Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2531
หกที่ปรึกษานายกฯ "พวกผมไม่ต้องการอำนาจ"             
โดย ชูวิทย์ มังกรพิศม์
 


   
search resources

สุรเกียรติ์ เสถียรไทย
พันศักดิ์ วิญญรัตน์
ณรงค์ชัย อัครเศรณี
สุขุมพันธุ์ บริพัตร
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
ชาติชาย ชุณหะวัณ
ชวนชัย อัชนันท์
Political and Government




คนไทย…รอคอยผู้บริหารประเทศที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อประชาชนมานานนับสิบปี คณะรัฐบาลในวันนี้ มีเรื่องที่ต้องแก้ไขอยู่ทุกวี่ทุกวัน วันละนับสิบนับร้อยเรื่อง จำเป็นอยู่เองที่จะต้องมี "ที่ปรึกษา" คอยให้คำปรึกษาแนะนำ บทบาทที่ปรึกษาเมื่อวันก่อนที่เกือบจะมี "อำนาจ" สั่งการไปตามสิ่งที่ต้องประสงค์ได้ทันที แต่วันนี้ล่ะ… ที่ปรึกษาในยุคใหม่ "พวกเขาไม่ต้องการอำนาจ"

10 สิงหาคม 2531…พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ นำคณะรัฐมนตรีชุดที่ 48 จาก 6 พรรคการเมือง เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายสัตย์ปฏิภาณในการเข้าบริหารทุนแห่งรัฐ

นับเป็นห้วงเวลาที่มีความหมายยิ่งยวด กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่ได้รอคอยมาเป็นเวลานานเกือบสิบปีที่หวังจะเห็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่มีผู้แทนราษฎร มีคณะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างแท้จริง

นับจากวันนั้นมาไม่นานนักเช่นกันที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชน ต้องพยายามประสานประโยชน์ เพราะเป็น "รัฐบาลผสม" ที่ก่อตั้งขึ้นมาจากพรรคการเมืองหลายพรรค

15 สิงหาคม 2531 นายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งที่ 79/2531 แต่งตั้งที่ปรึกษาจำนวน 9 คนมีวรรณ ชันซื่อ นักธุรกิจชื่อดังเป็นประธานที่ปรึกษา มีทีมงานประกอบด้วยสะอาด ปิยวรรณ ชุมพล ศิลปอาชา สุรพันธ์ ชินวัตร สมพัติ พานิชชีวะ ไพโรจน์ เครือรัตน์ ธรรมา ปิ่นสุกาญจน์ วีรวร สิทธิธรรม และปิยะ อังกินันท์

ในวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งที่ 81/2531 แต่งตั้ง "คณะที่ปรึกษานโยบาย" ของนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วยนักวิชาการที่มีความสามารถหลายคนอันประกอบด้วย พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ดร. สุรเกียรติ เสถียรไทย ดร. ชวนชัย อัชนันท์ และ ดร. บวรศักด์ อุวรรณโณ

มีหน้าที่ให้คำปรึกษาทาง "นโยบาย" เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ และการปฏิรูปกฎหมายเพื่อการพัฒนา เสนอโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี หรือตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย และให้มีอำนาจขอข้อมูลความเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีแล้ว

การแต่งตั้งที่ปรึกษาทั้งหกอาจมีความแตกต่างไม่มากนักในความรู้สึกของคนทั่วไปในระยะแรก แต่จากนั้นมาไม่นาน ข่าวคราวความขัดแย้งของคณะที่ปรึกษาชุดนี้กับพรรคร่วมรัฐบาลก็ปรากฏออกมาเรื่อย ๆ

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องความเห็นของรัฐมนตรีบางคนที่แตกต่างไปจากความเห็นของคณะที่ปรึกษา บางเรื่องควรเป็นหน้าที่หรือบทบาทของพรรคฝ่ายค้านมากกว่าที่เป็นท่าทีของคณะที่ปรึกษาด้วยซ้ำ

จนมีบางคนเปรียบเทียบเอาว่า "ทำเนียบ" เป็นที่อยู่ของรัฐบาล "บ้านพิษณุโลก" อันเป็นที่ทำงานของคณะที่ปรึกษานั้นเปรียบเสมือน "ฝ่ายค้าน" ที่แท้จริง ส่วนพรรคฝ่ายค้านน่าจะถูกเรียกว่าเป็น "ฝ่ายแค้น" มากกว่า

ความเป็นมาของคณะที่ปรึกษาทั้งหกจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าพวกเขาเป็นใคร? มาจากไหน? มีความสามารถมากน้อยเพียงใด? จนสามารถทำให้พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีผู้มีความสามารถไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ที่นอกจากจะเคยเป็นรัฐมนตรีมาหลายสมัย เป็นทูตทหารมาแล้วก็หลายประเทศ และสมัยหนึ่งยังเคยได้รับการยอมรับว่าเป็น "คลื่นลูกใหม่" ของการเมืองการปกครองของเมืองไทย ยอมรับในฝีมือและความคิดจนแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวในปัจจุบัน

ความสำคัญและบทบาทของ "ที่ปรึกษา" นั้นมีมากนับแต่อดีตกาลมาแล้ว

ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย หรือบรรดาประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์ ผู้มีอำนาจสูงสุด คือ พระมหากษัตริย์หรือผู้มีอำนาจอื่นทั้งทางการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ และตุลาการ จะต้องมี "ที่ปรึกษา" เสมอ

ไม่ว่าจะเป็นในรูปของนักปราชญ์ราชบัณฑิต ปุโรหิตต่าง ๆ ซึ่งที่ปรึกษานี้ก็จะทำหน้าที่ไปตามเงื่อนไขทางสังคมขณะนั้น เช่น ถ้าสังคมเป็นสังคมวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่ก้าวหน้า โหร หรือบรรดาปุโรหิตต่าง ๆ พวกนี้ก็จะอ้างว่าสามารถรู้เรื่องบางเรื่องที่แม้แต่ผู้มำอำนาจสูงสุดก็คาดไม่ถึงหรือไม่รู้

เพราะว่าอำนาจ…แม้จะมีไปถึงกระท่อมของยาจก หรือไปถึงบ้านของขุนทหารมือขวาที่ใหญ่โต แต่อำนาจก็มีขอบเขตจำกัดเสมอ

แล้ว "อำนาจ" ของ "ที่ปรึกษา" เกิดขึ้นได้อย่างไร?

เมื่อผู้ปกครองเกิดความไม่แน่ใจหรือฉงนสนเท่ห์ใจว่าศีลธรรมหรือความยุติธรรมที่ตนเองให้ไปถูกหรือผิดไม่ว่าผู้ปกครองนั้นจะมีอำนาจแค่ไหน ใช้การปกครองระบอบใด ก็ต้องแสวงหา "ความชอบธรรม"

"ความชอบธรรม" คือ ให้คนเชื่อว่าระบอบการปกครองในขณะนี้ถูกต้องแล้วดีแล้ว ไม่ต้องไปคิดแก้ไขเปลี่ยนแปลง

ซึ่งขั้นต่ำสุด "ที่ปรึกษา" ในอดีตเกิดจากคนที่มีอายุมาก เพราะการมีอายุมากหมายถึงการเรียนรู้มากในสังคม หรือในขั้นตอนของการพัฒนาสังคมไม่มีเทคโนโลยี ทำให้ไม่มีใครสามารถเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับโลกได้โดยทางลัดหรือโดยจากหนังสือ

ที่ปรึกษาของไทยเราเริ่มมีจริง ๆ จัง ๆ สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์…

เป็นที่ทราบกันดีว่าจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ขึ้นมาปกครองประเทศไทย หลังจากการโค่นล้มของกลุ่ม พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งเราจะเรียกว่าเป็นอำนาจที่ได้มาจาก "กำลัง" ก็ไม่ผิดนัก

แต่อำนาจที่ได้มาจากกำลังนั้น ยังคงไม่สามารถลดทอนอำนาจเก่าที่ฝังรากลึกมาเป็นเวลากว่าสิบปีตั้งแต่ปี 2490 ของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้

เพราะฉะนั้นจอมพลสฤษดิ์ จำเป็นที่จะต้องมีกุนซือ มีที่ปรึกษาที่จะทำให้อำนาจใหม่ดูมีความชอบธรรมมากกว่าอำนาจเก่า ซึ่งในขณะนั้นในเบื้องแรกจอมพลสฤษดิ์ดูจะโชคดีที่สามารถชักชวนหลวงวิจิตรวาทการผู้เป็นที่ปรึกษาคนสำคัญให้กับรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้มาเป็นที่ปรึกษาให้ แต่เพื่อให้สามารถปกครองประเทศได้ต่อไป ทำให้เกิดแนวความคิดที่จะต้องเปลี่ยน "รูปแบบ" หรือ "เนื้อหา" บางประการ

ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงจากการขยายอิทธิพลทางความคิดเข้ามาในภูมิภาคนี้ของสหรัฐฯ

เพราะหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นยุคของการฟื้นฟูยุโรป แต่เนื่องจากคนสหรัฐฯ เอง เป็นเชื้อสายของพวกยุโรปทำให้มีนักคิด นักวิชาการที่มีความสามารถอพยพตัวเองเข้าไปอยู่ในสหรัฐฯ จำนวนมาก

กอปรกับในช่วงปี 2492 จีนได้เปลี่ยนมาเป็นคอมมิวนิสต์ และรับเอาแนวความคิดของสหรัฐฯ เข้ามาไม่น้อย ทำให้ความคิดที่จะต้องมีคนที่มีปัญญาความคิดมาบริหารประเทศ ขยายมาทางประเทศไทยด้วย

"หลวงวิจิตรท่านเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ชอบศึกษา และที่สำคัญท่านเป็นคนชาตินิยมอย่างมาก ท่านไม่ได้ชาตินิยมอย่างเดียวแต่เป็นเอเชียนิยมอีกด้วย ในสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านก็เชียร์ญี่ปุ่นมากเลย หวังจะให้ไทยเป็นเอเชียใหม่เหมือนญี่ปุ่น" นักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งเล่าให้ฟัง

หลวงวิจิตรวาทการเริ่มมองเห็นว่าในยุคใหม่ อำนาจใหม่จะอยู่ได้นั้น ก็โดยอำนาจที่ได้มาด้วยกำลังจะต้องบวกด้วยอำนาจทางปัญญา เพราะยุคนั้นเริ่มเป็นยุคสมัยของความคิดที่แผ่อิทธิพลมาจากสหรัฐฯ

หลังจากนั้นไม่นาน ยุทธการ "ดึงตัว" ควานหาคนที่มี "ปัญญา" และ "ความคิด" ของท่านก็เริ่มขึ้น

