Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2531
ช่อง 11 ผู้กำเนิดท่ามกลางเสือสิงห์             
โดย สุดจิตร์ ไชยตระกูลชัย
 


   
www resources

โฮมเพจ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11

   
search resources

กรมประชาสัมพันธ์
สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11
TV




"ช่อง 11 เข้าสู่ยุทธจักรทีวีด้วยการสร้างความแตกต่างกับช่องอื่น ๆ เน้นด้านการศึกษา สารคดี และไม่มีโฆษณา ท่ามกลางภาวะการแข่งขันอันดุเดือดเช่นนี้ ช่อง 11 อยู่ในจุดที่เสียเปรียบด้วยนโยบายรายการ ที่เสริมสร้างนโยบายของรัฐสู่ประชาชน มากกว่าการตอบสนองความต้องการของประชาชนที่บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ ชะตากรรมช่อง 11 และผู้ลงทุนคงไม่รอดพ้นจากความเจ็บปวดในที่สุด…"

วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันที่สี่เสือวงการทีวีเมืองไทยได้ฤกษ์ต้อนรับน้องใหม่อย่างเป็นทางการหลังจากจด ๆ จ้อง ๆ อยู่นานนับปี

การอุบัติของช่อง 11 สู่ยุทธจักรทีวีในห้วงเวลาของการแข่งขันระหว่างพี่เอื้อยทั้งสี่ที่ดุเดือดและรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบทศวรรษ

เจ้ายุทธจักรอย่างช่อง 7 กำลังถูกท้าทายหลังจากนั่งแป้นจอมราชันย์มานานหลายปี จากความได้เปรียบในด้านเครือข่ายครอบคลุมไปทั่วประเทศ

ช่อง 7 อาศัยห้วงเวลาแห่งการเป็นผู้นำด้านเครือข่ายเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เป็นกอบเป็นกำกระทั่งทิ้งห่างอันดับสองแทบไม่เห็นฝุ่น เนื่องจากช่อง 5 ถึงแม้จะมีเครือข่ายใกล้เคียงกันกอปรกับอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยก็ไม่อาจตามทันช่อง 7 ทันท่วงที เพราะทั้งสองช่องแม้จะเป็นของกองทัพบกทั้งคู่ ทว่าช่อง 7 นั้นบริหารโดยเอกชนย่อมไม่อาจเปรียบเทียบกับช่อง 5 ซึ่งยังคงผูกติดกับระบบราชการโดยเฉพาะราชการทหาร

จึงไม่น่าแปลกใจที่ว่า ทำไม? ช่อง 5 จึงก้าวตามช่องอื่นได้เชื่องช้าเสียนี่กระไร คนในวงการเปรียบเปรยว่าช่อง 5 ทำตัวประหนึ่ง "พม่าแห่งวงการทีวี" เนื่องจากได้เปรียบในด้านทรัพยากร แต่ไม่ยอมนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์" จริง ๆ ปัญหาของช่อง 5 อยู่ที่ตัวคน" คนในวงการว่า

ส่วนช่อง 3 และช่อง 9 ของ อ.ส.ม.ท. ซึ่งได้รับฉายาว่า "ไดนามิค ดูโอ" ก็กำลังขยายเครือข่ายอย่างขะมักเขม้นโดยมีช่อง 3 ของตระกูลมาลีนนท์เป็นหัวหอกทะลวงสู่ภูมิภาคตามสัญญาเกาะหลังติด ๆ โดยช่อง 9 ที่ได้ประโยชน์โดยไม่ต้องลงแรงและเงิน

อีกไม่นานความได้เปรียบด้านเครือข่ายของทีวีแต่ละช่องก็จะหมดไป ช่อง 7 คงจะเหลือเพียงความเป็นผู้มาก่อนเท่านั้น และก็คงเป็นผู้ตระหนักกับคำว่า "การรักษาแชมน์นั้นยากกว่าการเป็นแชมป์หลายเท่านัก"

ใช่แต่การแข่งขันจะโฟกัสไปที่การขยายเครือข่ายซึ่งถือเป็นฮาร์ดแวร์เท่านั้น การแข่งขันกันด้านรายการก็ระอุไม่แพ้กัน "แต่ผมว่าไม่มีอะไรดีขึ้นมาสักเท่าไร?" สมเกียรติ อ่อนวิมลวิจารณ์

แนวโน้มการแข่งขันดูเหมือนว่าจะเน้นหนักไปที่การให้สิ่งจูงใจในรูปรางวัลเพื่อครอบครองส่วนแบ่งตลาดให้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาไพร์มไทม์ ช่อง 3 ริเริ่มเป็นรายการแรกด้วยรายการ "ดูดีดีมีรางวัล" เรียกคนดูในช่วงหลังข่าว

"การแข่งขันจะระอุดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ เพราะขนมเค้กก้อนเท่าเดิมแต่คนตัดมีอาวุธที่แหลมคมมากขึ้น" คนในวงการวิพากษ์

ก็ในเมื่อขนมเค้กก้อนเท่าเดิม คนตัดเดิม ๆ ต่างฝ่ายต่างแสวงหาศาสตราวุธที่ล้ำหน้าด้วยเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาความคมของอาวุธ

สี่พี่เอื้อยก็แทบจะฆ่ากันอยู่แล้ว สถานการณ์ช่วงนี้ถ้าใครคิดจะเข้าสู่วงการนี้เป็นรายใหม่จะต้องเผชิญการแข่งขันชนิดที่เรียกว่า "เชือดคอหอย"

สถานการณ์ช่วงนี้แหละที่ช่อง 11 ของกรมประชาสัมพันธ์เข้าร่วมสังฆกรรมในวังวนการแข่งขันของมีเดียที่ทรงอิทธิพลและมีบทบาทมากที่สุดในปัจจุบันและอนาคต

ช่อง 11 มีดีอะไรหรือจึงหาญเข้าสู่ธุรกิจมีเดียนี้!

หากมองสถานการณ์การแข่งขันของสื่อทีวีในช่องนี้แล้วบอกว่าจะมีทีวีช่องใหม่ของกรมประชาสัมพันธ์จะเข้าร่วมสังฆกรรมเป็น "เสือที่ห้าวงการทีวี" ผู้คนอาจจินตภาพไปว่าการแข่งขันคงจะเข้มข้นประดุจหลังกำลังภายในประเภทเลือดท่วมอะไรทำนองนั้น

ผิดถนัดเพราะการกำเนิดช่อง 11 แทบไม่ได้สร้างความสั่นสะเทือนอะไรให้กับวงการทีวีแม้สักกระผีกริ้น

การจะทำความเข้าใจสภาพปัจจุบันของช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ต้องหวนกลับไปดูเส้นทางในอดีตตั้งแต่การกำเนิดกระทั่งเข้าสู่วงการในปัจจุบัน

ช่อง 11 นั้นเริ่มเป็นรูปเป็นร่างหลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยกับโครงการขยายบริการวิทยุโทรทัศน์ทั่วประเทศของกรมประชาสัมพันธ์เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2528

เหตุผลสำคัญสำหรับการสร้างสถานีช่อง 11 นี้สืบเนื่องมาจากการยุบเลิกบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด เมื่อปี 2520

ผลสะเทือนจากการยุบเลิกบริษัทไทยโทรทัศน์มีความหมายยิ่งใหญ่มากสำหรับกรมประชาสัมพันธ์ เพราะทำให้กรมประชาสัมพันธ์ขาดสถานีโทรทัศน์หลัก ซึ่งเป็นแม่ข่ายในส่วนกลางที่จะเชื่อมโยงรายการโทรทัศน์ไปสู่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยในส่วนภูมิภาคซึ่งครอบคลุมปริมณฑลเกือบทั้งประเทศ

ที่สำคัญก็คือหลังจากการยุบเลิกบริษัทไทยโทรทัศน์แล้วได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) เป็นรัฐวิสาหกิจขึ้นมาบริหารช่อง 9

กลายเป็นว่ากรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับชาติขาดเครื่องไม้เครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ ก็ต้องกระเสือกกระสน เพื่อให้ได้มาซึ่งสถานทีโทรทัศน์ของตนเอง "คือเขาต้องมีไว้เผื่อเวลาฉุกเฉินเกิดอะไรขึ้นจะได้มีเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์เพราะช่อง 9 ก็กลายเป็น อ.ส.ม.ท. แล้ว ขณะที่เขาเป็นหน่วยงานระดับชาติก็ต้องพยายามมีให้จงได้" บริสุทธิ์ บูรณสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ช่อง 3 เผยความนัย

กระบวนการกระเสือกกระสนกว่าจะเป็นรูปเป็นร่างได้ก็หลังจากที่บริษัทไทยโทรทัศน์ถูกยุบเลิกไปกว่า 8 ปี

ถึงคณะรัฐมนตรีจะให้ความเห็นชอบในการก่อสร้างช่อง 11 แล้วก็ตามที แต่ให้ใช้งบประมาณกรมประชาสัมพันธ์เองที่มีอยู่ 8 ล้านบาท

งบประมาณแค่นี้มันจิ๊บจ๊อยมาก!

