|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เสียงดนตรีไอริชที่มีต้นกำเนิดมาจากแผ่นดินไอร์แลนด์ทางตอนเหนือของเกาะอังกฤษ แพร่สู่ชาวโลกให้ได้รับรู้ถึงตัวตนและความคับแค้นในยุคอาณานิคมที่ถูกอังกฤษเข้ารุกราน
คนไทยได้มีโอกาสฟังดนตรีไอริชจากฝีมือนักดนตรีไอริชระดับโลกอย่างมิค โมโลนี และเพื่อนที่ร่วมแสดงบนเวทีการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8 หัวข้อ "ผู้คน ดนตรี ชีวิต" ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) โดยนำเสนอประเด็นมองวัฒนธรรมผ่านการศึกษาดนตรี ขณะที่กระแสการเมืองไทยกำลังเข้มข้น ดนตรีกับการเมืองจึงถูกหยิบยกมาเจาะลึกให้เห็นแก่นแท้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ อันสะท้อนภาพความเคลื่อน ไหวของโลกใหม่ได้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น
มิคสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียและอีกหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา เขาเป็นชาวไอริชที่อพยพออกจากไอร์แลนด์ ปี 1973 เนื่องจากภาวะสงครามระหว่างอังกฤษและไอร์แลนด์ ช่วงนั้นเขาไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็โกรธแค้นชาวอังกฤษไม่ต่างจากเพื่อนร่วมชาติคนอื่น ทว่าเขาเลือกใช้ดนตรีสะท้อนสิ่งที่อยู่ในใจและตัวตนของชาวไอริช ให้ชาวโลกรับรู้ถึงความคับแค้นของชาวไอริชที่ถูกกดขี่ แนวเพลงของเขาและเพื่อนๆ ร่วมวง เลือกที่จะเดินตามแนวทางมหาตมะ คานธี หรือมาติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์ เพื่อยืนยันสิทธิมนุษยชนแบบอารยะขัดขืน มากกว่าปลุกเร้าให้คนจับปืนขึ้นสู้ผู้รุกราน
เสน่ห์ของดนตรีไอริชโดยทั่วไปได้สะท้อนถึงสำนึกและสัมผัสของความเป็นชุมชนไอริชว่าเรียบง่ายไม่มีอีโก้ ไม่เหมือนป๊อปมิวสิกที่เป็นปัจเจกเน้นตัวเองให้โดดเด่น เวลาที่เล่นดนตรีจึงสะท้อนและตอกย้ำความสัมพันธ์ที่เก่าแก่ ลึกซึ้ง งดงาม ซึ่งทำให้เขาและเพื่อน รวมไปถึงคนฟังรู้สึกใกล้ชิดกัน
นอกจากนี้ดนตรีไอริชยังเป็นดนตรีพื้นบ้านที่มีมิติทางด้านสังคมและการเมืองสูงมาก ชาวไอริชใช้ดนตรีระบายความรู้สึกอัดอั้น แค้นเคือง และปลุกเร้าการต่อสู้ เพื่อขับไล่กองทัพอังกฤษที่บุกเข้ายึดครอง ต่อมาชาวไอริชอพยพไปบุกเบิกชีวิตใหม่ในอเมริกา ก็ใช้ดนตรีและการเต้นรำพื้นเมืองเป็นสื่อยึดโยงและสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไอริชท่ามกลางกลุ่มชนที่หลากหลาย จนทำให้ดนตรีไอริชเข้าไปมีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ดนตรีพื้นบ้านอเมริกัน (folk music)
ต่อมาบทเพลงสไตล์นี้ของบ๊อบ ดีแลน และโจแอน เบซ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาหนุ่มสาวทั่วโลกในช่วงทศวรรษ 1960s เพื่อต่อต้านสงคราม ส่วนในประเทศไทย "ดนตรีโฟล์ก" กลายเป็นตัวแทนที่ทรงพลังทางการเมืองนับแต่นั้นเป็นต้นมา และเป็นที่มาของการเกิดแนวดนตรีในป่าหรือดนตรีเพื่อชีวิตที่มีเนื้อหาการต่อสู้ทางการเมืองในเวลาต่อมา
