ดีแทคดับเครื่องชนเอไอเอส นโยบายเบอร์มือถือติดตัว ถามตรง "กลัวให้บริการที่ดีกับลูกค้าไม่ได้
หรือกลัวรักษาลูกค้าไม่ได้" ยันหนุนไอซีทีสุดตัวเพราะผู้บริโภคได้ประโยชน์ พร้อมเปิดแผนตลาดปรับตัวรองรับความต้องการลูกค้า
ด้าน "หมอเลี้ยบ" ย้ำ หากเอกชนเห็นด้วย ควรผลักดันค่าเชื่อมโครงข่ายให้เสร็จเพราะเป็นการวางรากฐาน
ก่อนทำเรื่องเบอร์ติดตัว ที่เป็นการต่อยอด
นายซิคเว่ เบรกเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่นหรือดีแทคกล่าวถึงนโยบาย
Mobile Number Portabilty (MNP) หรือการที่ผู้บริโภค สามารถใช้เลขหมายเดิมโดยใช้โทรศัพท์มือถือระบบใด
ก็ได้ ตามนโยบายของ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(ไอซีที) ว่า ดีแทคสนับสนุนนโยบายของ น.พ. สุรพงษ์ อย่างเต็มที่และดีแทคได้ลองนำ
แนวคิดที่คล้ายกันนี้มาใช้ในระบบของดีแทคแล้ว โดยให้ลูกค้าเปลี่ยนแพกเกจ จากพรีเพด
เป็นโพสต์เพด และโพสต์เพด เป็นพรีเพด โดยที่ลูกค้าสามารถใช้เบอร์เดิมได้
"โอเปอเรเตอร์ที่ไม่ยอมเข้าร่วม อยากถามว่ากลัวอะไร กลัวที่จะให้บริการที่ดีกับลูกค้าไม่ได้
หรือกลัวรักษาลูกค้าไม่ได้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็ควรรปรับวิธีคิดทำธุรกิจใหม่ได้แล้ว"
นายชิคเว่ เบรกเก้ กล่าว
เขาย้ำว่า MNP ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นเพราะเลขหมายโทรศัพท์ขาดแคลน เนื่องจากใน
ปัจจุบัน มีเลขหมายโทรศัพท์ในระบบมากกว่า 60 ล้านเลขหมาย แต่มีการใช้งานจริงเพียง
26-27 ล้านเลขหมายเท่านั้น แต่ประโยชน์ที่เกิดจากการใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือเดิมได้จะเป็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง
และเป็นการปลดแอกการใช้โทรศัพท์มือถืออีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ดีแทคเคยเป็นผู้นำในการปลดล็อกรหัสประจำเครื่องเมื่อเดือนเม.ย.ปีที่แล้ว
และยังเป็นการกระตุ้นให้มี บริการที่ดีขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าธุรกิจและลูกค้าที่มีการใช้งานมาก
"MNP ยังเป็นการป้องกันการใช้อำนาจทาง การตลาดในทางไม่ชอบของผู้นำตลาดที่มีส่วนแบ่งมากที่สุด
เพราะลูกค้าจะถูกบังคับไม่ให้เปลี่ยนระบบด้วยข้อจำกัดในเรื่องการเปลี่ยนเบอร์ โทรศัพท์มือถือ
ซึ่งเป็นเรื่องที่ลูกค้าโพสต์เพด หรือองค์กรธุรกิจให้ความสำคัญมากกว่าลูกค้าในระบบพรีเพด"
ในแง่โอเปอเรเตอร์บางราย อาจมอง MNP ด้วยสายตาไม่ดีนัก หากโอเปอเรเตอร์รายดังกล่าวไม่สามารถปรับตัวได้ทัน
เพราะการแข่งขันจะรุนแรงขึ้น ลูกค้าสามารถเปลี่ยน ระบบได้ง่ายเกิดการแข่งขันอย่างเสรี
และยุติการ ใช้อำนาจ ทางการตลาดที่ไม่เป็นธรรม และรูปแบบการแข่งขันจะเปลี่ยนไป
โอเปอเรเตอร์จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพบริการมากขึ้น หลังจากเล่นแต่ในเกมลดราคา
นายชิคเว่ เบรกเก้ กล่าวด้วยว่า โอเปอเรเตอร์ที่ให้บริการที่ไม่มีคุณภาพจะพ่ายแพ้ในการแข่งขันประเภทนี้ใครที่ปรับตัวช้าจะอยู่อย่าง
ลำบาก และในระยะยาว อาจจะไม่มีการแข่งขันด้านราคาอีกต่อไป เพราะโอเปอเรเตอร์แต่ละราย
จะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมามากขึ้นโดยเฉพาะด้านข้อมูล หรือ Data Services
