อุตสาหกรรมกองทุนสินทรัพย์พุ่งแตะ 2.3 ล้านล้านบาท ได้อานิสงส์ 4 เดือน กองทุนรวมโกยเงิน 1.46 แสนล้านบาท ส่วนกองทุนส่วนบุคคล-สำรองเลี้ยงชีพ" จบไตรมาสแรก ยังซึมพิษความผันผวน โดยเฉพาะไพรเวตฟันด์ คิดลบไป 11.51% พบ "บลจ.กสิกรไทย" ผงาด ครองแชมป์กองทุนทั้ง 3 ประเภท สินทรัพย์รวมพุ่งเป็น 4.51 แสนล้านบาท ลุ้นตลาดหุ้นเด้งกลับ ดึงเงินลงทุนไหลเข้า
รายงานข่าวจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) รายงานตัวเลขเงินลงทุนในกองทุนกองทุนส่วนบุคคล (ไพรเวตฟันด์) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (โพรวิเดนท์ฟันด์) ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา พบว่า กองทุนทั้งสองประเภทยังได้รับผลกระทบจากความผันผวนของบรรยากาศการลงทุนต่อเนื่อง โดยจากการรวบรวมตัวเลขเงินลงทุนในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเติบโตขึ้นจากปลายปีที่แล้ว 1.29% โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2552 มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 471,335.77 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้น 6,039.33 ล้านบาทจากปลายปีที่มีสินทรัพย์รวม 465,296.44 ล้านบาท
ในขณะที่กองทุนส่วนบุคคล พบว่าสินทรัพย์ปรับลดลงไปค่อนข้างมาก คิดเป็นสัดส่วนถึง -11.51% โดยเงินลงทุนรวมทั้งระบบลดลงประมาณ 19,376.71 ล้านบาท จากสินทรัพย์รวม 168,276.96 ล้านบาทในช่วงปลายปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 148,900.25 ล้านบาทในปัจจุบัน
สำหรับบริษัทจัดการที่มีสินทรัพย์รวมสูงสุด 5 อันดับแรก ในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด ยังมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่อง ด้วยสินทรัพย์รวม 64,891.03 ล้านบาท ตามด้วย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ด้วยสินทรัพย์รวม 60,454.85 ล้านบาท โดยมีบลจ.ไทยพาณิชย์ ตามมาเป็นอันดับ 3 ด้วยสินทรัพย์รวมทั้งหมด 60,108.85 ล้านบาท อันดับ 4 บลจ. เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) มีสินทรัพย์รวม 58,966.26 ล้านบาท และอันดับ 5 บลจ.ทิสโก้ ที่มีสินทรัพย์สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรวม 58,005.56 ล้านบาท
ในขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทจัดการที่มีสินทรัพย์รวมในอุตสาหกรรมกองทุนส่วนบุคคลสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับ 1 บลจ.กสิกรไทย ด้วยสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวมทั้งสิ้น 34,925.30 ล้านบาท โดยมี บลจ.วรรณ ตามมาเป็นอันดับ 2 ด้วยสินทรัพย์รวมทั้งหมด 22,489.66 ล้านบาท ส่วนบลจ.ทิสโก้ ตามมาเป็นอันดับ 3 ด้วยสินทรัพย์รวม 20,923.13 ล้านบาท อันดับ 4 บลจ.เอ็มเอฟซี กับสินทรัพย์ 20,290.05 ล้านบาท และอันดับที่ 5 บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) ด้วยสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 15,830.21 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในส่วนของกองทุนรวมเอง ก่อนหน้านี้มีรายงานออกมาว่า ณ วันที่ 24 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา มีเงินลงทุนรวมทั้งระบบเพิ่มขึ้นเป็น 1,686,784.83 ล้านบาท จากเงินลงทุนรวม 1,526,811.54 ล้านบาท ในช่วงปลายปี 2551 โดยคิดเป็นเพิ่มขึ้นถึง 159,973.29 ล้านบาท และคิดเป็นการขยายตัว 10.47%
โดยหากรวมตัวเลขเงินลงทุนในธุรกิจจัดการกองทุนทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งประกอบด้วย กองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว จะมีสินทรัพย์รวมกันทั้งสิ้น 2,307,020.85 ล้านบาท คิดเป็นเงินที่เพิ่มขึ้นประมาณ 146,635.91 ล้านบาทจากปลายปีที่แล้ว
ทั้งนี้ บรรยากาศการแข่งขันในอุตสาหกรรมกองทุนรวมเองพบว่า การแข่งขันยังอยู่ในบริษัทในเครือแบงก์ขนาดใหญ่เป็นหลัก ซึ่งหลายบริษัทมีความพยายามที่จะดันสินทรัพย์ภายใต้การบริหารของตัวเองให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้สูงขึ้นด้วย ล่าสุด ณ วันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา พบว่า บริษัทจัดการกองทุนที่มีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) สูงเป็นอันดับต้นๆ ยังคงเป็นบริษัทในเครือแบงก์ใหญ่ โดยบริษัทที่มีส่วนแบ่งเป็นอันดับ 1 ได้แก่ บลจ. กสิกรไทย ซึ่งถือว่าสามารถเป็นการกลับมารั้งแชมป์ผู้นำตลาดกองทุนรวมได้อีกครั้ง โดยบลจ.กสิกรไทย มีสินทรัพย์รวมสำหรับกองทุนรวมทั้งสิ้น 351,910.07 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายงานตัวเลขเงินลงทุนทั้งหมด พบว่า บลจ.กสิกรไทย สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดได้อย่างเต็มตัวแล้ว เพราะจากธุรกิจจัดการกองทุนทั้ง 3 ประเภท นั่นคือ กองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้นำของอุตสาหกรรมทั้งสิ้น โดยหากรวมสินทรัพย์ของทั้ง 3 อุตสาหกรรม บลจ.กสิกรไทยมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (เอยูเอ็ม) รวมทั้งสิ้นถึง 451,726.40 ล้านบาทแล้ว
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลังจากนี้ บรรยากาศการแข่งขันของธุรกิจจัดการกองทุนจะเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริษัทจัดการในเครือธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ต่างประกาศเป้าหมายการเติบโตในระดับที่สูงทั้งสิ้น นอกจากนี้ ยังประกาศเป้าหมายที่จะขยับเป็นผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งการที่บรรยากาศการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำ สัญญาณเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ดัชนีหุ้นที่ที่ปรับตัวในทิศทางดีขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุนทั้งสิ้น ดังนั้น จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ธุรกิจจัดการกองทุนทั้ง 3 ประเภท ขยายตัวได้ดีขึ้นหลังจากนี้
"บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเริ่มกระเตื้องขึ้นในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เชื่อว่าจะทำให้ตัวเลขเงินลงทุนของกองทุนทั้ง 3 ประเภทหลังจากนี้ เพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีความหวังมากขึ้น จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้นักลงทุนเริ่มกล้าเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นที่ยังถือเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ดังนั้น ปัจจัยเหล่านี้ น่าจะมีส่วนช่วยให้เงินลงทุนทั้งระบบในธุรกิจจัดการกองทุนทั้ง 3 ประเภท ทั้งกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเติบโตขึ้นได้"
|