|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
“โอฬาร” คาดไตรมาสแรกจีดีพีไทยติดลบอย่างน้อย 6-7% ไม่ใช่ ลบ 4-5% อย่างที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ เหตุนโยบายสินเชื่อภาคธนาคารพาณิชย์ล้มเหลว เผย ผลคะแนนของรัฐบาล 3 เดือนแรกแค่เกรดซี แนะรัฐเพิ่มเงินในระบบเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง-แทรกแซงค่าเงินบาทให้อ่อนประมาณ 35-36บาท/เหรียญ ด้าน “ทนง” เตือนรมว.คลังแบ่งงบรอบสองให้ดีไม่งั้นพรรคร่วมพาร่วง ขณะที่ “ชัยอนันต์” ชี้หากแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ทุกอย่างไม่จบอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
นายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ”จับชีพจรเศรษฐกิจ” จัดโดยมหาวิทยาลัยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ว่าจากนโยบายการเงินของรัฐบาล โดยเฉพาะการจัดการเรื่องการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจของธนาคารพาณิชย์นั้นถือว่าล้มเหลวเพราะนอกจากไม่สามารถปล่อยสินเชื่อแล้วก็ยังมีการเข้มงวดมากขึ้นด้วย จึงทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ผล ทำให้ประเมินว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในไตรมาส 1 ปี 52 น่าจะติดลบประมาณ 6-7%
ทั้งนี้ จากการประเมินผลงานของรัฐบาลจากการทำงานในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีเพียงการแจกเช็คช่วยชาติเท่านั้นที่เห็นผลเป็นรูปธรรม ส่วนนโยบายสินเชื่อนั้นถือว่าล้มเหลว โดยรวมแล้วผลงานรัฐบาลทำได้แค่ระดับ ซี หรือได้เกรดแค่ 2.58 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม มองว่าสิ่งที่รัฐบาควรเร่งดำเนินการในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมีหลักอยู่ 3 ข้อ คือ 1.ต้องเร่งอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบโดยใช้นโยบายการคลังให้มากขึ้นเพราะปัจจุบันรายได้จากการส่งออกและการบริการติดลบถึง 1.2 ล้านล้านบาท ดังนั้นการทำงบประมาณกลางปี 51 จำนวน 1.167 แสนล้านบาท ยังไม่เพียงพอ
2.ต้องบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าที่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเพื่อเพิ่มเงินให้กับประชาชนผ่านทางผู้ส่งออกที่จะได้เงินบาทจากการขายสินค้าเข้ามามากขึ้น และ 3.ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะกำหนดให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้กับผู้บริโภค เพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยทั้งซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
“นโยบายทั้ง 3 ข้อรัฐบาลต้องประกาศให้ชัดเจนครบถ้วน ทั้งจำนวนเงิน ระยะเวลา และกลุ่มเป้าหมายที่เข้าไปช่วยเหลือ ไม่ใช่เพียงแต่มีนโยบายแต่กลับไม่มีเนื้อหาที่ชัดเจน โดยเฉพาะการบริหารค่าเงินบาท ซึ่งหากทำได้ตามทุกอย่างที่กล่าวก็มีความเป็นไปได้ที่สิ้นปีนี้อาจจะเห็นจีดีพีของไทยติดลบประมาณ 0-1% “ นายโอฬารกล่าว
นอกจากนี้ ทางภาครัฐคงต้องหันมาสังเกตนโยบายของประเทศไทยกับประเทศอื่น อาทิ สหรัฐ จีน และเกาหลี ที่พบว่าสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาได้ ดังเช่น กรณีประเทศเกาหลีใต้ที่มีการนำเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ส่วนประเทศจีนมีแนวทางที่ค่อนชัดเจนในการปล่อยสินเชื่อทำให้การขยายตัวในไตรมาสแรกกลับมาเป็นบวกที่ 6.5% ขณะที่นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้เชิญนักธุรกิจในทุกด้านมาออกทีวี เพื่อออกนโยบาย และกำหนดเป้าหมาย เวลาให้ชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจ ดังนั้นรัฐบาลไทยต้องเอาอย่างประเทศเหล่านี้ด้วย
ด้านนายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แม้หลายประเทศจะออกมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นแล้วเพราะยังมีผลของการออกมาตรการที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งการสร้างระบบติดตามการดูแลเงินที่เข้าไปอุ้มสถาบันการเงิน การดูแลพวกเก็งกำไร การดูแลนวัตกรรมทางการเงิน เป็นต้น รวมทั้งยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกกี่ปีที่ระบบเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และน่ากลัวว่าหากเศรษฐกิจฟื้นขึ้นแล้วจะดูแลเรื่องเงินเฟ้อและเงินฝืดได้อย่างไร
ทั้งนี้ จากการประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 52 ยังคงติดลบอยู่ที่ 2-4% แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการประกาศแผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ที่ใช้เงินลงทุนมากถึง 1.56 ล้านล้านบาท ที่ถือว่าเป็นเค้กก้อนโตที่มีคนได้และมีคนเสียเพราะมีผลประโยชน์ จึงเป็นห่วงว่านายกรัฐมนตรีและรมว.คลังจะประสานนโยบายได้มากน้อยเพียงใด แม้ว่ารมว.คลังจะเก่งเท่าใดแต่หากรมต.เศรษฐกิจพรรคร่วมไม่เอาด้วย ก็จะมีปัญหาตามมา เพราะทุกคนต้องการรักษาประโยชน์ของตัวเองไว้ก่อน สุดท้ายทุกอย่างที่หวังไว้ก็จะหนีไม่พ้นรูปแบบเช่นเดียวกับกรณีของ บมจ.การบินไทย ดังนั้นนายกฯและรมว.คลัง ต้องคิด ต้องจัดลำดับความสำคัญของโครงการที่จะลงทุนและต้องประสานประโยชน์กับพรรคร่วมรัฐบาลให้ได้
ด้านนายชัยอนันต์ สมุทรวณิช กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลอาจไม่ใช่ทางออกสำหรับแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งถ้าหากแก้ไขแล้วนั้นปัญหาไม่เพียงอาจไม่คลี่คลายแต่อาจเกิดความแตกแยกมากขึ้นระหว่างคนสองกลุ่มคือ กลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมากขึ้น ซึ่งถ้าหากเหตุการณ์เป็นไปตามที่คาดเชื่อว่าในอีกไม่เกิน 3 เดือนก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้น
|
|
|
|
|