Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2531
โซโก้-โตคิว ในสถานการณ์ "หืดขึ้นคอ             
โดย เพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม
 


   
search resources

โตคิว
โซโก้
สยามจัสโก้
Japan
Shopping Centers and Department store




ใคร ๆ ก็ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นที่กำลังไหลบ่าออกมาปักหลักปักฐานนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง ห้างสรรพสินค้าเหล่านั้นประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วด้วยกลยุทธ์แบบญี่ปุ่น โซโก้และโตคิวก็น่าจะเป็นเช่นนั้นบ้างในเมืองไทย เพียงแต่…คนญี่ปุ่นลืมไปนิดเดียวว่า "เมืองไทยนั้นมีข้อยกเว้นเสมอ"

กรุงเทพ 2531

ผลพวงจากการตื่นตัวโหมสร้างศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าในช่วงทศวรรษ 80 เป็นต้นมา คือห้างสรรพสินค้าในช่วงทศวรรษและซูเปอร์สโตร์ขนาดใหญ่เกือบ 50 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ทั้งนี้ยังไม่รวมโครงการที่เพิ่งเปิดตัวและกำลังก่อสร้าง เช่น เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์, รัชดาคอมเพล็กซ์ หรือโครงการที่กำลังจะขยับขยายต่อไปในอนาคต

เหตุที่ในช่วงทศวรรษ 80 โดยเฉพาะช่วงปี 2525 มีการเริ่มต้นก่อสร้างศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์สโตร์อย่างขนานใหญ่หลายโครงการ เนื่องมาจากการขยายอาณาเขตและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ การเพิ่มและความหนาแน่นของประชากรประกอบกับฐานะและความเป็นอยู่ดีขึ้น อีกทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคก็นิยมเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพดี จากสถานที่ที่เหมาะสมและบริการน่าพอใจทั้งเรื่องที่จอดรถ บรรยากาศดี

การประสบความสำเร็จของห้างสรรพสินค้าเก่าก่อน ทำให้เกิดนักลงทุนหน้าใหม่ในธุรกิจค้าปลีกมากมาย ด้วยเงินลงทุนนับหมื่นล้าน มีผู้ประเมินว่า ในปี 2525 ที่มีการลงทุนหลายโครงการ รวมแล้ว 20 โครงการต้องใช้เงินลงทุนรวมแล้วถึง 4 หมื่นล้านบาท!

ในปี 2531 นี้เองที่หัวข้อการแข่งขันเพื่อความอยู่รอดของห้างสรรพสินค้ากลายเป็นประเด็นที่นำมาถกเถียง ขบคิดมากที่สุดเพราะจำนวนห้างสรรพสินค้าที่มากมายภายในเขตเมือง ๆ เดียว และโดยส่วนใหญ่ก็อยู่ในทำเลที่ใกล้เคียงกัน เรียกว่าหลังคาแทบจะเกยกันเสียด้วยซ้ำ เช่น ทำเลราชประสงค์แห่งเดียวมีห้างสรรพสินค้าอยู่ถึง 4 แห่ง คือ ไทยไดมารู, โรบินสัน, โซโก้และแกลอรี่ ลาฟาแยต ถัดมาเพียงข้ามสะพานคลองแสนแสบก็มีห้างสรรพสินค้าอีก 6 แห่งคือซิตี้เซนเตอร์, พันธุ์ทิพย์พลาซ่า, พาต้า อินทรา, ใบหยกทาวเวอร์ และห้างเมโทร หรือถ้าไม่ข้ามสะพาน แต่เดินมาที่สี่แยกปทุมวัน ก็พบกับศูนย์การค้าสยาม มาบุญครองเซ็นเตอร์ หรือบริเวณถนนรัชดาภิเษกที่นับวันห้างสรรพสินค้าจะรีบเร่งเข้าไปจับจองพื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่สยามจัสโก้, โรบินสัน

ความที่ห้างสรรพสินค้ากระจุกตัวอยู่บนทำเลทองไม่กี่แห่ง จึงกลายเป็นชนวนนำไปสู่สงครามแย่งชิงลูกค้าอย่างรุนแรง

โดยภาวะการแข่งขันที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้นี่เอง กลยุทธ์ที่ห้างสรรพสินค้าคิดค้นขึ้นเพื่อความเหนือกว่าคู่ต่อสู้ก็คือ

หนึ่ง-กลยุทธ์ลด-แลก-แจก-แถม กลยุทธ์นี้กลายเป็นเซลส์โปรโมชั่นที่ใช้รุนแรงมากที่สุด ทั้งที่ในแง่การตลาดแล้วควรจะเป็นอาวุธชิ้นสุดท้ายที่นาน ๆ จะนำมาใช้สักครั้ง แต่กลายเป็นว่าทุกวันนี้พอเปิดห้างมาก็ลดราคากันเลย

กลยุทธ์ลดราคากลายเป็นเรื่องเคยชินไปเสียแล้วสำหรับผู้บริโภค เพราะลดกันทุกห้าง ทุกวัน จากที่เคยลดกันแค่ 10-20% ทุกวันนี้ต้องลดกันดุเดือดกว่านั้น เช่น ลดครึ่งวัน-ครึ่งราคาที่ห้างพาต้าทำเอาคนแห่กันไปมืดฟ้ามัวดิน หรือลดกันทั้งเดือนแบบเดอะมอลล์

แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลยุทธลดราคาก็เหมือนการล้างหน้าประแป้งให้ชวนมองเสียมากกว่า เพราะในจำนวนสินค้านับหมื่นรายการ จะมีสินค้าไม่ถึง 1% ที่ลดราคา แต่จุดหมายที่แท้จริงคือ การพยายามดึงคนเข้าห้างไว้ก่อนเพื่อที่ลูกค้าอาจจะซื้อสินค้าที่ไม่ได้ตั้งใจซื้อแต่แรก

สิ่งที่พ่วงตามมาด้วยสำหรับกลยุทธ์ลดราคาก็คือ การแลกคูปอง เช่น เวลโกจัดแลกคูปองกัน 3 ตลบ, สะสมแสตมป์เช่นที่โรบินสันเคยฮือฮามาก ๆ, แถมของขวัญสารพัดชนิด โดยเฉพาะกระเป๋าชิปปิ้ง, จัดรายการชิงโชค เช่น เซ็นทรัลทุ่มถึง 20 ล้านบาท ชิงรถเบนซ์ ทั้งนี้ความน่าตื่นตาตื่นใจทั้งหมดขึ้นอยู่กับการโฆษณาทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ประกอบกันไป

สอง-แนวความคิดการสร้างห้างสรรพสินค้าแบบ "ONE STOP SHOPPING" กำลังแพร่หลายในหมู่นักลงทุนใหม่ ๆ อย่างยิ่ง ซึ่งออกจะสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยคือ "มาที่เดียว ได้ทุกอย่าง" คือ ซื้อของดี ราคาถูก อากาศเย็นสบาย มาได้ทั้งครอบครัว มีศูนย์อาหาร มีลิฟต์แก้ว สวนสัตว์ สวนน้ำ สวนสนุก

เนื่องจากในความรู้สึกของคนไทย รู้สึกว่าห้างสรรพสินค้าไม่ใช่สถานที่จับจ่ายซื้อของอย่างเดียว แต่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับครอบครัวในวันหยุดด้วย

สาม-เพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดของห้างสรรพสินค้าในพื้นที่เดียวกัน และเพื่อแสวงหาลูกค้ากลุ่มใหม่ ห้างสรรพสินค้าจึงต้องขยายสาขาออกไปบริเวณชานเมืองมากขึ้น หรือเปลี่ยนแปรรูปแบบที่ลดต้นทุนคือมินิมาร์ท คอนเวอร์เนี่ยนสโตร์ ซึ่งมีการออกข่าวที่จะเปิดแบบปูพรมทั่วทั้งกรุงเทพฯ เกือบทั้งปี โดยเฉพาะห้างเซ็นทรัลที่ลุยเปิดออกไปก่อน

ปีหน้า เพียงแค่พ้นปากซอยออกมา เราอาจเดินหลงอยู่ในห้างสรรพสินค้าหรือมินิมาร์ทไม่รู้ตัว!

