|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

หัวหิน ถิ่นมนตร์ขลังที่ยังคงแอบแฝงมนตร์เสน่ห์แห่งความรัก ความประทับใจอย่างไม่เสื่อมคลาย
ในช่วงปิดภาคเรียนใหญ่ของทุกๆ ปี สมัยเยาว์วัย คุณพ่อคุณแม่จะพาไปตากอากาศที่หัวหินอยู่เป็นประจำบ้านพักตากอากาศส่วนใหญ่จะเป็นบ้านใต้ถุนสูง มีนอกชานโปร่งโล่งสบายให้ผู้ใหญ่คุยสังสรรค์ ดื่มกินกันไป ส่วนลูกๆ ก็ไปเดิน-วิ่งเล่น ขี่ม้า (แกลบ) ตามชายหาด ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก เช่น รูปยืนที่ชายหาดโดยในมือแบกก้อนหินก้อนโต ด้วยช่างภาพที่ให้บริการอยู่แถวหาดหน้าโรงแรมรถไฟ หรือลงเล่นน้ำ จะเดินถือไฟฉายพร้อมอุปกรณ์เดินจับปูลมในยามค่ำคืน ไม่ก็ไปพัตกอล์ฟหลุมเล็กที่โรงแรมรถไฟเป็นที่สนุกสนาน
หัวหินเป็นเมืองการประมงและเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก มีความสำคัญในฐานะเมืองตากอากาศชายทะเลที่เลื่องชื่อแห่งแรกของเมืองไทย มีชายหาดที่มีทัศนียภาพสวยงามตามธรรมชาติ อากาศสดชื่น เหมาะกับการพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง
ตำนานบ้านหัวหินเริ่มเมื่อราว พ.ศ.2377 ที่ชาวบางจานและบางแก้ว จ.เพชรบุรี ทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์และประมง แร้นแค้นจนต้องอพยพหาหลักแหล่งใหม่ที่อุดมสมบูรณ์กว่า ได้มาช่วยกันสร้างเมืองหัวหินขึ้นขึ้น จนกลายเป็นหมู่บ้านที่เรียกว่า "บ้านสมอเรียง"
ชาวบ้านกลุ่มนี้คือต้นตระกูลวัดขนาด ตระกูลเทียมทัด ตระกูลชูตระกูล และตระกูลกระแสสินธุ์ ในปัจจุบัน
สมอเรียง หมายถึงภูมิประเทศที่มีหินตามธรรมชาติก้อนเล็กใหญ่วางเรียงสลับซับซ้อนตามแนวชายฝั่งทะเล หรือเรียงตัวลงไปในทะเล ต่อมาเรียกว่าหินเรียง และเปลี่ยนเป็นแหลมหิน
สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สร้างทางรถไฟผ่านตำบลหัวหิน เมื่อ พ.ศ.2445 ทำให้ชื่อเสียงของหัวหินเป็นที่รู้จักจากประชาชนโดยทั่วไป
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ทรงพอพระทัยในธรรมชาติ และทรงเป็นผู้ขนานนามพื้นที่นี้ใหม่ว่า "หัวหิน" ทรงรับสั่งให้สร้าง "พระตำหนักสุขเวศน์" ทรงประทับแรมเป็นประจำ และยังชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านาย บุคคลผู้มีชื่อเสียง สร้างบ้านพักผ่อนตากอากาศในฤดูร้อน
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินี พระพันปีหลวง ทรงสร้างตำหนักประทับแรมขึ้นที่ตำบลหัวหิน จำนวน 19 หลัง เป็นตำหนักไม้สีเขียว และให้ตัดถนนจากสถานีรถไฟไปยังพระตำหนักตากอากาศต่างๆ
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานตำหนักเหล่านี้ให้กรมการรถไฟ ซึ่งขณะนั้นนายพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการการรถไฟกรุงสยามมีพระราช โองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงแรมรถไฟในที่ดินผืนนี้ โดยสร้างเป็นแบบยุโรป มีเครื่องอำนวยความสุขต่างๆ พร้อมบริบูรณ์ เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสไปพักตากอากาศที่หัวหิน
