Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์4 พฤษภาคม 2552
ผ่าโครงสร้างราคาน้ำมัน 'พิลึก' หวังเชือดคนไทยแบบไร้ร่องรอย             
 


   
search resources

Oil and gas




- เวรกรรมอะไรของคนไทย ทำไมหนอจึงใช้น้ำมันแพงเช่นนี้
- ผ่าโครงสร้างที่น่ากังขา ต้นเหตุน้ำมันแพงเกินความเป็นจริง
- ควานหา 'ตัวการ' ปั่นราคา ปั๊มเม็ดเงินเข้ากระเป๋าปีละกว่าหมื่นล้าน
- วิเคราะห์ราคาพลังงานในอนาคตจะขยับสูงขึ้น หรือคงที่ไปอีกนานแค่ไหน

ราคาน้ำมันดิบปี 2542 ขยับตัวอยู่แถวๆ 17.3-24.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาน้ำมันหน้าปั๊มของบ้านเราในเขตกรุงเทพและปริมณฑลถ้าเป็นไร้สารเมื่อวันที่ 1/1/1999 ยืนอยู่ที่ 10.24 บาทต่อลิตร เบนซิน 9.39 บาทต่อลิตร ดีเซล 7.39 บาทต่อลิตร ส่วนราคาจำหน่ายหน้าปั๊มสูงสุดในปีนั้นอยู่ที่ 13.89 บาทสำหรับน้ำมันไร้สาร เบนซิน 13.09 บาท และดีเซล 10.74 บาทต่อลิตร ซึ่งในปี 2542 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในระดับ 36.7-38.9 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือเฉลี่ยอยู่ในระดับ 37.95 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ผ่านไป 10 ปี วันนี้ราคาน้ำมันดิบเมื่อไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ลดลงมาอยู่ที่ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากที่เคยทำสถิติไปสูงสุดที่กว่า 147 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อเดือนกรกฏาคม 2551 ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2552 ราคาน้ำมันดิบชนิดไลท์สวีทอยู่ที่ 49.92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบชนิดเบรนท์อยู่ที่ 49.99 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาน้ำมันที่หน้าปั๊มสำหรับแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 95 อยู่ที่ 26.24 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 25.44 บาท เบนซิน ออกเทน 95 อยู่ที่ 36.64-37.64 บาท เบนซิน ออกเทน 91 อยู่ที่ 30.04 บาท และดีเซลหมุนเร็วอยู่ที่ 23.29 บาท ขณะที่ค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 อยู่ที่ 35.486 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อราคาน้ำมันในช่วงไตรมาสสุดท้ายลดลงมาต่ำถึง 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำไมราคาน้ำมันดีเซลขายน้ำมันที่หน้าปั๊มในช่วงเวลานั้น กลับมีราคาขายต่ำสุดอยู่ที่ 18.38 บาทต่อลิตร เบนซิน 91 อยู่ที่ 22. 79 บาทต่อลิตร และ เบนซิน 95 อยู่ที่ 31.39 บาทต่อลิตร ทั้งที่ในปี 2542 ที่ราคาน้ำมันดิบที่แพงที่สุดอยู่ที่ 24.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาจำหน่ายน้ำมันดีเซลอยู่แค่เพียง 10.74 บาทต่อลิตร ส่วนเบนซินไร้สารอยู่แค่ 13.89 บาทเท่านั้น

ราคาน้ำมันที่จำหน่ายที่หน้าปั๊มแพงกว่ามาก อีกทั้งไม่สะท้อนความเป็นจริงขนาดนี้ ทั้งที่ราคาน้ำมันดิบห่างกันไม่มากนัก แม้จะหักเรื่องเงินเฟ้อ ต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่น่าจะทำให้ราคาน้ำมันบ้านเราแพงได้ถึงขนาดนี้

ราคาที่เกินจริงนั้นเกิดจากอะไร และใครเป็นผู้ทำให้ราคาน้ำมันบ้านเราพิลึกพิลั่นแบบนี้

ข้อกล่าวหาที่ว่า ทำไมราคาน้ำมันกลับมาแพงอีกครั้ง และการกำหนดราคาโดยอ้างอิงราคาน้ำมันสิงคโปร์ สมเหตุสมผลหรือไม่ ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันดิบจากหลายแหล่งทั่วโลกยังทรงตัวอยู่ที่ราวๆ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือต่ำกว่า ถูกว่าราคาน้ำมันดิบในช่วง Oil Shock ที่ถีบตัวสูงถึง 147 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล กว่าครึ่ง แต่พอราคาดิบปรับตัวลดลงมาช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 อยู่ที่ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล น้ำมันเบนซิน 95 กลับทะยานใกล้ 40 บาทต่อลิตร

กว่า 10 ปีที่ผ่านมา หลังไทยต้องเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และการปล่อยลอยค่าเงินบาท ทำให้คนไทยต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าน้ำมันเพิ่มขึ้นมาตลอดทุกปี ในปี 2543 นั้น ราคาน้ำมันมีการซื้อขายล่วงหน้ากันที่ บาร์เรลละประมาณ 30-32 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันในเมืองไทยอยู่ที่ลิตรละ 16 บาท สำหรับเบนซิน 95, 15 บาท สำหรับเบนซิน 91 ส่วนราคาดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 13-14 บาท

