Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2531
ผาแดงแรงฤทธิ์             
โดย สุรพล ธรรมร่มดี
 


   
www resources

โฮมเพจ ผาแดงอินดัสทรี

   
search resources

ผาแดงอินดัสทรี, บมจ.
Mining




ผาแดงอินดัสทรี-บริษัทที่สะท้อนการประสานระหว่างกลไกรัฐกับภาคเอกชนอย่างแน่นแฟ้นที่สุดในการสร้างอุตสาหกรรมพื้นฐาน มีการบริหารการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำเลิศของเวียงมองตานแห่งเบลเยียม มีสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อย่างแบงก์กรุงเทพ กรุงไทยและไอเอฟซีคอยค้ำยันฐานะการเงิน และผลประกอบการก็ประเสริฐทำกำไรพุ่งขึ้น ทำให้เมื่อเข้าตลาดหุ้นราคาหุ้นก็พุ่งชันขึ้นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ฉับพลันทันใดนั้นเวียงมองตานก็ขอขายหุ้นออกทั้งหมด สร้างความกังขาให้กับผู้คนทุกวงการ กระแสข่าวลือและทั้งที่เป็นความเชื่อของสื่อมวลชนต่างตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งในองค์กรเกี่ยวกับทิศทางการลงทุน และลึกลงไปถึงอิทธิพลของแบงก์กรุงเทพและพวกในผาแดงฯ ซึ่งอาจเป็นคู่กรณีอยู่เบื้องหลัง ในท่ามกลางม่านควันบังตาเหล่านี้ อะไรคือความจริงที่จริงแท้ของความเป็นไปในผาแดงฯ การตอบปัญหานี้ คือ ภารกิจครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของ "ผู้จัดการ"

ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หุ้นลอตใหญ่จำนวน 638,000 หุ้นของเวียงมองตานถูกเทขายจนหมด เท่ากับยุติสถานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทผาแดงฯ เพียงแค่นี้ ไม่ว่าผู้ใดก็อยากทราบเบื้องหลัง

กระแสข่าวที่แพร่สะพัดออกมาตามหน้าหนังสือพิมพ์มุ่งชี้ไปที่ความขัดแย้งระหว่างเวียงมองตานกับฝ่ายบริหารของ "ผาแดงฯ" ในเรื่องทิศทางการลงทุน ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์ธุรกิจที่ติดตามเรื่องราวของ "ผาแดงฯ" มาอย่างต่อเนื่อง ก็ตั้งข้อสังเกตอย่างเชื่อมั่นว่า แบงก์กรุงเทพและพวกอาจเป็นคู่กรณีครั้งนี้ และคาดว่ากลุ่มนี้จะมีฐานะอำนาจในบริษัทมากยิ่งขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น หลาย ๆ คนเริ่มกังขาความมั่นคงของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีหลังจากที่เวียงมองตานถอนตัว ความสามารถในการบริหารการเงินโดยเฉพาะการชำระหนี้ ความรอบคอบในการขยายกิจการใหม่ ๆ และความสามารถของทีมบริหารที่นำโดยอาสา สารสิน

ทั้งหมดนี้ก็คือ คำถามตัวโตที่ว่า "ผาแดงฯ" ยังแรงฤทธิ์อยู่หรือ?

"ผาแดง" เป็นโครงการสร้างอุตสาหกรรมพื้นฐานที่ริเริ่มโดยรัฐบาล หลังจากค้นพบแหล่งแร่มาตั้งแต่ทศวรรษ 2500 แต่มาสำรวจและประกอบการอย่างจริงจังเมื่อบริษัทไทยซิงค์เข้ามาขอกู้เงินจากไอเอฟซีที ดำเนินงานตั้งแต่ปี 2516 แต่สิ่งที่ไทยซิงค์กระทำก็ไม่ผิดไปจากพฤติกรรมของบรรษัทข้ามชาติที่เข้ามา "ช่วยเถือมากกว่าช่วยเหลือ" นั่นคือ เพียงแต่ขุดแร่สังกะสีดิบ ๆ ยังไม่ผ่านการถลุงออกไปขายยังต่างประเทศ

"ตอนนั้นไทยซิงค์ ก็เริ่มขุดแร่สังกะสีออกและขายต่างประเทศ โดยขุดในส่วนที่คุณภาพดีออกไปอ้างว่าเอาไปทดลองสถิติที่ตรวจสอบในไทยดูแล้วไม่มาก แต่เราไปเช็คสถิติที่เยอรมันพบว่า นำเข้าแร่สังกะสีจากไทยเป็นแสนตันเป็นเวลาหลายปี เราเองก็ได้แค่ค่าเช่าที่และค่าภาคหลวง ไม่มีมูลค่าเพิ่มเลย" แหล่งข่าวเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ไทยซิงค์ทำเช่นนี้ได้สักพักก็เลิก เพราะหาทุนมาตั้งโรงงานถลุงไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ไม่มีผู้จะมาร่วมทุนด้วย ชื่อเสียงของโครงการนี้เสียหายไปอย่างมาก "หนังสือพิมพ์วิจารณ์กันครึกโครมว่าไทยซิงค์ซิงกิ้ง" แหล้งข่าวบอกให้ฟัง

ต่อมาโครงการก็ถูกเสนอขายให้กับ "นิวเจอร์ซี่ซิงค์" บริษัทอเมริกัน แต่ทว่าก็ซ้ำรอยเดิมคือ ไม่มีโนฮาวด้านการถลุงทำให้ต้องติดต่อกับ "อีเซท" บริษัทออสเตรเลีย แต่โนฮาวของบริษัทนี้ก็ยังอยู่ในขั้นห้องทดลองเท่านั้น ที่สุดนิวเจอร์ซี่ซิงค์ก็ต้องทิ้งโครงการไปในปี 2521 เพราะบริษัทแม่คือ กอฟนอร์ท เวสเทิร์น ประสบปัญหาการเงิน และตัดสินใจลดการลงทุนจากต่างประเทศ

วาชินแห่งเกาหลีใต้เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างในโครงการเดียวกับนิวเจอร์ซี่ซิงค์ ก็รับซื้อหุ้นต่อกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ วาชินต้องพึ่งเทคโนโลยีที่ไร้น้ำยาของ "อีเซท" อาศัยเงินกู้จากเอ็กซิมแบงก์ของเกาปลี และไอเอฟซีที แต่ที่เป็นปัญหาฉกาจฉกรรจ์ที่สุดก็คือ ปัญหาการโอนทรัพย์สินเก่าเนื่องจากวาชินตีราคาเป็นเงิน 20 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 80 ล้านบาท แล้วแปลงเป็นหุ้นของตนก็กลายเป็นปัญหาที่ต้องขึ้นโต๊ะเจรจากัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่ลงมาคลี่คลายปัญหานี้โดยตรงก็คือ อัศวิน คงสิริ แห่งไอเอฟซีที เพราะเขาจับงานนี้ในฐานะนักวิเคราะห์โครงการตั้งแต่ปี 2518