ในปี พ.ศ.2465 ยังทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้สร้างสนามกอล์ฟที่งดงามทันสมัยที่สุดในเอเชียอาคเนย์ขึ้น บริเวณตรงข้ามสถานีรถไฟด้วย ในขั้นแรกได้สร้างสนามกอล์ฟขึ้นเพียง 9 หลุม และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงกอล์ฟเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2467
ต่อมาปี พ.ศ.2468 ขยายสนามกอล์ฟเพิ่มเป็น 18 หลุม โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงเปิดสนามกอล์ฟในปลายปี พ.ศ.2471
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตราพระราชบัญญัติการจัดบำรุงสถานที่ชายทะเลทิศตะวันตก พ.ศ.2469 เพื่อให้หัวหินเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาติ และโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าอิทธิเทพสวรรค์ กฤษดากร ผู้อำนวยการกรมศิลปากรสถาน ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากประเทศอิตาลี ออกแบบและอำนวยการสร้างพระราชวังไกลกังวล เมื่อ พ.ศ.2470 ได้ก่อสร้างพระตำหนักเปี่ยมสุข ต่อมาได้มีการซื้อที่ดินและสร้างอาคารเพิ่มเติมอีกตามความจำเป็น ณ ปัจจุบัน พระราชวังไกลกังวล มีเนื้อที่ประมาณ 400 ไร่เศษ
ชุมชนของหัวหินที่นับว่าเป็นชุมชนที่เก่าแก่และมีมาคู่กับชาวหัวหิน น่าจะได้แก่ ตลาดต้นมะขาม ซึ่งมีต้นมะขามขนาดใหญ่ให้ร่มเงาแก่ผู้คนที่ไปซื้อขายสิ่งของต่างๆ โดยร้านค้าจะเป็นเพิงเท่านั้น ปัจจุบันคือทางสามแพร่ง ถนนสาละคาม โดยสมัยนั้นมีร้านขายของชำและสิ่งของที่จำเป็นอยู่เพียงไม่กี่ร้าน เช่น ร้านนายเง็ก สาธุการ ร้านนางกิมลี้ แท่นศิลา ร้านนายบัญญัติ กาญจนโนมัย และร้านนายหลี สรรวิริยะ ร้านบ้านหมื่นเทียมทวีคูณ (ผูก เทียมทัด) ร้านนายตือ แซ่โง้ว อยู่บนถนนนเรศดำริ และร้านนางเปลี่ยน เจริญพงศ์ บนถนนพูลสุข
ตลาดต้นมะขามลดความสำคัญและเลิกไปในที่สุด เมื่อนายพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเป็นหัวหน้าจัดสร้างตลาดฉัตรไชย ถวายพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.2469 เป็นตลาดสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ลักษณะของหลังคาเป็นรูป 7 โค้ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าสร้างใน รัชกาลที่ 7
ตลาดฉัตรไชยเป็นตลาดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม จำหน่ายอาหารทะเลสด และแห้ง ตลาดสดผักผลไม้พร้อมจำหน่ายของที่ระลึกอีกด้วย
สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของชาวหัวหินอีกอย่างหนึ่ง คือสถานีรถไฟหัวหิน "พลับพลาพระมงกุฎเกล้าฯ" เป็นพลับพลาจตุรมุข สร้างขึ้นในสมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมชื่อพลับพลาสนามจันทร์ ซึ่งใช้ประทับทอดพระเนตรกองเสือป่า และลูกเสือทั่วประเทศ ที่มาฝึกซ้อมยุทธวิธี พลับพลานี้ตั้งอยู่ในพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เมื่อสิ้นรัชกาลของพระองค์ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รื้อถอนเก็บเอาไว้เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ เมื่อ พ.ศ.2511 พลับพลาสนามจันทร์ได้มาปลูกสร้างขึ้นใหม่ที่สถานีรถไฟหัวหิน เพื่อเป็นที่ประทับเวลาขึ้นหรือลงรถไฟของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยใช้ชื่อใหม่ว่าพลับพลาพระมงกุฎเกล้า และมีพิธีเปิดโดยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2517 สถานีรถไฟหัวหินนี้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวหัวหินเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังเป็นที่เก็บหัวรถจักรไอน้ำเก่า ที่การรถไฟฯ สั่งซื้อมาจากประเทศอังกฤษ หัวจักรรถไฟนี้เคยวิ่งให้บริการสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
สำหรับจุดชมวิว เขาหินเหล็กไฟ ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง จุดชมวิวสามารถมองเห็นอ่าวหัวหิน ตัวเมืองโดยรอบ บนยอดเขาเป็นที่ราบ และผาหินที่สวยงาม ขับรถเลยไปอีกหน่อย ด้านขวามือจะมีถนนเข้าไปโครงการหม่อนไหม จะมีร้านอาหารที่ชื่อหม่อนไหมของจำนง ทองคำ เมนูจานเด็ดของที่นี่ ไข่เจียว แกงส้มขาหมู ปลาดุกทะเลผัดฉ่า
ทุกครั้งที่ไปหัวหิน สิ่งที่ลืมไม่ได้ คือการไปวัดห้วยมงคล ไปสักการะหลวงพ่อทวด พระนามาภิไสย สก.องค์ใหญ่ จากบริเวณรอบๆ องค์พระ สามารถมองเห็นทิวเขาล้อมรอบ และเห็นเทือกเขาตะนาวศรีกั้นพรมแดนไทยกับพม่า การเดินทางจากตัวเมืองหัวหินใช้ทางหลวงเส้นหนองพลับ-ป่าละอู ซึ่งมีระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร เมื่อขับรถจากแยกหนองพลับจะไปวัดห้วยมงคลประมาณ 2 กิโลเมตร ซ้ายมือจะพบอู่ซ่อมรถ ซึ่งภรรยาเจ้าของอู่จะเปิดร้านขายอาหารอยู่ข้างๆ อาหารยอดนิยมของร้านนี้ คือแกงป่าปลาทราย ด้วยพริกแกงที่ตำสดๆ เมื่อลูกค้า order แกงส้มก้านคูนตัดสดๆ จากหลังร้าน ซึ่งมีรสจัดแต่กลมกล่อม ปลาทรายทอดกระเทียมพริกไทย หรือปลาทรายทอดขมิ้น ปลาจะได้จากตลาดสดทุกเช้า
หมู่บ้านประมงที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของหัวหิน ซึ่งไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก คือเขาตะเกียบ เป็นเขาที่ยื่นออกไปในทะเล มีโขดหินสวยงาม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติขนาดใหญ่ หันหน้าออกสู่ทะเล บนยอดเขามีทางเดินขึ้นไป สามารถชมทิวทัศน์ของท้องทะเลและตัวเมืองหัวหินได้อย่างชัดเจน มีความลาดชันน้อยมีหาดทรายขาวละเอียด
