Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2531
ชิปปิ้งไทย : อาชีพที่เฟื่องที่สุดในโลก             
โดย รุ่งอรุณ สุริยามณี
 

   
related stories

บางกอกเครนเน็จ ความแค้นของ ทวิช กลิ่นประทุม
จากท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ถึงเรือขุด คนละเรื่องเดียวกัน บทพิสูจน์ความเก่งกาจของอิตัลไทย!?

   
www resources

โฮมเพจ กรมศุลกากร
โฮมเพจ การท่าเรือแห่งประเทศไทย

   
search resources

กรมศุลกากร
การท่าเรือแห่งประเทศไทย
Import-Export
Logistics & Supply Chain




ธุรกิจชิปปิ้งมีมานานแล้ว ทำหน้าที่แทนผู้ส่งออกและนำเข้าโดยเกี่ยวข้องกับสองหน่วยงาน คือกรมศุลกากร ในการเสียภาษีและดำเนินการตามพิธีศุลกากร ส่วนที่สองเกี่ยวข้องกับการท่าเรือฯ โดยตรงคือกระบวนการที่ไปปล่อยของออกจากท่าเรือฯ

กล่าวกันว่าธุรกิจนี้เฟื่องฟูมากในเมืองไทยนั้น เหตุเพราะขั้นตอนต่าง ๆ ทั้งในส่วนของกรมศุลฯ และการท่าเรือฯ นั้นยุ่งยากมาก กว่าจะผ่านไปได้แต่ละขั้นตอน ซึ่งชิปปิ้งยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องจ่ายใต้โต๊ะแทบทุกขั้นตอน เป็นค่า "ฝีมือ" (ไม่รู้ต้องใช้ฝีมืออะไรกันนักหนา) ซึ่งถ้าคุณไปเปิดกระเป๋าถือของชิปปิ้ง จะพบแบงก์ร้อย, แบงก์สิบ-ยี่สิบ เป็นปึกเอาไว้จ่ายเจ้าหน้าที่ ซึ่งที่นี่เวลาจ่ายเงินกันไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนเหมือนจ่ายให้ตำรวจจราจร เขาหยิบขึ้นมานับแล้วจ่ายกันเห็น ๆ เลย เจ้าหน้าที่รับเงินแล้วนับ บางคนยังมีต่อรองราคาอีกต่างหาก "เฮ้ย น้อยไป"

ความจริงแล้วหัวใจในการทำงานของการท่าเรือฯ คือ "การให้บริการ" ที่สะดวกรวดเร็ว และถูกที่สุด แต่ดูเหมือนปรัชญาอันนี้ได้ถูกแปรเปลี่ยนเป็นตรงกันข้าม คือ "ยิ่งช้า ยิ่งยุ่ง ยิ่งดี" เพราะเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่หาผลประโยชน์ได้จากความไร้ประสิทธิภาพของคนและระบบที่เป็นอยู่ ชิปปิ้งหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าระบบที่เป็นอยู่จะไม่มีทางดีขึ้น เพราะเป็นความจงใจที่จะสร้างระบบให้ยุ่งที่สุด เพื่ออำนาจในการต่อรองที่สูงขึ้นตามไปด้วย ภายในคอนเซป "พวกมึง (พ่อค้า) ได้กูก็ต้องได้ด้วย" การท่าเรือฯ และกรมศุลฯ แทนที่จะได้เจ้าหน้าที่ที่ให้บริการดีกลายเป็นแหล่งเทรนพ่อค้าไปเสียแล้ว เมื่อผู้จัดการถามเรือเอกพงษ์ศักดิ์ว่าทำไมปล่อยให้เจ้าหน้าที่หาประโยชน์เช่นนี้ เรือเอกพงษ์ศักดิ์ตอบด้วยสีหน้าธรรมดา ๆ ว่า "ก็เขาจ่ายกันเอง ถ้าใครเดือดร้อนก็ให้ร้องเรียนมา ก็ไม่เห็นมีใครร้องเรียนมานี่"

