Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์25 พฤษภาคม 2552
ธนาคารพาณิชย์เมินอำนาจแบงก์ชาติสั่ง'ลดดอกกู้-ปล่อยสินเชื่อ'อย่าหวัง             
 


   
search resources

Interest Rate




มึนแบงก์ชาติ'ขยัน' ผิดปกติ บี้แบงก์พาณิชย์ลดดอกกู้-ตั้งศูนย์แก้ปัญหาแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ ทั้งที่ก่อนหน้าเห็นดีเห็นงามส่วนต่างดอกเบี้ยเหมาะสม คนอุตสาหกรรมเชื่อนายแบงก์เมิน ทั้งลดดอกและปล่อยสินเชื่อ สวดมีอีกหลายส่วนที่ทำได้แต่ไม่ทำ สุดท้ายเศรษฐกิจไม่เดิน

ต้นเดือนพฤษภาคม 2552 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้แสดงความพยายามที่จะเข้ามามีบทบาทให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง รวมถึงการเปิดศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาการปล่อยสินเชื่อเมื่อ 18 พฤษภาคม 2552 เพื่อให้ประชาชนที่ประสงค์จะแจ้งปัญหาเกี่ยวกับการใช้บริการของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการให้สินเชื่อและปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับทราบและสามารถประสานงานกับธนาคารพาณิชย์เพื่อคลี่คลายปัญหาดังกล่าว

ถือเป็นครั้งแรกที่แบงก์ชาติแสดงออกอย่างแข็งขันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ไขสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ก่อนหน้านี้แบงก์ชาติจะเข้ามามีส่วนสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจตั้งแต่ปลายปี 2551 ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอย่างต่อเนื่องจาก 3.75% เหลือ 1.25% และจะเหลือ 1% หรือไม่สำหรับผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อ 20 พฤษภาคมนั้น คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไป

เพราะทุกวันนี้บรรดาธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยกลับเลือกที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงตามความต้องการของแต่ละธนาคารด้วยข้ออ้างที่ต้นทุนของแต่ละแห่งไม่เท่ากัน จึงทำให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมากกว่าเงินกู้

กลับไปกลับมา

'เราประหลาดใจที่แบงก์ชาติออกมาอ้อนวอนให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง โดยไม่จำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยเงินฝาก พร้อมให้เหตุผลว่าต้นทุนเงินฝากระยะยาวได้ทยอยปรับลงแล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนกันว่าธนาคารพาณิชย์กินส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสูง แต่ผู้ว่าแบงก์ชาติกลับออกมายืนยันแทนธนาคารพาณิชย์ว่า ส่วนต่างดังกล่าวไม่ได้สูงเกินไป'นักอุตสาหกรรมรายหนึ่งตั้งข้อสังเกต

เขากล่าวต่อไปว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องดี แต่ถึงวันนี้ชัดเจนว่าการลดดอกเบี้ยไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นหรือช่วยชะลอไม่ให้เศรษฐกิจแย่ลง เพราะกลไกส่วนอื่นไม่ทำงานโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับภาคเศรษฐกิจโดยตรง

ช่วงที่แบงก์พาณิชย์ลดดอกเบี้ยฝากมากกว่ากู้ ทำให้มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสูงนั้น แบงก์ชาติออกมาการันตีว่าไม่ใช่ 4-6% แต่มีส่วนต่างจริงแค่ 3.2% ถือว่าไม่สูงเกินไป วันนั้นกับวันนี้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยก็อยู่ในระดับเดียวกัน ทำไมวันนี้จึงเรียกร้องให้แบงก์พาณิชย์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง และที่สำคัญคือนายแบงก์ใหญ่ก็ออกมายันแล้วว่าดอกเบี้ยที่เป็นอยู่ในเวลานี้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หมายความว่าไม่ลดดอกเบี้ยตามที่แบงก์ชาติร้องขอ

ไม่ปล่อยกู้-อยู่ได้

ที่จริงแล้วแบงก์ชาติมีส่วนสำคัญในการเข้ามาร่วมแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่แพ้รัฐมนตรีเศรษฐกิจของรัฐบาล แม้ว่าจะมีดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าใช้ให้เป็นก็จะทำให้เศรษฐกิจบ้านเราไม่แย่ลงมากนัก