การเดินทางเข้าสู่เขาตะเกียบ แยกจากถนนเพชรเกษม ซ้ายมือจะพบชีวาศรม ขับรถเข้าไปเรื่อยๆ จะได้พบเห็นโรงแรม รีสอร์ต ชุมชน อยู่เป็นระยะๆ ให้เห็นเรียงรายตลอดถนน เช่นดวงแก้วรีสอร์ท เป็นรีสอร์ตขนาดไม่ใหญ่โต เมื่อก่อนดวงแก้ว เอกะหิตานนท์ แห่งบ้านสามภูมิ ถนนสาทรเหนือ มีไว้เป็นบ้านพักผ่อนของครอบครัว เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ เมื่อประมาณ 10 ปีเห็นจะได้ ช่วงเศรษฐกิจถดถอย ได้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงกลายเป็นรีสอร์ต ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมาใช้บริการจำนวนมาก
เลยไปหน่อย ติดชายหาด จะมีบ้านเจ้าพ่อเครื่องดื่มชูกำลัง สวยงามมาก หรือรีสอร์ตหรู บ้านทะเลดาว สุภัทรา บ้านออลสราญของอัจฉรา กรรณสูต หรือบ้านเนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ เกลือตัวแม่อย่างจิ๊ก และอีกมากมายหลายแห่งไว้ให้เลือกพัก สำหรับร้านอาหารแถวเขาตะเกียบ เจ๊เขียวเมนูอร่อย ปลาข้าวสารยำ อาหารประเภทผัดฉ่า ซีฟู้ด หรืออาหารร้านเจ๊น้อย ตีนเขาตะเกียบ ครัวบ้านครู หรือร้านเปิ้ล ซึ่งมีอาหารทะเลสดๆ ให้ชิม พร้อมชมบรรยากาศริมหาดอย่างมีความสุขด้วยความเอร็ดอร่อย
เขาเต่า ตำบลหนองแก ห่างจากตัวเมือง 13 กิโลเมตร มีหาดทรายที่สะอาดและมีความงามอยู่ 2 แห่ง คือหาดทรายน้อยและหาดทรายใหญ่ นอกจากนี้ยังมีเกาะขนาดเล็ก มีเปลือกหอยชนิดต่างๆ ทับถมกันอยู่มาก อยู่ไม่ห่างจากฝั่งมากนัก
ท่องเที่ยวมาหลายที่แล้ว เหลือบไปเห็นชื่อถนนในตัวเมืองหัวหินเข้า ทำให้อยากรู้อยากเห็นขึ้นมาทันทีว่าถนนสายเก่าๆของที่นี่มีที่มาที่ไป ประวัติความเป็นมาอย่างไรบ้าง
ถนนดำเนินเกษม สืบเนื่องจากความเหมาะสม และความสะดวก ในการเดินทางจากสถานีรถไฟตรงไปยังที่พักตากอากาศ คือพระตำหนักต่างๆ และโรงแรมรถไฟ
ถนนนเรศดำริ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เจ้านายพระองค์แรกที่สร้างตำหนักขึ้นที่หัวหิน และยังชักชวนให้ผู้คนไปสร้างบ้านพักตากอากาศ
ถนนเดชานุชิต ถนนเข้าหมู่บ้านตอนกลางไปสู่ทะเลเป็น ที่ระลึกพระยาเดชานุชิต ผู้แทนสภาจัดบำรุงสถานที่ชายทะเลทิศตะวันตก ซึ่งเป็นผู้ดำริให้สร้างถนนสายนี้
ถนนชมสินธุ์ ตั้งชื่อเพื่อเป็นการยกย่องบุคคลในตระกูลกระแสสินธุ์ ที่สร้างความเจริญให้หัวหิน
ถนนสาละคาม เป็นที่ระลึกแก่ขุนศรีสาละคาม หรือถนนพูลสุข ระลึกที่นายพิมพ์ วัดขนาด ที่สร้างความเจริญให้หัวหินเช่นกัน
หรือถนนบิณฑบาต เป็นถนนที่พระภิกษุ วัดหัวหิน ออกบิณฑบาตในยามเช้า หรือถนนสระสรง พระภิกษุใช้เป็นเส้นทางเดินไปตักน้ำจากสระนี้ที่หนองมอญ เป็นต้น