ท่านรู้ว่าตอนนั้นมีชายหนุ่มคนหนึ่งเพิ่งจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์มา ท่านก็เรียกตัว "อำนวย วีรวรรณ" ที่เพิ่งอายุได้เพียงสามสิบต้น ๆ มาเป็นที่ปรึกษา

ท่านทราบว่ามีเด็กจากอีสานจากอำเภอพนัสนิคมคนหนึ่ง เมื่อครั้งมาเรียนอยู่เทพศิรินทร์สอบชิงทุนได้ 4-5 ทุน เคยไปเรียนฝรั่งเศส เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ท่านก็เรียกตัว "บุณย์ เจริญไชย" ซึ่งเป็นทูตให้กับกระทรวงการตางประเทศที่ประเทศอินเดียกลับมา

ท่านทราบว่า "สุนทร หงส์ลดารมย์" ก็เคยอยู่เทพศิรินทร์เหมือนกัน เป็นนักฟุตบอลและเรียนเก่งมาก ได้ทุนไปเรียนเมืองนอก กลับมาเป็นอาจารย์ได้พักหนึ่งแล้วออกมาเป็นทูตที่กัวลาลัมเปอร์ก็เรียกตัวมาช่วย

มีลูกคนจีนอีกคนหนึ่ง พ่อรวยมาก ส่งลูกไปเรียน ดร. อังดรัวส์จบมาแล้วไปอยู่สหรัฐฯ ชื่อ "ถนัด คอมันต์" ก็เรียกตัวมา

"ฉะนั้นเราจึงเห็นว่าสมัยจอมพลสฤษดิ์ ตำแหน่งรัฐมนตรีจะมีน้อยกระทรวง รัฐมนตรีช่วยฯ แทบจะไม่มีเลย…เพราะมีพวกนี้อยู่แล้ว" คนเก่าแก่คนหนึ่งเล่า

"ส่วนผสม" ระหว่าง "อำนาจ" กับ "ปัญญา" ในยุคสมัยนั้น ทำหน้าที่ไปตามกลไกของมันอย่างมีประสิทธิภาพ ก็เนื่องจากความเด็ดขาดของการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งมาจากตัวรัฐมนตรีที่หลวงวิจิตรวาทการดึงตัวกลับมานี้เอง

"ข้าราชการในสมัยนั้นพอเห็นหน้าเห็นตัวก็รู้มือ รู้ว่าพวก รมต. ที่มานี่ตัวเองเคยสอบแพ้มาแล้ว และพวกนี้ไปเรียนเมืองนอกเมืองนามา ไปก้าวหน้าทางราชการ ไปเป็นทูตเป็นชั้นพิเศษแล้วเขาดึงตัวกลับมา ข้าราชการยุคนั้นก็เลยสยบ" นักวิชาการคนเดิมเล่าให้ฟังเพื่อย้ำว่าจริง ๆ แล้ว พวกราชการเหล่านี้ปอดศักดิ์ศรีว่างั้นเถอะ!

หลังยุคจอมพลสฤษดิ์ แม้ว่าจะยังเป็นยุคสมัยของการพัฒนา แต่บทบาทที่แท้จริงที่เคยมีของที่ปรึกษาลดน้อยลง เนื่องจากผู้บริหารประเทศส่วนใหญ่มีความคิดเหมือนกันที่ว่า การสร้างชาติสร้างประเภทนั้นมี "สูตรสำเร็จ" อยู่แล้ว

ปัญหาของการบริหารอยู่ที่ว่าระบบการบริหารของไทยนั้น "ห่วย" ถ้าเราสามารถปรับ จับข้อเหวี่ยง ขันน็อต ขันสกรูให้ดี มีวิธีการจัดการการบริหารที่ดีก็จะไปรอดเอง

ทำให้เกิดยุคที่ตั้งสถาบันการศึกษาหรือการเร่งรัดการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ การเมืองการปกครองขึ้นอย่างจริงจัง โดยมีการเปิดคณะ "รัฐประศาสนศาสตร์" ขึ้นในธรรมศาสตร์และมีข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ประชาชนผู้ฝักใฝ่หาความรู้เข้ามาเรียนกันมาก เป็นที่มาของที่ปรึกษายุคที่สอง

"ที่ปรึกษา" ในยุคที่สองที่มีพื้นฐานในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน แต่มี "รายละเอียด" บางอย่างที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน

เมื่อการปกครองอำนาจรัฐฯ ไม่เป็นไปตามครรลองที่เคยเป็นจนต้องมีการแต่งตั้งบุคคลที่แม้จะถือได้ว่า "ใจซื่อ มือสะอาด" อย่างพลเอกเปรมเข้ามาบริหารประเทศ สิ่งที่แตกต่างอย่างมากกับยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์หรือยุคสมัยที่ผ่านมาของการเมืองการปกครองประเทศ ก็คือครั้งนี้พลเอกเปรมมิได้มี "กำลัง" ที่เข้มแข็ง และ "ขุมปัญญา" ที่มีพลังเช่นดังผู้นำในอดีต

นักวิชาการที่ติดตามประวัติศาสตร์การปกครองของไทยมาโดยตลอดท่านหนึ่งเล่าว่า ในช่วงเวลานั้นจำเป็นอยู่เองที่ผู้ใกล้ชิดพลเอกเปรมต้องชักชวนนักวิชาการที่มีหัวทันสมัย เช่น ดร. เขียน ธีรวิทย์ เสน่ห์ จามริก ไพจิตร เอื้อทวีกุล สมศักดิ์ ชูโต จิรายุ อิศรางกูรฯ เทคโนแครทบางคน รวมทั้งข้าราชการอีกหลายคนที่เริ่มเป็นผู้อำนวยการกอง เป็นรองอธิบดีเข้ามาเป็นที่ปรึกษา

"เพราะฉะนั้น ที่ปรึกษายุคนี้จึงเป็นยุคที่ใช้เครือข่ายทำงาน เช่น เวลาไพจิตรจะทำงาน เขาใช้เครือข่ายของนิพัทธ พุกกะณะสุต ใช้โอฬาร ไชยประวัติที่แบงก์ชาติ ชัยวัฒน์ วิบูลสวัสด์ที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ใช้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยหลายคนรวมกัน" นักวิชาการท่านเดิมเล่า

ซึ่งนั่นทำให้การโต้แย้งกับพรรคฝ่ายค้านมีน้ำหนักมากขึ้น เพราะว่าบุคคลต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว เป็นคนคุมกลไกในการปฏิบัติการในระดับสูงที่ตนเองดูแลอยู่

เมื่อผ่านระยะเวลาที่นานเข้า ระบอบการปกครองกว่าแปดปีของพลเอกเปรม ทำให้ที่ปรึกษาซึ่งแต่เดิม-ไม่มีอำนาจ แต่เนื่องจากอิทธิพลของเทคโนแครทกับสภาพัฒน์ฯ ที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้น ทำให้พวกนี้เริ่มเป็นฝ่ายกำหนดกติกาว่าใครจะเล่นทางไหน

และด้วยเหตุผลที่สอดรับอีกประการหนึ่งว่า แผนโดยไม่มีการปฏิบัติเหมือนเป็นเศษกระดาษ ดังนั้นทำให้ที่ปรึกษาทั้งหลายในสมัยพลเอกเปรม โดยเฉพาะสภาพัฒน์ฯ ก็อยากจะแปรแผนให้เป็นนโยบาย แปรนโยบายไปสู่มาตรการเพื่อมีการปฏิบัติ

"มันมีความไม่สม่ำเสมอในหน่วยราชการ หน่วยราชการที่เป็นหน่วยอำนวยการมันมองเห็นเป็นภาพลวง จริง ๆ แล้วในระบบเทคโนแครท หรือฝ่ายสต๊าฟนั้นล้ำหน้าฝ่ายบริหารด้วยระเบียบ เพราะฉะนั้นหน่วยราชการมันเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพขึ้นแล้ว แต่ตัวเขาเองไม่ทราบ แต่ก็ไม่ทำให้เกิดความพอใจกับทั้งนักธุรกิจและนักการเมืองเท่าใดนัก"

แต่ที่จุดนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในอันที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดเกี่ยวกับบทบาทที่ปรึกษาให้ไปสู่ความเป็นจริงมากขึ้น ผู้บริหารประเทศในขณะนั้นกลับมองไม่เห็น

นั่นทำให้เกิดแนวความคิดที่ผิดพลาดอย่างมากของการมีที่ปรึกษายุคสมัยเปรม 1-5 ก็คือ ที่ปรึกษาเหล่านั้นบางส่วนเริ่มมีทัศนะและเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า ถ้าจะให้ประเทศไปได้นั้น อย่าให้ ส.ส. หรือนักการเมืองมาวุ่นวายกับการบริหารประเทศให้มากนัก และพยายามสร้างความเป็น "สถาบัน" ให้กับระบอบ "กึ่ง" ประชาธิปไตยที่ตนเองกำหนดขึ้น

ดังนั้น เราจึงเห็นการกระทำหลายอย่าง เช่น การตั้ง ครม. เศรษฐกิจ ที่ไม่ได้ประกอบด้วยผู้แทนที่เป็นรัฐมนตรีเท่านั้นแต่ยังมีข้าราชการ มีที่ปรึกษานายกฯ เข้าไปด้วย เพราะฉะนั้นการกุมอำนาจที่อยู่ในมือของที่ปรึกษาและเทคโนแครทเสียส่วนใหญ่

มีคนจำนวนไม่น้อย ที่พยายามอธิบายถึง "ที่มา" ของที่ปรึกษาทั้งหกของพลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี

ไม่ว่าจะเป็นการใช้เหตุผลที่ว่า นายกฯ เชื่อมือพันศักดิ์ วิญญรัตน์มาตั้งแต่คราวเป็นที่ปรึกษาให้ครั้งที่ท่านยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกฯ

บางคนบอกว่าไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ลูกชายผู้ซึ่งมีความคิดในหลายด้านตรงข้ามกับพ่อ มีความผูกพันอย่างลึกซึ้งมาเป็นเวลานานกับทั้งพันศักดิ์ วิญญรัตน์ และ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร ด้วยความที่เป็นลูกผู้ดีมีสตางค์ด้วยกัน น่าจะสนิทสนมกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศ เป็นความจริงขึ้นและค่อนข้างราบรื่นเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย

ซึ่งรวมไปถึงการเลือก "เพื่อน ๆ" อีกห้าคนเป็นทีมที่ปรึกษา

พันศักดิ์ และ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ ต่างก็เป็นนักเรียนเก่าอังกฤษด้วยกัน

ชวนชัย สนิทกับพันศักดิ์มานาน เคยทำงานร่วมกันเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัท ไอ.เอ็ม.ซี. ในตึกบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยของณรงค์ชัย อัครเศรณี ซึ่งณรงค์ชัยเองก็เขียนบทความลงใน "จัตุรัส" ยุคสองและสามของพันศักดิ์อยู่ไม่น้อย…ฯลฯ

บางคนอาจคิดเลยเถิดไปถึงว่า ที่ปรึกษาทั้งหกอาจมี "เงื่อนไข" พิเศษใด ๆ นอกเหนือไปจากขอความเป็นอิสระสำหรับทีมที่ปรึกษาที่จะคิดที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้อย่างเต็มที่

แต่เมื่อวิเคราะห์กันอย่างจริงจังแล้ว ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น!

