|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
นักวิชาการเศรษฐศาสตร์การเมืองฟันธงวิกฤตการเมือง-เศรษฐกิจยังมืดมิดไปอีกนาน ชี้ปัญหาเชิงโครงสร้างการแบ่งแยกทางชนชั้น เหลื่อมล้ำทางรายได้ ก่อเกิดวงจรอุบาทว์ทางการเมือง ทุนนิยมสามานย์ เสนอทางออกปฏิรูปการเมือง ปฏิเสธการซื้อเสียงต้นตอวิบัติ ประณามความร่ำรวยจากคอร์รัปชั่น ปลุกพลังสังคมขับเคลื่อนแสวงหาหนทางรอดร่วมกัน ชูธง “ปิดล้อม ปตท.” ขับไล่คณะผู้บริหาร ปรับโครงสร้าง “ปตท.เพื่อสังคมไทย” เป็นเป้าหมายหลักที่ควรปฏิบัติการอันดับแรก
วานนี้ (14 ก.ค.) ชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาเศรษฐศาสตร์การเมืองครั้งที่ 1 เรื่อง “ทิศทางประเทศไทยในพัฒนาการเศรษฐกิจสังคมโลก” ที่ร.ร.ตะวันนา กรุงเทพฯ
ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวในการเสวนาหัวข้อย่อย “ทิศทางประเทศไทยในมุมมองของภาคการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม” ว่า วิกฤตการเมืองของไทยในเวลานี้เกิดจากความสับสน มืดบอดในอุดมการณ์ที่ถกเถียงกัน ประชาธิปไตยของแต่ละสีเสื้อไม่เหมือนกัน ตัวการเมืองเองจะไปทางไหน อะไรคือเป้าหมายยังมองไม่เห็น ขณะเดียวกันด้านศีลธรรมก็มีคำถามว่ามีจริงหรือไม่
วิกฤตทางการเมืองเป็นวิกฤตทางฉันทนุมัติที่มีเหตุมาจากความคิดและแนวปฏิบัติที่ขัดแย้งกัน ฝ่ายหนึ่งมองว่าเมื่อตนเองมาจากการเลือกตั้งต้องมีสิทธิปกครอง เพราะเชื่อในมายาคติการเลือกตั้งที่คิดว่าคนเสมอภาคกัน ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ สังคมไทยมีคนต่างชนชั้นกัน ระหว่างมวลชนรากหญ้าซึ่งชื่นชอบสินค้าประชานิยม มองการอยู่รอดเฉพาะหน้าหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง และชนชั้นกลางที่นิยมสินค้าความโปร่งใสไม่โกงกิน มีความคาดหวังในสังคมอุดมคติ ดังนั้นฝ่ายหลังจึงไม่ยอมรับการเลือกตั้งที่นักการเมืองเข้ามามีอำนาจเพราะการซื้อเสียง
ศ.ดร.สมบัติ กล่าวว่า ประชาธิปไตยไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่างเดียว แต่ต้องมีฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง มีระบบควบคุมตรวจสอบ มีความโปร่งใส มีสื่อที่เสรี ภาคประชาชนเข้มแข็งด้วย ประชาธิปไตยไม่อาจเติบโตบนเงื่อนไขที่สังคมแบ่งขั้วกันสุดๆ รัฐบาลมีอำนาจมากไปหรือน้อยไป ตอนนี้หลายคนถามว่าวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นจะจบลงเมื่อใด ไม่มีใครตอบได้ ความจริงแล้วนี่เพิ่งจะเริ่มต้น ยังมองเห็นแต่ความมืดมิด รัฐบาลไม่มีอำนาจ พรรคการเมืองมีปัญหาไม่ทำงาน การเมืองเป็นเรื่องระบบอุปถัมภ์ คอร์รัปชั่น เศรษฐกิจจะยังมีปัญหาต่อเนื่อง
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ. เสนอทางออกการปฏิรูปการเมืองว่า 1) วัฒนธรรมการเมืองต้องสร้างสำนึกร่วมกันคิดถึงผลประโยชน์ของชาติ 2) สถาบันพรรคการเมืองมีประสิทธิภาพ 3) สื่อซึ่งเป็นตัวเชื่อมรัฐฯ-ประชาชนต้องทำหน้าที่ดีกว่านี้ 4) การผลิตนโยบายทางการเมืองที่ถูกต้องเหมาะสม