ถึงกระนั้นไม่ว่าห้างสรรพสินค้าจะมีมากชื่อ หรือสาขาจะมีมากแห่ง กลยุทธ์ด้านการขายจะต้องขับเคี่ยวกันรุนแรงมากขึ้น ก็ยังมีนักลงทุนหน้าใหม่ดาหน้าเข้ามาเรื่อยโดยเฉพาะนักลงทุนจากญี่ปุ่นที่ยังมีข่าวมาเป็นระยะ ๆ

ทศวรรษ 80 ห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์สโตร์ญี่ปุ่นรุกก้าวออกนอกประเทศไม่ขาดสาย โดยเฉพาะทางแถบเอเชียที่ห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นกระจายอยู่เกือบทุกประเทศที่มีฐานะหรือแนวโน้มทางเศรษฐกิจค่อนข้างจะแจ่มใส

ในสิงคโปร์นักธุรกิจญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนสร้างห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์สโตร์ไว้หลายแห่ง ตั้งแต่ปี 2515 ที่ห้าง ISETAN เข้าไปบุกเบิกจนประสบความสำเร็จมากมาย ห้างไดมารูเปิดกิจการในปี 2526 และเยาฮันก็ไปเปิดซูเปอร์สโตร์จนประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เรื่องมาจากความที่สิงคโปร์มีเมืองท่าปลอดภาษีและประชาชนมีระดับรายได้ค่อนข้างสูง ทำให้กิจการด้านนี้ของชาวญี่ปุ่นประสบความสำเร็จด้วยดี ประมาณว่าห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์สโตร์ญี่ปุ่นที่มีอยู่ 7 แห่งในสิงคโปร์มีส่วนแบ่งในตลาดราว 40%

ไต้หวันเป็นประเทศที่นักธุรกิจญี่ปุ่นสนใจที่จะลงทุนอย่างมากในระยะหลังมานี้ เพราะรัฐบาลไต้หวันเพิ่งจะผ่อนปรนกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการที่ต่างชาติจะเข้ามาประกอบธุรกิจประเภทอุตสาหกรรมบริการ และไต้หวันก็ยังเป็นประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจอยู่ในขั้นดีพอที่จะดึงดูดใจนักลงทุน

โซโก้เป็นห้างสรรพสินค้ารายแรกของญี่ปุ่นที่เข้าไปเปิดกิจการในไต้หวันเมื่อพฤศจิกายน 2530 ปรากฏว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง จนโซโก้เองคาดว่าจะสามารถดำเนินกิจการจุดคุ้มทุนได้ ภายในปี 2531 ทั้งที่แต่เดิมตั้งเป้าว่าจะต้องใช้เวลาถึง 3 ปี

จากโซโก้นี่เองที่ทำให้นักธุรกิจชาวไต้หวันกระตือรือร้นที่จะขอร่วมทุนเปิดกิจการห้างสรรพสินค้ากับนักธุรกิจญี่ปุ่นอีกหลายราย เพราะเห็นว่าวิธีการและกลยุทธ์ในการจัดการตลาดและการบริหารแบบญี่ปุ่นสามารถดึงดูดใจลูกค้าชาวไต้หวันได้อย่างดีเยี่ยม

ในฮ่องกง ห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์สโตร์ญี่ปุ่นเขาไปเปิดถึง 13 แห่ง โตคิวเปิดกิจการในฮาวาย 4 แห่งและสิงคโปร์อีก 1 แห่ง ไดมารูเตรียมเปิดกิจการในออสเตรเลียอีก 3 ปีข้างหน้าหลังจากที่เปิดกิจการแล้วในฮ่องกงและสิงคโปร์ เช่นเดียวกับเยาฮันที่เพิ่งเปิดที่มาเลเซียเมื่อปี 2530

ในประเทศไทย นอกเหนือจากไดมารูที่มาปักหลักตั้งแต่ปี 2507 ก็เพิ่งมีโซโก้ โตคิว และจัสโก้ที่มาเปิดกิจการรวดเดียวในช่วง 3 ปีที่แล้ว

เหตุที่นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นสนใจหันเหออกมาลงทุนด้านห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์สโตร์ในต่างประเทศมากขึ้นเป็นเพราะ

หนึ่ง-ราคาที่ดินและอาคารสิ่งก่อสร้างในญี่ปุ่นถีบตัวสูงลิ่ว เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย แม้แต่ในฮ่องกงหรือสิงคโปร์ก็ยังมีต้นทุนการลงทุนที่ถูกกว่า

สอง-ญี่ปุ่นมรกฎหมายควบคุมบรรดาห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์สโตร์ยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ เปิดสาขาแห่งใหม่ในประเทศ ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองบรรดาร้านค้าย่อยภายในประเทศ รวมถึงมีกฎข้อบังคับเกี่ยวกับเวลาเปิดปิดของห้างในแต่ละวัน เช่น ห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่นต้องปิดกิจการเพียงแค่เวลา 18.00 น. เท่านั้น

สาม-เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังขยายตัวเต็มที่และมีแนวโน้มที่พอจะเชื่อได้ว่ายังสดใสต่อไป นักธุรกิจญี่ปุ่นจึงเชื่อว่า การลงทุนในช่วงนี้จะสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้เร็ว อีกทั้งประสบการณ์ในฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ ห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่ถึงจุดคุ้มทุนภายในเวลาเพียง 5 ปี

สี่-ความแข็งแกร่งของเงินเยน ทำให้นักธุรกิจญี่ปุ่นมีอิทธิพลหรืออำนาจซื้อสูง จึงสามารถขยายเครือข่ายธุรกิจได้อย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ก็ยังมีผลพลอยได้ตามมาอีกเช่น การให้ห้างสรรพสินค้าสาขาเป็นตัวแทนจัดหาและซื้อสินค้าในท้องถิ่นกลับสู่ประเทศญี่ปุ่น หรือเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแหล่ง ประกอบธุรกิจของชาวญี่ปุ่นที่ออกมานอกประเทศมากขึ้น อีกทั้งเป็นการสร้างภาพพจน์แก่ชาวญี่ปุ่นเองว่าห้างสรรพสินค้าแห่งนี้มีกิจการใหญ่โต มีสาขาทุกที่ที่ชาวญี่ปุ่นก้าวไปถึง เพื่อสำแดงให้เห็นว่าอาณาจักรของชาวญี่ปุ่นต่างหาก ที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน!