ที่ปรึกษาด้านนโยบายทั้งหกคนนี้ เกิดจากข้อเท็จจริงหลายข้อที่เราต้องพูดถึงมากกว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าก็ไม่ได้แตกต่างจากเมื่อครั้งพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตั้งรัฐบาลเปรม 1 เมื่อประมาณกว่าแปดปีก่อนเลยแม้แต่น้อย

เป็นเพราะหัวหน้ารัฐบาลในระยะตั้งรัฐบาลใหม่ เห็นความสำคัญของการมีข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจะต้องอาศัยคนที่ไว้ใจได้ มาให้ข้อมูลที่เป็นจริง เพื่อที่จะสามารถตรวจสอบได้ เพราะรัฐบาลที่ตั้งขึ้นเป็น "รัฐบาลผสม" เป็น "สหพรรค"

ดังนั้นสิ่งที่ที่ปรึกษาทั้งหกทำอยู่มีสามอย่าง คือ-หาความจริงที่จะต้องเข้าใจได้อย่างรวดเร็วด้วย

จากนั้นดูว่ารัฐบาลคิดอย่างไร? พรรคการเมืองคิดอย่างไร? แล้วเอาทั้งสามอย่างนี้มาประนีประนอมหาลู่ทางที่ดีที่สุด

"นี่คือกำเนิดที่แท้จริงของมัน ไม่ใช่ว่าเป็นการแอพโพรชจากใคร ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างใครกับใคร (หรืออาจจะมีบ้างแต่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ) แต่เป็นเพราะรัฐบาลชุดใหม่ต้องการข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ในระดับหนึ่ง "ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองท่านหนึ่งให้ความเห็นถึงที่มาของสต๊าฟที่ปรึกษาชุดนี้

ความสนใจในสายตาของคนทั่วไปก็มาอยู่ตรงที่ แล้วทำไมจึงต้องเป็นหกคนนี้? บางคนยังค่อนแคะอีกว่า นักวิชาการเทคโนแครทที่มีความสามารถในประเทศไทยมีตั้งมากมาย ทำไมต้องเป็นพวกนี้ ซึ่งหลาย ๆ คนอายุยังน้อยมาก ๆ อีกด้วย

ข้อสงสัยนี้จำเป็นต้องหันกลับไปมองดู "ที่ปรึกษา" ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยเปรม 1-เปรม 5 รวมกับที่ปรึกษาทางการเมืองอื่น ๆ ที่ตั้งขึ้นในสมัย "ชาติชาย 1" นี้อย่างใกล้ชิดอีกครั้งหนึ่ง

จะทำให้เราพบในเบื้องต้นเช่นเดียวกันว่า มีบุคคลที่เราเรียกว่าเป็นนักวิชาการเป็นเทคโนแครทที่มีความสามารถอย่างแท้จริงมากน้อยแค่ไหน เพียงไร มีใครบ้างที่มีความสามารถทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เกษตร และเทคโนโลยีอย่างจริงจัง

คำตอบก็คงจะอยู่ในใจของเราท่านกันดีอยู่แล้ว!?!

นอกจากนี้ การเป็นที่ปรึกษาของคณะรัฐบาลในแต่ละยุคแต่ละสมัยนั้น "ผู้รู้" หลายท่านกล่าวว่า ที่ปรึกษานั้นก็มี "ระดับ" ของที่ปรึกษาเหมือนกัน

"ที่ปรึกษาทางการเมือง" ก็ให้ตำแหน่งให้เงินเดือนเป็นผลตอบแทนไป ที่ปรึกษาที่เป็นผู้สนับสนุนพรรคการเมืองมาก่อนก็อาจให้ตำแหน่ง "ไม่มีเงินเดือนให้" แต่มีสิทธิพิเศษตามตำแหน่งนั้น ๆ แล้วแต่กรณี ที่ปรึกษาทางการเมืองประจำตำแหน่งรัฐมนตรีก็ให้ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งให้ดังเช่นที่เราเห็นตัวอย่างมากมายจากรับบาลนี้และรัฐบาลที่ผ่านมา

แต่กับ "ที่ปรึกษา" ชุดนี้ กลับเป็นที่ปรึกษาที่ "ผู้จัดการ" พบว่า น่าจะเป็นชุดที่มี "ส่วนผสม" ต่าง ๆ ที่มีองค์ประกอบหลายอย่าง "ลงตัว" ที่จะใช้ให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุดในยุคสมัยปัจจุบันนี้ก็ว่าได้

โดยมองไปถึงวัตถุประสงค์ที่ว่า ที่ปรึกษาชุดนี้เกิดขึ้นจากการที่นายกฯ ต้องการข้อมูลข่าวสารที่ "รวดเร็ว" และ "เชื่อถือ" ได้ก่อน

เริ่มจากประธาน "ที่ปรึกษา" พันศักดิ์ วิญญรัตน์เป็นคนแรก

พันศักดิ์ วิญญรัตน์ อายุ 43 ปี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารอย่างหาตัวจับยาก เคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หลายสมัย เป็นที่ปรึกษาเรื่องการดำเนินการทางการทูตระหว่างประเทศให้กับพลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ และพันเอกถนัด คอมมันต์ เมื่อครั้งที่ทั้งสองคนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่ต่างยุคสมัยกัน

พันศักดิ์ จบชั้นมัธยมที่วชิราวุธ เป็นนักเรียนทุนรัฐบาล จบปริญญาตรีกฎหมายระหว่างประเทศจากลอนดอน เมื่อจบจากอังกฤษมาใหม่ ๆ เขาเข้าทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ทำหน้าที่อ่านข่าวภาษาอังกฤษ

ทำอยู่ไม่นานเท่าใดนัก เขาก็มีโอกาสได้เป็นผู้บรรยายวิชาเศรษฐศาสตร์ ให้กับภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เข้าทำงานในส่วนวิชาการ ธนาคารกรุงไทย แล้วจึงเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ครั้งแรกเมื่อยี่สิบปีก่อน โดยประจำที่บางกอกเวิลด์เป็นแห่งแรก

จากนั้นไม่นานเขาก็ทำหนังสือพิมพ์ของตนเองชื่อ "จัตุรัส" ซึ่งตำนานการต่อสู้ล้มลุกคลุกคลานของเขากับ "จัตุรัส" พอที่จะสะท้อนตัวตนของพันศักดิ์ออกมาให้เห็นกันในบางส่วน

จัตุรัสเกิดจากความคิดของวรพุทธ์ ชัยนาม ที่ต้องการทำหนังสือวิเคราะห์ข่าวสำหรับปัญญาชน ผู้ร่วมเห็นด้วยกับความคิดนี้เป็นคนแรก และเอาจริงเอาจังอย่างที่สุดคือ พันศักดิ์

พันศักดิ์ วรพุทธ์ และเพื่อนอีกหลายคนในกระทรวงการต่างประเทศ เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ฯลฯ ต่างช่วยกันลงทุนเป็นจำนวนเงินไม่กี่หมื่นบาท ทำ "จัตุรัส" ขึ้นในเดือนสิงหาคม 2513

พันศักดิ์เป็นคนรักความจริง และยินดีที่จะพูดความจริงนั้นแก่คนทั้งหลาย เขาจึงไม่หวั่นเกรงที่จะพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจของประชาชน ความไม่เป็นประชาธิปไตยในสมัยช่วงรัฐบาลทหาร นโยบายต่างประเทศสมัยรัฐบาลทหารที่ผูกพันอยู่กับสหรัฐอเมริกามากเกินไป อีกทั้งเขายังเป็นสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ที่วิเคราะห์วิจารณ์การเอารัดเอาเปรียบในสังคมไทยได้อย่างถึงแก่น

"จัตุรัส" ในยุคที่สองเกิดขึ้นในช่วงปี 2518-2519 ด้วยความเชื่อของผู้ร่วมงานหลายคนที่ว่า ถ้าเราเชื่อว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของตัวเอง เราจะไม่สามารถหาศักยภาพนั้นได้ จนกว่าเราจะหลุดพ้นจากการต่อล้อต่อเถียง ไล่ล่าฆ่ากันในสงครามอินโดจีน

"จัตุรัส" ในยุคนี้เป็นยุคที่พันศักดิ์เคยยอมรับว่าเป็นยุคที่ทำง่ายที่สุด เพราะประวัติศาสตร์ของโลกในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมาเกิดขึ้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ "จัตุรัส" เป็นเพียงผู้รวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาไว้ที่เดียวเพื่อนำเสนอแก่ผู้อ่านเท่านั้น

"จัตุรัส" ยุคที่สองปิดฉากไปพร้อมเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พันศักดิ์ และเพื่อนฝูงที่เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์หลายฉบับถูกจับเข้าคุกด้วยข้อหาครอบจักรวาลที่ว่าเป็รพวก "หัวก้าวหน้า" เขาอยู่ในห้องกักเกือบเดือน ก่อนที่จะไปใช้ชีวิตอยู่ในนิวยอร์กเป็นเวลานาน

พันศักดิ์กล่าวไว้ใน "จัตุรัส" ฉบับครบรอบหนึ่งปี ของยุคที่สาม (สิงหาคม 2525) ว่า เขามีบทเรียนในการทำหนังสือมาแล้วสองยุค…ยุคแรก-เขาเรียนรู้ว่าการทำงานแบบแอคทิวิสต์ร้อนวิชานั้นไม่บังเกิดผล ส่วนยุคที่สอง-เขาเรียนรู้ว่าการสัมผัสความจริงมากเกินไปไม่ค่อยดีเท่าไรนัก

"จัตุรัส" ในยุคที่สามจึงเกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะสรรค์สร้างหนังสือที่มองปัญหาบ้านเมืองอย่างรอบด้านและอย่างยาวไกล ด้วยเห็นว่าหลังฉากการต่อสู้ทางการเมืองที่สับสน คือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจที่สะสมมานาน ภาระหน้าที่ของคนเห็นปัยหาคือทำให้อำนาจทางการเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจเข้าใจกัน