การดำเนินงานในช่วงแรก ๆ จึงมีปัญหาด้านข้อจำกัดด้านเทคนิค เสาอากาศมีความสูงเพียง 50 เมตร เครื่องส่งวิทยุโทรทัศน์มีกำลังส่งเพียง 10 กิโลวัตต์ "กำลังส่งขนาดนี้เพียงพอที่จะแพร่ภาพในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงเท่านั้น" ช่างคนหนึ่งให้ความเห็น

ถึงจุดนี้แหละที่ญี่ปุ่นเข้ามาในฐานะนักบุญผู้ไม่อาจปฏิเสธคำร้องขอจากประเทศด้อยพัฒนาอย่างไทยได้จึงยื่นมือเข้ามา ตามคำร้องขอของกรมประชาสัมพันธ์

กรมประชาสัมพันธ์ได้ทำโครงการขอความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นโดยผ่านกรมวิเทศสหการ โดยได้ติดต่อประสานงานกับไจก้า สถานทูตญี่ปุ่นและกระทรวงการต่างประเทศ

โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2527 นั่นแสดงว่ากรมประชาสัมพันธ์ได้เตรียมการไว้เนิ่นนานพอสมควรแล้วสำหรับการตั้งสถานีโทรทัศน์ก่อนเสนอความเห็นชอบจาก ครม. และจากจุดนี้เองแสดงว่ากรมประชาสัมพันธ์เองก็ไม่มีงบประมาณเพียงพอในการก่อสร้างสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ของตนเองด้วย

อย่างไรก็ตามโครงการขอความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นก็ประสบความสำเร็จด้วยดี เพราะในยุคนั้น ร.ต.ท. ชาญ มนูธรรม เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีผู้ดูแลรับผิดชอบกรมประชาสัมพันธ์ ด้วยความขยันขันแข็งและเอาการเอางานของเขา ในที่สุดวันที่ 23 ธันวาคม 2529 คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีมติเห็นชอบและอนุมัติเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าเป็นเงิน 330 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือในการจัดตั้งช่อง 11

และแล้วทีวีเมืองไทยซึ่งเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นผู้ซึ่งถูกขนานนามว่า "ภัยเหลือง"

ญี่ปุ่นนั้นการให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นนักบุญแต่หากมองลึกลงไปแล้ว การให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ ก็ต้องใช้บริษัทญี่ปุ่นดำเนินการทุกประการนั่นเอง ในกรณีนี้บริษัท SATOW ARCHITECT AND ENGINEERING และบริษัท ALL JAPAN RADIO AND TELEVISION SERVICE เป็นบริษัทที่ปรึกษา

ส่วนบริษัท KANEMATSU-GOSHU และบริษัท SHIMIZU CONSTRUCTION รับหน้าที่ในการก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์วิทยุโทรทัศน์

ดูการลงนามการเปิดซองราคาการก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์วิทยุโทรทัศน์ของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2530 ก็ยังต้องเปิดที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น!

เรียกว่าช่อง 11 เมด อิน เจแปน ทั้งดุ้นคงจะไม่ผิดนัก "เป็นระบบที่ล้ำหน้ามาก ๆ เพราะเป็นระบบเดียวกับเอ็นเอชเคซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของญี่ปุ่นซื่อถือว่าเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง" คนช่อง 11 กล่าวด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ

แต่คนช่อง 11 จะทราบบ้างไหมว่าสถานีโทรทัศน์แห่งชาติต้องตกเป็นทาสทางด้านเทคโนโลยีอันรวมไปถึง การซ่อมแซมอุปกรณ์ต่าง ๆ ในอนาคตอันยาวนานตราบชั่วลูกชั่วหลานนั้นก็ยังคงต้องอาศัยญี่ปุ่นอยู่นั่นเอง

คนที่หลงไหลได้ปลื้มกับญี่ปุ่นที่คิดว่าเขาจะบริจาคเงินให้ฟรีเพราะเป็นผู้ใจบุญก็น่าจะตระหนักเสียใหม่ว่า "ของฟรีนั้นไม่มีในโลก" โดยเฉพาะที่จะได้ของฟรีจากญี่ปุ่นนั้นขอให้ตระหนักเสียใหม่

การเริ่มต้นของช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นสถานีวิทยุแห่งชาติตั้งแต่การกำเนิดก็มีปัญหาแล้วทั้งปัญหาด้านการเงินแต่เป็นปัญหาที่น่าหนักอกหนักใจสำหรับช่อง 11 อย่างมาก ๆ คือปัญหาด้านรายได้

รายได้ของช่อง 11 มาจากที่ใดบ้าง?

ช่อง 11 ถือว่าเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติของกรมประชาสัมพันธ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อการประชาสัมพันธ์และสนับสนุนนโยบายของรัฐ ดังนั้นรายการต่าง ๆ ของช่อง 11 จึงให้ความสำคัญกับรายการด้านการศึกษาและความรู้มาเป็นอันดับหนึ่ง "โดยให้เวลาเท่าที่สถาบันการศึกษาต้องการ" เอกสารของช่อง 11 เองระบุไว้อย่างนั้น

ส่วนเวลาที่เหลือจากรายการเพื่อการศึกษาและรายการเพื่อความรู้ให้เป็นเวลาของรายการการประชาสัมพันธ์และความมั่นคงของรัฐและสารคดีต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชน

เวลาที่เหลือจากข้างต้นจึงเป็นรายการเพื่อความบันเทิงแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10

เรียกว่าช่อง 11 อุทิศเวลาเพื่อการศึกษาความรู้และสารคดี เพื่อการประชาสัมพันธ์และความมั่นคงของรัฐ ซึ่งก็คือเป็นเครื่องมือในการโฆษณาของรัฐบาลนั่นเอง ทั้งหมดคิดเป็น 90% ของเวลารายการของสถานี

สำหรับรายการบันเทิงนั้นคิดเป็น 10% ของเวลาทั้งหมด ที่สำคัญก็คือช่อง 11 ไม่มีโฆษณา…คุณพระช่วย!! ในสภาวะการแข่งขันรุนแรงถึงขนาดใครพลาดเป็นโดนเชือดนั้น เป้าหมายสำคัญอยู่ที่การแย่งโฆษณาสินค้าอันหมายถึงรายได้ที่จะมาบำรุงสถานีและสร้างเสริมบุคลากรนั้น ช่อง 11 ไม่ต้องแต่ประการใด

รายการบันเทิงมี 10% ก็เรียกว่าน้อยกว่าน้อยแล้ว แถมยังไม่มีโฆษณาอีกต่างหาก แล้วช่อง 11 เอารายได้มาจากไหน?

คำตอบอันน่าสลดใจก็คือรายได้ของช่อง 11 ส่วนใหญ่ได้มาจากค่าเช่าเวลาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จากสามสถาบันคือ รามคำแหง สุโขทัยธรรมาธิราช และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นลูกค้าใหญ่ของช่อง 11

ลูกค้าทั้งสามของช่อง 11 คงไม่มีโอกาสไปแข่งขันกับสี่เสือวงการทีวีแล้ว น่าเสียดายที่นโยบายสำคัญของอภิลาศ โอสถานนท์ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์คนปัจจุบัน ที่เคยกล่าวก่อนที่ช่อง 11 จะเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการว่า "เมื่อเปิดแล้วจะต้องแข่งขันกับช่องอื่น ๆ ให้ได้"

ทว่าดูเหมือนว่าการดำเนินงานตลอดจนนโยบายหลักของคณะรัฐมนตรีดูจะสวนทางกับคำกล่าวของอภิลาศ โอสถานนท์อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

ช่อง 11 นั้นถ้าเปรียบเสมือนสินค้าก็มีปัญหาด้านการผลิตแล้ว กว่าจะสร้างโรงงานของตนเองได้ก็เรียกว่าเลือดตาแทบกระเด็น เนื่องจากทุนจำกัดต้องภิกขาจารจากคนภายนอก หลังจากนั้นก็มีปัญหาด้านการเงินอีกเพราะสืบเนื่องมาจากนโยบายของบริษัทที่ไม่ต้องการทำกำไรอันผิดหลักของการแข่งขันในระบบของทุนนิยมเสรี