ปัจจุบันหัวหินเป็นที่นิยมชมชอบของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมาก ถึงกับมาตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่อย่างถาวร ไม่แพ้เชียงใหม่ ภูเก็ต ฯลฯ ซึ่งจะเห็นได้จากธุรกิจการค้า บาร์ ผับ ร้านอาหาร ธุรกิจท่องเที่ยว แม้แต่ธุรกิจปลูกสร้างบ้านจัดสรร ชาวต่างชาติมีมากเสียจนมีหมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านสวีเดน นอร์เวย์ อิตาลี เยอรมัน เกิดขึ้นให้เห็น หรืออย่างนักเรียนโรงเรียนอนุบาล เช่นโรงเรียนอนุบาลปรารถนา นักเรียน 100 คน จะมีลูกครึ่งฝรั่งเรียนอยู่เกือบ 50 คน ทำให้เกิดโรงเรียนอินเตอร์ เช่น โรงเรียนสมถวิล โดยเฉพาะร้านอาหารเครื่องดื่ม ไอศกรีม จะมีให้ชิมทุกชนชาติ ซึ่งดำเนินการโดยชาวต่างชาติให้เห็นเกลื่อนเมืองหัวหิน ไม่ว่าสารพันอาหารอิตาเลียน เยอรมัน ฝรั่งเศส เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย สวีเดน อยู่บนทุกถนน ซึ่งเทียบกับเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมาจะเห็นน้อยมาก
เมื่อก่อนเวลาผมไปหัวหิน อาหารเช้าจะทานโจ๊ก ต้มเลือดหมู ปาท๋องโก๋ แถวๆ สี่แยกตลาดฉัตรไชย ซึ่งคนเก่าแก่ของหัวหินเล่าว่า ร้านอาหารเช้าตรงสี่แยกนี้ สมัยเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว จะมีแต่ผู้ใหญ่ของเมืองมานั่งเป็นสภากาแฟทุกเช้า เด็กๆ จะได้แต่มองและวิ่งผ่านร้านไปเลย ส่วนกลางวันจะทานก๋วยเตี๋ยวเป็ดนายปลิว หรือเจ๊ไฝ ซึ่งมีการต้มเป็ดตุ๋นเป็นน้ำซุป มีรสชาติอร่อยใกล้เคียงกัน อาหารเย็นจะนิยมไปรับประทานที่ห้องอาหาร โรงแรมสายลม นั่งกินลมชมวิวยามค่ำคืน อาหารค่ำนิยมสั่งจะเป็นน้ำพริกกุ้งเสียบ แกงป่า ร้านไฮเปียง หรือร้านเจริญโภชนา เป็นต้น
ยามค่ำคืน นิยมไปเดินตลาดโต้รุ่ง ซึ่งจำหน่ายอาหารคาวหวาน ของที่ระลึก ทุกคนมักจะพูดว่าไปหัวหินแล้วไม่ได้ไปตลาดหัวหิน ถือว่าไปไม่ถึงหัวหิน
ของหวานที่ชอบ ข้าวเหนียวมะม่วงมีชัย หรือป้าเจือ ขนมหวานร้านปราง หรือของฝากจำพวกขนมหวานร้านแม่เก็บ หรือจำพวกผ้าจะนิยมซื้อผ้าพิมพ์พื้นเมืองโขมพัสตร์
สำหรับการไปหัวหินในครั้งนี้ ผมจะพาไปชิมอาหารฝรั่งเศสที่ชื่อ Brasserie De Paris บรรยากาศชายหาดบนถนนนเรศดำริ
โดยเริ่มจากตลาดฉัตรไชยบนถนนเพชรเกษม เลี้ยวซ้ายถนนเดชานุชิตดิ่งตรงไปข้างหน้าโดยไม่ต้องสนใจแยกใดๆ เลย ขับไปจนสุดถนน เลี้ยวเข้าถนนนเรศดำริ ที่เลียบไปตามชายทะเล ซึ่งขนาบข้างไปด้วยอาคารบ้านเรือน ประตูฝาเฟี้ยม ไม้สักเก่าแก่ประมาณ 100 ปี ยังมีให้ได้พบเห็นอยู่บ้าง
ปัจจุบันร้านค้าแถบนี้ได้ดัดแปลงเป็นร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และเกสต์เฮาส์ยอดนิยมของชาวต่างชาติ เช่นจะมีเรือนไม้ซึ่งทำเกสต์เฮาส์ที่ยื่นลงไปในทะเล ช่วงเวลากลางคืนมีคลื่นซัดอยู่ตลอดคืน แขกผู้ที่พักแรมบอกว่าเหมือนนอนอยู่บนเรือซึ่งลอยลำอยู่กลางทะเล แปลกดี ถ้ามีโอกาสจะขอใช้บริการอีก
บ้านเรือนแถบนี้ สมัยก่อนเป็นชุมชนที่มีอาชีพประมง เรือนเก่าๆ เหล่านี้ บางหลังเป็นบ้านพักอาศัย บางหลังก็เป็นที่เก็บอุปกรณ์ที่ออกทำประมง หรือเป็นเรือนตากอวน เมื่อกลับจากออกทำประมงที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "โรงเค็ม" เช่นเดียวกับร้าน Brasserie De Paris เจ้าของบ้านคือ นายพื้น กระแสสินธุ์ อดีตนายกเทศมนตรีของหัวหินตั้งแต่ปี พ.ศ.2481 จนถึงปี พ.ศ.2499 มีภรรยาซึ่งยึดอาชีพประมงเหมือนชาวบ้านทั่วๆ ไป โดยมีบ้านพักอาศัยอยู่อีกฟากถนน