"ผมจับงานชิ้นนี้ก็เห็นว่ามีปัญหามาก เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ผมตั้งคำถามมาตั้งแต่ต้น เรื่องต่อมาก็คือ การโอนทรัพย์สินเก่า ทางเราเห็นว่ามันไม่มีค่ามากขนาดนั้น ก็เจรจากัน ในที่สุดวาชินยอมรับว่าเทคโนโลยีของ "อีเซท" เสี่ยงเกินไป ผลก็เลยแนะนำให้เอาเวียงมองตาน ส่วนการโอนทรัพย์สิน เราก็ตีราคาแค่ 9 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 30 ล้านบาท ตอนนั้นทางวาชินก็ไม่พอใจผมกับไอเอฟซีทีมาก ก็เอาเชสแบงก์มาตรวจสอบการตีราคาของเรา ก็ปรากฏว่า แบงก์กลับเห็นด้วยกับเรา"

การเจรจายืดเยื้อมาจนถึงสมัยรัฐบาลเปรม 1 ที่สุดก็ถึงวันเซ็นสัญญาซึ่งนำโดยไกรศรี จาติกวณิช ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลังในสมัยนั้น และประกอบด้วยวาชิน เวียงมองตาน อัศวินแห่งไอเอฟซีที และตัวแทนจากธนาคารกรุงไทย กรุงเทพ ไทยพาณิชย์ ฯลฯ ปรากฏว่ามีข่าวเทเลกซ์ด่วนมาบอกว่า วาชินที่เกาหลีเกิดเช็คเด้ง อาจถึงขั้นล้มละลาย ไกรศรีจึงขอให้เลื่อนการเซ็นสัญญาออกไปจนในที่สุด ข่าวนั้นก็เป็นจริง วาชินจึงต้องถอนตัวจากโครงการนี้ไปอีกราย

แม้ว่าจะล้มลุกคลุกคลานครั้งแล้วครั้งเล่า แต่กลไกรัฐก็ยังคงพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อใช้โครงการนี้พลิกฟื้นสภาพการลงทุนที่ซบเซาลงภายหลังวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 2 บุคคลที่ยังยืนยันที่จะทำโครงการนี้ให้สำเร็จก็คือ อัศวิน คงสิริ

"ผมก็ยืนยันกับคุณไกรศรีว่า โครงการดี ก็เลยตั้งบริษัทใหม่ด้วยเงิน 20 ล้านบาท ก็มีไอเอฟซีที ซิโนทัย กระทรวงการคลังก็ตั้งกองทุนพัฒนาเอาเงินจากไอเอฟซีทีมาใช้ก่อนแล้วจะจ่ายคืนเมื่อมีการจัดสรรงบประมาณโดยลงทุนถือหุ้นด้วย 20% แล้วเริ่มสำรวจแร่ก่อนเป็นเรื่องแรก

สอง-ต้องมีเวียงมองตานร่วมด้วยเพราะ เราเชื่อมั่นในเรื่องเทคโนโลยี สาม-ด้านการก่อสร้างโรงงานถลุง ต้องเชื่อถือได้และราคาไม่แพงก็ได้ "เมชิม" มา ซึ่งเขายืนยันว่าสร้างโรงงานไม่แพงมาก"

หลังจากสำรวจแร่พบว่า มีสำรองอยู่ถึง 12 ปี และมีปริมาณโลหะสังกะสี 28% ของแร่สังกะสีประเภทซิลลิเกตที่สำรวจได้ ส่วนเทคโนโลยีนั้น เวียงมองตานเป็นสายสัมพันธ์เดิมของอัศวินเมื่อครั้งที่เขาจับโครงการนี้ใหม่ ๆ

"บังเอิญผมได้ศึกษาก็พบว่า ทางเบลเยียมก็ใช้แร่ซิลลิเกต แล้วก็มีการผลิตในระดับทำการค้าได้แล้ว ก็คือ เวียงมองตาน เดือนเมษาปี 2519 ผมไปพบเวียงมองตาน ทางเขาบอกว่า เขามีโรงงานใหญ่ด้านการถลุงซิลิเกต 2-3 หมื่นตันต่อปี อันที่จริงเขาก็สนใจโครงการของไทยซิงค์ แต่โดยจริยธรรมของวงการสังกะสี เขารู้ว่านิวเจอร์ซี่ซิงค์ทำอยู่ เขาก็จะไม่เข้ามาแตะต้อง ผมก็บอกว่าเสียดาย ถ้าจะใช้เทคโนโลยีของออสเตรเลียที่ยังเป็นแค่ห้องทดลองอยู่นั้น ก็น่าเสี่ยงอยู่"

เมื่อสามารถดึงเวียงมองตานมาร่วมงาน ก็เท่ากับทำให้มั่นใจว่า เทคโนโลยีการถลุงแร่แบบแยกแร่สังกะสีด้วยไฟฟ้า (ELECTROLYTIC ZINC SMELTING PROCESS) (ดูในแผนภาพขั้นตอนการผลิต) ซึ่งทันสมัยที่สุดของโลกจะค้ำยันให้ "ผาแดง" แรงฤทธิ์ขึ้นมาได้ เพราะสามารถนำแร่ซิลลิเกตมาถลุงสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้โลหะสังกะสีระดับ SPECIAL HIGH GRADE มีเนื้อโลหะสังกะสีบริสุทธิ์ถึง 99.99% ได้มาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาดโลก

แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ได้เวียงมองตานมาร่วมแบบ "มีสุขร่วมเสพ มีภัยร่วมต้าน" คือ แทนที่เวียงมองตานเพียงแค่ขายเทคโนโลยีให้แล้วรับเงินสดไป ก็แปลงเงินสดให้เป็นใบหุ้นกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งของบริษัทไป