ไทยไดมารูกำลังกลายเป็นตำนานคลาสสิกของห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นในไทย เมื่อไทยไดมารูเปิดกิจการในปี 2507 ที่ศูนย์การค้าราชประสงค์และต่อมาในปี 2515 ย้ายข้ามฟากมาฝั่งตรงข้ามคือ ราชดำริอาเขต และห้างแห่งนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก

หุ้นใหญ่ในไทยคือไดมารูคือ ไดมารูญี่ปุ่น มีหุ้นคนไทยรวมอยู่หลายกลุ่ม หลายคน เช่น พันเอกจินดา ณ สงขลา อดีตเลขาธิการ ก.พ. ซึ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งของห้างด้วย กลุ่มตระกูลสารสิน เจ้าของราชดำริอาเขต พูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ ที่เข้ามาในฐานะส่วนตัวเพราะเป็นเพื่อนกับพันเอกจินดา เป็นต้น

ความสำเร็จของห้างไทยไดมารูอยู่ที่ หนึ่ง-ช่องว่างของตลาดที่อาจบอกได้ว่าในยุคนั้นไม่มีคู่แข่งที่ชัดเจน สมัยนั้นมีเพียงห้างเซ็นทรัลเท่านั้นที่พอฟัดพอเหวี่ยงกัน แต่เซ็นทรัลก็มีทำเลห่างไกลถึงวังบูรพาและสีลม

สอง-ผู้บริหารญี่ปุ่นได้นำความ "ทันสมัย" บรรจุไว้ในห้างด้วย ในยุคนั้นไทยไดมารูเป็นห้างสรรพสินค้าที่หรูหรามีสินค้าแปลกใหม่ที่ถูกจัดอย่างเป็นระเบียบชวนซื้อ หรือสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น มีบันไดเลื่อน ซึ่งเป็นของแปลกใหม่อย่างมากประกอบกับไทยไดมารูรวมอยู่ในราชดำริอาเขตซึ่งเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ยุคแรก มีร้านค้าอยู่ในอาคารเดียวกันกว่าร้อยล้าน ซึ่งทุกร้านตกแต่งอย่างสวยงาม มีสำนักงาน ภัตตาคาร และความสะดวกสบายอย่างพร้อมมูล เช่น ลานจอดรถ ลิฟต์ และยังมีเครื่องปรับอากาศทั้งหลังอีกด้วย

สำหนับคน พ.ศ. นั้น สิ่งเหล่านี้คือความแปลกใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ มันเป็นวิวัฒนาการใหม่ของธุรกิจค้าปลีกที่คนไทยอยากสัมผัส ด้วยเหตุนี้ไทยไดมารูจึงเป็นห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นอย่างสอดคล้องกับยุคสมัยและประสบความสำเร็จอย่างสูง

แต่ห้างไทยไดมารูก็เติบโตอย่างช้า ๆ ไม่ก้าวร้าว เนื่องจากนับแต่ปี 2515 ไทยไดมารูเพิ่งลงทุนไปกว่า 25 ล้านบาทกับการสร้างฐานที่มั่น ณ ราชดำริอาเขต และการเร่งขยายสาขายังไม่มีความจำเป็นในช่วงนั้น เพราะการแข่งขันยังมีไม่มาก

ประกอบกับสถานการณ์บ้านเมืองเวลานั้นผันผวนตลอดเวลา เช่น กระแสแอนตี้สินค้าญี่ปุ่นที่ไทยไดมารูกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการประท้วง ความสั่นคลอนทางการเมืองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และวิกฤติการณ์น้ำมันในปี 2517

ไทยไดมารูเปิดสาขาสองที่พระโขนงในปี 2523 หลังจากที่สาขาราชประสงค์กำลังจะถูกรุมฟัดจากห้างสรรพสินค้าอื่น ๆ ที่กำลังก่อสร้างประกบเป็นทิวแถว

แต่สาขาพระโขนงก็เกือบเป็นสุสานสำหรับไทยไดมารูเพราะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หลายคนลงความเห็นว่าเป็นเพราะ หนึ่ง-ทำเล ไทยไดมารูตั้งอยู่ในมุมอับเกินไป สอง-กำลังการซื้อของผู้คนแถบพระโขนงยังไม่มากพอ แม้แต่ทุกวันนี้ โรบินสันก็ยังลังเลที่จะลงเต็มตัว ได้แต่ปักป้ายไว้เท่านั้น สาม-ไทยไดมารูถูกประกบตัดหน้าด้วยห้างอาเซียน เอดิสัน และตลาดซื้อขายเสื้อผ้าราคาถูกขนาดใหญ่ สี่-ยุคสมัยและสถานการณ์ของไทยไดมารูพระโขนงและราชดำริต่างกัน ในสายตาของผู้คน ไทยไดมารูพระโขนงไม่ได้เป็นห้าง "นำสมัย" อีกแล้ว

บทเรียนของไทยไดมารูในครั้งนี้ก็คือ เมื่อมีข่าวว่าไทยไดมารูจะเปิดสาขาใหม่ทั้งที่ถนนสีลมหรือรามคำแหง ผู้บริหารของไทยไดมารูจะต้องออกมาปฏิเสธทุกครั้ง

ไทยไดมารูยังรักษาความคงเส้นคงวาที่จะไม่มีการเซลส์โปรโมชั่นอย่างรุนแรง ไม่มีการลดราคาอย่างพร่ำเพรื่อ ยกเว้นเทศกาลที่พิเศษจริง ๆ เช่น ฉลองครบรอบ 24 ปี

"เพื่อรักษาภาพพจน์ของห้างสรรพสินค้าชั้นนำ" มาซามิชิ นากางาวา กรรมการผู้จัดการไทยไดมารูว่าไว้เช่นนั้น

ปรากฏตามงบดุล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2531 ไทยไดมารูมีทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท มีสินทรัพย์ 283 ล้านบาท กำไรสะสม 534 ล้านบาท มีกำไรประจำงวดบัญชีเดียวกัน 9 ล้านบาท จากยอดขาย 924 ล้านบาท โดยเฉพาะสาขาพระโขนงเพิ่งทำกำไรให้เป็นปีแรกคือ 1 ล้าน 8 แสนบาท

ก็เพื่อรักษาภาพพจน์ของห้างสรรพสินค้าชั้นนำนี่เอง ในสายตาคนไทย ไทยไดมารูจึงเป็นห้างสรรพสินค้าที่ดูยิ่งใหญ่แต่ปกคลุมด้วยความเงียบเสมอมา

สยามจัสโก้เข้ามาเปิดกิจการเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2528 บนถนนรัชดาภิเษก บนทำเลที่ใคร ๆ ก็บอกว่า "ไม่น่ารอด" เพราะถนนรัชดาภิเษกเพิ่งเปิดชุมชนยังไม่หนาแน่น แต่สยามจัสโก้ก็รอดมาได้ และกลายเป็นผู้บุกเบิกทำเลทองที่ใคร ๆ ต่างหาที่ว่างลง

สยามจัสโก้เป็นธุรกิจซูเปอร์สโตร์หรือซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ เป็นการร่วมหุ้นระหว่างจัสโก้ ญี่ปุ่นกับกลุ่มตระกูลกิติพราภรณ์ เจ้าของธุรกิจโรงภาพยนตร์และสวนสนุกแดนเนรมิต มีสมชาย กิติพราภรณ์เป็นประธานกรรมการ เป็นที่รู้กันว่าการบริหารอยู่ในมือชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะยูตากะ ฟูรูตานิ

