Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2531
5 ธุรกิจขนาดย่อมสามารถวางแผนงานให้เป็นระบบได้หรือไม่?             
 


   
search resources

SMEs
Knowledge and Theory




กลวิธีการวางแผนงานอยางไหนจึงจะเหมาะสมที่สุดสำหรับบริษัทขนาดเล็กหรือบริษัทขนาดกลาง? ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแบบแผนและความสามารถของตัวผู้บริหาร (ซึ่งโดยมากมักได้แก่เจ้าของกิจการนั้น ๆ) รวมไปจนถึงการเปิดโอกาสให้บุคลากรอื่นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เกี่ยวกับการจัดการมากน้อยเพียงใด ตลอดจนความซับซ้อนของตัวธุรกิจเอง รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้พิจารณาประกอบไปพร้อม ๆ กันด้วย

วิธีการเช่นไรจะใช้ได้ผลมากกว่าระหว่างการวางแผนเพียงคร่าว ๆ (ตามความเห็นของเจ้าของบริษัทหรือความเห็นของผู้บริหาร) กับการวางแผนงานอย่างเป็นระบบเต็มรูปแบบ (กำหนดเป้าหมาย, ขั้นตอน, งบประมาณ) ทั้ง 2 วิธีนี้อาจใช้ได้ดีพอ ๆ กัน เพียงแต่จะต้องเลือกใช้โดยพิจารณาให้เหมาะแก่สภาพการณ์ที่แตกต่างกันออกไป มิฉะนั้นแล้วแทนที่จะก่อให้เกิดผลดีบ้างก็อาจกลายเป็นผลเสียไปได้ ตัวแปรใดบ้างซึ่งส่งผลให้สภาพการณ์พลิกผันไปได้ คงไม่ระบุได้ว่าสิ่งใดเป็นปัจจัยหลักที่จะกำหนดสถานการณ์ เพราะทุกสิ่งล้วนส่งผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งสิ้น ลองมาพิจารณาถึงตัวแปรต่าง ๆ ต่อไปนี้กันดู

แบบแผนและความสามารถในการบริหาร แบบแผนและความสามารถที่จะเข้าใจกิจการของบริษัทอย่างรอบด้านของตัวผู้บริหารสูงสุดนั้นจัดเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง ผู้บริหารที่มีความสามารถและปรารถนาจะเข้าใจรายละเอียดที่สำคัญ ๆ ทั้งเล็งเห็นได้แจ่มชัดว่ารายละเอียดเหล่านั้นเชื่อมโยงกันอย่างไร จะเป็นผู้ที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้แม่นยำกว่าผู้บริหารชนิดนี้ย่อมบริหารกิจการของบริษัทได้โดยไม่จำเป็นต้องเน้นแผนงานที่เป็นระบบแต่อย่างใด

ความสามารถของบรรดาบุคลากร หากบุคลากรในบริษัทมีขีดความสามารถต่ำ การวางแผนงานอย่างเป็นระบบก็จะมีประสิทธิผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ถ้าหากบริษัทมีผู้จัดการที่มีฝีมือช่วยในการร่วมตัดสินใจ ก็จะสามารถกำหนดแผนงานที่เป็นระบบไว้ได้ในระดับหนึ่งอย่างเด่นชัด ในกรณีหลังนี้แผนงานจะเปิดโอกาสให้บุคลากรระดมความสามารถผลักดันกิจการของบริษัทให้รุดหน้าไปได้เป็นอย่างดี

ความซับซ้อนของธุรกิจแต่ละประเภท ธุรกิจประเภทธรรมดาเรียบง่ายไม่ซับซ้อนอะไร อาจบริหารได้สะดวกโดยอาศัยเพียงสมองคนเดียวกับแผนงานที่ร่างไว้คร่าว ๆ ในกระดาษเท่านั้น แต่สำหรับบุคคลเพียงคนเดียวแล้วย่อมเป็นเรื่องยากเย็นหากจะต้องยึดกุมทุกแง่มุมของกิจการที่พึ่งพาเทคโนโลยีชั้นสูง มีตลาดที่หลากหลายซ้ำผันแปรฉับไวทั้งยังตกอยู่ในภาวะการแข่งขันอันเข้มข้นและความก้าวหน้าทางวิทยาการอันไม่หยุดยั้ง

