พรานทะเล ปรับกลยุทธ์รอบด้านรับศึกปี 52 ชูไฟติ้งแบรนด์ “พรานไพร” ลงสนามกลุ่มโฟรเซน มั่นใจทั้งปีรายได้ขยับโต 20% ตามเป้า รวมมูลค่ากว่า 1,200-1,400 ล้านบาท
นายอนุรัตน์ โค้วคาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด และฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท พรานทะเล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมอาหารแช่แข็ง หรือ โฟรเซน ช่วงไตรมาสหนึ่งที่ผ่านมา ในแง่การส่งออกที่มีมูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะเติบโตขึ้นอีก 10% ถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังมีการเติบโตที่ดี เมื่อเทียบกับการส่องออกอื่นๆที่ติดลบ
ทั้งนี้เนื่องจากมองว่า กลุ่มส่งออกอาหารแช่แข็ง เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจน้อยที่สุด เพราะคนเรายังต้องกินอาหาร ขณะเดียวกันอาหารแช่แข็ง ยังเก็บไว้ได้นาน กรรมวิธีการผลิตได้รับมาตรฐาน จนปัญหาเรื่องของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้น ไม่ได้ส่งผลกระทบ อีกทั้งออเดอร์การสั่งซื้อก็เป็นออเดอร์ล่วงหน้า ซึ่งในช่วงไตรมาสสองนี้ ออเดอร์การสั่งซื้อยังดีอยู่ และจะดีมากขึ้นในช่วงไตรมาสสามและสี่ รอบรังช่วงคริสต์มาสเซลล์
เช่นเดียวกับตลาดในประเทศ และของทาง บริษัท ยูเนี่ยนโฟรเซนโปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ พรานทะเล เพราะช่วงไตรมาสหนึ่งที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตถึง 30% เทียบกับไตรมาสหนึ่งของปีที่ผ่านมา ส่วนไตรมาสสอง ออเดอร์ยังดีอยู่ และจะกลับมาดีมากขึ้นในช่วงไตรมา 3-4 นี้ โดยทั้งปี ยูเนี่ยนโฟรเซน คาดว่าจะมีการเติบโตราวกว่า 10% คิดเป็นมูลค่า 8,300 ล้านบาท จาก 7,500 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ อียิปต์ และรัสเซีย โดยความกังวลในแง่ของการส่งออกคือ คือ เรื่องของปัญหาทางการเงิน กับธนาคารที่เข้มงวดในการขอแพคกิ้งเครดิต ขณะที่ค่าเงินบาทแข็ง ไม่มีผลมากนัก
นายอนุรัตน์ กล่าวถึงกลุ่มพรานทะเลว่า ในส่วนของพรานทะเล จากเดิมในปี 2551 ที่ผ่านมา ที่ได้มีการปรับโครงสร้างสินค้าใหม่ แบ่งออกเป็น 4 หมวดหลัก คือ 1.อาหารพร้อมปรุง สัดส่วนยอดขายที่ 32% 2.อาหารพร้อมทาน สัดส่วนยอดขาย 28% 3.ซูชิ สัดส่วนยอดขาย 30% และคลิ๊กอีก 10% ซึ่งแต่ละหมวดสินค้า จะมีกลยุทธ์และวิธีการทำตลาดที่เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมากยิ่งขึ้น ภายใต้งบการตลาดรวมกว่า 30 ล้านบาท จากปีก่อนใช้ถึง 70-80 ล้านบาท ปีนี้จะเน้นบีโลว์ เดอะ ไลน์ เป็นหลัก เชื่อมั่นว่าทั้งปี พรานทะเล จะมีรายได้รวม เติบโตขึ้น 20% คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,200ล้านบาท
ทั้งนี้ในส่วนของอาหารพร้อมปรุง ได้มีการลงทุนและปรับมาตรฐานการผลิตเพื่อกระดับสู้ความเป็นอาหารพร้อมปรุงที่มีมาตรฐานสูงสุด เพื่อประโยชน์ในการส่งออกไปยังอเมริกา และในอีกหลายๆประเทศด้วย ส่วนกลุ่มอาหารพร้อมทาน ได้มีการพิจารณาชัดเจนถึงเมนูอาหารที่ยังแข็งแกร่งในตลาด คือ กลุ่ม ข้าวผัดซีฟู้ด และข้าวต้มซีฟู้ด ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดอยู่ได้มีการปรับราคาลง เช่น กลุ่มข้าวผัด ตัดน้ำซุปและน้ำปลา ออก เพื่อทำราคาให้ถูกลง ขณะที่กลุ่มข้าว+กับข้าว ยอมรับว่ายังสู้ผู้เล่นรายอื่นไม่ได้ จึงต้องมีการออกเมนูอื่นมาสู้ คือ ข้าวผัดซีฟู้ด +ไข่ดาว
ที่สำคัญ บริษัท ได้เปิดตัวซับแบรนด์ “พรานไพร” ขึ้นมา เพื่อสู้ในตลาดที่ยังเป็นช่องว่างอยู่ ในกลุ่มข้าว+กับข้าว และข้าวต้ม ที่ไม่ใช่ซีฟู้ด รวมถึงเครื่องดื่ม และขนมหวาน ที่จะทยอยวางสู่ท้องตลาดในระยะต่อไปโดยราคาที่วางจำหน่ายนั้น จะถูกกว่าผู้เล่นเดิมในตลาด
ปัจจุบันตลาดรวมโฟรเซนพร้อมปรุงซีฟู้ด มีมูลค่า 600 ล้านบาท เติบโต 10 % พรานทะเล มีส่วนแบ่งกว่า 90% ขณะที่ตลาดรวมโฟรเซนพร้อมทาน มีมูลค่า 3,000-4,000 บ้านบาท เติบโต 20-25% พรานทะเลมีส่วนแบ่งราว 15-20%
สำหรับกลุ่มซูชิ ได้ปรับกลยุทธ์การขาย สร้างความแตกต่าง เน้นความเป็นซูชิแท้ ภายใต้ซับแบรนด์กว่า 5 แบรนด์ ส่วนแบรนด์คลิ๊ก มีการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เข้ามาจำหน่ายคู่กับอาหารที่จำหน่ายในแบรนด์คลิ๊ก โดยรวมแล้ว มีราคาถูกกว่าเมื่อต้องซื้อบะหมี่แบรนด์อื่นๆมารับประทานคู่กัน ในราคาเพียง 23 บาท รวมทั้งปีนี้ยังได้รับกลุ่มธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส หรือการจำหน่ายสินค้าไปยังร้านอาหารและภัตตาคารต่างๆเข้ามาดูแลด้วย จากเดิมที่บริษัทแม่ดูแล
|