|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
มูลค่าเม็ดเงินประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปีที่ไหลเวียนเข้าสู่ธุรกิจสวนสนุกของเมืองไทยผสมกับยอดตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอีก 10% ในทุกๆปี เชื่อได้ว่าการมีอัตราการยอดรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการสวนสนุกในเมืองไทยต้องปรับกระบวนยุทธ์เข้าฟาดฟันกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะจุดขายใหม่ประเภทเครื่องเล่นที่เริ่มเห็นภาพการแข่งขันที่ชัดเจนมากขึ้น
ปัจจุบันตลาดสวนสนุกในเมืองไทยจึงมีให้เห็นแบรนด์ใหญ่ๆเพียงไม่กี่ค่ายเท่านั้นที่เปิดให้บริการด้านเครื่องเล่น ที่ผ่านมาตำแหน่งทางการตลาดของ ดรีมเวิล์ด ดูจะชัดเจนในเรื่องของการใช้กลยุทธ์นำเครื่องเล่นมาเปิดให้บริการซึ่งก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งโดยมียอดจำนวนนักท่องเที่ยวแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน
ขณะที่ผ่านมาค่ายของสยามพาร์ค(สวนสยาม) แม้จะเริ่มขยับตัวเองเปลี่ยนตำแหน่งทางการตลาด หันมาเล่นจุดขายใหม่ด้วยการนำเครื่องเล่นมาเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดแทนสวนน้ำ-ทะเลกรุงเทพ เพื่อเป็นการปลดล็อคทางการตลาดเมื่อไม่นานมานี้ก็ตาม
ล่าสุด การถูกกินเนส เวิล์ด เรคคอร์ด ร่วมกับสมาคมสวนน้ำโลก ยกให้เป็นทะเลเทียมใหญ่ที่สุดในโลก กลายเป็นจุดพลิกผันสำหรับเปิดเกมรุกตลาดต่างประเทศของสวนสยามไปแล้ว
ซึ่งแม้แต่ภาครัฐยังรับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะนำสวนสนุกแห่งนี้ไปนำเสนอขายส่งเสริมการตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดในแถบดูไบ เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวในตลาดตะวันออกกลางให้เข้ามาเที่ยวประเทศไทยในช่วงเดือนกรกฎาคม- สิงหาคมศกนี้
ว่ากันว่าช่วงเวลาดังกล่าว ประเทศในตลาดนี้มีอุณหภูมิสูงถึง 50 องศาเซลเซียส สำหรับตลาดตะวันออกกลางนี้ เป็นตลาดใหม่และตลาดใหญ่มีนักท่องเที่ยวเข้าไทยมากกว่าตลาดยุโรปถึง 6 เท่า มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง และท่องเที่ยวเป็นครอบครัว ซึ่งสวนสนุกแห่งนี้สามารถรองรับกิจกรรมได้ทั้งครอบครัว สำหรับทะเลเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลกของประเทศไทย เป็นทะเลเทียมขนาด 13,600 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้ใช้บริการในทะเลเทียมพร้อมกันได้ถึง 13,000 คน
ชัยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ บิ๊กบอสใหญ่ของสวนสยาม ยอมรับว่า แม้ต้องปรับเปลี่ยนจุดยืนทางการตลาดใหม่ทั้งหมดโดยใช้ชื่อ 'สยามพาร์ค ซิตี้' เพื่อยกระดับสวนสนุกแห่งนี้สู่มาตรฐานสากลก็ตาม แต่การได้สถิติใหม่ว่าเป็นทะเลน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกครั้งนี้ บวกกับความพร้อมของเครื่องเล่นจากยุโรปและอเมริกาที่นำมาติดตั้งรวมถึง 17 ตัว โดยติดตั้งไปแล้ว 6 ตัว อาทิ ซูเปอร์เกลียวมหาสนุก, รถไฟเหาะตีลังกาเกลียวสว่าน เป็นต้นนั้น กลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่จะสามารถยกระดับสวนสยามได้ในระยะเวลาไม่น่าจะนานนัก