ระดับความเข้มข้นของการแข่งขัน กิจการที่มีการแข่งขันบ้างเพียงเล็กน้อยย่อมไม่จำเป็นต้องเน้นการบริหารและวางแผนงานให้รัดกุมมากเท่ากับกิจการที่ต้องแข่งขันช่วงชิงกันทุกย่างก้าว แต่ถึงแม้ระดับการแข่งขันจะต่ำก็อาจเตรียมพร้อมให้เป็นข้อได้เปรียบไว้แต่เนิ่น ๆ ได้ โดยบริหารงานราวกับต้องเผชิญการแข่งขันอันแหลมคมในอีกเพียงแค่คืบเท่านั้น

ศักยภาพในการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า สำหรับการประเมินสถานการณ์ของบริษัทพึงตระหนักไว้เสมอว่า การวางแผนงาน จะเป็นระบบมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับเหตุ 2 ประการคือ มีผู้ร่วมวางแผนงานดังกล่าวเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใดประการหนึ่ง และได้ทำการประเมินตรวจสอบกันอย่างถี่ถ้วนเพียงใดอีกประการหนึ่ง สำหรับการตรวจสอบนั้นควรแยกแยะแจกแจงปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ที่มีผลกระทบต่อกิจการของบริษัทออกมาให้ชัดแจ้งเพื่อเพิ่มศักยภาพในการประเมินสถานการณ์ภายหน้าต่อไป

บทบาทการนำ แผนงานที่เป็นระบบอาจจะสมบูรณ์แบบเพียบพร้อม แต่บางครั้งก็ไม่อาจใช้ทดแทนบทบาทของผู้บริหารสูงสุดได้ ในกรณีที่แผนงานอันเป็นระบบรัดกุมของบริษัทใดมีประสิทธิภาพดีพอแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าบริษัทจำเป็นต้องพึ่งพาทั้งแผนงานที่กำหนดไว้ และการบริหารงานของตัวผู้นำในอัตราที่ลงตัวเหมาะเจาะ

ความเข้าใจในการวางแผนงานอย่างเป็นระบบ ผู้บริหารระดับสูงรวมทั้งบุคลากรสำคัญ ๆ ของบริษัทจำเป็นต้องเรียนรู้และศึกษาทำความเข้าใจกับการวางแผนงานอย่างเป็นระบบให้ลึกซึ้ง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการวางแผนอย่างแท้จริง

การวางแผนงานที่มีประสิทธิภาพ ปัจจัยซึ่งเป็นผลต่อการวางแผนงานอย่างที่สุดก็คือ แผนงานที่กำหนดไว้นั้นมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงไร แผนงานนั้น ๆ จะเป็นระบบมากน้อยแค่ไหนมิใช่สิ่งสำคัญเท่ากับว่าแผนงานนั้นสอดคล้องกับสภาพการที่บริษัทประสบอยู่อย่างแท้จริงหรือไม่?

ผู้บริหารกิจการพึงแยกแยะให้ออกว่าการดำเนินยุทธศาสตร์ในระยะยาวของบริษัทนั้นแตกต่างไปจากการวางแผนเฉพาะหน้าในระยะสั้นเพียงชั่วหนึ่งปี เพราะยุทธศาสตร์ระยะยาวย่อมมิได้เปลี่ยนไปทุกปี ๆ คุณจะสามารถประคับประคองกิจการของตนเอาไว้ได้ดีเพียงใดนั้น? ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณจับประเด็นหลักเกี่ยวกับธุรกิจที่ลงมือทำอยู่ได้ดีแค่ไหน? คุณชัดเจนหรือไม่ว่าแนวโน้มของการแข่งขันจะเป็นอย่างไร และกิจการของคุณมีขีดความสามารถเพียงไร? ทั้ง 2 ข้อนี้จะเป็นเครื่องกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาวของกิจการโดยจำเป็นต้องอาศัยการประเมินทบทวนอย่สงต่อเนื่อง อย่างน้อยก็ต้องทำการตรวจสอบให้แน่ชัดไม่ต่ำกว่าปีละครั้ง