ต้องยอมรับว่าภาคธุรกิจหลายแห่งประสบปัญหาเรื่องเงินหมุนเวียน ขณะที่สถาบันการเงินเกือบทุกแห่งระมัดระวังในเรื่องการปล่อยสินเชื่อมาก เห็นได้จาก 3 เดือนแรกของปี 2552 ธนาคารพาณิชย์ไทยมียอดสินเชื่อลดลง 1.37 แสนล้านบาทหรือลดลง 2.36% ดังนั้นหากต้องการให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้กลไกสินเชื่อของแบงก์พาณิชย์ต้องเดินหน้า

แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้แบงก์ปล่อยสินเชื่อ ตรงนี้กระทรวงการคลังก็เข้ามาร่วมผลักดันได้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปร่วมค้ำประกันหรือให้ธนาคารของรัฐนำร่องปล่อยสินเชื่อ แต่ที่ผ่านมาเราไม่เห็นเรื่องนี้

แบงก์ชาติก็กระตุ้นให้แบงก์พาณิชย์ปล่อยกู้ได้เช่นกัน ในอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติที่เข้มแข็งจะมีกลวิธีทำให้แบงก์ปล่อยสินเชื่อเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่ในยุคนี้ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าหญิงคนแรกอาจมีข้อจำกัดมาก ทำให้แบงก์พาณิชย์เกือบทุกแห่งนิ่งเงียบ

เมื่อเป็นเช่นนี้คงหวังให้เศรษฐกิจฟื้นยาก เพราะแบงก์เองก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางเสี่ยง แม้ไม่ปล่อยสินเชื่อก็หารายได้จากส่วนอื่น ปล่อยกู้ในตลาด R/P ก็ได้ดอกเบี้ย 1.25% หรือถ้าปรับลดลงเหลือ 1% ก็ไม่เสียหายดีกว่าต้องมาตั้งสำรองจากหนี้เสีย

แบงก์พาณิชย์มีรายได้จากส่วนอื่นอีกมาก เช่น ค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยน ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มที่เปลี่ยนมาเป็นบัตรเดบิต หรือค่าธรรมเนียมจากการให้บริการอื่น ๆ ที่แบงก์ชาติไม่สามารถเข้าไปดูแลได้ว่าคิดค่าบริการแพงเกินไปหรือไม่

อีกทั้งรายได้ที่ยังเป็นกอบเป็นกำคือบัตรเครดิต บางแบงก์ดำเนินการโดยบริษัทลูก บางแห่งดำเนินการเอง ตรงนี้อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับเดิมคือ 20% ที่ปรับขึ้นไปเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2549 วันนั้นดอกเบี้ยเงินฝากที่ 5% วันนี้ดอกเบี้ยฝากต่ำกว่า 1% ดอกเบี้ยบัตรเครดิตก็ไม่ได้ปรับลดลงมาแต่อย่างใด

'กรณีนี้อยู่ในความรับผิดชอบของแบงก์ชาติโดยตรง เพราะตอนที่ผู้ออกบัตรเครดิตขอปรับขึ้นแบงก์ชาติก็อนุญาตแต่วันนี้แบงก์ชาติน่าจะเป็นผู้นำที่ส่งสัญญาณให้ผู้ออกบัตรเครดิตปรับลดดอกเบี้ยลงตามสภาพต้นทุน' นักวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคกล่าว

หากทำได้น่าจะเป็นการช่วยลดจำนวนลูกหนี้ที่มีปัญหาในการชำระ อันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันและยังเป็นการช่วยให้ผู้ออกบัตรมีความเสี่ยงจากผู้ใช้บัตรกลุ่มนี้น้อยลง ไม่ต้องตั้งสำรอง ไม่ต้องว่าจ้างบริษัทรับทวงหนี้ติดตามหนี้

รวมไปถึงการดูแลเรื่องค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่ช่วยหนุนให้ภาคการส่งออกไม่เสียเปรียบคู่แข่งจากต่างชาติจนเกินไป นี่คือสิ่งที่แบงก์ชาติจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้ไม่แพ้รัฐบาล หากแบงก์ชาติมองประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us