แต่เมื่อประมาณกลางปี 2551 ที่ผ่านมา คนไทยได้ลิ้มรสราคาน้ำมันลิตรละเกิน 40 บาท โดยในเดือน กรกฎาคม ปีที่แล้ว ช่วงที่ราคาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบทั่วโลกแตะที่ระดับ 145 ราคาน้ำมันเบนซิน 95 ของไทยก็อยู่ที่ลิตรละ 45 บาท ส่วนเบนซิน 91 ราคาลิตรละ 42 บาท และน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 44 บาท

เมื่อสถานการณ์ราคาน้ำมันกลับดิ่งตัวลงอย่างรุนแรงหลังจากนั้น กลับทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเหลือไม่ถึงลิตรละ 20 บาท ทั้งเบนซินและดีเซล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบขายกันที่ลิตรละราวๆ 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ปัจจุบันราคาขายปลีกน้ำมันทุกชนิด กำลังตั้งเค้าถีบตัวขึ้นอีกครั้งทั้งๆ ราคาน้ำมันดิบยังคงทรงตัวอยู่ที่ 40-50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยราคาเบนซิน 95 ขายกันลิตรละ 36 บาทต่อลิตร เบนซิน 91 อยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร และดีเซลลิตรละ 22 บาท

ราคาน้ำมันแพงเกินความเป็นจริง?

ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน และดีเซลในประเทศนั้น กำหนดโดยการอ้างอิงจากราคาซื้อขายน้ำมันในประเทศสิงคโปร์ จึงถึงมองว่า ราคาน้ำมันที่ทางบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ประกาศขึ้นหรือลดในแต่ละวันนี้อยู่บนพื้นฐานของต้นทุน บวกกำไร ที่ควรจะเป็นหรือไม่ เพราะบทบาทของกลไกการควบคุมราคาในประเทศ อยู่ในมือของบริษัท ปตท. จำกัดเพียงผู้เดียว หรือจะเรียกว่า การผูกขาด ก็คงจะได้

ทรงยศ พงศ์โรจน์เผ่า ผู้ช่วยคณะบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลับ ราชภัฎจันทรเกษม ให้ความเห็นว่า การอ้างอิงราคาน้ำมันจากสิงคโปร์ ถ้าเป็นเมื่อ 20 ปีก่อน อาจสมเหตุสมผล เพราะในขณะนี้ศักยภาพการกลั่นน้ำมันในประเทศยังไม่แข็งแรง คือมีโรงกลั่นน้ำมันหลักเพียง 3 ราย คือ ไทยออยล์ บางจาก และเอสโซ่ ทำให้เกิดการขาดแคลน น้ำมัน ในประเทศส่งผลให้ต้องนำเข้าจากสิงคโปร์

แต่ปัจจุบันสถานการณ์การกลั่นน้ำมันในประเทศดีกว่าในอดีตมาก ไทยมีโรงกลั่นน้ำมันมากถึง 7 โรง โดยมี ปตท.เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 6 โรงกลั่นประกอบด้วย ไทยออยล์, บางจาก, เอสโซ่, ระยองของเชลล์ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น, สตาร์ปิโตรเลียม ของคาลเท็กซ์, ไออาร์พีซีและทีพีไอ จนทำให้ปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปที่ออกจากโรงกลั่นมีมากกว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ

ดังนั้นจึงไม่เห็นถึงความจำเป็นจะต้องอ้างอิงราคาน้ำมันเบนซินสำเร็จรูปกับสิงคโปร์ เหมือนในอดีตแต่อย่างไร นอกจากว่าปตท.จะต้องการสร้างผลกำไรให้กับตัวเองมากกว่า การทำหน้าที่บริษัทมหาชนที่มาจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้น เป็นการแสดงบทบาทของบริษัทเอกชนที่มองในเรื่องผลกำไรสูงสุด และการจ่ายผลตอบแทนการลงทุนให้กับผู้ถือหุ้นในปตท.

ทั้งนี้ปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปที่ออกจากโรงกลั่นน้ำมัน ของปตท. ถึง 80% โดยปริมาณการใช้นำมันของไทยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 7-8 แสนบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณประมาณ 110 -127 ล้านลิตรต่อวัน( 1 บาร์เรลเท่ากับ 159 ลิตร) เพราะฉะนั้นหากมีการบวกกำไรจากการกลั่น หรือเป็นราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นเพียงลิตรละ 1 บาท ปตท.จะมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อวันมากเพียงไร

ขณะที่น้ำมันที่เหลือจากการจำหน่ายในประเทศ ซึ่งคาดว่ามีปริมาณมากถึงวันละกว่า 1 แสนลิตร ก็คาดกันว่าปตท.จะนำน้ำมันในส่วนนี้ส่งออกขายต่างประเทศ เช่นประเภทเพื่อนบ้าน ใช้ราคาอ้างอิงกับสิงคโปร์ด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้มีการประเมินว่า แต่ละปี ปตท.จะมีกำไรจากส่วนต่างราคาน้ำมันที่ไม่ได้เกิดจากต้นทุนที่แท้จริงอยู่มาก

