|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
สหวิริยาสตีลฯตั้งเป้าปีรายได้เสมอตัวเท่าปีที่แล้ว 2.69 หมื่นล้านบาท แม้ว่าจะเพิ่มการผลิตและขายอีก 50% สาเหตุเนื่องจากราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนฯปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 470 เหรียญสหรัฐ/ตัน มั่นใจราคาไม่ต่ำกว่านี้หลังจีนลดการส่งออกลง ส่วนโครงการโรงถลุงเหล็กเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด อ้างรัฐบาลชุดนี้ไม่มีนโยบายส่งเสริมอย่างชัดเจน
นายวิน วิริยประไพกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน)(SSI) เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทฯตั้งเป้ารายได้ใกล้เคียงปี 2551 ที่มีรายได้รวม 2.69 หมื่นล้านบาท แต่ปริมาณการผลิตและขายเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนในปีนี้จะเพิ่มขึ้นจาก 1.02 ล้านตันเป็น 1.5 ล้านตัน/ปี เป็นผลจากราคาขายเหล็กแผ่นรีดร้อนฯในปีนี้จะอ่อนตัวลงจากปีก่อน ล่าสุดอยู่ที่ 470 เหรียญสหรัฐ/ตัน ต่ำกว่าปลายปีที่แล้วที่ราคาตันละ 540 เหรียญสหรัฐ
แม้ว่าราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนในขณะนี้จะปรับตัวลดลง แต่ราคาวัตถุดิบกลับลดลงในอัตราส่วนที่สูงกว่าราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนทำให้ค่าการรีดเหล็ก(มาร์จิน)ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 125 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ประกอบการอยู่ได้โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 7 % ทำให้มั่นใจว่าผลการดำเนินงานบริษัทฯจะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิในไตรมาส 3 นี้ หลังจากบริษัทได้ตั้งค่าเผื่อการลดมูลค่าสินค้าคงเหลือจากปีที่แล้วไว้ที่ 5.4 พันล้านบาท และไตรมาสแรกปีนี้ตั้งค่าเผื่อการลดมูลค่าฯเพิ่มอีก 800 ล้านบาท สืบเนื่องจากราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนฯในไตรมาสแรกปรับตัวลงอีก
อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนจะปรับลดลงกว่านี้คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 1ของจีน ซึ่งเป็นบริษัทที่มีต้นทุนการผลิตต่ำสุดของจีนได้ประกาศราคาเหล็กรีดร้อนฯงวดเดือนมิ.ย.เอาไว้ที่ตันละ 482 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งเป็นระดับราคาที่สูงกว่าราคาที่บริษัทตั้งสำรองไว้
นอกจากนี้ จีนในฐานะผู้ส่งออกเหล็กรายใหญ่ของโลกได้ลดปริมาณการส่งออกเหล็กจากเดิม 5 ล้านตันเหลือเพียง 1.5-1.6 ล้านตัน/เดือน หรือลดลงประมาณ 70% เนื่องจากต้นทุนการผลิตของจีนสูงกว่าราคาตลาดโลกทำให้ไม่สามารถส่งออกมาแข่งขันได้ ทำให้ปริมาณเหล็กที่จะป้อนออกสู่ตลาดโลกในปีนี้ลดลง 40 ล้านตัน รวมทั้งราคาแร่เหล็กในปีนี้ส่อแววปรับลดลงจากปีก่อนลง 40 %ตามทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ซึ่งขณะนี้ผู้ผลิตแร่เหล็กรายใหญ่อยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลกคาดว่ามีข้อสรุปในเร็วๆนี้ เดิมราคาแร่เหล็กในตลาดจรปีที่แล้วอยู่ที่ 180 เหรียญสหรัฐ/ตัน ปัจจุบันราคาแร่เหล็กในตลาดจรอยู่ที่ 65 เหรียญสหรัฐ/ตัน