ในเมื่อไม่มีรายได้ก็หมายความว่าขาดปัจจัยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เมื่อไม่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็ไม่อาจต่อกรกับ "พี่เอื้อย" ในยุทธจักรได้

"อาจเป็นกลลวงด้านกลยุทธ์ของช่อง 11 ก็ได้ที่ไม่ต้องการจะต่อสู้กับผู้ครองตลาดเจ้าเก่า จึงเบี่ยงเบนกลยุทธ์ทำทีเป็นว่าไม่สนใจการแข่งขัน" นักการตลาดผู้คร่ำหวอดวงการท่านหนึ่งให้ความเห็น

ความเห็นนี้อาจเป็นได้ถ้า หนึ่ง-ไม่มีความพยามยามที่จะหาทางให้ช่อง 11 ในส่วนกลางมีโฆษณาให้ได้ สอง-ไม่มีช่อง 11 ในส่วนภูมิภาคซึ่งเป็นการแพร่ภาพเพื่อการแสวงหากำไร

มีความพยายามอยู่หลายครั้งหลายหนที่จะผลักดันให้ช่อง 11 มีโฆษณาให้ได้ ทั้งจากคนช่อง 11 เอง และจากเอกชนที่มุ่งหวังผลทางธุรกิจเพราะถ้ามีโฆษณาได้โอกาสที่จะเข้ามาทำการค้าก็มีมากขึ้น

ช่อง 11 ทุกวันนี้อาศัยรายได้จากกรมประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์เองก็มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากสถานีในท้องถิ่น ถ้าจะเอาเงินส่วนนี้มาพัฒนาส่วนกลางก็จะไม่ยุติธรรมนัก ดังนั้นถ้ารัฐเล็งเห็นความจำเป็นของการผลิตรายการก็ต้องอนุมัติให้มีโฆษณาหรือไม่ก็ต้องมีงบพิเศษให้" คนช่อง 11 กล่าวอย่างตรงไปตรงมา

แต่ความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่านี้ ก็มีอันต้องเป็นหมันไปหลังจากที่สุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีผู้ดูแลกรมประชาสัมพันธ์ประกาศว่าไม่ให้มีโฆษณา

ช่อง 11 จะล้มเหลวตั้งแต่ช่วงตั้งไข่แล้วกระนั้นหรือ "หากดูรายการต่าง ๆ แล้วเป็นไปได้ที่จะไม่ประสบความสำเร็จ" คนในวงการพูดอย่างไม่อ้อมค้อม

รายการของช่อง 11 นั้นปริมณฑลส่วนใหญ่จะถูกครอบครองด้วยรายการจากสถาบันการศึกษาทั้งสาม ที่เหลือก็เป็นสารคดีและรายการ เพื่อการประชาสัมพันธ์ และเพื่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งรายการที่ว่านี้มีมาร์เก็ตแชร์ถึง 90% ที่เหลือ 10% เป็นรายการบันเทิงดังที่กล่าวมาแล้วนั้น แทบจะไม่มีรายการใดที่เรียกได้ว่าน่าสนใจเลย รายการบันเทิงส่วนใหญ่ก็เป็นรายการที่ทางบริษัทนิวส์เน็ตเวอร์คป้อนให้

ว่าที่จริงแล้วสารคดีหรือรายการบันเทิงก็มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ อาทิ ชีวประวัติของราชาร็อคแอนด์โรล์ เอลวิส เพรสลีย์ ซึ่งเมื่อครั้งที่ออกสู่สายตาผู้ชมก็สร้างความฮือฮาได้พอสมควร

แต่นั่นก็เป็นผู้ชมบางส่วนและเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้นที่จะมีรายการดี ๆ "เราไม่มีงบประมาณพิเศษเพื่อมาผลิตรายการเลย ส่วนใหญ่เราก็ยืมเขามาบ้าง ขอมาบ้างและแลกเปลี่ยนจากต่างประเทศบ้าง ซึ่งนับวันรายการที่มีคุณภาพก็จะหมดไป" คนช่อง 11 กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงที่มาของรายการบันเทิง

วันดีคืนดีช่อง 11 ก็จะสร้างความฮือฮาขึ้นมาเสียทีหนึ่ง ดังเช่น บริษัทเบรน เน็ทเวอร์ค คิดจะให้ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนกนางงามจักรวาลที่หลาย ๆ คนกำลังคลั่งไคล้สัมภาษณ์สดข้ามทวีป รายการนี้เรียกว่าเป็นที่สนอกสนใจแก่ประชาชนทั่วไปมาก ๆ เพราะเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ออกมาได้ถูกจังหวะ

แต่ช่องอื่นก็สนใจโครงการนี้ของเบรนเน็ทเวอร์คเช่นกัน ก็เลยกลายเป็นว่าโครงการนี้ทุกช่องขอเข้าร่วมสังฆกรรมด้วย คงจะจำกันได้ที่ "หน้าแตก" กันไปเมื่อหลาย ๆ เดือนก่อน

อีกรายการก็คือการถ่ายทอดสดการชกชิงแชมป์เปี้ยนโลกคู่หนึ่ง ที่เริ่มถ่ายทอดเวลาตีหนึ่งแต่หลังจากที่นำเทปเก่ามวยคู่เลียวนาร์ดกับแฮกเลอร์แล้ว หลังจากนั้นก็กลายเป็นบทสนทนาระหว่างผู้เชี่ยวชาญเรื่องมวยสากลสามคนก็มานั่งบรรเลงความรู้ผิดบ้างถูกบ้างตามแต่จะปล่อยกันออกมา และสุดท้ายก็หน้าแตกกันไปตาม ๆ กัน เนื่องจากถ่ายทอดสดไม่ได้อันเนื่องมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นที่สถานีต้นทาง

คนในวงการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเกิดจากปัญหาค่าใช้จ่ายมากกว่าที่ทำให้การถ่ายทอดไม่ราบรื่น

มีอีกหลายกรณีที่ช่อง 11 พยายามสร้างความฮือฮาเพื่อเรียกความสนใจจากผู้ชมหลายครั้งหลายหนที่มีการซื้อหน้าหนังสือพิมพ์เต็มหน้านำเสนอรายการ (ที่คิดว่า) ดี

คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่านั่นเป็นผลงานของช่อง 11 ในการแย่งมาร์เก็ตแชร์อย่างเงียบ ๆ แต่แท้ที่จริงแล้วมันเป็นผลงานของบริษัทเอกชนสองแห่ง ที่ประมูลเวลาช่วงรายการและช่วงโฆษณาระหว่างการเสนอข่าวของสถานีวิทยุโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ในส่วนภูมิภาคต่างหาก

ช่วงเวลาก่อนที่ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์จะได้ฤกษ์แพร่ภาพอย่างเป็นทางการนั้น มีเหตุการณ์ที่มีความหมายอย่างมาก ๆ ต่ออนาคตวงการทีวีเมืองไทยและต่อกรมประชาสัมพันธ์

บริษัทวัฒนาไนชซึ่งเป็นผู้เช่าเวลาสถานีโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ในส่วนภูมิภาคหมดสัญญากับกรมประชาสัมพันธ์ในปลายเดือนมีนาคม 2531 ที่ผ่านมานี้ อันเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับการแพร่ภาพอย่างเป็นทางการของช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์

การหมดสัญญาลงของวัฒนาไนชอันเป็นบริษัทในเครือช่อง 3 ของตระกูลมาลีนนท์ ซึ่งอาศัยเครือข่ายของกรมประชาสัมพันธ์ในส่วนภูมิภาคซึ่งมีเครือข่ายครอบคลุมไปเกือบทั้งประเทศเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงประชาชนในส่วนภูมิภาค

ถึงเครือข่ายในส่วนภูมิภาคของกรมประชาสัมพันธ์จะมิได้มีความสำคัญสำหรับช่อง 3 เฉกเช่นอดีต เพราะในปี 2533 เครือข่ายของช่อง 3 เองก็จะมีรัศมีแพร่ภาพทั้งประเทศแล้ว แต่บริษัทวัฒนาไนชและวัฒนาไนชโปรโมชั่นซึ่งเป็นบริษัทในเครือของวัฒนาไนช ก็ยังกระโดดเข้าร่วมประมูลด้วย

การประมูลเพื่อชิงเป็นผู้เช่าเหมาเวลาช่อง 11 จึงสนุกสนานมาก ๆ

ผลปรากฏว่าบริษัทนิวส์เน็ตเวอร์คม้านอกสายตาเป็นผู้กำชัยในการประมูลครั้งนี้ไปได้ ด้วยราคาค่าเช่าเวลาเดือนละ 4.5 ล้านบาท หากคิดเป็นปีก็จะตกปีละ 54 ล้านบาท นับว่าเป็นจำนวนเงินไม่มากนักถ้าได้เวลาของช่อง 7 หรือช่อง 5 ในราคาเท่านี้ แต่สำหรับสถานีโทรทัศน์ในส่วนภูมิภาคแล้วไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยกับการบริหารเวลาสัปดาห์ละ 45 ชั่วโมง

นิวส์เน็ตเวอร์ตเป็นใครมาจากไหนหรือจึงกล้ากระโดดเข้าจับงานระดับช้างในครั้งนี้?