"เวียงมองตานแต่เดิมมาขายโนฮาว พอขายเสร็จเขาก็เองเงินไปประมาณ 120 ล้านบาท แต่ต้องชมพวกก่อตั้งบริษัทที่เจรจาต่อรองเก่ง ก็บอก เอ…ยูให้มาโปรเซสใหม่เวิร์คหรือไม่เวิร์ค เราก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นยูเอาเป็นใบหุ้นไปเป็นค่าโนฮาว ถ้าโรงงานเราเจ๊ง ยูก็ได้แค่เศษกระดาษ เขาก็ยอม เพราะเขารับคำท้าทายอย่างมั่นใจ" ประวิทย์ คล่องวัฒนกิจ รองกรรมการผู้จัดการ "ผาแดงฯ" เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ในด้านการก่อสร้างโรงงานนนั้น ก็ใช้เงื่อนไขเดียวกันนี้ เจรจาต่อรองกับ "เมชิม" โดยแปลงค่าก่อสร้าง 105 ล้านบาทเป็นใบหุ้น ขณะเดียวกันกฤษณะ ศิวะกฤษณ์กุลแห่งซิโนไทย และต่อมาเป็นกรรมการผู้จัดการคนแรกของ "ผาแดงฯ" ก็ลงมาควบคุมการก่อสร้างด้วยตนเอง โดยมีซิโนไทยช่วยรับก่อสร้างบางส่วน ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนในขอบเขตที่แน่นอนได้

เมื่อมีแร่ เทคโนโลยี โรงงานแล้ว สิ่งที่ขาดมิได้ก็คือเงินทุน ส่วนใหญ่กู้เงินจากเอสจีบี (โซซิเอเต เจเนอราล เดอบองก์) ซึ่งเป็นเอ็กซิมแบงก์ของเบลเยียม เอสบีไอ ธนาคารเพื่อการพัฒนาของเบลเยียมในต่างประเทศ เอสเอ็นไอ-ธนาคารเพื่อการลงทุนของเบลเยียม และกลุ่มสถาบันการเงินในต่างประเทศที่มี "บีเอ เอเชีย" แห่งฮ่องกงเป็นตัวแทน ส่วนการกู้เงินภายในก็อาศัยไอเอฟซีที รวมเงินกู้ 2,028 ล้านบาท (โปรดดูตารางการบริหารหนี้)

ปัญหาก็คือ ต้องหาธนาคารในประเทศมาค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งก็ต้องมาเป็นผู้ถือหุ้นที่สำคัญของ "ผาแดงฯ" โครงการที่ง่อนแง่นในขณะนั้นด้วย คนที่มาแก้ปัญหานี้ ก็คือ NEGOTIATOR ผู้ยิ่งใหญ่นาม "ไกรศรี จาติกวนิช"

"การหาผู้ร่วทุนก็ต้องอาศัยบารมีของกระทรวงการคลัง บารมีของคุณไกรศรีก็ขอร้องให้สมาคมธนาคารสนับสนุนให้พวกแบงก์เข้ามาร่วมหุ้น สมัยนั้นคุณสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ เป็นนายกสมาคมก็เคารพชอบพอกัน คุณสมบูรณ์ก็จัดให้มีการประชุมสมาคม ขอร้องแกมบังคับให้คนมาร่วมลงทุนโปรเจคนี้ในการร่วมลงทุนก็เป็นไปตามสัดส่วนเงินฝากในสมัยนั้น ว่าแบงก์กรุงเทพ แบงก์กรุงไทย และไอเอฟซีทีก็เข้ามาตั้งแต่ต้น ถ้าพูดไปแล้วโปรเจคนี้เกิดขึ้นเพราะบารมีคุณไกรศรีแท้ ๆ เพราะว่าแกมีข่ายสัมพันธ์ ก็ขอร้องให้แบงก์ลงมาร่วม ถ้าแบงก์ไม่ลงมาโปรเจคนี้ก็ไม่เกิด เพราะว่าการกู้เงินจากต่างประเทศ แบงก์ไทยต้องค้ำประกัน เงินตั้ง 2-3 พันล้านบาท ก็ต้องร่วมกันค้ำประกัน ก็มี 2 แบงก์รับกันคนละครึ่ง โดยเป็นตัวแทนค้ำประกันของทั้ง 16 แบงก์" ประวิทย์ คล่องวัฒนกิจ เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

การได้แบงก์กรุงเทพซึ่งเป็นแบงก์เอกชนมาร่วมค้ำประกันอีกครั้งนี้ ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของไกรศรี ทั้งนี้ก็เพราะ "คุณชาตรีเชื่อมั่นในตัวคุณไกรศรีมาก" แหล่งข่าวกล่าว นับเป็นความเชื่อมั่นที่มั่นคงหนักแน่นมาตั้งแต่ชิน โสภณพนิช - รุ่นบิดา ที่มีต่อไกรศรีเมื่อครั้งยังมีตำแหน่งเป็นเศรษฐกรแห่งกระทรวงการคลัง

เมื่อปัญหาการเงินลุล่วงไปด้วยดี ก็ต้องลดต้นทุนการผลิตอื่น ๆ และขอรับการส่งเสริมในเรื่องต้นทุนการผลิต "ไฟฟ้า" เป็นเรื่องสำคัญอันหนึ่ง "ตอนนั้นค่าไฟฟ้ามันแพงกว่าที่เบลเยียมถึง 3 เท่า ก็ต้องเจรจากับรัฐบาลว่า อย่างน้อยต้องให้ราคาเท่ากับที่เบลเยียม ก็ตกลงกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้" แหล่งข่าวกล่าว

นั่นคือสัญญาซื้อกระแสไฟฟ้าเป็นเวลา 10 ปี และ "ผาแดงฯ" จะจัดหาที่ให้การไฟฟ้าจัดตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยขึ้นใกล้โรงงานที่ตาก ส่วนการส่งเสริมจากบีโอไอก็ได้ยกเว้นภาษีการค้าสำหรับการส่งออก ภาษีนิติบุคคล ภาษีเงินได้จากเงินปันผล เป็นต้น

เมื่อทุกอย่างพร้อมรบ สิ่งสุดท้ายก็คือ การเปลี่ยนภาพพจน์ของโครงการที่ไร้ความมั่นคงไปสู่การก่อเกิดอุตสาหกรรมพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศ การตั้งชื่อใหม่จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง

"ชื่อเสียงของสังกะสีแย่มาก เพราะทำให้นึกถง "ไทยซิงค์" เราก็เลยพยายามออกอิมเมจใหม่ ก็เปลี่ยนชื่อ คุณสาธิต อุทัยศรี เป็นคนตั้งชื่อ บอกว่า ใช้คำว่า "ซิงค์" ไม่ได้เด็ดขาด ก็คิดชื่อเป็น "ผาแดงฯ" อัศวิน คงสิริ เล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ให้ฟัง