แม้ปตท จะชี้แจงถึงเหตุผลของการอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จจากสิงคโปร์ เป็นเพราะ ต้องการอ้างอิงราคาตลาดกับแหล่งของการซื้อขายน้ำมันสำคัญของภูมิภาค เพื่อประกันความเสี่ยงจากการขึ้นและลดราคาน้ำมันในแต่ละวัน แต่ดูเหมือนว่า เหตุผลดังกล่าวจะถูกบรรดานักวิชาการ มองว่า เป็นการหาผลกำไรเพื่อเข้ากระเป๋าตัวเอง เพราะการทำหน้าที่เอกชนเพื่อหาผลกำไรสูงสุด ก็ต้องพยายามหาแหล่งอ้างอิงราคา ที่ทำให้บริษัทได้ผลกำไรสูงสุดนั่นเอง

โดยโรงกลั่นน้ำมันของไทยที่อ้างอิงราคาขายกับตลาดสิงคโปร์ และการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถควบคุมการกลั่นได้เกือบทั้งหมด เป็นสาเหตุให้คนไทยต้องจ่ายค่าน้ำมันหน้าโรงกลั่นที่แพงกว่าคนต่างชาติ เพราะจะมีบวกเอาต้นทุนที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงเข้าไปด้วย นี่เองทำให้ธุรกิจโรงกลั่นมีกำไรที่สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น

เมื่อผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่างปตท สามารถสร้างผลกำไรอย่างมากมายจากธุรกิจการกลั่นน้ำมัน ก็สามารถลดราคาการตลาด หรือที่เรียกกันอยู่ตลอดว่า ค่าการตลาด ให้ต่ำกว่าต้นทุนได้ โดยนำผลกำไรจากการกลั่นมาอุดหนุน ธุรกิจค้าปลีกของตนเอง ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน รายย่อยเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวโดยตรง เพราะ ได้กำไรจากค่าการตลาดน้ำมันต่ำกว่าต้นทุน ซึ่งปัจจุบันค่าการตลาด น้ำมันอยู่ที่ลิตรละประมาณ 1.50 บาท เท่านั้น

นอกจากนี้การประกาศตัวเลขรายได้ และผลกำไรของปตท. ในช่วงที่ผ่านมา จะไม่มีการเปิดเผยรายได้และกำไร จากธุรกิจน้ำมันอย่างตรงไปตรงมา เพราะคาดว่าตัวเลขผลกำไรจะสูงมาก โดยดูได้จากผลกำไรรวมของบริษัทน้ำมัน 7 บริษัท ประกอบด้วยโรงกลั่นในเครือ ปตท.4 แห่ง ประกอบด้วย สตาร์ ของคาลเท็กซ์, ระยอง ของเชลล์, ไทยออยล์, บางจาก และบริษัทน้ำมัน แห่งคือ เอสโซ่ อาร์พีซี และทีพีไอ เติบโตขึ้นเป็นเท่าตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

โดยในปี 2545 ทั้ง 7 บริษัทสร้างผลกำไรรวม 22,099 ล้านบาท เพิ่มเป็น 56.686 ล้านบาทในปี 2546 และในปี 2547 ก็เพิ่มขึ้นเป็น 120,989 ล้านบาท จนถึงปี 2548 ตัวเลขผลกำไรก็ยังเติบโตขึ้นเป็น 202,020 ล้านบาท ตัวเลขดังกล่าวสามารถบอกถึงผลของการกำหนดราคาขายปลีกอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ของปตท.ได้เป็นอย่างดี

โครงสร้างราคาน้ำมัน ชี้ชะตาราคาน้ำมันไทย

ท่ามกลางความกังขาของผู้บริโภคที่มีต่อราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้เกี่ยวข้องในวงการน้ำมันอย่าง มนูญ ศิริวรรณ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศขึ้น-ลงนั้น มีองค์ประกอบหลายประการ แต่หลักใหญ่ใจความจริงๆก็คงต้องย้อนกลับมาดูโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศว่ามีรายละเอียดหรือเงื่อนไขอย่างไร

โครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ราคาน้ำมันขายส่งหน้าโรงกลั่น และ ราคาขายปลีก โดยในส่วนแรกประกอบไปด้วย ราคาหน้าโรงกลั่นหมายถึงต้นทุนในการซื้อน้ำมันดิบจากต่างประเทศรวมค่าขนส่งและค่ากระบวนการกลั่น บวกกับภาษีสรรพสามิต,ภาษีเทศบาล,กองทุนน้ำมัน,กองทุนอนุรักษ์พลังงาน,ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเมื่อรวมกันแล้วก็จะเป็นราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น