ในห้วงเวลา 3 ปีอาจระบุไม่ได้แน่ชัดว่าสยามจัสโก้จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน แต่สำหรับนักการตลาด สยามจัสโก้ได้เป็นแม่แบบสำหรับห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตที่จะเปิดไล่หลังโดยเฉพาะในละแวกถนนรัชดาภิเษกไปแล้ว เช่น กรณีโรบินสัน รัชดาภิเษกที่เน้นซูเปอร์มาร์เก็ตเปิดบริการเฉพาะแผนกนี้ถึงเที่ยวงคืน

จุดเด่นของสยามจัสโก้อยู่ที่ว่า

หนึ่ง-ขายของราคาถูก โดยพื้นเพเดิมจัสโก้เป็นผู้ดำเนินการธุรกิจค้าปลีกที่ "แหกคอก" ในญี่ปุ่นอยู่แล้ว (โปรดอ่าน "บทเรียนด้านกลับของโซโก้ และโตคิว" คือพยายามขายสินค้าราคาถูกกว่าคนอื่น ใช้กลยุทธ์ราคาเป็นตัวนำ ซึ่งกลยุทธ์นี้ใช้ได้ผลอย่างมากสำหรับคนไทย อีกทั้งความเงินหนาจัสโก้จึงสามารถกว้านซื้อสินค้าได้เป็นจำนวนมาก ราคาจึงถูกกว่าที่อื่น

สอง-จัสโก้ใช้วิธีขายมากเข้าว่าสินค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารหมุนเวียนเปลี่ยนทุกวัน เงินสดหมุนเวียนในแต่ละวันจึงสูงมาก ซึ่งในระยะนี้จะมีผลต่อการสะสมทุนและคืนทุนเร็ว

สาม-สยามจัสโก้พร้อมที่จะลงลุยแข่งกับห้างสรรพสินค้าไทยในด้านการโปรโมชั่น เพราะตั้งแต่เปิดห้างมาสยามจัสโก้มีการจัดรายการชิงโชคมูลค่าเกือบ 1 ล้านบาท จัดเดินแรลลี่ในเทศกาล "ตุลาเริงร่า" และยังมีการโฆษณาทางโทรทัศน์อยู่อย่างสม่ำเสมอ

สี่-ทำเลและการขยายสาขาเป็นเรื่องที่สยามจัสโก้พยายามเข้าไปบุกเบิกในที่ใหม่ ๆ อย่างมาก เมื่อไม่นานมานี้ สยามจัสโก้เพิ่งเปิดสาขาที่ 2 ที่เสนานิคม และประกาศว่าจะขยายสาขาให้ครบ 10 สาขาภายใน 5 ปี

อีกด้านหนึ่งมิได้หมายความว่า สยามจัสโก้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วจนต้องขยายสาขารองรับ แต่มันเป็นนโยบายของการทำธุรกิจค้าปลีกแบบ CHAIN STORE ที่ต้องมีสาขามาก แต่ละสาขาไม่ต้องลงทุนสูงมากนัก และเลือกทำเลที่มีแนวโน้มจะเติบโตในวันข้างหน้า ไม่มีคู่แข่งที่ชัดเจน

ในอนาคต สยามจัสโก้ต่างหากที่น่ากลัวสำหรับธุรกิจค้าปลีกบ้านเรา!

โซโก้และโตคิวเปิดกิจการอย่างแท้จริงในช่วงกลางปี 2528 หลังจากที่เตรียมการมาเป็นเวลานาน และรอคอยอาคารสิ่งก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย โซโก้และโตคิวเป็นกระแสหนึ่งของการลงทุนด้านธุรกิจค้าปลีกญี่ปุ่น ซึ่งสอดคล้องกับกระแสความตื่นตัวด้านห้างสรรพสินค้าของไทยในช่วงปี 2525-2526 ที่มีการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าใหม่ ๆ มากมาย

โซโก้ปักหลักที่อัมรินทร์พลาซ่า สี่แยกราชประสงค์ บนพื้นที่ประมาณ 10,000 ตารางเมตร หรือประมาณ 1 ใน 3 ของส่วนช้อปปิ้งอาเขต มีการออกข่าวว่าโซโก้ลงทุนสำหรับห้างแห่งนี้ถึง 500 ล้านบาท

โตคิวแฝงตัวอยู่ในมาบุญครองเซ็นเตอร์ สี่แยกปทุมวัน บนพื้นที่ประมาณ 12,000 ตารางเมตร

นอกเหนือจากระยะเวลาการเปิดดำเนินธุรกิจของห้างที่ใกล้เคียงกัน และความเป็นญี่ปุ่นอย่างแท้จริงทั้งผู้ถือหุ้นและกรรมการของทั้งสองห้างนี้แล้ว มีประเด็นอื่นที่พอจะเทียบเคียงทั้งสองห้างเข้าด้วยกันได้คือ

ในเอกสารแถลงการเปิดห้างโตคิวอ้างไว้ว่า

"จากการไตร่ตรองอย่างรอบคอบว่าห้างของเราควรจะเป็นห้างแบบไหนสำหรับลูกค้า เราก็ได้สรุปนโยบาย 3 ข้อดังนี้ หนึ่ง-เป็นห้างที่ให้ความเพลิดเพลินแก่ลูกค้า สอง-เป็นห้างที่เสนอบริการที่ดี สาม-เป็นห้างที่เสนอข่าวสารแก่ลูกค้า

แนวความคิดนี้คล้ายคลึงกับแนวความคิดของโตชิเอะ ฟูรูอิชิ อดีตกรรมการผู้จัดการโซโก้ที่เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า "การดึงดูดใจลูกค้าที่เกือบจะเหมือนกัน ยากที่จะดึงดูดลูกค้ามาจากแห่งอื่นได้ ดังนั้นผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าในสถานที่ที่เหมาะสม มีคุณภาพดีกว่าและมีบริการที่ดีกว่า"

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ทั้งสองห้างวางไว้คือ กลุ่มลูกค้าระดับสูง คือชนชั้นกลางและระดับสูงที่มีรายได้เกิน 10,000 บาทต่อเดือน และชาวต่างประเทศในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น

ลักษณะการจัดวางสินค้าก็คล้ายกันแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แบ่งเป็นชั้น 1 สินค้าแฟชั่นวัยรุ่น เสื้อผ้า-เครื่องประดับสตรี เครื่องสำอาง ชุดชั้นในสตรี

ชั้น 2 เสื้อผ้าสตรี บูติกสตรี เสื้อผ้าเด็ก เครื่องใช้สำหรับเด็กอ่อน ของเล่น

ชั้น 3 เสื้อผ้าและของใช้สำหรับสุภาพบุรุษ ชุดกีฬา เครื่องเขียน นาฬิกา กล้องถ่ายรูป

ชั้น 4 ซูเปอร์มาร์เก็ต เครื่องใช้ในครัว ฟาสต์ฟู้ด

ประเด็นที่คล้ายคลึงกันอีกเรื่องก็คือหลังจากดำเนินกิจการมาได้ 3 ปีตัวเลขภาวะการขาดทุนค่อนข้างจะสวยหรูเอาการอยู่ งบดุล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2530 โตคิวมีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 432 ล้านบาท ขาดทุนสะสม 489 ล้านบาท ยอดขายในงวดบัญชีเดียวกันประมาณ 399 ล้านบาท ยังขาดทุนอยู่ 125 ล้านบาท