ส่วนในทางตรงกันข้าม แผนงานประจำปีก็เป็นเสมือนกลยุทธ์อันจะนำไปสู่ประสิทธิผลซึ่งจะปรากฏในระยะสั้น ๆ ระหว่างที่ยุทธศาสตร์หลักดำเนินการไปอย่างยืดเยื้อยาวนาน

ปริมาณและโครงสร้างที่พอเหมาะของแผนงานสำหรับแต่ละบริษัทย่อมผิดแผกแตกต่างกันไปเป็นธรรมดา ในการเลือกเฟ้นสิ่งที่เหมาะสมสำหรับกิจการของคุณการกำหนดจังหวะก้าวที่เป็นไปได้ในการวางแผนอาจเป็นประโยชน์อย่างดี แม้ว่าจะแยกจากกันอยู่เป็นลำดับ แต่จังหวะก้าวเหล่านี้ก็สัมพันธ์สืบเนื่องกันอย่างแนบแน่น การแสวงหาแนวทางสำหรับกิจการของคุณก็เคลื่อนไหวไปมาอยู่ระหว่างจังหวะก้าวเหล่านี้ โดยมีข้อควรปรับปรุงแก้ไขอื่น ๆ เป็นเครื่องพิจารณาประกอบไปด้วย

คุณรู้จักกิจการของตัวเองหรือเปล่า?

ก้าวแรกสุดของการวางแผนงานก็คือคุณต้องรู้จักและเข้าใจทะลุปรุโปร่งว่ากิจการของคุณคืออะไร? และดำรงอยู่ในสภาพเช่นใดโดยแท้? ต้องรู้ให้ซึ้งถึงข้อเด่นอันเป็นหัวใจสำคัญของกิจการ ต้องรู้ให้ละเอียดว่าลูกค้ากลุ่มใดเป็นผู้ซื้อสินค้าหรือบริการของเราและซื้อด้วยสาเหตุใดบ้าง?

การศึกษาฐานะและสภาพในปัจจุบันของบริษัทเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง มิฉะนั้นคุณอาจพลาดพลั้งวางแผนดำเนินการลงไปในเงื่อนไขที่ตัวเองยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้

เมื่อคุณตั้งความพยายามที่จะเข้าใจกิจการของตัวเอง ก็อาจจะเกิดคำถามขึ้นมาได้ว่า ควรให้ใครรับผิดชอบงานส่วนนี้ดี?

เจ้าของบริษัทอุตสาหกรรมขนาดย่อมอาจสามารถรับผิดชอบงานในวงกว้างได้ด้วยลำพังตนเอง กระนั้นก็พึงระลึกไว้บ้างว่าหากคุณมีบุคลากรระดับผู้จัดการที่มีศักยภาพพอจะเพิ่มความรับผิดชอบให้แก่เขาได้ ก็จงอย่าละเลยที่จะให้โอกาสเขามีส่วนร่วมในการศึกษากิจการของบริษัทด้วย ผู้จัดการด้านการตลาด ย่อมต้องเข้าใจตลาดได้ดีและมีทรรศนะเกี่ยวกับการตลาดที่แจ่มชัดเป็น อาทิ การพยายามสร้างความรับผิดชอบในกิจการของบริษัทเช่นนี้ อาจจะต้องอาศัยเวลานานหลายปีทีเดียว

นอกจากนี้แล้วคุณยังต้องพยายามที่จะเข้าใจทุกสิ่งซึ่งเป็นปัจจัยส่งผลกระทบต่อกิจการด้วย ทั้งที่เป็นปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก การวางแผนให้ได้ดี จำเป็นต้องมีการรวบรวมข้อมูลก่อนเป็นพื้นฐาน เพื่อช่วยให้สามารถรับผิดชอบได้ในมิติที่ลึกซึ้งลงไปอีก

