การประมูลสร้างท่ารเอน้ำลึกแหลมฉบังเป็นข่าวที่อื้อฉาวมากที่สุดเรื่องหนึ่งในรอบปี
2530 ซึ่งเป็นยุครัฐบาลเปรม 5 เหตุเพราะบริษัทฮุนไดซึ่งเสนอราคาต่ำสุดซึ่งตามหลักสากลจะต้องเป็นผู้ชนะ
แต่ปรากฏว่าบริษัทที่ประมูลได้กลับเป็นอิตาเลียนไทยของหมอชัยยุทธ กรรณสูต
ท่ามกลางความฉงนสนเท่ห์ว่ามีนอกมีในหรือไม่
การท่าเรือแห่งประเทศไทยคัดเลือกบริษัทที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ 9 บริษัทจากจำนวน
13 บริษัทที่ยื่นซองประมูล ซึ่งเมื่อคำนวณสุทธิแล้วฮุนไดเสนอราคาต่ำกว่าประมาณ
50 ล้านบาท (รายละเอียดการเสนอราคา โปรดดูตาราง)
คณะกรรมการตัดสินให้เหตุผลในการไม่เลือกฮุนไดว่า เนื่องจากฮุนไดมีความเสี่ยงสูงทางด้านเทคนิค
ซึ่งหากมีการผิดพลาดขึ้นมาอาจจะถึงขั้นต้องทุบทิ้ง!!
รัฐบาลเกาหลีใต้และฮุนไดได้ทำการประท้วงต่อรัฐบาลไทยอย่างรุนแรง คิม กวาง
เมียง รองประธานอาวุโสของฮุนไดกล่าวว่า "การตัดสินใจของการท่าเรือฯ
ครั้งนี้ เป็นการตัดสินที่ผิดหลักสากลและไม่เป็นธรรม คือไม่เปิดโอกาสให้บริษัทตน
ซึ่งเสนอราคาประมูลต่ำสุดเข้าไปชี้แจงก่อนที่จะมีการประกาศผล ที่แย่มากคือการกล่าวว่าไม่สามารถรับเทคนิคของฮุนไดได้
ทั้ง ๆ ที่เราเป็นบริษัทก่อสร้างอันดับหนึ่งของเกาหลีและอันดับ 4 หรือ 5
ของโลก และเคยรับงานเช่นนี้มาหลายงานแล้ว การท่าเรือฯ ประกาศออกมาเช่นนี้ทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง"
ที่สำคัญที่สุดนั้นว่ากันว่า การท่าเรือฯ ได้เรียกตัวแทนอิตัลไทยมาพบและเจรจาตกลงเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในเอกสารประกวด
3 รายการ คือ หนึ่ง-ยืดระยะเวลาก่อสร้างจาก 36 เดือน เป็น 48 เดือน สอง-เปลี่ยนแปลงสถานที่แหล่งหิน
สาม-เปลี่ยนแปลงสถานที่ก่อสร้างเคซอง
ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญดังกล่าวจริง นักกฎหมายท่านหนึ่งให้ความกระจ่างกับ
"ผู้จัดการ" ว่า "การตัดสินให้อิตัลไทย ชนะการประกวดราคาในลักษณะนี้
จะเป็นการการละเมิดระเบียบกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2527 ข้อ 39 ซึ่งเป็นระเบียบการรับรองการประกวดราคาให้กำหนดไว้ว่า
เมื่อพ้นระยะเวลารับซองแล้ว จะต้องมอบหีบบรรจุหลักฐาน และเอกสารทุกอย่างให้กรรมการประกวดราคา
ก็หมายความว่าแก้อะไรไม่ได้อีก"
งานนี้จึงมีเค้าแห่งความยุ่งยากตั้งแต่การตัดสินนั่นเอง วันที่วุ่นวายที่สุดคือวันที่
2 ตุลาคม 2530 ซึ่งเป็นวันเซ็นสัญญา จ้างเหมาระหว่างการท่าเรือฯ กับอิตัลไทย
ซึ่งกำหนดไว้ตอน 11.00 น. ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล (หมอชัยยุทธ เป็นหุ้นส่วนของโรงแรมด้วย)
การเซ็นสัญญาถูกระงับไว้โดยบรรหาร ศิลปอาชา หลังจากนั้นก็วุ่นวายกันอยู่ถึง
9 ชั่วโมง แต่ก็มีการเซ็นสัญญากันได้ในเวลา 2 ทุ่ม ซึ่งขณะนั้นเป็นข่าวครึกโครมมากบนหน้าหนังสือพิมพ์
(อ่านเบื้องหลัง "เส้นใครเส้นมัน" จาก "ผู้จัดการรายสัปดาห์"
วันที่ 12-18 ตุลาคม 2530 หลังจากนั้นก็เงียบหายไปเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง!!