ส่วนโซโก้นั้น งบดุล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2531 มีสินทรัพย์รวม 635 ล้านบาท ขาดทุนสะสม 246 ล้านบาท ยอดขายในงวดบัญชีเดียวกัน 594 ล้านบาท ขาดทุน 56 ล้านบาท

ตัวเลขขาดทุนสะสมสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจห้างสรรพสินค้าในช่วง 3 ปีแรกที่ค่อนข้างมากมายเช่นนี้ โดยเฉพาะโตคิวอาจเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับเจ้าของห้างไทยบางรายอาจจับไข้ล้มตึงไปแล้ว

ก็เช่นที่ สุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการขายและโฆษณา ห้างเซ็นทรัลเคยกล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า

"ห้างสรรพสินค้าของคนไทยค่อนข้างจะเสียเปรียบเกี่ยวกับเรื่องเงินทุน อันนี้เราสู้เขาไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นดอลลาร์หรือเงินเยน เงินเขาก็ใหญ่กว่าเรา เขาสามารถขาดทุนได้ในช่วงแรกเพราะมีบริษัทแม่ที่ใหญ่ ห้างสรรพสินค้าที่นี่เป็นเพียงบริษัทในเครือที่เขามีกิจการอยู่ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันชนิด จุดนี้เราสู้ไม่ได้จริง ๆ"

แต่ภาวะขาดทุนเช่นนี้ก็ไม่ได้ก่อให้ทางด้านญี่ปุ่นสบายใจนัก ประเด็นก็คือว่าลู่ทางธุรกิจห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นในไทยไม่ค่อยจะแจ่มใสเหมือนดังเช่นที่ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง อย่างน้อย ๆ ภายใน 5 ปีนี้ห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นคงไม่สามารถหยุดภาวะขาดทุนได้อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างจะพลิกผันจากธุรกิจในประเทศอื่น ๆ มากทีเดียว

ครั้งหนึ่ง ผู้บริหารระดับสูงของโซโก้เอ่ยว่า เมืองไทยยังไม่พร้อมสำหรับห้างสรรพสินค้าชั้นนำจากญี่ปุ่น เพราะสินค้ายังต้องขายในราคาต่ำ และกำไรต่อหน่วยก็ยังต่ำอีกด้วย สินค้าหลายชนิดในญี่ปุ่นให้กำไรถึง 40% แต่ในไทยจะได้กำไรเพียง 20%

ฮิเดโอะ ฟูกุชิม่า อดีตกรรมการผู้จัดการโตคิว เคยให้สัมภาษณ์ว่า ในปีแรกของการดำเนินกิจการ โตคิวตั้งเป้ายอดขายไว้ 600 ล้านบาท แต่ปรากฏว่ายอดขายต่ำกว่าเป้าหมายมาก จนปีที่สองต้องลดมาที่ 420 ล้านบาท (ซึ่งตามงบกำไรขาดทุนที่แจ้งระบุว่าขายได้ 399 ล้านบาท) และปีที่สามก็ตั้งเป้าไว้ในระดับ 500 ล้านบาท และกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าก็ต้องปรับจากที่เคยตั้งไว้ว่าจะเป็นลูกค้าที่มีรายได้ประมาณ 4,000 บาทต่อเดือนและกลุ่มวัยรุ่น

ด้วยสถานการณ์ที่พลิกผันเหล่านี้ เมื่อปลายปี 2530 ทาง INDUSTRIAL BANK OF JAPAN ได้ส่งทีมงานเข้ามาศึกษาวิเคราะห์ปัญหาห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นในไทย ผลการศึกษาครั้งนั้นสรุปว่าห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นมีปัญหา

หนึ่ง-ต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยเฉพาะค่าจ้างบุคลากรระดับบริหาร

สอง-ทำเลและสถานที่ไม่เหมาะสม

สาม-สินค้าที่วางจำหน่ายยังไม่มากประเภท

ประการแรก กฎหมายที่ญี่ปุ่นให้ความคุ้มครองลูกจ้างชาวญี่ปุ่นที่ต้องเดินทางออกมาทำงานนอกประเทศตามคำสั่งของนายจ้าง คือกำหนดอัตราเงินเดือนและสวัสดิการที่สูงกว่าปกติหลายเท่า มีทั้งเงินเดือนสูง มีคอนโดมิเนียม มีรถ และแต่ละตำแหน่งยังตั้งที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่น เงินเดือนสูง ๆ ตามมาอีก ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายด้านบริหารค่อนข้างสูง

"เรียกได้ว่า ถ้าในญี่ปุ่น เขาก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่มาเมืองไทยพวกเขาก็เป็นเศรษฐีเอาทีเดียว" แหล่งข่าวในวงการห้างสรรพสินค้ากล่าว

เมื่อระดับบริหารได้รับค่าจ้างเงินเดือนสูง ระดับรอง ๆ ก็ได้รับเงินเดือนสูงไปด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีโดยเฉพาะคนไทย

"ถ้าเป็นห้างไทยไม่ได้อย่างนี้หรอกคุณ พวกจิราธิวัฒน์ เจ้าของห้างเซ็นทรัลเองเขายังได้เงินเดือนไม่มาก แล้วลูกน้องจะไปได้มากกว่าได้อย่างไร แต่ทุกคนของจิราธิวัฒน์แกมีเงินในกงสีใช้นะ" อดีตพนักงานเซ็นทรัลเล่า

มาในระยะหลังมานี้ ผู้บริหารญี่ปุ่นเริ่มปรับอัตราเงินเดือนคนไทยใหม่ เช่นในตำแหน่งเดียวกัน เงินเดือนเดิม 7,000 บาท แต่ถ้าเป็นคนใหม่เข้ามารับตำแหน่งแทนเงินเดือนใหม่จะกลายเป็นเพียงประมาณ 3,000 กว่าบาท แต่แน่นอนระดับบริษัทชาวญี่ปุ่นย่อมไม่ลดตามลงมาด้วยแน่

ประการที่สอง ทำเลที่ตั้งของห้างซึ่งเป็นอุปสรรคนั้นที่เป็นปรากฏการณ์เห็นได้ชัดคือโตคิว

มาบุญครองเซ็นเตอร์อาจจะมีคนมาใช้บริการมาก แต่ก็ไม่ได้มากทุกชั้นทุกแผนก มาบุญครองมีทั้งมุมสว่างและมุมอับ แล้วก็ให้โชคร้ายเมื่อโตคิวค่อนไปอยู่ทางมุมอับ นักการตลาดหลายคนมองเช่นนี้

ถ้าเทียบผู้ใช้บริหารสะพานลอยข้ามถนน จะเห็นว่าด้านสยามสแควร์จะมีผู้ใช้บริการมากกว่าด้านสนามกีฬาที่เจาะทะลุเข้าโตคิวอย่างเทียบกันไม่ติด และมาบุญครองด้านเหนือกับด้านใต้ค่อนข้างอับ ทำเลที่คนมาใช้บริการมากคือบริเวณกลางของอาคาร

"ระหว่างชั้นด้วยกันเองยังเห็นความแตกต่างเลย ชั้น 1 ขายสู้ชั้น 2-3 ไม่ได้ เพราะชั้น 1 มาบุญครองไม่มีอะไร คนน้อยส่วนใหญ่เขามาก็เดินไปชั้น 2 เลย" แหล่งข่าวกล่าว