ควรกำหนดท่าทีในการรวบรวมข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจกิจการให้เหมาะสม หากคุณมุ่งเสาะหาข้อมูลเพื่อช่วยยืนยันข้อสรุปที่ยึดมั่นอยู่แล้ว คุณย่อมจบลงเพียงข้อสรุปเช่นเดิมนั้นและมีโอกาสจะเข้าใจอะไร ๆ คลาดเคลื่อนไปก็เป็นได้ ท่าทีที่ควรใช้ก็คือ "ยังไม่มีคำตอบตายตัว ความคิดยังเปิดกว้างอยู่" มีแต่อาศัยท่าทีเช่นนี้เท่านั้นผู้บริหารจึงจะสามารถจัดการกับจุดอ่อนที่แฝงเร้นอยู่ในกิจการของตนได้จริงจัง

กิจการของคุณควรใช้แบบแผนการบริหารอย่างไร? ข้อนี้ก็ไม่มีคำตอบแน่นอนเช่นกัน บางบริษัทอาจบริหารงานได้ดีโดยอาศัยความสามารถของตัวผู้บริหารเพียงลำพัง ผู้บริหารบางรายอาจกำหนดกะเกณฑ์ และสั่งการได้โดยไม่ต้องเขียนร่างเป็นลายลักษณ์อักษรเลย แต่ผู้บริหารอีกบางรายก็อาจใช้บันทึกช่วยจำที่แม้จะเขียนไว้เพียงหยาบ ๆ ก็ช่วยให้สามารถยึดกุมได้ทั้งแนวคิดหลักและรายละเอียดต่าง ๆ รวมทั้งจุดที่ต้องใส่ใจให้มากเป็นพิเศษด้วย

สิ่งที่สำคัญมากสำหรับบริษัทที่แยกซอยภาระในการจัดการออกไปก็คือ ผู้จัดการงานแต่ละด้านแต่ละคนจะต้องเขียนสรุปผลการดำเนินงานในขอบเขตความรับผิดชอบของตนออกมา เพื่อใช้เป็นแนวทางร่วมกันในการพิจารณากำหนดแผนงานต่อไป การรวบรวมผลการดำเนินงานโดยใช้วิธีพูดคุยซักถามนั้นสิ้นเปลืองเวลามากกว่า ซ้ำยังรัดกุมน้อยกว่าวิธีเขียนสรุปเสียด้วย

เรื่องต่าง ๆ อันเป็นองค์ประกอบเกี่ยวกับกิจการขนาดย่อมเท่าที่นำมากล่าวเอาไว้นี้เป็นเพียงเพื่อชี้แนะแนวทางหนึ่งในการสร้างแผนงานธุรกิจขึ้นมา โดยแจกแจงออกไปเป็นข้อ ๆ ว่าจะต้องทำความเข้าใจสิ่งใดให้ลึกซึ้งบ้างในเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม การกำหนดแผนงานสำหรับกิจการขนาดย่อมนั้นเป็นเรื่องที่เฉพาะเจาะจงอย่างยิ่งยวด เป็นการคิดค้นจังหวะก้าวซึ่งได้รับแรงกระทบมาจากสถานการณ์และบุคลากรของบริษัทโดยตรง ผู้ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการวางแผนงานอย่างเป็นระบบก็ควรจะลองลงมือในส่วนย่อยเสียก่อน เช่นเริ่มลงมือในแผนงานส่วนที่จะสามารถช่วยให้ตระหนักถึงปัญหาได้ก่อนในเบื้องต้น

กำหนดวัตถุประสงค์

เมื่อรวบรวมข้อมูลที่บ่งชี้ให้เข้าใจกิจการได้ดีเพียงพอแล้ว ก็สมควรจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของกิจการเอาไว้ด้วยเช่นกัน

