร้อยละ 8.1 เช่น การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวที่ร้อยละ 2.6 และ 17.7 ตามลำดับ จากที่มีการขยายตัวร้อยละ 2.1 และหดตัวเพียงร้อยละ 1.3 ในไตรมาส 4 ปี 51 แม้ภาคอุตสาหกรรมจะหดตัวร้อยละ 14.9 ภาคก่อสร้างหดตัวร้อยละ 7.8 ภาคท่องเที่ยวและบริการหดตัวร้อยละ 5.0 แต่มีภาคการเกษตร กลับขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ถือเป็นภาคที่สร้างให้เศรษฐกิจของประเทศไม่หดตัวมากกว่านี้
สำหรับ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 52 คาดว่าจะหดตัวต่อเนื่องครั้งแรก โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยทั้งปี จะอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ -3.5 ถึง ร้อยละ -2.5 ซึ่งเป็นการลดการประมาณการจากเดิม ร้อยละ 3.1 ถึง ร้อยละ 0 อย่างไรก็ตาม คาดว่า ก็มีโอกาสที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในครึ่งหลังของปี52 และช่วยให้การหดตัวของทั้งปีไม่รุนแรง
นายอำพนกล่าวว่า สภาพัฒน์ขอส่งสัญญาณไว้ว่า แม้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก จะถดถอยโดยติดลบที่ร้อยละ 7.1 แต่เชื่อว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3-4 จะต้องเกิดขึ้นจากแผนการลงทุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ รวมทั้งโครงการไทยเข้มแข็งที่รัฐจะลงทุน 1.1 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์การลงทุนในเศรษฐกิจโลกเห็นได้ว่า อัตราเฉลี่ยการลงทุนอยู่ที่ร้อยละ 70 ขณะที่ประเทศไทยมีอัตราการลงทุนเพียงร้อยละ 57 แม้จะปรับตัวในไตรมาสแรกที่ร้อยละ 60.7
"ถ้าไม่ดำเนินการในเดือน ก.ย.-ต.ค.52 นี้ หรือจะไปรอภาคเอกชนลงทุนก็จะลำบาก หากรัฐบาลทำทันในเดือน ก.ย.52 นี้ เชื่อว่าการลงทุนในไตรมาส 1 ของปี 53 ก็จะเห็นผลที่ดี"
นอกจากนี้ ยังต้องระมัดระวังโดยจับตามองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการตอบสนองเพื่อการผลิตจากไตรมาสี่ของปี 51 เท่านั้น และจะต้องดูเสถียรภาพของภาคเอกชนที่มีปัญหาภาคการผลิตต่ำกว่าร้อยละ 75
ประการสุดท้าย ในเรื่องของความผันผวนค่าเงินบาท และความผันผวนของราคาน้ำมัน เนื่องจากประมาณการไตรมาสแรกในปี 52 ราคาน้ำมันอยู่ที่ 50-55 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาเรลล์ แต่ขณะนี้ในเดือน พ.ค.52 ประมาณ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคากลับสูงกว่า 61 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาเรลล์ ส่วนความผันผวนของค่าเงินบาทต้องระมัดระวังการเคลื่อนย้ายเงินทุน
นายอำพนกล่าวด้วยว่า สภาพัฒน์ฯยังไม่กล้ายืนยันการเจริญเติบโตไตรมาสสองของปี 52 จะไปในทิศทางใด แม้จะเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองในเดือนเม.ย. จากม็อบคนเสื้อแดง และปัญหาไข้หวัด 2009 รวมทั้งยังไม่ประเมินมาตรการที่เป็นนโยบายของรัฐบาล ทั้งเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท เงินช่วยผู้สูงอายุและ อสม. 500 บาท ดังนั้นถ้ายังมีความวุ่นวายอยู่ ตนก็ยังไม่กล้ายืนยัน เพราะปัจจัยในประเทศ ถือว่าจะทำให้ประเทศฟื้นฟูไปทิศทางใด แต่หากไปในในทางที่ดีไตรมาส 3-4 ก็จะได้ประโยชน์
"จากความเสียดทานในไตรมาสแรกต่อไตรมาสสอง หากมีความเสียดทานดี คาดว่า ไตรมาสสองดีที่สุดจะอยู่ที่ 0% แต่ใน 3-4 เดือนนี้เศรษฐกิจอาจจะต้องเดินหน้า เศรษฐกิจก็จะหมุนไป เนื่องจากเศรษฐกิจโลกก็มีการเริ่มเดินหน้าแล้ว" นายอำพนกล่าว
ธปท.ยอมรับเลวร้ายสุด
วันเดียวกัน นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การที่สภาพัฒน์ ได้ประกาศอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจแท้จริงของไทยไตรมาสแรกของปีนี้ติดลบ 7.1% อยู่ในระดับที่ ธปท.ประเมินไว้ แต่ยอมรับว่าอยู่ในด้านแย่ เป็นกรณีเลวร้าย โดยในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับล่าสุดเดือน เม.ย. ธปท.ประเมินว่าเศรษฐกิจไตรมาสแรกติดลบมากกว่า 7% ซึ่งมีโอกาสความเป็นไปได้แค่ 5% ขณะที่เศรษฐกิจติดลบ 5-6% ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด คือ 43%
“แม้เศรษฐกิจไทยติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน แต่ไม่ได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ดังนั้น ภาพเศรษฐกิจทุกอย่างคลายเหมือนเดิม ซึ่ง ธปท. แต่ตัวเลขเป็นเพียงการยืนยันขนาดว่าไปด้านแย่กว่าที่ประเมินไว้ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อเครื่องชี้เศรษฐกิจบางตัวขึ้นไปแรง เมื่อตกมาจะหวังให้เริ่มขึ้นมาเร็วคงเป็นไปไม่ได้”
ทั้งนี้ ธปท.ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบเป็นกับช่วงเดียวกันปีก่อนติดลบอยู่แล้ว เพราะฐานปีก่อนสูง ขณะที่เมื่อเทียบอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจเริ่มหดตัวในระดับชะลอตัวลง โดยเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส คือ จากไตรมาส 4 ปี 51 เทียบไตรมาส 3 ปี 51 หดตัว 6.1% แต่ไตรมาสแรกปีนี้เทียบกับไตรมาส 4 ปี 51 หดตัวแค่ 1.9% แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครรู้ว่าจะดีต่อเนื่องได้แค่ไหน
ประกอบกับขึ้นอยู่กับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ของรัฐบาล ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ว่าจะดึงความเชื่อมั่นเอกชนกลับมาด้วย อย่างไรก็ตาม ธปท.มองเช่นเดียวกัน สศช.ที่ว่าการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้ยังติดลบอยู่ ซึ่งสะท้อนได้จากอัตรากำลังการผลิตในช่วงไตรมาสแรกยังมีการลงทุนเพียงเล็กน้อย แม้บางภาคธุรกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นทั้งกำลังการผลิตและดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม จึงขึ้นอยู่กับภาคธุรกิจและเงินทุนที่เข้ามาจริงว่าจะสามารถเพิ่มอัตรากำลังการผลิตในอนาคตได้แค่ไหน.
|
|
|
|
|