กลุ่มลูกค้าของมาบุญครองเซ็นเตอร์ก็เป็นลูกค้าวัยรุ่นเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ลูกค้าระดับสูงตามที่โตคิววาดหวัง ภายหลังโตคิวจึงต้องปรับกลุ่มเป้าหมายเสียใหม่

ในระยะหลังมาบุญครองกลับกลายเป็น "ตลาดนัดติดแอร์" เข้าไปทุกที แถมยังมีห้างระดับเล็ก ๆ ขายแบบไทย ๆ เข้าตั้งประกบอีก เพียงชั่วข้ามประตูกั้น บรรยากาศก็แทบพลิกฟ้าหน้าดิน สินค้าและราคาก็แตกต่าง เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าโดยปริยาย อีกทั้งอาคารส่วนสำนักงานและโรงแรมระดับเดอลุกซ์ ซึ่งน่าจะเป็นลูกค้าของโตคิวได้ ก็เลื่อนระยะเวลาเปิดออกไป จนผู้บริหารญี่ปุ่นเองก็คงปวดหัวไม่น้อย

การแก้ปัญหาสภาพภายในของมาบุญครองต้องคอยไปก่อน เพราะตอนนี้ศิริชัย บูลกุล แกไม่ค่อยว่าง!

ประการที่สาม สินค้าที่เข้าไปวางจำหน่ายยังไม่มากประเภท นั่นก็คือว่า ประเภทของสินค้าในโตคิวยังไม่ได้แตกต่างไปจากห้างสรรพสินค้าไทยแห่งอื่นเลย ที่เป็นดังนี้ เพราะจำนวนซัพพลายเออร์เมืองไทยมีไม่กี่เจ้า สินค้าอาจมีมากชนิดแต่ก็วางแทบทุกห้าง ผิดกับห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่นที่แต่ละห้างมีจุดเด่นด้านสินค้าแตกต่างกันเนื่องจากซัพพลายเออร์มากมาย

ไอโอชิ อาชินา กรรกมารผู้จัดการของห้างโตคิวกล่าวกับ FAR EASTER ECONOMIC REVIEW ว่า ปัญหาประการหนึ่งที่ห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นมีสินค้าไม่แตกต่างจากห้างอื่น เพราะกำแพงภาษีที่ทำให้การเชื่อมโยงและส่งสินค้าจากบริษัทแม่มาเมืองไทยเป็นไปอย่างลำบาก การสร้างเครือข่ายซัพพลายเออร์ที่กว้างขวางอันจะเป็นข้อได้เปรียบห้างไทยจึงยังไม่ปรากฏ ไม่เหมือนสิงคโปร์ที่มีเมืองท่าปลอดภาษี

ด้วยประการฉะนี้ ไม่ว่าจะเดินไปซื้อของที่ห้างใด ก็ย่อมซื้อสินค้าที่คล้ายคลึงโซโก้ โตคิว ได้ในราคาใกล้เคียงกัน หรือสินค้าที่แปลกออกไปก็ต้องมาจากญี่ปุ่นซึ่งราคาค่อนข้างแพง

นอกจากนี้ ทั้งโซโก้และโตคิวก็เกิดขึ้นคนละห้วงเวลากับไทยไดมารูที่ทำอะไรก็ดูล้ำสมัยไปหมด แต่โซโก้และโตคิวอาจจะต้องคิดกันนานหน่อยสำหรับการคิดค้นของเล่นใหม่ ๆ ในปัจจุบัน

อีกทั้งการขายสินค้าในห้างสรรพสินค้าก็ย่อมต่างจากซูเปอร์สโตร์ เช่น สยามจัสโก้ เพราะสินค้าในห้างย่อมต้องอาศัยเวลาที่นานกว่าในการขายอย่างแน่นอน เงินจึงจมนานกว่า

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ปัญหาใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังฉากทั้งหมดนั้นมีประเด็นใหญ่ใจความอยู่ 2 ประการคือ

ประการแรก ระบบการจัดซื้อของญี่ปุ่น หัวใจของธุรกิจค้าปลีกคือ "สินค้า" ตัวร้านหรือตัวห้างสรรพสินค้าเป็นเพียงหน้าฉาก และการนำสินค้ามาขายให้ได้สินค้ามีคุณภาพและต้นทุนต่ำอยู่ที่นโยบายการจัดซื้อเป็นสำคัญ

ผู้บริหารญี่ปุ่นจะกำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อว่า ทางห้างจะจัดซื้อสินค้าในแต่ละเดือนเป็นเงินเท่าไร ขึ้นอยู่กับยอดขายในแต่ละเดือนโดยเฉลี่ยทั้งปี ถ้าเกินจากนี้ทางผู้บริหารญี่ปุ่นไม่ให้โดยเด็ดขาด เช่น ถ้าแผนกนี้หรือสินค้าตัวนี้มียอดขายในเดือนหนึ่ง ๆ ไม่เกิน 1 แสนบาท การจัดซื้อสินค้าในงวดต่อไปก็ไม่เกิน 1 แสนบาท อำนาจของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนญี่ปุ่นจึงมีอยู่อย่างจำกัด การซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์โดยทั่วไปจะมีลักษณะปกติธรรมดา ไม่มีพิเศษ

เมื่อเปรียบเทียบกับผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อที่อยู่ห้างไทยก็จะเห็นความแตกต่าง โดยเฉพาะห้างใหญ่ เช่นเซ็นทรัล ซึ่งมีสาขามาก มีอำนาจการต่อรองสูง คือผู้บริหารห้างจะให้อำนาจสิทธิขาดในการจัดซื้อแก่ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเหลือเฟือ โดยเฉพาะอำนาจในการตัดสินใจซื้อสินค้าจำนวนมาก ๆ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนสินค้าต่ำ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เช่น ซื้อมากแต่ขายได้น้อยก็เป็นความผิดพลาดที่ฝ่ายจัดซื้อจะต้องรับผิดชอบ แต่มันก็เป็นความผิดพลาดที่เป็นตัวของตัวเอง และอยู่บนพื้นฐานต้องการซื้อสินค้าต้นทุนต่ำ

ทั้งนี้ไม่พูดถึงกรณี CREDIT LINE ที่ห้างไทยมักนานกว่าปกติ จนซัพพลายเออร์บางเจ้าอาจจะอึดอัด

ด้วยการไม่ให้อำนาจแก่ฝ่ายจัดซื้อญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ ทำให้ฝ่ายจัดซื้อไม่กล้าซื้อสินค้าจำนวนมาก ๆ ซึ่งลักษณะนี้เองที่ทำให้ต้นทุนสินค้าสูง กำไรต่อหน่วยจึงต่ำ โดยเฉพาะแผนกซูเปอร์มาเก็ต ซึ่งก็มีผลทำให้ห้างญี่ปุ่นไม่นิยมทำเซลล์โปรโมชั่น นั่นคือผลประการที่หนึ่ง

ผลประการที่สองคือ เพราะความที่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ไม่นิยมการต่อรองกับซัพพลายเออร์ ทำให้ห้างญี่ปุ่นไม่นิยมเล่นเกมทางการตลาดร่วมกับซัพพลายเออร์ เช่น ตามปกติถ้าห้างซื้อ 100 โหลอาจจะได้แถม 5 โหล แต่ถ้าช่วงเทศกาล ซื้อเพิ่มขึ้นเป็น 200 โหล อาจได้แถมเป็น 20 โหล ซึ่งกรณีอย่างนี้ห้างญี่ปุ่นจะไม่สนใจถ้าอยู่เหนือกฎเกณฑ์ที่ตัวเองกำหนด