เป้าหมายทางธุรกิจ การกำหนดวัตถุประสงค์ของกิจการจำเป็นต้องอยู่ในขอบข่ายของความเป็นไปได้ อาจกำหนดวัตถุประสงค์พื้นฐานไว้ใช้เป็นแนวทางกว้าง ๆ ก็ได้ แต่สำหรับวัตถุประสงค์ในการดำเนินการจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนได้ในแต่ละปี เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมในแวดวงธุรกิจย่อมแปรเปลี่ยนไปเรื่อย การเข้าใจสภาพของกิจการและวัตถุประสงค์ของกิจการจึงต้องสัมพันธ์กันไป ทั้ง 2 สิ่งนี้คือจุดเริ่มต้นของแผนงาน

ผู้บริหารกิจการขนาดย่อมบางรายลงมือกำหนดวัตถุประสงค์ของกิจการตามลำพัง หลายต่อรายก็ทำได้มีประสิทธิภาพเป็นอย่างสูง โดยอาศัยความเข้าใจในธุรกิจของตนอย่างลึกซึ้ง รับฟังความเห็นจากบุคลากรที่สำคัญ จากลูกค้ารายสำคัญ ๆ นำมาผสมผสานกันเข้ากับสิ่งที่คิดว่าควรจะเป็นไปได้

คุณอาจกำหนดเป้าประสงค์เอาไว้ให้ต่างกันเป็น 2 ระดับ ระดับที่เลื่อนลอยมากกว่าสักหน่อยก็คือจุดหมายที่คุณตั้งไว้เพื่อก้าวไปให้ถึงในระยะยาว คุณอาจจะต้องตอบคำถามว่าคุณคาดหมายอัตราการเติบโตของกิจการไว้อย่างไร? บัญชีงบดุลเท่าที่เป็นอยู่นี้จำเป็นต้องปรับปรุงให้มั่นคงขึ้นหรือไม่? ผมตอบแทนจากการลงทุนจำนวนเท่าใดจึงจะเป็นที่พอใจสำหรับคุณ? การตอบคำถามเหล่านี้จะประกอบกันเป็นตัวกำหนดเป้าหมายอันเป็นส่วนที่ "เปราะบาง" ของวัตถุประสงค์รวม เป้าหมายนี้มิใช่ส่วนที่เราจะสามารถเป็นฝ่ายจัดการได้โดยง่าย

สำหรับการกำหนดเป้าหมายในระดับที่ 2 นั้น จะเป็นเครื่องชี้แนะทางบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น จุดประสงค์ที่ "มั่นคง" และแจ่มชัดเหล่านี้จะกำหนดยุทธวิธีในการดำเนินกิจการแต่ละด้านให้ลุล่วง โดยถือเอาผลงานและความรับผิดชอบที่คำนวณได้เป็นเกณฑ์วัด การวางแผนระยะยาวจำเป็นต้องพิจารณาถึงทั้งวัตถุประสงค์เป้าหมาย (ซึ่งเปราะบาง) และวัตถุประสงค์เฉพาะกิจ (ซึ่งมั่นคง) รวมไปพร้อม ๆ กัน ส่วนการวางแผนงานประจำปีนั้นอาศัยเพียงวัตถุประสงค์เฉพาะกิจเสียเป็ฯส่วนใหญ่

ผู้จัดการที่รับผิดชอบงานสำคัญ ๆ อาจเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดวัตถุประสงค์ด้วยก็ได้ อาจส่งเสริมให้ผู้จัดการระดับหัวกะทิได้ร่วมในการกำหนดจุดประสงค์ทั้งโดยลักษณะเอกเทศและลักษณะคณะวางแผนขนาดย่อย บุคลากรเหล่านี้อาจอาศัยความเข้าใจในจุดประสงค์ของงานด้านที่แต่ละคนรับผิดชอบอยู่ มาร่วมกันคิดค้นถึงความเกี่ยวพันระหว่างจุดประสงค์ของงานแต่ละด้าน ซึ่งรวมกันเป็นวัตถุประสงค์ร่วมขึ้นมาได้

เป้าหมายส่วนตัว สำหรับในกรณีของบริษัทส่วนตัวที่ก่อตั้งขึ้นนั้น เป้าหมายส่วนตัวของเจ้าของกิจการ (ไม่ว่าจะเป็นคนเดียวหรือหลายคนก็ตาม) ย่อมเข้าไปพัวพันกับวัตถุประสงค์ร่วมเป็นธรรมดา ข้อได้เปรียบสำคัญประการหนึ่งซึ่งผู้บริหารที่เป็นเจ้าของกิจการเองมีก็คือ สามารถจะบรรจุเป้าหมายส่วนตัวแทรกไว้ในวัตถุประสงค์รวมได้