หากเราพิจารณาแผนภูมิการผ่านพิธีการการตรวจสินค้าขาเข้า ณ โรงพักสินค้าของการท่าเรือฯ (ดูแผนภูมิประกอบ) ก็ดูน่าจะออกของได้ง่ายเสียเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่ในทางความเป็นจริงแล้วอาจต้องใช้เวลาถึง 3-4 วัน หรือมากกว่านั้น ยิ่งนานวันค่าใช้จ่ายของชิปปิ้งก็มากเป็นเงาตามตัว นั่นหมายถึงต้นทุนที่สูงขึ้นของพ่อค้านำเข้า และท้ายที่สุดผู้ที่ต้องบริโภคสินค้าแพงเกินกว่าเหตุก็คือประชาชนเต็มขั้นทั่วไป

จากการประมวลค่าใช้จ่ายที่ชิปปิ้งต้องจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ในการออกของแต่ละครั้งนั้น ชิปปิ้งคนหนึ่งได้เล่าถึงแต่ละขั้นตอนโดยละเอียดดังนี้

"ผมจะเล่าในกรณีทั่วไปสำหรับสินค้าที่ถูกต้องทุกอย่างไม่มีปัญหา เมื่อมีเอกสารครบถ้วนซึ่งประกอบด้วย B/L (ใบตราส่งสินค้า, ใบเสร็จ (INVOICE) และใบรายการสินค้า (PACKING LIST) ชิปปิ้งก็จะทำใบขนสินค้าขาเข้าไปให้แก่ผู้นำเข้าลงนาม แล้วนำมาผ่านพิธีการที่กรมศุลกากร

การจ่ายใต้โต๊ะเริ่มจาก เช็คบัตรลายเซ็นต์ 10 บาท ตีเบอร์ใบขน 10 บาท ตรวจสอบ B/L ว่าใบขนสำแดงถูกต้องตรงตาม B/L หรือไม่ หลังจากนั้นก็นำไปประเมินราคาอย่างต่ำ 100 บาท กลับมาที่เจ้าหน้าที่คำนวณว่าสำแดงภาษีถูกต้องไหม 10 บาท ตรวจสอบใบขนซึ่งอาจจะมีหลายใบ เสียใบละ 10 บาท ถ้าคำนวณยากหน่อยก็ 100 บาท เก็บข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์ 10 บาท ไปเสียภาษีอีกใบละ 20 บาท พอเซ็นครบแล้วเอาใบขนไปผ่านพิธีการต่อที่ท่าเรือฯ

พานายตรวจไปตรวจสินค้าถ้าเป็นตู้ ๆ ละ 300-500 บาท ถ้าเป็นหีบห่อซึ่งรวมกันหลายห่อ แต่ไม่ถึงหนึ่งตู้ อย่างต่ำ 100 บาท สินค้าบางชนิดต้องส่งกองวิเคราะห์ก่อนปล่อยของ ซึ่งก็คือกองควบคุมยาและสินค้าอีก 100 บาท เป็นอย่างต่ำเช่นกัน และมีสารวัตรกำกับการตรวจปล่อยอีก 100 บาท จ่ายให้จ่าส่งตัวอย่างไปกองวิเคราะห์ 50 บาท กรณีเร่งด่วนจ่ายค่าตุ๊ก ๆ อีก 20 บาท ไปถึงกองวิเคราะห์ลงบุ๊คอีก 10 บาท เอาโพยไปให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์อีกอย่างน้อย 10 บาท วิเคราะห์เสร็จยังมีคนคุมอีกชั้น 100 บาท ทั้งหมดนี้เป็นส่วนที่จ่ายกรมศุลฯ