"ลักษณะแบบซื้อมากแถมมาก หรือลดมากแบบนี้ มันมีเรื่อย ๆ หลายโปรดักท์ แต่พอเอาเรื่องแบบนี้ไปเสนอห้างญี่ปุ่น พวกเขาไม่สนใจเลย" ซัพพลายเออร์เจ้าหนึ่งเล่า

เมื่อลักษณะการซื้อขายกับห้างญี่ปุ่นไม่ยืดหยุ่น ดังนั้นบรรดาเซลล์ของซัพพลายเออร์ต่าง ๆ จึงติดต่อกับห้างญี่ปุ่นตามปกติเซลล์ระดับ SALES MANAGER มักจะไม่ไปติดต่อด้วยตนเองหรือไม่จำเป็นต้องไปเยี่ยมบ่อย ๆ เพราะรู้ว่าดันทุรังไปก็ขายได้แค่นั้น ไม่มีการต่อรองเพื่อเพิ่มยอดสั่งซื้อ

"เมื่อก่อนยิ่งกว่านี้อีกคุณ ตอนเปิดห้างใหม่ ๆ เขาจะเลือกแต่ซัพพลายเออร์ที่เป็นญี่ปุ่นหรือที่ร่วมหุ้นกับญี่ปุ่นขายสินค้าญี่ปุ่น ซัพพลายเออร์ไทยไม่มีสิทธิ์แหยมเลย เพราะพวกเขาไม่ค่อยไว้ใจในคุณภาพหรือเรื่องชาตินิยมก็ไม่รู้ หรือที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก็คือสินค้าประเภทเดียวกันเคยสั่งซื้อจากซัพพลายเออร์ไทย พอสั่งจากญี่ปุ่นได้ สินค้าไทยก็เลิกเข้าไปวางได้ เขาคงถือว่าบริการคนญี่ปุ่นมากกว่า" ซัพพลายเออร์ผู้มีอดีตอันขมขื่นเล่า

สรุปก็คือว่า ด้วยกฎเกณฑ์ที่ตายตัวไม่ยืดหยุ่น, ซื้อสินค้าน้อย ทำให้ต้นทุนสูง, มาตรฐานการเลือกเฟ้นสินค้าและซัพพลายเออร์ เหล่านี้คือปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดกระบวนลูกโซ่ตั้งแต่สินค้าไม่หลากหลาย ราคาไม่ต่ำกว่าห้างไทยในประเภทสินค้าเดียวกันในเวลาเดียวกัน กระทบไปถึงแนวความคิดเรื่องเซลล์โปรโมชั่นที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยจะสนใจอยู่แล้วหรือถ้าทำไปบ่อย ๆ ก็สู้ห้างไทยไม่ได้

ประการที่สอง MARKETING CONCEPT นักการตลาดที่ใกล้ชิดกับวงการห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นกล่าวว่า ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งของผู้บริหารญี่ปุ่นคือเรื่อง MARKETING CONCEPT ที่ค่อนข้างจะสวนทางกับพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทย

"เขาไม่ได้มองว่า CONCEPT ของเขาผิดนะ แต่เขามองว่า MARKETING CONCEPT ของห้างไทยมันผิด เขามองจากห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นที่ว่า ห้างสรรพสินค้าไม่ใช่ร้านเกรดต่ำ ห้างที่ดีควรมีจุดเด่น มีความหรูหรา มีบริการที่ดี การจัดห้างสวยงาม ไม่มีการเซลล์โปรโมชั่นอย่างรุนแรง เพราะคนญี่ปุ่นนิยมสินค้ามีคุณภาพ ราคาไม่เกี่ยง"

"แล้วห้างญี่ปุ่นเขาก็ไม่ได้จับฉ่ายแบบห้างไทยที่มีทุกอย่าง มีตั้งแต่เทคโนโลยีทันสมัย ตั้งแต่ลิฟท์แก้ว มีสวนสัตว์ สวนน้ำยันของแบกะดิน ในญี่ปุ่นดีพาร์ทเมนท์สโตร์ก็แยกไปเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตก็ต่างหาก ไม่เกี่ยวกันโดยส่วนใหญ่"

แหล่งข่าวกล่าวว่า แรกเริ่มที่โซโก้ โตคิวจะเปิดนั้น ตั้งใจจะไม่เปิดแผนกซูเปอร์มาร์เก็ตเสียด้วยซ้ำ แต่ตอนหลังก็ลังเลและเปลี่ยนใจ แต่ก็ไปเปิดเอาชั้นบนสุดคือชั้น 4 ซึ่งผิดกับห้างไทยที่นิยมเปิดไว้ชั้นล่างสุด และเป็นแผนกที่ทำรายได้มากที่สุด แต่สำหรับโตคิวทำเงินเป็นอันดับ 3

ถ้ามองจากจุดยืนของคนไทย ทั้งห้างเซ็นทรัล โรบินสัน เดอะมอลล์ก็ล้วนเป็นห้างที่หรูหราและอยู่ในระดับเกรดเอสำหรับคนไทย แต่ทั้งสามห้างก็ใช้กลยุทธ์แบบไทย ๆ ครบเครื่องมีทั้งลดราคา มีการโหมโปรโมชั่นชิงโชคแต่ละครั้งเป็นสิบล้าน มีซูเปอร์มาร์เก็ต ฟาสท์ฟู้ด มีสินค้าที่เหมือนกับห้างญี่ปุ่น แต่ทั้งสามห้างก็ยังเป็นห้างมีระดับสำหรับความรู้สึกของคนไทย

"ทางญี่ปุ่นเขาอาจจะบอกว่ามีเทคโนโลยี มีวิวัฒนาการ เทคนิคใหม่ ๆ ในการขายปลีก แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็น ทุกวันนี้เราก็อยู่ได้ เราก็อยู่แบบไทย ๆ แบบนี้แหละ" อาจารย์ทางการตลาดให้ความเห็น

วินัย เสริมศิริมงคล เจ้าของห้างพาต้าเคยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า

"คนชอบมาว่าผมเป็นห้างไม่มีระดับ จักของรก ๆ ซึ่งนั่นแหละครับ เคล็ดลับของผม ทางเดินในห้างของผมจะจัดไว้แคบ ๆ มีของเยอะ ๆ วางไว้ตลอดทาง คนไทยชอบเลือกชอบดูของแบบนี้ เขากล้าเดินเข้าไปดู ไม่เหงา ถ้าจัดทางเดินกว้างซิครับไม่กล้าเดิน เพราะถูกมองว่าจะต้องเดินเข้าไปซื้อ ซึ่งไม่แน่เสมอไป คนเราบางทีก็เลิกซื้อโดยไม่ได้ตั้งใจ จัดห้างแบบห้างใหญ่เขาทำกัน ผมไม่ทำหรอก"

"เรื่องเล็ก ๆ ที่มีมูลค่าไม่น้อยที่ผู้บริหารญี่ปุ่นต้องเรียนรู้อีกก็คือ เรื่องสินค้าหาย แหล่งข่าวกล่าวว่า ของหายในแต่ละเดือนไม่ใช่น้อย ๆ บางทีเสื้อผ้าหายเป็นตั้ง ๆ ขนาดขวดเหล้าต่างประเทศสูงเกือบ 1 เมตรที่เอาไว้โชว์ยังเคยหายมาแล้ว การเช็คสต็อกก็ยังหละหลวม บางทีสินค้าหายไปก็ไปแก้ตัวเลขราคาสินค้า ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วเท่ากับมูลค่าสินค้าทั้งหมดที่แจ้งไว้แต่แรก

