Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2531
บางกอกเครนเน็จ ความแค้นของ ทวิช กลิ่นประทุม             
โดย รุ่งอรุณ สุริยามณี
 

   
related stories

จากท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ถึงเรือขุด คนละเรื่องเดียวกัน บทพิสูจน์ความเก่งกาจของอิตัลไทย!?
ชิปปิ้งไทย : อาชีพที่เฟื่องที่สุดในโลก

   
www resources

โฮมเพจ การท่าเรือแห่งประเทศไทย

   
search resources

การท่าเรือแห่งประเทศไทย
บางกอกเครนเน็จ
ทวิช กลิ่นประทุม
Transportation




เรื่องของบางกอกเครนเน็จนั้นเป็นแบบฉบับของวัฒนธรรมองค์กรของรัฐวิสาหกิจในบ้านเรา ที่ยืนอยู่บนความพิกลอาศัยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเปิดช่องทางกินตามน้ำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เข้าพกเข้าห่อตัวเอง

รายการกินตามน้ำครั้งนี้เล่นกันแบบไตรภาคี ระหว่างนักการเมืองจากพรรคที่ทำให้พระแม่ธรณีต้องเช็ดน้ำตา กลั้นสะอื้นแทนที่จะบีบมวยผม กับผู้บริหารของท่าเรือและบริษัทเอกชนที่คิดจะฮุบเอาผลประโยชน์ก้อนสุดท้ายไว้ก่อนจะหมดโอกาส เป็นการสร้างความชอบธรรมโดยอาศัยข้ออ้างว่าเป็นนโยบายเพื่อผลประโยชน์ของรัฐบวกกับอำนาจตามกฎหมาย ก่อให้เกิดสิทธิในการทำมาหากินบนความเดือดร้อนของผู้ที่จำเป็นต้องมาใช้บริการของการท่าเรือฯ

"ผู้จัดการ" เคยเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการประกาศเอกสิทธิหน้าท่าและให้บางกอกเครนเน็จผูกขาดการยกตู้สินค้าขึ้นลงจากเรือในฉบับเดือน มีนาคม 2531 หลังจากการประกาศเอกสิทธิมีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์

การประกาศเอกสิทธิหน้าท่าในครั้งนี้ เป็นการฝืนกระแสการคัดค้าน ทั้งจากสายการเดินเรือ สภาหอการค้าไทย สมาคมอุตสาหกรรมไทยและสมาคมผู้ส่งออกอีกหลาย ๆ แห่ง เพราะจะเกิดปัญหาความล่าช้าในการขน จนทำให้เรือออกจากท่าไม่ทันกำหนด และจะทำให้เกิดปัญหาความแออัดตามมา

เป็นปัญหาที่เห็นกันชัด ๆ ว่าจะต้องเกิด!!!

แต่เสียงคัดค้านก็ต้องพ่ายแพ้ต่ออำนาจเงินตรา ที่ถูกกลบเกลื่อนโดยอ้างผลประโยชน์ส่วนรวมและการเอารัดเอาเปรียบจากเรือต่างประเทศขึ้นมาบังหน้า

"ประกาศสิทธิหน้าท่าครั้งนี้เหมือนไม่ได้ประกาศ เป็นการหลอกตัวเอง เพราะพูดแล้วทำไม่ได้ ผมว่าเครนเรือจะอยู่เหมือนเดิม ยกเหมือนเดิมแน่ ๆ" นี่คือการคาดการณ์ของเจ้าหน้าที่การท่าเรือฯ ผู้หนึ่งเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์

เพียงสี่เดือนเท่านั้น คำทำนายของเจ้าหน้าที่ผู้นี้ก็เป็นจริง เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติอนุญาตให้ใช้ปั้นจั่นเรือยกขนตู้ได้ เพราะว่าปั้นจั่นของบางกอกเครนเน็จนั้นส่วนใหญ่เป็นของเก่า ไม่มีประสิทธิภาพ ทำงานได้ช้า ทำให้เรือต้องเสียเวลารอมากขึ้น จากเดิมที่เคยเทียบท่า 24 ชั่วโมง ก็เพิ่มขึ้นเป็น 48 ชั่วโมงหรือ 72 ชั่วโมง

จนชมรมสายการเดินเรือหลาย ๆ แห่งประกาศจะเก็บค่าแออัดจากลูกค้าตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2531 เรื่องจึงต้องให้คณะรัฐมนตรีเข้ามาจัดการ

เหมือนตบหน้าผู้บริหารการท่าเรือฯ เข้าฉาดใหญ่เท่า ๆ กับเป็นการฟ้องว่า การตัดสินใจในครั้งแรกนั้นมีเบื้องหลังอะไรแอบแฝงหรือเปล่า?