"ผาแดงฯ" จึงเดินเครื่องทำการผลิตเต็มโครงการตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นมา ภายใต้ทีมงานบริหารที่นำโดยไกรศรี จาติกวนิช ประธานกรรมการ และกรรมการบริหารอย่างตามใจ ขำภโต แห่งแบงก์กรุงไทย ดำรง กฤษณามระ และสาธิต อุทัยศรีแห่งแบงก์กรุงเทพ โอฬาร ไชยประวัติแห่งแบงก์ไทยพาณิชย์ อัศวิน คงสิริแห่งไอเอฟซีที และกฤษณะ ศิวะกฤษณ์กุล แห่งซิโนไทย มาเป็นกรรมการผู้จัดการ เป็นต้น

โลหะสังกะสีแท่งที่ผลิตได้จะขายให้กับกลุ่มเครือข่ายบริษัทการค้าของ "มิตซุย" (ซึ่งมีมิตซุยแอนด์คัมปานี มิตรสยามฯ ไทยแลนด์ไอออนเวิร์ค สังกะสีไทย) ซึ่งเป็นเอเยนต์รายใหญ่ และเป็นผู้ใช้โดยตรงในการผลิตแผ่นสังกะสี ท่อน้ำ แป๊บน้ำที่ต้องใช้สังกะสีเคลือบ กลุ่มเหล่านี้ก็เข้ามาถือหุ้นและมีสัญญาเป็นเอเยนต์ครั้งละ 2 ปี ราคาซื้อขายถือเอาตามราคาอีพีพี (EUROPEAN PRODUCER PRICE) โดยได้ค่าคอมมิชชั่น 1-2%

จากนี้เป็นที่เห็นรากฐานกำเนิดและความเป็นมาเหล่านี้บ่งบอกความเป็นจริงเป็นจังของโครงการนี้ ตั้งแต่การสำรวจแร่ เทคโนโลยี การก่อสร้างโรงงาน แหล่งเงินกู้ ผู้ถือหุ้น การขอรับการส่งเสริม เอเยนต์การค้าและการสร้างภาพพจน์ งานด้านต่าง ๆ ถูกคลี่คลายไปได้อย่างหมดจด ประสานกับช่วงจังหวะที่ราคาโลหะสังกะสีแท่งในตลาดโลกที่พุ่งขึ้นทุกปี (ดูกราฟแสดงราคาสังกะสี) เพราะความต้องการของตลาดอเมริกาและยุโรปมีมากขึ้น อินเดียซึ่งเป็นคู่แข่งก็ผลิตได้น้อย เพราะน้ำในเขื่อนน้อยลงไม่สามารถผลิตพลังไฟฟ้ามาใช้ได้มากพอ ขณะเดียวกันค่าเงินดอลลาร์ตกต่ำทำให้คู่แข่งในยุโรปได้รับผลในแง่ที่ราคาจำหน่ายที่กำหนดไว้กับค่าเงินดอลลาร์ตกต่ำไปด้วย

ปัจจัยภายในที่หนักแน่น และปัจจัยภายนอกที่หนุนเสริมสัมพันธ์กันอย่างลงตัว ทำให้ฐานะของ "ผาแดงฯ" มั่นคงยิ่ง ๆ ขึ้น (ดูตารางตัวชี้ฐานะ) แม้ว่าปีแรกจะขาดทุน แต่ก็เป็นเพียงปีเดียว ทั้ง ๆ ที่โดยทั่วไปบริษัทที่ลงทุนในอุตสาหกรรมพื้นฐานกว่าจะทำกำไรได้อย่างน้อยต้องขาดทุนอยู่ 3-4 ปี

พอพ้นปี 2528 "ผาแดงฯ" เริ่มทำกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 9 เดือนแรกทำกำไรถึง 500 กว่าล้าน ขณะที่ปี 2530 ทำได้ 270 กว่าล้านบาท

กำไรที่ดียิ่งเช่นนี้ ทำให้ CURRET RATIO อยู่ในอัตราส่วนประมาณ 1:1 และ QUICK RATIO ก็อยู่ในสภาพที่เข้าใกล้ 1:1 ด้วย เท่ากับบ่งบอกถึงความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ และสภาพคล่องที่ดีเยี่ยม

แม้ว่าในช่วงแรก "ผาแดงฯ" จะเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ตรงที่ค่าเงินฟรังก์แข็งขึ้นทำให้ต้องจ่ายหนี้เพิ่มขึ้นอีก 300 กว่าล้าน ส่งผลให้เจ้าหนี้สร้างพันธะเงื่อนไขว่า ห้ามจ่ายเงินปันผลเกิน 20% จนกว่าจะมีกองทุนสำรอง (ที่สำรองจากกำไร) 345 ล้านบาท ทว่าตั้งแต่ปี 2529-2531 "ผาแดงฯ" ก็สามารถทำกำไรมาสำรองได้ทุกปี (จาก 60, 138 และ 145 ล้านบาท ตามลำดับ)

เมื่อสามารถทำได้ตามพันธะสัญญา "ผาแดงฯ" ก็จ่ายเงินปันผลได้เกิน 20% ซึ่งปัจจุบันคาดว่าจะจ่ายได้ถึงกว่า 50%!

เมื่อกำไรดี ยอดขายเพิ่ม ปี 2530 "ผาแดงฯ" เตรียมโครงการเพิ่มกำลังการผลิตโลหะสังกะสีแท่ง (ZINC INGOT) จาก 6 หมื่นเมตริกตันต่อปีเป็น 7 หมื่นเมตริกตันต่อปี ซึ่งจะเริ่มเดินเครื่องเต็มกำลังที่วางไว้นี้ในปี 2532

ขณะเดียวกันเมื่อต้นปีนี้ "ผาแดงฯ" เริ่มเพิ่มโครงการผลิตโลหะผสมสังกะสี (ZINC ALLOY (ZAMAK 3)) อันเป็นสังกะสีที่ผสมเข้ากับอะลูมิเนียมและแมกนีเซียม ได้โลหะผสมสังกะสีที่ทั้งแข็งแกร่งและทั้งหล่อผลิตภัณฑ์ (DIE-CASTING) ได้ง่ายและคงขนาดแม่นยำ ใช้หล่อพวกคาร์บูเรเตอร์ มือจับประตู ของเด็กเล่น เป็นต้น ด้วยกำลังการผลิต 8,000 เมตริกตันต่อปี สอดคล้องกับความต้องการภายในประเทศปีละ 3,000 เมตริกตันและส่งออกด้วย

