กลุ่มปตท.เผยปี 53 มียอดผลิตเม็ดพลาสติกรวมทั้งสิ้น 3 ล้านตัน หลังจากโรงงานใหม่เริ่มทยอยแล้วเสร็จตั้งแต่ปลายปีนี้ ทำให้รายได้การขายเม็ดพลาสติกในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3.5 หมื่นล้านบาท คาดปริมาณขายก๊าซธรรมชาติปีนี้ไม่ลด เหตุอากาศร้อนทำให้การใช้ไฟฟ้าสูง พร้อมเตรียมพิจารณาออกหุ้นกู้เพิ่ม หลังระดมทุนไปแล้ว 1 แสนล้านบาท ด้านเอสโซ่ฯฟุ้งผลดำเนินงานไตรมาส1/2552 ดีขึ้น หลังพลิกมีกำไรสต็อกน้ำมัน
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าในปี 2553 ในเครือปตท.จะมีกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านตัน/ปี ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนขยายกำลังการผลิตของกลุ่มปตท.ที่โรงงานเหล่านี้ทยอยแล้วเสร็จในปลายปีนี้ ได้แก่ การผลิตเม็ดโพลีโพรไพลีนเพิ่มอีก 300,000 ตัน การผลิตเม็ดพลาสติก เอชดีพีอีเพิ่มอีก 300,000 ตัน เม็ดพลาสติกแอลแอลดีพีอีเพิ่มอีก 400,000 ตัน เป็นต้น ส่งผลให้มีรายได้จากการจำหน่ายเม็ดพลาสติกเพิ่มขึ้นเป็น 30,000-35,000 แสนล้านบาทจากปี 2551 มีรายได้รวม 28,440 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 100,000 ล้านบาทภายในปี 2558 ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นรายได้การจำหน่ายจากการผลิตของกลุ่ม ปตท. 70,000 ล้านบาท และที่เหลือเป็นการรายได้จากการจำหน่ายสินค้านอกกลุ่ม
ส่วนความคืบหน้าการศึกษาการควบรวมกิจการในเครือปตท.ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม คาดว่าจะสรุปได้ในปี้ ส่วนการจะออกหุ้นกู้เพิ่มเติมหรือไม่นั้น ยังจะอยู่ระหว่างกำลังพิจารณาเช่นกัน หลังจากเครือปตท.ได้มีการออกหุ้นกู้รวมกันกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งการออกหุ้นกู้นี้เป็นการระดมทุนเพื่อใช้ขยายงานตามแผน และส่วนหนึ่งสำรองไว้ใช้ในการควบรวมกิจการ (M&A) หากมีโอกาสที่ดี
ด้านนายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้ ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติจะไม่ลดลง คงใกล้เคียงปีที่แล้วที่ระดับ 3,400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หลังจากอากาศร้อนจัดทำให้การใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น และการส่งออกที่ขยับตัวดีขึ้น ทำให้โรงงานต่างๆ เริ่มกลับมาเดินเครื่องผลิต ส่งผลให้การก๊าซธรรมชาติในช่วงนี้ขยับดีขึ้น จากที่ช่วงต้นปีลดลงค่อนข้างสูง
ส่วนโครงการลงทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติ แห่งที่ 7 มูลค่า 20,000 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯ ในอนาคตนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาปริมาณสำรองก๊าซฯในอ่าวไทยว่ามีเพียงพอที่จะป้อนโรงแยกก๊าซฯดังกล่าวหรือไม่ รวมทั้งศึกษาดูความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ
เอสโซ่แย้มQ1/52มีกำไรสต็อกน้ำมัน
นายแดเนียล อี.ไลอ้อนส์ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)(ESSO) กล่าวถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2552 ว่า บริษัทฯคาดว่าจะดีกว่าไตรมาสที่ผ่านมา เพราะราคาน้ำมันดิบในช่วงต้นปีอยู่ที่ 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และปัจจุบันราคาน้ำมันดิบได้ปรับขึ้นสูงขึ้น ทำให้มีกำไรจากสต็อกน้ำมัน