หลังจากได้ราคาหน้าโรงกลั่นมาเป็นที่เรียบร้อย น้ำมันก็จะถูกส่งต่อมายังบริษัทน้ำมัน ซึ่งกระบวนการส่งต่อมายังจุดนี้ก็จะมีค่าการตลาดเข้ามาเป็นองค์ประกอบ โดยค่าการตลาดที่บริษัทน้ำมันจัดเก็บนั้นก็มาจาก ต้นทุนค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการอาทิ ค่าจ้างแรงงาน ค่าขนส่ง ค่าสารปรับปรุงคุณภาพ ค่ากิจกรรมส่งเสริมการตลาด และค่าผลตอบแทนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเมื่อค่าใช้จ่ายทั้งหมดมารวมกันก็จะนำมาบวกกับด่านสุดท้ายก่อนที่ราคาน้ำมันจะออกสู่ผู้บริโภค นั่นก็คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ข้อสรุปของราคาน้ำมันกว่าจะออกมาได้นั้น หากจะแยกออกมาเป็นสัดส่วนต่างๆก็พบว่าค่าต้นทุนในการซื้อน้ำมันจากโรงกลั่น หรือเป็นการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนตรงนี้ราว50-60 % ส่วนค่าภาษีและกองทุนต่างๆที่จัดตั้งขึ้นอีก 30-35 % และอีก5- 10 % เป็นค่าการตลาด

เรียกว่ากว่าจะออกมาเป็นราคาขายปลีกหน้าปั้มได้ ก็มีสารพัดภาษี สารพัดกองทุนที่ต้องมีการจัดเก็บ ซึ่งการจัดเก็บเงินดังกล่าวนั้น ก็ล้วนแล้วแต่มีเหตุผลเข้ามาสนับสนุน อาทิ ภาษีที่ต้องจ่ายนั้นก็ถือเป็นสิ่งที่จะกลับคืนมาให้กับสังคม หรือในส่วนของกองทุนต่างๆนั้นก็มีหน้าที่ไม่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างกองทุนอนุรักษ์พลังงานที่มีการนำเงินไปพัฒนาหรือสนับสนุนเรื่องพลังงานด้านต่างๆ รวมไปถึงชื่อของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่หลายคนให้ความสนอกสนใจ หลังจากที่มีการพูดถึงกันบ่อย

โดยเป้าหมายแท้จริงของกองทุนดังกล่าวที่ก่อตั้งขึ้นมานั้นก็เพื่อเป็นกลไกของรัฐในการป้องกันการขาดแคลนเชื้อเพลิง และใช้ในการรักษาระดับขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศในกรณีที่ราคาของตลาดโลกสูงขึ้น ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ยกตัวอย่างในช่วงที่ผ่านมาเราก็จะได้เห็นบทบาทหน้าที่ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เข้ามาช่วยอุ้มและแทรกแซงราคาน้ำมันไม่ให้ราคากระโดดสูงเกินกว่าที่ประชาชนจะรับได้ ซึ่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะนำงบประมาณที่มีอยู่เข้ามาช่วยแบกรับภาระแทนประชาชน

นอกจากนั้นแล้วกองทุนดังกล่าวยังเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคา และกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทย กำหนดค่าการตลาด กำหนดอัตราเงินเข้ากองทุน หรืออัตราชดเชยผู้ที่ซื้อหรือผลิตปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำและนำเข้าในราชอาณาจักร กำหนดชนิดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน หรือไม่ให้รับเงินชดเชย กำหนดราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นและคำนวณราคาขายปลีก และปฏิบัติหน้าที่ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

'ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจากอดีตก็เนื่องมาจากมีการจัดเก็บตามภาษีสรรพสามิต จากเดิมที่เก็บเป็นเปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยเงินที่ต้องจ่ายก็อยู่ที่ 1 บาทกว่าๆ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นจำนวนบาทและแบ่งตามชนิดของน้ำมันประเภทต่างๆทำให้ค่าเฉลี่ยที่ต้องจ่ายนั้นจะอยู่ที่ 4-5บาท ส่วนคำถามถึงความเหมาะสมในการจัดเก็บนั้นก็ต้องบอกว่าประเทศไทยมีระดับการจัดโครงสร้างราคาน้ำมันอยู่ในระดับกลางเมื่อเปรียบเทียบกับยุโรปที่มีการจัดเก็บภาษีที่สูงเนื่องจากมองว่าเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดมลภาวะ ขณะที่อเมริกานั้นก็มีการจัดเก็บโครงสร้างราคาน้ำมันที่ต่ำกว่า ส่วนเงื่อนไขข้อจัดเก็บนั้นก็มีรายละเอียดที่คล้ายๆกัน 'มนูญ กล่าว

แม้โครงสร้างราคาน้ำมันจะมีรายละเอียดยิบย่อย และยังคงเป็นที่กังขาของหลายคน แต่การจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ อย่างการลดภาษี หรือ ปรับขึ้นนั้น คาดว่าจะไม่มีให้เห็นในอนาคต เนื่องจากภาษีหรือกองทุนต่างๆที่จัดขึ้นมานั้นถือได้ว่าเหมาะสม อีกทั้งสถานการณ์ของภาครัฐฯที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก็ไม่ได้มีความพร้อมที่จะปรับลด เนื่องจากเงินกองทุนส่วนใหญ่ก็ถูกดึงมาใช้ จนแทบจะเรียกว่าถังแตก ดังนั้นความคาดหวังที่จะมีการปรับลดภาษีเพื่อทำให้ราคาน้ำมันลดลง น่าจะไม่เกิดขึ้นในอนาคต