โดยเครื่องเล่นทุกอย่างจะแล้วเสร็จเต็มรูปแบบคาดว่าภายในกลางปี 2552 และหากเมื่อนับรวมกับเครื่องเล่นเดิมที่มีอยู่แล้วจะทำให้สวนสนุกแห่งนี้มีเครื่องเล่นมากถึง 47 ตัว
ขณะเดียวกันการมีจุดขาย 'สวนน้ำ' ที่ใหญ่ที่สุดในโลกกำลังจะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็น 'สวนสนุก' ที่มีเครื่องเล่นเทียบเท่าสวนสนุกในระดับสากลจึงเชื่อได้ว่ากลเกมทางการตลาดต่อจากนี้ไปของสวนสยามจะเข้มข้นและมีสีสันต่างไปจากเดิม
แผนการตลาดของสวนสยามนับจากนี้ไปอาจจะเริ่มเปลี่ยนไป!... ภายใต้กระแสของการแข่งขันในธุรกิจสวนสนุกเมืองไทย กอปรกับการ 'รีแบรนดิ้ง' ครั้งใหญ่ของสวนสยามที่ให้ 'วายแอนด์อาร์' เอเยนซี่โฆษณาแถวหน้าเป็นที่ปรึกษาด้านการสร้างแบรนด์และรีแบรนดิ้ง พร้อมเตรียมงบการตลาดอีกไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาท ซึ่งนับจากนี้ไปธุรกิจ 'สวนน้ำ' บวกกับ'เครื่องเล่น' จะสามารถเข้ามาเป็นตัวทำรายได้หลัก
ที่ผ่านมาสวนสยามมีรายได้รวมปีละ 200 ล้านบาทเท่านั้น รายได้ส่วนใหญ่มาจากสวนน้ำที่ยังไม่ได้รับการโปรโมตเท่าไรนัก ซึ่งปีที่ผ่านมามีคนเข้ามาใช้บริการเพียงแค่ 2-3 ล้านคน และหลังจากที่ติดตั้งเครื่องเล่นครบกอปรกับภาครัฐให้การสนับสนุนโปรโมตตลาดต่างประเทศเชื่อว่าจะทำให้คนที่เข้ามาเที่ยวมีการใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้นได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท จากเดิมที่มีเพียง 200-300 บาท/คนเท่านั้น หากเป็นเช่นนั้นจะทำให้สวนสยามมี รายได้เพิ่มขึ้นอีกอย่างมหาศาล
การปรับตัวของสวนสยามครั้งนี้ว่ากันว่าน่าจะส่งผลให้กับธุรกิจสวนสนุกไม่น้อยโดยเฉพาะคู่แข่งขันที่ชัดเจนอย่าง ดรีมเวิลด์ ที่ออกมายอมรับว่าต้องเตรียมปรับแผนการดำเนินงานในช่วง 3 ไตรมาสของปีนี้โดยหยิบใช้กลยุทธ์การลดราคาตั๋ว โดยจะร่วมมือกับพันธมิตรในการจัดโปรโมชั่นให้ลูกค้า เพื่อเป็นส่วนลด เพราะถือเป็นกลยุทธ์ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด เพื่อสร้างสีสันให้กับสวนสนุก โดยเฉพาะในช่วงไฮซีซั่น
ส่งผลให้ปลายปีที่ผ่านมาดรีมเวิลด์มีการเปิดตัวเครื่องเล่นใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 รูปแบบ ด้วยงบกว่า 200 ล้านบาท มีทั้งแบบผาดโผนที่รองรับกลุ่มวัยรุ่น และแบบตื่นตาตื่นใจในความแปลกใหม่และสวยงามของพันธุ์ไม้ต่างๆ อย่าง สวนสี่ทวีป เพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุ
การออกมาตอกย้ำแผนการตลาดที่สร้างความสำเร็จให้กับดรีมเวิลด์ครั้งนี้ กอปรกับปัจจุบันกระแสความต้องการของกลุ่มตลาดที่ชอบความท้าทายและความสนุกตื่นเต้นบนเครื่องเล่นแปลกใหม่จำนวนไม่น้อยเริ่มมีปริมาณเพิ่มขึ้น
เป็นที่สังเกตว่าแต่ละค่ายแบรนด์ในธุรกิจสวนสนุกจะสร้างความโดดเด่นเฉพาะตัวขึ้นมา เพื่อต้องการที่จะเจาะกลุ่มเป้าหมายทั้งขาจรและขาประจำให้ได้มากที่สุด แน่นอนการสร้างกิจกรรมใหม่ๆหวังดึงดูดนักท่องเที่ยวให้สนใจจึงกลายเป็นยุทธวิธีที่จะถูกนำมาใช้มากที่สุดสำหรับธุรกิจบริการแบบนี้ รวมไปถึงกลยุทธ์ของแต่ละค่ายจึงจำเป็นต้องฉีกหนีคู่แข่งให้ได้มากที่สุดเช่นกัน
|
|
|
|
|