นิวส์เน็ตเวอร์คเพิ่งจะถือกำเนิดในยุทธจักรทีวีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2530 มานี้เอง แต่ความเป็นมากว่าจะเข้ามาเช่าเหมาเวลานั้นค่อนข้างจะสนุกสนาน

เริ่มมาจากกลุ่มนักหนังสือพิมพ์กลุ่มต้องการพัฒนารายการข่าวให้น่าสนใจทั้งรูปแบบและเนื้อหา จึงเกิดความคิดที่จะเข้าไปบริหารข่าวให้สถานีโทรทัศน์ แต่ ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล จากบริษัทแปซิฟิค คอมมิวนิเคชั่น ก็มาทำให้รูปธรรมชัดเจนก่อนจนเป็นที่ฮือฮาอย่างมาก ๆ ในปัจจุบัน

จน ดร. สมเกียรติ และทีมงานแปซิฟิคกลายเป็นผู้ริเริ่ม และผู้นำด้านการข่าวทีวีเป็นเสียฉิบ

กระทั่งปี 2530 ช่อง 5 ซึ่งเปิดโอกาสให้เอกชนเช่าเวลาโฆษณาช่วงรายการข่าวสองทุ่มได้ โดยมีบริษัทวโรดมโดดเข้าไปเสี่ยงตายกับระบบราชการทหารในสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5

บริษัทวโรดมนั้นถึงจะมีทุนหนาแต่เมื่อเผชิญกับสภาพระบบราชการในธุรกิจที่ต้องอาศัยความคล่องตัวอย่างมาก ๆ ผลปรากฏว่าวโรดมขาดทุนต่อเนื่องทำให้จำต้องถอนตัวไปในที่สุด "นัยว่าผู้บริหารช่อง 5 ใจแคบเรื่องนโยบายข่าว" ผู้รู้ให้ข้อสังเกต จึงทำให้บริษัทเทเลเพรสแทรกตัวเข้าเป็นผู้เสี่ยงตายรายใหม่

เทเลเพรสได้ก่อตั้งบริษัทหนึ่งชื่อว่านิวส์เน็ตเวอร์คเพื่อเป็นนายหน้าซื้อเวลาช่วงโฆษณาในรายการข่าวของช่อง 5 แทนวโรดมที่ต้องถอนตัวกลับไปอย่างสะบักสะบอม

นิวส์เน็ตเวอร์คได้มีการเซ็นสัญญากับทางช่อง 5 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2530 ที่ผ่านมา!

ตามสัญญาแล้วนิวส์เน็ตเวอร์คเป็นผู้ขายเวลาในช่วงโฆษณาเท่านั้นไม่ต้องทำข่าวป้อนให้กับทางช่อง 5 ซึ่งมีทีมข่าวทำของตนเองอยู่แล้ว

แต่ในทางปฏิบัติแล้วเป็นที่รู้กันในวงการและในหมู่ผู้ดูโทรทัศน์ทั่วไปว่ารายการข่าว 5 นั้นล้าหลังกว่าใครทั้งหมด เนื่องจากช่อง 5 นั้นมีทีมข่าวน้อยมากและไม่ค่อยมีฝีมือเนื่องจากค่าตอบแทนต่ำ เมื่อพัฒนาฝีมือจนถึงระดับหนึ่งแล้วก็มักอำลาไปแห่งใหม่ซึ่งมีค่าตอบแทนที่ดีกว่าอยู่เสมอ ดังนั้นทีมข่าวช่อง 5 ที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงค่อนข้างจะด้อยกว่ามาตรฐานโดยทั่วไป ประกอบกับมีจำนวนน้อยและยังต้องคอยทำข่าวทหารซึ่งค่อนข้างจะไม่เป็นที่สนใจต่อผู้ชม

ฉะนั้นเน็ตเวอร์คจึงต้องป้อนข่าวให้ทางช่อง 5 เป็นประจำและสม่ำเสมอทุกวัน "มันก็เหมือนกับเป็นการพัฒนาสินค้านั่นแหละเพราะถ้าให้ช่อง 5 ทำคนเดียวจะกลายเป็นว่าสินค้าไม่มีคุณภาพ เมื่อสินค้าไม่มีคุณภาพก็ขายโฆษณาไม่ได้ ก็ต้องขาดทุนคือพูดง่าย ๆ เขาทำเพื่อตัวเองนั่นแหละ" คนในวงการวิเคราะห์

นิวส์เน็ตเวอร์คก็จ้างเทเลเพลสนั่นแหละเป็นผู้ป้อนข่าวให้กับนิวส์เน็ตเวอร์เพื่อไปช่วยช่อง 5

ในช่วงแรกของการก่อตั้งนิวส์เน็ตเวอร์คนั้นมีผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่สองคนคืออลงกรณ์ พลบุตร และพัฒนา ภวภูตานนท์ ซึ่งต่อมาในภายหลังกุลศิริ ศรีมาก และอภิชัย ศักดิ์ชลาธร เข้ามาเป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการนิวส์เน็ตเวอร์คตามลำดับ ดำรง พุฒตาล ก็เข้ามาในช่วงนี้เช่นกัน แต่ก็เข้ามาในเวลาไม่นานนักก็ถอนตัวออกไป

พร้อม ๆ กับการเข้ามาของกุลศิริและอภิชัย ก็ได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 20 ล้านบาท กลายเป็น 30 ล้านบาท

อภิชัย ศักดิ์ชลาธร มาจากวงการก่อสร้างและที่ดิน เห็นช่องทางในการทำมาหากินกับวงการโทรทัศน์จึงกระโดดเข้ามาเป็น "RISK TAKER" เต็มตัว

การทุ่มสุดตัวของอภิชัย ศักดิ์ชลาธรกับนิวส์เน็ตเวอร์คในครั้งนี้มีความหมายยิ่งใหญ่มากเพราะ ไม่เพียงหมายถึงการที่นักลงทุนธรรมดาจะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมที่กำลังรุ่งเรืองถึงขีดสุดอุตสาหกรรมหนึ่งในปัจจุบันเท่านั้น แต่มันยังหมายถึงการเป็นผู้บุกเบิกการบริหารรายการ และบริหารเวลามากที่สุดเท่าที่บริษัทเอกชนบริษัทหนึ่งที่ไม่ใช่ตระกูลมาลีนนท์ซึ่งมีประสบการณ์ที่สะสมมานานเกือบสองทศวรรษและไม่ใช่ตระกูลกรรณสูตรมีอยู่กับช่อง 7 มานานแสนนาน

แต่เป็นเรื่องนักธุรกิจที่อยู่นอกวงการ ไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับวงการนี้มาก่อน แต่เห็นช่องทางว่าน่าจะมีกำไรจึงโดดเข้ามาร่วมเล่น

ถ้างานนี้ประสบความสำเร็จเงินทองก็จะไหลมาเทมาเพราะว่ากันไปแล้วนิวส์เน็ตเวอร์เป็นบริษัทเอกชนเพียงบริษัทเดียวที่เป็นผู้บริหารรายการเจ้าเดียวเท่านั้น จากจำนวนเวลาที่ออกอากาศในแต่ละสัปดาห์ 75 ชั่วโมง นิวส์เน็ตเวอร์คต้องบริหารเวลาถึง 45 ชั่วโมง มากกว่าครึ่งซึ่งยังไม่มีใครเคยทำได้มาก่อน

สำหรับผู้ที่คิดอยากจะโดดเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้น่าจะศึกษาติดตามยุทธวิธีและความเคลื่อนไหวของนิวส์เน็ตเวอร์ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้

นิวส์เน็ตเวอร์คนั้นค่อนข้างจะไม่มีการเตรียมการที่ดีเท่าไรนักเกี่ยวกับรายการที่จะออกอากาศ นับจากวันที่ประมูลได้

รายการส่วนใหญ่ก็จะเป็นรายการที่ซื้อมาจากต่างประเทศหรือไม่ก็เป็นการซื้อรายการหรือละครเก่ามาจากบริษัทต่าง ๆ หรือทีวีช่องต่าง ๆ ที่ผ่านการออกอากาศในส่วนกลางไปแล้ว แต่ยังไม่ได้แพร่ภาพในส่วนภูมิภาค