เสร็จจากกรมศุลฯ ก็มาที่ท่าเรือ วัด D/O (DELIVERY ORDER) 30 บาท คุมวัด D/O 30 บาท (ตรวจสอบว่าวัดถูกหรือไม่) หลังจากนั้นก็เอามาเสียค่าเร้นท์ เราต้องเสียค่าเร่งเร้นท์ ซึ่งจะผ่าน 5-6 โต๊ะ คนแรกคิดเงิน คนที่สองเขียนบิล คนที่สามปั๊มตรา คนที่สี่เป็นหัวหน้าเซ็นชื่อ คนที่ห้าเก็บเงิน ก็ต้องจ่ายทุกโต๊ะ ๆ ละ 10 บาท จบแล้วเอาใบเสร็จไปออกของที่โกดัง-เรียกรถยก (FORKLIFT TRUCKS) มาหนึ่งคัน อย่างต่ำคันละ 20 บาท เรียกรถเสร็จมีเจ้าหน้าที่ไปหารถสิบล้อหรือหกล้อซึ่งเป็นของ รสพ. ซึ่งรถมีน้อยกว่าความต้องการมากนัก พวกชิปปิ้งก็ตะโกนแย่งแข่งกันเสนอราคา เจ้าหน้าที่ รสพ. จะฟังว่าใครให้เท่าไร ก็จะเลือกจดตามความพอใจ หมู่ รสพ. ได้คันละ 50 บาท เสมียน รสพ. ได้คันละ 20 บาท เมื่อเรียกสิบล้อได้ จึงนำไปขนของที่โกดัง จ่ายให้หัวหน้าโรงพักสินค้า (นำไปแบ่งกันอีกที) 100 บาทขึ้นไป

จากโรงพักสินค้ามาถึงด่านหน้าประตู จ่ายให้เจ้าหน้าที่การท่าเรือฯ 30 บาท ถ้ามีปัญหา อาจจะ 100 บาท มีศุลกากรคุมที่หน้าประตูอีกคนหนึ่ง ตรวจสอบว่าตรวจปล่อยถูกต้องหรือไม่อีก 10-100 บาท คนที่สามคือเจ้าหน้าที่ของ รสพ. เป็นคนตรวจสอบว่าน้ำหนักเกินหรือไม่ สูงเกินไปไหม เก็บตั้งแต่ 10-100 บาท ตำรวจที่คุมอยู่หน้าประตู 30 บาท จราจรที่คุมการจราจรที่หน้าประตูอีก 30 บาท หรือบางทีเวลามันหมด ปิดสี่โมงครึ่ง สั่งปิดประตู้โช๊ะขอเพิ่มหน่อยคันละ 100 บาทเป็นกรณีพิเศษ

นอกจากนี้ยังต้องจ่ายให้คนขับของ รสพ. สิบล้อคันละ 40 บาท หกล้อคันละ 20 บาท ถ้าของมันสูงหรือสถานที่ไปส่งสินค้ามันไกลก็ต้องจ่ายเพิ่ม รวมทั้งจ่ายค่าทางด่วนและเบี้ยบ้ายรายทางไปจนกว่าจะถึงสถานที่ส่งของ ซึ่งต้องจ้างกุลีตามไปขนของลงจากรถเข้าโกดังของลูกค้าซึ่งเป็นอันหมดหน้าที่ของชิปปิ้ง

อ่านจนถึงตรงนี้แล้วจะพบว่ากว่าจะผ่านด่านเอาสินค้าออกมาได้เหนื่อยเสียยิ่งกว่าสิบแปดมนุษย์ทองคำของวัดเส้าหลินเสียอีก โดยที่แต่ละด่านนั้นก็ล้วนแต่ใหญ่ ๆ โต ๆ กันทั้งนั้น เข้าไปติดต่อจ่ายเงินใต้โต๊ะให้อย่างนอบน้อม ชิปปิ้งจะต้องทำเป็นคนตัวลีบเล็กไป ชิปปิ้งคนหนึ่งสะท้อนความรู้สึกในอาชีพของเขาอย่างสะใจที่สุดว่า "อาชีพชิปปิ้งต้องการคนที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือต้องยกมือไหว้มาได้ รับรองเจริญรุ่งเรืองแน่ ๆ"

ชิปปิ้งทุกรายที่มีโอกาสได้คุยกับ "ผู้จัดการ" พูดเป็นเสียงเดียวกันในเรื่องค่าใช้จ่ายใต้โต๊ะ ซึ่งการจ่ายนี้ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อภิสิทธิ์อะไร เพราะทุกคนต้องจ่ายเหมือนกันหมด เพื่อพิสูจน์ความจริงนี้ "ผู้จัดการฯ" ได้ติดตามพวกชิปปิ้งเข้าไปดุกระบวนการทั้งหมุดทุกขั้นตอน และได้ขอแบบฟอร์มของบริษัทชิปปิ้งแห่งหนึ่งเพื่อกรอกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงทั้งในส่วนค่าใช้จ่ายที่มีใบเสร็จและไม่มี