ข้อกังขาของประชาชนผู้ใช้น้ำมัน นอกจากปัญหาเรื่องโครงสร้างราคาน้ำมันที่มาจากส่วนต่างๆแล้ว ในส่วนของค่าการตลาดก็เป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่หลายคนตั้งคำถามว่าแท้ที่จริงแล้วค่าการตลาดที่กินสัดส่วนของราคาน้ำมันทั้งหมดราว 5-10 %นั้น เหมาะสมหรือไม่เพียงใด ซึ่งค่าการตลาดที่มีการกล่าวอ้างถึงนั้น ประกอบไปด้วย ต้นทุนค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการอาทิ ค่าจ้างแรงงาน ค่าขนส่ง ค่าสารปรับปรุงคุณภาพ ค่ากิจกรรมส่งเสริมการตลาด และค่าผลตอบแทนในการดำเนินธุรกิจ

ผู้ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจน้ำมัน กล่าวว่า ค่าการตลาดของค่ายน้ำมันที่มีอยู่ในขณะนี้ถือว่าไม่สูงเกินไปนัก โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2552 ค่าการตลาดของน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 1.50-1.60 บาทต่อลิตร ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่สูงไม่ต่ำเกินไปนัก และหากค่าการตลาดยังอยู่ที่ตัวเลขระดับนี้ไปจนถึงปลายปีก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่เหมาะสม เพราะในปีที่ผ่านมาตัวเลขเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.20 บาทต่อลิตร แต่เมื่อไรก็ตามที่ค่าการตลาดเขยิบราคาขึ้นมาอยู่ที่ 2 บาทต่อลิตรก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูง

อย่างไรก็ตามแม้จะออกมาแก้ต่างว่าค่าการตลาดของค่ายน้ำมันยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่เมื่อมองไปในช่วงที่ราคาน้ำมันมีความผันผวนมาก กลับพบว่าเบนซิน 95 มีค่าการตลาดสูงกว่า 7 บาทต่อลิตร ถือเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับที่มีการคาดหมายไว้ และแน่นอนว่าตัวเลขที่สูงขึ้นย่อมจะทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คำตอบที่ได้มาจากผู้ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจยังคงไม่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยกล่าวอ้างว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเมื่อนำมาเฉลี่ยทั้งปีแล้วตัวเลขทั้งหมดก็จะอยู่ในระดับที่คาดหมายไว้ อีกทั้งค่าการตลาดเมื่อย้อนหลังกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้วที่ต่ำกว่า 1 บาทต่อลิตร ทำให้เกิดภาวะขาดทุนมาโดยตลอด ดังนั้นหากค่าการตลาดในปัจจุบันจะขึ้นเพียงเล็กน้อยก็ถือเป็นกำไรที่พวกเขาจะได้

ราคาน้ำมันประเทศไทย ไฉนอ้างอิงตลาดสิงค์โปร์

นอกจากโครงสร้างราคาน้ำมันที่สลับซับซ้อน เนื่องจากมีหลากหลายประเภทที่ต้องจัดเก็บ คำถามอีกหนึ่งข้อที่เป็นข้อสงสัยเกี่ยวกับการอ้างอิงราคาน้ำมันของไทยก็คือ ทำไมต้องเป็น 'สิงคโปร์'

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ตลาดสิงคโปร์เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเซียและมีพื้นที่ใกล้ไทยมากที่สุด ดังนั้นต้นทุนในการนำเข้าจึงเป็นต้นทุนที่ถูกที่สุดที่โรงกลั่นไทยต้องแข่งขันด้วย ขณะที่ปริมาณการซื้อขายน้ำมันของตลาดสิงคโปร์ก็เป็นระดับเดียวกับตลาดในสหรัฐอเมริกา หรือตลาดใหญ่ๆอื่นในยุโรป หรือตะวันออกกลาง ซึ่งถือเป็นตลาดที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ยากต่อการปั่นราคาโดยผู้ซื้อหรือผู้ขาย อีกทั้งตลาดนี้ยังจะสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการน้ำมันและความสามารถในการจัดหา

นอกจากนั้นแล้วในแง่ของการศึกษาการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดต่างๆ ได้แก่ ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดยุโรป ตลาดอเมริกา และตลาดจรสิงคโปร์พบว่า ราคาน้ำมันสำเร็จรูปทุกตลาดต่างปรับตัวเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน และในระดับที่ใกล้เคียงกัน อาจมีบางช่วงที่ราคา ของบางตลาดเปลี่ยนแปลงในทิศทาง หรือระดับที่แตกต่างกับตลาดอื่นๆ ซึ่งสาเหตุเป็นเพราะภาวะความต้องการที่ไม่มีความสมดุลกัน ทำให้ราคาในช่วงเวลานั้นแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของสำนักนโยบายฯพบว่าตลาดของสิงคโปร์มีความผันผวนน้อยกว่าตลาดน้ำมันอื่นๆทั่วโลก และแม้จะต้องเจอกับภาวะที่แตกต่างกันแต่ตลาดจะสามารถกลับมาเป็นปกติได้ในช่วง 1-3วัน