5) ผู้นำต้องมีเจตนารมย์ทางการเมือง พร้อมทำในสิ่งที่ต้องทำเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ 6) นักการเมืองมองเห็นผลประโยชน์ของชาติเป็นอันดับแรกแทนที่การเห็นแก่ตนเองและพวกพ้อง 7) มีองค์กรธุรกิจที่ดี และ 8) เสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรมของสังคม อย่างไรก็ตาม หากสังคมยอมรับกับการคอร์รัปชั่น ยอมรับการซื้อเสียงซึ่งหมายถึงความวิบัติตั้งแต่ต้น สิ่งที่เสนอมาก็ไม่สามารถแก้ไขได้ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติหน้า
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงวิกฤตที่เกิดขึ้นครั้งนี้ว่ามีพื้นฐานมาจาก 4 เรื่องใหญ่ คือ 1) วิกฤตทางชนชั้น ทั้งที่ไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ระดับกลาง แต่กลับมีสัดส่วนคนรวยสุดกับจนสุดถึง 15 เท่า คนไม่มีการศึกษา 12 ล้านคน มีการศึกษาแค่ระดับประถมฯ 7 ล้านคน ซึ่งจำนวนนี้กว่า 20 ล้านคนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่เข้าใจความซับซ้อนของการเมือง โลกาภิวัตน์ ทุนนิยม สนใจแต่ว่าจะอยู่รอดอย่างไร วิกฤตชนชั้นเป็นโอกาสของนักการเมืองเข้ามาเสนอผลประโยชน์ให้แก่คนรากหญ้า ซื้อใจใส่ปุ๋ยที่มีพิษลงไป ทำให้เกิดปัญหา และช่องว่างนี้มีแนวโน้มห่างกันมากขึ้น
2) วิกฤตทางโครงสร้างการผลิตและประชากร ที่เคลื่อนตัวจากภาคเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมอย่างรุนแรง รวดเร็ว วิถีเกษตรแบบพอมีพอกินถูกละทิ้ง ชุมชนชาวนา 90%ไม่ได้ทำนาเองแต่มีการว่าจ้าง ไม่มียุ้งฉาง ลานตาก ขายข้าวเปลือกซื้อข้าวสารกิน กำลังแรงงานรุ่นใหม่หนีจากภาคเกษตร เหลือแต่คนอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่ดินรายเล็กรายย่อยถูกขายออกไป ขณะที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกกำลังแสวงหาที่ดินเพื่อปลูกพืชส่งกลับประเทศสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ประชากรของเขา ในอนาคตคนจนในประเทศไทยจะมีข้าวกินหรือไม่ คำถามนี้ไม่เคยมีอยู่ในหัวของนักวางนโยบาย
3) การเปลี่ยนผ่านจากชุมชนชาวนาสู่ชุมชนโรงงาน ซึ่งชุมชนโรงงานนี้ไม่มีอยู่ในแนวความคิดและแผนการสร้างชุมชนเข้มแข็ง และ 4) ทุนนิยมแข่งขัน หล่อหลอมให้สังคมมุ่งแข่งขัน กระตุ้นการใช้จ่าย เกิดลัทธิปัจเจกบุคคลรุนแรง ทุกคนหากินเอาตัวรอด ใครรวยคือคนดี ซึ่งเมล็ดพันธุ์ทั้งสี่คือตัวก่อให้เกิดวิกฤตทางสังคม
ส่วนวิกฤตเศรษฐกิจ เกิดจากแนวทางการพัฒนาที่ไม่สมดุลระหว่างภาคเกษตรและอุตสาหกรรม การคลั่งทุนนิยมเสรีจนเจ๊งทั้งระบบ และวิกฤตโครงสร้างทุนนิยมโลก ขณะที่วิกฤตการเมืองเป็นส่วนผสมของวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตสังคม เวลานี้การเมืองไทยอยู่ในระบบซึ่งเป็นส่วนผสมของเงินกับปืนหากลงตัวก็อยู่ได้ยาว เงินเป็นศูนย์กลางของอำนาจ เมื่อเอาเงินลงไปในกลุ่ม 20 ล้านคน เกิดทุนนิยมผสมวัฒนธรรมศักดินาขึ้นมาเป็นทุนนิยมสามานย์