"เรื่องนี้คณะกรรมการบริหารการท่าเรือฯ เองได้เป็นผู้กลั่นกรองไม่ใช่ตัวผู้อำนวยการแต่เพียงผู้เดียว ประเด็นสำคัญคือ เป็นประโยชน์ต่อท่าเรือไหม เป็นประโยชน์ต่อรัฐไหม เมื่อเห็นว่ารายได้มีแน่นอนก็อนุมัติ" เรือเอกพงษ์ศักดิ์ วงษ์สมุทร ผู้อำนวยการการท่าเรือฯ ให้เหตุผลต่อการตัดสินใจในครั้งนั้น

เมื่อมติ ครม. ออกมาเช่นนี้ ก็ต้องเลยไปถึงเรื่องที่ว่า การท่าเรือฯ ตัดสินใจผิดหรือไม่

"ไม่จริง ๆ ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า การที่เรือกลับไปใช้เครนตามเดิมเป็นการแก้ปัญหาของคณะรัฐมนตรีต่อสิ่งที่ชมรมเดินเรือต่างประเทศได้บีบรัฐบาลในการขึ้นค่าแออัด ไม่ใช่ว่าการตัดสินใจของท่าเรือเป็นการตัดสินใจที่ผิด ทำไมไม่มีคนมองว่าสิ่งที่ชมรมเดินเรือต่างประเทศทำเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนไทย ไม่เป็นธรรมต่อรัฐบาล กลับมาดูว่าการท่าเรือฯ เป็นต้นเหตุ" เรือเอกพงษ์ศักดิ์ ปฏิเสธด้วยเสียงดังฟังชัดกับ "ผู้จัดการ"

คนที่สบายที่สุดในเรื่องนี้ก็เห็นจะเป็นเจ้าของนโยบายเอกสิทธิหน้าท่าที่พ้นจากตำแหน่งในช่วงที่ปัญหากำลังคุกรุ่น เพราะการยุบสภาพในเดือนพฤษภาคม ไม่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองก่อไว้ แถมยังมีทุนก้อนใหญ่ติดมือไปใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งอีกด้วย

คนที่ตกที่นั่ง เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคนเห็นจะไม่พ้น บรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งไม่ได้เข้ามาเอี่ยวมากนักในเรื่องนี้เพราะไม่ได้คุมท่าเรือฯ เอง แต่อยู่ในฐานะรักษาการรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม ที่ต้องรับบัญชาจาก พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ให้มาคลี่คลายปัญหา ซึ่งลงเอยด้วยการให้การท่าเรือฯ ยกเลิกสัญญากับบางกอกเครนเน็จ

ทางท่าเรือฯ เองรู้ว่าถ้าเลิกสัญญาอาจจะถูกฟ้องได้ง่าย ๆ และก็คงจะตะขิดตะขวงใจ เพราะก่อนที่จะเซ็นสัญญาก็ยืนยันเป็นมั่นเหมาะโต้กระแสคัดค้านในช่วงนั้นว่า บางกอกเครนเน็จทำได้แน่ ๆ ไม่มีปัญหา แล้วจะให้มาเลิกสัญญา ก็เหมือนถ่มน้ำลายรดฟ้า ไม่พ้นต้องตกมาเปรอะใบหน้าตัวเอง

ทางออกที่สวยที่สุดก็คือ คงสัญญาเอาไว้ แต่ให้ ครม. ผ่อนผันให้เรือใช้ปั้นจั่นของตัวเองได้เหมือนเดิม

ซวยที่สุดและแค้นที่สุดก็คือ ทวิช กลิ่นประทุม เจ้าของบางกอกเครนเน็จ ที่อุตส่าห์วิ่งเต้นจนได้งานนี้มา แต่แล้วก็มีก้างขวางคอทำให้ผลประโยชน์มหาศาลต้องหลุดลอยไปต่อหน้าต่อตา

ลำพังการลงทุนในเรื่องปั้นจั่นคงไม่เท่าไร เพราะส่วนใหญ่แล้วเป็นของเก่าที่เอามาจากเทรลเลอร์ ทรานสปอร์ตของตัวเองกับนาวาเซอร์วิส ซึ่งเป็นหุ้นในบางกอกเครนเน็จด้วย ซื้อใหม่เพียงสองตัวเทียบกับรายได้จากการยกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม มีรายได้วันละ 2 ล้านบาท แบ่งให้กับการท่าเรือฯ 25% เหลือ 1,500,000 บาทต่อวัน หักค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ก็คงคุ้มทุนไปนานแล้ว

แต่กว่าที่งานนี้จะเรียบร้อย ต้องลงทุนล่วงหน้าเพื่อให้ได้มาซึ่งกิจการยกตู้สินค้าแต่เพียงผู้เดียวเป็นเงินเฉียด ๆ 100 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนของการลงทุนอยู่ที่กระทรวงคมนาคมเป็นส่วนใหญ่ ที่เหลือกระจายกันอยู่แถว ๆ คลองเตย พ่วงท้ายด้วยรถเบนซ์ ไม่ทราบรุ่นและปีแน่ชัด อีกหนึ่งคัน สำหรับอดีตผู้บริหารระดับสูงของการท่าเรือฯ บางคนไว้ใช้หลังเกษียณ

เป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปแล้ว ไม่รู้จะไปเรียกคืนจากใคร เพราะไม่มีหลักฐานในการรับ