"จัตุรัส" ในยุคที่สามมีความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดทั้งในด้านตัวบุคคล และแนวความคิดในการนำเสนอ เช่น บทความส่วนใหญ่ของพันศักดิ์ในช่วงเวลานั้นพยายามที่จะนำเสนอถึงการที่สังคมไทยจะปฏิเสธบทบาทของนายทุนไม่ได้ จะปฏิเสธพลังทางเศรษฐกิจของนายทุนที่มีเชื้อสายจีนไม่ได้

พยายามพูดถึงความงุนงงของอำนาจรัฐ-เผด็จการที่เสื่อมถอยลงเองตามสภาพของมันหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา แล้วมาเจอความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยสมัยใหม่ ซึ่งนายทุนเหล่านี้พยายามที่จะแสดงบทบาทของตนเองให้เด่นชัดขึ้น

หลายคนที่ติดตาม "จัตุรัส" มาตลอดกล่าวว่านั่นเป็นเฉดใหม่ทางการนำเสนอความคิดของพันศักดิ์ เขาไม่เพียงแต่จะนำเสนอความคิดทางการเมืองเท่านั้น พันศักดิ์ยังรอบรู้ถึงวิทยาการความก้าวหน้าของเทคโนโลยี พูดถึงคอมพิวเตอร์ พูดถึงการเปิด แอล. ซี. ในการค้าระหว่างประเทศที่ยังไม่มีใครพูดถึงและเข้าใจ

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความคิดของพันศักดิ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ความแตกต่างที่ได้รับจากการเป็นนักหนังสือพิมพ์ ที่ต้องมีการ "เจาะลึก" เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลบางอย่าง (ทำให้ความคิดเดิมที่มีอยู่บางอย่างบางประการเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่ได้ยินได้ฟังจากครอบครัว จากพ่อที่เป็นกรรมการธนาคารกรุงเทพตั้งแต่ยุคก่อตั้ง ว่าเคยมีบทบาทอย่างไรสังคมตอนนั้นเป็นอย่างไร

ซึ่งพันศักดิ์คงเป็นอีกคนหนึ่งที่สามารถ "นิยาม" ความหมายของการเป็นนักหนังสือพิมพ์ได้ชัดเจนยิ่ง "เจอนัลลิสต์นอกจากจะต้องมีสายงานที่แน่ชัดแล้ว ต้องมีความเชื่อว่ามนุษย์ทั้งมวลนี้จะต้องมีคนหนึ่งที่พูดความจริง เมื่อคุณทำงานเจอนัลลิสต์มานาน ต้องเป็นคนที่มีความหวังอันบริสุทธิ์ว่า เป็นไปได้ที่มวลมนุษย์จะต้องมีคนหนึ่งที่พูดความจริง สำหรับไม่ถึงกับไม่เชื่อ…เป็นไปได้ แต่บางทีเราต้องบอกคนอ่านว่า ผมเขียนตามที่เข่าโกหก บางทีเราต้องค้นหาว่า ว็อท อิส อะ แฟ็คท์ บางครั้งมันคลุมเครือความจริงอยู่ที่ไหนไม่รู้" พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสารฉบับหนึ่ง

"จัตุรัส" ยุคที่สามจบลงด้วยน้ำมือของเขาเองหลังจากที่เป็นหนี้เป็นสินกว่าห้าสิบล้านบาท และขาดเงินสนับสนุนที่ได้รับอยู่สม่ำเสมอก่อนหน้านั้นจากพ่อของเขา จากนั้นพันศักดิ์ก็ใช้ความสามารถของเขาเป็นประโยชน์กับองค์กรธุรกิจหลายแห่งก่อนที่จะเข้ามารับงานที่ปรึกษานายกฯ ในปัจจุบัน

สิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้จากความเป็นพันศักดิ์ก็คือ เขามีเส้นสาย มีคอนเนคชั่นมากมายกับสื่อมวลชน ทั้งในและนอกประเทศ จากการสั่งสมมาเป็นเวลานานจากการเป็นเจอนัลลิสต์ของเขา โดยเฉพาะในช่วงที่ทำงานกับบางกอกเวิลด์

ไม่ว่าจะเป็นความผูกพันที่มีกับ PACIFIC INSTITUTE สำนักข่าวสารอิสระของสหรัฐฯ นักข่าวที่มีชื่อเสียงรู้จักกันไปทั่วทั้งวงการ อาทิ W. BURCHETT และ MARCEL BALANG ชาวฝรั่งเศส และเพื่อนฝูงอีกมากมายเมื่อครั้งที่เขาทำ "จัตุรัส"

ซึ่งสายสัมพันธ์เหล่านี้เองที่ทำให้พันศักดิ์ได้เปรียบคนอื่น เขาสามารถรับรู้ข่าวสารได้รวดเร็วไม่แพ้องค์กรระหว่างประเทศใด ๆ ที่ต้องสื่อสารติดต่อเรื่องราวต่าง ๆ ความเป็นไปต่าง ๆ ในทุกภูมิภาคของโลก

"ความกว้างขวางของพันศักดิ์มีมากแค่ไหนดูได้จากตอนที่เขาถูกจับเข้าคุก หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ในวอชิงตันบางฉบับยังลงเป็นข่าวหน้าหนึ่ง และไม่ใช่มีที่อเมริกันประเทศเดียว ญี่ปุ่น ฮ่องกง กระทั่งประเทศแถบอาฟริกายังมีข่าวของหมอนี่เลย" คนที่คุ้นเคยกับพันศักดิ์เล่าให้ฟัง

บวกกับความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ของเขายิ่งทำให้เขาดูจะเป็น INFORMATION TECHNOLOGIST ที่สมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบันก็ว่าได้

นายกฯ ชาติชายเคยพูดว่าจะเปลี่ยนสนามรบในอินโดจีนให้เป็นสนามการค้า ที่ประกาศผ่านสื่อมวลชนทุกสาขานั้น ทำให้นายกฯ ต้องมีผู้สนับสนุนและให้ข้อมูล คำแนะนำต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ สภาพการณ์ปัจจุบัน จนถึงแนวทางการวิเคราะห์ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในจุดนี้คงไม่มีใครเหมาะสมมากไปกว่า ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร

"ผมถือว่าความเป็นหม่อมราชวงศ์เป็นภาระที่ทำให้เราต้องช่วยประเทศมากขึ้น" เป็นคำสัมภาษณ์ในนิตยสารฉบับหนึ่งของ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร ที่ปรึกษานายกฯ ชุดนี้อีกคนหนึ่ง ที่พอจะทำให้เขาเห็นว่าเขามีความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองมากน้อยเพียงใด

ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ เป็นบุตรพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ กับหม่อมดุษฎี บริพัตร หลังจากจบชั้นประถมปีที่ 5 ซึ่งขณะนั้นเพิ่งมีอายุได้ 10 ขวบ ก็ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ

จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลกในสาขาวิชาที่ไม่ค่อยมีใครเรียน นั่นคือวิชาปรัชญา-การเมืองและเศรษฐศาสตร์ (P.P.E.-PHILOSOPHY POLITICAL AND ECONOMICS) ซึ่งในเมืองไทยก็มี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่จบวิชานี้มาเหมือนกัน

จากนั้นเข้าเรียนต่อปริญญาโทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยจอร์ชทาวน์-ที่วอชิงตัน ดี.ซี. ก่อนจะกลับมาเมืองไทย

ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ เป็นนักรัฐศาสตร์ที่มีความสามารถอย่างมากอีกคนหนึ่ง เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ซึ่งกล้าแสดงทัศนะต่อความเป็นไปของบ้านเมือง เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติขึ้นจากการชักชวนของ ดร. กุสุมา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

ด้วยความเชื่อที่ว่าปัญหาความมั่นคงของชาติ ไม่ใช่เป็นเรื่องของนักการเมืองหรือนักการทหารเท่านั้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันฯ ดังกล่าว ก็ผลักดันให้มีกิจกรรมต่าง ๆ สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นอภิปราย สัมมนา การพูดคุยถึงปัญหาการเมือง การปกครอง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นอกจากแสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างจริงจังยิ่ง เมื่อครั้งเหตุการณ์บ้านร่มเกล้าที่เพิ่งผ่านมาไม่นานนั้นแล้ว ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ยังเป็นที่รู้จัก และเชื่อถือในฝีมืออย่างมากเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศอีกด้วย

"อาจารย์มีความสามารถเกี่ยวกับเรื่องของปัญหาอินโดจีนเป็นเวลานาน คงบอกว่าเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยไม่ได้ แต่เป็นอันดับหนึ่งของโลกเลยทีเดียว" อาจารย์คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ คนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการฯ"

ที่ว่าเช่นนั้นก็เพราะว่า ในการประชุม WILLIAMSBURG ที่มีทั้งคนสำคัญอย่างไซรัส วานซ์ อดีต รมต. ต่างประเทศสหรัฐฯ อดีตนายกรัฐมนตรีเกาหลี ผู้นำระดับโลกคนอื่น ๆ อีกหลายคนนั้น ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ ที่เพิ่งมีอายุไม่ถึงสี่สิบปีดีคนนี้ก็เป็นผู้ถูกเชิญเข้าร่วมการประชุมอย่างสม่ำเสมอ

"เขายกย่องว่าเรื่องกัมพูชานี่ต้องฟังสุขุมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นปักกิ่ง ลอนดอน สถาบันยุทธศาสตร์ทั้งหลาย โคลัมเบีย ปรินสตัน เบิร์กเล่ย์ แม้แต่สถานทูตในหลายประเทศ ก็ต้องฟังว่านายนี่ว่าอย่างไร" อาจารย์ท่านเดิมกล่าวเสริม

นักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่า สุขุมพันธ์เป็นนักวิชาการที่นำเอาท่าทีที่ผ่านมาของผู้นำทางทหารของไทยมาวิพากษ์วิจารณ์บทบาทที่แสดงออกต่อปัญหากัมพูชาได้อย่างถึงแก่น

"ท่านแสดงความเห็นของท่านออกมากับเอกสารของสถาบันความมั่นคงนานาชาติที่ท่านเป็นผู้อำนวยการอยู่บ่อยครั้ง ท่านมองว่าปัญหากัมพูชาไม่เพียงแต่ถูกใช้เพื่อการขยายบทบาทของทหารในลักษณะกลุ่มเท่านั้น แต่ยังเป็นการเสริมฐานอำนาจของทหารบางคนให้เหนือกว่าผู้อื่น ทำให้ผู้นำทหารเหล่านั้นมองว่าในฐานะของไทยแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่รีบร้อนที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งกัมพูชา และอันที่จริงกับบางคนเป็นการดีที่จะทำให้ปัญหานี้ยืดเยื้อด้วยซ้ำ"