ขณะนี้ทิศทางราคาน้ำมันในปีนี้เชื่อว่าจะไม่ผันผวนมากเหมือนปีที่แล้ว เนื่องจากราคาน้ำมันที่ระดับ 40เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลถือว่าค่อนข้างต่ำ ทำให้ยากที่ปีนี้บริษัทน้ำมันจะประสบปัญหาการขาดทุนจากสต็อกน้ำมันมหาศาลเหมือนปี 2551 ซึ่งหากปีนี้เอสโซ่มีผลกำไรจากการดำเนินงาน ก็คงนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 40%ของกำไรสุทธิ หลังจากผลการดำเนินงานในปี 2551บริษัทฯประสบปัญหาการขาดทุนสุทธิ 6.86 พันล้านบาท สาเหตุมาจากการขาดทุนสต็อกน้ำมันเป็นสำคัญ ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลจากผลดำเนินงานครึ่งปีหลังได้
โดยกล่าวยอมรับว่า การขาดทุนสต็อกน้ำมัน ทางบริษัทไม่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้วยการซื้อขายล่วงหน้า(เฮดจิ้ง) เนื่องจากมองว่าเป็นความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ แต่เอสโซ่ฯจะให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนวัตถุดิบโดยอาศัยเครือข่ายเอ็กซอน โมบิลในการนำเข้าน้ำมันดิบต้นทุนต่ำมาใช้ในโรงกลั่น ขณะที่คู่แข่งไม่สามารถกลั่นได้ รวมทั้งมีวินัยทางการเงินในการลงทุนโครงการต่างๆที่ต้องมีผลตอบแทนการลงทุนแม้ว่าจะอยู่ในช่วงขาลงก็ตาม
ในปีนี้ บริษัทฯยังคงมีแผนที่จะปรับปรุงสถานีบริการเอสโซ่ต่อเนื่องจากปีก่อน โดยจะเน้นปั๊มน้ำมันที่ตัั้งอยู่ในทำเลที่ดีเป็นหลัก โดยยึดดหลักการมีระเบียบวินัยทางการลงทุน แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ปั๊มเอสโซ่จะมีการปิดตัวไปบ้าง
สำหรับการลงทุนโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันให้ได้ตามมาตรฐานยุโรป(ยูโร 4) ขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดต่างๆรวมทั้่งรอความชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะมีการบังคับใช้ตามกำหนดเดิมหรือไม่ ซึ่งบริษัทฯก็พร้อมที่จะมีการลงทุนหากรัฐกำหนดชัดเจน
ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีนั้น ปีนี้บริษัทจะผลิตพาราไซลีนมากกว่าปีที่แล้วซึ่งผลิตอยู่ที่ 3.16 แสนตัน/ปี ขึ้นกับการจัดหาวัตถุดิบด้วย โดยในปลายปี 2551 บริษัทฯวางแผนการผลิตและขายพาราไซลีนในปีนี้จะอยู่ที่ 3 แสนตัน เพราะคาดว่าความต้องการใช้อ่อนตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ปรากฏว่าช่วงมี.ค.มีการผลิตพาราไซลีนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4 แสนตัน/ปี
ขณะที่ราคาพาราไซลีนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาตลาดจรเดือนพ.ค.อยูี่ที่ 1,100 เหรียญสหรัฐ สูงกว่าต้นปีนี้ที่ราคาตันละ 600-700 เหรียญสหรัฐ สาเหตุเนื่องจากตลาดต่างประเทศมีความต้องการเพิ่มขึ้นหลังจากสต็อกของลูกค้าลดลง
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นของราคาพาราไซลีนจะเป็นช่วงระยะสั้นหรือไม่นั้น คงต้องรอทิศทางราคาตลาดต่อไป ซึ่งปัญหาคู่แข่งในประเทศมีการขยายกำลังการผลิตพาราไซลีนนั้น ไม่กระทบการทำตลาดของบริษัทฯเพราะมีสัญญาซื้อขายระยะยาว
|