เพลงไอริชนับตั้งแต่กลางทศวรรษ 60 เป็นต้นมา สะท้อนบริบททางสังคมอันหลากหลาย การแสดงความคิดทางการเมืองและอุดมการณ์ สิ่งเหล่านี้ได้รับการสืบทอดอย่างเข้มแข็งขณะที่ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ เนื้อเพลงสะท้อนภาพการเคลื่อนไหว และจุดยืนในช่วงเวลาต่างๆ ของนักสากลนิยม (internationalism) นักชาตินิยม (nationalism) นิกายทางศาสนา และกระบวนการสันติภาพ
มิคได้รวบรวมประวัติศาสตร์เพลงไอริชตลอด 200 ปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นอุดมการณ์ชาตินิยม (national ideology) และ "อุดมการณ์นานาชาตินิยม" (internationalist ideology) ซึ่งปรากฏอยู่ในช่วงหลังของประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่เป็นช่วง peace หรือ civilize movement ของชาวไอริช
แต่ในที่สุดแล้วดนตรีไอริชก็เป็นเพียงดนตรีชายขอบในอเมริกา และได้แตกตัวออกไปเป็นแนวดนตรีเฉพาะที่มีผลผลิตเป็นไอริชมิวสิก ไอริชแดนซ์ และไอริชผับ ที่สร้างชุมชนคนร่วมเสพสุนทรียะในแนวเพลงที่ทรงพลังในการขับเคลื่อนอารมณ์ความรู้สึก ไม่ต่างจากแนวเพลงเพื่อชีวิตในไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขยายความว่านับจากศตวรรษที่ 19 นักมานุษยวิทยาเริ่มมองสังคมผ่านการศึกษาวัฒนธรรมดนตรี จนเกิดเป็นสาขาดนตรีวิทยาชาติพันธุ์ (ethnomusicology) และมานุษยวิทยาการดนตรี (anthropology of music) ซึ่งเกิดขึ้นมาคู่ขนานกับการศึกษาภาษาศาสตร์สมัยใหม่ ภาษาพื้นถิ่น คติชนวิทยา และการศึกษาวัฒนธรรมในบริบท แนวคิดชาตินิยม ประชาธิปไตย และจักรวรรดินิยมแบบใหม่ ดนตรีเริ่มเป็นการเมืองเมื่อมองเห็นชีวิตในดนตรี
ขณะที่สังคมปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่ยุคหลังสมัยใหม่ (post-modernism) หรือหลังอาณานิคม (post-colonialism) และอยู่ในภาวะไร้ถิ่นฐาน (deterritorialization) ความสัมพันธ์ทางการเมืองจึงเป็นการครอบงำและต่อต้านที่แยบยล โดยมีสื่อและวัตถุทางวัฒนธรรมต่างๆ เป็นพื้นที่ทางการเมือง
ภาวะเช่นนี้จึงเกิดความเป็นการเมืองของดนตรีขึ้น นอกเหนือจากการเมืองของดนตรีในมิติต่างๆ ทั้งมิติทางชนชั้น ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ เพศสถานะ ถิ่นฐาน และการ เมืองระหว่างรุ่น ดนตรีกลายเป็นภาษาสำคัญของการเมือง
การศึกษาดนตรีเพื่อทำความเข้าใจชีวิตทางการเมือง เป็นกลวิธีในการสร้างสรรค์ทางสังคมในโลกยุคปัจจุบัน เป็นการเชื่อมพรมแดนของการสื่อสารระหว่างสุนทรียศาสตร์ให้เข้าหาสังคมศาสตร์และขยายขอบเขตทางสังคมศาสตร์ด้วยการศึกษาสังคม วัฒนธรรมและการเมือง ในฐานะ ที่เป็นการแสดงสดและสุนทรียรสเชิงมานุษยวิทยา
อธิป จิตตฤกษ์ นักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่ามุมมอง "ดนตรีเป็นอันตรายต่อสังคม" เป็นมุมมองที่เก่าแก่กว่าการมองว่า "ดนตรีเป็นภาษาสากล"
เพลโต (Plato) เคยกล่าวไว้ว่าดนตรีเป็นสื่อการศึกษาที่มีพลังที่สุด เพราะดนตรีมีศักยภาพที่จะเข้าไปสู่จิตวิญญาณภายในเหนือสิ่งอื่น ดังนั้นดนตรีที่มีชุดตัวโน้ตหรือ mode ที่ถูกต้องเหมาะสม จะต้องถูกเก็บเอาไว้ในอุดมรัฐ เพราะมันมีส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุนระเบียบสังคมการเมือง ในทางกลับกัน ดนตรีเป็นสิ่งต้องมีการควบคุมอย่างจริงจัง ดนตรีที่มีชุดของเสียงบางชุดประกอบอยู่สามารถสร้างความวุ่นวายให้สังคมการเมืองได้ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จึงต้องถูกขับออกไปจากอุดมรัฐ