เมื่อประมาณปี พ.ศ.2536 ประลอง และวรรณยุพา กระแสสินธุ์ ซึ่งเป็นบุตรชายและสะใภ้ นึกสนุกอยากมีร้านอาหารชายทะเล เห็นว่าโรงเค็มปิดร้างมานาน อยู่ริมทะเล เหมาะที่จะทำเป็นร้านอาหาร จึงได้ปรับปรุงและเปิดกิจการโดยใช้ชื่อร้านว่า "บ้านเคียงหาด" ซึ่งบริการอาหารทะเลเป็นหลัก บางครั้งจะมีไอศกรีมเด็ดของป้าอวยพร ที่ได้รับมรดกตกทอดจากบิดา โกสุ่น หัวหน้ากุ๊กโรงแรมรถไฟ ซึ่งเป็นเพื่อนเกลอของอดีตรองนายกรัฐมนตรีคนดัง "บุญชู โรจนเสถียร" แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าปัจจุบันไม่ได้ชิมฝีมือป้าอวยพรเสียแล้ว เพราะป้าเธอหนีไปปลีกวิเวกเสียแล้ว
บ้านเคียงหาดเป็นที่นิยมของเหล่าบรรดานักชิมมาก ดำเนินกิจการไปได้เกือบ 2 ปี รู้สึกว่าเป็นกิจการที่ต้องลงลึก ดูแลทุกอย่างทุกขั้นตอน พอดีมีชาวอิตาลีสนใจเช่า และเปิดขายอาหารอิตาเลียน
ประมาณปี พ.ศ.2540 เทอรีไซไวเลอร์ ซึ่งจบวิชาการโรงแรมจากเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ไปเที่ยวไปตีกอล์ฟที่หัวหิน เกิดความชอบ เทียวไป เทียวมาอยู่หลายปี ซึ่งเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ร้านอาหารฝรั่งเศสที่หัวหินยังไม่มีให้เห็น จึงคิดเปิดร้านอาหารฝรั่งเศสที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งเป็นส่วนที่ชอบและถนัด และเสาะหาร้านที่เหมาะสมกับคอนเซ็ปต์ที่ชอบนานอยู่หลายปี
จึงได้พบร้านซึ่งตั้งอยู่ริมหาดหัวหิน ดำเนินกิจการเป็นร้านอาหารอิตาลี แต่ยังไม่หมดสัญญาเช่า ด้วยความเห็นว่าร้านนี้เหมาะสมที่จะเปิดเป็นร้านอาหารฝรั่งเศสที่ได้บรรยากาศตามจินตนาการของตนเองแน่นอน จึงเจรจากับเจ้าของสัญญาเดิม ตกลงกันได้ในที่สุด จึงได้เข้าไปปรับปรุงร้าน โดยส่งรูปถ่ายโครงสร้างดังเดิมทุกซอกทุกมุม พร้อมบอกความต้องการของตนเองไปยังสถาปนิกชาวเบลเยียมออกแบบให้จนเป็นที่ถูกใจ พร้อมกับขอความเห็นชอบจากเจ้าของบ้านตัวจริง จนเห็นพ้องต้องกันทุกฝ่าย ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ตกแต่งจนเป็นเรือนไม้ที่เหมาะเจาะตั้งอยู่ริมทะเล เปิดโล่งให้ลมทะเลพัดผ่านได้ตลอดเวลา ไม่ต้องพึ่งพิงแอร์คอนดิชั่นแม้แต่น้อย งามสง่าบนถนนนเรศดำริอยู่ขณะนี้
โดยเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ชั้นล่างจะดีสำหรับผู้ต้องการความเป็นส่วนตัว หรือบุคคลที่มีอายุและไม่ต้องการปีนป่ายบันไดขึ้นไปชั้นบน แต่ชั้นบนจะได้บรรยากาศ สำหรับผู้ต้องการสายลม แสงแดด ยามบ่ายยามเย็นจนเวลาพลบค่ำ หรือบรรยากาศท้องทะเลยามค่ำคืน นโยบายของ Brasserie De Paris จะเปลี่ยนเชฟซึ่งมาจากยุโรปทุกๆ 2 ปี เมนูอาหารจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่นเมนูในช่วง Low Season จนถึงกลางตุลาคมจะมีการ Set Menu ทุกคนทานได้ ราคาไม่แพง