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาสุขุมพันธ์เดินทางไปลาวหลายครั้ง ซึ่งก็คงไม่ได้นอกเหนือไปจากงานในฐานะที่ปรึกษาคนสำคัญที่จะดำเนินนโยบายระหว่างประเทศให้สำเร็จลุล่วงไปได้อย่างที่ตนเองคาดหวัง

ที่ปรึกษาอีกสี่คนนั้นเราพอจะเรียกว่าเป็นคู่หู "อุตสาหกรรม" และ "กฎหมาย" ที่สำคัญที่สุดของนายกฯ ก็ว่าได้

ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี นักเรียนทุนโคลัมโบจากประเทศไทย จบปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ จากยูนิเวอร์ซิตี้ออฟเวสเทิร์น ออสเตรเลีย ปริญญาโทและเอกจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ มลรัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา

มาเป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ธรรมศาสตร์ และเป็นคณบดีคณะนี้อยู่สองปี ก่อนเข้าทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันพัฒนาแห่งเอเชีย และแปซิฟิค สหประชาชาติ เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทจัดการอุตสาหกรรม เป็นผู้จัดการทั่วไป (ด้านพัฒนาธุรกิจ) บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และตำแหน่งอื่น ๆ ทั้งทางราชการและเอกชนอีกมาก

ส่วน ดร. ชวนชัย อัชนันท์ อายุ 40 ปี เป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบปริญญาตรีและโททางเศรษฐกิจระหว่างประเทศจากอังกฤษ ปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา เป็นที่ปรึกษาด้านการค้าระหว่างประเทศให้กับเอสแคป ที่ปรึกษาบริษัทผู้ผลิตอาหารทะเลสำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุด "ยูนิคอร์ด" เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีหลายคน ร่วมงานค้นคว้าวิจัยด้านการค้าระหว่างประเทศ และการพัฒนาอุตสาหกรรมกับณรงค์ชัยหลายเรื่องด้วยกัน

ณรงค์ชัยเป็นนักเศรษฐศาสตร์ไม่กี่คนในประเทศที่มีความสามารถทางด้านอุตสาหกรรม เขาเคยเป็นผู้ร่วมสัมมนาในการประชุมสมัชชาวิชาการของรัฐบาล พิจารณาปัญหาและกระบวนการวางแผนของชาติ โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมที่เขาจับอยู่

"ณรงค์ชัยมองว่าการวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่ผ่านมาของประเทศ ส่วนใหญ่เกิดจากการกำหนดแนวความคิดของผู้ที่มีหน้าที่ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าที่จะเป็นแผนพัฒนาอุตสาหกรรม ดังนั้น อุตสาหกรรมในประเทศไทยจึงเป็นวิวัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงทางการตลาด ทั้งในและนอกประเทศ และการกำหนดมาตรการโดยหน่วยงานเฉพาะกิจ ซึ่งกำหนดขึ้นตามจุดประสงค์ของหน่วยงานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งนั่นก็คือ มันไม่ใช่แผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่แท้จริง" นักอุตสาหกรรมท่านหนึ่งเล่า

ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากบทบาทของณรงค์ชัย ที่มีต่อการวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ด้วยการแสดงความคิดเห็นการเข้าร่วมสัมมนาในฐานะนักวิชาการคนสำคัญ ตลอดเวลาสองสามปีที่ผ่านมา

ชวนชัยเป็นนักวิชาการอีกผู้หนึ่ง ที่เข้าร่วมการวางแผนศึกษาความเหมาะสมทางตลาดและเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมในโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาพตะวันออก ร่วมวิเคราะห์การค้าและนโยบายการค้าของประเทศไทยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาได้อย่างถึงแก่น

ความคิดที่นำเสนอต่อสาธารณชนที่ได้รับการยอมรับอย่างมากของชวนชัย คือเขาเป็นสุดยอดฝีมือที่ศึกษาเรื่องสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (G.S.P. (GENERALIZED SYSTEM OF PREFERENCES)) ได้อย่างทะลุปรุโปร่งที่สุดคนหนึ่ง

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การนำเสนอปัญหาที่เกี่ยวเนื่องจาก จี.เอส.พี. ที่ผู้บริหารระดับสูงในประเทศไทยวิ่งเต้นกันจนฝุ่นตลบ โดยการโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนในประเทศเชื่อว่าหากสหรัฐฯ ยกเลิก จี.เอส.พี. ที่ให้กับประเทศไทยแล้ว การค้าของประเทศไทยจะต้องประสบความเสียหายอย่างหนัก

แต่ชวนชัยมองปัญหาที่ว่านี้อย่างละเอียดรอบคอบ เขาไม่ได้มองว่าเป็นผลมาจากสหรัฐฯ ทั้งหมด และยังชี้แนะไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะความรับรู้ที่แท้จริงของคนไทยกับเรื่อง จี.เอส.พี.

ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้รัฐฯ ให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้ส่งออกชาวไทย เน้นถึงปัญหาที่ผู้ส่งออกไม่เข้าใจระบบ จี.เอส.พี. เป็นอย่างดี ปัญหาของการที่ผู้ให้สิทธิพิเศษเปลี่ยนแปลงข่าวสารข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นวิธีการปฏิบัติปกติของประเทศพัฒนาแล้ว ที่การออกกฎหมายใด ๆ ก็ตามจะเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

นั่นคือระดับหนึ่งแล้ว ชวนชัยกำลัง "พยายาม" บอกผู้ส่งออกชาวไทย รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนให้คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นที่ตั้ง

เพราะการให้ จี.เอส.พี. มีพื้นฐานที่สำคัญอยู่สองด้าน ด้านหนึ่ง ประเทศที่นำเข้านั้นจะได้รับผลประโยชน์อันเกิดจากการสร้างการค้า ทำให้ประเทศนั่น ๆ เพิ่มสวัสดิการสังคมให้แก่ผู้บริโภคและออมทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตที่มีในประเทศ

ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการช่วยประเทศด้อยพัฒนาในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไปด้วยในตัว แต่กับประเทศไทยแล้ว เราควรมอง "ตัวเอง" มากขึ้น มองความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน พร้อมกับการปรับปรุงการติดตามข่าวสาร ศึกษากฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องมากกว่าที่เคยเป็นอยู่

นอกจากนั้น ณรงค์ชัย กับชวนชัยยังมีจุดเด่นประจำตัวอีกคนละอย่าง "ถ้าพูดถึงนักเศรษฐศาสตร์ของประเทศไทย ที่ต่างประเทศรู้จัก ไปร่วมสัมมนาบ่อย สำหรับประเทศในแถบอาเซียนแปซิฟิค หรือสหรัฐอเมริกาแล้ว ณรงค์ชัยเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีสายสัมพันธ์กับต่างประเทศมากเป็นอันดับหนึ่ง…"

ส่วนชวนชัยการที่เขาเป็นที่ปรึกษาของบริษัทการค้ามากมาย ทำให้เขาได้รับข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รวดเร็ว บวกกับการเป็นลูกหลานของตระกูลธุรกิจที่มีชื่อของเมืองไทยตระกูลหนึ่ง ทำให้เขาใช้ประโยชน์นี้กับงานที่ปรึกษาได้มาก" นักวิชาการท่านหนึ่งวิเคราะห์

แต่ที่ปรึกษาชุดนี้คงไม่มีความสมบูรณ์อย่างที่สุด ถ้าหากขาดคู่หู "กฎหมาย" ที่เรากำลังจะกล่าวถึง

ดร. สุรเกียรติ เสถียรไทย อายุ 35 ปี จบปริญญาตรีและโทจากด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากโรงเรียนกฎหมายและการทูตเฟลชเชอร์ ปริญญาเอกจากฮาร์วาร์ด ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เชี่ยวชาญกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ ว่ากันว่ามีความสัมพันธ์กับคนระดับสูง (สูงมาก ๆ)

ส่วน ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อายุ 36 ปี ปริญญาตรีเกียรตินิยมจากนิติศาสตร์ จุฬาฯ ปริญญาเอกกฎหมายมหาชนเกียรตินิยมดีมากจากมหาวิทยาลัยปารีส แม่นยำอย่างมากในด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายสาธารณะ

คงไม่ปฏิเสธว่า นโยบายแปรสนามรบให้เป็นสนามการค้านั้น สิ่งสำคัญคือ การได้รับข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วแม่นยำ การดำเนินการด้านการทูตที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปก็จริง แต่สิ่งสำคัญอย่างยิ่งอีกประการหนึ่งที่มิอาจมองข้ามไปได้ก็คือความสำคัญของกฎหมายที่จะปรับใช้ หรือตราขึ้นใหม่เพื่อรองรับกับสถานการณ์ดังกล่าว

การปรับกฎหมายของไทย ให้เหมาะสมสามารถใช้ได้กับประเทศในกลุ่มอินโดจีน อาจยังเป็นภาพที่เห็นได้ไม่ชัดนักในเวลานี้ ขณะที่ยังมีปัญหากัมพูชาคาราคาซังเป็นที่ถกเถียงกันของหลายฝ่ายอยู่

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกีดกันทางการค้าที่สหรัฐฯ มีต่อประเทศไทยในห้วงเวลาสองสามปีที่ผ่านมาคงเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความสำคัญของการศึกษาข้อจำกัด และปรับปรุงกฎหมายของไทยเราให้เหมาะสม เพื่อจะให้มีผลทางปฏิบัติได้ทันที และไม่มีปัญหาเหมือนที่ผ่านมา ทำให้เราไม่อาจละเลยที่ปรึกษาทั้งสองคนนี้ไปได้

สุรเกียรติ ได้เคยศึกษาปัญหาลิขสิทธิ์และนำเสนอความคิดของที่เป็นข้อคิดและทางออกของประเทศไทยในอีกด้านหนึ่ง

ซึ่งความคิดเหล่านี้แตกต่างไปจากความคิดของผู้รับผิดชอบในการบริหารประเทศในช่วงนั้นอยู่บ้าง เพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ได้รับภายใต้กฎหมายสหรัฐฯ หรือไม่

แต่บทความหรือการนำเสนอแนวความคิดที่สำคัญ ที่พอจะบอกถึง "ศักยภาพ" ทางความคิดของนักกฎหมายทั้งสองคนนี้อยู่ที่การศึกษาเรื่องกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศที่ทำให้พอจะทำให้หลายคน "ตาสว่าง" และเห็นพ้องต้องกับการศึกษาที่ทั้งสองคนได้ทำไว้ร่วมกัน