'ตลาดซื้อขายน้ำมันในโลกนี้มีหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ,ยุโรป รวมไปถึงสิงคโปร์ ซึ่งสาเหตุที่ไทยเราเลือกนั้นก็เนื่องจากเป็นตลาดซื้อขายที่ใหญ่และได้รับการยอมรับสูง อีกทั้งสิงค์โปร์มีความพร้อมในหลายเรื่องอาทิ เรื่องการขนส่งที่เป็นเมืองท่าและการมีโรงกลั่นขนาดใหญ่'มนูญ กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานกล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ไทยต้องอ้างอิงราคาน้ำมันจากประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากการเปิดเสรีทางการค้าของไทย ที่ทำให้ธุรกิจมีการแข่งขัน เช่นเดียวกับธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่ประเทศไทยก็มี และต่างประเทศก็มี ดังนั้นเท่ากับว่าโรงกลั่นของไทยไม่ได้ต้องการแข่งขันเฉพาะตลาดภายในประเทศเท่านั้น หากแต่ต้องแข่งกับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศด้วย ดังนั้นการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปค้าส่งจึงต้องมีราคาที่แข่งขันกับราคานำเข้าที่ถูกที่สุด กล่าวคือ ต้นทุนการส่งออกจากต่างประเทศเข้ามาในบ้านเราต้องอยู่ในระดับที่ต่ำสุด การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปของโรงกลั่นน้ำมัน จึงใช้หลักการเสมอภาคกับการนำเข้า (Import Parity Basis) และได้ใช้ตลาดสิงคโปร์ เป็นตลาดอ้างอิงการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปดังกล่าว

ในการกำหนดราคา หากโรงกลั่นในไทยกำหนดราคาสูงกว่าการนำเข้าจากสิงคโปร์ ผู้ค้าน้ำมันก็จะหันไปนำเข้าแทนการซื้อจากโรงกลั่นในประเทศ แต่หากกำหนดราคาต่ำกว่าราคานำเข้า ก็จะทำให้โรงกลั่นได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าที่ควรซึ่งก็ไม่เกิดแรงจูงใจ ให้เกิดการลงทุนธุรกิจการกลั่นในประเทศไทย

นอกจากไขปัญหาที่มาที่ไปของราคาน้ำมันที่แพงว่ามีต้นตอมาจากโครงสร้างราคาที่ประกอบไปด้วยภาษีต่างๆมากมาย รวมไปถึงค่าการตลาดแล้ว ปัจจัยอื่นๆที่จะส่งผลทำให้ราคาน้ำมันขึ้นลงได้นั้นก็มาจากค่าเงินที่มีความอ่อนตัวหรือแข็งตัว และอีกหนึ่งปัจจัยที่จะส่งผลด้านราคาให้กับน้ำมันในประเทศไทยคือ เรื่องการสนับสนุนพลังงานทางเลือก

ศุภพงศ์ กฤษณกาญจน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ระยองเพียวริฟายเออร์จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า โครงสร้างราคาน้ำมันในปัจจุบันมีส่วนช่วยเอื้อให้กับบริษัทผู้ผลิตน้ำมันที่เป็นพลังงานทางเลือก โดยในส่วนของระยองเพียวได้มีการพัฒนาดีเซล บี5ออกมาเพื่อป้อนตลาด ซึ่งข้อได้เปรียบเหนือดีเซลปกติคือ ราคา ที่มีส่วนต่างกัน 3บาท นอกจากนั้นแล้วในแง่ของการสนับสนุนจากภาครัฐฯยังมีในเรื่องของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต จากปัจจุบันน้ำมันดีเซลทั่วไปต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตในอัตรา 3.305บาท แต่สำหรับดีเซล บี5 อยู่ที่2.190บาท ขณะเดียวกันการยังมีการนำเงินจากกองทุนน้ำมันเข้ามาช่วยเหลือพลังงานทางเลือก โดยดีเซล บี5 ไม่ต้องมีการจ่ายเงินเข้าไปสนับสนุนแต่อย่างไร และกองทุนน้ำมันจะเข้ามาชดเชยเม็ดเงินที่ต้องจ่ายเข้าไป คิดเป็นอัตรา 0.20บาทต่อลิตร

'ในแง่ของต้นทุนการผลิตไบโอดีเซลหรือดีเซลปกติแม้ว่าจะมีต้นทุนที่ไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก แต่ด้วยโครงสร้างและการสนับสนุนนโยบายพลังงานทางเลือกก็ทำให้สัดส่วนของราคาน้ำมันมีความต่าง และแม้จะห่างกันเพียง3บาทแต่เราก็เชื่อว่าการตอบรับของพลังงานทางเลือกที่ออกมานี้จะได้รับการตอบรับที่ดี' ศุภพงศ์ กล่าว