ถ้าพูดถึงด้านรายการแล้วนิวส์เน็ตเวอร์คน่าจะได้คะแนนต่ำในเรื่องนี้ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องให้เวลาพอสมควร

นับจากวันที่นิวส์เน็ตเวอร์คเป็นผู้ชนะการประมูล ข่าวคราวจากนิวส์เน็ตเวอร์คก็ออกมาถี่ยิบประดุจปืนกล

เริ่มตั้งแต่แผน CHANNEL SEGMENTATION ต้องการทำให้ช่อง 11 ส่วนภูมิภาคกลายเป็นช่องที่เน้นด้านกีฬาเพื่อจูงใจบรรดาแฟนกีฬาทั้งหลายให้หันมาสนใจช่องนี้เป็นพิเศษ อันเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสำหรับผู้มาใหม่ที่ต้องพยายามแสวงหาตลาดส่วนที่ยังไม่มีใครเข้ามาครอบครองโดยวิธีการรบแบบกองโจร

แต่การมุ่งเน้นด้านการกีฬานี้ไม่สู้จะประสบความสำเร็จมากนัก เพราะช่องอื่น ๆ ต่างก็หันมาทางด้านนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นช่อง 3 หรือช่อง 7 เจ้ายุทธจักรด้านกีฬาอยู่แล้ว ถึงกับเกิดกรณีพิพาทเรื่องแย่งลิขสิทธิ์กันเรื่องการถ่ายทอดสดจนกลายเป็นข่าวคราวอยู่พักใหญ่

รายการถ่ายทอดสดรายการกีฬาดี ๆ เช่น การชกชิงแชมป์มวยคู่ดัง ๆ หรือการถ่ายทอดสดฟุตบอลคู่เด็ด ๆ ก็ถูกสองยักษ์ใหญ่กว้านไปหมด กระทั่งกีฬายอดนิยมอย่างเทนนิสก็ยังถูกช่อง 9 ตัดหน้าไป

งานนี้เลยกลายเป็นว่านิวส์เน็ตเวอร์คเอาจุดอ่อนของตนเองไปปะทะจุดแข็งของคู่แข่ง! เหตุการณ์ประเภทหน้าแตกในเรื่องการถ่ายทอดสดกีฬานี้ทำให้นิวส์เน็ตเวอร์คเสียรังวัดไปมาก กระทั่งกลายเป็นตำนานเรื่องการถ่ายทอดกีฬาที่เล่าขานกันไม่รู้จบ

แต่นิวส์เน็ตเวอร์คก็ยังไม่ละความพยายาม เมื่อคราวที่มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโซลเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมาก่อนการแข่งขันนิวส์เน็ตเวอร์คเป็นบริษัทแรกที่จับมือกับช่อง 11 ส่งทีมข่าวไปเรื่องโอลิมปิกประเภทเจาะลึกเป็นเจ้าแรก

ช่วงแรกนั้นค่อนข้างดีมาก แต่เมื่อทุกช่องต่างก็ส่งทีมงานของตัวไปแล้วนิวส์เน็ตเวอร์คก็ไม่ได้เหนือกว่าช่องอื่น ๆ เท่าไรนัก

อย่างไรก็ตามถ้ากล่าวถึงด้านความพยายามแล้วก็ต้องยกเครดิตให้กับนิวส์เน็ตเวอร์ค!

วันนี้นิวส์เน็ตเวอร์คยังเพิ่งก้าวเดินมาได้เพียงไม่กี่ก้าวยังถือว่าเป็นช่วงตั้งไข่เท่านั้น แต่ก็มีแนวโน้มว่างานนี้นิวส์เน็ตเวอร์คเอาจริงแน่ เพราะล่าสุดก็กู้เงินมาอีก 30 ล้านบาท "มีข่าวว่าจะผลิตรายการเอง และจะตั้งสตูดิโอของตนเอง เรียกว่างานนี้ทุ่มสุดตัว" คนในวงการว่า

นอกจากข่าวเรื่องจะขยายงานแล้ว รายงานข่าวที่ออกมาจากนิวส์เน็ตเวอร์คนั้นยังออกมาในทำนองว่านิวส์เน็ตเวอร์คขายโฆษณาได้มากแล้ว และมีหลาย ๆ บริษัทเสนอตัวเข้ามาจัดทำรายการให้ หรือเมื่อตอนเริ่มเปิดดำเนินการใหม่ ๆ มีข่าวจากว่าจะมีบริษัทจากอเมริกาและญี่ปุ่นเสนอตัวเข้ามาสร้างโรงถ่ายทำในเมืองไทยเพื่อแลกกับการผลิตรายการป้อนให้

มันเป็นความเคลื่อนไหวอย่างเป็นจังหวะต่อเนื่องของผู้ริเริ่มเข้าอุตสาหกรรมนี้

คนในวงการตั้งข้อสังเกตว่า การเข้าสู่วงการของในครั้งนี้เกือบจะเรียกว่าไม่ได้รับการต่อต้านจากบรรดาพี่เอื้อยทั้ง 4 อย่างเป็นทางการเลย เพราะหนึ่ง-สถานีโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ในส่วนภูมิภาค (บางครั้งจะเรียกสั้น ๆ ว่าช่อง 11 ในส่วนภูมิภาค) ซึ่งเป็นผู้ประมูลเวลาได้นั้นไม่มีศักยภาพเพียงพอในการแข่งขัน เนื่องจากข้อจำกัดหลายประการที่สำคัญก็คือการขาดรายการดี ๆ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการแข่งขัน สอง-ผู้บริหารยังเป็นมือใหม่ยังไม่มีความชำนาญเพียงพอที่จะสร้างความได้เปรียบหรือจุดเด่นซึ่งเป็นผลให้โฆษณาหลั่งไหลเข้ามาได้ สาม-เนื่องจากเป็นมือใหม่ ทีมงานที่ใช้ส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างใหม่ โดยเฉพาะทีมงานด้านการตลาดและการขายเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวง เมื่อไปขายโฆษณาเพราะเอเยนซี่เมืองไทยบางแห่งยังอาศัยความสนิทสนมส่วนตัวเป็นปัจจัยหนึ่งในการสั่งซื้อสื่อ "คุณลองเปรียบเทียบดูถ้ามีทีวีสองช่องมาเสนอขายคุณภาพเท่าเทียมกัน คุณก็ต้องเลือกคนที่รู้จักกันไว้ก่อน" คนในวงการเอเยนซี่ให้ความเห็น

มิพักต้องพูดถึงคุณภาพรายการของสถานีของกรมประชาสัมพันธ์ในส่วนภูมิภาค ซึ่งยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ล้มต้มไข่กิน ยังห่างชั้นคู่แข่งขันหลายช่วงตัว

ทางรอดของที่จะไม่ต้องเป็นไปตามคำทำนายของสมเกียรติ อ่อนวิมล ที่ว่าจะไปไม่รอดเกินปี 2532 นั้นก็คือ การเร่งพัฒนาคุณภาพให้เร็วที่สุด "ที่สำคัญต้องเอาใจคนชนบทให้มาก ๆ ไว้ เพราะเขาสามารถมีโฆษณาได้ก็แต่เฉพาะในส่วนภูมิภาคเท่านั้น" แหล่งข่าวที่ตามเรื่องนี้มานานให้ความเห็น

ช่อง 11 ในส่วนภูมิภาคในตอนนี้ก็เปรียบเสมือนพรรคพลังธรรมเมื่อครั้งส่งผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนไม่ผิด

การเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคพลังธรรมส่งสมาชิกลงสมัคร ส.ส. โดยที่หัวหน้าพรรคไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยก็เหมือนกับมังกรขาดหัวทำให้จำนวนสมาชิกที่ได้มานั้นค่อนข้างน้อย สถานีวิทยุโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ก็เช่นกัน

ปัจจุบันสถานีโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์สร้างความสับสนให้คนดูอย่างมาก ๆ มีคนเป็นจำนวนมากไม่ทราบว่าช่อง 11 ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคแพร่ภาพไม่เหมือนกัน และอีกเป็นจำนวนมากคิดว่าบริษัทเอกชนทั้งสองเช่าเวลาในช่อง 11 ส่วนกลางด้วย ซึ่งไม่มีโฆษณาอาจจะทำให้ทั้งสองบริษัทนี้ถึงแก่การอวสานโดยเร็วก็เป็นได้ แม้กระทั่ง สมเกียรติ อ่อนวิมล ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการแปซิฟิคอินเตอร์ คอมมิวนิเคชั่น ผู้อยู่ในแวดวงทีวีมามาโดยตลอดในช่วงหลายปีมานี้ ยังเข้าใจคลาดเคลื่อน