ถึงกระนั้นการวางแผนให้เป็นส่วนตัวก็เป็นเรื่องยากยิ่ง ซ้ำร้ายกว่านั้นเจ้าตัวกิจการเองดูจะเป็นฝ่ายบงการมันเสียอีก จุดเริ่มต้นของการลงทุนทำธุรกิจอาจจะเป็นการ "แบกรับภาระ" ก็จริง แต่เมื่อกิจการเติบโตขึ้น (พร้อม ๆ กับวัยเจ้าของกิจการค่อยสูงขึ้น) แล้ว ก็มีโอกาสที่จะตั้งเป้าหมายของตนตามใจชอบ และค่อยคะเนหาลู่ทางที่จะประสานเป้าหมายส่วนตัวนี้เข้ากับการกำหนดวัตถุประสงค์โดยรวม

มีคำถามทดสอบอยู่ข้อหนึ่งว่า คุณพยายามจะจัดวางเป้าหมาย และความต้องการส่วนตัวไว้อย่างเป็นระบบครั้งล่าสุดเมื่อไหร่? หากไร้ซึ่งการวิเคราะห์ดังนี้ให้แจ่มแจ้งแล้ว เรื่องก็อาจลงเอยอย่างขัดแย้งในที ระหว่างธุรกิจที่ "ประสบผลสำเร็จ" กับชีวิต "ไร้ความสำเร็จ" อย่างน้อยก็พึงยึดกุมเป้าหมายส่วนตัวของคุณเอาไว้ให้มั่น…เริ่มโดยการกันบริษัทให้ออกห่างจากความคิดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ต่อมาจึงค่อยพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ทั้งส่วนที่ขัดแย้งและสนับสนุนกันระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวม หากพยายามหาหนทางให้ทั้ง 2 ส่วนประนีประนอมกันให้ได้เป็นอย่างดี

การประนีประนอมระหว่างวัตถุประสงค์ส่วนรวมกับเป้าหมายสว่วนตัวอาจกลายเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนอย่างมาก เมื่อมีสมาชิกจากอีกตระกูลหนึ่งหรือมีหุ้นส่วนในระยะยาวเข้ามาข้องแวะด้วย ในกรณีนี้ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องพยายามประคองกิจการให้อยู่รอดปลอดภัยท่ามกลางความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ ซึ่งย่อมเป็นเครื่องบั่นทอนทั้งความรุ่งเรืองของชีวิตส่วนตัวและความรุ่งเรืองของธุรกิจไปพร้อม ๆ กัน จึงควรวางแผนโดยชอบด้วยเหตุผลเป็นเบื้องต้น พยายามที่จะป้องกันเหตุอันจะนำไปสู่ความขัดแย้งเสียแต่ต้นมืออย่างจริงจัวจะดีกว่า

คุณเคยคิดในทำนองนี้บ้างไหมว่า "ให้ลูกชายสองคนเข้ามาช่วยร่วมกันทำธุรกิจของที่บ้านดีไหม แบ่งให้ทั้งคู่เท่า ๆ กัน" หรือ "เกลอเก่ากับฉันร่วมเป็นหุ้นส่วนในกิจการนี้กันคนละครึ่ง" แค่ฟังก็อาจจินตนาการถึงเรื่องวุ่นวายในอนาคตได้โดยง่ายเสียแล้ว การที่จะยึดกุมครอบครองกิจการเอาไว้ให้มั่นคงนั้นบางครั้งยังต้องอาศัยการวางแผนให้ดียิ่งกว่าการบริหารกิจการด้วยซ้ำ

ยังมีอีกหลายคำถามที่คุณควรขบคิด อาทิเช่น เมื่อไหร่เจ้าของผู้บริหารกิจการจึงจะได้รับผลตอบแทนกลับคืนในรูปของกำไรและผลประโยชน์? ผลตอบแทนที่ว่านั้นจะได้รับมาอย่างไร? ควรวางแผนจัดการด้านการเงินและด้านบุคลากรอย่างไรดี? ควรจะต้องวางแผนเผื่อไว้ล่วงหน้าในกรณีที่กิจการซวดเซลงด้วยไหม?