"เรื่องที่ดีมาก ๆ ของห้างญี่ปุ่นคือ จ่ายเงินให้ซัพพลายเออร์ไม่เคยเบี้ยว ตรงเวลาไม่ยืดเยื้อ" แหล่งข่าวกล่าว

ด้วยความเชื่อมั่นในแนวความคิดของห้างสรรพสินค้าแบบญี่ปุ่น และสไตล์การทำงานแบบญี่ปุ่นที่ไม่ค่อยยืดหยุ่นนัก ทั้งเรื่องเวลาการทำงาน ความเข้าอกเข้าใจคนไทยและทัศนคติต่อคนไทย ทำให้หลายคนกล่าวว่า ผู้บริหารญี่ปุ่นค่อนข้าง "ดื้อ"

เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้ทั้งนั้น อาจจะขลุกขลักบ้างก็ตรงที่ผู้บริหารญี่ปุ่นมักจะเปลี่ยนบ่อยพอสมควร ที่โตคิว เปลี่ยนกรรมการผู้จัดการปีละคน มีทั้งเกษียณและป่วย

"นโยบายการดำเนินงานจะเป็นอย่างไร คงเป็นเอกสิทธิ์ของเขา เขาอาจจะเชื่อว่าในระยะยาว เขาอาจจะถูก อาจจะดีขึ้นก็ได้ อีกอย่างเขาไม่ต้องห่วงว่าจะถูกทวงหนี้จากเจ้าหนี้แบบห้างไทย ก็อย่างที่เราชอบบอกแหละว่า สายป่านเขายาว" แหล่งข่าวสรุป

รายได้ด้านหนึ่งที่ห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นเริ่มทำกันเป็นล่ำเป็นสัน คือ ส่งสินค้าไทยไปขายตามห้างที่ญี่ปุ่นและสาขาในประเทศอื่น ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมาก เช่น ผลไม้กระป๋อง อาหารทะเล เสื้อผ้า เซรามิก เฟอร์นิเจอร์

สยามจัสโก้ส่งออกในปีแรกของการเปิดทำการถึง 100 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โซโก้นอกจากส่งสินค้าเพื่อขายตามสาขาต่าง ๆ แล้ว ก็ยังส่งเฟอร์นิเจอร์เพื่อตกแต่งห้างสาขาแห่งอื่นด้วย

เรื่องที่ยังเป็นข้อถกเถียงอยู่จนวันนี้ก็คือเรื่องการต่อต้านชาติเข้ามาทำการค้าปลีกหรือห้างสรรพสินค้าในประเทศไทย ซึ่งเหตุผลก็คือ ธุรกิจประเภทนี้คนไทยทำได้อยู่แล้วไม่ต้องพึ่งต่างชาติทั้งด้านเงินทุนและเทคโนโลยี และข้อได้เปรียบที่ทุกคนพูดกันมากก็คือเงินทุนที่ทุกวันนี้การลงทุนด้านห้างสรรพสินค้าจะต้องลงทุนกันสูงมาก ซึ่งห้างต่างชาติย่อมได้เปรียบที่จะยอมขาดทุนตอนนี้เพื่อผลระยะยาว

สมาคมผู้ค้าปลีก ทั้งในสมัยสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ และสมชาย สาโรวาท พยายามผลักดันเรื่องนี้โดยยื่นบันทึกให้รัฐพิจารณาช่วยเหลือ แต่หลายคนก็มองว่า ในระบบการค้าเสรีนิยมจะแข่งขันกันก็ต้องแข่งกันทางด้านการค้ามากกว่า

ระหว่างถกเถียงกันอยู่นี้ ห้างจากญี่ปุ่นก็ยาตราทัพเข้ามาเรื่อย ๆ แต่ละห้างก็มีเหตุผลและความเชื่อมั่นต่างกันไป เช่น ห้างเยาฮันที่จะเปิดที่รัชดาคอมเพล็กซ์ สี่แยก อ.ส.ม.ท.

เยาฮันเป็นซูปเปอร์สโตร์เช่นเดียวกับจัสโก้ และก็ยังมาตั้งอยู่บนถนนสายเดียวกันอีกด้วย เยาฮันร่วมทุนกับกลุ่มยูนิเวสท์ที่มีพิชัย วาศนาส่ง เป็นหัวหอก และกลุ่มนี้เองก็เคยมีส่วนทำให้โรบินสัน ราชดำริ ประสบความสำเร็จมาแล้ว

อีกเหตุผลที่เป็นความเชื่อของฝ่ายญี่ปุ่นคือ คำกล่าวของคาซูโอะ วาดะ ประธานกรรมการของเยาฮันเมื่อกลางปี 2531 ที่ว่า "จริงอยู่ที่ทุกวันนี้ ห้างสรรพสินค้าสาขาของประเทศญี่ปุ่นมีอนาคตที่ไม่สดใสนัก แต่เมื่อถึงเวลาที่เยาฮันเปิดกิจการ ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่าปัจจุบัน กำลังซื้อขยายขึ้นอีกมาก และที่สำคัญกว่านั้นคือ เยาฮันกำหนดตัวเองไว้ในฐานะศูนย์การค้าส่งรายใหญ่และจะมุ่งเป้าการค้าส่งออกเป็นหลักด้วย"

ความเชื่อนี้สอดคล้องกับคำกล่าวของปรีชา เวชสุภาพร กรรมการผู้จัดการโรบินสันในเวลาไล่เลี่ยกันว่า "นับจากนี้ไปอีก 5 ปี อาจเกิดปัญหากับห้างที่มีอยู่เพราะภาวะการแข่งขันที่สูงมาก ซึ่งห้างต่างชาติจะได้เปรียบ"

เรื่องที่ถกเถียงยังต้องเถียงกันต่อไปและอนาคตของห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นจะแจ่มใสหรือหดหู่อย่างไร ทุกอย่างก็ต้องคอยดูกันต่อไป

แต่สำหรับโซโก้แล้วและโตคิว สองห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่น อาจเป็นบทเรียนที่ดีของการดำเนินโรกิจค้าปลีกแบบญี่ปุ่น เขี้ยวเล็บที่ผู้บริหารญี่ปุ่นเชื่อมั่น เช่น ความหรูหรา บริการที่ดี สินค้าแปลกใหม่ จำต้องวางลงเมื่อพบกับกลยุทธ์การตลาดแบบไทย ๆ ที่เล่นกันทุกรูปแบบ

ถ้าหากห้างสรรพสินค้าทั้งสองแห่งผ่านพ้นสถานการณ์ "หืดขึ้นคอ" นี้ไปได้ด้วยการเรียนรู้บทเรียน ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและซัพพลายเออร์แบบไทย ๆ และด้วยเวลาที่ทอดนานออกไปจนห้างไทยอ่อนล้าเนื่องจากภาวะการต่อสู้ในปัจจุบัน

ถึงเวลานั้น ห้างสรรพสินค้าของไทยคงตกอยู่ในห้วงสถานการณ์ "จับไข้" เสียยิ่งกว่าปัจจุบันก็ได้!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us