ปัจจุบันการท่าเรือฯ มีเรือขุดลอกสันดอน 4 ลำ อายุตั้งแต่ 28-42 ปี ซึ่งการท่าเรือฯ
ต้องการเรือขุดใหม่ 1 ลำ เพื่อปลดระวางเรืออายุ 42 ปีออกไป ซึ่งเรื่องนี้
มีการพิจารณากันตั้งแต่สมัยที่สมัคร สุนทรเวช เป็น รมต. คมนาคม
การประมูลครั้งนั้นมีบริษัทเสนอตัวเข้ามา 7 บริษัท คือเฮอร์มานน์ เซอร์เคน,
ไอเอชซี, โอแอนด์เคทาเกบาวอุนซีพสเตนิค, อิชิกาวาไจม่าฮาริมา, นิโชไอไว,
มิตซูบิชิเอชไอ และอิตัลไทยมารีน
ผลการคัดเลือกบริษัทเฮอร์มานน์ เซอร์เคน เสนอราคาต่ำสุดคือ 365 ล้านบาท
โดยที่มีการเจรจาระดับรัฐบาลระหว่างพลเอกเปรมกับ ดร. เฮลมุท โคล์ท นายกรัฐมนตรีของเยอรมัน
โดยทางฝ่ายเยอรมันได้ตกลงให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำมากคือ
4% ต่อปี มีเวลาปลอดหนี้ 4 ปี ระยะเวลาให้กู้นานถึง 16 ปี โดยผ่านสถาบันการเงิน
KFW ของเยอรมัน
รมช. คมนาคมสมัยนั้นคือบุญเทียม เขมาภิรัตน์ จึงสั่งให้ ม.ล. เชิงชาญ กำภู
ปลัดกระทรวงคมนาคมดำเนินการทำสัญญา แต่เนื่องจากขณะนั้นรัฐบาลอยู่ในช่วงรักษาการ
(สิงหาคม 2529) ปลัดเชิงชาญจึงเก็บเรื่องเอาไว้
ต่อมาในสมัยบรรหาร ศิลปอาชา เป็น รมต. คมนาคม พ.ท. สนั่น ขจรประศาสน์เป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้ซึ่ง
พ.ท. สนั่น ได้เรียกบริษัทเฮอร์มานน์ เซอร์เคนมาทำสัญญา แต่บรรหารสั่งให้ระงับไว้อ้างว่าฝ่ายค้านจะโจมตี
จนในที่สุดก็มีการวิ่งเต้นเรื่องนี้กับสุธี สิงห์เสน่ห์ รมต. คลังที่ลุกขึ้นมาคัดค้านว่า
โครงการนี้น่าจะประมูลใหม่โดยกระทรวงการคลังจะรับผิดชอบหาเงินกู้ราคาถูกให้เอง
ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงทำการเปิดประมูลใหม่โดยความเห็นชอบของมติคณะรัฐมนตรี
แต่เอาเข้าจริงแล้วบริษัทผู้เข้าประมูลเป็นผู้เสนอแหล่งเงินกู้และเงื่อนไขการกู้กันเอง
การประมูลครั้งที่สองนั้น ปรากฏว่ามีเพียง 5 บริษัทที่ทำการยืนยันฐานะของตัวเองอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้มีสิทธิ์เข้าร่วมประมูลเป็นขั้นตอนสุดท้าย
โดยอิตัลไทยมารีนไม่ได้เข้าไปยืนยันฐานะต่อคณะกรรมการจึงถือว่าหมดสิทธิ์ไป
และบริษัทไอเอชซีเลิกการประมูล ดังนั้นโดยหลักการแล้วผู้มีสิทธิประมูลจึงเหลือ
5 บริษัท
ว่ากันว่าช่วงนั้นมีการเล่นคลื่นใต้น้ำกันอย่างหนักหน่วงเพื่อให้อิตัลไทยเป็นผู้ประมูลได้
เครื่องมือที่ถูกนำมาใช้คือมติ ครม. ได้เพิ่มเงื่อนไขต่อท้ายบางประการ ซึ่งส่งผลให้อิตัลไทยเข้าร่วมประมูลได้