ประเมินความเป็นไปได้และกำหนดแผนการดำเนินงาน

ขั้นตอนที่ 1 คือการเข้าใจในตัวกิจการและปัจจัยแวดล้อมทั้งมวล ขั้นที่ 2 คือกำหนดวัตถุประสงค์ บัดนี้ก็มาถึงขั้นที่ 3 คือการดำเนินการ การชั่งน้ำหนักแล้วตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุด

ในการดำเนินการและการตัดสินใจเลือกนั้นย่อมมีความสุ่มเสี่ยงปะปนอยู่ด้วยเสมอ ข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ จะเป็นเครื่องช่วยป้องกันการผิดพลาดได้ การสำรวจความต้องการของผู้ซื้อเป็นข้อมูลสามัญที่ต้องเตรียมไว้ รวมไปถึงการวางแผนด้านเทคโนโลยีด้วยอย่าเริ่มต้นด้วยความเสี่ยงกับสภาพเศรษฐกิจ สำหรับในธุรกิจบางแขนงแล้วความเสี่ยงกับภาวะเศรษฐกิจอาจเป็นเรื่องสาหัสเกินกว่าจะรับไหว

ถ้าหากคุณตัดสินใจว่าจะไม่วางแผนงาน ลองพิจารณาเหตุผลอีกแง่หนึ่งดูเสียก่อนเป็นไร ถ้ากิจการของคุณต้องประสบปัญหาในการประคับประคองฐานะไว้ หรือถ้ากิจการกำลังไปได้สวยและคุณต้องการให้มันก้าวหน้ายิ่งขึ้น คุณย่อมมีทางเลือกปฏิบัติได้ 2 อย่างคืออาจต้องทุ่มเททำงานแบบที่ทำมาแต่เดิมให้หนักขึ้น หรือไม่อีกอย่าง คุณก็อาจถอยไปตั้งหลักสักก้าว เพื่อจะสำรวจดูให้แน่ว่าจะทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้อย่างไร และคุณได้พลาดโอกาสใดไปบ้างหรือไม่ นี่คือบทบาทที่สมดุลระหว่างการบริหารงานกับการวางแผนงาน การประเมินผลและวางแผนงานอย่างเอาจริงเอาจัง จะช่วยขยายทัศนะตัวคุณและบุคลากรระดับบริหารให้กว้างขวางขึ้น ช่วยให้แต่ละคนมีโอกาสแสวงหารูปแบบใหม่ ๆ ในการดำเนินการ และผลที่สุดก็ย่อมได้ข้อสรุปที่เป็นแผนงานชัดเจนออกมาว่าบริษัทควรก้าวรุดหน้าต่อไปในแนวทางเช่นไร

การติดตามการดำเนินงานและผลที่ปรากฏ

ถ้าหากแผนงานทำได้เพียงชี้ให้เห็นว่าคุณจะไปถึงที่ไหนเท่านั้นล่ะก็ คุณไม่จำเป็นต้องมีแผนงานก็ได้ แผนงานของคุณควรระบุไว้ด้วยว่าคุณจะไปถึงที่นั่นได้อย่างไร รายละเอียดต่าง ๆ เช่นว่าใครรับผิดชอบงานชิ้นใดในช่วงเวลาไหนควรกำหนดไว้เป็นแผนภูมิชัดเจน