"โครงการนี้ เวียงมองตานเป็นคนแนะนำ เขาพาเราไปบริษัทเปอรองที่ฝรั่งเศสซึ่งเชี่ยวชาญในการทำไดคาสติ้งด้วยโลหะผสมสังกะสี ว่าน่าจะติดต่อร่วมทุนด้วย แล้วยังบอกอีกว่า วัดวาอารามในยุโรปกำลังจะเปลี่ยนมาใช้หลังคาที่ทำด้วยสังกะสีทั้งแท่งซึ่งอยู่ได้เป็นร้อยปี เขาชวนว่าน่าจะลงทุนในเมืองไทย" แหล่งข่าวกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น ทีมงานบริหารของ "ผาแดงฯ" เริ่มขยับขยายโครงการใหม่ ๆ โดยเฉพาะการสำรวจแร่ และการขยายเข้าสู่กิจการใหม่ ๆ

"ในแง่ธุรกิจ เราต้องหาแร่เพิ่มตามอายุโรงงาน เราจึงเร่งรัดการหาแหล่งแร่ เวลานี้เราพบแล้วว่ามี 15 แหล่งในไทย ปี 2532 เราจะหาอีก 15 แหล่ง รวมเป็น 30 แหล่ง ต่อไปเราจะจัดตั้งหน่วยสำรวจแร่ มีนักภูมิศาสตร์มาทำงานทั้งหมด 22 คน ตั้งเป็น "สำนักงานสำรวจและผลิต" ปลายปีนี้ แล้วให้คุณ ช. วิรุฬห์ เพ็ชญไพศิษฏ์มาเป็นหัวหน้า ส่วนทางเหมืองก็ให้คุณเจษฎ์ เลี้ยงสุทธิสกนธ์คุมไป ทีมสำรวจนี้จะแบ่งเป็น 5 ทีม ออกสำรวจให้ทั่วภายใน 2 ปี ถ้าแน่ใจว่าทำเป็นการค้าได้ก็เอา อีก 3-4 ปี เราจะตัดสินใจเปิดเหมืองใหม่อีกเหมืองหรือสองเหมือง ซึ่งมีประมาณ 5-10 ล้านตัน ถ้าเราเจอ หรือเราเจอที่เล็ก ๆ เราก็จะสนับสนุนให้เจ้าของเหมืองทำแล้วมาขายให้เราในราคาที่ตกลงกัน ไอ้พวกนี้มันอยู่ในโปรแกรมเราอยู่แล้ว" ประวิทย์ คล่องวัฒนกิจให้รายละเอียด

การสำรวจแร่เป็นเรื่องแรกที่ "ผาแดงฯ" ให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยมีแนวโน้มจะร่วมทุนกับ "ตากไมนิ่ง" ซึ่งมีประทานบัตรอยู่ในเนื้อที่ที่ล้อมกรอบที่เหมืองของ "ผาแดงฯ" และมีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเหมืองแร่แห่งเยอรมัน - "มองเตลเกซาร์ป" เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยต่างฝ่ายต่างสำรวจแร่ และมีความเห็นไปคนละทาง

"ก่อนที่เราจะร่วมลงทุน ทางเวียงมองตานก็ส่งนักภูมิศาสตร์มาร่วมกับนักภูมิศาสตร์ของตากไมนิ่ง ก็ออกมาด้วยความเห็นที่ไม่สอดคล้อง คนของเราเห็นว่าน่าจะอยู่ในที่ของเรา คือบริเวณใต้ที่ของเรา แต่เขาเห็นว่าทางแร่มันอยู่ในที่ของเขา ก็โอเค เราก็มาร่วมลงทุนกันได้ ตอนนี้ก็กำลังเจรจากันยังไม่ยุติว่าใครจะเป็นหุ้นใหญ่" ประวิทย์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

สำหรับการขยายเข้าสู่กิจการใหม่ ๆ (ดูแผนภาพการใช้สังกะสีในประเทศ) เป็นทิศทางที่ทีมบริหาร "ผาแดงฯ" ถือได้ว่าต้องมองไปข้างหน้า เพราะว่า "การทำธุรกิจกับ "คอมมอดิตี้" ย่อมรู้อยู่ว่า ราคามันขึ้น ๆ ลง ๆ ตามดีมานด์-ซับพลาย เพราะฉะนั้นถ้าเรามีกิจการใหญ่โต มีพนักงานตั้ง 7-800 คน แล้วมาพึ่งสินค้าตัวเดียวมันอันตราย เรารู้อยู่ว่า การทำให้ทรัพยากรมันมีมูลค่าเพิ่มคือ นำแร่ไปทำถึงขั้นดาวน์สตรีม สังกะสีเอาไปทำอะไรบ้าง เราก็สร้างเป็นโครงการและหาผู้ร่วมทุนขึ้นมา ตอนนี้เราก็กำลังตั้งหน่วยงานขึ้นหน่วยหนึ่งเรียกว่า บิสสิเนส ดิเวลลอปเมนท์ ขึ้นดำเนินการด้านนี้" แหล่งข่าวระดับบริหารชี้แจงกับ "ผู้จัดการ"

ในทิศทางดังกล่าว การร่วมทุนกับ "ยูนิไทยออกไซด์" ทำการผลิต "ซิงค์ออกไซด์" (ZINC OXIDE) ผงสังกะสีที่ใช้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยางเช่น ยางรถยนต์ ถุงมือยาง ถุงยางคุมกำเนิด ใช้ผสมสีอุตสาหกรรม เป็นต้น และการร่วมทุนกับ "มิตซุยไมนิ่ง" ผลิตแคดเมี่ยมออกไซด์ 500-750 ตันต่อเดือน เริ่มผลิตปี 2533 ทางเวียงมองตานจะสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและเมชิมจะช่วยด้านการสร้างโรงงานอีกเช่นเคย แคดเมี่ยมออกไซด์ที่ผลิตได้จะใช้เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ และผลิตนิเกิลแคดเมี่ยมสำหรับการหลอมท่อเหล็ก