"ผมไม่เคยดูผังรายการของช่อง 11 ด้วยซ้ำ" เขากล่าวกับ "ผู้จัดการฯ" นั่นเป็นสัญญาณแสดงว่าคนในวงการค่อนข้างจะละเลยช่อง 11 ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

ทว่านี่คือโอกาสทองของนิวส์เน็ตเวอร์คแล้วในการแสวงหามาร์เก็ตแชร์อย่างเงียบ ๆ โดยอาศัยการถูกละเลยจากบรรดาเจ้ายุทธจักรทั้งหลาย

"เขาต้องใช้ยุทธวิธีการรบแบบกองโจรเพราะเนื่องจากเพิ่งเข้าสู่ตลาดไม่นาน ทุนรอนก็น้อย ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็มากเนื่องจากเพิ่งริเริ่มวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ จึงต้องซื้อหา บุคลากรก็เป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งยังต้องเสียเวลาการฝึกอีกนานกว่าจะลงตัว"

ซื้อเวลาและสายป่าน" คนในวงการสรุปสำหรับอนาคตนิวส์เน็ตเวอร์ค

จากนี้ไปนิวส์เน็ตเวอร์คคงต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะเวลาของนิวส์เน็ตเวอร์คมีเพียง 3 ปีเท่านั้น (ตามสัญญา) และเวลาที่นิวส์เน็ตเวอร์คซื้อไปนั้น หมายถึงเงินจำนวนมหาศาลที่ต้องทุ่มเทไปเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานที่ยังบกพร่องอยู่ในหลายจุดอันเนื่องจากเป็นมือใหม่

งานของนิวส์เน็ตเวอร์คเป็นงานที่ไม่ง่ายนัก แต่ก็เป็นงานที่ท้าทายและจะต้องจารึกชื่อ อภิชัย ศักดิ์ชลาธร และทีมงานลงในประวัติศาสตร์ของวงการทีวีถ้าเขาทำให้ช่อง 11 ในส่วนภูมิภาคขึ้นได้อันหมายถึงผลกำไรที่จะตามมา

และอีกสามปีเขาก็ต้องประสบกับปัญหาใหญ่หลวงไม่ว่าเขาจะประสบควาสำเร็จกับช่อง 11 หรือไม่ก็ตาม เพราะหนึ่ง-ถ้าประสบความสำเร็จ เขาก็ต้องเผชิญกับคู่แข่งขันอีกมากที่พยายามเสนอตัวเข้าประมูลเวลาของสถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ เพราะธุรกิจนี้หอมหวนมาก ใครมีฝีมือแล้วบอกได้เลยว่า "รวยเร็ว" สอง-ถ้าประสบความล้มเหลวเขาก็จะกลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์บทหนึ่งให้ชนรุ่นหลังที่อาจหาญเข้าสู่วงการนี้ต่อไปศึกษา แต่สำหรับนิวส์เน็ตเวอร์คแล้วมันเป็นบทเรียนที่มีราคาแพงอย่างมาก ๆ

จังหวะก้าวของนิวส์เน็ตเวอร์คต้องก้าวดี ๆ เสียแล้ว งานนี้พลาดไม่ได้ เพราะมันหมายถึงเงินและหน้าตาของเขา อภิชัย ศักดิ์ชลาธาร และกุลศิริ ศรีมาก

การทำธุรกิจกับช่อง 11 ไม่ได้มีเพียงบริษัท นิวส์เน็ตเวอร์คเพียงเจ้าเดียว มีอีกเจ้าหนึ่ง ชื่อ เบรนเน็ตเวอร์ค ที่เป็นผู้ได้รับการประมูลสัมปทานเวลาโฆษณาช่วงข่าวภาคดึก ที่แพร่ภาพในส่วนภูมิภาค

เบรนเน็ตเวอร์ค มีฉลวย เรืองชาญเป็นหัวเรือใหญ่!

ฉลวย เรืองชาญ ชอบงานข่าว เพราะเขาผูกพันกับมันมาก จะเรียกว่ามันซึมเข้าไปในร่างก็คงไม่ผิด ทั้ง ๆ ที่เขาเรียนเพาะช่าง

ก็ที่เพาะช่างนี่แหละที่เขาได้เข้าไปสัมผัสกับสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก

งานที่เขาทำระหว่างอยู่เพาะช่างคือละครวิทยุ

หลังจากละครวิทยุแล้วเขาก็ไปจัดรายการวิทยุ นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาชักจะหลงกลิ่นอายของสื่อตัวนี้เสียแล้ว

หลังจากที่พอมีเงินมีทองกับเขาจึงข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนด้านสื่อสารมวลชนที่มหาวิทยาลัยลอนดอน

สำเร็จการศึกษาแล้วก็อยู่อเมริกาเสีย 6 ปี และอยู่อังกฤษอีก 13 ปี หลังจากนั้นประจำอยู่บีบีซี ลอนดอน

ไปอยู่กับคุณหญิงพรทิพย์ได้พักใหญ่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ของสยามกลการมิวสิคฟาวเดชั่น หลังจากกลับจากอังกฤษได้สองสามเดือน

จากนั้นจึงกลายเป็นนกน้อยที่โผกลับรังเดิมโดยเป็นผู้ประกาศข่าวให้ช่อง 5 ครั้งนั้นแหละที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก

เขามาโด่งดังอีกครั้งก็เมื่อตอนที่มีปัญหากับสมเกียรติ อ่อนวิมล เพราะเขาย้ายจากช่อง 5 ไปเป็นลูกจ้างของแปซิฟิคฯ คงคิดว่าจะรุ่งกว่าที่ช่อง 5 กระมัง

ผลปรากฏว่าไม่รุ่งแต่ดังเพราะเป็นข่าวฟ้องร้องอดีตนายจ้างเป็นคดีถึงโรงถึงศาล

นั่นดูเหมือนจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ฉลวยรู้จักคำว่า "ลูกจ้าง"

เพราะหลังจากนั้นเขาก็เป็นเถ้าแก่เองแล้วแต่เป็นหุ้นส่วน โดยมีสมาน ไกรคุ้มเป็นฐานเงินทุนใหญ่

สมาน ไกรคุ้ม ซึ่งสวมบทบาทนายทุนใหญ่คนนี้ เป็นคนโคราชบ้านเดียวกับฉลวย แต่ก่อนทำธุรกิจหลายอย่าง เป็นต้นว่า ธุรกิจก่อสร้าง ส่งออกอาหาร กระเป๋า เสื้อผ้า จัดหาวัสดุก่อสร้างให้รัฐบาล และยังมีซุปเปอร์มาร์เก็ต 8 แห่งในต่างประเทศ

สมานตกปากรับคำเชิญชวนของฉลวยให้มาเสี่ยงลงทุนขายเวลาโฆษณาในช่วงข่าวช่อง 11 กลายเป็นที่มาของเบรนเน็ตเวอร์คที่สร้างความสั่นสะเทือนให้วงการทีวีอย่างมาก ๆ เมื่อครั้งเป็นผู้ชนะการประมูลเป็นผู้เช่าเหมาเวลาในรายการข่าวภาคค่ำของกรมประชาสัมพันธ์ในส่วนภูมิภาคเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

เบรนเน็ตเวอร์คเสนอให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นเงินถึง 32.4 ล้านบาท และเสนออีกเป็นจำนวนเงิน 45.2 ล้านบาท ตลอดสามปีของช่วงระยะการดำเนินงาน คุณพระช่วย! อะไรจะขนดนั้น

นอกจากจะให้ผลประโยชน์เป็นรูปตัวเงินแล้วยังสนับสนุนเป็นวัตถุต่าง ๆ อีกมาก ไม่ว่ากล้องถ่ายโทรทัศน์ ซีซีดี 2 ตัว ชุดตัดต่อ 1 ตัว รถยนต์ 1300 ซีซีจำนวน 3 คัน ฯลฯ อีกมากมาย

นอกจากนั้นก็จะจัดทีมข่าวเคลื่อนที่เร็วในกรณีที่ทีมข่าวกรมประชาสัมพันธ์ติดงาน และยังเสนอตัวที่จะผลิตรายการในช่วงคั่นระหว่างข่าวในการแพร่ภาพในส่วนกลางวันอีกด้วย

เรียกว่างานนี้ฉลวยทุ่มสุดตัวราวกับว่าจะไปประมูลเวลาโฆษณาช่วงยอดนิยมอย่างนั้น!