ควรมีแผนงานสนับสนุนเผื่อไว้สำหรับผลลัพธ์ใดๆ ก็ตามที่อาจสนองตอบต่อโครงการที่ผลักดันออกไป ตามปรกติก็ต้องมีการจัดทำงบประมาณประจำเดือน โดยแยกย่อยลงไปตามขอบเขตความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย ผู้จัดการงานแต่ละด้านควรคำนวณตัวเลขออกมาเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์เพื่อประเมินผลว่าการดำเนินการแต่ละด้านเป็นไปตามแผนงานอย่างราบรื่นหรือไม่อย่างไร ตัวเลขโดยละเอียดเหล่านี้ล้วนสามารถนำมาใช้ตรวจสอบได้อย่างจริงจัง หากจำเป็นจะต้องทำการแก้ไขปรับปรุงงานขึ้นมา

การควบคุมและติดตามผลงานการดำเนินการในอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ วางมาตรฐานของผลงานเอาไว้ให้แน่ชัดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทราบว่าการทำงานของตนนั้นบรรลุผลตามแผนงานมากน้อยเพียงใด เมื่อแต่ละคนรับรู้ว่าผลงานที่ตัวทำไปต่ำกว่าหรือสูงกว่ามาตรฐานแล้ว ก็จะช่วยให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานทั้งโดยส่วนตัวและทั้งคณะทำงานซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งในแผนงาน

สิ่งใดคือหลุมพราง

หลุมพรางที่ซ่อนหลบอยู่ในการวางแผนงานที่เป็นระบบมีอยู่หลายข้อดังต่อไปนี้

แผนงานจอมปลอมซึ่งมิได้สอดคล้องกับความจริง โดยปรกติก็มักจะเนื่องจากการที่ลูกน้องพยายามจะเอาใจเจ้านาย จึงพยายามทำสิ่งที่เดาว่าเจ้านายคงชอบใจ

ละเลยฐานตลาดที่ครอบครองอยู่โดยไม่แสวงหาลู่ทางใหม่ ๆ ให้ต่อเนื่อง

นิ่งนอนใจใน "วงจรแผนงาน" ที่ดำเนินสืบเนื่องไป

ใช้การวางแผนงานเป็นวิธีแก้ปัญหากะทันหัน

วางแผนงานโดยบรรจุรายละเอียดจุกจิกเกินไปจนแผนงานนั้นไร้ประสิทธิภาพ

ไม่อาจชักจูงให้บุคลากรสำคัญ ๆ ทำงานประสานกันได้

แผนงานนั้น ๆ ขาดความยืดหยุ่นผ่อนปรน

มิได้ตระหนักล่วงหน้าถึงผลกระทบอันกว้างขวางของการวางแผนงาน

โดยสรุป สำหรับคุณทั้งหลายที่ปรารถนาจะผลักดันกิจการของบริษัทและของตัวคุณเองให้บรรลุถึงการวางแผนงานอย่างเป็นระบบแล้ว คาถาประจำใจคุณก็คือ "อดทนเข้าไว้" การจะพัฒนาองค์กรซึ่งสัมพันธ์กับพฤติกรรมมนุษย์จำนวนไม่น้อยเช่นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่อาจด่วนทำได้โดยง่ายเลย

ค่อย ๆ เลือกสรรรูปแบบการวางแผนอย่างเป็นระบบที่สอดคล้องเหมาะสมกับกิจการของคุณเองโดยเฉพาะเถิด บางทีอุปสรรคสำคัญที่คุณกำลังสับสนอยู่อาจจะต้องอาศัยการแยกแยะความแตกต่างระหว่างแนวความคิดในการดำเนินยุทธศาสตร์ระยะยาว ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหัวใจกิจการของคุณกับแนวความคิดในการวางแผนงานประจำปีก็เป็นได้

การที่กิจการขนาดย่อมจะฝ่ากระแสเศรษฐกิจอันเชี่ยวกรากไปได้ ดูทีจะต้องใช้แผนงานที่เรียบง่ายสามัญแต่แจ่มชัดว่าจะใช้ปัจจัยหลากหลายที่แวดล้อมให้เป็นประโยชน์ใช้สอยทรัพยากรเท่าที่มีอยู่อย่างไร ในกาลข้างหน้าไม่ว่าจะเป็นปีที่ตกต่ำหรือปีที่รุ่งโรจน์ก็ตาม ผู้ที่วางแผนเตรียมพร้อมย่อมรับมือได้ดีกว่าเสมอ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us