"จริง ๆ แล้วในโปรเจคของ "ผาแดงฯ" นี้ก็รวมเอาโครงการลงทุนผลิตแคดเมี่ยมไว้ตั้งแต่แรกแล้ว แต่ตอนนั้นก็ตกลงกันทั้งสองฝ่ายว่า ในเมื่อราคาแคดเมี่ยมในตลาดแย่มาก ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร น้ำหนักปอนด์หนึ่งไม่ถึงเหรียญ ทำไปก็ไม่คุ้ม เลยตกลงว่ายังไม่สร้าง เก็บเอาไว้ก่อน ถึงเวลาราคาดีแล้วค่อยมาสร้าง แล้วเที่ยวนี้ราคาดี มันขึ้นมาตั้ง 8-9 เหรียญ ตั้งแต่ต้นปีนี้ แล้วแคดเมี่ยมมันผลิตเองไม่ได้ มันเป็นผลพลอยได้ การจะซับพลายของก็ต้องมาจากโรงถลุงสังกะสีแล้วเวียงมองตานก็เป็นคนรับอาสาจะให้โนว์ฮาว ส่วนเมชิมก็ขอสร้างโรงงานให้ ในที่ประชุมเดือน พ.ค. ปีนี้เขาก็ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ พอเดือน ก.ค. ก็ประชุมขอความเห็นชอบ ตอนนี้เวียงมองตานกำลังทดสอบกากแร่ที่เก็บไว้อยู่ เพราะเก็บไว้นานทำให้มันเกิดออกซิไดซ์อะไรขึ้นมา เขาก็กำลังช่วยเราทำอยู่" ประวิทย์ชี้แจง

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่นอกเหนือจากเรื่องแร่สังกะสี ก็คือ ทาง "โบรคเคนฮิล" แห่งออสเตรเลียก็เสนอให้ "ผาแดงฯ" ร่วมทุนในอุตสาหกรรมเหล็กรีดร้อนรีดเย็น ตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาอยู่

โครงการเหล่านี้เป็นทิศทางอันใหม่ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมต้องอาศัยเงินลงทุนเพิ่มขึ้นไปอีก เนื่องจากเป็น "ผาแดงฯ" ที่แรงฤทธิ์ เงินลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากผลกำไรและกำไรสำรองที่เคยจัดสรรไว้ตามเงื่อนไขของเจ้าหนี้จำนวน 345 ล้านบาท

จากนี้เป็นที่เห็นนโยบายของ "ผาแดงฯ" ในการจัดหาทุนมาดำเนินงานต่อนั้นอยู่ในทิศทางที่มั่นคงยิ่งนัก DEBT/EQUITY RATIO จึงมีแนวโน้มจาก 2.95:1 ในปี 2528 มาเป็น 1.16:1 ในปีนี้ ยิ่งไปกว่านั้นการเอากำไรสำรองพิเศษ 345 ล้านบาทซึ่งเดิมวางแน่นิ่งอยู่ในธนาคารมาใช้ลงทุนให้เกิดประโยชน์โภชผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการผลักดันธุรกิจไปข้างหน้า ก็ถือได้ว่า เป็นการบริหารทุนหมุนเวียนชั้นเซียน

"เรามีพันธะกับเจ้าหนี้แต่เดิมว่า เมื่อมีกำไรให้สำรองจำนวนหนึ่งเป็นเงินสดเพื่อที่เวลามีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ จะได้ถอนเงินจำนวนนี้ไปจ่ายหนี้ได้ ทีนี้กิจการมันดีเหลือเกินแล้ว ก็มาเจรจากันใหม่ว่า การที่ผมเอาเงินไปฝากแบงก์ไว้เฉย ๆ ขณะเดียวกันเวลาผมจะทำโปรเจคอะไรต้องไปกู้เงินที่มีดอกเบี้ยสูง ก็เลยขอว่า ถ้ามีแบงก์ไทยมาค้ำประกันเงินทุนสำรองนี้ คือ แบงก์กรุงเทพ กรุงไทย และไอเอฟซีที จะออกเป็น STAND BY DIVIDEND คล้ายโอดี ถ้าในกรณีต้องชำระหนี้ แล้วบริษัทไม่มีเงินชำระหนี้ทั้งสามแบงก์นี้พร้อมจะลงขันให้กู้ไปใช้หนี้ในอัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ -.05%" ประวิทย์ คล่องวัฒนกิจบอกกับ "ผู้จัดการ"

ในช่วงรอยต่อระหว่าง "ผาแดงฯ" ยุคบุกเบิกและลงตัวกับยุคขยายกิจการใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น ก็มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการจากกฤษณะ ศิวะกฤษณ์กุลมาเป็นอาสา สารสิน นัยสำคัญของประเด็นนี้อยู่ตรงที่ กฤษณะเป็นผู้นำสไตล์บุกเบิก มีความชำนาญด้านการก่อสร้าง และควบคุมโรงงาน แต่เมื่อ "ผาแดงฯ" ลงตัวและมุ่งไปสู่การขยายกิจการ ก็เรียกร้องต้องการผู้นำอีกสไตล์ที่เป็นที่นับถือในวงการต่าง ๆ โดยเฉพาะสายสัมพันธ์กับธุรกิจต่างประเทศ เพื่อริเริ่มโครงการใหม่ ๆ ร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ ผู้นำคนใหม่จึงต้องเป็นอาสา สารสิน อดีตท่านทูตประจำกรุงวอชิงตันฯ

จุดนี้เป็นประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ไปตอกย้ำความเชื่อที่ว่า แบงก์กรุงเทพและพวก (มีกลุ่มมิตซุย กลุ่มศรีกรุงวัฒนา และซิโนไทยอินดัสเตรียล ซึ่งเป็นเอเยนต์การค้า และมีทีมบริหารที่ใกล้ชิดกับแบงก์กรุงเทพ เช่น ไกรศรี จาติกวนิช สาธิต อุทัยศรี ดำรง กฤษณามระ เป็นต้น) มีอิทธิพลใน "ผาแดงฯ" และเมื่อได้อาสาซึ่งมีอีกสถานะหนึ่งคือ เป็นกรรมการแบงก์กรุงเทพ มาเป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่ ก็เท่ากับ "ผาแดงฯ" อยู่ในเงื้อมเงาของชาตรี"

มีข้อมูลหลายประเด็นที่สามารถคลายความเชื่อนี้ลงไปได้บ้าง!