และอิตัลไทย (ร่วมทุนกับไอเอชซี) ในฐานะที่เป็นบริษัทคนไทยเพียงรายเดียว
สามารถใช้สิทธิประมูลสูงกว่าต่างชาติได้ไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ ครม. แจ้งมตินี้ต่อคมนาคมวันที่
7 มกราคม 2530 พอรุ่งขึ้นคือ 8 มกราคม 2530 เป็นวันเปิดซองประมูล เล่นเอาอีก
5 บริษัทตั้งตัวไม่ติดเพราะไม่คาดคิดว่าอิตัลไทยจะเข้ามาในนาทีสุดท้าย
ผลการเปิดซองประมูลบริษัทเฮอร์มานน์ เซอร์เคน เสนอราคาต่ำสุดคือ 464 ล้านบาท
ในขณะที่อิตัลไทยเสนอราคาถึง 527 ล้านบาทต่างกัน 63 ล้านบาท แต่คมนาคมให้อิตัลไทยชนะการประมูล
อ้างว่าเป็นบริษัทไทยที่เสนอราคาสูงกว่ารายต่ำสุดไม่เกิน 15%
นั่นคือผลจากการโยกโย้ของคมนาคมและการใช้มติ ครม. ออกมาฟาดงวงฟาดงาครั้งนั้น
ทำให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยสูญเสียอย่างเห็นได้ชัดเจน คือการประมูลครั้งแรกนั้นราคาเพียง
2365 ล้านบาท แต่ผลการประมูลจนทำสัญญากันในที่สุดในราคา 527 ล้านบาท ซึ่งก็เท่ากับว่าการท่าเรือฯ
ต้องซื้อเรือขุดแพงขึ้นอีก 162 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ไม่ทราบว่าไปตกหล่นอยู่ที่ใดบ้าง!!!
ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ในรูปเม็ดเงินเท่านั้น ชื่อเสียงของประเทศพลอยยับเยินไปด้วย
เพราะเป็นการล้มล้างมติของรัฐบาลในครั้งแรก และล้มล้างคำยืนยันของรัฐบาลไทยที่มีกับรัฐบาลเยอรมัน
รัฐบาลเยอรมันได้ประท้วงรัฐบาลไทยอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับกรณีที่เกาหลีใต้มีปฏิกิริยาในกรณีท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง
ซึ่งถ้ามองในแง่ของเครดิตระหว่างชาติแล้วเป็นความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้
สำหรับการท่าเรือแห่งประเทศไทยนั้นต้องจ่ายแพงขึ้นในสองกรณีนี้เป็นเงินกว่าสองร้ายล้านบาท
คนท่าเรือฯ เผยความรู้สึกอย่างเหลืออดกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ผมรู้สึกว่าการท่าเรือฯ
เหมือนถูกข่มขืน เขาทำกันเป็นขบวนการ ทำอย่างโจ่งแจ้งอย่างไม่กลัวฟ้าดินลงโทษ
คนท่าเรือฯ เขารู้กันหมดว่าใครเป็นใคร แต่ทำอะไรไม่ได้ เจ็บใจก็ตรงนี้แหละ"
แต่สำหรับอิตัลไทยนั้นสองงานนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถพิเศษที่หลายคนคงทำไม่ได้ดีเท่า
เป็นบทพิสูจน์ได้อย่างดีว่าอิตัลไทยนั้นเก่งฉกาจเพียงใด