ทำไมเขาต้องทุ่มขนาดนั้น "ผมยอมรับว่าเสี่ยง" เขายอมรับ "ชะตากรรมของเราฝากไว้กับความสามารถของทีมข่าวช่อง 11" เขากล่าวถึงปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จของเขา

กรณีของฉลวยกับเบรนเน็ตเวอร์คดูจะน่าสนุกกว่านิวส์เน็ตเวอร์ค เพราะฉลวยไม่ใช่คนหน้าใหม่ของอุตสาหกรรมนี้ดังเช่นอภิชัย เขาอยู่ในวงการนี้มานาน นานกว่าสมเกียรติด้วย แต่ที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าอาจเป็นเพราะจังหวะและโอกาสไม่เอื้ออย่างสมเกียรติก็ได้

การเป็น ENTREPRENEUR ครั้งนี้เขาจะพลาดไม่ได้ เพราะมันหมายถึงหน้าตาและเงินมหาศาลของนายทุนที่คาดว่ายังมีนักการเมืองในโคราชหนุนหลังอยู่อีกด้วย

ช่วงเวลาหลังจากการประมูลเวลาได้แล้วก็คือการออกข่าวอย่างกระชั้นชิด ในหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับเกือบทุกอาทิตย์

ตั้งแต่เรื่องการประกาศยืนยันว่าจะเซ็นสัญญากับทางกรมประชาสัมพันธ์แน่ ๆ หลังจากประมูลเวลาได้แล้ว

เขาต้องรีบออกมาให้ข่าวเพราะระยะนั้นมีข่าวลือเกี่ยวกับตัวเขามากเหลือเกินข่าวที่ทำให้เขายิ้มไม่ออกก็คือ ข่าวที่เขาแกล้งทะเลาะกับสมเกียรติ เพื่อที่จะให้เบรนเน็ตเวอร์คที่เขาเป็นกรรมการผู้จัดการอยู่ไปยึดหัวหาดที่ช่อง 11 คงทำนองว่าเป็นช่องสำรองเผื่อว่าทาง อ.ส.ม.ท. บอกเลิกสัญญากับทางแปซิฟิค แปซิฟิคจะได้มีที่ไป เพราะมีข่าวลือว่าเบรนเนตเวอร์คเป็นบริษัทในเครือของแปซิฟิค และหลายคนยังกระแซะว่าเมื่อไรฉลวยจะกลับไปอ่านข่าวกับสมเกียรติ

ข่าวอัปมงคลที่เกิดก่อนหน้านั้นก็มีมาเป็นระลอกคลื่น ตั้งแต่เรื่องที่เบรนเน็ตเวอร์คจะถอนตัวจากการเป็นคู่สัญญากับทางกรมประชาสัมพันธ์หรือมีข่าวลือว่ามีบริษัทอื่นไปเหมาเวลาจากเบรนเน็ตเวอร์คอีกต่อหนึ่งแล้ว

ข่าวคราวประเภทนี้จะมีออกมาเป็นระยะ ๆ ทำให้ฉลวยต้องกลายเป็นโฆษกของเบรนเน็ตเวอร์คไปโดยปริยาย

การดำเนินของเบรนเน็ตเวอร์คค่อนข้างจะเป็นมวยมากกว่านิวส์เน็ตเวอร์ค การเสนอออกข่าวเป็นไปในลักษณะเชิงรุกอันแสดงถึงความเป็นมืออาชีพ

หลังจากเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการได้เพียงเดือนเดียวเขาก็ส่งทีมงานออกไปสำรวจคนดูในต่างจังหวัดเหมือนกับเป็นการวิจัยตลาด

ขณะที่เขากำลังขะมักเขม้นกับการแย่งมาร์เก็ตแชร์ในตลาดที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงมากที่สุด กลับปรากฏว่าพนักงานหลายคนในบริษัทของเขาเองบางคนไม่เคยเปิดดูรายการข่าวของช่อง 11 ด้วย

ข่าวระดับลึกรายงานว่าเขากำลังบักโกรกเพราะขายโฆษณาได้ไม่เข้าเป้า แต่ข่าวที่เขาให้ในนามเบรนเน็ตเวอร์คนั้นดูประหนึ่งเขากำลังขายโฆษณาดีอย่างเทน้ำเทท่า เพราะเขาได้ปรับราคาค่าโฆษณาขึ้นเป็นสามหมื่นจากราคา 27,000 บาท ราคาขนาดนี้แพงกว่าราคาของช่อง 5 (ช่วงข่าวหลังลดแล้ว) ซึ่งมีเครือข่ายครอบคลุมในปริมณฑลพอ ๆ กัน นั่นแสดงว่าเขามั่นใจในผลิตภัณฑ์ของตนเอง

เบรนเน็ตเวอร์คนั้นค่อนข้างจะรับภาระหนักน้อยกว่านิวส์เน็ตเวอร์ค เพราะเป็นผู้ประมูลเวลาโฆษณาในช่วงข่าวเท่านั้น นอกจากนั้นยังไม่ต้องผลิตรายการเองอีกด้วย แต่ผลเสียเกิดขึ้นในแง่ที่ว่าเขาไม่มีโอกาสไปยุ่งเกี่ยวกับด้านการผลิตเพียงทำหน้าที่ด้านการตลาดคือหาโฆษณาเท่านั้น กล่าวได้ว่าชะตากรรมของเขาฝากอยู่กับความสามารถของบุคลากรช่อง 11 จริง ๆ

นั่นเป็นข้อที่อันตรายสำหรับเบรนเน็ตเวอร์คเป็นอย่างยิ่ง เพราะเบรนเน็ตเวอร์คเข้าทำธุรกิจกับช่อง 11 ในส่วนของการโฆษณาช่วงรายการข่าวนั่นหมายความว่าคุณภาพของข่าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายต่อลูกค้า

เผอิญโปรดักส์ตัวนี้ต่างมีให้เลือกมากมายและเป็นตัวที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงมากที่สุดในตลาดอีกด้วย

ดูเหมือนว่าเมื่อเทียบคุณภาพข่าวกันแล้วช่อง 11 ดูจะได้เปรียบช่อง 5 เพียงช่องเดียวเท่านั้น ซึ่งยังผูกติดกับทหารอย่างเหนียวแน่น ฉะนั้นมาร์เก็ตแชร์ที่จะสามารถช่วงชิงมาก็คงจะได้มาจากข่าวช่อง 5 เท่านั้น ซึ่งเป็นเนื้อชิ้นเล็กมาก ๆ

แน่นอนว่าเขาย่อมไม่พอใจกับขนมเค้กก้อนเล็กมาก ๆ อย่างนี้

เขาจึงต้องเริ่มแผนการที่จะช่วงชิงมาร์เก็ตแชร์มาให้ได้ เพื่อลดการขาดทุนให้มากที่สุด

วิธีแรกเขาต้องดึงให้คนมาสนใจดูช่อง 11 เสียก่อน ยุทธวิธีแรกที่เขานำมาใช้ก็คือการสัมภาษณ์สดข้ามทวีปนางงามจักรวาลชาวไทยมาให้ประชาชนชาวไทยซึ่งกำลังคลั่งไคล้หนูปุ๋ยมาให้ชมกันถึงบ้าน

วิธีนี้สร้างความดังให้กับฉลวยในฐานะเป็นผู้ริเริ่มแต่ไม่ได้สร้างความดังให้กับช่อง 11 เพราะในที่สุดช่องอื่น ๆ ก็เข้ามาร่วมความคิดของฉลวยด้วย

และผลที่สุดรายการนั้นก็เป็นรายการที่สื่อมวลชนโดนด่ามากที่สุด และเป็นวันที่ประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่าหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นสื่อมวลชนก็จะด่าสื่อมวลชนด้วยกันเอง ฉลวยเองก็ถูกด่าด้วยในฐานะเป็นผู้ริเริ่มการจัดงาน

แต่ก็ต้องยกเครดิตให้เขาในฐานะผู้ริเริ่ม

ฉลวยในวันนี้เขาต้องทำงานหนัก เขาต้องบุกเบิกริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ ตั้งแต่เรื่องการติดต่อนำข่าวบีบีซีมาออกในช่วงเช้าในฐานะผู้คุ้นเคยกับบีบีซีมาก่อน เพราะคลุกอยู่ด้วยนานถึง 16 ปี

เพราะความคิดริเริ่มของเขานี่เอง ก็ทำให้เขาเสียรังวัดเป็นอันมากเมื่อประโคมข่าวเรื่องการถ่ายทอดสดการเลือกตั้งไปแอลเอเสียใหญ่โตทั้ง ๆ ที่กรมประชาสัมพันธ์ยังไม่อนุมัติ

ที่เขาทำเป็นชิ้นเป็นอันแล้วดูจะประสบความสำเร็จก์คือการที่เขาไปทาบทามลดาวัลล์ วงศ์ศรีวงศ์ เพื่อนร่วมงานเก่าสมัยอยู่แปซิฟิคซึ่งประสบชะตากรรมเดียวกันคือไม่ถูกกับสมเกียรติ และออกมา