ธุรกิจน้ำมันคือแหล่งสูบเงิน

กลไกการตลาดและราคาน้ำมันดิบในปัจจุบันนี้ บรรดานักวิชาการในประเทศส่วนใหญ่มองว่า การปรับขึ้นราคาน้ำมันดิบเมื่อปลายปีที่ผ่านมาในราวๆ บาร์เรลละ140 เหรียญสหรัฐ จนการถึงตกลงมาแบบดิ่งเหวเมื่อปลายปีเดียวกัน เป็นผลพวงของการปั่นราคาของนักค้าน้ำมัน เนื่องจากการซื้อขายน้ำมันทั้งหมด เป็นการซื้อขายล่วงหน้า ระยะ 3 เดือนถึง 6 เดือน ก่อนส่งมอบ ด้วยเหตุผลของการประกันราคาน้ำมันดิบ

แต่หลายครั้ง นักค้าน้ำมันอาศัยสถานการณ์ เป็นเหตุผลของการปรับขึ้นราคาแต่ละครั้ง เช่นการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศจีน และอินเดีย ทำให้มีปริมาณความต้องการน้ำมันดิบ เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งๆ ที่การขยายตัวของการใช้น้ำมันดิบใน 2 ประเทศดังกล่าวเติบโตเพียงปีละประมาณ 10-15% เท่านั้น ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบกลับปรับขึ้นมากกว่า 100% และนี่เองจึงเป็นสาเหตุให้ราคาน้ำมันดิบตกลงเหลือเพียงบาร์เรลละ 40-50 เหรียญสหรัฐในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดีการปรับขึ้นราคาน้ำมันขายปลีกของบริษัท ปตท.ผู้กุมตลาดน้ำมันในประเทศกว่า 80% กลับไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงนัก เช่น การปรับราคาขายปลีกน้ำมันขึ้นตามราคาน้ำมันดิบเพียงไม่กี่วัน หรือไม่กี่สัปดาห์ เพราะน้ำมันที่กลั่นออกมาขายแต่ละครั้งนี้เป็นน้ำมันที่ซื้อขายกันล่วงหน้า ส่งมอบกันก่อนหน้านั้น 3 เป็นอย่างน้อย เพราะฉะนั้นหากเป็นการปรับราคาขึ้นตามต้นทุนราคาน้ำมันดิบจึงควรมีระยะเวลา การปรับขึ้นหรือลงราวๆ 3 เดือน หลังการขึ้นหรือลดราคาน้ำมันดิบ

ในขณะที่การปรับขึ้นหรือลงตาม ราคาอ้างอิงในสิงคโปร์นั้น ถูกมองว่าเป็นการร่วมกันหาผลกำไรของบริษัทผู้ผลิตน้ำมันในต่างประเทศ ซึ่งมองในเรื่องผลกำไร หรือผลตอบแทนการลงทุนสูงสุด โดยสื่อมวลชนในต่างประเทศวิเคราะห์ว่า การทำธุรกิจน้ำมันของบริษัทยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศนั้น รายได้และกำไร จะกลับมาเป็นผลตอบแทนอันมหาศาลให้กับของผู้บริหารของบริษัท

อาทิ ในปี 2549 หนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทมส์ มีการรายงานตัวเลขรายได้ของบริหารบริษัทน้ำมันต่างๆ ได้แก่ ลี อาร์ เรมอนด์ ซีอีโอ ของบริษัทเอ๊กซอน ได้รับผลตอบแทนช่วง 12 ปีหลังของการบริหารงานของนายเรมอนด์ในระหว่างปี 1993-2005 นั้นมีตัวเลขสูงถึง 686 ล้านเหรียญ หรือ ประมาณ 2 หมื่น 7 พันล้านบาท และในปี 2005 นั้น David J. O"Reilly ซีอีโอของบริษัทเชฟรอน ก็ได้รับผลตอบแทน 37 ล้านเหรียญ หรือราว 1,400 ล้านบาท ปีเดียวกัน Lord Browne ซีอีโอของบริษัทน้ำมันบีพี ได้รับผลตอบแทน 14.8 ล้านเหรียญ หรือ 560 ล้านบาท 2005 นั้นงบริษัทน้ำมัน เพียงไตรมาสแรก และไตรมาสเดียวของปี 2549 ่ในต่างประเทสนัสูงราคาน้ำมันดิบจึงควรมีระยะเวลา การปรับข

ส่วนตัวเลขรายได้ของบริษัทน้ำมัน เพียงไตรมาสแรก และไตรมาสเดียวของปี 2549 บริษัท เอ๊กซอนมีกำไร 8.4 พันล้านเหรียญ หรือ 3.36 แสนล้านบาท ส่วนบริษัทเชฟรอนทำกำไรสุทธิถึง 4 พันล้านเหรียญ หรือ 1 แสน 6 หมื่น ล้านบาท , โคโนโค ฟิลลิปส์ มีกำไรสุทธิ 3.23 พันล้านเหรียญ หรือ 1.29 แสนล้านบาท และบีพี ได้กำไร 5.69 พันล้านเหรียญ หรือ 2.27 แสนล้านบาท