Menu Poissons
Coquillages Gratine a l'ail, Saint pierre Rouge Mouse au Chocolat
Menu Viandes
Tomates Mozarella, Mixed grill de Viandes, Mouse au Chocolat
Fish Menu
SeaFood Gratin with garlic Whitc Snapper red butter Sauce, Chocolat mouse
MEAT Menu
Tomates Mozarella, Mixed grill, Chocolat mouse
เมนูเหล่านี้สนนราคาอยู่ที่ 495 บาท
อาหารที่ร้านนี้มีให้เลือกมากมาย แต่อาหารที่เจ้าของร้านภูมิใจเสนอ เป็นอาหารจานเดียวที่เริ่มตั้งแต่เปิดกิจการวันแรกจนปัจจุบันเป็นเวลา 10 ปีมาแล้วยังมีให้สั่งอยู่ คือ Crab Hua Hin Speciality ซึ่งจะใช้เนื้อปู ชีส มะเขือเทศ หอมแดง ต้นหอม ซอสพริก วิปปิ้งครีม เกลือและพริกไทยนำมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำไปใส่กระดองปู โรยชีสแล้วจึงนำไปอบจนชีสไหม้ แล้วจึงนำมาราดซอสปู เสิร์ฟพร้อมข้าวผัดไข่
หรืออย่าง Tiger Prawns Ginger Thai Lemon
โอลีฟออยล์ ทอดกุ้งใหญ่ โดยมีหอมแดงซอย ขิงซอย น้ำซุป ใบมะกรูดซอย เกลือ พริกไทย อาหารจานนี้เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะรู้สึกถึงรสชาติคือเปรี้ยวนำ ซึ่งจะรับประทานโดยมีสลัดผักสดหรือข้าวผัดไข่ก็ได้
จานนี้เป็นอาหารจานพิเศษของร้านนี้อีกจานคือ Mix SeaFood Plater คือกุ้งใส่กระเทียมอบ กั้งและปูอบราดซอส และหอยเชลล์ทอดราดซอส ทานกับเส้นสปาเกตตีดำโรยชีส หรือข้าวผัดไข่
Chateaubriana sauce Rearnaise
ซึ่งมีส่วนประกอบ เนื้อทอด 1 ชิ้น กะหล่ำดอก บรอคโครี่อบน้ำผลไม้ และเฟรนไฟร์ ราดด้วยน้ำซอส ที่มีใบธารากอน ไวน์ขาว น้ำส้ม เนย เกลือ และพริกไทยพอประมาณ รสชาติอาหารจานนี้จะมีรสเปรี้ยวเค็ม
ของหวานมีให้เลือกกว่า 10 จาน เช่น Crepe Suzette with grand Marier, Choice of French Cheese ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
เมื่อมองรอบๆ ร้าน จะพบว่าลูกค้าที่นั่ง Dinner จะเป็นชาวต่างประเทศนั่งกันเป็นคู่ ส่วนชาวไทยจะมากันเป็นครอบครัว เป็นกลุ่ม หรือก๊วนกอล์ฟ พบปะสังสรรค์หลังจบเกมการเล่นเป็นส่วนใหญ่ เพราะเทอรีและกนกวรรณ ภรรยา ชอบกีฬากอล์ฟเป็นชีวิตจิตใจ เป็นเมมเบอร์ทุกสนามของหัวหิน บางครั้งแขกที่ร้านก็จะเป็นแขกในก๊วนกอล์ฟของเขาด้วย
เมื่อถามถึงบุคคลสำคัญที่เคยมาใช้บริการรสชาติอาหารของที่ร้านนี้ เคยได้ถวายการต้อนรับเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงของไทย ซึ่งมีพระฉายาลักษณ์ปรากฏอยู่เพื่อความเป็นสิริมงคล เจ้าชายจากมาเลเซีย หรือแขกผู้ใหญ่ของร้านที่มีมาเรื่อยๆ ที่จำได้ถนัดตาคือ อดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน กับดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่ากรุงเทพมหานคร
|
|
 |
|
|