ซึ่งในระดับหนึ่งนั่นแสดงถึงความคิดที่แตกต่างจากนักวิชาการคนอื่น ๆ ที่เคยศึกษา หรือได้เคยศึกษาปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ

"อาจารย์ทั้งสองท่านยอมรับว่ากฎหมายเท่าที่ผ่านมามักจะไม่วางอยู่บนข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจ" นักวิชาการอีกท่านหนึ่งแสดงความเห็น

เพราะในอดีต นักกฎหมายมักจะอ้างว่าสิ่งที่นักเศรษฐศษสตร์ต้องการทำไม่ได้ในการร่างกฎหมาย เพราะขัดกับเทคนิคการร่างกฎหมาย หรือนักกฎหมายมักเคยชินกับกฎหมายบางฉบับที่เป็นแม่แบบ

นักเศรษฐศาสตร์ก็มีข้อถกเถียงไม่สามารถสรุปสิ่งที่ตนเองคิดมาเป็นแนวทางเดียวกันได้

อีกประการหนึ่งก็คือ การเมืองใช้กฎหมายเพื่อสนองความต้องการหรือนโยบายบางประการของนักการเมืองมาโดยตลอด

นอกจากนี้แล้ว ในงานศึกษากฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศที่กล่าวมานั้น ทั้งสุรเกียรติและบวรศักดิ์ได้นำเสนอรูปลักษณะโครงสร้างและกลไกของกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศในช่วงห้าปีข้างหน้าที่ "ผู้จัดการ" พบว่าน่าสนใจอย่างมากไว้ด้วย

พวกเขามองว่าท่ามกลางบรรยากาศการค้าระหว่างประเทศที่ต้องเต็มไปด้วยการแข่งขันอย่างมากขึ้น ๆ ทุกขณะ กฎหมายไทยต้องมีทั้งความแน่นอนและยืดหยุ่นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

จากการศึกษาของทั้งสองพบว่า สำหรับพ่อค้าหรือผู้ส่งออกแล้ว การยืดหยุ่นของการใช้กฎหมายเท่าที่ผ่านมา มีบ่อยครั้งที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจเจ้าพนักงานเพียงอย่างเดียว ทำให้เกิดความเสี่ยง และบางครั้งเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็น

เขาได้นำเสนอให้โครงสร้างกฎหมายในอนาคต น่าจะได้มีการระบุว่าในสภาพการณ์ใด ข้อบังคับใดจะบังคับใช้ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะการใด ข้อบังคับดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ให้เหมาะสมกับสถานการณ์

ทำให้เกิดสภาพการณ์นั้น ๆ ขึ้น ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการจะทราบโดยอัตโนมัติว่าจะเอาเกณฑ์อย่างไรมาใช้บังคับ (AUTOMATIC APPLICATION)

เพราะว่าถ้าสิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ในกฎหมาย ความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นก็จะเป็นเรื่องที่ตัวผู้ประกอบการต้องเสี่ยงเอง แต่ไม่ได้เกิดจากความไม่แน่นอนของดุลยพินิจของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

รวมทั้งยังนำเสนอความคิดเห็นอีกหลายด้าน เช่น การให้ประชาชนหรือผู้เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการตรากฎหมายมากขึ้น ต้องมีระบบข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกฎหมายต่างประเทศที่ดี เป็นระบบพร้อมมูลและทันต่อเหตุการณ์เพื่อจะได้มีเวลาเตรียมตัวในการศึกษาวิเคราะห์ วางนโยบายการต่อสู้ ตั้งรับ หรือเตรียมการล็อบบี้ที่มีประสิทธิภาพหากจำเป็น

แนวความคิดเหล่านี้นับเป็นแนวความคิดใหม่ ซึ่งแสดงถึงความลึกซึ้งของการมองและวิเคราะห์ปัญหา ความคิดที่ "เปิดกว้าง" อย่างมากทั้งสองคน ทำให้แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าที่ปรึกษาชุดนี้มีความสามารถจริง และจะไม่ยิ่งหย่อนกว่าชุดใด ๆ เท่าที่เคยมีมาในอดีต ปัจจุบันและอนาคตอีกด้วย

นักวิเคราะห์เหตุการณ์ทางการเมืองท่านหนึ่งให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่าที่ปรึกษาทั้งหกมีความเหมือนและความแตกต่างจากที่ปรึกษาในยุคสมัยที่ผ่านมาหลายประการด้วยกัน

สิ่งที่ไม่น่าจะแตกต่างกันมากนักในความรู้สึก และสายตาของคนที่ใกล้ชิดที่ปรึกษาทั้งหกมาโดยตลอด น่าจะอยู่ที่ความสามารถ เพราะที่ปรึกษาทั้งหกต่างมีความสามารถในการเรียนอยู่ในระดับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง มีความฉลาดหลักแหลม มีไหวพริบ ปฏิภาณ มีความสามารถเฉพาะตัวสูงมากทุกคน

สิ่งที่ควรให้ความสนใจอย่างมาก และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พวกเขาเป็น "แคนดิเดท" ที่ถูกคัดเลือกเข้ามาเป็นที่ปรึกษาคือเรื่อง "จุดยืน"

"ที่ปรึกษาชุดนี้ส่วนใหญ่มีจุดยืนคัดค้านกระแสหลักค่อนข้างชัดเจน เช่น คัดค้านกระแสหลักเรื่อง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ นโยบายต่างประเทศ ซึ่งชัดเจนกว่าชุดเก่า ๆ พวกเขามีความเห็นอย่างไร" นักวิเคราะห์คนเดิมกล่าว

อีกประการหนึ่งคือ ทีมที่ปรึกษานี้มีความสัมพันธ์กับคนในระบบราชการน้อยกว่าชุดเก่า ความสัมพันธ์ยังไม่สูงขึ้นไปถึงระดับผู้อำนวยการกองหรือเป็นรองอธิบดี ในส่วนนี้ทำให้มีอิสระในการทำงาน โดยไม่ถูกผูกมัดจากเงื่อนไขต่าง ๆ เต็มที่ ซึ่งการไม่มีความสัมพันธ์ที่ว่านี้ก็ไม่ได้ทำให้มีปัญหา โดยเฉพาะที่ปรึกษาบางคน เช่น พันศักดิ์ ณรงค์ชัย มีความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ซึ่งสามารถหาข้อมูลจากแหล่งเหล่านั้นสูงมาก

ความแตกต่างที่คนทั่วไปอาจเห็นไม่ชัดนักกับการทำงานของที่ปรึกษาทั้งหกของนายกฯ ชาติชายนี้ มีอย่างน้อยที่สุดสองประการ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็น "มิติใหม่" ของการทำงานของคณะที่ปรึกษาก็ว่าได้ คือ…

ในสองสามเดือนที่ผ่านมา ใน "บ้านพิษณุโลก" ได้มีการนำเอาเครื่องคอมพิวเตอร์ประมาณ 10 เครื่อง มาจัดตั้งระบบข้อมูลที่พันศักดิ์เคยพูดกับคนใกล้ชิดอยู่เสมอที่เขาเรียกมันว่า C.A.P. (CENTER OF ALTERNATIVE POLICY) เป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดความสำคัญของการใช้เครือข่าย (Networking) ของแต่ละบุคคลลง

ซึ่งรายงานข่าวที่ไม่ได้รับการยืนยันกล่าวว่ามีการออนไลน์ เข้าไปรับข้อมูลจากหน่วยงานราชการที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทยไปบ้างแล้ว เป็นต้น

"ที่ว่าเป็นมิติใหม่คือ การใช้คอมพิวเตอร์ รวมทั้งเมื่อก่อนนี้ที่ปรึกษาชุดก่อน ๆ จะให้ความสำคัญจากข้อมูลที่มาจากสภาพัฒน์ฯ เพราะมีนักวิชาการ นักวิจัยอยู่เยอะทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว แต่เนื่องจากต้องการให้สภาพัฒน์ฯ อยู่ในบทบาทที่อยู่ในกรอบที่ควรจะเป็น คราวนี้เรากำลังจะเห็นพวกเขา (ที่ปรึกษาทั้งหก) กำลัง "เล่น" กับแหล่งข้อมูลตัวใหม่ ซึ่งเราก็ทราบอยู่แล้วว่าแบงก์ชาติเต็มไปด้วยมันสมอง มีนักเรียนทุนเยอะ ความสมบูรณ์ของข้อมูลไม่ได้แตกต่างกันเลย" อดีตที่ปรึกษาชุดก่อนให้ข้อสังเกต

ขณะเดียวกัน ที่ปรึกษาชุดนี้ยังมีไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ที่หลายคนบอกว่าเขาเป็นที่ปรึกษา "คนที่เจ็ด" หรือที่ปรึกษาเงาและอาจละเลยความสำคัญของเขาไป แต่ไกรศักดิ์นี่แหละที่เป็นผู้ทำให้ข่าวสาร ข้อมูลที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาแต่ละเรื่องมีความสมบูรณ์มากขึ้น

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขาใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศยี่สิบกว่าปี ย้ายจากที่นี่ไปที่โน่นไปประเทศโน้นทีประเทศนี้ที

ไกรศักดิ์จบไฮสคูลจากอเมริกันคอลเลจที่กรุงปารีส หลังจากนั้นครอบครัวของเขาย้ายไปอยู่ที่วอชิงตัน ดีซี

ที่นี่เขาศึกษาต่อปริญญาตรีสาขาประวัติศาสตร์จนจบจากมหาวิทยาลัยจอร์ชวอชิงตัน ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยลอนดอน จนได้รับปริญญาโท (M.A.IN ORIENTAL AND AFRICAN STUDIES) และเป็น P.HD CANDIDATE ด้วย

คนใกล้ชิดกับไกรศักดิ์คนหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า เมื่อครั้งที่ติดตามพลตรีชาติชายไปอยู่อเมริกา หรืออังกฤษนั้น เขายังไม่มีความคิดที่เรียกว่า "หัวก้าวหน้า" แต่อย่างใด

สภาพของไกรศักดิ์ไม่ได้แตกต่างจากลูกผู้ดีมีสตางค์ทั้งหลาย คือเป็นเด็กที่เราเรียกกันว่า "สปอยล์" ถ้าเป็นผู้ชายก็ชอบเที่ยวเตร่เฮฮา ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ต้องแต่งงานใหม่หลายครั้ง

ความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของไกรศักดิ์มาจากภรรยาคนแรกที่เป็นชาวเกาหลี เป็นลูกสาวของนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงคนสำคัญของเกาหลี ที่สนใจปัญหาการเมืองอย่างมาก

ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ไกรศักดิ์เรียนอยู่ที่อังกฤษ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าในยุโรปนั้นมีสิทธิเสรีภาพในการทำกิจกรรมการประท้วง การประชุมอย่างเต็มที่ ด้วยความเป็นหนุ่มคึกคะนองต้องการตามจีบสาวที่ตนเองหมายปอง ทั้ง ๆ ที่ไกรศักดิ์ไม่เคยสนใจเรื่องเหล่านี้ ก็พาตัวเองเข้าไปร่วมด้วย ด้วยความงุนงงว่าเราไปทำอะไร จากนั้นก็เริ่มสนใจการเมือง อ่านหนังสือคลาสสิกของสำนักมาร์กซิส

ไกรศักดิ์มีความรู้มาก ๆ อย่างเป็นระบบในปรัชญาลัทธิมาร์ก หลังจากที่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยลอนดอน เป็นชาวอังกฤษ โอมัลคอล์ม คลาดเวลล์ ซึ่งสนใจปัญหากัมพูชาและตายในกัมพูชาเนื่องจากถูกยิง ซึ่งเป็นจุดหนึ่งทางวิชาการที่หล่อหลอมไกรศักดิ์ให้สนใจมาร์กซิสมาก

"ไกรศักดิ์ทำ PH.D. DISSERTATION ด้วยทฤษฎีมาร์กซิส ภายใต้การให้คำปรึกษาดูแลอย่างใกล้ชิดจากศาสตราจารย์มัลคอล์ม คลาดเวลด์ แต่ไม่เสร็จเนื่องจากการตายของคลาดเวลด์

ความสนใจของไกรศักดิ์ ปรัชญาต่อลัทธิมาร์กลึกซึ้ง และยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ดูได้จากเมื่อครั้งเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ยามที่ออกจากป่าใหม่ ๆ ถึงกับบอกเพื่อนคนสนิทว่า อยากพบมาร์กซิสไทยคนหนึ่งที่ชื่อ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อยากรู้ว่าเป็นใคร?

นอกจากจะเป็นอาจารย์แล้ว ไกรศักดิ์ยังเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยมูลนิธิอารมย์ พงศ์พงัน ตำแหน่งที่ว่านี้ทำให้เขามีส่วนเกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงานโดยการจัดสัมมนาการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ เป็นผู้ที่ป้อนข้อมูลตัวเลขให้กับกรรมกร เพื่อที่จะใช้เป็นประโยชน์ในการต่อรองกับฝ่ายนายจ้าง นอกจากนี้ยังเป็นประธานของกลุ่มประสานงานเพื่อการพัฒนาของจังหวัดบุรีรัมย์ตั้งแต่ปี 2524

"ด้วยเหตุนี้จากทั้งสองสถานะ ทำให้ไกรศักดิ์รับข่าวสารมากเกือบทุกวัน และเป็นการรับข้อมูลข่าวสารจากประชาชนผู้เดือดร้อนด้วย" คนที่รู้จักไกรศักดิ์ดีให้ทรรศนะ

ข่าวสารที่ได้รับมานี้มี "นัยสำคัญ" คือ เมื่อนำไปรวมกับข้อมูลที่ได้มาจากภาครัฐหรือภาคเอกชนตามวิธีแรก (ใช้เทคโนโลยี, เครือข่ายต่าง ๆ) ทำให้ข้อมูลข่าวสารที่ได้มีหลายมิติ มากกว่าชุดเก่า ๆ ที่ได้จากเทคโนแครท นักวิชาการแต่ไม่เคยได้จากประชาชน

การสยบคลื่นประท้วงของแรงงานกรณี จี. เอส. สตีล เป็นตัวอย่างหนึ่งที่พิสูจน์งานข้อมูลของที่ปรึกษาชุดนี้

ความสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ที่ปรึกษาทั้งหกนี้ หากมองดูอย่างผิวเผินอาจคิดว่าพวกนี้ไม่มีคนที่จะสนับสนุนอย่างจริงจัง มีกำลังอำนาจ มีเครือข่ายที่จะให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เพียงพอ

แต่ผู้ที่ใกล้ชิดที่ปรึกษาทั้งหกเป็นอย่างดีบอกว่า ที่ปรึกษาชุดนี้มีพันธมิตร มีเพื่อนฝูงมากมายที่สามารถขอคำแนะนำ หรือสอบถามเรื่องราว ข่าวสารต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำและถูกต้องอย่างยิ่งด้วย

"เขาอาจจะไม่ไปมาหาสู่กัน แต่สามารถยกหูโทรศัพท์ถาม "เฮ้ย…เรื่องนี้เป็นยังไงกันวะ" แล้วพวกนี้จะเป็นพวกไม่แคร์ต่ออำนาจ มึงจะเอาหรือไม่ จะเชื่อหรือไม่เชื่อ เรื่องของมึง พวกนี้มีอยู่เยอะ" คนใกล้ชิดที่ปรึกษาทั้งหกบอก

นั่นทำให้เราเห็นความจริงอีกข้อหนึ่งว่า เมื่อ "เงื่อนไข" ของเวลาแตกต่างกัน องค์ประกอบที่กำหนดบางสิ่งบางอย่างสมัยเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เราต้องหันมาดูความจริงกันมากขึ้น

และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราต้องมี ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ ซึ่งเป็นคนที่สนใจเรื่องรัฐศาสตร์การค้าระหว่างประเทศมาตลอด แล้วก็มีตรรกถึงแม้จะไม่มีข้อมูลเท่าไหร่เพราะถูกกีดกัน ที่มีความคิดใหม่ ๆ ที่ว่าปัญหากัมพูชา เราจะแก้ไขอย่างไรดี ไม่ใช่เป็นเหมือนนักรัฐศาสตร์รุ่นเก่า ที่พูดแต่เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองควรมีวินัย แต่พูดอยู่ยี่สิบกว่าปีไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ต้องมีคนอย่าง ดร. สุรเกียรติ ที่ไปเรียนกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ ปัญหาของประเทศที่เริ่มชัดเจนมากขึ้น หมดสมัยไปแล้วที่จะไปพูดเรื่องปัญหาลัทธิ ปัญหาคอมมิวนิสต์ ปัญหารัฐธรรมนูญ ที่ไม่มีใครสนใจเพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว

มีคนอย่างพันศักดิ์ เป็น INFORMATION TECHNOLOGIST รู้ว่าที่นั่นเกิดอะไร ที่นี่เป็นอย่างไร?

มีคนอย่าง ดร. บวรศักดิ์ ที่รู้เรื่องกฎหมายกับการพัฒนา กฎหมายปกครองไม่ใช่กฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่สามารถเชื่อมโยงได้ว่า ในระบบราชการไทยควรใช้กฎหมายแก้ไขอย่างไร? และกฎหมายควรจะแก้ไขอย่างไรให้ทันต่อการพัฒนาของสังคม

มีคนอย่าง ดร. ณรงค์ชัย ที่รู้เรื่องอุตสาหกรรมดี เพราะ ดร. ณรงค์ชัย มีผลงานวิจัยทางอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ

มีคนอย่าง ดร. ชวนชัย รู้เรื่อง จี.เอส.พี. อย่างดี รู้เรื่องการค้ากับญี่ปุ่นกับเกาหลีดี มีคอนเนคชันมากมาย เป็นที่ปรึกษาของบริษัทการค้าหลายแห่ง

"ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป ลักษณะที่ปรึกษาก็เปลี่ยนไปด้วย…ต้องหนุ่ม…เพราะความรู้ไม่ได้ขึ้นกับอายุอีกต่อไปแล้ว ถ้าคุณมีคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งคุณติดต่อได้ทั่วโลก เด็กอายุ 18 สิบแปดอาจฉลาดกว่าคนอายุหกสิบ เพราะฉะนั้นประสบการณ์ที่สั่งสมมา ถ้าไม่ยอมติดตามข่าวสารเหล่านี้มันก็จะสิ้นสภาพไปเป็นส่วนใหญ่" นักวิชาการท่านนั้นสรุป

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในห้วงระยะเวลากว่าแปดปีรัฐบาลที่มีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีนำเอาความเคยชินประการหนึ่งมาสู่กลุ่มคนบางกลุ่มของประเทศ ด้วยความรู้สึกที่ว่าประเทศไทย มีผู้มีความสามารถที่จะบริหารประเทศอย่างแท้จริงอยู่เพียงไม่กี่คน

และบ่อยครั้งที่เราได้ยินคำกล่าวถากถางซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากสื่อมวลชนบ้าง นิสิตนักศึกษาบ้าง นักวิชาการต่าง ๆ ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้น เมื่อประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งขึ้นมา ก็สามารถถอดถอนเสียเมื่อไหร่ก็ได้

เรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือเมื่อ "ทูน" ขึ้นมาได้ ก็จะ "ถีบ" ส่งกลับไปเมื่อไรก็ได้

ทั้ง ๆ ที่หลายฝ่ายพยายามพร่ำเพรียกเรียกร้องหา "ประชาธิปไตย" เต็มใบกันมานานแสนนานก็ตาม

รวมไปถึงปัญหาในอนาคตของทีมที่ปรึกษาทีมนี้ที่ดูจะระอุกรุ่นด้วยความขัดแย้งอยู่ไม่น้อย ความหนักหนาสาหัสที่มีประกายความขัดแย้งปรากฏชัดขึ้นในหลายเรื่องก็เกิดจากเรื่องที่ทีมที่ปรึกษาไม่เห็นด้วยกับพรรคร่วมรัฐบาล

ทีมที่ปรึกษาได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการค้าระหว่างประเทศ (ทีทีอาร์) รวมถึงคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

แต่พรรคร่วมรัฐบาล โดยมี พล.อ.อ. สิทธิเศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไม่เห็นด้วย และปรึกษาหารือนายพงส์ สารสิน รองนายกฯ ให้ศึกษาเรื่องการตั้งคณะกรรมการดังกล่าว และกลับขอตั้งคณะกรรมการนโยบายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) แทน

เรื่องเกี่ยวกับนโยบายการค้ากับอินโดจีนที่นายกฯ พูดให้ได้ยินโดยทั่วกันว่า มีความพยายามที่จะเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า แต่เกิดการแปลความหมายไปในทางที่แตกต่างกัน