ตัวเลขเหล่านี้ สามารถบอกถึงการทำธุรกิจน้ำมันของบริษัทยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศ และที่สำคัญคือ บริษัทน้ำมันในอเมริกาเหล่านี้ ล้วนเข้ามาซื้อขายน้ำมันในตลาดสิงคโปร์ สถานที่ๆ บริษัท ปตท ของไทยใช้อ้างอิงกับราคาขายปลีกในประเทศ ซึ่งแทบจะไม่มีบริษัทผู้ค้าน้ำมันรายใดๆ เลยที่ประสบภาวะขาดทุน รวมถึง ปตท. ของไทย


*************

กองทุนน้ำมันตัวแปรราคาน้ำมันทุกยุค

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้การควบคุมของ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน กลไกและเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ในการอุ้มชู ทิศทางราคมของพลังงานเชื้อเพลิงในประเทศ ปัจจุบันกองทุนนี้มีเม็ดเงินอยู่ประมาณ 14,700 ล้านบาท ส่วนทีมาของเงินเหล่านี้ก็คือ การเก็บจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเกือบทุกชนิดที่เราจ่ายตอนเติมน้ำมันนั่นเอง

ในอดีตนั้นรัฐบาลใช้กองทุนน้ำมันเป็นแหล่งสะสมเงิน ที่หักจากราคาน้ำมัน เช่น การบวกเพิ่มจากราคาน้ำมันเบนซินทั้ง 91 และ 95 เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งมาชดเชยให้กับราคาน้ำมันดีเซล ด้วยเหตุผลที่น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง และต้นทุนของการขนส่งหลัก เพราะนั้นในช่วงก่อนปี 2544 เราจะเห็นว่าน้ำมันดีเซลมีราคาต่ำกว่าเบนซินเกือบเท่าตัว

หลังจากยกเลิกการเก็บเงินอุดหนุนจากน้ำมันเบนซิน แล้วปลอยให้ราคาดีเซล ขึ้นตามกลไกตลาด ทำให้เราได้เห็นราคาที่แท้จริงของดีเซล ซึ่งในบางช่วงราคาของน้ำมันดีเซล สูงกว่าเบนซิน 91 โดยเฉพาะเบนซินแก๊สโซฮอล์

ส่วนราคาของน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบัน มีการหักภาษีส่วนหนึ่ง เพื่อนำส่งเข้ากองทุนน้ำมัน ซึ่งรัฐบาลในเงินจากกองทุนไปอุดหนุนราคา ก๊าซหุงต้ม LPG เพื่อรักษาระดับราคาก๊าซดังกล่าวไม่ให้สูงเกินไป เนื่องจากก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับการประกอบอาหารในครัวเรือนของประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้นหากราคาก๊าซ LGP มีการปรับขึ้นก็จะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนรวม

ดังนั้นไม่ว่าราคาน้ำมันจะถูก หรือแพงเพียงไร แต่รัฐบาลไทยยังต้องเก็บเงิน ส่วนหนึ่งจากราคาขายปลีกน้ำมัน ทุกชนิด นอกจากนี้เงินจากกองทุนน้ำมันยังถูกนำไปใช้ในการทำกิจกรรมอื่นๆ เกี่ยวกับ เชื้อเพลิงในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งบประชาสัมพันธ์รณรงค์ ให้ประหยัดพลังงาน รวมถึงนำไปสร้าง หรือสนับสนุนระบบขนส่งมวลชนต่างๆ

ปัจจุบันมีการเก็บเงินจากราคาน้ำมันเบนซิน 95 ที่ลิตรละ 7 บาท เบนซิน 91 ลิตรละ 5.70 บาท แก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละ 2.35 บาท แก๊สโซฮอล์ 91 ลิตรละ 1.75 บาท การจัดเก็บดังกล่าวส่งผลให้กองทุนน้ำมันมีเงินไหลเข้าเดือนละประมาณ 3,460 ล้านบาท

เงินของกองทุนน้ำมันทั้งหมด ถูกนำไปชดเชยให้กับการลดภาษีให้กับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 0.30 บาท น้ำมันดีเซล B2 1.70 บาท ส่วนไบโอดีเซลบี 5 ชดเชยอยู่ที่ 0.20 บาทต่อลิตร

สำหรับพลังงานทางเลือก แก๊สโซฮอล์ E85 นั้น ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาของบประมาณ ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวนทั้งสิ้น 300 ล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายชดเชยภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ซึ่งจะนำเข้าในปีนี้ จำนวนไม่เกิน 2,000 คัน และการผลิตในประเทศอีกจำนวน 2,300 คัน ซึ่งการชดเชยภาษีดังกล่าวจะช่วยลดราคารถยนต์ให้กับผู้ซื้อ 3% ของราคาจำหน่าย ที่จะช่วยจูงใจให้มีการใช้รถยนต์ E85 มากขึ้น   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us