ลดาวัลล์ น่าจะเป็นตัวดูดคนได้ในความคิดของเขา ซึ่งก็สอดคล้องกับทางกรมประชาสัมพันธ์ ลดาวัลลิ์ จึงได้มาปรากฏหน้าจออีกครั้ง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการนำลดาวัลลิ์มาอ่านข่าวซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ช่อง 11 ได้ปรับปรุงรายการข่าวของตนเองจากที่เริ่มจากศูนย์ ขณะนี้ได้ไต่เพดานจนแซงหน้าช่อง 5 ไปหลายขุมแล้ว

ช่อง 11 นั้นมีข้อได้เปรียบหลายประการ มีนักข่าวประจำอยู่เกือบทั้งประเทศ ด้านข่าวต่างจังหวัดจึงไม่เป็นรองใคร อีกทั้งข่าวต่างประเทศก็ได้มาไม่เหมือนกับอีกสี่ช่อง จึงเป็นการสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ในสายตาของคนดูผู้ไม่นิยมความจำเจ

ข้อโชคดีอย่างหนึ่งคือคนคุมนโยบายและผู้อำนวยการเป็นคนรุ่นใหม่ที่มองการณ์ไกล ทำให้ด้านงานข่าวรุดหน้าแซงช่อง 5 ในด้านคุณภาพไปอย่างรวดเร็ว

คนที่ปลาบปลื้มอย่างเงียบ ๆ ก็คือฉลวย

ฉลวยว่าไปแล้วเขาคือผู้อยู่เบื้องหลังการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ (คือข่าวช่อง 11) แต่ละครั้ง

มีหลายครั้งที่เขาประสบความสำเร็จ แต่ก็มีอีกเป็นจำนวนมากที่เขาล้มเหลว

หลังจากที่เขาออกข่าวจนจะกลายเป็นฉลวยรายวันอยู่แล้ว วันนี้เขาถูกสั่งให้เก็บตัว

ภารกิจของเขาจะต้องหนักขึ้นเป็นทับทวีแน่ ๆ เปรียบเทียบระหว่าง การเข้าสู่อุตสาหกรรมของนิวส์เน็ตเวอร์คและเบรนเน็ตเวอร์คแล้วแตกต่างกันมาก

นิวส์เน็ตเวอร์คนั้นเข้าสู่อุตสาหกรรมโดยไม่มีใครให้ความสนใจมากนัก ต่างกับเบรนเน็ตเวอร์คที่เข้ามาก็สร้างความฮือฮาด้วยการทุ่มเงินมหาศาลสู่อุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด และเป็นการเข้าสู่ในจุดที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดมากที่สุด้วย นั่นคือ "ข่าว"

ฉลวยและเบรนเน็ตเวอร์คจึงเสมือนหนึ่งประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ เขาไม่ใช่คนใหม่ของวงการเหมือนนิวส์ฯ ซึ่งมีอภิชัยบัญชาการอยู่

การหวนคืนสู่วงการหลังจากหลบเลียแผลใจอยู่พักใหญ่จากกรณีพิพาทกับสมเกียรติ ทำให้หลาย ๆ คนหวั่นใจอย่างน้อยที่สุดก็สมเกียรติ อ่อนวิมล

"ผมคิดว่าในปี 2532 เขาคงต้องเหนื่อยอย่างมาก ๆ ว่าจะไปรอดหรือไม่ ขนาดของผมบางวันยังขายได้ไม่หมด" เขาบอกถึงเวลาขายโฆษณา

นั่นแสดงว่าการเข้ายุทธจักรครั้งนี้มีคนจับตาดูเขาอยู่มาก เพราะอย่างน้อยที่เขามีกึ๋นมากพอที่จะแย่งขนมเค้กชิ้นนี้ ดังนั้นข่าวลือต่าง ๆ และหลาย ๆ สิ่งหลายอย่างค่อย ๆ ประดังไปหาเขาเสมือนหนึ่งเป็นขวากหนามสกัดกั้นมิให้เขาเดินอย่างสะดวกสบาย

หนทางข้างหน้าของเขา อุปสรรคมากมายเหลือเกิน ไหนจะต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตนเอง ไหนจะต้องฟาดฟันกับคู่แข่งที่อยู่ในวงการเดียวกัน ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะแย่งมาร์เก็ตแชร์ไปได้มากสักเท่าไร

หนทางของเขาคงจะไม่ราบรื่นเหมือนดังนิวส์เน็ตเวอร์คที่ต่อสู้กับตนเองเท่านั้น

ปี 2532 ก็จะรู้ว่าเบรนจะอยู่หรือไป?

ช่อง 11 บริษัท นิวส์เน็ตเวอร์ค เบรนเน็ตเวอร์ค ทั้ง 3 กำลังต่อสู้กับชะตากรรมในสงครามมีเดีย เส้นทางสู่เป้าหมายนโยบายดูจะแตกต่างกัน ที่เข้ากันไม่ได้เลยระหว่างกำไร-ขาดทุน กับสื่อมวลชนของรัฐ ที่ในที่สุดแล้วชะตากรรมของทั้งสาม คือช่อง 11 นิวส์เน็ตเวอร์คและเบรนเน็ทเวอร์คก็ยังคงผูกพันร่วมกัน

หากช่อง 11 ไปไม่รอดก็ยากที่นิวส์เน็ตเวอร์คและเบรนเน็ตเวอร์คจะไปรอด ทว่ามันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่ช่อง 11 ที่เป็นของกรมประชาสัมพันธ์จะล้ม เพราะมันเป็นของรัฐบาล แต่โอกาสที่สองบริษัทผู้อาสาร่วมเสี่ยงกับช่อง 11 เป็นเรื่องที่น่าห่วง

ทั้งเบรนเน็ตเวอร์คและนิวส์เน็ตเวอร์คจึงต้องพยายามประคับประคองช่อง 11 ให้เป็นสถานียอดนิยมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ เพราะนั่นหมายความถึงยอดโฆษณาและผลกำไรที่จะตามมา

ช่อง 11 นั้นเข้าสู่ยุทธจักรทีวีด้วยการสร้างความแตกต่างกับช่องอื่น ๆ เหมือนกับทฤษฎีทุกประการ เพียงแต่เป็นความแตกต่างที่คนดูไม่ค่อยสนใจ เพราะช่อง 11 ไปเน้นรายการศึกษาและสารคดีซึ่งถือเป็นยาดำของวงการทีวี ที่คนดูชอบคือรายการบันเทิง

งบประมาณก็ขาดแคลนอันเกี่ยวพันไปถึงรายการคุณภาพที่จะผลิตขึ้นเพื่อเรียกคนดูอีกด้วย

ภารกิจด้านการสนับสนุนด้านรายการหรือสร้างจุดสนใจให้กับคนดูซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการเรียกโฆษณาให้กับทั้งเบรนและนิวส์ ซึ่งถึงแม้ช่อง 11 ในส่วนกลางจะไม่มีโฆษณา แต่ถ้ารายการดีมาก ๆ โดยเฉพาะรายการข่าว เบรนเน็ตเวอร์คก็จะได้รับผลประโยชน์โดยตรง

อนาคตของช่อง 11 ในวันนี้ยังค่อนข้างจะมืดมน ถึงจะมีเบรนเน็ตเวอร์คและนิวส์เน็ตเวอร์ช่วยประคับประคองในบางส่วนก็ตามที หากช่อง 11 ของกรมประชาสัมพันธ์ยังคงดำรงสถานภาพนี้อยู่ต่อไป

การเป็นองค์การที่ไม่ต้องการผลกำไร น่าจะเป็นองค์กรที่ต้องการสร้างกุศลและมีคนบริจาคเหมือนดังมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง แต่ไม่ใช่กับสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ

ความอยู่รอดของช่อง 11 วินาทีนี้คงจะฝากไว้กับนโยบายของรัฐบาลว่าจะปล่อยให้มีโฆษณาหรือไม่ ถ้ายังไม่ตลอดกาล "ผู้จัดการฯ" บอกได้เพียงว่า "รอวันตาย" เท่านั้น

ถ้าช่อง 11 ยังรอวันตายอย่างทุกวันนี้ ก็หมายถึงภาษีอากรของประชาชนจะต้องถูกทุ่มลงไปอย่างเปล่าประโยชน์

ทำไม? จึงไม่อนุมัติให้มีโฆษณา

หรือจะปล่อยให้ช่อง 11 ค่อย ๆ ตายไปพร้อม ๆ กับภาษีอากรของประชาชน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us