ด้าน ศ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬา กล่าวในหัวข้อ “ทางออกเศรษฐกิจการเมืองไทยภายใต้การแบ่งขั้ว” ว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะใช้เวลายาวนานในการฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงไทยที่พึ่งตลาดส่งออกโดยเฉพาะสหรัฐฯ มากถึง 20% ดังนั้นจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์หันมาพึ่งตลาดภายใน เพื่อส่งผลไปยังการกระจายรายได้และเกิดเสถียรภาพทางการเมือง
ศ.ผาสุก กล่าวต่อว่า เวลานี้แทบทุกภาคส่วนของสังคมไทยกำลังตื่นตระหนกกับความขัดแย้งและความรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมากว่า 30 ปี เบื้องหลังความขัดแย้งนี้อาจจะมีเรื่องการแสวงหาอำนาจของคนไม่กี่คนหรือความต่างด้านอุดมการณ์ทางการเมืองอยู่บ้าง แต่เรื่องที่ร้าวลึกและใหญ่กว่าคือ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และศักดิ์ศรี มีตัวเลขชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนในจีดีพีของคนไทยรายได้สูงสุด 20% (เฉลี่ยรายได้ต่อคนต่อเดือน 31,434 บาท) มีมากถึงครึ่งหนึ่งของจีดีพี ขณะที่กลุ่มรายได้ต่ำสุด 20% (เฉลี่ยรายได้ต่อคนต่อเดือน 2,253 บาท) มีสัดส่วนเพียง 4% กว่าเท่านั้น
มีข้อสังเกตว่า ช่องว่างของรายได้ทั้ง 2 กลุ่มนี้เท่ากับประมาณ 13 เท่า สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วที่ยุโรปและสหรัฐฯ จะต่ำกว่าก็แต่เพียงในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องความเหลื่อมล้ำและเผชิญหน้ากับความขัดแย้งที่แก้ไม่ตกมาตลอด
ส่วนประเด็นความเหลื่อมล้ำด้านศักดิ์ศรี มีคนไทยจำนวนมากที่รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือถูกกดเอาไว้ด้วยกลไกต่างๆ ถูกปิดกั้นไม่ให้พัฒนาศักยภาพของตนเองได้เต็มที่ เหตุผลที่สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น การผูกขาด คอร์รัปชั่น ระบบการศึกษา ระบบจัดสรรงบประมาณ การขาดเสียงหรือพื้นที่ทางการเมือง และอาจรวมไปถึงการเอาอย่างสังคมอเมริกันที่มองเห็นความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องปกติ
อย่างไรก็ตาม หากไม่ทำอะไรเลยสังคมไทยจะยิ่งเคลื่อนไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจต้องมีกระบวนการขับเคลื่อนสังคมเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน เป็นวาระสังคมคล้ายกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ที่หลายภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมคิดและเสนอแนะ
ศ.ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ นักวิชาการอิสระ ได้นำเสนอบทวิพากษ์เพื่อการปลดปล่อยประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยในปี 2551-52 เป็นปีแห่งการเคลื่อนไหวทางสังคมจะเพื่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อรักษาสภาพเดิม หรือถอยหลังเข้าคลองแห่งความล้าหลัง แต่ประเด็นที่เสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงอย่าลืมถามและอย่าลืมตอบก็คือ เป้าหมายหลักของการเคลื่อนไหวสังคมอยู่ที่ไหน ซึ่งเป้าหมายหลักที่ควรปฏิบัติการที่อยากเสนอ คือ ปิดล้อม ปตท. เรียกร้องซีอีโอและคณะลาออก คืนหุ้นให้แก่ประชาชน และปรับโครงสร้างไปสู่ “ปตท.เพื่อสังคมไทย”.
|
|
|
|
|