สินค้านั้นคือพลาสติกเม็ด จำนวน 2 ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งได้รับบีโอไอและไม่มีปัญหาใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นตัวอย่างการจ่ายใต้โต๊ะขั้นต่ำสุด ปรากฏว่าค่าใช้จ่ายที่มีใบเสร็จเป็นค่ายกขนและค่าเช่า 3,090 บาท และรถ รสพ. 2870 บาท นอกนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่มีใบเสร็จทั้งสิ้น 3,635 บาท คิดเป็น 38% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งนี่เป็นเพียงตัวอย่างขั้นต่ำ ถ้าสินค้ามีปัญหาเช่นสินค้าจริงไม่ตรงกับใบขน เจ้าหน้าที่กรมศุลฯ เล่นคุณแรงแน่ การปรับไม่ใช่สิบบาทร้อยบาทอย่างที่เล่ามา แต่อาจจะเป็นหมื่นเป็นแสน เนื่องจากกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่กรมศุลฯ มากเหลือเกิน

ระบบการจ่ายเงินนี้ไม่มีลักษณะตายตัว ขึ้นอยู่กับตัวแปรซึ่งเป็นรายละเอียดในสินค้าแต่ละชนิด นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เจ้าของบริษัทชิปปิ้งเองก็ไม่อาจที่จะควบคุมค่าใช้จริงทั้งหมดได้ เพราะชิปปิ้งอาจจะไปเบิกบริษัทเกินกว่าจำนวนที่จ่ายไปก็ได้ และแน่นอนเจ้าของบริษัทเองเมื่อไปเบิกค่าใช้จ่ายกับพ่อค้านำเข้าและส่งออก บางรายอาจจะไปเบิกเกินกว่าความจริงมาก ซึ่งพ่อค้าก็ไม่มีทางรู้ค่าใช้จ่ายจริง แต่ก็ต้องจ้างชิปปิ้งอยู่ดี เพราะไม่มีใครยอมเสียเวลามาพบกับความยุ่งยากดังกล่าว พ่อค้าก็ใช้วิธีบวกค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าเป็นการรีดนาทาเร้นกันต่อ ๆ ไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุดตราบเท่าที่ระบบเหล่านี้ยังดำรงอยู่

ธุรกิจชิปปิ้งเป็นธุรกิจที่กำไรดีมาก เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก ในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ จำนวนชิปปิ้งเพิ่มขึ้นเป็นดอกเห็ด และเกิดชิปปิ้งอิสระจำนวนไม่น้อย ซึ่งไม่เคยมีใครรวบรวมตัวเลขว่ามีมากเท่าไหร่ แต่ชิปปิ้งด้วยกันบอกว่ามีเป็นพัน ชิปปิ้งคนหนึ่งที่เคยดูงานท่าเรือต่างประเทศมาหลายแห่ง และได้ดูธุรกิจชิปปิ้งของต่างประเทศ กล่าวว่า "ที่เมืองนอก ชิปปิ้งไม่มีบทบาทอะไรเท่าไหร่ เพราะขั้นตอนของเขาไม่ยุ่งเท่าของเรา และบางประเทศไม่ต้องเสียภาษี ชิปปิ้งจึงมีความจำเป็นน้อย ผมว่าธุรกิจชิปปิ้งบ้านเราน่าจะเฟื่องฟูที่สุดในโลก หรืออย่างน้อยก็เกือบที่สุดในโลก"

นับเป็นคุณูปการของการท่าเรือฯ และกรมศุลฯ ที่สร้างระเบียบและขั้นตอนที่ยุ่งยากมากมาย จนทำให้คนกลุ่มหนึ่งได้หันมาประกอบอาชีพชิปปิ้งอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เป็นวิธีการแก้ปัญหาการว่างงานแบบหนึ่งที่น่าสนใจมาก นับว่าเป็นความคิดอันลึกซึ้งแยบยลแบบไทย ๆ โดยแท้ ซึ่งบางที HARVARD BUSINESS SCHOOL อาจจะต้องมาทำกรณีศึกษา (CASE STUDY)

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us