โดยคณะที่ปรึกษาเห็นด้วยที่จะแยกการค้ากับการเมืองออกจากกัน แต่กระทรวงการต่างประเทศที่มีพลเอกสิทธิเป็นหัวเรือใหญ่ไม่เห็นด้วย แหล่งข่าวจากหลายกระแสกล่าวว่า พลเอกสิทธิเติบโตมาจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จึงไม่ต้องการร่วมมือร่วมค้ากับเวียดนามที่เป็นผู้ก่อการร้ายตัวใหญ่

แต่ไม่ว่าอย่างไร รัฐบาลที่มีพลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ที่มาจากการเลือกตั้งคนนี้เป็นหัวหน้ารัฐบาลอยู่ ก็ยังคงต้องประสานผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป

โดยตั้งอยู่บนจุดที่ว่า เรื่องราวต่าง ๆ ที่พรรคร่วมรัฐบาลขอมา หรือผลักดันให้เกิดการยอมรับหรืออนุมัตินั้นต้องไม่กระทบกระเทือนต่อความเป็นอิสระในการทำงานของส่วนรวม อะไรที่ยอมกันได้ อะไรที่ให้กันได้ก็ให้กันไป

หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ให้ผลประโยชน์ ให้เงิน ให้ตำแหน่ง ให้อะไรที่สามารถให้ได้ก็ให้ไป เพื่อทำอย่างที่มีคุณค่าต่อประชาชน คนในชาติมากกว่า

นับจากวินาทีที่พวกเขาทั้งหกรับหน้าที่ที่ปรึกษานายกฯ นั้นค่อนข้างจะหนักหน่วงไม่น้อย ที่ต้องแบกรับภาระการนำเสนอนโยบายการบริหารประเทศในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เพิ่งได้รับการ "ปลดปล่อยทางความคิด" หลังจากจมอยู่กับระบอบการปกครองแบบกึ่งประชาธิปไตยมานานปี

อาจจะกล่าวได้ว่า การตัดสินใจเชิงนโยบายของนายกฯ ชาติชายในระยะสองสามเดือนที่ผ่านมามีหลายเรื่องที่ให้ความไว้วางใจ "ความเห็น" ที่ได้รับการนำเสนอจากคณะที่ปรึกษาอย่างมาก

เช่น การผ่านระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีฉบับแก้ไขใหม่ ซึ่งเท่ากับเป็นระเบียบฉบับใหม่ที่จะปฏิวัติระบบราชการไทย (อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ได้ใน "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ฉบับวันที่ 24-30 ตุลาคม 2531) ซึ่งก็เป็นผลมาจากการผลักดันของคณะที่ปรึกษาชุดนี้

ตัวอย่างเห็นได้ชัดของความมี "ประสิทธิภาพ" ของระเบียบดังกล่าวก็จากเรื่องการให้การบินไทยนำข้อมูลการขอตั้งระบบ "อบาคัส" ไปศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะเรื่องที่ส่งมาไม่ละเอียดพอและไม่ได้แตกต่างจากความเคยชินที่ข้าราชการไทยคิดว่าสามารถ "ตั้งแท่น" ให้ ครม. เซ็นอนุมัติเรื่องราวต่าง ๆ ได้ง่าย ๆ

ทุกวันนี้ เราจะพบพันศักดิ์ วิญญรัตน์จะออกจากบ้านที่ซอยสุขุมวิท 101 หลังเจ็ดโมงเช้าไม่มากนัก แล้วตรงดิ่งไปยัง "บ้านพิษณุโลก"

เช่นเดียวกับไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ชวนชัย อัชนันท์ และที่ปรึกษาคนอื่น ๆ ที่เมื่อเสร็จภารกิจจากงานประจำที่หลายคนเป็นอาจารย์สอนหนังสือบ้าง เป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรต่าง ๆ บ้าง

พวกเขาจะขลุกอยู่ที่บ้าน "พิษณุโลก" และมีขั้นตอนการนำเสนอเรื่องขึ้นมาอย่างเป็นระบบ โดยมีพันศักดิ์ที่เป็นประธานที่ปรึกษาคอยนำเสนอเรื่องต่าง ๆ กับนายกฯ โดยตรง ทำงานอย่างหนัก ไม่มีวันไหนที่จะกลับบ้านก่อนเที่ยงคืน บางวันถึงกับค้างที่บ้าน "พิษณุโลก" เลยก็มี

"นายกฯ ค่อนข้าง FAVOUR ทีมที่ปรึกษานี้มาก เพราะเขาทำงานจริง และที่สำคัญแน่ใจได้ว่าพวกนี้ปลอดจากผลประโยชน์จริง ๆ" คนใกล้ชิดกับคณะที่ปรึกษาบอก

แหล่งข่าวใกล้ชิดกับคณะทำงานของที่ปรึกษาทั้งหกบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าขณะนี้พวกเขากำลังศึกษาเรื่องราวที่พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นมาให้ได้อีกหลายเรื่อง…

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ปัญหาอินโดจีนที่ให้ความสนใจมาตั้งแต่ก่อนเข้าเป็นคณะที่ปรึกษา

สนใจปัญหาเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีของบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างมากมาย ว่าแท้ที่จริงแล้วประชาชนคนไทยจะได้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากการนี้อย่างไรบ้าง?

ยังมีเรื่อง "ประกันสังคม" อีกเรื่องหนึ่งที่พูดกันบ่อยมาก พยายามและอยากให้เป็นความจริงขึ้นมาให้ได้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร พันศักดิ์ วิญญรัตน์ และไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ได้ร่วมกันเปิดอภิปรายในหัวข้อ "รัฐไทย กำลังก้าวเข้าสู่ยุค?" ในการประชุมประจำปีของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ที่วังตะไคร้ จ. นครนายก

พวกเขาได้สรุปแนวทางที่น่าสนใจไว้หลายประการ เกี่ยวกับการปกครองของไทยในอนาคตว่า

"ประเทศไทยกำลังจะก้าวไปสู่ยุคการเมือง การจัดการ สิ่งที่น่าเกิดขึ้นมีสองประการ คือ การเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปอย่างรวดเร็วแต่ไม่รุนแรง สงคราม การปฏิวัติ รัฐประหาร จะมีน้อยลง ปัญหาต่าง ๆ จะแก้ไขได้ยาก เพราะมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับตัวแปรหลายตัว แต่แนวทางการแก้ไขจะไม่เป็นแบบถอนรากถอนโคน ฉับพลัน สิ่งที่ทำได้คือการจัดการการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง จัดการกับปัญหาให้เกิดผลเสียน้อยที่สุด และให้เกิดผลดีมากที่สุด ทั้งด้านการเมืองระหว่างประเทศ การเมืองภายใน เศรษฐกิจ และสังคม การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและวิทยาการของโลกมากขึ้น

อนาคตของไทยต่อไปจะอยู่ในมือนักวิชาการ ปัญญาชนเป็นผู้จัดการ การแก้ปัญหาแบบเต่าล้านปี ไม่มองอนาคต ไม่มองการณ์ไกล จัดการปัญหาแบบวันต่อวันหมดยุคแล้ว อย่างไรก็ตามจะให้นักวิชาการ ปัญญาชนแก้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความร่วมมือกันระหว่างผู้ที่มีความคิดทางการเมืองด้วย ซึ่งไม่ใช่ข้าราชการอย่างเดียวที่มักไม่มองอะไรรอบด้าน ต่อไปคนที่อายุน้อยกว่าสี่สิบจะมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศมากขึ้น

สังคมต่อไปนี้ข้อมูล ข่าวสาร เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือของการบริหาร ปัญหาอยู่ที่ว่าจะบริหารอำนาจอย่างไร ระบบความทันสมัยต่าง ๆ กับระบบราชการจะปรับตัวอย่างไร ระบบโทรคมนาคมที่รัฐลงทุนดำเนินการต่าง ๆ ไปนั้น จะเกิดประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่อย่างไร?"

ความเห็นเหล่านี้อย่างน้อยก็พอจะสะท้อนให้เห็นถึงแนวความคิดของพวกเขาได้หลายอย่าง

พวกเขาทั้งหมดมีความเชื่อมั่นในการบริหารสมัยใหม่ เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ความเจริญก้าวหน้าใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับประเทศไทยนั้น จะมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้เป็นไปตามแนวทางที่พวกเขาได้นำเสนอไว้ ไม่แตกต่างจากความเจริญเติบโตและก้าวหน้าที่เกิดขึ้นกับประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายเลยแม้แต่น้อย

ความเห็นของพวกเขาสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในระบบการบริหารของประเทศที่มีปัญหาต่าง ๆ มากมายซ่อนอยู่ โดยพยายามที่จะนำเสนอแนวทางใหม่ที่สามารถ "ยอมรับ" และ "เข้าใจ" ร่วมกันมีวิธีปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน ที่จะให้เกิดขึ้นในทุกส่วนของการบริหารงานทั้งในภาครัฐและเอกชน

และเมื่อสังคมมีความเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขต่าง ๆ รัฐจะต้องใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนั้น เพื่อสร้างประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นกับการทำงานของตนเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนในสังคมให้ได้อย่างเต็มที่

แน่นอนที่สุดไม่ว่าใครจะมองคณะที่ปรึกษาทั้งหกนี้อย่างไร พวกเขาก็ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์ ในแนวทางที่พวกเขาได้ปฏิบัติและดำเนินการอยู่มาโดยตลอดไม่เปลี่ยนแปลง แสดงถึงความมั่นคงต่อความคิดของตนเองอย่างแน่วแน่ ซึ่งหาได้ยากยิ่งในสังคม "เงื่อนไข" ต่าง ๆ มากมาย เช่นปัจจุบัน

ทุกวันนี้พวกเขาทั้งเจ็ดยังคงคร่ำเคร่งกับการทำงานร่วมกับนักวิชาการที่เป็นข้าราชการประจำสามคน เลขาฯ อีกประมาณ 7 คน กับเครื่องคอมพิวเตอร์สิบกว่าตัว และสต๊าฟที่เป็นนักศึกษาปริญญาโทอีกจำนวนหนึ่งอย่างหนัก" พวกนี้ไม่ต้องการอำนาจเป็นสิ่งตอบแทน แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดเน้น

ไม่แน่เหมือนกันนะที่ความก้าวหน้าวัฒนาถาวรที่ใครหลายคนใฝ่ฝันว่าจะเกิดขึ้นมาในชีวิตของตน จะเกิดขึ้นจากการผลักดันจากที่ปรึกษาทังหกนี้ก็เป็นได้

และคนที่จะนำเอาข้อมูล และความเห็นของที่ปรึกษาทั้ง 7 นี้ไปสู่คำสั่งทางนโยบาย ที่ก่อผลสะเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในยุคสมัยนี้ ก็เห็นจะอยู่ที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เท่านั้น!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us