หนึ่ง-ความเป็นมาที่อาสาเข้ามาเป็นกรรมการแบงก์กรุงเทพนั้นก็เพราะอำนวย วีรวรรณ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิท ชักชวนให้มาด้วยเจตนาดีที่เห็นว่า ทำราชการมานานรายได้ก็จำกัด ก็ให้มีตำแหน่งที่แบงก์กรุงเทพ จะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน "การเป็นกรรมการแบงก์ใหญ่ ๆ อิทธิพลไม่ได้มากอะไร หน้าที่ก็เพียงให้ความเห็นด้านนโยบาย ผมไม่เห็นว่า ทางแบงก์จะมาใช้เป็นเครื่องมือทำอะไรได้ ผมว่ามันเป็นเกียรติภูมิแก่แบงก์มากกว่า" อัศวิน คงสิริให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ"

สอง-ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ยังคงเป็นของสถาบันทางราชการ คือ กระทรวงการคลัง ไอเอฟซีที และแบงก์กรุงไทยรวมแล้วประมาณ 35% ในขณะที่แบงก์กรุงเทพ เงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ และมิตรสยามอินเตอร์ฯ มีรวมกันประมาณ 10% เท่านั้น

สาม-ความสัมพันธ์ระหว่างไกรศรีกับชาตรีที่เกี่ยวกับ "ผาแดงฯ" ได้กล่าวไว้ชัดเจนแล้วในต้นเรื่องของ "ผาแดงฯ" ส่วนสาธิต อุทัยศรี และดำรง กฤษณามระ ต่างก็ผลักดันเข้ามาเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริษัทดูแลด้านนโยบาย ลักษณะการเข้ามาเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้น และเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ เช่นเดียวกับที่เธียรชัย ศรีวิจิตรเป็นตัวแทนของแบงก์กรุงไทย อัศวิน คงศิริ เป็นตัวแทนจากไอเอฟซีที เป็นต้น

สี่-การเลือกกลุ่มบริษัทดังกล่าวข้างต้นมาเป็นเอเยนต์การค้านั้น ก็อาศัยหลักเกณฑ์ที่ว่ามีช่องทางจำหน่ายที่แน่นอน เพราะมีบริษัทในเครือต้องใช้สินค้าตัวนี้อยู่แล้ว ที่สำคัญที่สุดคือ ขายตามราคาอีพีพี ได้คอมมิชชั่น 1-2% ซึ่งเป็นการค้าที่ชัดเจนแน่นอน ยิ่งไปกว่านั้น สัญญาการเป็นเอเยนต์การค้าที่ต้องต่อทุก 2 ปี กำลังจะหมดในปลายปีนี้แล้ว และ "ผาแดงฯ" จะเริ่มปรับนโยบายใหม่ โดยจะขายตรงกับผู้ใช้เองด้วยในสัดส่วนของสินค้าที่เพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 30-40% เพื่อรับกับแนวโน้มที่ตลาดภายในจะขยายสัดส่วนมากขึ้นจาก 2 หมื่นตันเป็น 5 หมื่นตัน การส่งออกจะลดลงเหลือเพียงประมาณ 1 หมื่นตันเท่านั้น ทั้งนี้ในการขายก็จะปรับปรุงด้านบริการจากเดิมที่ผู้ซื้อต้องขนของขึ้นรถเอง และจะต้องจ่ายเป็นเงินสด มาเป็นบริการจัดของขึ้นรถให้ และเปิดเครดิตได้ ดังนั้นเอเยนต์เดิมก็จะครอบครองสัดส่วนของสินค้าน้อยลง และมี "คู่แข่ง" ด้านการตลาดที่สำคัญเพิ่มอีกหนึ่งราย

จากนี้เป็นที่เห็น แบงก์กรุงเทพและกลุ่มธุรกิจที่ใกล้ชิด ก็เป็นเพียงหน่วยธุรกิจที่เข้ามาเกี่ยวพันกับ "ผาแดงฯ" ตั้งแต่แรก มีความเป็นมาที่ชัดเจน สมเหตุสมผล และมีขอบเขตการทำธุรกิจกับ "ผาแดงฯ" ที่แน่นอน

ทีนี้จะพิจารณาถึงเหตุการณ์สำคัญที่ถูกหยิบขึ้นมาเขย่า "ผาแดงฯ" ให้สั่นสะเทือนเลื่อนลั่นนั่นคือ กรณีที่เวียงมองตานขายหุ้นทิ้งทั่งหมด

อันที่จริง เบื้องหลังของกรณีนี้ มีเนื้อหาธรรมดาที่สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย!

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเป็นอันดับแรก ก็คือ โครงการ "ผาแดงฯ" เป็นโครงการที่อาศัยร่วมทุนจากหลายฝ่ายเพื่อให้บริษัทนี้เกิดขึ้นให้ได้ และเมื่อกิจการดำเนินไปมั่นคงดีขึ้นเรื่อย ๆ ทุกฝ่ายต่างก็ต้องขยายหุ้นเพื่อเอาทุนคืน นับเป็นเรื่องธรรมดาประการหนึ่ง (ดูตารางการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น)

"เมื่อร่วมลงทุนทุกคนเสี่ยงทั้งนั้น ใส่เงินมาตั้งแต่ 2524 เจ็ดปีแล้ว โครงการนี้ไปได้แล้ว ทุกคนก็ขายหุ้นทั้งนั้นเพียงแต่ไม่เป็นข่าวเพื่อเอาทุนคืน ส่วนที่เหลือเก็บไว้เอากำไรต่อไป" แหล่งข่าวในทีมบริหาร "ผาแดงฯ" ชี้แจงให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

กรณีเวียงมองตานก็เช่นกัน มีการขายหุ้นเพื่อเอาค่าเทคโนโลยีเมื่อครั้งซื้อขายโดยแปลงเป็นใบหุ้น ให้กลับคืนเป็นตัวเงินพร้อมกำไรสะสมที่ได้รวมประมาณ 700 กว่าล้านบาท ทีนี้ในกรณีที่ต้องขายหุ้นออกจนหมดนั้น เหตุผลที่เป็นข้อเท็จจริงที่แท้จริงนั้น ก็คือธุรกิจของเวียงมองตานในเบลเยียมขาดทุน

สภาพการขาดทุนนั้นเกิดจากต้นทุนการผลิตสูง เนื่องจากไม่มีแร่เป็นของตนเอง ต้องซื้อจากอัฟริกา หรือชิลีในราคาอีพี ซึ่งถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราคงที่ ราคาอีพีพีเป็นเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ แต่พอเปลี่ยนมาเป็นเงินฟรังก์เบลเยียมได้น้อยลง เมื่อผลิตออกมาเป็นโลหะสังกะสีขายในระดับราคา 800 กว่าเหรียญ ก็ปรากฏว่าขาดทุน นอกจากนี้ยังต้องทุ่มเงินลงไปจัดการกับธุรกิจในฝรั่งเศสทำให้บริษัทขาดสภาพคล่อง เลยต้องแก้ไขโครงสร้างการเงินเสียใหม่ด้วยวงเงินประมาณ 4 พันล้านบาท

ทางธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ก็เรียกร้องให้แก้ไขโดยการเพิ่มทุน หรือไม่ก็หาทางขายสินทรัพย์ที่มีอยู่หนทางแรกก็เป็นไปไม่ได้เพราะ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่มากกว่า 25% ไม่เห็นด้วย จึงเหลือวิธีที่สอง ก็เลยมีการตั้งเกณฑ์ในการเลือกสินทรัพย์ออกขายขึ้น 2 ประการคือ เป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีส่วนสำคัญต่อบริษัท และเป็นสินทรัพย์ที่สามารถขายออกได้ภายในปีนี้

ปรากฏว่าสินทรัพย์ที่อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวมีดังนี้คือ หุ้นของผาแดง หุ้นของเหมืองในโมร็อกโค ในอเมริกา โรงงานไฮโดรอีเลคทริคที่ฝรั่งเศส สิ่งปลูกสร้างและที่ดินในฝรั่งเศส เบลเยียม เยอรมัน และสวีเดน (ดูรายละเอียดในเทเล็กซ์ของมิสเตอร์มาสซอง กรรมการผู้จัดการทั่วไปของเวียงมองตาน)

"สำหรับผาแดง ก็มีการขายลอตใหญ่ไปคราวหนึ่งประมาณ 4 แสน 8 หมื่นหุ้น เพราะว่าเขาต้องการแสดงกับเจ้าหนี้ว่า หุ้นของผาแดงราคาดีมี EQUITY สูง เพราะฉะนั้นเขาก็สามารถแสดงกำไรปิดบัญชี ณ วันที่ 30 มิถุนายน แก่เจ้าหนี้ แสดงว่าบริษัทนี้ตัวเลขสวย ส่วนลอตสุดท้ายนี้ เราก็เห็นว่า การเอาหุ้นจำนวนมากเทขายในตลาดนั้น จะทำให้เกิดความแตกตื่น ราคาหุ้นจะตกลงและมีผลต่อการบริหารงานด้วย เราก็เลยขอให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ พวกแบงก์ต่าง ๆ มารับโอนหุ้นไปคนละส่วน" แหล่งข่าวกล่าว (รายละเอียดโปรดอ่านบทสัมภาษณ์ อาสา สารสิน)

จากนี้เป็นที่เห็น การผละจาก "ผาแดงฯ" ของเวียงมองตาน สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาการขาดทุนจนต้องขายสินทรัพย์ และการผละครั้งนี้ก็เป็นสภาพ "ตัดบัวยังเหลือใย" คือ ยังร่วมทุนในโครงการใหม่ ๆ ต่อไปอีก เช่น การสำรวจแร่ การผลิตแคดเมี่ยมออกไซด์ เป็นต้น ในด้านเทคโนโลยี เวียงมองตานก็ยังสนับสนุนให้ตามสัญญาที่วางกันไว้ถึงปี 2537 ยิ่งไปกว่านั้นทุกวันนี้วิศวกรคนไทยกว่า 20 คนก็สามารถควบคุมการผลิตประจำวันได้อยู่แล้ว

"ตอนนี้เราคุมโดยคนไทยทั้งหมด รองผู้จัดการโรงงานคือ คุณธรรมนูญ นิยมวัน ผู้จัดการฝ่ายซ่อมบำรุง ก็คือ คุณสมชัย พงษ์รุ่งเรือง สองคนนี้มาจาก "ปูนซีเมนต์ไทย" ทั้งนั้น แล้วก็มี ดร. เสถียร นิลธวัช คุมด้านการผลิต สิ่งที่เรากังวลตอนนี้คือ เราต้องรักษาคนเหล่านี้ให้อยู่กับเรา ในขณะที่มีการแย่งตัววิศวกรกันอย่างมาก" ประวิทย์ คล่องวัฒนกิจชี้แจงกับ "ผู้จัดการ"

ยิ่งไปกว่านั้น การโอนหุ้นกันครั้งนี้ก็ได้สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ด้วยอีก เท่ากับเสริมบารมีของ "ผาแดงฯ" ให้แรงฤทธิ์ยิ่งขึ้น ดูไปแล้ว "ผาแดงฯ" เป็นตัวแบบบริษัทที่คล้ายกับกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย เพียงแต่เล็กกว่าและเพิ่งเกิดเท่านั้น

เมื่อความเป็นจริงกระจ่างชัดออกมาเช่นนี้ จึงมีข้อสังเกตตามมาว่า กรณีการปล่อยข่าวลือว่า เวียงมองตานขัดแย้งกับ "ผาแดงฯ" จึงขายหุ้นทิ้งทั้งหมด น่าจะเป็นการกระทำที่หวังผลให้หุ้นผาแดงราคาตกลง เพื่อจะได้เกิดการซื้อขายเก็งกำไรกันได้ ทั้งนี้โดยใช้กลเม็ดที่แยบยลฉวยโอกาสจับกระแสข่าวธรรมดาของเวียงมองตาน มาสร้างเนื้อหาเพื่อกระตุ้นจิตวิทยาของผู้คนให้หวั่นไหว

ข้อสังเกตนี้ถูกฉุกคิดขึ้นด้วยเหตุผลรับรองที่ว่า ผาแดงฯ เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่หุ้นมีราคาสูง พุ่งขึ้นติดอันดับตลอดมา ความสำคัญเช่นนี้ทำให้หุ้นของผาแดงฯ กลายเป็นหุ้นที่น่าเก็งกำไรเป็นที่สุด แน่นอนว่า ผลที่ตามมาก็คือการสร้างสถานการณ์หรือกระแสความเข้าใจที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นไปของราคาหุ้น

เรื่องเช่นนี้ใครทำ ใครได้ ใครเสีย เป็นเรื่องที่เหลือเดาของ "ผู้จัดการ"

แต่สิ่งที่ชวนคิดสร้างสรรค์ไปกว่านี้ก็คือ เบื้องหน้าสภาพการณ์เช่นนี้ การบริหารงานข่าว ของ "ผาแดงฯ" จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดต่อภาพพจน์และข้อเท็จจริงของบริษัท ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อให้ผู้ถือหุ้นทุกรายได้รับประโยชน์จากการถือหุ้นของ "ผาแดงฯ" อย่างมีหลักเกณฑ์ และด้วยจิตใจที่แจ่มชัด

นี่จึงเป็นงานที่ทีมงานบริหาร "ผาแดงฯ" จะต้องวางแผนรับมือให้รัดกุมและทันท่วงที

เพราะอะไรหรือ?

ก็เพราะว่า นี่คือ "ผาแดงฯ" ที่แรงฤทธิ์นั่นเอง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us