ทวิชเลยต้องขู่ว่าจะฟ้องการท่าเรือฯ โดยได้ยื่นโนติสเมื่อเดือนกรกฎาคม ให้ใช้ค่าเสียหาย 464 ล้านบาท ฐานเพิกถอนสิทธิการผูกขาดยกตู้สินค้าโดยไม่เป็นธรรม

แต่แล้วก็เปลี่ยนใจ หันไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมจากรัฐบาลแทน ขอค่าเสียหายเหลือแค่ 256 ล้านบาท

การที่ ครม. เอาเรื่องนี้เข้าพิจารณาใน ครม. นั้น ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคนหนึ่งของท่าเรือวิจารณ์ให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า "บางกอกเครนเน็จฟ้องนี่ รัฐบาลเอาเข้า ครม. ผมว่ามันตลกมาก พ่อค้าฟ้องรัฐบาล ไปเอาเข้า ครม. มันไม่ถูกเรื่อง ศาลสิจะเป็นผู้ตัดสินว่าใครผิด ต้องพิสูจน์ความในศาล"

"มันเป็นเรื่องของเขา เป็นเรื่องของสิทธิทนุษยชน" พงษ์ศักดิ์พูด

เหตุที่ทวิชยันไม่ฟ้องศาลนั้น เพราะรู้ว่าฟ้องไปก็คงแพ้ เพราะการท่าเรือไม่เคยยกเลิกสัญญา เพียงแต่อนุญาตให้เรือใช้ปั้นจั่นเรือได้ และเป็นการทำตามมติ ครม.

ในสัญญาระหว่างการท่าเรือฯ กับบริษัทบางกอกเครนเน็จที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2530 นั้น ไม่มีตอนไหนบอกไว้เลยว่าให้บางกอกเครนเน็จมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการยกตู้สินค้า และในข้อ 16 ของสัญญาระบุว่า ต้องยกให้ได้ชั่วโมงละ 12 ตู้ต่อปั้นจั่น 1 คัน ไม่เช่นนั้นแล้วต้องถูกปรับคิดกันเป็นชั่วโมงละ 120,000 บาท และให้เรือใช้ปั้นจั่นมายกแทนได้ นอกจากนี้ในข้อ 18 ถ้าบางกอกเครนเน็จไม่สามารถยกตู้ได้ครบถ้วนต่อเนื่อง การท่าเรือฯ ก็สามารถให้ปั้นจั่นเรือยกได้อีกเช่นกัน ตบท้ายด้วยสัญญาข้อ 19 ว่า การท่าเรือฯ ก็มีสิทธิแก้ไข เพิ่มเติมหรือลดงานจากรายละเอียดในสัญญาได้ทุกอย่างโดยไม่ต้องเลิกสัญญา

และจากข้อเท็จจริง ปั้นจั่นบางกอกเครนเน็จยกตู้ได้เพียงชั่วโมงละ 7-9 ตู้เท่านั้น บางทีก็ยกได้แค่ 4 ตู้

"มีผู้บริหารระดับสูงในท่าเรือกรุงเทพ พยายามจะช่วยโดยให้แก้ไขจำนวนตู้ที่ยกได้เป็น 14-16 ตู้ต่อชั่วโมง แต่เรามีตัวเลขจากทางเรือมายัน เขาก็เลยหงายหลังไป" แหล่งข่าวในสหภาพเปิดเผย

เมื่อเล่นกันด้วยข้อกฎหมายมีทีท่าว่าจะยาก ก็ต้องหันไปใช้ช่องทางทางการเมือง อาศัยโอกาสที่พรรคชาติไทยได้เข้าร่วมรัฐบาล และทวิชก็ได้รับตำแหน่ง รมต. ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐใน ครม. ชุดนี้ด้วย ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือต่อพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี

พลเอกชาติชายคงจะสำคัญผิดว่า ครม. มีหน้าที่ตัดสินคดีว่าใครผิดใครถูก ใครจะต้องจ่ายค่าเสียหายให้ใครเป็นจำนวนเท่าไร จึงแทงเรื่องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา

แต่พลเอกชาติชายและทวิชคงจะลืมไปว่ากระทรวงคมนาคมนั้นเปลี่ยนเจ้ากระทรวงเป็น มนตรี พงษ์พานิช และนิคม แสนเจริญแห่งพรรคกิจสังคมไปแล้ว

ความเห็นของกระทรวงคมนาคมในเรื่องนี้ มีอยู่สั้น ๆ สรุปได้ว่า "สตางค์แดงเดียวก็ไม่ต้องจ่าย"

ความแค้นของทวิชจึงยังต้องระอุอยู่ต่อไป

นี่ยังดีที่การท่าเรือฯ ไม่ปรับฐานที่บางกอกเครนเน็จยกตู้ไม่ได้ตามสัญญา ผู้บริหารการท่าเรือฯ คงจะมัวยุ่งอยู่กับการแก้ไขปัญหาความแออัดจนลืมเรื่องนี้ไป หรือไม่ก็คงจะนึกถึงบุญคุณของทวิชที่เอาเครื่องทุ่นแรงมาช่วยงานในการท่าเรือเป็นเวลาสิบกว่าปีแล้ว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us