นายวิน กล่าวต่อไปว่า แนวโน้มความต้องการใช้เหล็กโดยรวมของประเทศปีนี้จะปรับลดลงจากปีก่อน 21%จาก 12 ล้านตันมาอยู่ที่ระดับ 10 ล้านตันต่อปี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและปัญหาการเมืองก็ตาม แต่บริษัทฯเชื่อมั่นว่าจะเพิ่มปริมาณการขายเหล็กแผ่นรีดร้อนมากกว่าปีก่อน 50%มาอยู่ที่ 1.5 ล้านตัน เนื่องจากธุรกิจยานยนต์ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 1/2552 ที่ผู้ผลิตต้องหยุดผลิตเพื่อเร่งระบายรถยนต์ในสต็อกลง ทำให้การใช้เหล็กลดลงมาก แต่เชื่อว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะกลับมาผลิตดีขึ้นในเดือนพ.ค.นี้ ทั้งปียอดการผลิตรถยนต์อยู่ที่ 9.5 แสนคันลดลงจากปีก่อนที่ผลิตอยู่ 1.4 ล้านคัน ซึ่งบริษัทฯมองว่าปริมาณการผลิตรถยนต์ที่ระดับนี้ยังสูงกว่าปี 2545 ซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ยุคทองของอุตสาหกรรมเหล็ก
นอกจากนี้ บริษัทฯตั้งเป้าหมายเพิ่มการส่งออกเหล็กแผ่นรีดร้อนเพิ่มขึ้นเป็น 10%จากปีก่อนที่ส่งออกเพียง 3-4%เท่านั้น โดยตลาดส่งออกหลักคือตะวันออกกลาง และจีน สำหรับราคาส่งออกพบว่าเหล็กบางเกรดยังมีราคาส่งออกดีอยู่ โดยบริษัทฯไม่มีแผนการส่งออกเหล็กแผ่นรีดร้อนฯไปตลาดสหรัฐฯอีก หลังหยุดทำตลาดมาเป็นเวลา 2ปี
นายวิน กล่าวถึงแผนการลงทุนในปีนี้ว่า บริษัทฯได้ชะลอโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการขยายเครื่องจักร แต่ยังคงลงทุนโครงการลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้พลังงานรวมทั้งการวิจัยและพัฒนา(R&D) คาดว่าจะใช้เงินลงทุนปีนี้ประมาณ 100 กว่าล้านบาท
ส่วนโครงการโรงถลุงเหล็กกำลังผลิต 5 ล้านตัน มูลค่าเงินลงทุนรวม 9 หมื่นล้านบาทของเครือสหวิริยานั้น คงต้องชะลอออกไปก่อน หลังจากรัฐบาลไม่มีความชัดเจนในการส่งเสริมการลงทุนโรงถลุงเหล็กให้เกิดขึ้นในประเทศ ทั้งๆที่ไทยต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าเหล็กแต่ละปีหลายแสนล้านบาทก็ตาม โดยยอมรับว่าปัญหาการเมืองในประเทศมีผลกระทบต่อโครงการโรงถลุงมาก เนื่องจากโครงการนี้เป็นการลงทุนขนาดใหญ่เกือบแสน ล้านบาท จำเป็นต้องอาศัยรัฐบาลที่มีความเข้มแข็งผลักดันให้เกิดโครงการขนาด
ใหญ่นี้ เช่นเดียวกับการผลักดันการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ หากให้เอกชนเป็นผู้ผลักดันโครงการนี้คงเกิดขึ้นได้ยากหากรัฐบาลไม่ช่วยสนับสนุน
“หากการเมืองไทยยังเป็นแบบนี้ คงมีความเสี่ยงสูงที่จะถลำไปแล้วเสียหาย สู้หยุดโครงการไว้ก่อน ขณะเดียวกันก็ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนที่เวียดนามเพิ่มเติมด้วย “
|
|
|
|
|