เขาสะท้อนภาพเทเลนอร์ในประเทศนอร์เวย์ว่า ภายหลังมีการใช้ MNP ในไตรมาส 4 ของ
ปี 2001 เทเลนอร์ซึ่งเป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่ง มากกว่า 65% ปรับตัวช้าทำให้เกิดยอดคนเลิกใช้
บริการกระโดดจาก 4% เป็น 10% ในไตรมาส 2 ปี 2002 ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่าอุตสาหกรรม
ซึ่งเทเลนอร์ใช้เวลา 2 ปีเพื่อปรับกระบวนการทำงานใหม่ให้ความสำคัญกับการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า
(CRM) และเพิ่มบริการด้านข้อมูลอย่างให้ส่ง MMS (Multimedia Messag-ing Service)
ฟรี 3 เดือน
สำหรับในไทย เขาเห็นว่า MNP จะเปลี่ยนรูปแบบการเข่งขันในตลาดโทรศัพท์มือถือ
แต่จะเกิดได้ต้องภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มแข็ง ลงลึกในรายละเอียด และริเริ่มทำอย่างถูกต้อง
โดยยกตัวอย่างในประเทศฮ่องกงที่ประสบความสำเร็จมากในการใช้ MNP จากการเริ่มใช้ในปี
1999 ข้อมูลสรุปสิ้นปี 2002 มียอดคนใช้โทรศัพท์มือถือทั้งหมด 5.88 ล้านคน แต่มีจำนวนครั้งของการใช้
MNP หรือการเปลี่ยน ข้ามระบบภายใต้เบอร์เดิม 5.02 ล้านครั้ง โดยการเปลี่ยนแต่ละครั้งมีผลภายใน
2 วัน ซึ่งความ สำเร็จของ MNP ในฮ่องกงเกิดจากกฎระเบียบ ที่เข้มแข็งลงในรายละเอียดเพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์อย่างเต็มที่
"ในไทย ผู้กำกับดูแลต้องทำจริง จะให้โอเปอเรเตอร์มาคุยกันเอง เป็นไปไม่ได้ ส่วนการลงทุนอุปกรณ์น่าจะลงทุนร่วมกันในวงเงินประมาณ
200-300 ล้านบาท ซึ่งในแง่การลงทุนก็ไม่ใช่เหตุผลสำคัญที่จะเอามาอ้างว่าจะลงทุนหรือไม่ลงทุน
เพื่อเทียบกับฐานธุรกิจ"
ท่าทีดีแทคที่ออกมาสนับสนุน MNP เป็นเพราะดีแทคเชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์กับดีแทคมากที่สุด
ถึงแม้อาจจะเสี่ยงบ้างในช่วงแรก เนื่องจากยังไม่สามารถคาดเดาพฤติกรรม ผู้บริโภค
แต่ดีแทคเห็นว่าจะช้าหรือเร็วก็ต้อง นำมาใช้เพราะเป็นข้อบังคับในพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม
สิ่งที่ย้ำความมั่นใจของดีแทค คือข้อมูลส่วนแบ่งรายได้ที่เติบโตขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกที่สูงถึง
34% เมื่อเทียบกับเอไอเอสที่ 45% หมายถึงลูกค้าของดีแทค มีคุณภาพที่ดีขึ้น เพราะปัจจุบันดีแทคมีส่วนแบ่งตลาดเมื่อคิดเป็นจำนวน
ประมาณ 31% หรือ 6 ล้านรายในขณะที่เอไอเอส มีมากกว่า 12 ล้านราย
นายสันติ เมธาวิกุล ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจโพสต์เพด ดีแทคกล่าวว่า MNP ซึ่งจะมีผลกระทบกับลูกค้าโพสต์เพด
หรือลูกค้าพรีเพดที่ใช้งานมาก ทำให้ดีแทคมีการปรับตัวรองรับการให้บริการลูกค้าในกลุ่มนี้มานานแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งลูกค้าโพสต์เพดออกเป็น 3 กลุ่ม คือลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่หรือบริษัทข้ามชาติ,
ลูกค้า เอสเอ็มอีและลูกค้าทั่วไป ซึ่งลูกค้าทั่วไปยังแบ่งกลุ่มย่อยลงไปอีกเป็นลูกค้าระดับพรีเมี่ยมคือใช้มากกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับ
1,200 -2,000 บาท กับลูกค้า เอ็กเซ็กคลูทีฟ พรีเมี่ยม พวกนี้ใช้มากกว่า 2,000 บาท
ซึ่งระดับ การดูแลลูกค้าก็จะแตกต่างกันไป เช่น ได้ซิมการ์ดฟรี กรณีซิมการ์ดหาย
หรือได้รับสิทธิในการทดสอบบริการเสริมใหม่ๆ มีเครื่องทดแทน ให้ใช้กรณีซ่อมเครื่อง
ส่วนลูกค้าองค์กร ก็มีการซอยย่อยลงไปเป็นธุรกิจบริการ ธุรกิจขนส่ง โรงงาน ไฟแนนซ์
แบงกิ้ง หน่วยงานรัฐอย่างบริการโมบายล์บิสซิเนส ออนดีมานด์ หรือบริการ WiseTrack
หรือระบบติดตามรถบรรทุกผ่านดาวเทียม
"เราจะมีทีมงานคอยดูแลแต่ละเซ็กเมนต์ในลักษณะเทเลอร์เมด"
เขากล่าวว่าพฤติกรรมลูกค้าพรีเพดจะใช้ MNP น้อยเพราะลูกค้ากลุ่มนี้ไม่สนใจเรื่องเบอร์
มากนัก ต่างจากลูกค้าโพสต์เพดที่มักจะติด เบอร์ และไม่ค่อยเปลี่ยนข้ามระบบ
ปัจจุบันดีแทคมีลูกค้าพรีเพดต่อโพสต์เพด ประมาณ 80/20 แต่รายได้อยู่ในระดับ 50/50
ซึ่งเห็นได้ชัดว่าลูกค้าโพสต์เพดเป็นลูกค้าที่ทำรายได้หลักให้บริษัท
ดีแทคยังให้ข้อมูลในต่างประเทศเกี่ยวกับ MNP ว่า ในอังกฤษมีการทำเรื่องนี้ตั้งแต่ปี
1999 มีการใช้ 1.90 ล้านครั้ง จำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ 49.6 ล้านคน และมีระยะเวลาเปลี่ยน
ระบบ 3-4 สัปดาห์ ซึ่งระยะเวลานี้ขึ้นกับการควบคุมของหน่วยงานในแต่ละประเทศ อย่างฮ่องกงต้องใช้เวลาน้อยกว่า
2 วัน เพื่อให้เกิดผลอย่างรวดเร็ว ในเนเธอร์แลนด์ เริ่มปี 1999 จำนวนการใช้ MNP
0.28 ล้านครั้ง จำนวนคนใช้มือถือ 11.8 ล้านคน เวลาที่ใช้เปลี่ยนข้ามระบบ 3-4 สัปดาห์
และยังมีในประเทศสเปน นอร์เวย์ เดนมาร์ก โปรตุเกส เยอรมนี และกำลังจะทำในประเทศญี่ปุ่น
สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์
ด้านนายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร เอไอเอสกล่าวว่า "ไม่ค้านนโยบาย
แต่ไม่เห็นเหตุผลที่ชัดเจน และคิดว่าตลาดประเทศไทยไม่จำเป็นต้องใช้เรื่องนี้ ขณะเดียวกันเลขหมายโทรศัพท์ยังเหลืออีกมาก
ต่างจากรูปแบบในต่างประเทศ และยังมีปัญหาเรื่องเทคนิคอีกมากมาย"
น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.ไอซีทีกล่าวว่าหากนำ MNP มาใช้โดยเรื่องค่าเชื่อมโครงข่ายหรืออินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จไม่เสร็จสิ้น
หากมีการตัดราคาเหลือนาทีละ 50 สต. แล้วดีแทคจะทำอย่างไร เพราะจะทำให้เกิดการบิดเบือนโครง
สร้างอัตราค่าบริการ
"ผมไม่อยากให้เกิดปัญหาบิดเบือนค่าบริการ จนทำให้ค่าเชื่อมโครงข่ายที่ถือเป็นการ
วางรากฐานของระบบ เกิดปัญหาโรคแทรกซ้อนมากขึ้น"
เขาย้ำว่ามีหลายประเด็นที่เกี่ยวพันค่าเชื่อม โครงข่ายไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่
ทศท และกสท เป็น เจ้าของเครือข่ายแล้วจะต้องจ่ายค่าเชื่อมโยง อีกหรือไม่ หรือควรยกเครือข่ายให้หน่วยงาน
ที่ 3 มาดูแล รวมทั้งยังให้กรมไปรษณีย์โทรเลขศึกษาเรื่องการจ่ายชดเชยให้ ทศท, กสท
หรือ เรื่อง USO (Universal service Obligation) การให้บริการในพื้นที่ห่างไกล
"หากเอกชนเห็นตรงกันเรื่อง MNP ก็ควรผลักดันให้ค่าเชื่อมโครงข่าย เสร็จโดยเร็ว
เพราะผมเห็นว่าค่าเชื่อมโครงข่ายเป็นเรื่องของรากฐาน ส่วนเรื่อง MNP เป็นการต่อยอด
ซึ่งผมเชื่อว่าไม่เสร็จโดยเร็วถึงเคยพูดว่าต้องใช้เวลา 6 เดือน"