ขณะที่ขงจื๊อเชื่อว่าดนตรีที่ไหลเวียนอยู่ในรัฐ มีความสัมพันธ์กับสภาวะทางศีลธรรมของคนในรัฐ ความเชื่อดังกล่าวมีนัยว่าดนตรีที่เสื่อมทรามในรัฐ มีความเชื่อมโยงกับศีลธรรมที่เสื่อมทรามของผู้คนในรัฐเช่นเดียวกัน ซึ่งนำไปสู่แนวคิดที่ว่าดนตรีต้องถูกควบคุมโดยรัฐ เพื่อศีลธรรมของคนในรัฐ และสะท้อนในคติเกี่ยวกับคุณค่าทางจริยธรรมที่แฝงอยู่ในตัวโน้ตของวัฒนธรรมดนตรีจีน
การควบคุมดนตรีในรัฐต่างๆ มีกระแสเข้มข้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงเวลาศตวรรษที่ 20 ซึ่งหากมองวัฒนธรรมดนตรี ตามลักษณะความเคลื่อนไหวทางสังคมจะแบ่งออกได้ 3 ลักษณะ คือ ดนตรีในรัฐ เผด็จการ ดนตรีในรัฐเสรีนิยม และดนตรี ในยุคโลกาภิวัตน์
การควบคุมดนตรีในรัฐเผด็จการไม่ว่าจะเป็นรัฐแบบฟาสซิสต์ รัฐสังคมนิยม หรือรัฐอิสลาม จะเน้นการควบคุมครอบงำและยับยั้งดนตรีบางประเภท เมื่อวัฒนธรรม ดนตรีต้องเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในหมู่ชาวบ้านคือเสพดนตรีต้องห้ามในรูปแบบดนตรีใต้ดิน หรือเกิดการเผชิญหน้าที่ทำให้คนเสพคนเล่นต้องติดคุก หรือถูกทำร้ายจนเสียชีวิต ซึ่งปรากฏการณ์ นี้เกิดได้แม้แต่ในโลกเสรีนิยม รัฐเผด็จการแต่ละรัฐมีลักษณะควบคุมครอบงำที่แตกต่างทั้งรูปแบบและความเข้มข้น
ดนตรีที่ล่อแหลมต่ออุดมการณ์ของรัฐเผด็จการ จะถูกควบคุมและปราบปรามเป็นพิเศษ ดนตรีที่มีต้นกำเนิดจากวัฒนธรรมคนดำในสหรัฐอเมริกา เช่นดนตรีแจ๊ซ เป็นสิ่งที่รัฐเผด็จการจำนวนมากหวาดกลัวและปฏิเสธ ในช่วงทศวรรษ 20 และ 30 แจ๊ซถูกแบนในรัฐเผด็จการทั้งหมด ด้วยเหตุผลว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายป่าเถื่อนทำลายอารยธรรมและเป็นเครื่องมือครอบงำทางวัฒนธรรมของอเมริกา
ในช่วงทศวรรษ 70 รัฐเผด็จการหลายประเทศที่หวาดกลัวเกลียดชังวัฒนธรรมและดนตรีจากอเมริกา ได้ออกนโยบายต่อต้านดนตรีร็อก การดำรงอยู่ของ ดนตรีร็อกในยุโรปตะวันออก กลายเป็นการ กบฏและต่อต้านรัฐ บางคนเชื่อว่าดนตรีร็อกเป็นแรงขับเคลื่อนอันหนึ่งที่ทำให้โลกคอมมิวนิสต์ล่มสลาย
ในช่วงทศวรรษ 80 รัฐสังคมนิยม หลายแห่งเปิดรับดนตรีร็อก และนำดนตรีร็อกไปสนับสนุนรัฐ ช่วงใกล้สิ้นสุดสงคราม เย็น รัฐเผด็จการผ่อนคลายนโยบายควบคุม ดนตรีจนใกล้เคียงโลกเสรีนิยม นักดนตรีมีอิสระมากขึ้น แต่นักดนตรีหลายท้องที่ซึมซับเอาสุนทรียะแบบที่รัฐต้องการเข้าไปเต็มที่ พวกเขาแสดงออกในแบบที่รัฐเคยควบคุม ทั้งที่มีเสรีภาพแล้วก็ตาม
เมื่อรัฐสังคมนิยมล่มสลาย ดนตรีมีความหลากหลายมากขึ้น แต่กลับเกิดกรณีเช่นพังค์ในเยอรมนีตะวันออกที่ไม่เคยร้องเพลงเกี่ยวกับการว่างงาน ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของพังค์ในรัฐเสรีนิยม เพราะรัฐสังคมนิยมมีการจ้างงานเต็มที่มาโดยตลอด การล่มสลายของเยอรมนีตะวันออก ทำให้เกิดการตกงาน ในที่สุดพวกพังค์เยอรมนีตะวันออก ก็ร้องเพลงเกี่ยวกับการว่างงานได้
|
|
|
|
|